Friday, November 03, 2006

Kinsey

...

เมื่อกว่าสามเดือนก่อน ตอนที่ผมเริ่มเขียนบล้อกเรื่องแรกๆ ผมได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องของ ดร.จอห์น มันนี่ จิตแพทย์ที่ศึกษาเรื่อง Sex และ Gender ของมนุษย์ และเขาเชื่ออย่างสนิทใจว่าเรื่องเพศของมนุษย์นั้น เป็นเรื่องทางวัฒนธรรมล้วนๆ การแบ่งเพศของมนุษย์เป็นผู้ชายและผู้หญิงนั้น เกิดจากการประกอบสร้างโดยสังคมล้วนๆ ความเชื่อแบบนี้ของเขานำไปสู่โศกนาฏกรรมของชีวิตคนไข้ของเขา (อ่านรายละเอียดได้ที่ http://theaestheticsofloneliness.blogspot.com/2006_07_17_theaestheticsofloneliness_archive.html)

มาคราวนี้ผมอยากจะนำมาเปรียบเทียบกับ ดร.อัลเฟรด คินซีย์ เพราะเพิ่งได้ดูหนังเรื่อง Kinsey จากแผ่นดีวีดีที่เพื่อนเอามาให้ยืม ดร.คินซีย์เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจศึกษาเรื่องแมลง และเขาได้ใช้วิธีวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ ที่เคยใช้ในการศึกษาแมลง มาศึกษาพฤติกรรมทางเพศของชาวอเมริกัน ในยุคทศวรรษที่ 40-50 จนสร้างความขัดแย้งขึ้นมาอย่างกว้างขวาง ในสังคมยุคนั้น

เมื่อเปรียบเทียบกันดู ถ้าในเรื่องเพศๆ ดร.มันนี่ เป็นฝ่ายที่เชื่อเรื่องการประกอบสร้างโดยสังคมอย่างสุดโต่ง ดร.คินซีย์ก็เป็นฝ่ายที่เชื่อในเรื่องวิทยาศาสตร์และธรรมชาติอย่างสุดโต่ง ในหนังเรื่อง Kinsey นำเสนอเรื่องราวชีวิตของเขา ไล่มาตั้งแต่วัยเด็ก ว่ามีปัญหาสับสนเกี่ยวกับเรื่องความรู้สึกทางเพศที่ขับดันมาจากภายในร่างกาย กับจริยธรรมและศีลธรรมอันดีงาม ที่กดดันมาจากสังคมภายนอก ปัญหาของคินซีย์และสังคมอเมริกันในยุคทศวรรษที่ 40 เป็นปัญหาอมตะนิรันดร์กาลของทุกยุคทุกสมัย และในทุกสังคม รวมถึงสังคมไทยเราในปัจจุบัน ก็มีปัญหานี้ไม่แตกต่างกัน เรายังคงต้องมานั่งถกเถียงกันอยู่ทุกวัน ว่าเราควรจะดำเนินชีวิตไปตามแรงขับดันทางเพศที่มีตามธรรมชาติ หรือเราควรจะดำเนินชีวิตไปตามจริยธรรมและศีลธรรมอันดีงาม

ดร.คินซีย์เป็นผู้ที่ลุกขึ้นมาบอกว่า คนเราควรจะได้มีความสุขทางเพศไปตามแรงขับ สัญชาตญาณ และความต้องการจากภายใน การเก็บกดหรือปิดกั้นมันเอาไว้ จะทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา ดร.คินซีย์เชื่อว่า จริยธรรมและศีลธรรมต่างๆ เป็นสิ่งที่ดีงามและควรทำตามก็จริงอยู่ แต่มันถูกสร้างขึ้นโดยสังคมในแต่ละยุคสมัย และไม่มีความสอดคล้องกับความเป็นจริงตามธรรมชาติ จริยธรรมและศีลธรรมเรื่องเพศเกิดขึ้นจากความไม่รู้ และทำให้คนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ ว่าคนอื่นก็มีความคิดและพฤติกรรมทางเพศอย่างไร คนส่วนใหญ่จึงกลัวและกังวลว่าตนเองจะทำอะไรผิดแปลก ผิดปกติ หรือหมกมุ่นเรื่องเพศมากไปกว่าคนอื่นหรือเปล่า จึงเก็บกดเรื่องเพศของตนเอาไว้ เขาจึงต้องทำการวิจัย สำรวจความคิดและพฤติกรรมเรื่องเพศของคนอเมริกันทุกคน เพื่อเอาข้อมูลความจริงมาตีแผ่ เพื่อจะได้ลดช่องว่างระหว่างความเป็นจริง และจริยธรรมศีลธรรมลงไป

