...
อาทิตย์ที่แล้ว ผมไปร่วมงานประกาศรางวัลประกวดหนังสั้น ที่ถ่ายทำจากกล้องโทรศัพท์มือถือ เขาจัดงานนี้มาเป็นปีที่สองแล้ว โดยการคัดเลือกตัวแทน 1-2 คน จากประเทศต่างๆ ในเอเชีย ไปเข้าคอร์สฝึกอบรมการใช้กล้องโทรศัพท์มือถือ และการใช้โปรแกรมตัดต่อหนังแบบง่ายๆ แล้วก็ให้แต่ละคนแยกย้ายกันไปทำหนังสั้น ความยาว 1 นาที ส่งเข้ามาประกวด ก่อนจะเริ่มประกาศรางวัล ผู้บริหารบริษัทขึ้นกล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน คำพูดของเขาน่าสนใจมาก เขาบอกว่า ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้สมัยนี้ ใครๆ ก็สามารถทำหนังสั้นของตัวเองได้ เขาเล่าว่าสมัยก่อน ตอนที่เขายังเป็นนักศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ในชั้นเรียนวิชาภาพยนตร์ มีกล้องถ่ายหนังให้นักศึกษาใช้เพียง 2 ตัว พอถ่ายทำมาเสร็จ ก็ต้องมาแย่งใช้ห้องตัดต่อกันอีก กว่าจะได้หนังสั้นออกมาสักเรื่อง ถือเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและไม่สะดวกรวดเร็วเลย เขาบอกว่า ผู้กำกับเก่งๆ อย่างสตีเว่น สปีลเบิร์ก ก็เกิดมาจากยุคสมัยที่ขาดแคลนแบบนี้ เมื่อมาถึงสมัยนี้ เราไม่ได้ขาดแคลนทรัพยากร เครื่องไม้เครื่องมือแบบนั้นอีกแล้ว ดังนั้น ถ้าคุณมีความสามารถมากจริง คุณก็เป็นสปีลเบิร์กได้ เพียงแค่ยกกล้องโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่าย แล้วใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พีซีที่บ้านมาตัดต่อ แล้วเอาหนังสั้นของคุณออกไปเผยแพร่ วิธีที่จะเผยแพร่นั้นก็ง่ายดายและกระจายออกไปสู่วงกว้างจริงๆ คือการโหลดในเว็บไซต์อย่างพวก Youtube.com เท่านั้น
ผมว่าไอเดียเกี่ยวกับเรื่องที่ใครๆ ก็มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงาน และมีโอกาสเผยแพร่ผลงาน ได้อย่างเท่าเทียมและเปิดกว้าง กำลังเป็นไอเดียที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง เรื่องการทำหนังสั้นแล้วอัพโหลดไปใส่ Youtube.com นี่ก็ใช่ การถ่ายภาพแล้วอัพโหลดภาพไปใส่ใน Flickr.com ก็ใช่ และการเขียนบล้อก อย่างที่ผมและพวกคุณกำลังทำๆ กันอยู่นี่ก็ใช่เช่นกัน เรากำลังเชื่อกันว่า ในยุคนี้สมัยนี้ ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ ทำให้เราสามารถสร้างผลงาน อย่างเช่นการเขียนหนังสือ การถ่ายภาพ การทำหนังสั้น แล้วเราสามารถเผยแพร่มันออกไปผ่านทางอินเตอร์เน็ต เพื่อให้คนจากทั่วโลกสามารถชื่นชมกับงานสร้างสรรค์ของเรา มีบทความในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือแม้แต่บทความทางวิชาการหลายชิ้น เขียนว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคสมัยของการสื่อสารสองทางแบบสมบูรณ์ ความเป็นประชาธิปไตยของการสื่อสาร การล่มสลายของการผูกขาดการสื่อสารโดยองค์กรสื่อมวลชน สิทธิและเสรีภาพของพลเมืองโลกที่จะได้แสดงออกอย่างเท่าเทียม ฯลฯ สำหรับผม ผมคิดว่าไอเดียเหล่านี้เป็นอุดมคติ ที่เกิดขึ้นมาจากวิวัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสาร แต่ประเด็นสำคัญคือ พวกเราจะไปถึงอุดมคตินี้ได้หรือเปล่า นั่นเป็นสิ่งที่ผมไม่ค่อยมั่นใจ
