Wednesday, August 09, 2006

Advertorial

***

ก่อนจะอ่านเรื่องราวต่อไปนี้ ผมขอให้ทุกคนรับปากก่อนครับ ว่าจะไม่นำไปแพร่งพรายเป็นอันขาด ผมสร้างบล้อกนี้ขึ้นมาเพื่อให้เฉพาะเพื่อนๆ ที่ใกล้ชิดในวงจำกัดได้อ่าน บางเรื่องที่เขียนถึงจึงเป็นความลับและเป็นความคิดเห็นที่ส่วนตัวสุดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องต่อไปนี้ มันเป็นเรื่องที่ออฟฟิศหน่ะครับ ผมขอเล่าโดยไม่บอกชื่อตัวละครและไม่บอกชื่อบริษัทก็แล้วกัน (แต่คุณคงรู้อยู่แล้ว) เริ่มเรื่องกันที่พี่ที่ออฟฟิศคนหนึ่งเพิ่งจะเซ็นใบลาออกไป โดยมีผลสิ้นเดือนนี้ เขาทำงานที่นี่มานานสิบกว่าปี นานเกือบจะเท่าๆ กับอายุของบริษัทนี้แล้ว ภาพที่เขามาเก็บข้าวของบนโต๊ะ ทำให้ผมรู้สึกสะเทือนใจ จริงๆ แล้วผมกับเขาไม่ค่อยพูดจากันมานาน 2-3 ปีแล้ว จากแต่ก่อนที่เราเคยสนิทกัน สาเหตุที่ทะเลาะกันนั้นผมจำไม่ได้อย่างแน่ชัด คุณเป็นเหมือนผมไหมล่ะ เวลาทะเลาะกับเพื่อนคนหนึ่ง ไม่คุยกันนานหลายปี เมื่อมองย้อนกลับไปอีกที คุณนึกไม่ออกแล้วว่าเราทะเลาะกันเรื่องอะไร แต่เรายังรู้สึกว่าทะเลาะกันอยู่ น่าตลกดีนะ ผมไม่รู้ว่าในมุมมองของเขา เขามองเราทะเลาะกันเพราะอะไร แต่ถ้าเป็นในมุมมองของผมฝ่ายเดียว ผมว่าเราทะเลาะกันเรื่องงานนั่นแหละ เขาอาจจะรู้สึกว่าผมกินแรง ไม่ยอมช่วยเขาเก็บกวาดงานห่วยๆ ไร้สาระประจำเดือน ซึ่งก็คือการทำ advertorial ที่จะประเด็นที่ผมจะเขียนถึงในต่อไปนี้แหละ ตอนที่ผมเข้ามาทำงานที่นี่เมื่อปี 2543 เขาเป็นเพื่อนร่วมงานคนแรกๆ เขาอายุมากกว่าผมเกือบ 10 ปี จึงเป็นซีเนียร์และช่วยสอนงานให้เยอะ ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของไทยเพิ่งผ่านวิกฤตมา ธุรกิจนิตยสารที่ต้องพึ่งพาเงินค่าโฆษณา จึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มีนิตยสารมากมายต้องปิดตัวไปในช่วงนั้น ยกเว้นนิตยสารของเราที่รอดตัวมาได้ ด้วยการที่เราทำ advertorial แถมให้กับลูกค้าที่ซื้อโฆษณา คุณยังไม่รู้ว่า advertorial คืออะไรหน่ะเหรอ มันก็คือหน้าโฆษณาในนิตยสาร ที่ดูเหมือนกับเป็นเนื้อหาในนิตยสาร เคยสังเกตไหม บางหน้าที่เป็นการสัมภาษณ์คนดัง ให้เขาพูดถึงตัวสินค้าอะไรบางอย่าง นั่นแหละ advertorial หล่ะ จริงๆ แล้วมันมีมานานมากแล้วครับ มีมาก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 แต่ผมคิดว่ามันพุ่งพีคถึงจุดสุดยอดในปี 2540 นั่นแหละ เพราะนิตยสารทุกเล่มในตอนนั้น จะต้องยอมโก่งตูดให้ทุนนิยมล่อเอาตามสบาย เพื่อขอค่าโฆษณามาต่อลมหายใจ จนมาถึงทุกวันนี้ advertorial ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นสิ่งที่ปกติและเราเคยชินกับมัน ตอนปี 2543 ที่ผมเริ่มต้นทำงานในกองบรรณาธิการนิตยสาร มี advertorial เข้ามาให้พวกเราทำตลอดครับ แรกๆ ผมก็ทำไปโดยไม่ทันได้คิดอะไร แต่เมื่อทำไปนานหลายเดือนก็ชักรู้สึกทะแม่งๆ ตะหงิดๆ ว่าทำไมวิชาชีพนักวารสารศาสตร์อย่างเรา