Wednesday, September 20, 2006

สัมภาษณ์พิเศษ โรเบิร์ต เจ. อูมานน์

...

ทำงานเป็นสื่อมวลชนมันก็ดีอย่างนี้นี่เองครับ ผมได้รับเชิญให้ไปสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต เจ. อูมานน์ นักคณิตศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์ ชาวอิสราเอล ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2005 จากการที่เขาใช้ Game Theory มาวิเคราะห์และอธิบายถึงสาเหตุการเกิดสงครามของมนุษยชาติ ผมได้สัมภาษณ์เขานานประมาณ 45 นาที คุยไปได้สักพัก น้ำเสียงเขาเริ่มแหบและดูเหมือนจะค่อยๆ หมดแรงพูด เพราะเขาแก่มากแล้ว อายุตั้ง 76 ปี แต่ความคิดในหัวยังแจ่มใสและซับซ้อนน่าทึ่งมาก นี่เป็นการถอดเทปและเรียบเรียงออกมาแบบพยายามไม่ให้ตกหล่น เก็บความไว้ให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่ความสามารถผมจะทำได้ เนื้อหายาวมากจนไม่อาจจะเอาไปลงในนิตยสารได้หมด รู้สึกเสียดายครับ ผมเลยเอามาลงเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ในบล้อกนี้ดีกว่า ขอบคุณน้องตุ๊กตา-มนัสชื่น โกวาภิรัติ ผู้ประสานงานและช่วยเป็นล่ามแปลในคราวนี้ด้วยคร้าบ

...

ถาม: คุณเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลายแห่ง ว่าการถอนตัวจากฉนวนกาซ่าเมื่อปีที่แล้ว จะก่อให้เกิดปัญหามากกว่าผลดี แปลว่าคุณรู้อยู่แล้วว่าจะเกิดสงครามอย่างในตอนนี้ใช่ไหม
ตอบ: ใช่ ผมเห็นว่ามันกำลังจะเกิดขึ้น (ถอนหายใจ) โชคร้ายที่ตลอดมา พวกเรามีความรู้สึกกันไปเอง ว่าตอนนี้เราโอเคแล้ว เรามีสงครามต่อเนื่องมายาวนานจนชิน ประเทศเราจะถูกล้อมรอบด้วยศัตรู โอเคว่าเราดีกับจอร์แดน เราดีกับอียิปต์ แต่ศัตรูยังอยู่ในซีเรีย เลบานอน ชาวอิสราเอลก็คิดกันไปว่าเราสามารถใช้ชีวิตไปแบบนี้ อย่างปกติสุข อย่างที่คุณกำลังอยู่ในไทยนี่แหละ แล้วเราก็ได้ไปเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่าง จนเกิดเหตุการณ์แบบตอนนี้ ใช่ ผมเห็นว่ามันกำลังจะเกิดขึ้น ตอนนี้เราตื่นเช้าขึ้นมา และเห็นสถานการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น ร้ายแรงกว่าที่เคยเป็นมาเมื่อ 2 เดือนก่อน

