...
คุณเคยสังเกตเห็นรูปแบบในการพาดปกนิตยสาร หรือการตั้งชื่อเรื่องบทความในนิตยสารบ้างไหมครับ ผมทำงานนิตยสารมานานหลายปีแล้ว แต่ก็เพิ่งมาตั้งข้อสังเกตเอาวันนี้เอง เพราะไปอ่านเจอพาดหัวประมาณว่า
"10 เมืองที่ควรไปเที่ยวให้ได้ก่อนตาย"
"9 ดาราหนุ่มร้อนแรงที่สุดแห่งปี"
"ลดห่วงยางที่เอวให้ได้ภายใน 7 วัน"
"49 คำที่ผู้ชายชอบพูดหลังมีเซ็กส์" ฯลฯ
ผมกำลังหมายถึงการพาดหัวเรื่องด้วยตัวเลขหน่ะครับ นิตยสารที่วางอยู่บนแผงส่วนใหญ่ สังเกตให้ดี คุณจะเห็นว่าเขามักจะพาดหัวด้วยการใช้ตัวเลข เรื่องตัวเลขนี้ทำให้ผมย้อนนึกไปถึงสมัยที่กำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ผมเรียนด้านบริหารธุรกิจ อาจารย์มักจะสอนแนวความคิดต่างๆ ที่นำเสนอเป็นตัวเลขเหมือนกัน อย่างเช่นถ้าเป็นเรื่องการตลาด เขาจะสอนว่ามี 4P หรือถ้าเป็นเรื่องการบริหารจัดการ เขาจะสอนเรื่อง 5 Forces, 6 Sigma, 7 Habits
นอกจากนี้ เนื้อหาในการเลกเชอร์แต่ละวิชา ก็สอนกันแบบเป็นข้อๆ ด้วยครับ เช่นข้อดีของการเปิดเสรีทางการค้ามี 5 ข้อดังต่อไปนี้ บลาๆ ... ข้อควรระวังในการลงทุนในตราสารหนี้มี 4 ข้อดังต่อไปนี้ บลาๆ บลาๆ ... แล้วเวลาจะเข้าห้องสอบ ผมกับเพื่อนๆ ก็นั่งท่องกันแบบไล่เป็นข้อๆ เลย เพื่อจะได้เขียนตอบได้ครบ และได้คะแนนเต็ม
สมัยนั้นผมก็เคยนึกสงสัยเหมือนกัน ว่าการตลาดมันอาจจะไม่ได้มีแค่ 4P ก็ได้ มันคงต้องมีหัวข้ออื่นๆ ที่นักการตลาดต้องใส่ใจอีก แต่มันอาจจะไม่ได้สะกดด้วยคำภาษาอังกฤษที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร P มันเลยเอามารวมเป็น 5P ไม่ได้ แล้วก็เลยถูกเขี่ยทิ้งไป เพราะทำให้จำยาก หรือดูไม่เท่ อย่างเช่น ผมคิดว่าการทำตลาดต้องคำนึงถึงคู่แข่งในท้องตลาดด้วยจริงไหมครับ คู่แข่งคือ Competitor ขึ้นต้นด้วยตัว C ทีนี้จะเอาไปรวมใส่ใน P ได้ไงล่ะ อะไรทำนองนี้แหละ หรือว่าข้อดีของการเปิดเสรีทางการค้า มันอาจจะไม่ได้มีแค่ 5 ข้อก็ได้ มันอาจจะมากกว่านั้นหรือน้อยกว่านั้นได้ เพียงแค่ว่าถ้าเราเอาเนื้อหาของข้อ 4 และข้อ 5 ที่ท่องไว้ มาเขียนรวมกันเป็นข้อเดียวกัน ในกระดาษคำตอบ หรือเขียนแยกเนื้อหาในข้อ 5 ที่ท่องไว้ แบ่งออกเป็น 2 ข้อ แบบนี้อาจารย์จะให้คะแนนเต็มหรือเปล่า หรือถ้าไม่เขียนตอบเป็นข้อๆ แต่เขียนรวมทุกข้อเป็นเนื้อหารวม จบในย่อหน้าเดียวไปเลย แบบนี้จะได้คะแนนหรือเปล่า
ผมรู้สึกมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้วครับ ว่าอาจารย์สอนแบบนี้ไม่เข้าท่าเท่าไร เพราะจริงๆ แล้ววิชาบริหารธุรกิจที่เราเรียนกันอยู่นี่ ยังไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากพอ มันเป็นสังคมศาสตร์ที่อ่อนความเป็นศาสตร์มากๆ เมื่อเทียบกับพวกเศรษฐศาสตร์ และผมเชื่อว่า พวกนักการตลาดหรือนักบริหารธุรกิจ ยังไม่สามารถอ้างว่าองค์ความรู้ต่างๆ ของพวกเขา ทั้ง 4P, 5 Forces, 6 Sigma, 7 Habits หรือบรรดาข้อดีหรือข้อควรปฏิบัติต่างๆ ที่เขาสอนมาเป็นข้อๆ เหล่านั้น ว่าเป็นกฎ (Law) หรือแม้กระทั่ง เขาอ้างไม่ได้ว่านี่คือทฤษฎี (Theory) มันยังเป็นแค่ในระดับแนวความคิด (Concept) หรือต่ำกว่านั้นด้วยซ้ำ