ต้องมาทำงานรับใช้งานโฆษณาแบบนี้ ทำไมในเมื่อตอนนั้นเศรษฐกิจเริ่มกระเตื้องขึ้นมาบ้างแล้ว ทุนนิยมยังจะมาอัดตูดพวกเราอยู่ได้ทุกเดือน หลังจากนั้นมา ผมเบะปากใส่และทำอิดออดทุกครั้ง ที่ถูกร้องขอให้ทำ ผมทนทำให้อยู่บ้างเป็นครั้งคราว แต่ส่วนใหญ่ก็บ่ายเบี่ยง โดยผู้ที่ยอมทำ advertorial ส่วนที่ผมบ่ายเบี่ยงไปนั้น ก็คือรุ่นพี่คนนี้แหละ คนที่เพิ่งเซ็นใบลาออกไปนี่แหละ นอกจากการทำ advertorial เขาก็รับผิดชอบงานเขียนอื่นๆ ในนิตยสารเล่มนี้อีกมากนะครับ จำพวกคอลัมน์เกร็ดความรู้สั้นๆ ที่อยู่กระจายไปทั่วเล่มนั้นแหละ และงานสัมภาษณ์พวกดารา คนดังทั้งหลาย จำพวกที่ว่า เข้าวงการมาได้อย่างไร ชอบผู้หญิงประเภทไหน มีงานอดิเรกอะไร สรุปรวมๆ ก็คือสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้นิตยสารทั้งเล่มดูน่าอ่าน เบาสมอง Giggle อ่านง่าย ไม่หนักสาระทั้งหลาย พี่เขารับเหมาทำทั้งหมด มีครั้งหนึ่ง พวกเราเดินไปทางทำสกู๊ปที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วยกัน จึงมีเวลานั่งพูดคุยกันมากขึ้น ผมพูดประเด็นนี้กับเขา ว่าเราเป็นนักวิชาชีพวารสารศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องทำ advertorial แบบนี้ หรือถ้าจะทำ เราควรจะได้เงินพิเศษในอัตราเดียวกับที่นักวิชาชีพโฆษณาได้รับ โดยที่ฝ่ายโฆษณาของนิตยสาร ควรจะขาย advertorial ในราคาที่แพงพิเศษ เพื่อมาเป็นค่าแรงพิเศษให้กับเรา หรือไม่ก็ขายหน้าโฆษณาไปปกติ เราจะได้ไม่ต้องไปทำ advertorial ให้เสียเวลา เขาดูฮึกเหิมและเออๆ ออๆ เห็นด้วยกับไอเดียนี้อย่างมาก แต่เมื่อกลับมาจากเชียงใหม่คราวนั้น เขาก็ยังคงต้องทำ advertorial ต่อไปอยู่ดี นี่คงเป็นสาเหตุหลัก ที่ทำให้จู่ๆ วันหนึ่งเขาฟิวส์ขาดใส่ผม ทำนองว่าผมยิ่งใหญ่มาจากไหน ทำไมไม่ช่วยเขาทำ advertorial หลังจากนั้นเราก็ไม่พูดกันอีกเลยนานสองสามปี จนมาช่วงหลังๆ มานี้ พวกเราดูเหมือนจะมีท่าทีอ่อนลงต่อกัน พูดจากันเล็กน้อย แต่ก็ไม่สนิทกันเหมือนเดิม ต่อมา เขาได้เลื่อนตำแหน่งไปเป็นบรรณาธิการนิตยสารในเครืออีกฉบับ ซึ่งเป็นนิตยสารเฉพาะกลุ่มสินค้าจำพวกนาฬิกา ตำแหน่งบรรณาธิการดูเหมือนจะดี แต่จริงๆ มันคือการนำชีวิตการทำงานของเขา ให้ดำดิ่งลงไปสู่วังวนของ advertorial มากเข้าไปอีก เพราะสินค้านาฬิกาหรูๆ แพงๆ จำเป็นต้องใช้สื่อนิตยสารเฉพาะทางแบบนี้ ในการโฆษณาตรงไปถึงลูกค้าเป้าหมาย นิตยสารเฉพาะทางจึงมักจะอัดแน่นไปด้วย advertorial คุณสังเกตไหมล่ะ ไม่ใช่แค่เฉพาะนิตยสารนาฬิกานะ แต่รวมทั้งนิตยสารรถยนต์ นิตยสารคอมพิวเตอร์ นิตยสารบ้าน ฯลฯ เนื้อหาที่เป็น advertorial จะมากกว่าในนิตยสารไลฟ์สไตล์แบบทั่วไป ผมสังเกตเห็นว่าเขามีปัญหาในการทำงาน และต่อต้านบริษัทมากขึ้นเรื่อยๆ และบ่นว่าอยากจะลาออกจากบริษัทนี้มาตลอด จริงๆ แล้วผมเองหน่ะ เบื่อเรื่อง advertorial เต็มทน เพราะบ่นถึงมันให้เพื่อนร่วมงานทุกคนฟังมานานหลายปี จนทุกวันนี้ผมไม่ต้องทำมันแล้ว