พี่เกี๊ยง-นันทขว้าง เคยพูดในงานสัมมนางานหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว เขาเล่าว่าเคยถูกรับเชิญให้ไปร่วมงานจัดฉายหนังของนักศึกษา เขาเข้าไปนั่งดูหนังของนักศึกษาที่ส่งเข้ามาร่วมแสดงในงานจบไปหลายเรื่อง แล้วก็ตั้งข้อสังเกตว่า เด็กนักศึกษาแต่ละทีม มานั่งดูแต่เฉพาะตอนที่หนังของตัวเองกำลังฉาย พอฉายเสร็จก็เดินเฮฮากันออกไปจากโรง โดยไม่ได้สนใจจะดูหนังของทีมอื่นเลย เขาบอกว่า อาการแบบนี้มันเหมือนกับยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง ที่หนังสือทำมือกำลังฮิตกันเหลือเกิน ยุคนั้นเด็กทุกคนทำหนังสือทำมือกันออกมาแจกกันหรือขายกัน แต่ทุกคนไม่ได้สนใจที่จะอ่านหนังสือทำมือของคนอื่นเลย ดูราวกับว่าคนเราทุกคน ล้วนสนใจกันแต่เรื่องของตัวเองเท่านั้น หรืออย่างมากก็ขยายความสนใจไปสู่เพื่อนๆ อีกไม่กี่คน คนเราไม่ได้สนใจคนอื่นหรอก ว่าเขาทำหนังออกมาดีหรือไม่ดีอย่างไร เขาเขียนหนังสือดีหรือไม่ดีอย่างไร เราสนใจแค่ว่า คนอื่นมาสนใจตัวเราหรือเปล่า มาดูหนังของเราหรือเปล่า มาอ่านหนังสือทำมือของเราหรือเปล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วจะหวังอะไรจากการทำหนังของนักศึกษา และจะหวังอะไรจากการทำหนังสือทำมือ ในเมื่อมันมีแต่คนต้องการจะทำออกมาเพื่อโชว์คนอื่น ในขณะที่ตัวเขาเอง และคนอื่นๆ ทุกคน ล้วนไม่มีใครสนใจใคร
Youtube.com Flickr.com และการเขียนบล้อกในปัจจุบันนี้ ก็คงไม่แตกต่างไปจากเรื่องหนังนักศึกษาและหนังสือทำมือ ที่พี่เกี๊ยงเล่าไว้ คือทุกคนล้วนสนใจแต่เรื่องตัวเอง ผมคิดว่าในปัจจุบันนี้ คอนเทนต์ฟรีๆ เช่นบทความ นิยาย รูปภาพ คลิปหนังสั้น ไฟล์เพลง ฯลฯ รวมกันนับล้านเมกกะไบต์ กำลังถูกอัพโหลดขึ้นไปใส่ไว้ในอินเตอร์เน็ตทุกๆ นาที จากเหล่าผู้คนที่แรงเหลือ มีความฝัน มีไฟในการสร้างสรรค์งาน มีความทะเยอทะยาน ผมเชื่อว่าทุกคนต่างคาดหวังให้คอนเทนต์ของตน ถูกดาวน์โหลดลงมาจากอินเตอร์เน็ต เข้าไปเปิดอยู่ในเครื่องคอมพ์ของใครสักคนในอีกซีกโลก แล้วหวังให้เขาชื่นชมกับความสร้างสรรค์ เฝ้ารอให้เขาเหล่านั้น เขียนคอมเมนต์กลับมาเพียงสั้นๆ ไม่กี่คำก็ยังดี แค่นี้คืนนี้เราก็นอนหลับฝันดี แต่ประเด็นคือ ผมสงสัยว่าเราทุกคนสนใจคนอื่นด้วยหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น เราเข้าไปอ่านบล้อกคนอื่นอย่างตั้งใจแค่ไหน หรือเพียงเข้าไปอ่านหัวเรื่อง แล้วทิ้งคอมเมนต์สั้นๆ เพื่อทักทายเจ้าของบล้อก "อิอิ" หรือ "คริคริ" แล้วก็กลับมาสนใจแต่เรื่องตัวเองเหมือนเคย แล้วก็กลับมาสนใจแต่เรื่องตัวเองเหมือนเคย คือนั่งเปิดบล้อกตัวเอง รอดูว่าเขาย้อนกลับมาคอมเมนต์บล้อกของเราเป็นการตอบแทนหรือยัง
เพราะผมคิดว่าคุณภาพของคอนเทนต์ฟรีๆ ในอินเตอร์เน็ต และความเป็นไปได้จริง ของอุดมคติเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมในการสื่อสาร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงแค่ความตั้งใจในการสร้างสรรค์คอนเทนต์เท่านั้น แต่มันยังขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคน ที่จะเลิกสนใจแต่ตัวเอง แล้วหันออกนอกตัว ไปสนใจคนรอบข้างให้มากขึ้น นอกจากเราจะต้องสละเวลาและเรี่ยวแรง ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ของเราแล้ว เรายังจะต้องสละเวลาและเรี่ยวแรงเท่าๆ กันนั้น เพื่ออ่านบล้อกของคนอื่นอย่างละเอียด ดูคลิปหนังใน Youtube ให้จบเรื่อง แล้วเขียนคอมเมนต์ที่มีคุณภาพส่งกลับไปให้เขา มันเหมือนกับเราต้องทำงานให้หนักขึ้นเป็นสองเท่าครับ
...
