Tuesday, August 15, 2006

จุดหมายของชีวิต

...

ผมมีสมมติฐานใหม่ล่าสุด เกี่ยวกับจุดหมายของการมีชีวิตอยู่ ว่าอาจจะคือการทำอะไรเพื่อคนอื่น ผมได้ความคิดนี้มาจากหนังสารคดีเรื่อง March of the Penguins ครับ มันเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในบริเวณขั้วโลกเหนือ ของฝูงนกเพนกวินจักรพรรดิ์ หนังสารคดีเรื่องนี้บอกเรา ว่าทำไมเพนกวินนับพันนับหมื่น ต้องอดทนเดินทางไกลฝ่าหิมะขนาดนั้น พวกมันไม่ใช่ทำเพื่อตัวมันเองหรอกครับ ไม่ใช่เพื่อออกกำลังกายให้หุ่นดี แต่เพื่อเหตุผลที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่านั้น คือเพื่อทำให้คนอื่นต่างหาก

อย่างไรน่ะเหรอ? เริ่มต้นในฤดูร้อนที่แสนสั้นของบริเวณนั้น พวกเพนกวินยังคงอาศัยอยู่ติดทะเล แถวขอบแผ่นดินน้ำแข็ง ที่สามารถหาอาหารได้ง่ายๆ กินตุนไว้เยอะๆ ก่อนจะเริ่มเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งเป็นฤดูหนาวอันยาวนาน พวกมันจะออกเดินตามๆ กัน เข้าไปในแผ่นดินให้ลึกที่สุด ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อใช้เป็นแหล่งผสมพันธุ์ สาเหตุที่พวกมันต้องเดินมาราธอนแบบนี้ เพื่ออะไรรู้ไหม ทำไมมันไม่ผสมพันธุ์กันตรงที่มันอาศัยและหาอาหารหล่ะ? ก็เพราะพวกมันรู้ว่าบริเวณขอบน้ำแข็งใกล้ๆ ทะเล ถึงจะมีอาหารกินเยอะกว่า ถึงจะไม่ต้องเดินไกล แต่มันเต็มไปด้วยสัตว์นักล่าอย่างแมวน้ำ สิงโตทะเล ที่อาจจะมากินลูกของมัน และแผ่นน้ำแข็งบริเวณนั้นก็เปราะบางเกินไป ที่พวกมันจำนวนนับพัน จะมายืนเบียดใกล้ๆ กัน ถ้าพื้นน้ำแข็งเกิดแตก ไข่ของพวกมันหรือลูกที่เพิ่งฟักออกมา อาจจะได้รับอันตราย นี่แปลว่าแรงขับที่ทำให้พวกมันเดินมาราธอน ก็คือเพื่อคนอื่นใช่ไหม??!!

พอผสมพันธุ์สำเร็จและตัวเมียออกไข่แล้ว ตัวเมียจะฝากไข่ไว้ให้ตัวผู้ฟัก โดยวางไข่ไว้บนหลังเท้าของตัวผู้ ที่จะต้องยืนประคองไข่อยู่อย่างนั้นตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ไข่โดนความเย็นจากน้ำแข็งกัด ตัวเมียจะออกเดินทางกลับไปยังทะเลเพื่อหาอาหาร เพื่อตัวเองและเผื่อมาฝากลูกด้วย ระยะทางเดินกลับไปคราวนี้จะยาวไกลขึ้นกว่าตอนขามาหลายสิบเท่า เพราะเมื่อฤดหนาวมาถึง แผ่นน้ำแข็งจะขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว พวกมันเดินกันหลายสิบวัน ไปถึงแล้วก็หาอาหารกิน และรวบรวมอาหารไว้ในถุงกระเพาะ แล้วก็รีบกลับครับ ไม่ใช่ว่าฉันอิ่มแล้ว สบายแล้ว ก็ช่างหัวคนอื่น เพราะถ้ามันไม่รีบกลับ ตัวผู้จะยืนรออยู่อย่างนั้น และลูกของมันจะอดตาย เมื่อกลับมาถึง ตัวเมียจะจำคู่และลูกของมันได้โดยสัญชาตญาณ และจะคายอาหารออกมาป้อนลูกที่เพิ่งฟักออกมาจากไข่ แล้วก็ถึงคราวของตัวผู้ต้องออกเดินทางไกลไปและกลับ เพื่อผลัดกันไปหาอาหารบ้างแล้ว

