...
รายการทีวีในช่วงใกล้วันแม่อย่างตอนนี้ ทำให้ผมรู้สึกอึดอัดและแปลกแยกจากพ่อและแม่ของผมเอง ไม่รู้ว่าพวกคุณรู้สึกเหมือนกันหรือเปล่า ผมว่าคงมีหลายคนที่รู้สึกแบบนี้ พวกพิธีกรรายการคุยข่าวผู้หญิงเลยชอบพูดย้ำๆ ในรายการ เหมือนกับจะบอกย้ำคนแบบเราๆ ว่าไม่ต้องเขินหรอก ที่จะบอกรักพ่อแม่ ไปกอดท่าน หอมแก้มท่าน หรือเอาดอกมะลิไปกราบที่ตัก เป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำเพื่อให้พ่อแม่มีความสุข ผมรู้สึกอึดอัดเพราะที่บ้านผม แต่ไหนแต่ไรมา เราไม่เคยมีประเพณีที่จะมากอดกัน หอมแก้มกัน เชื่อไหมว่าตั้งแต่เกิดมา ผมยังไม่เคยเห็นพ่อแม่กอดและหอมกันเลย และแน่นอนว่าตั้งแต่ผมจำความได้และโตมา พ่อแม่ไม่เคยกอดหอมผมเช่นกัน ยกเว้นวันที่ผมไม่สบายหนักๆ เป็นไข้ตัวร้อนจี๋ แม่จะชอบเอาแก้มมาอังที่หน้าผากผมเพื่อวัดอุณหภูมิ แล้วก็พาไปหาหมอ แล้วก็บังคับให้กินยา ผมรู้อยู่แก่ใจว่าพ่อแม่รักผม และผมก็รักพ่อแม่มาก เพียงแต่เราไม่แสดงออก ไม่พูดออกมา และบ้านเราก็คิดแบบนี้มาตลอด จนกระทั่งมาช่วงสัก 10 ปีที่ผ่านมานี้แหละ ผมสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคมไทย ดูเหมือนว่าเรากำลังมีความคิดเรื่องความอบอุ่นครอบครัวกันในแบบใหม่ และทำให้เราต้องมีการแสดงออกกันแบบใหม่ด้วย คือในแบบกอดกันหอมกัน หรือการที่มีฉากดราม่ามากๆ อย่างการเอาดอกมะลิไปกราบ ผมว่ากระแสนี้เพิ่งเกิดมาในช่วง 10 กว่าปีนี้เอง ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีมาก่อนแน่นอน ก่อนหน้านี้เรามีเพลงก็ฟังเพลงค่าน้ำนม เราก็มีการแสดงบนเวทีโรงเรียนในวันพ่อวันแม่ และเราก็รักพ่อรักแม่กันเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ใช่ในแบบที่ทำๆ กันในปัจจุบัน คุณรู้ไหมว่าผมเคยเห็นคนเอาดอกมะลิไปให้แม่ในวันแม่ ครั้งแรกเมื่อไร เฉลยคือตอนอยู่ ม.5 ผมจำได้แม่นยำว่านั่นเป็นตอนเย็นของวันศุกร์ ผมกับเพื่อนเพิ่งเรียนร.ด. เสร็จกำลังจะกลับบ้าน เราเดินรวมกลุ่มกันออกมาจากซอยศูนย์ฝึกร.ด. มีเพื่อนคนหนึ่งแวะซื้อพวงมาลัยดอกมะลิ บอกว่าจะเอาไปให้แม่เนื่องในวันแม่ ผมรู้สึกแปลกใจมากครับ และพูดกับเขาว่า เออ ดีหว่ะ มึงนี่น่ารักดี ทำแบบนี้ให้แม่ด้วย แต่ถ้าเป็นกูนะ ไม่ไหวหว่ะ เขิน ไม่เคยทำ และคิดว่าคนอื่นๆ ส่วนใหญ่ในสังคมก็คงเป็นแบบผมกันหมด เพื่อนคนนี้ชื่อไอ้เต่า ปัจจุบันเป็นนักร้องดังได้ดิบได้ดีไปแล้ว ไม่รู้ว่าเขาจำเหตุการณ์นี้ได้หรือเปล่า แต่ผมจำได้แม่น เพราะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สิบกว่าปีแล้ว เวลาดูทีวีแล้วพิธีกรในรายการ ออกมาพูดชวนให้เราซื้อดอกมะลิไปกราบแม่ทีไร