Friday, September 08, 2006

Always - Sunset on Third Street

...

ขอเปลี่ยนบรรยากาศบล้อกนี้สักหน่อยนะครับ ถ้ามัวเขียนแต่เรื่องเสิ่นเจิ้นติดๆ กัน คุณอาจจะเบื่อกันหมด ดูเอาจากจำนวนคอมเม้นต์ที่หดหายไปฮวบฮาบ ในรอบ 2 วันที่ผ่านมา บล้อกนี้เลยกลับมาเขียนถึงเรื่องหนังบ้าง พอดีมีเพื่อนเอาดีวีดีหนังเรื่อง Always - Sunset on Third Street มาให้ยืมดู คาดว่าคุณหลายคนคงได้ดูกันแล้ว มันยืนโรงฉายที่สยามสแควร์ และโรงเฮ้าส์ที่อาร์ซีเอ นานเป็นเดือนๆ และมีคนพูดถึงกันมากเลย ส่วนผมดูแล้วก็โอเคครับ หนังทำออกมาได้ดีมาก แต่ผมก็ไม่ถึงกับชอบมันมาก พอดูเสร็จแล้วก็รู้สึกว่ามีหลายประเด็นให้พูดถึง โดยเฉพาะในประเด็นว่า ทำไมคนดูหนังเรื่องนี้แล้ว ถึงได้มีความเห็นแตกต่างกันทั้งชอบและไม่ชอบ สำหรับผมคิดว่ามันซาบซึ้งตรึงใจ อบอุ่น มองโลกในแง่ดี ให้ความรู้สึกนอสตัลเจีย และออกแบบงานสร้างได้ตื่นตาตื่นใจ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เมโลดราม่ามากเกินไปจนถึงขั้นฟูมฟาย เนื้อเรื่องซ้ำซากน้ำเน่า และชีวิตของตัวละครในเรื่องเหมือนตัวการ์ตูน ผมว่าหนังเรื่องนี้มันมีลักษณะเฉพาะบางอย่าง ที่จะทำให้คนดูบางคนชอบมาก ในขณะที่บางคนดูแล้วกลับไม่ชอบ ลักษณะเฉพาะดังกล่าวนี้คือความเหมือนกับละครซิทคอมที่เราได้ดูกันทางทีวีทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซิทคอมแนวบางรักซอยเก้า

ซิทคอมแนวบางรักซอยเก้านี้ คือซิทคอมที่มีโครงเรื่องโดยรวมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือด คือไม่ได้เป็นพ่อแม่ลูก พี่น้อง ผัวเมีย แต่พวกเขาต้องมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในบ้านหรือในชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่ง ตอนเปิดเรื่องของซิทคอมแนวนี้ มักจะเสนอภาพการย้ายถิ่นฐานเข้ามาใหม่ของตัวละครหลักๆ แล้วเรื่องก็จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ทุกอาทิตย์ โดยมีประเด็นหลัก คือการตั้งคำถามว่า ตัวละครที่ไม่ได้เป็นสายเลือดเดียวกันเหล่านี้ จะมีความรัก ความผูกพันกันได้อย่างแน่นแฟ้นแค่ไหน และพวกเขาจะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขหรือไม่ ถ้าแยกดูซิทคอมแนวนี้ออกเป็นตอนๆ จะพบพล็อตย่อยๆ ของแต่ละตอน ว่าตัวละครมักจะต้องถูกนำเข้าสู่ความขัดแย้งในจิตใจ ว่าตนเองยังเป็นที่ต้องการของคนอื่นอยู่หรือเปล่า อย่างเช่นมีตัวละครทะเลาะกันอย่างรุนแรง หรือมีตัวละครจะย้ายออกไปจากชุมชนแห่งนี้ ตัวละครอื่นๆ จะเศร้าเสียใจกันแค่ไหน แล้วในตอนจบของซิทคอมตอนนี้ มักจะลงเอยว่าตัวละครที่ทะเลาะกันยอมคืนดีกัน หรือตัวละครที่จะย้ายออก ไม่ต้องย้ายไปแล้ว แล้วซิทคอมก็จะดำเนินต่อไป โครงเรื่องส่วนใหญ่ก็จะวนเวียนอยู่แบบนี้ เพื่อเป็นการทดสอบความรักและความผูกพันของตัวละครทั้งหมด โลกของซิทคอมเหล่านี้ เปรียบเหมือนหลอดทดลองทางสังคม ตัวละครก็เปรียบเหมือนสารเคมีนานาชนิด ที่ผู้กำกับและคนดูจะคอยสังเกตการณ์ดูความเปลี่ยนแปลง เมื่อได้ทดลองใส่เงื่อนไขอะไรเข้าไปใหม่ แล้วสารเคมีเหล่านั้นจะตอบสนองอย่างไร ซิทคอมแนวนี้ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องบางรักซอยเก้านะครับ แต่มันเป็นแนวเรื่องที่พบในซิทคอมแทบทุกเรื่องในสังคมปัจจุบัน อย่างพวก Friends เป็นต่อ มายาคาเฟ่ บ้านนี้มีรัก หกตกไม่แตก หรือแม้กระทั่ง Sex and the City