ผมดูสารคดีเรื่องนี้จบแล้วพบว่า ชีวิตของสัตว์สามารถเป็นบทเรียนชีวิตของคนเรา จนคนเราน่าจะละอายสัตว์จริงๆ มันทำให้ผมเข้าใจว่า จุดหมายของชีวิต วิถีที่แท้จริงของธรรมชาติ และเหตุผลขั้นพื้นฐานที่สุดของการมีชีวิตอยู่ ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย นอกจากจะทำเพื่อเอาชีวิตตัวเองให้รอดแล้ว เหนือขึ้นไปกว่านั้น เราทำไปเพื่อให้คนอื่นอยู่รอดด้วย เมื่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทำไปตามวิถีนี้ เผ่าพันธุ์ของพวกมันก็สามารถดำรงอยู่ เช่นเดียวกับเผ่าพันธุ์อื่นและสรรพสิ่งในโลก ก็สามารถดำรงอยู่ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งราวกับว่าจุดหมายของชีวิตนี้ มันฝังลงไปในรหัสพันธุกรรม ฝังลึกเข้าไปในระดับสัญชาตญาณ

ในขณะที่มนุษย์เราพยายามขัดเกลาสัญชาตญาณออกไป บางทีนี่อาจจะทำให้เราหลงลืมจุดหมายของชีวิต เราเปลี่ยนแปลงไปจนมีความแตกต่างจากสัตว์อย่างมาก เราติดกับการกินอยู่อย่างสะดวกสบายในบ้านที่กันแดดกันฝน มีอาหารอร่อยเพียบเต็มโต๊ะโดยไม่ต้องออกไปล่ามาเอง มีรถยนต์ใช้แทนเท้าเดินในระยะทางไกลๆ และเราผสมพันธุ์เพื่อความสนุกจากเพศรส ไม่ใช่เพื่อความจำเริญของเผ่าพันธุ์ วิวัฒนาการเหล่านี้ทำให้เราแยกตัวออกจากผู้อื่น และหมกมุ่นอยู่กับความสุขของตัวเอง ทำให้จุดหมายของชีวิตพวกเราในทุกวันนี้ จึงเหลืออยู่แค่การแสวงหาความสุขแบบวัตถุ มาเติมชีวิตตัวเราเอง

ผมลองนึกภาพนกเพนกวินตัวที่มีความคิดเหมือนมนุษย์เรา มันคงเลือกที่จะผสมพันธุ์กันตรงขอบแผ่นดินน้ำแข็งใกล้ๆ ทะเลนั่นแหละ เพราะใกล้ดี เพียงเพื่อความสนุกสนานจากเพศรส เมื่อตัวเมียออกไข่มาวางบนเท้าของตัวผู้ ตัวผู้ก็เตะไข่ทิ้งลงทะเล เพราะขี้เกียจยืนอุ้มไข่ไว้นานๆ แล้วทั้งคู่ก็กระโดดลงน้ำหาปลากินไปวันๆ พออิ่มก็ขึ้นมาจากน้ำ ผสมพันธุ์กันต่อ เพื่อความสนุก หรืออาจจะสวิงกิ้งไปหาเพนกวินตัวอื่นไปเรื่อยๆ ชีวิตพวกมันคงมีเพียงแค่นี้เอง และถ้าจุดหมายของชีวิตมนุษย์นั้นมีเพียงแค่ว่า ทำตัวเองให้มีความสุขที่สุดในปัจจุบันขณะ

จุดหมายชีวิตแบบนี้จะจิ๊บจ๊อย เล็กน้อย และง่ายดายเหลือเกินที่จะไปถึง เพราะว่ากระเพาะของมนุษย์คนหนึ่ง กินข้าวเข้าไป 2 จาน ก็อิ่มเพียบจนอยากจะอ้วก กินอะไรเข้าไปไม่ได้อีกแล้ว พอกินอิ่มแล้วจะทำอะไรหล่ะ ไปเที่ยวเหรอ ไปเที่ยวสนุกสนานกลับมา ก็หิวข้าวอีกรอบ แล้วก็กินข้าวเข้าไปอีก 2 จาน วนเวียนอยู่แบบนี้วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า เบื่อไหมครับ? นี่หรือคือจุดหมายของชีวิต?

