Saturday, July 22, 2006

เอ็ม ไนท์ ชยามาลาน VS วลาดิเมียร์ พล็อพพ์ (2)

...

(ต่อจากบล้อกที่แล้วนะครับ)

วลาดิเมียร์ พล็อพพ์ บอกว่านิทานกี่เรื่องๆ มันเป็นแบบนี้หมด ซึ่งถ้าคุณได้ลองอ่านนิทานเด็ก นิทานก่อนนอน นิทานปรัมปราทั้งหลาย ไล่ตั้งแต่เทพปกรณัม นิทานของโฮเมอร์ นิทานอีสป นิทานคลาสสิคของฮาน คริสเตียน แอนเดอร์สัน ไปยันนิทานการ์ตูนของวอลท์ดิสนีย์ คุณก็จะพบว่ามันจริงนะ และจนถึงทุกวันนี้ โครงเรื่องนิทานแบบนี้ ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่กับนิทานก๊อกๆ แก๊กๆ เท่านั้น มันขยายตัวออกมาเป็นโครงเรื่องของทุกเรื่อง ไล่ตั้งแต่ละครน้ำเน่าหลังข่าว นิยายประโลมโลกย์ อย่างดาวพระศุกร์ นิยายกำลังภายในของก้มย้ง โกวเล้ง ไปจนถึงสตาร์วอร์ส และลอร์ดออฟเดอะริงส์ แม้กระทั่งหนังไทยอย่างเหมืองแร่ ก้านกล้วย และโหมโรง ล้วนมีโครงเรื่องเดียวกัน พระเอกหรือนางเอกประสบภัย จนต้องออกจากบ้าน หรือดาวของตัวเอง เพื่อไปหาสิ่งของหรือบุคคลสำคัญ ระหว่างทางเจอผู้ช่วยเหลือ เจอคู่รัก ได้เรียนรู้ประสบการณ์และชีวิต แล้วก็กลับมาสู่บ้านเกิด ราวกับว่าโครงเรื่องแบบนี้ ได้อยู่กับมนุษยชาติมานับพันปี และยังคงปรากฏอยู่ในสังคมร่วมสมัยตลอดเวลา ผู้คนในสังคมปัจจุบัน ได้แสดงสภาวะอาการของความเบื่อโครงเรื่องแบบนิทานก่อนนอน ออกมาในรูปแบบการต่อต้านเรื่องเล่า เห็นชัดจากหนังในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีรูปแบบการเล่าเรื่องแบบใหม่ อย่างหนังของเควนติน ทารันติโน หลายเรื่องก็ได้รื้อโครงสร้างของเรื่องเล่าทั้งหมด แล้วเรียงใหม่เพื่อเล่าเรื่องแบบไม่เรียงลำดับเวลา หนังเรื่อง Memento ก็เล่าเรื่องแบบถอยหลังโดยที่คนดูยังสามารถดูรู้เรื่องอยู่ หนังการ์ตูนก็มีการล้อเลียนโครงเรื่องแบบนิทานให้เห็นกัน อย่างการ์ตูนเรื่อง Shrek ที่นำตัวละครทั้งหมดล้างไพ่ใหม่หมด เจ้าชายสุดหล่อและนางฟ้าประจำตัวกลายเป็นตัวร้าย ยักษ์และลาโง่กลายเป็นพระเอก แถมตัวนางเอกก็อ้วนเผละ การหักมุมตอนจบของหนังแบบรุนแรง ก็เป็นอีกวิธีที่นิยมใช้เพื่อต่อต้านเรื่องเล่า เพื่อบอกคนดูว่าเรื่องเล่าทั้งหมดที่หนังเล่ามาตั้งแต่ต้นนั้น มันได้กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งได้ในเสี้ยววินาทีที่หนังจบ อย่างเช่น The Sixth Sense และ The Village ของเอ็มไนท์นี่แหละ หนังพวกนี้ดังระเบิด กวาดรายได้กระจาย พร้อมกับคำวิจารณ์ที่เลอเลิศ จนดูเหมือนกับว่าการต่อต้านเรื่องเล่ากลายเป็นสุนทรียะแบบใหม่ของยุคสมัยเราไปแล้ว