ผมจะนึกถึงเพื่อนคนนี้และเหตุการณ์นี้ทุกทีไป ผมเชื่อว่าในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา สังคมไทยเราเปลี่ยนแปลงไป และสถาบันครอบครัวถูกกระทบกระเทือนอย่างหนัก เป็นไปได้ว่ามีคนแก่ถูกทอดทิ้งมากขึ้น และคนหนุ่มสาวเริ่มออกจากบ้านไปหางานทำ และดำเนินชีวิตเป็นตัวของตัวเอง เหมือนกับคนหนุ่มสาวตะวันตก กระแสรณรงค์ให้กอดแม่ในวันแม่ จึงก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่างอย่างชัดเจน และดูเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อดึงรั้งคนหนุ่มสาวเอาไว้ และรักษาสถาบันครอบครัวให้มั่นคง นอกจากวันแม่แล้ว ก็ยังมีวันพ่อ รวมไปถึงวันปีใหม่และวันสงกรานต์ ที่จะกลายเป็นวันแห่งสถาบันครอบครัวในแนวคิดแบบใหม่ ที่ต้องกอดกันหอมกัน และต้องมีฉากดราม่ามากๆ จึงจะถือว่าครอบครัวที่ดี ที่อบอุ่น ทุกครอบครัวจะต้องทำตามรูปแบบนี้เหมือนกันหมด กระแสนี้ลุกลามขยายตัวไปมากนะครับ และถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางอื่น อย่างเช่น ตอนนี้มีการจัดงานอีเวนต์ประมาณว่า รักแม่-พาแม่เที่ยว หรือวันแม่พาแม่ไปกินบุฟเฟ่ต์โออิชิฟรี (แต่คนอื่นต้องจ่ายนะ และต้องไป 4 คนเป็นอย่างน้อย) ร้านอาหารในตอนเย็นวันแม่จะต้องรอนานเป็นชั่วโมง ศูนย์การค้าทุกศูนย์จะคนเดินเบียดกันแน่น พัทยาหัวหินรถติดวินาศสันตะโร และแน่นอนว่าพวงมาลัยดอกมะลิฉวยโอกาสขึ้นราคา ผมมีความคิดเห็นว่า แต่ละครอบครัว แต่ละบุคคล ควรจะต้องมีความหลากหลาย และมีรูปแบบประเพณีปฏิบัติ ที่แตกต่างกันในรายละเอียด การที่พิธีกรรายการทีวีเอาแต่บอกว่า ต้องเอาดอกมะลิไปกราบแม่ในวันแม่ มันเป็นการยัดเยียดรูปแบบหนึ่งให้กับทุกๆ ครอบครัวมากเกินไป ผมนึกไปถึงครอบครัวที่เขาไม่มีพ่อไม่มีแม่ เด็กกำพร้า เด็กที่พ่อแม่แยกทางกัน หรือคนแก่ที่โดนลูกหลานทิ้ง คนเหล่านี้จะไม่ยิ่งรู้สึกขาดพร่องไปหรือ ถ้าสังคมเรายัดเยียดรูปแบบความรักความอบอุ่นเพียงแบบเดียวให้ทำตามกันหมด และสร้างภาพความรักความอบอุ่นในครอบครัวแบบดราม่ามากๆ อย่างที่ทำกันอยู่ตอนนี้ ผมนึกไปถึงร้านก๋วยเตี๋ยวแผงลอยร้านหนึ่ง ตรงหน้าโรงพยาบาลศิริราช ที่จะมาขายเฉพาะตอนดึกๆ ประมาณ 3-4 ทุ่มเป็นต้นไป ร้านนี้อร่อยมาก และคนนั่งกันแน่นตลอด แต่เอกลักษณ์ของร้านนี้ คือคนขายเป็นพ่อ จะคอยด่าลูกสาวและเมียตัวเอง ที่เป็นคนล้างจานและคนเสิร์ฟก๋วยเตี๋ยวตลอดเวลา อีเหี้ย เร็วๆ หน่อย ทำงานชักช้า โง่เหมือนควาย แบบนี้จะทำมาหาแดกกันได้ยังไง บางวันลูกสาวเสิร์ฟก๋วยเตี๋ยวไปร้องไห้ไป คนที่เป็นแม่ได้แต่ก้มหน้าล้างจาน ไม่ปริปาก ผมไปกินทีไร