...
บล้อกวันนี้ขอเขียนถึงเรื่องการเมืองอีกที คราวที่แล้วก็เขียนเรื่องการเมืองไว้ทีหนึ่ง ในเรื่อง "เหตุผล" ปรากฏว่าได้คอมเมนต์เข้ามาเพียบๆ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มาคราวนี้ก็เลยอยากจะเขียนบล้อกเพื่อคอมเมนต์การคอมเมนต์เสียหน่อย แต่เดี๋ยวก่อน! ผมไม่ได้จะคอมเมนต์ผู้ที่เข้ามาเขียนคอมเมนต์ในบล้อกนี้นะครับ ผมอยากจะคอมเมนต์วิธีการคอมเมนต์ของคนเราทุกคน โดยรวมๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคอมเมนต์ของเราในเรื่องการเมือง เพราะเท่าที่ผมติดตามข่าวการเมืองในบ้านเรามาหลายปี ตั้งแต่เด็กจนโตป่านนี้ ผมคิดว่าเราชอบใช้วิธีการคอมเมนต์แบบแปลกๆ เหมือนกัน ไม่รู้ว่าเป็นเฉพาะคนไทยเราหรือเป็นกันทั้งโลก คือเมื่อมีใครเสนอประเด็นอะไรขึ้นมาสักเรื่อง ถ้าเราตั้งตัวว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามเขาตั้งแต่ต้น เราก็มักจะไม่ได้คอมเมนต์กันอยู่ในประเด็นที่เขาเสนอมานั้น แต่เรามักจะใช้วิธีคอมเมนต์แบบทำร้ายหรือทำลายตัวผู้เสนอประเด็นแทน ขออธิบายแบบสรุปถึงวิธีการคอมเมนต์แบบแปลกๆ ของคนเราออกมาได้ 3 แบบหลักๆ คือ 1.แกมันเลว ดังนั้นประเด็นที่แกเสนอจึงไม่ดีทั้งหมด 2.แกมันโง่ ดังนั้นประเด็นที่แกเสนอจึงผิดทั้งหมด และ 3.แกพล่ามอะไรของแก ฉันไม่สนใจฟังประเด็นที่แกพูดมาทั้งหมด วิธีคอมเมนต์ทางการเมืองทั้ง 3 วิธีนี้ จริงๆ แล้ววิธีการคอมเมนต์คงต้องมีมากกว่านี้ครับ แต่ในบล้อกนี้ขอพูดถึงแค่ 3 วิธีนี้ก่อนละกัน
1.แกมันเลว ดังนั้นประเด็นที่แกเสนอจึงไม่ดีทั้งหมด วิธีนี้ผู้คอมเมนต์จะพุ่งไปที่นิสัยหรือเรื่องส่วนตัวของผู้เสนอประเด็น หรืออาจจะเป็นคดีอาชญากรรมที่เคยทำไว้ในอดีต ขุดเรื่องราวเหล่านั้นขึ้นมาเพื่อดิสเครดิตตัวบุคคลนั้น ว่าเมื่อก่อนเขาเคยเลว ดังนั้นประเด็นที่เขาเสนอในวันนี้ย่อมต้องเลวไปด้วย ตัวอย่างเช่นล่าสุด มีคนออกมาเสนอว่าประชาธิปไตยก็ต้องเลือกข้าง จะมาเป็นกลางไม่ได้ แต่ต้องเลือกข้างที่ถูกต้อง โดยใช้เหตุผลอย่างละเอียด ฝ่ายตรงข้ามของผู้ที่มาเสนอเรื่องนี้ ก็ขุดเอาเหตุการณ์ในอดีต ว่าเขาเคยมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เมื่อสิบกว่าปีก่อน ดังนั้นจะมาเสนอประเด็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยได้อย่างไร วิธีการคอมเมนต์แบบนี้ใช้ง่ายมากครับ และมีผลทำลายล้างความน่าเชื่อถือของประเด็นและผู้เสนอประเด็นได้อย่างชะงัด เพราะมีใครบ้างที่ไม่เคยทำความผิด ทำความเลวมาเลยในชีวิตนี้ วิธีคอมเมนต์แบบนี้จึงเป็นที่นิยมใช้ โดยผู้ที่ไม่รู้ว่าจะเถียงคนเสนอประเด็นว่าอย่างไร เพราะตระหนักว่าประเด็นที่เขาเสนอมานั้นดี ชัดเจน หนักแน่น ถูกต้อง เถียงประเด็นไม่ได้ เลยต้องพุ่งเป้าไปทำลายที่ตัวคนพูดแทน