Thursday, November 30, 2006
ทุกคนล้วนสนใจแต่เรื่องตัวเอง
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
8 comments:
ว่าจะมา อิอิ คริ คริ เจอเอาไมนี้เข้าถึงกับ ชะงักงันไป
นึกไปถึงหนังเรื่องWONDERLAND ครับ
โลกที่คนฟังเฉพาะเสียงของตัวเอง
เราเองก็ถูกว่าบ่อยๆ ว่าทำบล็อกแบบ self-center ซึ่งก็ยอมรับอ่ะนะ บางทีมันก็ขี้เกียจอ่านบล็อกชาวบ้าน
ที่สำคัญมีพวกบล็อกใน bloggang ก็ใส่เอฟฟเฟกต์บ้าบออะไรไม่รู้ โคตรน่ารำคาญ มีทั้งใบไม้ปลิว หิมะตก เพลง วิดีโอ โอ๊ย บ้า!!
มองมุมกลับนะ อย่างน้อยการมีคนที่คิดแบบนี้เพิ่มมาที่ละบล็อกสองบล็อกก็แสดงว่าสังคมในบอกไม่ได้ยึดดดยงอยู่กับตัวเองไปเสียทุกคน
บล็อกกับเว๊ปก็เหมือนกัน มันน่าจะเกิดขึ้นมาจากการพยายามนำเสนอ สิ่งที่ตัวคิด และคิดว่าตัวรู้ออกมา แต่หลังจากนั้นสังคมจะทำหน้าที่หล่อหลอมเขาเองว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรในการอยู่รวมกับคนอื่น
และตริงๆ การไม่เข้าไปอ่านของคนอื่นก็ไม่ใช้สิ่งผิด ผมว่าถ้าพูดกันตรงๆ บางที่ผมก็ แส่ ไปอ่านงานคนอื่นด้่วยซ้ำ ชอบก็อ่านต่อ ไม่ชอบก็อ่านผ่าน .... บล็อคจะอยู่หรือไปผมไม่รู้ แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนดลกจะถูกทดสอบความจำเป้นดดยธรรมชาติเสมอ
มองมุมกลับนะ อย่างน้อยการมีคนที่คิดแบบนี้เพิ่มมาที่ละบล็อกสอง
บล็อกก็แสดงว่าสังคมในบอกไม่ได้ยึดดดยงอยู่กับตัวเอง
ไปเสียทุกคน
บล็อกกับเว๊ปก็เหมือนกัน มันน่าจะเกิดขึ้นมาจากการพยายามนำเสนอ สิ่งที่ตัวคิด และคิดว่าตัวรู้ออกมา แต่หลังจากนั้นสังคมจะทำหน้าที่หล่อหลอมเขาเองว่าจะ
ต้องปฏิบัติอย่างไรในการอยู่รวมกับคนอื่น
และจริงๆ การไม่เข้าไปอ่านของคนอื่นก็ไม่ใช้สิ่งผิด ผมว่าถ้าพูดกันตรงๆ บางที่ผมก็ แส่ ไปอ่านงานคนอื่นด้่วยซ้ำ ชอบก็อ่านต่อ ไม่ชอบก็อ่านผ่าน .... บล็อคจะอยู่หรือไปผมไม่รู้ แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนดลกจะถูกทดสอบความจำเป้น
โดยธรรมชาติเสมอ
แม้แต่ในอินเตอร์เน็ท
เราก็ต้องเอาบล็อกเราเป็นศูนย์กลางโลกกระนั้นหรือ
คอมเม้นท์นั้นๆ ต้องคิดแบบที่เราคิด
คอมเม้นท์นั้นๆ ต้องคิดตามเราให้ทัน
ห้ามแสดงความ "ไร้สาระ" ลงในบล็อกชั้นน่ะ
จขบ.คิดอย่างนี้จริงเหรอๆ
ทำไมเราจะเปิดรับแต่ความคิดที่คิดตามเรา
( ไม่ได้หมายถึงแค่ว่าเขาเห็นหรือไม่เห็นด้วยกับเรา )
แต่พี่กลับคิดว่า คำว่า คริคริ หุหุ อิอิ ฯลฯ
