Wednesday, September 27, 2006

V for Vendetta

...

หลังจากที่ได้อ่านบทความเรื่อง Are we good enough for democracy? เขียนโดย Jo Wolff (
www.royalinstitutephilosophy.org/think/article.php?num=5) ฉบับแปลโดยยอดมนุษย์หญิง (http://yodmanudying.storythai.com/) ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของอาจารย์ไชยันต์ ไชยพร ที่รัฐศาสตร์จุฬาฯ ตั้งแต่ช่วงที่เขาเพิ่งฉีกบัตรเลือกตั้ง จนกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคม ผมได้ไปสัมภาษณ์เพื่อเอามาลงในนิตยสาร เขาเป็นคนที่สนใจศึกษาเรื่องปรัชญาการเมืองสมัยกรีก เขาให้สัมภาษณ์เรื่องแนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยในสมัยกรีก โดยเฉพาะของเพลโต้ ว่าถึงแม้คนในยุคปัจจุบันจะยกย่องให้สมัยกรีกเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตย แต่จริงๆ แล้วประชาธิปไตยในสมัยกรีกก็มีความแตกต่างจากสมัยของเราเยอะ อย่างน้อยที่สุดก็คือการจำกัดคนที่มีสิทธิมีเสียง อยู่เพียงกระจุกเดียวในเอเธนส์ที่มีความเจริญรุ่งเรือง และจำกัดอยู่เฉพาะผู้ชาย ที่มีอายุเกินเท่าไรนะ จำไม่ได้ ประชาธิปไตยอย่างที่เราๆ ใฝ่ฝันถึงกันเหลือเกินในตอนนี้ ที่ให้คนทุกคนมีความเท่าเทียมและมีอธิปไตยเป็นของปวงชน จริงๆ แล้วเพิ่งเริ่มมาไม่กี่ร้อยปีในทวีปยุโรปต่างหาก นอกจากนี้ นักปราชญ์กรีกอย่างเพลโต้ ก็ไม่ใช่คนที่ปลื้มกับประชาธิปไตยอะไรนักหรอก ที่สุดแล้ว เพลโต้ไม่เชื่อในมวลชน และผลรวมของการลงคะแนนเสียงของมวลชน ก็จะไม่ทำให้เราได้สิ่งที่ดีที่สุดมาเป็นตัวแทน อาจารย์ไชยันต์ยกตัวอย่างเรื่องในสมัยนี้ ว่าพวกเพลงป๊อปยอดนิยมหรือหนังทำเงิน ก็วนเวียนอยู่กับเพลงและหนังแบบตลาดๆ ที่ไม่ได้มีคุณค่ายอดเยี่ยมอะไร