ผลการวิจัยของดร.คินซีย์ เรียกว่า Kinsey Reports เขาตั้งทีมงาน คิดค้นแบบสอบถาม มาตรวัดต่างๆ และวิธีการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ แล้วออกตระเวนเก็บข้อมูลเรื่องเพศ จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นชาวอเมริกันนับพันนับหมื่นคน ผลการวิจัยในส่วนแรก เกี่ยวกับความคิดและพฤติกรรมเรื่องเพศของผู้ชาย ถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือชื่อว่า Sexual Behavior in the Human Male ในปีค.ศ.1948 เปิดเผยให้เห็นเรื่องราวที่คนในยุคนั้นอยากรู้อยากเห็น แต่ไม่กล้าพูดถึงมัน เพราะความอับอาย อย่างเช่นค่าเฉลี่ยของขนาดอวัยวะเพศ การมาสเตอร์เบชั่น ออรัลเซ็กส์ เซ็กส์แบบวิตถารแบบต่างๆ การคบชู้ รวมไปถึงพฤติกรรมรักร่วมเพศ ต่อมา เขายังเดินหน้าวิจัยต่อไป เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้หญิงบ้าง และตั้งใจจะออกตีพิมพ์เป็นหนังสือ Sexual Behavior in the Human Female แต่โครงการวิจัยของเขาถูกล้มเลิกไปเสียก่อน เพราะการต่อต้านจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองในสมัยนั้น ที่มองว่าดร.คินซีย์สงสัยจะเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ที่จะมาปั่นป่วนสังคมอเมริกัน

งานของดร.คินซีย์ ในด้านหนึ่งมันก็ทำประโยชน์ให้กับสังคมอเมริกันในยุคนั้นมากมาย เพราะมันเปิดโอกาสให้สังคมได้ยอมรับกับเรื่องเพศๆ ที่ปกปิดกันมานานแสนนาน และเป็นการปฏิวัติการศึกษาและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษาครั้งใหญ่ มันทำให้คู่สมรสมีเซ็กส์ที่ดีขึ้น ทำให้เด็กวัยรุ่นไม่ต้องตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ ทำให้พวกเกย์เลสเบี้ยนเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ฯลฯ แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็เปรียบเหมือนกับดาบสองคม ที่บั่นทอนจริยธรรม ศีลธรรม และความสงบสุขของสังคมโดยรวม

หนังเรื่อง Kinsey นำเสนอปัญหาเรื่องจริยธรรมและศีลธรรม ผ่านตัวละครที่เป็นตัวดร.คินซีย์ รวมไปถึงภรรยาของเขา และบรรดานักวิจัยทุกคนในทีม ว่าทุกคนล้วนนำพาชีวิตของตนเอง ดิ่งลงเหว และความดำฤษณาลงไปอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ดร.คินซีย์ยอมรับการเป็น bisexual ของตนเอง และไปมีสัมพันธ์ทางเพศกับนักวิจัยผู้ชายคนหนึ่ง ในขณะที่นักวิจัยผู้ชายคนนั้นก็มาเป็นชู้กับเมียของดร.คินซีย์ เพื่อจะได้มีประสบการณ์ทางเพศที่แปลกใหม่ แล้วไปๆ มาๆ ทีมงาน 4-5 คนนั้น ก็นำครอบครัวมาร่วม swinging กันมั่วไปหมด

โดยที่ทุกคนในทีมคิดว่านี่คือการทำตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติที่สุด พวกเขาพยายามจะทำความเข้าใจกับความต้องการทางเพศของมนุษยชาติ และของตนเอง เพื่อที่จะยอมรับมัน ไม่ขัดขืนหรือฝืนใจเลย และใช้ชีวิตไปให้สอดคล้องกับมัน แต่ทุกคนกลับพบว่าการใช้ชีวิตแบบนี้ ไม่ได้นำไปสู่ความสุขอย่างแท้จริงเลย และมันยิ่งนำไปสู่ความเดือดเนื้อร้อนใจ และสภาพจิตใจที่ตกต่ำลงไปเรื่อยๆ

การมองโลกแบบดร.คินซีย์ และทีมงาน เป็นการมองโลกแบบวัตถุนิยม และแบบวิทยาศาสตร์อย่างสุดโต่ง จนละทิ้งคุณค่าอื่นๆ ที่เป็นนามธรรมไปเสียหมด เพราะพวกเขามองว่าคุณค่าเหล่านี้จับต้องไม่ได้ ไม่ได้เป็นวัตถุ จึงวัดไม่ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เมื่อจับต้องไม่ได้ ชั่งตวงวัดไม่ได้ จึงถือว่ามันไม่มีอยู่จริง

พวกเขาใช้วิธีการในการศึกษามนุษย์ วิธีเดียวกับที่เขาใช้ศึกษาแมลง เขาสุ่มตัวอย่างมนุษย์ขึ้นมาจำนวนหนึ่ง ให้มีจำนวนมากพอและมีการกระจายตัวตามหลักวิชาสถิติ เพื่อที่จะเป็นตัวแทนมนุษย์ทุกคน สร้างแบบสอบถามมาเป็นมาตรวัด ใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบเป็นกลาง คิดว่าจะปลอดจากอคติทั้งปวงได้ แล้วเก็บข้อมูลมาเป็นรหัสตัวเลข แปลผลออกมาด้วยวิชาสถิติ ได้ออกมาเป็นงานวิจัย โดยคิดว่านี่คือความจริงแท้ของโลกแล้ว

