Sunday, August 20, 2006

Me and You and Everyone We Know

...

เย็นวันพฤหัสที่แล้วไปงานเลี้ยงนักเขียนประจำปีของอัมรินทร์พริ้นติ้งฯ ยังไม่ทันที่งานเลี้ยงจะเลิกรา ก็รีบหอบผ้าหอบผ่อนหนีตามคุณ grappa ด้วยความใจง่าย เพื่อไปดูหนังเรื่อง Me and You and Everyone We Know โดยมีคุณด๊องเป็นผู้เอื้อเฟื้อการเดินทาง และคุณโลเลเป็นผู้เอื้อเฟื้อตั๋วหนังฟรี ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ และอยากจะเขียนบล้อกนี้เป็นการตอบแทน เพราะหนังเรื่องนี้สนุกดีครับ ถ้าไม่ได้ดูหล่ะเสียดายแย่ ดูแล้วรู้สึกสบายใจกับความน่ารักของเนื้อหา มันทำให้หัวเราะหึๆ ไปตลอดทั้งเรื่อง แต่ที่สำคัญกว่าความน่ารัก ผมว่ามันเป็นหนังประเภทที่ทำให้คนดูเก็บเอามาคิดวนเวียนอยู่ในหัว แม้จะดูจบไปหลายวันแล้วก็ตาม เพราะประเด็นทางสังคมที่แฝงอยู่ในหนังนั้นน่าสนใจ และผู้กำกับก็เก่งที่จะนำเสนอมันอย่างแยบคาย ผมอยากแนะนำให้คุณได้ไปดูมัน ก่อนจะมาอ่านเนื้อหาถัดไปจากนี้นะครับ

Me and You and Everyone We Know นำเสนอชีวิตของผู้คนในชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่ง เป็นเรื่องราวของคนนั้นที คนนี้ที กระจายกันไป การเดินเรื่องแบบนี้ไม่ได้แปลกใหม่หรอกนะ ผมรู้สึกว่าหนังหลายเรื่องในสมัยนี้ ก็ชอบใช้การเดินเรื่องแบบนี้ อย่างเช่น Magnolia, Crash, 21 Grams ที่นำเสนอชีวิตของตัวละครกระจัดกระจายเป็นเรื่องสั้นๆ โดยให้ทุกเรื่องนั้นต่างก็มีประเด็นร่วมกันอยู่ แล้วจึงนำมาสรุปรวมกันเป็นภาพใหญ่ตอนท้ายเรื่อง ความสนุกของการดำเนินเรื่องแบบนี้ หรือสุนทรียะของหนังแบบนี้ จึงอยู่ที่การกระตุ้นให้คนดู ได้พยายามมองหา pattern ของเรื่องราวทั้งหมดที่กระจัดกระจาย ว่ามันมีประเด็นหรือรูปแบบอะไรบางอย่างร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การทำความเข้าใจหนังทั้งเรื่อง อย่างหนังเรื่อง Crash นี่ชัดเจนมาก และดูออกง่ายมาก ว่าเขานำเสนอประเด็นเรื่องการมองแบบ Stereotypical ที่นำไปสู่การกระทำรุนแรงต่อกัน ระหว่างเชื้อชาติและชนชั้นของผู้คนในสังคมอเมริกัน ส่วนหนังเรื่อง Me and You and Everyone We Know ที่กำลังพูดถึงกันนี้ ตอนดูจบออกมาแรกๆ ผมก็ยังงงๆ อยู่ครับ ว่าประเด็นร่วมกันของเรื่องราวทั้งหมดคืออะไร หนังเรื่องนี้เลยวนเวียนอยู่ในหัวตลอดวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา แล้วเพิ่งจะมานึกออกตอนที่กำลังนอนนวดแผนโบราณเพลินๆ ที่ร้าน Health Land เมื่อวานนี้เอง