ก็เห็นสภาพน่าเศร้านี้ทุกที แต่พวกเขาก็ยังอยู่กันได้ เขาก็ยังเป็นพ่อแม่ลูก เป็นครอบครัวที่ช่วยกันทำมาหากิน ผมสงสัยว่าเมื่อถึงวันพ่อหรือวันแม่ ลูกสาวเขาจะทำอย่างไร ถ้าสังคมเราเอาแต่ยัดเยียดรูปแบบความรักความอบอุ่นเพียงแบบเดียว ให้ทำตามเหมือนกันหมด จริงๆ แล้วผมก็ยกย่องอุดมคติเรื่องความเป็นแม่ พยายามปฏิบัติตามคุณธรรมเรื่องความกตัญญู และเชื่อมั่นในสถาบันครอบครัว ว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ แต่ผมอยากจะผ่านพ้นวันแม่วันพ่อไปอย่างวันปกติธรรมดาวันหนึ่ง วันที่ตื่นเช้ามาเจอพ่อแม่นั่งดูทีวีรายการคุยข่าว อีกสักแป๊บ ผมเดินลงไปชงกาแฟกิน ก็เห็นแม่เดินออกไปรดน้ำต้นไม้ เห็นพ่อกำลังเก็บกวาดห้องครัว ผมตะโกนว่าแม่ว่าจะก้มถอนหญ้านานๆ ทำไม เดี๋ยวก็ปวดหลังหรอก แล้วก็ไปอาบน้ำ แต่งตัวไปทำงาน ถือข้าวห่อที่แม่ทำเตรียมเผื่อไว้ให้ตั้งแต่เช้ามืด พ่อบอกไล่หลังตอนกำลังปิดประตูรั้ว ว่าอย่าลืมไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟด้วย บิลมาหลายวันแล้ว เมื่อมาถึงที่ทำงาน ผมพยายามสร้างงานเขียนที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม แล้วกลับบ้านไปตอนค่ำ เปิดประตูห้องเข้าไปทัก พ่อกับแม่กำลังดูทีวีละครหลังข่าวด้วยกันในห้องนอน แล้วแม่จะถามว่ากินข้าวหรือยัง ผมบอกว่ากินแล้ว แล้วก็ไปอาบน้ำ ขึ้นนอน แค่นี้เอง ผมรักพ่อแม่ได้ทุกวัน ครอบครัวของผม ทำเพียงเท่านี้ก็รู้สึกอบอุ่น ไม่ต้องไปกินโออิชิวันแม่ ไม่ต้องไปเที่ยวไหน ไม่ต้องมีฉากดราม่าเรียกน้ำตา ไม่รู้ว่าผมคิดถูกหรือคิดผิด
...
Friday, August 11, 2006
รักนะ แต่ไม่แสดงออก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
6 comments:
เหมือนบ้านผมเลยครับ
แต่ผมเพิ่งโดนว่า ทำไมถึงไม่พาแม่ไปไหน หรือ ซื้ออะไรให้บ้าง ก็บ้านผมมันเป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว ...
ผมว่าทุกคนก็รักพ่อแม่ ซึ่งแต่ล่ะคนก็มีวิธีในการแสดงออกต่างกันไป ไม่เห็นจำเป็นต้องเหมือนกันเลย
อ่านไปได้บรรทัดเดียว แล้วตกใจ
รายการทีวี ทำให้คุณแปลกแยกและอึดอัด
ถามจริงๆ นะ รายการมันมีอิทธิพลต่อคุณขนาดนั้นเลยหรือ ยอมถูกกระทำขนาดนั้นเลยหรือ
ทำไมไม่ดูเอาขำ ดูเอาสนุก
สำหรับตัวเอง เวลาดูรายการประเภทกระแสหลัก ทั้งหลาย แล้วสนุกทุกที
อ้อ อันนี้เห็นหัวข้อเรื่อง
อยากบอกว่า ไม่เชื่อน้องโฟร์ มด
บางทีความรักก็ต้องการ การแสดงออก
เคยทำการ์ดวันแม่ให้แม่
จำไม่ได้แล้วด้วยว่าทำการ์ดเพราะอิทธิพลสื่อหรือเปล่า
จำได้ว่าแม่ชอบมาก เอาอวดให้ใครๆ ดู
ตั้งโชว์ไว้เด่นหรา
พอแก่ๆ แล้วความรู้สึกขัดเขิน