ทางบริษัทวางการทำ advertorial กันใหม่ โดยว่าจ้างพนักงานเฉพาะมาทำเลย เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าโฆษณา ที่อยากโฆษณา แต่อยากให้มันดูเนียนๆ กลมกลืนกับเนื้อหาในเล่ม และคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าหน้าโฆษณาธรรมดา เรื่องราวนี้จึงดูเหมือนกับว่าได้รับการสะสางไปมากแล้ว แต่ปัญหาที่มันตกตะกอนอยู่กับคนรุ่นเก่าๆ หน่ะ ยังคงอยู่แบบนั้น และได้แสดงออกมา ในวันที่รุ่นพี่คนนี้มาเก็บข้าวของนี่แหละ เขาทำให้ผมสะเทือนใจ เจ้าของบริษัทมายืนคุยกับเขาที่โต๊ะสักครู่หนึ่ง แล้วเขาก็ก้มหน้าก้มตาเก็บของ เขาตะโกนถามคนโน้นคนนี้ ว่านี่ของบริษัทหรือเปล่า อ่ะ เอาคืนไป อันนี้ของฉันนะ ฉันซื้อมา เป็นพยานให้ฉันนะ แล้วก็เก็บใส่ลัง นี่หรือคือรางวัลของการเป็นกองบรรณาธิการนิตยสารมาตลอดสิบกว่าปี รางวัลของการที่อดทนให้ทุนนิยมอัดตูดนานสิบกว่าปี รางวัลของการทำ advertorial รางวัลของการเขียนงานชิ้นเล็กชิ้นน้อย งานตลกโปกฮาไร้สาระ Giggle เพื่อให้นิตยสารเล่มหนึ่งดูเบาสมองและน่าอ่าน มาตลอดสิบกว่าปี ผมว่าชีวิตของรุ่นพี่คนนี้ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ถึงการที่มนุษย์คนหนึ่ง ถูกงานประจำอันไร้คุณค่า ค่อยๆ กัดกินไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่เขาลาออกจากงาน เขาจึงรู้สึกตัวว่าได้สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตไปแล้ว การทำ advertorial เดือนละหลายๆ ชิ้น ติดต่อกันนานเป็นสิบปี ควบคู่ไปกับการทำงานเขียนแบบ Giggle ตลกๆ ขำๆ ชิ้นเล็กชิ้นน้อย มันไร้ค่าสิ้นดี เมื่อเทียบกับชีวิตคนทั้งชีวิต ที่ควรจะได้เติบโตทางความคิดและจิตวิญญาณ รวมไปถึงตำแหน่งหน้าที่การงาน และสถานะในที่ทำงาน ที่ควรจะดีขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุงานของเขา การงานที่ดีควรจะเป็นสิ่งที่เพิ่มพูนชีวิตและจิตใจของผู้ทำงาน การงานที่เลวคือการงานที่กัดกิน และขูดรีดวันเวลาในวัยหนุ่มสาวของเราจนเหือดแห้ง และเฉดหัวเราทิ้งเมื่อเราแก่ตัว เรามักจะตื่นขึ้นเมื่อเราแก่ เหมือนกับคนแก่มักจะนอนน้อย ตื่นตีสี่ตีห้าทุกวัน เมื่อตื่นขึ้นก็รู้ตัวว่าถูกกัดกินขูดรีดชีวิตไปหมดสิ้นแล้ว ผมว่าเรื่องราวในบล้อกนี้ มันดำเนินไปอย่างเลยเถิด และเกินประเด็นเรื่อง advertorial ไปมากแล้วนะครับ มันเริ่มไปถึงการตั้งคำถามกับชีวิตและการงานที่ดี ซึ่งผมเองก็ยังไม่มีคำตอบอะไรให้กับเรื่องนี้ ขอโทษเพื่อนทุกๆ คนที่ผมเขียนพาดพิงถึง ผมไม่ได้เขียนเพื่อให้ตัวเองดูดีกว่าพวกคุณ แต่ผมเขียนเพื่อจะบอกว่าผมเองก็เป็นส่วนหนึ่งของพวกคุณด้วยเช่นกัน ผมกำลังตื่นขึ้น เพราะผมเริ่มแก่แล้ว ผมจึงพยายามจะสื่อสารในเรื่องนี้กับคุณ ใครก็ตามที่ได้มาอ่าน แสดงว่าคุณคือคนที่ผมอยากให้อ่าน เพราะเรามีชีวิต จิตใจ และความคิดร่วมกัน ขอความกรุณาเก็บเรื่องราวนี้ และความเห็นของคุณ ไว้ในบล้อกนี้เท่านั้น


