Wednesday, July 19, 2006

ไม่ - เปลี่ยน - ช่อง

...

คุณเคยสังเกตการ์ตูนอนิเมชั่นคั่นรายการของช่องไอทีวีบ้างเปล่าครับ ที่มันจะมาตอนรายการหนึ่งเพิ่งจบ แล้วกำลังจะเข้าสู่ช่วงเวลาของรายการใหม่ ที่เป็นรูปเครื่องทีวีสีแดงๆ กระโดดหมุนๆ มีสเก็ตช์บอร์ด และมีแถบแสงสีแดงพุ่งพาดจอทีวี พร้อมกับเสียงดนตรีกรุ๋งกริ๋งฟังสบายอารมณ์ การ์ตูนนี้มีหลายเวอร์ชั่นนะ มีอันหนึ่งเป็นเสียงผู้ชายบรรยายทับ ว่า "ไอทีวี ทีวีเพื่อทุกคนในครอบครัว" อะไรทำนองนี้ ไม่ใช่อันนี้นะครับ ผมให้คุณสังเกตอีกอันหนึ่ง อันที่ไม่มีเสียงผู้ชายบรรยายทับ แต่จะมีเสียงร้องฮัมเพลง เหมือนเสียงผู้หญิงที่เอาไปเข้าเครื่องซินธิไซเซอร์ เพื่อทำให้เหมือนเสียงสังเคราะห์ของหุ่นยนต์ ถ้าฟังผ่านๆ คุณอาจจะไม่ทันสังเกตว่าเสียงนี้ร้องว่าอะไร แต่ถ้าคุณลองเงี่ยหูฟังให้ดีๆ ย้ำว่าต้องฟังดีๆ คุณอาจจะได้ยินเหมือนกับที่ผมได้ยิน

มันร้องว่า ไม่ - เปลี่ยน - ช่อง - ไม่ - เปลี่ยน ... ไม่ - เปลี่ยน - ช่อง - ไม่ - เปลี่ยน วนอยู่แบบนี้สองรอบ ก่อนจะตัดภาพไปเข้ารายการถัดไปของทางสถานี

ผมได้ยินเสียงนี้มา 2-3 ปีแล้วเป็นอย่างน้อย ตั้งแต่ที่สถานีนี้เริ่มตกมาเป็นของกลุ่มธุรกิจที่มีอำนาจใหญ่โตในบ้านในเมืองเรา ฟังทีไรก็ได้ยินแบบนี้ แต่พอมาเล่าให้เพื่อนคนอื่นฟังหลายคน ก็ไม่มีใครที่สังเกตเสียงนี้เลยสักคน จนกระทั่งอาทิตย์ก่อน มีน้องใหม่เพิ่งเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศคนหนึ่ง จำไม่ได้แล้วว่าเรากำลังคุยอะไรกันอยู่ แล้วอยู่ๆ เขาก็พูดถึงเจ้าเสียงนี้ขึ้นมา เขาฟังเสียงนี้ออกเหมือนกัน โดยเขาฟังออกว่า อย่า - เปลี่ยน - ช่อง - อย่า - เปลี่ยน - ช่อง ผมเลยดีใจที่ไม่ใช่เป็นเพราะผมคิดมาก หรือหูแว่วไปคนเดียว เสียงหรือสารที่แทรกไว้แบบลับๆ นี้

ในทางวิชาการด้านนิเทศศาสตร์เขาเรียกว่า Subliminal Message มีการศึกษาและค้นคว้าเรื่องนี้กันมานาน 30-40 ปีแล้วในต่างประเทศ โดยพวกนักโฆษณา มีคนเคยทดลองเอาภาพโค้กและป๊อปคอร์น ไปแอบใส่ไว้ในเฟรมของฟิล์มหนังที่ฉายในโรง แล้วอ้างว่ามันจะทำให้ยอดขายขนมที่หน้าโรงเพิ่มขึ้นได้จริง อย่างที่คุณคงรู้ดี ว่าภาพเคลื่อนไหวที่เราเห็นบนจอหนังนั้น เกิดจากภาพนิ่งจำนวน 24 ภาพ ที่ฉายขึ้นบนจออย่างรวดเร็วในเวลา 1 วินาที เขาก็เอาภาพโค้กกับป๊อปคอร์นนี่แหละ แอบไปใส่ไว้ในเฟรมภาพ 1 ใน 24 เฟรมนั้น คนดูในโรงจะยังคงเห็นภาพหนังบนจอเป็นปกติ เพราะการรับรู้โดยประสาทตาของมนุษย์เราไม่รวดเร็วขนาดที่จะทันสังเกตภาพโค้กและป๊อปคอร์นที่แว้บๆ ขึ้นมาบนจอ แต่นักโฆษณาที่ทดลองเรื่องนี้ เชื่อว่าคนเราสามารถรับรู้ภาพนั้นได้ในระดับจิตใต้สำนึก ภาพทุกภาพ เสียงทุกเสียง ถึงแม้เราจะไม่รับรู้มันด้วยจิตสำนึก แต่จิตใต้สำนึกของเรายังคงทำงานตลอดเวลา และได้บันทึกมันเอาไว้ตลอด เมื่อดูหนังที่มีภาพโค้กและป๊อปคอร์นแอบใส่ไว้ไปสักพัก เราจะค่อยๆ นึกถึงโค้กและป๊อปคอร์นมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจจะเดินออกไปซื้อมากินระหว่างพัก Intermission หรือตอนเดินออกไปฉี่