ถาม: แล้วอะไรจะเกิดขึ้นถัดไปอีกล่ะ คุณพยากรณ์ได้ไหม
ตอบ: ไม่รู้ ผมไม่ใช่นักพยากรณ์ สิ่งที่ผมเห็น คือความต่อเนื่องของความขัดแย้ง ที่ดำเนินมาหลายๆ ปี เราต่อสู้เพื่อจะได้มีที่ยืนอยู่ตรงอิสราเอล มันเป็นสงครามที่ยาวนานมาก และผมยังมองไม่เห็นว่ามันจะจบลงอย่างไร ผมได้แสดงความคิดเห็นออกไปหลายเรื่อง และก็มีคนที่ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก แต่คุณรู้ไหมว่ามีเรื่องหนึ่งที่เราเห็นตรงกันหมด ว่าแค่การหยุดยิงนิดหน่อย การโยกย้ายนิดหน่อย มันไม่ได้ช่วยอะไร ผมขอเปรียบเทียบว่ามันคือมะเร็ง เมื่อต้องการจะรักษามะเร็ง เราแก้ด้วยการดูแลผู้ป่วยแต่ละคน เป็นรายๆ ไปใช่ไหม และก็ดูว่าให้การรักษาไปอย่างไร แล้วผู้ป่วยจะดีขึ้นอย่างไร เหมือนเป็นการลองผิดลองถูกไปเป็นรายๆ
แต่ผมเชื่อว่ายังมีวิธีการรักษาอีกแบบหนึ่ง คือการทำความเข้าใจโรคมะเร็งแบบโดยรวมทั้งหมด ว่ามันคืออะไร เกิดขึ้นอย่างไร เมื่อทำความเข้าใจโดยรวมได้แล้ว เราก็จะรู้วิธีรักษาผู้ป่วยมะเร็งได้ทุกราย การแก้ปัญหาสงครามก็เช่นเดียวกัน เราต้องศึกษาสงครามที่ตัวสงครามโดยรวม ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ มาหาว่าอะไรทำให้มนุษยชาติก่อสงคราม เพื่อจะได้มีวิธีการแก้สงครามโดยรวมทั้งหมด ไม่ใช่แค่การไปไล่แก้ปัญหาความขัดแย้งเป็นจุดๆ เป็นเรื่องๆ เพราะคุณรู้ไหม ว่าสงครามนี่เป็นเรื่องราวเก่าแก่มาเท่าๆ กับมนุษยชาติ มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของมนุษย์ แปลว่ามันต้องมีรูปแบบอะไรที่เราทำความเข้าใจได้

ถาม: การที่คุณเป็นนักคณิตศาสตร์ที่เก่งมากๆ ไม่ได้ทำให้คุณเป็นนักพยากรณ์หรือ
ตอบ: การเป็นนักคณิตศาสตร์ ไม่ใช่เพื่อการเป็นนักพยากรณ์ซะหน่อย คณิตศาสตร์ก็เป็นวิชาที่เหมือนกับวิชาอื่นๆ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา คือพวกมันช่วยให้คุณทำความเข้าใจโลก คณิตศาสตร์ไม่ได้ให้อะไรที่เหนือกว่านั้น และมันไม่ได้ทำให้คุณพยากรณ์อะไรได้

ถาม: แล้ววิชาเศรษฐศาสตร์หละ จะพยากรณ์ได้ไหม
ตอบ: ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่อิสราเอล ธนาคารแห่งหนึ่งส่งจดหมายโฆษณามาให้ เสนอให้สมัครสมาชิกหนังสือวิเคราะห์เศรษฐกิจรายเดือน ในราคา 2000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี เพื่อนมาถามผม ว่าควรสมัครไหม ผมบอกเขาว่า คุณส่งเช็คให้เขาไป 150 เหรียญ แล้วบอกว่าขอซื้อหนังสือวิเคราะห์ฉบับเก่าๆ ของปีที่แล้วดีกว่า เพื่อนผมส่งเช็คไปสั่งซื้อ แต่ธนาคารก็ส่งเช็คคืนมา (หัวเราะ) บอกว่าไม่มีแล้ว คือผมไม่คิดหรอกว่านักเศรษฐศาสตร์จะพยากรณ์อะไรได้

ถาม: มันจะมีประโยชน์อะไร ที่เราจะเรียนคณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์
ตอบ: ตอนเรียนชั้นไฮสคูล มีครูวิชาคณิตศาสตร์ท่านหนึ่งสอนดีมาก และท่านทำให้ผมรักวิชาคณิตศาสตร์มาตลอด พอจบไฮสคูล ผมก็ไปเรียนต่อด้านคณิตศาสตร์ เรียนจบปริญญา ผมก็ไปเรียนต่อคณิตศาสตร์อีก พอถึงปริญญาเอกผมต้องทำวิจัยประยุกต์ ความสนใจที่เข้ามาตอนนั้น คือเรื่อง Game Theory พอดี ก่อนหน้านั้นผมเคยได้ยินเรื่องนี้มาบ้าง และก็เกิดความสนใจที่จะนำมันมาประยุกต์ใช้ กับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ปัญหาที่เป็นจริงเป็นจังมากอย่างเรื่องสงคราม แล้ว Game Theory ก็นำพาผมมาสู่วิชาเศรษฐศาสตร์ นี่คือเรื่องราวทั้งหมด
การทำงานวิชาการแบบนี้ มันมีคุณค่า เพราะมันทำให้เราสามารถนออกเดินเข้าไปในป่า หรือปีนขึ้นเขาไป คือคุณไม่จำเป็นที่จะต้องเดินไปตามทางที่มีอยู่แล้ว ผมเองก็เป็นคนประเภทชอบเดินออกไปนอกเส้นทางเดิม แน่นอนว่าผมมีแผนที่อยู่ในมือ ผมใช้เข็มทิศเป็น แต่ผมเลือกที่จะเดินออกนอกเส้นทาง เตร็ดเตร่ไปดูรอบๆ ไปทางโน้นก็เจอสิ่งที่น่าสนใจ ไปทางนี้ก็เจอสิ่งที่น่าสนใจ เหมือนกับเป็นมาร์โคโปโล เมื่อวานผมไปเห็นรูปปั้นมาร์โคโปโลที่วัดโพธิ์ (หัวเราะ) คณิตศาสตร์ดีตรงนี้แหละ มันทำให้เราเดินออกไปนอกเส้นทางได้