***

12 comments:

Anonymous said...

อ่านแล้วสะเทือนใจ
แต่เราคิดว่า คนเราสามารถเติบโตทางจิตวิญญาณได้หลายวิธีนะ ถ้างานที่ทำมันบีบบังคับแบบนี้ก็จัดให้มันเป็นแค่ด้านหนึ่งของชีวิต จะได้ไม่ต้องยึดติดมากนัก แล้วทำสิ่งอื่นที่ตอบสนองตัวเองไปด้วย

พูดเหมือนง่ายเนอะ แต่ถ้าเราเป็นเค้า คงลำบากใจมากแน่ๆ

Anonymous said...

ปรากฏการณ์ "ทุนนิยมอัดตูด" ไม่ได้มีเฉพาะในวงการนิตยสารเท่านั้นหรอกค่ะท่าน แม้แต่ในวงการการศึกษา ดิฉันเป็นนักวิจัยมาหลายปี ก็ตั้งแต่ปี 2541 ทำงานให้กับมหาวิทยาลัย แต่แทบไม่ได้จับงานวิจัยที่เป็นวิชาการเลย งานส่วนใหญ่ ก็เป็นวิจัยการตลาดสวะ ๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อหาช่องทางให้คนซื้อสินค้าและบริการของบริษัทนั้น ๆ มากขึ้น แล้วดิฉันก็ไม่กล้าเรียกตัวเองว่า "นักวิชาการ" ถึงแม้ว่าจะทำวิจัยอยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยมานานนับปี เพราะงานที่ถูกสั่งให้ทำ มันไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรต่อแวดวงวิชาการเลย แต่เราก็ต้องทำ สถาบันวิจัยของเราก็ต้องทำ เพราะเราต้องทำ "เป้า" ให้ได้ เพื่อความอยู่รอด ถ้าเราไม่รับงานวิจัยการตลาดแบบนั้น เราก็จะไม่มีเงินมาเลี้ยงตัวเอง เราเรียนหนังสือกันมามากมาย อย่างต่ำก็ปริญญาโท หลายคนก็ปริญญาเอก ความรู้ที่สั่งสมมา น่าจะได้นำมารับใช้ประชาชน รับใช้การเพิ่มพูนองค์ความรู้เชิงวิชาการ นักวิจัยก็มีจิตวิญญาณเหมือนกัน และดิฉันก็กำลังสร้างอำนาจต่อรอง และอีกไม่นาน ทุนนิยมก็จะมาอัดตูดเราไม่ได้อีกต่อไป ... JS in England

Tomorn Sookprecha said...

เฮ้อ! ขออนุญาตเรียนให้ทราบว่า รายละเอียดบางเรื่องมันซับซ้อนกว่าที่คุณจะสรุปง่ายๆเพียงเท่านี้

แน่นอน เรามีชีวิตอยู่ในโลกทุนนิยม แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะเป็นทุกข์กับทุนนิยมกันหมด และการที่คนคนหนึ่งทำงานต่อไปไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าเขามีปัญหากับทุนนิยม กับนายทุน หรือกับ Advertorial เสมอไป

การรีบด่วนสรุปโดยใช้มุมมองของตัวเองอย่างเดียว ก็เหมือนการทำวิจัยแบบ qualitative ที่ฮิตนักฮิตหนาทุกวันนี้ แต่ขาดข้อมูลแบบ empirical นั่นแหละ

เมื่อข้อมูลไม่แน่น งานวิจัยก็กลายเป็นแค่การด่วนสรุปตามสมมุติฐานของตัวเองที่ตั้งเอาไว้แล้วครับ

Anonymous said...

เราเคยทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเขียน adver นี่แหละ เนื่องจากว่าคนในกองบอกอนิตยสารเล่มนั้น ต่างไม่อยากเขียนเจ้าสิ่งนี้กันเท่าไหร่ เขาจึงต้องจ้างคนนอกอย่างเราไปเขียน

เราได้ค้นพบว่า ไม่ว่าจะ adver หรือไม่ adver เราต่างก็กำลังรับใช้อะไรอยู่ด้วยกันทั้งนั้นแหละ ทุกคนต้องการที่จะพูดๆๆๆๆ เพราะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่มันยิ่งใหญ่เสียเต็มประดา ตอนที่ทำงานนี้ เราไม่คิดว่ามันจะเป็นงานรับใช้ทุนนิยมหรอกนะ เราคิดแค่ว่าเราได้เงินเท่านี้ ไปสัมภาษณ์คน ๆนี้ ถ้าเขาพอใจจ่าย อยากมีรูปลงนิตยสาร ก็ช่างหัวเค้าเถอะ ต่อให้เราตายห่าพรุ่งนี้ งานศพของเราก็ต้องมีระบบทุนนิยมมาเกี่ยวอยู่ดี (สมัยนี้ให้พระมาสวดให้ขึ้นสวรรค์ ก็ต้องใส่ซองนะจ๊ะ)



รู้สึกว่าคุณจะมีปัญหากับทุนนิยมจัง ทำไมไม่ไปทำไร่ เศรษฐกิจพอเพียงกับผู้ใหญ่วิบูลย์ล่ะจ๊ะ

Riverdale said...