คำถามสำคัญที่หนังเรื่อง Kinsey ต้องการถามคนดู คืองานวิจัยนี้คือความจริงแท้ของโลกหรือเปล่า ถ้าโลกนี้เป็นวัตถุนิยมจริง ก็แปลว่ามนุษย์กับแมลงล้วนเป็นสัตว์โลกเหมือนกัน ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่วัดคุณค่าของวัตถุอย่างละเอียด จะต้องสะท้อนให้เห็นความจริง และนำไปสู่ความรู้ที่มีคุณค่า นำไปใช้เป็นแนวทางชีวิตที่ดีงามได้

แต่มันกลับไม่เป็นเช่นนั้นเลย

ตอนจบของหนังเรื่อง Kinsey ทีมนักวิจัยคนหนึ่งเอ่ยปากถามดร.คินซีย์ ว่าความรักมีจริงไหม ในที่สุดเขาตอบว่ายอมรับว่าความรักมีอยู่จริง เขารักภรรยาของเขา และเขาพบว่าตนเองทุกข์ระทม เมื่อไปมีความสัมพันธ์ทางเพศนอกสมรส ในตอนจบของเรื่อง แสดงภาพให้เห็นความล้มเหลวของว่าทีมงานนักวิจัยทุกคน ทั้งในเรื่องงาน เรื่องชีวิต และเรื่องครอบครัว ในที่สุด พวกเขาแยกย้ายกันไปดำเนินชีวิตตามปกติ

ดร.คินซีย์ในวัยชรา เดินจูงภรรยาเข้าไปในป่าไม้ที่เขียวขจีและเงียบสงบ ชวนกันชี้นกชมไม้ ภรรยาชี้ให้เห็นต้นไม้ที่มีอายุยืนยาวมาหลายร้อยปี ดร.คินซีย์ตระหนักถึงเรื่องคุณค่า ความดี ความงาม และความมีอยู่ของสิ่งที่เป็นนามธรรม โลกนี้ไม่ได้มีแต่วัตถุ และความสุขระดับวัตถุ หรือความสุขแบบเนื้อหนัง วิทยาศาสตร์และวัตถุนิยมแบบสุดโต่ง ไม่ได้นำพาชีวิตเราไปในทางที่ดี

...

7 comments:

Anonymous said...

ฉากจบซึ้งมากๆ

Anonymous said...

คม ชัด ลึก อีกแล้วครับท่าน

Anonymous said...

โชคดีที่ได้ดูเรื่องนี้ในโรงหนัง
เจ้าของบล็อคนี้ค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟนะนี่
วิธีคิดเหมือนทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อย่างไรไม่รู้
แถมยังเป็นผู้กำนดด้วยว่าอะไรดีหรือไม่ดี

( นึกว่าคุณระเบียบรัตน์ มาเขียนเสียอีก อิอิ )

แต่พี่ว่าหนังไม่ได้เสนอภาพขาว-ดำแบบนั้น
หนังนำเสนอภาพทั้งช่วงชีวิต
ตั้งแต่วัยเด็ก จนไปถึงยุคปลายของชีวิต
มันจึงมีทั้งช่วงรุ่งโรจน์ และตกต่ำของชีวิตอยู่ด้วย

อีกอย่างที่อยากจะถกเถียงด้วย
พี่ว่ามันเป็นวิธีมองที่ซ้ำๆ เกินไปน่ะ
ที่จะบอกว่าวิทยาศาสตร์ และการเก็บข้อมูลทางสถิติ
เป็นผู้ร้าย ต้องคิดถึงอะไรที่เป็นนามธรรมด้วย
เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ หรือ สถิติ
ในยุคสมัยของ Kinsey มันอาจจะเป็นอะไรที่ทันสมัย เป็นเครื่องมือที่สุดเดิร์น และช่วย debate กับความคิดกระแสหลักขณะนั้นก็ได้นะ ก่อนที่นักวิชาการหลังๆ จะมาบอกว่ามันไม่ให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์

พี่คิดว่า Kinsey ทุ่มทั้งวิธีคิดและวิธีปฏิบัติ
เพื่อยืนยันในสิ่งที่เขาเชื่อต่างหาก
( รู้สึกเหมือน Kinsey เป็น ดอนกีโฮเต้
อย่างไรไม่รู้ )

Anonymous said...

ช่วยแก้ กำหนด ให้ด้วยนะ

Anonymous said...

จากสวยนอกซอย

เยี่ยม ๆๆๆๆๆๆๆ

Anonymous said...

ผมก็ชอบหนังเรื่องนี้มากเลยครับ
นักแสดงเล่นเก่ง บทก็ไม่เลว

เรื่อง Sex มันเป็นเรื่องปวดหัวจริงน้อ
แต่ถ้าไม่มีเลยก็ปวดหัวกว่าครับ แหะๆ

Anonymous said...

เอ่อ เกิดความผิดพลาด พิมพ์ชื่อยังไม่ทันจบก็ไป enter มันซะแล้ว กลายเป็น biเซ็กช่วลซะงั้น
ไม่ใช่ครับ ผมคือ bick ต่างหาก T_T