ผมคิดว่าประเด็นหลักของ Me and You and Everyone We Know อยู่ที่เรื่องการสื่อสารระหว่างบุคคลในสังคมร่วมสมัย ในยุคที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต สื่อบันทึกแบบดิจิตอล ว่าในปัจจุบัน คนเราจะสื่อสารถึงกันให้เข้าใจกันและกันได้อย่างไร ในหนังนำเสนอการสื่อสารหลักๆ 2 แบบ คือ 1.การสื่อสารแบบเห็นหน้าเห็นตากัน คือการพูดคุยกันตรงๆ ต่อหน้าระหว่างคนกับคน กับ 2.การสื่อสารแบบผ่านสื่อกลางหลายรูปแบบ โดยผู้กำกับหนังแสดงความเหนือชั้น ด้วยการใช้ motif ที่ถูกนำเสนอซ้ำๆ เพื่อให้นำคนดูไปสู่ประเด็น คือตัวงานศิลปะที่นางเอก (ซึ่งก็คือผู้กำกับหนังเรื่องนี้เอง) ทำตั้งแต่ต้นเรื่อง และได้นำไปแสดงโชว์ในแกลลอรี่ตอนท้ายเรื่อง นางเอกใช้กล้องวิดีโอถ่ายภาพของภาพถ่ายต่างๆ ประกอบกับเสียงซาวนด์เอฟเฟ็กต์ และเสียงบรรยายประกอบของตัวเอง เช่นถ่ายภาพของภาพถ่ายทะเล แล้วเปิดเสียงซ่าๆ ของโทรทัศน์ตอนไม่มีคลื่นสัญญาณมาประกอบ หรือถ่ายภาพของภาพคนดูคอนเสิร์ต แล้วเปิดเทปเสียงกรี๊ดๆ มาประกอบ ฯลฯ ฟังดูเพี้ยนๆ ใช่ไหมล่ะครับ ทำไมไม่ไปเอากล้องวิดีโอไปถ่ายภาพทะเลจริงๆ หรือไปถ่ายภาพคนดูคอนเสิร์ตจริงๆ ในความคิดเห็นของผม ผมว่านางเอกของเรื่อง (ซึ่งก็คือผู้กำกับหนังเรื่องนี้) ต้องการจะบอกเราว่า ภาพทะเลที่ถ่ายมาจากภาพทะเล ก็ให้อารมณ์และความรู้สึกของทะเลได้ไม่เลวนะ ถ้าเราไม่มีตังค์จะไปเที่ยวทะเลจริงๆ หรือภาพคอนเสิร์ตที่ถ่ายมาจากภาพคอนเสิร์ต ก็โอเคแหละ ถ้าเราไม่มีโอกาสได้ไปขึ้นเวทีคอนเสิร์ตจริงๆ เปรียบเหมือนกับการสื่อสารผ่านสื่อกลาง บางทีก็ให้ผลลัพธ์ออกมาดีเท่าๆ กับการสื่อสารแบบเห็นหน้าเห็นตากันจริงๆ ก็ได้ ถ้าเราคิดว่าการคุยกันตรงๆ ทำได้ยากลำบาก หรือรู้สึกไม่ไว้วางใจ ไม่คุ้นเคยกับคนแปลกหน้า