ผมไม่คิดว่าการที่เราตั้งคำถามกับทุนนิยมจะหมายความว่าเราเกลียดทุนนิยม หรือต่อต้านทุนนิยมอะไร แน่นอน ทุกคนต้องทำมาหากิน เงินเป็นสิ่งจำเป็นกับชีวิต แต่เราไม่ควรปล่อยให้มันมาเป็นนายเรา ผมคิดว่าคุณเจ้าของบล็อกเขียนเรื่องนี้ก็เพราะเขากำลังสงสัยในเป้าหมายแห่งการมีชีวิต ซึ่งนั่นน่าจะเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่ทำให้เรามีความเป็นมนุษย์ ความสามารถที่จะตั้งคำถามและข้อสงสัยต่อสิ่งรอบข้าง มันนำมาซึ่งปัญญาครับ แทนที่เราจะก้มหน้ายอมรับสภาพแล้วปล่อยให้มันเป็นไป

Anonymous said...

ฉันมีเพื่อนที่เรียนจบมาด้วยกัน
เขาทำงานตามที่เรียนมา จนป่านนี้ก็น่าจะสิบปีได้แล้ว
เขามีรายได้ที่น่าพอใจ มีธุรกิจส่วนตัวนอกเหนือจากงานประจำ ที่ทำรายได้ดี
ผ่านไปหลายปี เขามีรถ มีบ้าน มีปัจจัยในระดับที่ฉันคาดไม่ถึง
แต่น่าแปลกที่เขาเหงาและไม่มีความสุขเอาซะเลย

ผ่านไปสิบปี เขาบอกฉันว่า วันหยุด เขาไม่มีอะไรทำ ไม่รู้จะไปไหน ขี้เกียจอาบน้ำ ขี้เกียจออกไปกินข้าว เบื่องาน เบื่อเจ้านาย และดูเหมือนจะเบื่อทุกสิ่งทุกอย่างในโลกไปแล้ว
เขาไม่เคยมีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับตัวเอง
หรือถ้าจะมี มันก็คงยังไม่ใช่ เพราะเขายังไม่มีความสุขกับมัน

ถ้าคนเราแต่ละคนมีสิ่งที่ตัวเองรักชอบ คลั่งไคล้ .. นั่นล่ะ ที่เขาไม่มี เขามีแต่การทำงาน และการสังสรรค์หลังเลิกงาน

ฉันไม่รู้เหมือนกันว่า ถ้าเขาออกจากงานนั้น เขาจะต่างอะไรกับผู้ชายวัยสามสิบกว่าๆ ที่ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างหน้าปากซอย หรือคนขายหวย ฯลฯ
ตื่นมาทำงาน เลิกงาน เจอเพื่อนฝูง หาที่สังสรรค์
ผ่านไป ปีแล้วปีเล่า..ก็ยังเป็นแบบนั้น

เคยมีเพื่อนคนหนึ่งถามเขาว่า
"ถ้ามันเลวร้ายขนาดนั้น ทำไมไม่ลาออกไป
ทนอยู่ได้อย่างไร บ่นไปก็ไม่เห็นจะมีอะไรเกิดขึ้น"
ทุกครั้งที่เขาบ่น ปัญหาทุกอย่างยังคงอยู่ เพียงแต่เขาต้องการระบาย เขาไม่เคยมองโลกต่างไปจากที่เคย
ยังคงใช้ชีวิตแบบเดิมๆ

คนเราเกิดมาแล้วก็ตายไป
ไม่อยากจะไปตั้งคำถามหรอกว่าเกิดมาทำไม

แต่บางทีคนเราก็ยอมกลายเป็นส่วนนึงของสิ่งที่เราคิดว่ากัดกินชีวิตเรา นั่งบ่นซ้ำๆซากๆ
ผ่านไปสิบปีก็ยังบ่นอยู่ พอสังขารร่วงโรยก็หยุดบ่นไปเอง หรือไม่ ถ้าหาที่ทางของตัวเอง เรี่ยวแรงมันก็ถดถอยไป