มันคือการสื่อสารกับเราเหมือนกัน
มันอาจกำลังจะบอกว่า ช่วยเขียนให้ฉันอ่านเข้าใจหน่อย ( หรืออะไรสักอย่าง บลา บลา บลา... )
ที่บล็อกพี่มีคอมม้นท์หนึ่งซึ่งพี่ชอบมาก
เขาจะไม่สนใจว่าพี่เขียนอะไร หนังสือเล่มไหน
แต่เขาจะมาพร้อมหมาหนึ่งตัวชื่อเจ้าบัดดี้และอาหารหนึ่งอย่าง (มาเป็นรูป- บล็อกของเขาเป็นเรื่องอาหารกับหมา ) คอมเม้นท์ของเขาจะเป็นลักษณะเหมือนๆ กันคือ บัดดี้เอาอาหารมาส่งค้าบ และก็อาจจะไปส่งที่บล็อกอื่นๆ ด้วยภาพและคำพูดเหมือนกัน
เวลาที่เปิดมาแล้วเห็นบัดดี้ พี่อมยิ้มทุกครั้ง
การคอมเม้นท์อย่างจริงจัง สิ่งที่ จขบ.นั้นเสนอมันอาจจะเป็นไปได้ถ้าคนเราฉลาดเท่ากัน
แต่ใครบอกล่ะ ว่าโลกนี้มีความเท่าเทียม
หรือใครบอกล่ะ ว่าจาก 1 แล้วต้อง ไป 2 ไป 3
มันอาจจะ 1 แล้วไป 0 แล้วกระโดดไป 10
มันก็เป็นไปได้นะ
So what ?
ผมว่ามันไม่เห็นจะต้องไปซีเรียสอะไรเลย
จะเขียนของตัวเอง ก็ไม่เห็นต้องไปเมนท์ให้คนอื่น
ขยันอ่านขยันเมนท์ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเขียน
อยากทำอะไรก็ทำไป
แต่อยากเก่งก็ต้องคงขยันแบบคุณว่า
แต่เราคงไม่ได้อยากเก่ง อยากมีคุณภาพอะไรขนาดนั้น
เห็นด้วยบางส่วน เพราะตอนที่ลองเขียนบล็อกของตัวเองดู รู้สึกดีมากๆ ถ้ามีคนเข้ามาเขียนคอมเม้นท์ให้ แล้วก็จะครุ่นคิดทั้งวันว่าวันนี้จะเขียนเรื่องอะไรดี สุดท้ายก็ต้องล้มเลิกเพราะว่าเหนื่อยที่จะต้องมาคอยอัพเดทบล็อกของตัวเองอยู่เรื่อยๆ จริงๆ แล้วขี้เกียจว่างั้นแหละ แฮะ แฮ่ะ
แต่บางส่วนที่ไม่เห็นด้วย เพราะว่าทุกครั้งที่เข้ามาอ่านผลงานของเพื่อนจะตั้งใจและถ้ามีความคิดเห็นก็จะเขียนคอมเม้นท์ทิ้งไว้ให้ ให้รู้ว่ายังมีเพื่อนที่ยังคอยรับฟัง ไม่ทอดทิ้งกัน....
สงสัยอยู่เหมือนกันว่าชื่อเรื่องเนื้อหาของบทนีมันไปในทางเดียวกันไหม เพราะจากเนื้อเรื่องทำให้คิดว่าชื่อเรื่องน่าจะเป็น "ทุกคนล้วนอยากให้คนอื่นสนใจแต่เรื่องของตัวเอง" นั่นก็น่าจะเป็นที่มาหนึ่งของการที่คนเราคิดจะมี Blog มิใช่รึ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
แต่บทความนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อคนที่จะเข้ามา Comment ต่อไป เพราะเหมือนถูกตีกรอบว่า เฮ้ย Comment อะไรให้มันเข้าเรื่องหรือมีสาระหน่อย ทีนี้ก็คงขึ้นอยู่กับความั่นคงในจิตใจของ Commentator ทั้งหลายแล้วล่ะ สำหรับเราคงไม่อ่ะนะ เพราะถือคติ "ใครจะไปสน" ซะแร๊ว..ว..ว..
Post a Comment