ผมฟังเขาแล้วก็ค่อนข้างจะเห็นด้วยนะ ดูอย่างรายการประกวดร้องเพลง AF ที่ผลคะแนนโหวตออกมาแต่ละอาทิตย์ ปรากฏว่าผู้เข้าแข่งขันคนที่ดูเหมือนว่าจะมีความสามารถสูงกว่า ร้องเพลงได้เพราะกว่า มักจะต้องตกรอบไปก่อนเสมอ ในขณะที่ ผู้เข้าแข่งขันคนที่หน้าตาดีกว่า ออดอ้อนคนดูเก่งกว่า โดยเฉพาะผู้เข้าประกวดเพศชาย มักจะอยู่ในการแข่งขันได้นานกว่าเสมอ คือไปๆ มาๆ เมื่อเราปล่อยให้มีการโหวต และนำผลการโหวตมาใช้ มันมักจะนำเราไปสู่สิ่งที่ต่ำลงไปเรื่อยๆ จนผมเองก็เริ่มเชื่อแล้ว ว่าผลรวมของมวลชน มักจะนำไปสู่ความโง่เขลาเสมอ ยิ่งถ้าพวกมวลชนเหล่านั้น เป็นมวลชนที่โง่เขลา และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวด้วยแล้ว คุณไม่ต้องลังเลสงสัยเลย ว่าผลรวมของมันย่อมจะต้องโง่เขลาหนักลงไปอีก ผมเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย จึงไม่แปลกใจเลย เมื่อเห็นเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของไทยเรา ยังคงวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์ วงจรนี้หมุนวนแบบต่ำลงเรื่อยๆ เสียด้วย เหมือนกับน้ำในโถส้วมชักโครกนั่นแหละ เวลากดปุ่ม มันจะหมุนวนๆ ต่ำลงๆ แล้วไหลลงท่อหายไปหมด ผมไม่ได้หมายถึงแค่วงจรอุบาทว์ที่เรารัฐบาลห่วยๆ ที่ได้รับเลือกมาจากมวลชนอันโง่เขลา เข้ามาทำให้เศรษฐกิจและสังคมล่มจม จนทหารต้องมาปฏิวัติซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ผมยังหมายรวมถึงวงจรอุบาทว์ทางฝั่งมวลชนด้วย ที่ปล่อยปละละเลยบ้านเมือง พอมีปัญหาลุกลามจนจะแย่แล้ว จึงค่อยรู้สึกตัวขึ้นมา แล้วก็ถูกจูงจมูกกัน ให้เดินออกจากบ้านมาม็อบกันกลางถนนแบบว่าง่าย สุดท้ายก็ถูกทหารยิงตายอย่างเปล่าประโยชน์ และไม่มีใครจดจำบทเรียนนี้ได้เลย หรือถ้าไม่ถูกยิงตาย สุดท้ายมวลชนกลุ่มเดียวกันนี้ ก็แห่กันจูงลูกจูงหลานกันออกมา แอ็คท่าถ่ายรูปคู่กับทหารและรถถัง เหมือนกับมาเดินงานกาชาด วนเวียนอยู่แบบนี้เช่นกัน

คุณเคยดูหนังเรื่อง V for Vendetta ไหม ------- ถ้ายังไม่เคยดู ก็ระวังว่าเนื้อหาถัดไปจากนี้จะมีการสปอยล์นะครับ ------- ผมดูหนังเรื่องนี้แล้วตีความแตกต่างไปจากคนอื่นๆ พอสมควร เพื่อนผมบอกว่าหนังเรื่องนี้ยกระดับจิตสำนึกให้เราๆ ในฐานะประชาชน ไม่ยอมก้มหัวให้กับรัฐบาลเผด็จการ ให้ลุกฮือขึ้นมาแสดงพลังมวลชน ประมาณว่า "ประชาชนไม่ต้องกลัวรัฐบาล รัฐบาลต่างหากล่ะ ที่ต้องกลัวประชาชน" อะไรประมาณนี้ ฉากเด็ดในตอนจบของเรื่อง พลังมวลนับหมื่นนับแสน ต่างใส่หน้ากาก V แล้วออกมาเดินขบวนบนท้องถนน ตามด้วยฉากระเบิดวินาศสันตะโรของอาคารรัฐสภา เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะของประชาชน แต่สำหรับผมแล้ว หลังจากดูหนังเรื่องนี้ ผมกลับคิดว่าหนังไม่ได้เชิดชูพลังของมวลชนที่ลุกขึ้นต่อสู้หรอก แต่หนังเชิดชูความเป็นปัจเจกชน ความสามารถที่จะเป็นตัวของตัวเอง ตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อตัวเอง และเหนือสิ่งอื่นใด คือการเลือกเพื่อสังคมส่วนรวม หนังนำเสนอไอเดียเรื่องความเป็นปัจเจกชน ผ่านทางตัวนางเอกชื่อว่า อีวี่ ที่แสดงโดยนาตาลี พอร์ตแมน อีวี่ทนทุกข์ทรมานจากการกดขี่ของรัฐเผด็จการมานาน และได้รับความช่วยเหลือจาก V เขานำเธอไปผ่านกระบวนการยกระดับจิตสำนึก ด้วยการให้เธออ่านจดหมายของหญิงสาวคนหนึ่งที่เขียนขึ้นก่อนจะตาย ผมคิดว่า V ยกระดับจิตสำนึกของอีวี่ ให้เธอเป็นปัจเจกชน ไม่ใช่ให้เธอไปเป็นส่วนหนึ่งของพลังมวลชน ฉากสำคัญที่เป็น Motif ของเรื่องนี้ คือฉากล้มตัวโดมิโน่นับหมื่นนับแสนตัว ตัวโดมิโน่ถูกนำมาเปรียบกับมวลชนที่เกลื่อนกลาด V เป็นผู้จุดกระแสปลุกม็อบมวลชนขึ้นมา กระแสนี้แพร่ลามออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ เปรียบเหมือนกับตัวโดมิโน่ที่ถูกผลักให้ล้มเพียงตัวเดียว แล้วมันก็ล้มทับกันต่อไปเป็นทอดๆ แผ่ขยายวงกว้างออกไป ถึงแม้ในหนัง จะเสนอว่าฝ่าย V เป็นฝ่ายถูกก็ตาม แต่มวลชนเหล่านี้โง่เขลาและถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ V ผมจึงเชื่อว่ามันไม่ใช่ความดีงามสูงสุด