ในวัยที่เราควรมีเรี่ยวแรง เราทำอะไรกันอยู่นะ
ชักสงสัยว่าความกล้านี่มันเป็นตัวแปรที่ขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง
กล้าที่จะไม่ตกเป็นส่วนหนึ่งของอะไรก็แล้วแต่ (อาจเป็นทุนนิยม ความสะดวกสบายในชีวิต ความอยากมีอยากเป็น ชื่อเสียง สถานะทางสังคม หรือความติดสุข ฯลฯ)
กล้าที่จะค้นหาสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง
กล้าที่จะย่ำแย่
กล้าที่จะทบทวนตัวเองแบบตรงไปตรงมา ไม่ลำเอียง

บางคนกล้าที่จะเดินออกไป แต่สุดท้ายเมื่อที่ทางของเขาโตขึ้น ก็อาจจะกลายเป็นระบบที่เขาเคยเกลียดในที่สุด เขาอาจจะมีลูกน้องที่รู้สึกแบบเดียวกับเขาตอนเดินออกมา

ฉันเองก็มีปัญหาการกายเป็นส่วนหนึ่งของระบบ เกิดอาการแคระแกร็นทั้งวุฒิภาวะทางสติปัญญาและอารมณ์ แต่ก็คิดว่ามันมาจากการที่ฉันปล่อยให้ตัวเองเป็นเช่นนั้นเอง

ตอนนี้ก็แค่พยายามหาความพอดีในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน

Anonymous said...

เฮ่อ...ชีวิต ‘คำพระท่านว่าทุกสิ่งที่ได้มา ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป’ เราขอไม่พูดถึงเรื่อง "ทุนนิยมอัดตูด" นะ เพราะคนคงพูดกันเยอะแล้ว ถึงพูดไปก็ไม่มีทางแก้ไขอะไรได้ เพราะเราอยู่ในยุคของทุนนิยม ‘เงินคือพระเจ้า’ ขอพูดเรื่องสิ่งที่รู้สึกที่ได้อ่านเรื่องนี้ก็แล้วกัน การทำงานไม่ว่าจะเป็นงานอะไร นักเขียน ช่างภาพ บัญชี ไปยันแม่บ้าน ฯลฯ การทำงานถ้าไม่รักงานหรือมีความสุขที่จะทำมัน ชีวิตนี้ก็คงเหมือนตกนรกเลยก็ว่าได้ เหมือนรุ่นพี่คนนี้ ถึงแม้ว่า การที่มีใครสักคนออกจากงาน แน่นอน! ย่อมทำให้เรารู้สึกแย่ เสียกำลังใจ หรือใจหายกันไปบ้าง แต่อย่าลืมมองว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นย่อมมีเหตุและผลของมัน-เหตุและผลก็ย่อมมาจากการกระทำทั้งสิ้น เคยได้ยินมาว่า “อยู่ที่ไหนก็ให้มีคนรัก เมื่อจากไปก็ให้มีแต่คนคิดถึง” ไม่ได้หมายความว่าเราจะลืมรุ่นพี่คนนี้ไปได้ง่ายๆ เพราะเขาอยู่มานาน..นานมากจนเป็นปู่-ย่าก็ว่าได้ แต่การที่เราทำงานที่ไหนนานๆ ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เราเป็น ‘มืออาชีพ’ ได้เลย อยู่นานจนระบบร่างกายของคุณรวน หรืออาจทำให้คุณป่วยแบบไม่รู้ตัวไปเลยก็เป็นได้ อาการป่วยที่เกิดจากการทำงานมากเกินไป กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เป็นมนุษย์กลายพันธุ์ ใช้ชีวิตกลับด้าน กลางคืนทำงาน กลางวันนอน เลยทำให้ชีวิตดำดิ่งลงสู่นรกโดยไม่รู้ตัว ก็ขอฝากไว้ละกันนะเพื่อนๆ

อีกอย่างหนึ่งคือ การที่คุณรู้เท่าทัน งาน หรือสิ่งที่คุณทำอยู่ จะเป็นผลดีกับคุณ และทำให้คุณ ไม่หลงทาง อ้าว...ทางโลกไม่ได้ดี ก็ไปทางธรรม นำทางท่าจะดี นะเอ๋ย..

เราว่าทำทุกๆวันให้ดีที่สุด แล้วทุกๆวันของเราก็จะดี ดีขึ้น โดยที่ไม่ต้องไปบนบานศาลกล่าวตามสำนักฯไหนเลยหละ

ธรรมวันนี้ ขอให้มี ‘สมาธิ สติ ปัญญา’ กันทุกคนนะจ้าา

Anonymous said...