Always - Sunset on Third Street ก็มีลักษณะโครงเรื่องเหมือนซิทคอมพวกนี้เป๊ะ เรื่องราวเกิดขึ้นในชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งชานกรุงโตเกียว ในช่วงเวลาที่หอคอยโตเกียวกำลังจะสร้างใกล้เสร็จ ชุมชนแห่งนี้มีคนหลากหลายมาอาศัยอยู่ร่วมกัน ถ้าคุณสังเกตให้ดีๆ จะเห็นรูปแบบเฉพาะของละครซิทคอมอย่างที่ผมเกริ่นไว้ คือตัวละครทุกตัวตั้งคำถามตลอดเวลา ว่าเขายังคงเป็นที่ต้องการของผู้คนในชุมชนแห่งนี้อยู่หรือเปล่า และชุมชนแห่งนี้จะช่วยเติมเต็มชีวิตพวกเขาได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ตัวละครหนุ่มโสดก็ตกอยู่ในความเปลี่ยวเหงา และความฝันลมๆ แล้งๆ กับอาชีพนักเขียน เด็กกำพร้าก็ตกอยู่ในความยากจนและขาดความอบอุ่น หมอประจำชุมชน ที่บ้านแตกสาแหรกขาดจากสงคราม เด็กสาวก็ถูกปฏิเสธจากบ้านต่างจังหวัด จนต้องระหกระเหินมาอยู่ที่นี่ ตลอดทั้งเรื่อง พวกเขาทดลองยื่นตัวเองเข้าไปหาคนอื่น แล้วก็ได้รับการปฏิเสธบ้าง ยอมรับบ้าง กลับไปกลับมาแบบนี้ตลอด จนกระทั่งถึงตอนจบ หนังก็จบแบบซิทคอมเป๊ะๆ อีกเช่นกัน คือทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ชุมชนเล็กๆ แห่งนี้มีความรัก ความผูกพัน และสัมพันธภาพของคนในชุมชน ก็มีความเหนียวแน่น และสามารถมาแทนที่สัมพันธภาพของของครอบครัว นี่มันบางรักซอยเก้าชัดๆ เลย

หอคอยโตเกียวที่กำลังสร้างอยู่ ปรากฏเป็นฉากหลังตลอดทั้งเรื่อง นอกจากว่ามันจะถูกใช้เพื่อบอกเวลาในหนังแล้ว ว่าเหตุการณ์ในหนังเรื่องนี้ เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองไปไม่กี่ปี และประเทศญี่ปุ่นกำลังเร่งฟื้นฟูประเทศอย่างรีบเร่ง ผมว่าภาพหอคอยโตเกียว ยังถูกใช้เป็น symbolic บางอย่าง เพื่อเชื่อมโยงหนังเรื่องนี้เข้ากับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแบบใหม่ ที่มีความเกี่ยวข้องกับทีวี เพราะในช่วงที่หอคอยโตเกียวสร้างเสร็จใหม่ๆ มันถูกใช้เป็นที่ตั้งเสาอากาศกระจายสัญญาณโทรทัศน์และวิทยุ หนังเรื่องนี้กำลังจะบอกว่า ยุคเวลาในหนังคือจุดเริ่มต้นของสังคมและวัฒนธรรมยุคใหม่ของญี่ปุ่น เมื่อประเทศเพิ่งพ้นจากสงครามมาได้ไม่นาน วิถีชีวิตหลายๆ ด้านจึงต้องปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว วิถีชีวิตแบบใหม่เริ่มเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น คนโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา ที่ต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในที่ใหม่ รวมถึงการเกิดขึ้นของครอบครัวขนาดเล็กลง ที่มีแต่พ่อแม่ลูก ทุกคนมาจากที่ต่างกัน มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในเมืองใหญ่ๆ ทำให้คนเหล่านี้ต้องมาอยู่กันเป็นชุมชน เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และต่อมาไม่นาน วิถีชีวิตแบบนี้ก็ถูกนำมาสร้างเป็นซิทคอมในทีวีจนแพร่หลายไปทั่วโลก