2.แกมันโง่ ดังนั้นประเด็นที่แกเสนอจึงผิดทั้งหมด วิธีนี้เหนือวิธีแรกอยู่สเตปหนึ่ง คือถ้าดูแบบผิวเผิน จะดูเหมือนกับว่าผู้คอมเมนต์ไม่ได้มุ่งไปที่ตัวบุคคล แต่มุ่งไปที่ประเด็นที่เสนอว่าผิด แต่จริงๆ แล้วถ้าดูเนื้อหาการคอมเมนต์ให้ละเอียด จึงจะรู้ว่านี่ก็เป็นการพุ่งไปที่ตัวบุคคลเช่นกัน คือคอมเมนต์ตัวผู้เสนอประเด็นว่าโง่ ไม่รู้จริง ไม่อยู่ในฐานะที่จะเสนอได้ ไม่มีประสบการณ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ยกตัวอย่างเช่น นักวิชาการออกมาเสนอจุดบกพร่องของนโยบายรัฐบาล แล้วคนฝ่ายรัฐบาลออกมาโต้ว่า นักวิชาการอยู่แต่บนหอคอยงาช้าง ไม่มีประสบการณ์จริง ไม่เคยมาทำงานการเมือง ไม่เคยบริหารประเทศจริงๆ ดังนั้นจงหุบปากไปเถอะ หรือถ้ามองจากอีกฝ่ายหนึ่งเช่น รัฐบาลดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ไป แต่ฝ่ายค้านก็ออกมาบอกว่ารัฐบาลไม่รู้จริง ไม่มีข้อมูล ไม่รู้จักคนใต้ดีพอ ด่วนตัดสินใจ ดังนั้นไม่ว่าจะดำเนินนโยบายอะไร จึงผิดไปหมด เป็นต้น วิธีนี้ดูแล้วเหมือนกับการคอมเมนต์ในประเด็นก็จริง แต่จะเห็นว่าผู้คอมเมนต์ก็ไม่ได้อธิบายรายละเอียด ว่าผู้เสนอนั้นไม่รู้จริงอย่างไร ยังขาดข้อมูลอะไร คอมเมนต์แบบนี้มันถูกเสมออยู่แล้ว และง่ายมากๆ ที่จะทำลายข้อเสนอใดๆ ก็ตาม เพราะว่าเรื่องราวใดๆ ในโลกล้วนซับซ้อน ไม่มีทางที่ใครจะรู้อะไรได้หมด และฉลาดรอบรู้ทุกเรื่อง
3.แกพล่ามอะไรของแก ฉันไม่สนใจฟังประเด็นที่แกพูดมาทั้งหมด วิธีคอมเมนต์แบบนี้ ไม่ได้ทำร้ายทำลายเพียงตัวผู้เสนอประเด็นเท่านั้น แต่ยังพุ่งตรงเข้าไปทำร้ายความรู้สึกและจิตใจของเขา มุ่งทำลายความตั้งใจดี หรือความเอาจริงเอาจัง ทำให้ข้อเสนอนั้นดูสามานย์ คือดูเป็นเรื่องปกติสามัญ ไม่เห็นต้องใส่ใจ หรือไปจนถึงขั้นดูต่ำช้ำ ไร้คุณค่า วิธีนี้เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ที่ไม่มีวุฒิภาวะสูงพอที่จะถกเถียงกับผู้อื่น เขาจึงไม่แม้แต่จะรับฟังข้อเสนอใดๆ จากผู้เสนอเลย แต่จะล้อเลียน ล้อเล่น หัวเราะเยาะ ทำให้ผู้เสนอและประเด็นที่นำเสนอนั้น ดูไร้สาระ น่าตลกขบขัน ดูซีเรียสเกินไป ยกตัวอย่างเช่น คนฝ่ายรัฐบาลออกมาบอกว่า พวกฝ่ายค้านมันก็คอยค้านทุกเรื่อง ค้านจนขี้เกียจจะไปฟังมันแล้ว เดี๋ยวนี้แค่หายใจยังต้องระวังเลย เดี๋ยวฝ่ายค้านจะบอกว่าหายใจแรงเกินไป หรือถ้ามองจากฝ่ายพันธมิตร ก็ล้อเลียนล้อเล่นกับลักษณะร่างกายของฝ่ายตรงข้าม บอกว่าไอ้หน้าเหลี่ยมพูดอะไรอย่างไปเชื่อ อย่าไปฟัง คนหน้าเหลี่ยมไว้ใจไม่ได้ พวกที่คอมเมนต์ด้วยวิธีนี้ บางทีก็แสดงออกโดยการไม่ใส่ใจอยู่กับประเด็น บางทีคนอื่นพูดอะไรอยู่ แทนที่จะสนใจฟัง มันก็นั่งพับนก พับกระดาษ หรือบางทีก็จับผิดในจุดที่ไร้สาระ เช่นแกพูดผิด กิ้วๆ! แกพูดสำเนียงออกทองแดง ก๊ากๆ! แกสะกดคำผิด เหอๆ
ผมคิดว่าทุกฝ่ายต่างก็เอาวิธีคอมเมนต์แบบนี้มาใช้กันทั้งนั้น ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายพันธมิตร และฝ่ายที่บอกว่าตัวเองเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายไหน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อนึกไปนึกมา ผมเองก็มักใช้วิธีคอมเมนต์แบบนี้ด้วยเหมือนกัน ขอพูดดักไว้ก่อนว่าผมเองก็ไม่ได้ดีไปกว่าใครหรอก พวกเราต่างก็ตกอยู่ในวิธีคิดแบบเดียวกัน จนแสดงออกมาด้วยการคอมเมนต์แบบเดียวกัน แล้วในที่สุด