Lady in the Water การกลับมาของเอ็มไนท์คราวนี้ เขาตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ต่อต้านเรื่องเล่านี้ และตั้งคำถามกับสุนทรียะแบบใหม่ในยุคสมัยของเรา ว่ามันกำลังจะนำเราไปถึงไหนกันแน่ แล้วคุณค่าเก่าๆ ของเราล่ะ โครงเรื่องของนิทานที่ง่ายๆ เข้าใจได้ และสอนใจเรามาตั้งแต่เด็กล่ะ เราจะทิ้งมันไปจริงๆ เหรอ? หญิงสาวจากสายน้ำที่ชื่อว่า Story เป็นตัวแทนของโครงเรื่องนิทานก่อนนอน ที่ถูกคนในยุคปัจจุบันทอดทิ้งไปนานแล้ว เธอออกเดินทางจากเมืองของเธอ โดยมีจุดหมายคือการมาพบกับนักเขียนหนุ่มคนหนึ่งเพียงแว้บเดียว แล้วก็จะเดินทางกลับเมือง แต่ถูกขัดขวางโดยสัตว์ประหลาดน่ากลัว เธอได้รับบาดเจ็บ แต่ก็รักษาหายด้วยของวิเศษ แล้วด้วยความช่วยเหลือของผู้ช่วยหลายๆ คน เธอก็สามารถกลับเมืองได้สำเร็จ และมีความสุขตลอดไป เรื่องทั้งหมดมีเท่านี้เองครับ ทุกอย่างเป็นไปตามโครงเรื่องนิทานก่อนนอนเป๊ะๆ ไม่มีการเล่าแบบตัดสลับเวลา ไม่มีการล้อเลียนตัวละคร และที่สำคัญคือไม่มีการหักมุมตอนจบ อย่างที่คนดูส่วนใหญ่ชอบคาดหวังจากหนังของเอ็มไนท์ ตัวละครที่น่าสนใจใน Lady in the Water คือ 1. เจ้าของอพาร์ตเม้นต์ที่ผู้หญิงจากสายน้ำไปปรากฏตัวขึ้น เขาสูญเสียความเชื่อมั่นในโครงเรื่องแบบเก่าไปนานแล้ว เพราะชีวิตของเขาไม่ได้มีความสุขไปตลอดกาลนาน โดยที่หลังจากแต่งงานไป ภรรยาและลูกถูกคนร้ายฆ่าตาย เขาเขียนเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดไว้ในสมุดบันทึก แล้วเก็บไว้ในซอกเล็กๆ ลับๆ ไม่เคยเล่าให้ใครฟังอีกเลย แล้วก็ดำเนินชีวิตมาอย่างไร้จุดหมาย เพราะไม่มีโครงเรื่องใดๆ ให้เขายึดถืออีกต่อไปแล้วนั่นเอง 2. นักเขียนหนุ่มที่เป็นจุดหมายการเดินทางของผู้หญิงจากสายน้ำ เธอมาเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเขียนหนังสือ ที่ตามเนื้อเรื่องระบุว่า จะกลายเป็นหนังสือที่นำเสนอแนวความคิด อันสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อมนุษยชาติ ซึ่งอีกนัยหนึ่ง เอ็มไนท์ต้องการจะบอกว่า โครงเรื่องนิทานก่อนนอนที่เราฟังกันมาตั้งแต่เด็กนั่นหน่ะ มีคุณค่าเหลือหลาย ให้ข้อคิดดีๆ ให้แรงบันดาลใจกับเราทุกคนในการสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้นะ อย่าคิดไปละทิ้งมันเสีย 3. นักเขียนแก่ที่ชื่อว่าเฟรเบอร์ เขาเป็นนักวิจารณ์หนัง เป็นตัวแทนของคนในปัจจุบัน ที่ชอบหมั่นไส้หรือแสดงความเบื่อหน่าย