ผมมองว่า
คนรุ่นเราต่างก็ต้องสูญเสียวัยหนุ่มวัยสาวไปกับการทำงานที่เป็นแรงงานของคนอื่นหรือองค์กรทุนนิยมกันหลายสิบปี กว่าจะลืมตาอ้าปากได้ร่างกายและสุขภาพจิตก็บอบช้ำไปกับงาน บางคนก็ถึงขั้นเจ็บปวด และบางทีก็ต้องใช้เงินตลอดชีวิตที่สะสมมา หมดกับค่าผ่าตัด ค่าหยูกยารักษาโรคมะเร็งเนื้อร้ายที่เกาะกินชีวิต

น่าเศร้านะครับ กับสิ่งที่เราได้มาและต้่องสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไป

ต่างจากคนรุ่นเตี่ย รุ่นม๊า ที่ถึงแม้เหนื่อยสายตัวแทบขาดในวัยหนุ่มสาว แต่แก่มาก็สบายมีอาณาจักรของตัวเอง ให้ลูกหลาน

แต่คนรุ่นเราอาจมีแค่เพียง 10 คน ใน 100 คนเท่านั้นมั้งที่จะดิ้นไปจนถึงขั้นมีอาณาจักรของตัวเองได้ โดยเฉพาะการเป็นคนเขียนหนังสือด้วยแล้วยิ่งยากใหญ่
ที่ผมเห็นตัวอย่างตอนนี้ก็แทบจะนับนิ้วได้

น่าคิดนะครับว่าเราจะใช้ 10 ปีต่อจากนี้ไปอย่างไร ได้ไม่ต้องมากร่นด่าตัวเองทีหลังว่าเราเลือกถูกแล้วที่ 10 ปีก่อนเราเลือกเดินทางนี้

Anonymous said...

การลาออก -- บางทีอาจเป็นการค้นพบตัวเองที่ช้าไปก็เป็นได้ โดยมีปัญหาเล็กๆน้อยๆเป็นเหมือนสารเคมีที่เร่งให้ปฏิกิริยาเกิดเร็วขึ้น แต่การค้นพบที่ช้า ไม่ได้หมายถึงความสิ้นหวังหรือพ่ายแพ้ หรือท้อใจ หรือเป็นเรื่องน่าเศร้า ถ้าเราคิดว่า เวลาที่ผ่านมาทุกวินาทีมีคุณค่า อยู่ที่เราจะมองเห็นมันในมุมนั้นหรือเปล่า หลายสิ่งที่ได้เรียนรู้จากอดีตเป็นบทเรียนที่ดี เหมือนการแสดงความซื่อสัตย์ทรัพย์สินบริษัท เพราะเคยเห็นบทเรียนในอดีตจากรุ่นก่อนหน้านี้มาแล้ว เป็นต้น
การลาออกอาจไม่ใช่เกิดจากปัญหาทุนนิยมอัดตูด หรือปัญหากับนายทุน หรือปัญหาอย่างที่บางคนบอกว่า
"พี่เขาอยู่มานาน..นานมากจนเป็นปู่-ย่าก็ว่าได้ แต่การที่เราทำงานที่ไหนนานๆ ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เราเป็น ‘มืออาชีพ’ ได้เลย อยู่นานจนระบบร่างกายของคุณรวน ..."
นั่นก็อาจเป็นสาเหตุสำคัญ ถ้ารุ่นพี่คนนั้นเคยมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากนี้มาก่อน เคยเป็นมนุษย์รูทีนมาก่อน
หรือบางทีมันอาจมีสาเหตุอื่นที่ลึกซึ้งกว่านั้น
.....
ถ้าการลาจากด้วยสาเหตุคล้ายๆกันนี้เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจ
เวลาสิบกว่าปีในการทำงาน รุ่นพี่เขาคงผ่านการสะเทือนใจมาแล้วหลายครั้ง ยามรุ่นพี่รุ่นเพื่อนหรือรุ่นน้องที่เคยร่วมงานกันมา ค่อยๆห่างหายไปทีละคนสองคน จนในที่สุดอาจเหลือเพียงเขาคนเดียวที่ยังอยู่ เขาเลยอยากออกไปดูโลกข้างนอกบ้างก็ได้นะ
ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ดีกว่า
.......
ทุนนิยมไม่ใช่สิ่งเลวร้ายซะทีเดียวหรอกนะ ทุนนิยมทำให้สังคมปัจจุบันอยู่รอด ขอร้องแค่ว่า...อย่าเพิ่งหันหน้าเข้าวัดตอนมีปัญหาเลย แบบนั้นนะ ธรรมะก็ช่วยอะไรไม่ได้หรอก วัดไม่ใช่ที่ระบายความทุกข์ จะเข้าวัดทั้งที่ รอให้กายพร้อม ใจพร้อม แล้วไปเรียนรู้ธรรมะให้ถึงแก่น ดีกว่าร่อนเอาแต่เปลือกเพราะทุกข์มันบังตา เสียเวลาเปล่าๆ

Anonymous said...

แค่ตั้งใจจะเข้ามาค้นคำว่า advertorial ไม่นึกว่าจะต้องมาอ่านอะไรหนัก ๆ ที่มันเป็นปัญหาชีวิตแบบนี้เลย...เศร้าจัง...เครียดเพิ่มไปอีก...ทั้ง ๆ ที่ชีวิตแต่ละวันมันก็เครียดอยู่แล้ว...อิอิ...

supanut said...