การใส่ตัวเลขเข้าไปกำกับแนวความคิด และการแบ่งแนวความคิดออกเป็นข้อๆ มันเหมือนกับเป็นการสร้างภาพเกินจริงให้กับแนวความคิดเหล่านี้ ว่ามันคือความจริง มันคือกฎหรือทฤษฎี เพราะตัวเลขจำนวนนับ เป็นสิ่งที่มนุษย์เราสร้างขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราสามารถจำกัดขอบเขตของสิ่งใดๆ ได้ในลักษณะเชิงปริมาณหรือเป็นจำนวน ดังนั้น ตัวเลขจึงมักจะถูกนำไปใช้กับความรู้ที่มีลักษณะศาสตร์ ที่กำลังจะเข้าใกล้ความจริงสัมบูรณ์ เช่นใช้เขียนในสมการที่พิสูจน์แล้วว่าจริง หรือใช้เขียนเป็นกฎหรือทฤษฎีที่ผ่านพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่นกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน มี 3 ข้อ หรือทฤษฎีบทของยูคลิด มีกี่ข้อๆ ก็ว่ากันไป
มันจึงไม่ใช่เรื่องที่ดี ที่จะให้พวกนักการตลาดหรือนักบริหารธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นระดับเซียนแค่ไหน แม้กระทั่งคอตเลอร์ จะนำตัวเลขมาใช้เพื่ออ้างความเป็นศาสตร์ ให้กับแนวความคิดของตัวเอง หรือให้กับหนังสือขายดีของตัวเอง หนังสือเกี่ยวกับการตลาดและการบริหารธุรกิจ ก็มักจะนำเสนอแนวความคิดเป็นตัวเลข หรือแบ่งเป็นข้อๆ แบบนี้ประจำ
ผมคิดว่าเป็นเพราะพวกนักการตลาดและเจ้าของธุรกิจทั้งหลาย เป็นคนที่กำลังวิตกกังวลกับความไม่แน่นอนในการลงทุนทำธุรกิจ พวกเขาจึงต้องมองหาศาสตร์อะไรที่ใกล้ความจริงที่สุด เพื่อมาทำตามนั้น แล้ว 4P, 5 Forces, 6 Sigma, 7 Habits คือสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกมั่นคงทางจิตใจมากขึ้น เพราะหลงคิดไปว่ามันจริง มันต้องประสบความสำเร็จแน่ๆ ถ้าทำตามนั้น ซึ่งสำหรับผมแล้ว ไอ้พวกนี้หน่ะ มันแหกตาสิ้นดี และในที่สุดแล้ว วิธีคิดแบบสรุปทุกอย่างให้เป็นตัวเลข หรือรวบข้อมูลทุกอย่างแล้วแบ่งเป็นข้อๆ มันเป็นอะไรที่อยู่ในจิตสำนึกของคนเรามานานแล้ว และมันไปแสดงออกในแทบทุกเรื่อง รอบๆ ตัวเรา รวมไปถึงการพาดหน้าปกนิตยสาร หรือการพาดหัวเรื่องบทความในนิตยสารด้วย (กลับเข้าเรื่องของเราแล้วครับ)
การพาดหัวเรื่องว่า 10 เมืองที่ควรไปเที่ยวให้ได้ก่อนตาย ถ้าพิจารณาให้ดีๆ มันคือการที่ผู้เขียนสรุปรวบแล้วว่า ต้อง 10 เมืองนี้เท่านั้น จะเป็นเมืองอื่นๆ นอกจากนี้ไม่ได้ และจะมากหรือจะน้อยไปกว่านี้ไม่ได้ ซึ่งมันจะเป็นเรื่องจริง หรือเรื่องแหกตากันแน่? มันคือกฎสากล หรือมันคือแนวความคิดของผู้เขียนคนนั้นคนเดียวกันแน่? อันนี้ก็ต้องไปอ่านเนื้อหาในบทความชิ้นนั้น แล้วคุณก็ค่อยตัดสินด้วยตัวเอง แต่คนอ่านนิตยสารในทุกวันนี้ส่วนใหญ่ ไม่ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องแบบนี้กันเลย เราจึงได้เห็นว่าบนปกนิตยสารบ้านเรา รวมไปถึงทั่วทั้งโลกนั้น เต็มไปด้วยตัวเลขต่างๆ
คนที่เสพนิตยสารเหล่านี้ คงจะมีความสุข ที่เขาได้รู้สึกว่าตัวเองเข้าถึงข้อสรุปที่ถูกต้อง ความจริงที่สุดยอดแล้ว จากนิตยสารทุกเล่ม จากบทความทุกหน้า เหมือนกับเด็กนักศึกษาวิชาบริหารธุรกิจหน่ะครับ ที่จะมีความสุขเหลือเกิน ถ้าเราเขียนคำตอบได้ครบทุกข้ออย่างที่ท่องไว้ เราได้คะแนนเต็ม และเมื่อจบออกมาก็ไปวางแผนการตลาด หรือทำธุรกิจอะไร ได้ประสบความสำเร็จชัวร์ๆ
...
Monday, July 31, 2006
10 เมืองที่ควรไปเที่ยวให้ได้ก่อนตาย
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
2 comments:
เพิ่งรู้สึกเหรอ
...
ไม่แน่เนอะว่า เมื่อการเขียน Blog ค่อยๆ บูมขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่ใครก็ต้องมี Blog หายใจเข้าก็คิดถึง blog หายใจออกก็คิดถึง blog
อาจจะมีหนังสือที่ชื่อว่า
"10 วิธีเขียน Blog อย่างไรให้รวยเงินล้าน"
"28 วันสู่การเขียน Blog ให้เป็น Somebody"
หรือ เขียน blog ให้โดนใจสาว"
คุณ Woody เรามาพิมพ์ขายกันไหม รับรองว่ารวย แน่ๆ ครับ 5 5 5
...
Post a Comment