ความรู้สึกที่ว่าไม่อยากทำอะไรแบบที่คนส่วนใหญ่ทำ
ทำให้ไม่ได้ทำการ์ดให้แม่อีก
( จริงๆ ความขี้เกียจ ครอบงำ )
ตอนนี้เสียดายความรู้สึกแบบนั้นจริงๆ
ความรู้สึกแบบที่ไม่ต้องมานั่งตั้งคำถามว่า
ทำอะไรไปเพราะอิทธิพลบริโภคนิยม หรือเปล่า
อาการแบบนี้ ฝรั่งเรียกว่า Christmas Syndrome คือเป็นกันในวันเทศกาลสำคัญๆต่างๆ เนื่องจากถูกสื่อถูกสิ่งต่างๆมันกล่อมเกลาเหลือเกิน
ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมบริโภคนิยม
คำถามที่สำคัญในวันแม่ สำหรับผม คือ ทำไมคำว่า "แม่" ในสังคมไทยต้องมีรูปแบบเดียว คือเป็นแม่พระเท่านั้น "แม่" ไม่สามารถทำผิดได้เลยหรือ แม่มีเซ็กซ์ แม่เอากับชู้ แม่ตบลูกเพราะอารมณ์ชั่ววูบ และบางโมเมนต์แม่ก็ "เกลียด" ลูกได้ เพราะในความสัมพันธ์ของคนกับคน มันมีได้ทั้งนั้นในแต่ละช่วงเวลา แต่ดูเหมือนเราชอบ "ปั้น" แม่ให้กลายเป็นวัตถุมงคลขึ้นหิ้ง "แม่" แทบไม่มีสภาพเป็น "คน" เหลืออยู่ นั่นก็คือไม่มีอารมณ์ความรู้สึก เป็นได้แค่สัญลักษณ์บางอย่างที่มี "กรอบ" ขีดไว้หนาแน่ พอพูดคำว่า "แม่" ก็ต้องนึกถึงแต่ภาพคนที่แสนดี คอยดูแลเรามาตลอดเวลา
คุณไม่เคยคิดเลยหรือว่า "ภาพ" ของ "แม่" อย่างที่เราปั้นขึ้นมานี้น่ะ จริงๆมันก็คือ "กรง" ที่เอาไว้ขังเอาไว้ครอบแม่ของเรา แม่ก็เลยต้อง "ทำตัว" เหมือนอยู่ในกรง คือเป็น "แม่" ที่แสนดี เป็น "เมียของพ่อ" เป็น "แม่ของลูก" ทั้งที่บางโมเมนต์ แม่อาจจะอยากสำส่อน อยากจะจีบผู้ชาย วันแม่แม่จะไปเที่ยวสีลมซอยสองซอยสี่ห้าหกก็ไม่ได้ ต้องนั่งหลังแข็งรอรับดอกมะลิอย่างเดียว บางทีแม่ก็อาจอาจอยากได้ดอกทองบ้างเหมือนกัน เพื่อให้แม่ได้ "หลุด" ออกไปจากกรงขังของความเป็นแม่
มีใครเคยคิดถึง "แม่" ที่หลากหลายกว่าภาพ "แม่พระ" ที่สังคมตั้งเอาไว้บ้างไหมครับ
จำได้ว่า ตอนเด็กๆ พอถึงวันแม่จะมีเพื่อนบางคนไม่มาโรงเรียน...
หรือตอนที่คุณครู (บังคับ) ให้เขียนเรียงความสรรเสริญเทิดทูนพระคุณแม่ เพื่อนบางคนจะเพียงนั่งนิ่ง ไม่แม้แต่จะจับดินสอขึ้นมาเขียน สุดท้ายเมื่อถึงเวลาต้องส่งก็ไม่มีผลงานไปแปะโชว์หน้าห้อง คุณครูดุเด็กคนนี้ว่าทำไมไม่มีความรับผิดชอบ สายตาของเขาว่างเปล่าเลื่อนลอยเหมือนจะรอคอยว่าเมื่อไรเวลาอันน่าทรมานนี้จะจบลง...
พอถึงงานวันแม่ที่โรงเรียน แม่ๆก็จะมานั่งเรียงแถวให้ลูกกราบ ผมเองในตอนนั้นก้ยังงงๆว่าทำไมผมต้องมาแสดงความรักให้คนอื่นดูราวกับเป้นการ "โชว์" เพียงเพื่อให้คนอื่นๆชื่นชมว่าผมรักแม่...
ในตอนนั้นผมสงสัยว่า ถ้าผมไม่เขียนเรียงความวันแม่ ถ้าผมไม่เอาดอกมะลิไปกราบที่ตักแม่ ถ้าผมไม่บอกรักแม่เพราะมันเป็น "วันแม่" ผมจะเป็นเด็กอกตัญญูไหม...