ถาม: ด้วย Game Theory ทำให้เราจะได้วิธีแก้สงครามทั่วโลกใช่ไหม
ตอบ: Game Theory เป็นเพียงเครื่องมือที่จะใช้ทำความเข้าใจความขัดแย้ง ทำความเข้าใจสงคราม มันไม่ได้ให้วิธีการแก้ไขความขัดแย้ง หรือแก้ไขสงคราม เราทำได้แค่ทำความเข้าใจ ว่านี่มันเรื่องอะไรกันนี่ ทำไมเราต้องมาสู้กัน มีองค์ประกอบอะไรบ้างที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ทำให้เรามาสู้กัน และเมื่อมีความเข้าใจแล้ว เราย่อมหาทางแก้ไขได้ใช่ไหม คือเข้าไปดูที่องค์ประกอบเหล่านั้น ป้องกันไม่ให้องค์ประกอบเหล่านั้นเกิดขึ้น ก็ป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งและสงคราม แต่จนถึงทุกวันนี้ เรายังไม่สามารถทำไปถึงขั้นนั้นได้ ทุกวันนี้ ที่เราทำได้คือเพียงแค่ เฮ้ พวกแกหยุดสู้กันซะที แค่นี้เอง และ Game Theory จะช่วยให้เราหาวิธีอื่นที่ดีกว่าการมาบอกว่า เฮ้ พวกแกหยุดสู้กันซะที คือถึงแม้เราห้ามไม่ให้เขาสู้กันได้ในวันนี้ แต่ถ้าเขายังเกลียดกันอยู่ เขาก็ยังไปสู้กันต่อวันพรุ่งนี้อยู่ดี

ถาม: แปลว่ายังต้องมีทฤษฎีอื่นๆ อีกใช่ไหม ที่เราจะต้องนำมาใช้ต่อจากการใช้ Game Theory เสร็จแล้ว
ตอบ: มันอาจจะไม่ใช่ทฤษฎีด้วยซ้ำ เอางี้ดีกว่า ผมขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อสักครู่ผมยกตัวอย่างมะเร็งไปใช่ไหม คราวนี้ผมยกตัวอย่างโรคติดเชื้อ เมื่อนานมาแล้ว เรายังไม่รู้จักโรคติดเชื้อ เราไม่รู้ว่าอาการแบบนี้เกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรีย คนเราก็รักษาโรคติดเชื้อกันไปแบบลองผิดลองถูก หายบ้างไม่หายบ้าง นั่นก็เพราะเรายังไม่รู้จักมูลเหตุเบื้องต้นที่สุดของมัน จนกระทั่งโรเบิร์ต คอค (Robert Koch) คือผู้ที่ไม่ได้สนใจหาวิธีรักษาโรคติดเชื้อนี้ แต่เขาแค่หาเครื่องมือมาชนิดหนึ่ง ใช้ส่องดูแบคทีเรีย คือกล้องจุลทรรศน์ จนทำให้รู้ว่าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ พวกนี้แหละ ที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อ
เขาทำเพียงแค่นี้เอง คือการหาความรู้เกี่ยวกับแบคทีเรีย หลังจากนั้นมา ด้วยผลงานการค้นคว้าของเขา คนรุ่นหลังก็หาวิธีฆ่าเชื้อแบคทีเรียพวกนี้เสียก่อนที่มันจะทำให้เราติดเชื้อ แม้แต่ยาปฏิชีวนะอย่างเพนนิซิลลิน เราก็จะไม่สามารถนำมาใช้กันได้ ถ้าเราไม่มีความเข้าใจเรื่องแบคทีเรียเสียก่อน ผมคิดว่า Game Theory ก็เปรียบได้กับการหาความรู้เกี่ยวกับแบคทีเรีย คือแค่ทำความเข้าใจโรค แต่ยังไม่ถึงขั้นการรักษาโรค