ผมขออนุญาต เรียกมันว่า บทความโฆษณา เมื่อหลายปีก่อนผมมีโอกาสได้อ่าน บทความโฆษณา เกี่ยวกับกาแฟ ความยาว 3 หน้ากระดาษตามด้วย Pack shot ในหน้าที่ 4 ทุกหน้าปูสีน้ำตาลเดียวกันหมด ผมคิดในใจ นี่มันข้อความโฆษณาชัดๆ ยังไม่ต้องอ่านก็รู้
เมื่อผมอ่านย่อหน้าแรก ผมก็วางมันไม่ลงจนกระทั้งสิ้นสุดประโยคสุดท้าย ผมไม่รู้สึกว่าโดนโฆษณาแอบจ้องจะเล่นตูดผม ถึงแม้ผมจะไม่ได้ซื้อสินค้านั้นในทันที แต่ผมโคตรรู้สึกดีกับกาแฟยี่ห้อนี้ ผมรู้สึกดีกับคนปลูก คนที่เฝ้าบ่มเพาะมันด้วยความ ทะนุถนอม ...
และจากที่ผมอ่านความรู้สึกของคุณ ซึ่งคุณอยู่ในฐานะคอลัมนิสต์ ไม่เห็นจำเป็นต้องเขียนบทความโฆษณางี่เง่า ทุนนิยมห่าเหวอะไรทั้งนั้น แต่ด้วยการใช้ภาษาที่ที่หลายคนอิน(ดูได้จากคอมเม้นท์หลายคน) ผมเชื่อว่าคุณจะเขียนบทความโฆษณาได้โคตรมันส์ (ลองนึกเพียงว่า คุณกำลังเขียนบทความสนุกๆ แต่ตบตูดเบาๆ ด้วยข้อความโฆษณาสัก 3 บรรทัด มันคงไม่ใช่เรื่องยาก )
อย่าปล่อยให้ทุนนิยมมันสนุกกับเราเพียงฝ่ายเดียวครับ หันหน้าเข้าหามัน บอกกับมันว่า แน่จริง ก็มาเอาซึ่งๆ หน้า จะได้วิน-วิน กันทั้งสองฝ่าย
สุดท้าย ขอให้คุณสนุกกับ บทความโฆษณา และผลัดกันสุขสมกันทั้งคู่ครับ

supanut said...

ผมขออนุญาต เรียกมันว่า บทความโฆษณา เมื่อหลายปีก่อนผมมีโอกาสได้อ่าน บทความโฆษณา เกี่ยวกับกาแฟ ความยาว 3 หน้ากระดาษตามด้วย Pack shot ในหน้าที่ 4 ทุกหน้าปูสีน้ำตาลเดียวกันหมด ผมคิดในใจ นี่มันข้อความโฆษณาชัดๆ ยังไม่ต้องอ่านก็รู้
เมื่อผมอ่านย่อหน้าแรก ผมก็วางมันไม่ลงจนกระทั้งสิ้นสุดประโยคสุดท้าย ผมไม่รู้สึกว่าโดนโฆษณาแอบจ้องจะเล่นตูดผม ถึงแม้ผมจะไม่ได้ซื้อสินค้านั้นในทันที แต่ผมโคตรรู้สึกดีกับกาแฟยี่ห้อนี้ ผมรู้สึกดีกับคนปลูก คนที่เฝ้าบ่มเพาะมันด้วยความ ทะนุถนอม ...
และจากที่ผมอ่านความรู้สึกของคุณ ซึ่งคุณอยู่ในฐานะคอลัมนิสต์ ไม่เห็นจำเป็นต้องเขียนบทความโฆษณางี่เง่า ทุนนิยมห่าเหวอะไรทั้งนั้น แต่ด้วยการใช้ภาษาที่ที่หลายคนอิน(ดูได้จากคอมเม้นท์หลายคน) ผมเชื่อว่าคุณจะเขียนบทความโฆษณาได้โคตรมันส์ (ลองนึกเพียงว่า คุณกำลังเขียนบทความสนุกๆ แต่ตบตูดเบาๆ ด้วยข้อความโฆษณาสัก 3 บรรทัด มันคงไม่ใช่เรื่องยาก )
อย่าปล่อยให้ทุนนิยมมันสนุกกับเราเพียงฝ่ายเดียวครับ หันหน้าเข้าหามัน บอกกับมันว่า แน่จริง ก็มาเอาซึ่งๆ หน้า จะได้วิน-วิน กันทั้งสองฝ่าย
สุดท้าย ขอให้คุณสนุกกับ บทความโฆษณา และผลัดกันสุขสมกันทั้งคู่ครับ