กับโครงเรื่องแบบนิทาน รวมไปถึงอะไรที่มัน Cliche' ซ้ำๆ ซากๆ โบราณๆ มีฉากสำคัญคือตอนที่เขาเพิ่งกลับมาจากการไปดูหนังรักโรแมนติกเรื่องหนึ่ง เขาด่าว่าหนังห่วย เพราะว่าตัวละครในหนังเรื่องนั้นคิดออกมาเป็นคำพูด และสารภาพรักกันกลางสายฝน และฉากที่เขากำลังจะถูกสัตว์ร้ายเข้ามาขย้ำ เขาวิเคราะห์ความ Cliche' ของหนังสยองขวัญ ซึ่งก็เหมือนกับเอ็มไนท์กำลังวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองอยู่นั่นแหละ เอ็มไนท์บอกกับคนดู Lady in the Water ว่าถ้าคุณมัวแต่หมั่นไส้หรือเบื่อหน่ายโครงเรื่องแบบนิทาน อาจจะทำให้คุณตีความ ครุ่นคิด หรือใช้เหตุผล กับปัญหาต่างๆ ในปัจจุบันแบบผิดๆ โดยบอกผ่านตัวละครเฟรเบอร์ ว่าเขาตีความนิทานที่เล่าโดยตัวละครหญิงแก่ชาวเกาหลีแบบผิดๆ ทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงตามมา และเขาก็ตีความของความอันตรายที่กำลังยืนอยู่ตรงหน้าของเขาผิด ทำให้ความตายมาถึงตัวในที่สุด การดูหนังของเอ็มไนท์มันสนุกตรงนี้แหละ เหมือนกับเรากำลังเดาใจเขา ว่าเขากำลังพูดประเด็นอะไรให้เราฟัง และเขาไปอ่านหนังสือเล่มไหนมา ก่อนจะแปลงให้มันเป็นพล็อตเรื่อง เขียนออกมาเป็นบท และกำกับออกมาเป็นหนังให้เราดู หนังเรื่อง Lady in the Water กำลังถูกนักวิจารณ์ในต่างประเทศพากันสับแหลก เปิดดูเว็บ rottentomatoes.com แล้วจะเห็นว่าได้คะแนนมะเขือเทศเน่าเสียเยอะ แถมคะแนนโหวตจากเว็บ imdb.com ก็ต่ำเตี้ยที่สุดเมื่อเทียบกับหนังเรื่องก่อนๆ ของเขา เป็นไปได้ว่าคนดูส่วนใหญ่คาดหวังว่าจะได้ดูฉากหักมุมแบบกระชากอารมณ์ตามฟอร์มของเอ็มไนท์ และเป็นไปได้ว่านักวิจารณ์หนังในต่างประเทศ อาจจะไม่เข้าใจประเด็นหลักของหนัง เพราะไม่เคยรู้เรื่องแนวความคิดเกี่ยวกับโครงเรื่องนิทาน และการศึกษาของวลาดิเมียร์ พล็อพพ์ แต่สำหรับผม เอ็มไนท์เจ๋งเสมอ และ Lady in the Water นั้นแหลมคมกว่าและเข้าถึงได้ยากกว่าหนังเรื่องก่อนๆ ของเขามาก ผมเลยชอบ เพราะมันยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองฉลาดยังไงไม่รู้แฮะ หรือว่าจริงๆ แล้วมันห่วยจริงๆ มันไม่มีอะไรเกี่ยวกับโครงเรื่องบ้าบออะไรที่ผมอธิบายมายืดยาวนั่น ไม่เกี่ยวกับวลาดิเมียร์ พล็อพพ์ ไม่รู้สิ ผมชอบจริงๆ นะ (จบบริบูรณ์ครับ)

...

1 comment:

Anonymous said...

หนังเจ๋งดี ไปดูโดยไท่รู้กระแสของเรื่องนี้มาก่อน
ไม่เห็นจะต้องคิดมากเรื่องคำวิจารณ์
แค่ดูแล้วสนุก ก็พอ

อ่านที่คุณเขียนสนุกดี

ชอบ lady in the water มาก ๆ