ถาม: ตอนที่เราพบยาเพนนิซิลลิน เป็นเพราะความบังเอิญที่เชื้อราชนิดนี้ ไปตกใส่ในจานเพาะเชื้อแบคทีเรียพอดี แปลว่าการที่เราจะค้นพบวิธีแก้สงคราม เราต้องรอความบังเอิญแบบนั้นด้วยหรือเปล่า
ตอบ: (หัวเราะ) ผมไม่คิดว่าการพบเพนนิซิลลินคือความบังเอิญ ถึงเหตุการณ์นั้นจะเป็นความบังเอิญ คือนักวิทยาศาสตร์ไปเห็นจุดเชื้อราเกิดขึ้นบนจานเพาะเชื้อนั้น และเชื้อรานี้ฆ่าแบคทีเรียได้ แต่ถ้าให้ผมไปเห็นจานเพาะเชื้อนั้น ผมก็บอกว่าเฮ้ นี่เชื้อราขึ้น เสียแล้ว และก็โยนทิ้งไป แต่ผู้ที่ค้นพบเพนนิซิลลิน เขากลับบอกว่า เฮ้ เดี๋ยวก่อน มาดูสิ ว่าเชื้อราพวกนี้มันฆ่าแบคทีเรียได้ นี่คือความสามารถคิดค้นของนักวิทยาศาสตร์คนนั้น เขาเชื่อมโยงความรู้หลายๆ อย่างในหัวเข้าด้วยกันได้ นี่จึงไม่ใช่ความบังเอิญ ถึงแม้เหตุการณ์นั้นจะบังเอิญเกิดขึ้น แต่ยังมีคนที่เข้าใจและเชื่อมโยงมันได้ นี่มันคือเรื่องของความฉลาด การศึกษาที่ดี ภูมิหลังที่ดีต่างหาก
นี่แหละ สิ่งที่วิทยาศาสตร์ทำลงไปกับโลกเรา คือทำความเข้าใจมัน เชื่อมโยง หารูปแบบร่วม ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ กัมมันตรังสีก็ถูกค้นพบแบบนี้ใช่ไหม ไม่ใช่ด้วยความบังเอิญ แต่ด้วยความสามารถในการเชื่อมโยงและหารูปแบบ คุณจะบอกว่าบังเอิญก็ได้ แต่มันไม่บังเอิญ เพราะมีใครคนหนึ่ง ที่ไปจ้องมองมันอยู่อย่างสนอกสนใจ และทำความเข้าใจมันได้

ถาม: แสดงว่าเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัวเรา มีรูปแบบของมันอยู่ใช่ไหม มันไม่ได้เกิดขึ้นแบบสุ่ม แบบบังเอิญ
ตอบ: ประเด็นคือเราจะสามารถเข้าใจรูปแบบนั้นได้หรือเปล่า เราจดจ้องมันและหารูปแบบมันได้หรือเปล่า แม้กระทั่งใบไม้ร่วงจากต้นไม้ ต้องมีอะไรบางอย่างทำให้ใบไม้ร่วงแบบนี้ ไม่ใช่ร่วงแบบโน้น แบบนั้น