ในมือผมกุมรางวัลชนะเลิศเรียงความวันแม่เอาไว้ แต่ในใจผมกลับไม่ได้รู้สึกว่าผมรักแม่มากกว่าคนที่ไม่ได้รับรางวัลเลย ผมเป็นเพียงแค่เด็กที่ละเลียดความรู้สึกออกมาเป็นตัวหนังสือได้น่าอ่านในสายตากรรมการเท่านั้น ไม่ได้เก่งไปกว่าเด็กคนอื่นเลย...
ผมไม่อายที่จะกอด จะหอม หรือบอกรักแม่เลยสักนิด ทุกวันนี้ผมยังกอดแม่ได้อย่างสนิทใจ และควงแม่ไปไหนมาไหนเสมอ...
แต่ผมไม่อยากบอกรักแม่ เพราะมันเป็น "วันแม่" ไม่อยากเขียนบรรยายความรู้สึกเพราะใครบังคับ ผมอยากบอกรักแม่ เพราะผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ...
ผมสงสัยเหลือเกินว่า เด็กที่ไม่มีแม่ ไม่เคยเห็นหน้าแม่ หรือเคยถูกแม่ทำร้าย เขาจะเขียนเรียงความวันแม่นี้อย่างไร...
คงมีอีกหลายคนต้องเจ็บปวดเพราะวันนี้ครับ
แม่ตายไปนานแล้ว เวลาที่นึกถึงก็ยังมีแต่ความทรงจำดี ๆ อาหารที่แม่ทำ แม่ชอบถักนิตติ้งและแม่ช่างแต่งตัว เมื่อสองเดือนก่อนเพิ่งกลับไปเยี่ยมบ้าน ไปดูของใช่เก่า ๆ ที่แม่เลือกซื้อไว้ก็ชอบมากรู้สึกว่าแม่มีรสนิยมแนวเดียวกับเรา
ที่บ้านก็เป็นแบบนี้นะ ไม่ค่อยแสดงออกว่ารักกันหรืออะไร
แต่ช่วงหลายปี่ที่ผ่านมาพี่ ๆ น้อง ๆ ก็แสดงออกว่ารักและห่วงใยกันมากขึ้น มาพรัอม ๆ กับความรู้สึกง่าย ๆ ไม่ได้เขินหรือว่าแสร้งทำเฉพาะวันเท่านั้น
คิดเอาว่าพอคนเราโตขึ้นจนถึงจุดที่ทุก ๆ คนในบ้านมีความคิดการงานเป็นของตัวเองแล้ว ความสัมพันธ์มันเรื่องควบกึ่งกับความเป็นเพื่อนด้วย
ที่บ้านไม่ได้อยู่บ้านเดียวกันเรยนะคะแยกเรือนกันหมด พ่ออยู่ต่างจังหวัด เรยไม่แน่ใจว่าเพราะงั้นเวลาที่เจอกันหรือมีโอกาสเรยต้องแสดงออกหรือเปล่า
เวลาดูรายการงี้แล้วไม่ได้รู้สึกว่าเขาทำให้เราดู แต่ทำให้คนที่มันไม่เคยใส่ใจพ่อแม่ หรือไม่ก็คนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานให้เมืองใหญ่เพลิน
ชอบความรู้สึกที่คำว่าแม่ เป็นคำแบบอุดมคตินะ ถ้าได้เป็นแม่คนก็คงทำตัวแบบแม่ในกรอบ แต่ไม่ต้องเที่ยวไปตีกรอบใคร
ผมคิดว่าวันแม่ วันนี้นะ ที่ร้านสุกี้ MK
ต้องมีลูก ๆ แม่ๆ ไปรอคิวเป็นล้านเพื่อทานสุกี้
ทั้งนี้อาจเป็นวิธีแสดงความกตัญญูกตเวทีอย่างหนึี่งก็ได้ครับ ใครทำถือว่าเป็นลูกที่กตัญญูอินเทรนด์
แต่อีกด้่านน่าเห็นอกเห็นใจพนักงานร้่าน mk น่ะครับที่วันนี้พวกเขาต้องเหนื่อยเป็นพิเศษ ต้องกลับบ้านล่าช้ากว่าทุกวันเพราะต้องอยู่เคลียร์ร้าน ทำความสะอาดจานชามกองกองโตมหาศาลจากลูกๆ ที่พาแม่ไปทานสุกี้
วันนี้จึงลูกส่วนหนึ่งที่ได้ทานสุกี้กับแม่ และมีลูกอีกส่วนหนึ่งต้องปวดหลังทำงานหนักอยู่หลังร้าน
Post a Comment