ในหนังเรื่องนี้ฉายภาพให้เห็นตัวโดมิโน่ตัวสุดท้ายที่ยังไม่ล้ม เปรียบได้กับตัวอีวี่ ที่เป็นนางเอกของเรื่อง เธอเป็นปัจเจกชนอย่างสมบูรณ์ ไม่ล้มไปตามแรงผลักของฝ่ายใด และไม่ล้มไปตามกระแสที่ใครเป็นคนจุด ในสภาวะเช่นนี้เอง ที่อีวี่สามารถตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองและสังคมรอบตัวได้อย่างแท้จริง ถึงแม้ว่า V จะได้ต่อสู้กับเผด็จการจนสิ้นใจตายไปแล้ว แต่อีวี่ก็ยังสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ในทางของเธอเองต่อไปได้ เธอไม่ได้ออกไปเดินขบวนกับมวลชน แต่เธอกำตัวโดมิโน่ตัวสุดท้ายเอาไว้แน่น นำไปวางบนรถไฟใต้ดินที่บรรทุกระเบิดไว้เต็มคันรถ มุ่งหน้าไปสู่รากฐานของอาคารรัฐสภา เธอเป็นคนตัดสินใจกดปุ่มให้รถไฟแล่นไป และจุดระเบิดในท้ายที่สุด สรุปแล้ว ผลของการเลือกของปัจเจกชนต่างหาก ที่ส่งผลสะท้านสะเทือนและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง ผมเลยอยากนำ V for Vendetta มาเปรียบเทียบกับปัญหาการเมืองในบ้าเรา ในช่วงเกือบปีที่ผ่านมา มันมีปัญหาก็เพราะมวลชน ถึงแม้ว่าจะมีทั้งคนฉลาดและโง่ปนๆ กัน แต่ผลรวมท้ายที่สุดคือความโง่เขลาอยู่นั่นเอง สุดท้ายแล้ว มวลชนก็ถูกแรงผลักและกระแสของแต่ละฝ่าย ลากจูงให้แยกออกจากกัน และในที่สุดก็ถูกจูงจมูกให้มาเผชิญหน้ากันอีกที ดังนั้น ถ้าจะถามว่า พวกเราดีพอที่จะปกครองกับแบบประชาธิปไตยหรือยัง ผมคิดว่าคำตอบมันอยู่ที่ว่าเราได้ยกระดับจิตสำนึก ไม่ใช่ให้ลุกฮือขึ้นตามกระแส แต่ให้มีความเป็นปัจเจกชน ที่สามารถเลือกสิ่งที่ดีให้กับตัวเองและสังคม ได้อย่างแท้จริงต่างหาก

...

1 comment:

Anonymous said...

I think (just) one of the core ideas in game theory is to say that 1+1 gives the results more than 2. (I don't intend to repeat the Thaksin's words when he teached the high school students!!)

In the optimistic way, the collaboration leads to the synegistic effect à krab.