ถาม: ถ้าคุณจ้องดูใบไม้ร่วงไปนานๆ คุณคงจะเห็นรูปแบบนั้นได้
ตอบ: ผมคงไม่เห็นหรอก เพราะผมเอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า (หัวเราะ) ไม่แน่นะ ว่าตอนนี้อาจจะมีคนทำอยู่ก็ได้ แต่เดี๋ยวก่อน ที่ผมบอกคุณว่าทุกอย่างมีรูปแบบอยู่ บางทีคุณอาจจะไม่มีวันมองเห็นรูปแบบของมันเลยก็ได้ คือในรูปแบบนั้น มันประกอบไปด้วย เทรนด์ใหญ่ และส่วนประกอบเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดอย่างสุ่ม แน่นอนว่าการเกิดอย่างสุ่มก็ถือเป็นรูปแบบแบบหนึ่งด้วย
เมื่อคุณพูดว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างสุ่ม นั่นหมายความว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างดีเยี่ยมที่สุด มีการกระจายตัวอย่างสมบูรณ์ ซึ่งนี่ก็คือรูปแบบหนึ่งใช่ไหม เมื่อคุณพูดว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างสุ่ม คุณจึงไม่ควรจะโยนมันทิ้งไป แล้วบอกว่ามันไม่ได้ให้อะไรเลย เพราะมันสุ่มมั่ว จริงๆ แล้วมันคือรูปแบบหนึ่งที่มีความสมบูรณ์แบบมากต่างหาก อย่างในตลาดหุ้น รูปแบบของมันก็ประกอบด้วยเทรนด์และองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ เช่นกัน คนส่วนใหญ่จะมองเห็นในส่วนที่เป็นเทรนด์ อาจจะยาวสัก 5-10 ปีขึ้นไป แต่ถ้าเป็นเรื่องของวันต่อวันแล้วหล่ะก็ คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น

ถาม: ในความคิดเห็นของคุณ คุณว่ารูปแบบของพฤติกรรมมนุษย์ที่ก่อให้เกิดสงคราม กับรูปแบบของตลาดหุ้น อะไรมองเห็นยากกว่ากัน
ตอบ: (ถอนหายใจ) อย่างที่บอกไว้ว่าในตลาดหุ้นก็มีรูปแบบ และเราก็มองเห็นได้แล้วบางส่วน และในส่วนที่เป็นแบบสุ่ม ก็มีความพยายามที่จะศึกษาด้วย IID Processes และเราก็ค่อยๆ ทำความเข้าใจกับการเกิดแบบสุ่มได้ดีขึ้นมากแล้ว ตอนนี้เราก็พอมีไอเดียเกี่ยวกับสงครามบ้างอย่าง ดังที่ผมกำลังจะไปกล่าวปาฐกถาในช่วงบ่ายของวันนี้
อันไหนยากกว่ากันเหรอ (คิดนาน) ไม่รู้สิ เราก็แยกย้ายกันไปทำงานตามสายของเรา คนที่ทำงานศึกษาตลาดหุ้นก็ทำของเขาไป ส่วนพวกที่ศึกษา Game Theory ก็ทำงานกันไป และ ว่า Game Theory ไม่ได้นำมาใช้แค่เรื่องสงครามเท่านั้น Game Theory นำไปใช้ในอีกหลายด้าน และกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก ทั้งเศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ หรือแม้กระทั่งจิตวิทยา ชีววิทยา มีบางคนใช้ Game Theory มาช่วยในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย

ถาม: ด้วย Game Theory คุณทำความเข้าใจสงครามได้อย่างไรบ้าง
ตอบ: สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้คนเราอยู่ด้วยกันได้ ร่วมมือกันได้ คือการมีปฏิสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน คือการได้เห็นหน้ากันและกัน รู้ว่าอีกฝ่ายคิดอะไร และจะตัดสินใจอย่างไร แต่ละฝ่ายรู้ว่าอีกฝ่ายสามารถลงโทษเราได้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต การนำอาวุธนิวเคลียร์ออกมาโชว์แสนยานุภาพกัน ทำให้เกิดสันติภาพขึ้นมาได้ เพราะต่างฝ่ายต่างก็จะรู้ ว่ามันไม่คุ้มที่จะเริ่มเปิดฉากโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งก่อน เพราะเห็นอยู่ว่าอีกฝ่ายก็มีอาวุธเหมือนกัน สันติภาพจะเกิดขึ้นได้เมื่อแต่ละฝ่ายมีความอดทน ที่จะมีความสัมพันธ์กันในระยะยาว มองผลรวมในระยะยาว อย่าคิดถึงแค่ปัจจุบัน เดี๋ยวนี้ ตอนนี้
เคยได้ยินการรณรงค์ต่อต้านสงคราม ว่า Peace Now ไหมล่ะ ผมว่าการรณรงค์แบบนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งกัน เพราะเขาเน้นหนักอยู่ที่ Now แทนที่จะมองระยะยาว ข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับคือ คนส่วนใหญ่ในโลกไม่มีความอดทนมากพอ เขาเลยพูดแต่ว่า Now ทำให้เราไม่มีผลรวมในระยะยาว แนวความคิดแบบนี้ดูยอกย้อนใช่ไหม
แนวความคิดแบบนี้ปรากฏให้เห็นได้ในทุกเรื่อง อย่างในเศรษฐศาสตร์ก็มีความยอกย้อนแบบนี้เช่นกัน ถ้าคุณอยากมีงบประมาณประเทศมากขึ้น แล้วคุณจะมีมาตรการเกี่ยวกับภาษีอย่างไรดีล่ะ ถ้าคิดง่ายๆ ก็แน่นอน ว่าขึ้นภาษีสิ พอขึ้นภาษีเราก็ได้เงินเข้ามามากขึ้นใช่ไหม คำตอบคือไม่ใช่หรอก คุณต้องลดภาษีต่างหาก เพราะถ้าคุณขึ้นภาษีสูงเกินไป ประชาชนจะไม่อยากทำงานอีกแล้ว และประชาชนจะหลีกเลี่ยงภาษีทุกวิถีทาง ทำผิดกฎหมายมากขึ้น นักเศรษฐศาสตร์จึงรู้กันดีแล้ว ว่าการขึ้นภาษีไม่ได้ทำให้รัฐมีรายได้มากขึ้น ถ้าคุณต้องการรายได้มากขึ้น คุณอาจจะต้องลดภาษีต่างหากล่ะ ฟังดูยอกย้อนใช่ไหม ดังนั้น ถ้าคุณต้องการสันติภาพเดี๋ยวนี้ คุณก็จะไม่ได้สันติภาพเลย อย่ากระตือรือร้นเรื่องสันติภาพกันมากเกินไป นี่แหละ คือหลักการเบื้องต้นใน Game Theory

ถาม: คุณใช้ Game Theory ในการใช้ชีวิตมาจนอายุ 70 กว่าๆ นี้ด้วยหรือเปล่า
ตอบ: ตอนผมมาเป็นนักคณิตศาสตร์ ผมยังไม่เคยคิดหรอก เรื่องรางวัลโนเบล ผมก็แค่มาทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ เป็นนักคณิตศาสตร์ก็อาชีพหนึ่ง หาเงินได้ เลี้ยงชีพได้ ผมไม่เคยบ่นกับชีวิตการเป็นนักคณิตศาสตร์ และถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้รางวัลโนเบล ผมก็ไม่บ่น ตอนนี้ผมมีอพาร์ทเมนต์เล็กๆ ห้องหนึ่ง และใช้ชีวิตแบบธรรมดา ผมมีหลาน 19 คน มีเหลน 2 คน ผมมีความสุขกับครอบครัวมากครับ หลานชายคนหนึ่งก็เดินทางมาด้วยคราวนี้ ไม่ได้มาร่วมฟังปาฐกถาบ่ายนี้หรอก เขาเคยฟังมาแล้วในงานรับรางวัลโนเบล ที่สตอคโฮล์ม เขาอยากมาเที่ยวกรุงเทพฯ มากกว่า กรุงเทพฯ คงมีอะไรๆ ที่น่าสนใจมากกว่าการปาฐกถาของผมเยอะ

...

1 comment:

Anonymous said...

ถาม: แสดงว่าเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัวเรา มีรูปแบบของมันอยู่ใช่ไหม มันไม่ได้เกิดขึ้นแบบสุ่ม แบบบังเอิญ

My answer: I cannot say that all phenomena, even they seem to be stochastic, is defined by any certain order. But it's my aspiration to find out the certain form, strictly a particular function, that characterises the process that seems to be the stichastic one.

It's the real beauty to see that there exists the "order out of chaos" (Prigogine's word).