จึงกลายเป็นว่าเราต่างก็ด่ากันไปมา ตอบโต้กันไปมา ที่ตัวบุคคลของแต่ละฝ่าย แทนที่จะช่วยกันถกเถียงถึงประเด็นนั้นๆ เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน สิ่งเหล่านี้มีให้เห็นในข่าวการเมืองทุกวันครับ ในวงการสื่อมวลชน เขาเรียกข่าวแบบนี้ว่าข่าวปิงปอง คือการที่นักข่าวปล่อยให้คนในข่าวกับคนของฝ่ายตรงข้าม ออกมาคอมเมนต์โต้กันไปโต้กันมา ข่าวนี้จะดำเนินไปแบบตอบโต้กันที่ตัวบุคคลสักพัก อาจจะนาน 3-4 วัน แล้วก็จะซาออกไปจากหน้าหนังสือพิมพ์ หรือหมดไปจากจอโทรทัศน์ โดยที่ประเด็นหลักที่พูดถึงกันนั้นก็ไม่ได้ข้อสรุปอะไรออกมา ทิ้งไว้แต่ความกินแหนงแคลงใจกันของทุกฝ่าย
จากที่เห็นมาในข่าวล่าสุด มีชาวบ้าน 2 คนไปนั่งคุยกันเรื่องการเมืองในงานศพ ชาวบ้านคนหนึ่งเข้าข้างฝ่ายรัฐบาล ชาวบ้านอีกคนเข้าข้างฝ่ายพันธมิตร แล้วในที่สุดชาวบ้านคนหนึ่งก็กลายเป็นศพไปด้วยเลย ผมจำรายละเอียดของข่าวไม่ได้ ว่าเป็นชาวบ้านฝ่ายไหนที่ลงมือฆ่าฝ่ายไหน แต่ผมรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้เราอินกับเรื่องปัญหาการเมืองจนเกินกว่าเหตุ และเราก็แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันเสียจนแต่ละคนไม่สามารถมานั่งคุยกันดีๆ ด้วยเหตุด้วยผล บางทีส่วนหนึ่งก็มาจากวิธีการคอมเมนต์ของเรา ที่เราเรียนรู้ และคุ้นเคยมา จากการที่เห็นในข่าวการเมืองแนวปิงปอง ข่าวที่มีแต่คอมเมนต์ของแต่ละฝ่าย ที่สาดความรุนแรงใส่กันไปมา แต่ไม่มีเนื้อหาสาระ หรือไม่อธิบายในประเด็นเลย ขอยืนยันอีกทีว่าบล้อกเรื่องนี้ ผมตั้งใจเขียนถึงการคอมเมนต์ของเราทุกคน โดยเฉพาะการคอมเมนต์ของเราในเรื่องการเมือง ไม่ได้หมายถึงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว ผมคิดว่าถ้าปล่อยให้การคอมเมนต์แบบแปลกๆ อย่างนี้ ยังคงดำเนินไป จนฝังเข้าไปในวัฒนธรรม ฝังเข้าไปในสายเลือด ต่อไปสังคมเราคงมีแต่ความรุนแรง ความขัดแย้งกันเอง เพราะทุกฝ่ายต่างไม่มีใครฟังใคร และทุกฝ่ายต่างคิดว่าการคอมเมนต์คือการทำร้ายทำลายกัน แทนที่จะใช้การคอมเมนต์เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์ หรือเพื่อสร้างความเข้าใจกัน คุณได้อ่านแล้วคุณมีคอมเมนต์ว่าอย่างไรครับ นี่ผมเขียนยาวเกินไปหรือเปล่า หวังว่าคงไม่มีใครมาคอมเมนต์ว่า แกพล่ามอะไรของแก ฉันไม่สนใจฟังประเด็นที่แกพูดมาทั้งหมด เหอๆๆ นะครับ
...
Saturday, September 02, 2006
comments
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
บทความชิ้นนี้ของคุณมีประโยชน์มากครับ มันพาผู้อ่านให้ไปถึงอีกจุดหนึ่งที่เราละเลยในการมองปัญหาการเมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้ ไม่ได้ชมแต่ก็อดไม่ได้ เพราะเจ้าของบล็อกเก็บทุกประเด็นที่เป็นอยู่ตอนนี้มาเรียบเรียงอย่างลื่นไหล
ถ้าบทความชิ้นนี้ไปปรากฏในวงกว้าง อย่างในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ จำพวก มติชนสุดฯ หรือ เนชั่นสุดฯ ก็คงเป็นประโยชน์มาก
หวังใจว่าจะได้อ่านงานเขียนบล็อกของคุณบนหน้ากระดาษบ้างน่ะครับ
Post a Comment