ผมคิดว่า ลัทธิปัจเจกชนนิยมและลัทธิสุขนิยม ในที่สุดแล้ว ไม่ได้นำพาเราไปถึงไหนเลย มันทำให้เราเดินวนอยู่กับที่รอบๆ ตัวเอง ถ้าเราขยายจุดหมายของชีวิตเรา ไปสู่การทำเพื่อความสุขของคนอื่น ของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ของสรรพสิ่งต่างๆ ในโลก จุดหมายของเราจะกว้างใหญ่ไพศาล และจุดหมายแบบนี้แหละ ที่จะท้าทายให้เราออกเดินมาราธอน แบบเดียวกับนกเพนกวิน เดินไปเรื่อยๆ อย่างมีจุดหมาย จุดหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าการทำเพื่อตัวเอง จุดหมายที่แท้จริงคือการทำเพื่อคนอื่น

(หมายเหตุ / ประเด็นนี้ยังไม่จบนะครับ แต่เรื่องชักจะยาวเกินไปแล้ว ผมเลยแบ่งเนื้อหาเอาไว้เขียนในบล้อกถัดไป อ่านได้ที่ http://theaestheticsofloneliness.blogspot.com/2006/08/2_16.html)

...

7 comments:

Anonymous said...

การเขียนบล็อก แบบให้อ่านง่ายขึ้น
มีย่อหน้า ก็ถือว่าเป็นการทำอะไรเพื่อคนอื่นเหมือนกันนะ ช่วยให้คนอ่านง่าย ไม่ปวดตา

ป.ล.อย่าให้คนอ่านเป็นหนูทดลองเน้อ

Anonymous said...

ขอสนับสนุน คห.1 ครับ

Anonymous said...

แต่ผมดูหนังเรื่องนี้แล้วรู้สึกอีกอย่างนะ

ว่าชีวิตเป็นสิ่งจองจำที่โหดร้ายอยู่พอสมควร ไม่ว่าเราจะเกิดมาเป็นสัตว์ หรือเป็นมนุษย์ เราและสัตว์ทั้งหลายต่างต้องดิ้นรนไปตามสัญชาติญาณโดยไม่จำกัดสติปํญญา

ธรรมชาติสร้างกฏเกณฑ์และเงื่อนไขบางอย่างให้เจ้านกเพนกินนั้นใช้ชีวิตลำบากขึ้น คนเราก็สร้างเงื่อนไขให้ตัวเองเพื่อเพิ่มความหายนะในการชีวิตได้เหมือนกัน (อาจจะรุนแรงกว่าด้วย)

เอาเถอะ ผมดูสารคดีเรื่องนี้แล้วไม่ได้รู้สึกชื่นชมในสายสัมพันธ์ของเพนกวินนัก เพราะผมเชื่อว่าทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่าคนเรามีสายสัมพันธ์แบบนี้อยู่แล้ว เราเคยทำมัน เราอธิบายมันออกมา เราใช้มันเป็นข้ออ้างในการทำสิ่งตรงกันข้าม และเราก็หลงลืมมันในท้ายสุด

แต่ใช่ว่ามันไม่ได้มีอยู่ในตัวเรามาก่อน หลังจากดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว ชั่วนาทีหนึ่ง ผมกลับยิ่งท้อใจในการเป็นมนุษย์มากยิ่งกว่าเดิม

Anonymous said...