บางคนที่ไม่ชอบหนังเรื่องนี้ เพราะเขารู้สึกว่ามันคือซิทคอมในทีวี ที่เขาคุ้นเคยกับโครงเรื่องนี้ จากการดูซิทคอมทุกอาทิตย์ มันจึงซ้ำซาก น้ำเน่า ดูเป็นละครทีวีเกินไปสำหรับเขา ตัวละครก็ไม่ค่อยมีความสมจริงตามขนบของหนังโรง แต่กลับเหมือนตัวการ์ตูน หรือเหมือนการแสดงละครมากกว่า ในขณะที่หนังโรงควรจะต้องมีตัวละครที่มีความซับซ้อนมากกว่านี้ และมีประเด็นหลักอื่นๆ ให้พูดถึงมากกว่านี้ แต่สำหรับผม ผมโอเคกับซิทคอม วันไหนว่างๆ ผมก็นอนดูซิทคอมอยู่ที่บ้าน และหัวเราะหรือซาบซึ้งกับมันได้ตามปกติ เวลามาดู Always - Sunset on Third Street ถึงแม้จะรู้สึกว่ามันซ้ำซากเหมือนซิทคอม แต่มันก็เป็นซิทคอมที่โอเคมากๆ เรื่องหนึ่งทีเดียว

...

6 comments:

Anonymous said...

อยากดู เราชอบเรื่องแนวนี้ล่ะ :)

Anonymous said...

Hi man, I posted a comment on shopping in China, but all was gone away when submitting such commentn :)

In that blog, I do agree with you. Once, I saw a petite girl in a tram with a bundle of forest flowers in her hand. I then realised how stupid I once was when I bought a thousand bath of flowers in BKK.

Intrinsic value is invisible by the eyes, only heart can clearly see it. [Saint-Exupéry wrote it in the little prince as "on ne voit bien qu'avec le coeur. L'essential est invisible par les yuex :)" ]


mai-dai-maa-p'aun-na-krab :)

Anonymous said...

จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้มีที่มาจากการ์ตูนครับ
จากนั้นก็กลายเป็นละครทีวีก่อน
แล้วจึงกลายมาเป็นหนังครับ
รูปแบบของมันเลยเป็นแบบที่เห็นครีบ

Anonymous said...

ไว้เอามาให้ยืมดูด้วยสิ ท่าทางจะเป็นแนวที่ชอบ ถึงแม้จะน้ำเน่าบ้างก็สร้างสีสรรค์ให้กับชีวิตดีนะ และในชีวิตจริงบางคนก็ต้องเจอกับเหตุการณ์เช่นนี้ ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าเป็นการแชร์ประสบการณ์ชีวิตโดยถ่ายทอดผ่านตัวละคร

ชอบวิธีการเขียนของนายจัง

Anonymous said...

เมื่อไหร่แป้งกับชัดเจนจะได้คบกัน :P

Anonymous said...

ผมเป็นคนนึงที่ไม่ชอบเรื่อง Always ครับ และเห็นด้วยว่ามันมีลักษณะเหมือนซิทคอม คือ การจัดฉากขึ้นโดยไม่ใช้ตึกรามบ้านช่องจริงๆ และการแสดงแบบโอเวอร์แอคติ้งของตัวละคร ให้ความรู้สึกว่ามันเฟคมากกว่าจะซาบซึ้ง...
แต่ผมไม่เห็นด้วยว่าเหมือนกัน sex and the city นะครับ เพราะ satc ไม่เข้าข่ายซิทคอม