ฉากสำคัญที่เห็นได้ชัดถึงอุปสรรคในการสื่อสารกันตรงๆ แบบเห็นหน้าเห็นตากัน คือฉากต้นเรื่องที่พระเอกของเรื่อง กำลังเก็บข้าวของเพื่อแยกกันอยู่กับเมียและลูกๆ ของเขา เขาเดินไปถามลูกที่กำลังนั่งเล่นคอมพิวเตอร์กันอยู่ ถามตรงๆ ว่าเขาเป็นพ่อที่ดีหรือเปล่า ลูกทำหน้าเฉยเมย ไม่ยอมพูดกับเขา เขาเลยพยายามเรียกร้องความสนใจจากลูก ด้วยการจุดไฟเผามือตัวเอง ตลอดทั้งเรื่องหลังจากนั้น เขาเลยต้องมีผ้าพันแผลพันมือไว้ตลอด และฉากสำคัญอีกฉาก คือตอนที่นางเอกพยายามเป็นฝ่ายรุก เข้าไปจีบพระเอกก่อน ชวนคุยด้วยสารพัด แต่กลับโดนพระเอกตอกกลับมาจนหน้าหงาย ว่าเราต่างเป็นแปลกหน้ากัน จะมาพูดคุยวิสาสะแบบนี้ได้ไง ไม่กลัวอันตรายเหรอ ในหนังเรื่องนี้ยังนำเสนอภาพของการสื่อสารกันแบบผ่านสื่อ ว่ามันช่วยให้คนเราติดต่อกันได้อย่างปลอดภัย สบายใจมากกว่า ถ้าคนเราในทุกวันนี้ แปลกแยกออกจากกันเสียเหลือเกิน จนไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันแบบตรงๆ ได้อีกแล้ว การสื่อสารผ่านสื่อก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายอะไรนัก อย่างเช่นตัวละครเพื่อนบ้านชายหนุ่มกลัดมัน พยายามมีความสุขทางเพศกับเด็กสาว 2 คน ด้วยการเขียนจดหมายลามก แปะไว้ที่หน้าต่างบ้านตัวเอง และฉากที่ลูกชายวัยไม่กี่ขวบของพระเอก จีบสาวออนไลน์แบบเป็นเรื่องเป็นราว และสาวก็ตกหลุมรักเขาได้จริงๆ และฉากที่เจ้าของแกลลอรี่สาวใหญ่ ไม่ยอมรับเทปวิดีโอผลงานศิลปะของนางเอก เมื่อพวกเขาเผชิญหน้ากันตรงๆ ในลิฟต์ แต่กลับยืนยันให้นางเอกส่งมาให้ทางไปรษณีย์ นางเอกก็เลยงง ว่าในเมื่อเจอหน้ากันจะๆ แล้ว ทำไมยังต้องเอากลับบ้านไปส่งมาให้อีกทีทางไปรษณีย์ด้วยวะ

จริงๆ แล้ว ประเด็นเรื่องการสื่อสารผ่านสื่อในสังคมร่วมสมัย ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ เพราะเราก็ใช้อินเตอร์เน็ตกันจนติดงอมแงมมาเกือบ 10 ปีแล้ว เฉพาะแค่ประเด็นเรื่องนี้ ผมเคยเขียนลงในบทความหนังสือพิมพ์ และรวมเล่มเป็นพอคเก็ตบุคมา 2 เล่มแล้วด้วยซ้ำ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว และมันก็เคยถูกถ่ายทอดออกมาเป็นหนังเจ๋งๆ แล้วหลายเรื่อง อย่าง You've Got Mail ที่ ทอม แฮงค์ แสดงคู่กับ เม็ก ไรอัน เมื่อ นั่นก็ใช่ แสดงว่าสังคมร่วมสมัย ยังคงต้องการสำรวจตรวจสอบเรื่องนี้อยู่ต่อไป และศิลปินแขนงต่างๆ ก็ยังคงต้องทำงานในประเด็นนี้อย่างแข็งขัน หนังอย่าง Me and You and Everyone We Know คือการสำรวจตรวจสอบชีวิตและจิตใจของผู้คนและสังคม ในยุคเทคโนโลยีดิจิตอล ว่าเรากำลังสื่อสารถึงกันได้ดีแค่ไหน ในรูปแบบหนังอินดี้ หนังแบบอาร์ตๆ ที่น่าสนใจ ดูน่ารัก และลงตัวดีทีเดียว

...

3 comments:

Anonymous said...

หนังน่าสนใจมาก
สามารถดูแล้วคิดต่อได้อีกหลายประเด็น
โดยเฉพาะวิถีชีวิตเรื่อง Urban ทั้งหลาย

ป.ล. ทั้งคุณด๊อง และคุณโลเล
ก็พึ่งกลับจากการหอบผ้าหอบผ่อนหนีตามอิชั้น
ไปเมานท์เท่น สปากันมา

Anonymous said...

ยังไม่อ่านบล็อกนะคะเพราะยังไม่ได้ดู
อยากดูมาก ๆ เรื่องนี้
ต้องรีบหาคนซื้อส่งมาให้ด่วน

Anonymous said...

ชัดเจน ดีจังเลย ฮ่า ฮ่า ( มาตามทางพี่แป๊ด)