นักนิเทศศาสตร์อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่า Subliminal เป็นเรื่องแหกตา หรือเรียกว่าวิทยาศาสตร์เก๊ Psudo-sci คนเราไม่ได้ตอบสนองกับ Subliminal เป๊ะๆ แบบนั้น และมันไม่ได้มีผลระดับจิตสำนึกได้จริง

อย่างไรก็ตาม วงการโฆษณาของอเมริกาออกกฎห้ามไม่ให้ครีเอทีฟและนักโฆษณาใช้วิธีการนี้อย่างเด็ดขาด ถึงกับออกกฎหมายมาเอาผิดเลยด้วยซ้ำไป ช่วงหลายปีก่อนที่เรื่องนี้ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์กัน เพราะเคยมีโฆษณาหลายชิ้นใช้วิธีนี้ อย่างเช่นในภาพโฆษณาบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร่บนหน้านิตยสารต่างๆ ในหนังฮอลลีวู้ดก็เคยใช้กัน คือเรื่อง The Exorcist ภาคแรก ที่ลินดา แบลร์ เล่นนั้นแหละ ถ้าคุณดูดีๆ จะเห็นภาพหน้าปีศาจสยดสยอง จู่ๆ ก็แทรกเข้ามาในเรื่องแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย แว้บเดียวจริงๆ นะ คุณอาจจะพลาดภาพนี้ไปถ้าเผลอกระพริบตาตอนนั้นพอดี ในแผ่นวีซีดีลิขสิทธิ์ของบริษัท CVD ก็มีให้ดูนะครับ ลองเช่ามาดูกันได้ ซึ่งมันก็ไม่ถึงกับเป็น Subliminal เท่าไร คือมันยังมองเห็นได้จะๆ และรู้ว่าเขาแกล้งใส่ภาพนี้เข้ามา ส่วนในวงการเพลงก็เคยมีการใช้ Subliminal ครับ วงอะไรจำไม่ได้ คุ้นๆ ว่าเป็นวงแนวเฮวี่เมทัล เขาใส่ข้อความชวนกันฆ่าตัวตาย อะไรแบบนี้แหละ เล่นไฟล์เสียงนี้แบบถอยหลัง แล้วเอาไปแทรกไว้ในเพลง วันดีคืนดีมีคนฟังออกครับ แล้วเอาไปฟ้องศาล วงดนตรีวงนี้โดนปรับเงินไปเพียบ และกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นี่ข่าวจริงๆ นะ ไม่ใช่เรื่องข่าวลือ

สำหรับในบ้านเรา ผมไม่เคยเห็นว่ามีนักโฆษณาคนไหน นำวิธี Subliminal มาใช้ และไม่คิดว่าจะมีใครที่ไร้จรรยาบรรณ และไร้ความละอาย ถึงขั้นนำวิธีสกปรก ที่ไม่รู้ว่าใช้ได้ผลจริงหรือเปล่าด้วยซ้ำ แต่ที่แน่ๆ คือมันสกปรกน่ะ มาใช้กับคนไทยด้วยกัน จนกระทั่งมาเจอกรณีการ์ตูนอนิเมชั่นคั่นรายการของไอทีวีนี่แหละ น่าสงสัยที่สุด ว่ามันคือ Subliminal หรือเปล่า ถ้าคุณมีเวลาว่างๆ ได้ดูทีวีบ่อยๆ ลองเปิดไปช่องไอทีวีนะครับ รอช่วงที่เขาจะเข้าสู่รายการใหม่น่ะ เขาจะเอามาฉาย ลองช่วยกันเงี่ยหูฟังหน่อย ว่าเสียงร้องของผู้หญิงที่ผ่านเครื่องซินธิไซเซอร์นั้น เขาร้องว่าอะไรกันแน่

...

บทความเก่าตั้งแต่ปี 2549

2 comments:

Anonymous said...

อ่านแลวชวนให้นึกถึงหนังสือที่เคยอ่านเรื่อง จิตกาธาน ตัวร้ายใช้วิดีโอบำบัดอาการป่วยให้กับคนโรคจิต แต่แฝงคำพูดที่เน้นเป็นจังหวะให้ไปฆ่าคนตายอยู่ด้วย อ่านแล้วไม่นึกว่าคงจะพัฒนาเป็นเรื่องจริงในอนาคต แต่นี่มีจริงแล้วเหรอ ถึงแม้จะไม่เหมือนซะทีเดียว แต่ก็คล้ายกันมาก เป็นแค่ความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้นนะ
คูลเดต้า

panatta93 said...

Subliminal? Now I am reversing an asian song and I heard "I am from Poland not Cambodia", is it subliminal?

I'm from Hungary