จุดหมายของชีวิตเป็นสิ่งที่คนเราค้นหามานมนาน เป็นคำถามที่ตอบยากเหลือเกิน

ผมเริ่มถามคำถามนี้ตอนเรียนมหาวิทยาลัย การเรียนวิชาปรัชญากับอาจารย์ท่านหนึ่งกระตุ้นให้ผมเริ่มตั้งคำถามกับชีวิต ชีวิตเราเกิดมาเพื่ออะไร เราจะไปไหน มนุษย์มีจุดมุ่งหมายที่ยิ่งใหญ่รอคอยอยู่หรือไม่

ผมเห็นด้วยกับคุณ เราควรที่จะขยายตัวตนของเราไปสู่คนส่วนใหญ่ คิดที่จะทำอะไรเพื่อคนอื่นด้วย มากกว่าที่จะทำอะไรแต่เพื่อสนองความต้องการของตัวเอง จริงที่ว่าปัจเจกชนนิยมทำให้เราวนเวียนอยู่แต่การสนองสุขของตัวเอง แต่มันเป็นเช่นนั้นทั้งหมดหรือ การอยู่แบบสัตว์ฝูงที่ทำอะไรเพื่อหมู่เหล่าเป็นหลักไม่เป็นการสวิงไปอีกขั้วมากเกินไปหรือ

ผมว่าปัจเจกชนนิยม (ซึ่งมาพร้อมกับความคิดแบบเสรีนิยม) ไม่ได้มีแต่ในด้านลบ มันมีคุณูปการที่ขยายความสามารถในการตั้งคำถามและสร้างคำตอบใหม่ให้คนทั่วไปเหมือนกัน (นอกเหนือจากคนมีความรู้และผู้อยู่ในสังคมอีลิท)แม้คำตอบของคนส่วนใหญ่จะจบลงที่เพื่อสนองตัวกูเอง แต่การสนองกูเองอาจจะกรุยทางเราไปสู่การหาคำตอบที่นอกเหนือจากตัวเอง รวมถึงนอกเหนือการวิ่งกรูไปกับผลประโยชน์ของฝูงที่สุดขั้วก็เป็นได้

ทั้งหมดนี้ผมเพียงแต่ตั้งข้อสงสัยกับการมองเพนกวินในแง่ดี มองคนในแง่ร้ายของคุณเท่านั้น เป็นการคิดอย่างเร่งด่วนที่คุณแนะให้ผมลองทำไง

Anonymous said...

โอ้ว ชอบความรู้สึกของเจ้าของบล็อกกับหนังเรื่องนี้จัง
แต่ความเห็นของคุณโทนี่ก็น่าสนใจไม่น้อย

ส่วนตัวชอบหนังเรื่องนี้มากเพราะเพลง และ การใช้เสียงบรรยาย
การเคลื่อนไหวคอของเพนกวิน และวิธีเคลื่อนไหวด้วยการไถลท้องไปกับพื้นน้ำแข็ง

ไม่รู้สิคะ ท่ามกลางคนมากหน้าหลายตาที่เราเคยพบเจอ และจะพบเจอ น่าจะมีนะ สัก1คนที่ทำให้การสืบพันธ์พิเศษ และสวยงาม เหมืือนที่เพนกวินจำคู่ของมันถามกลางฝูงเพนกวินฝูงใหญ่ได้

Anonymous said...

อ่านหลายๆชิ้นแล้วสงสัยคุณ woody,
ว่าเพิ่งรู้เหรอ ทั้งหมดที่คุณเขียนเป็นปรัชญาพื้นฐาน เป็นเรื่องที่ใครๆก็รู้ แต่คุณเขียนเหมือนเพิ่งลืมตาดูโลก

อ่านแล้วเลยประหลาดใจ

คุณกำลังหลอกล่ออะไรคนอ่านบล็อกของคุณอยู่

แค่อยากเรียกเรตติ้งเท่านั้นหรือ?

Tomorn Sookprecha said...

การมีชีวิตอยู่ "เพื่อฝูง" เท่านั้น ก็ได้ทำให้หนังเรื่องการเดินทางของเพนกวิน กลายเป็น A Bug's Life ไปในบัดดล

เพราะการหลุดพ้นเป็นเรื่องเฉพาะตัว