Tuesday, November 07, 2006

วาทกรรมโลกร้อน

...

วันนี้นั่งแปลข่าวต่างประเทศทั้งวัน เจอข่าวหนึ่งน่าสนใจมาก เลยอยากจะเอามาเล่าให้ฟัง มันเป็นข่าวเกี่ยวกับการประชุมสัมมนาเรื่องปัญหาสภาพแวดล้อมของโลก ที่จัดขึ้นในประเทศอังกฤษ ประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอย่างกว้างขวางที่สุดในงานนี้ คือเรื่องวาทกรรมเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อน ที่กำลังถูกหลายฝ่ายนำมาพูดกันไปพูดกันมา จนดูกลายเป็นเรื่องใหญ่โตและน่าสะพรึงกลัว เกินกว่าความเป็นจริงและตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เรื่องโลกร้อนกลายเป็นประเด็นร้อน ที่ไม่ว่าเราจะไปทางไหน ก็มีแต่เรื่องนี้วิ่งเข้าหู เปิดหนังสือพิมพ์ก็เจอ เปิดทีวีก็เจอ เปิดอินเตอร์เน็ตก็เจอ ล่าสุดเข้าโรงหนัง ยังเจอหนังเรื่อง An Inconvenient Truth เลย ราวกับว่าถ้าตอนนี้ใครไม่พูดเรื่องโลกร้อน ก็จะกลายเป็นคนตกเทรนด์นั่นแหละ และมันยิ่งดูเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นไปอีก เมื่อมีข่าวภัยธรรมชาติร้ายแรงเกิดขึ้นทั่วโลก ติดๆ กันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างเช่นคลื่นยักษ์ซึนามิ เฮอริเคนแคทรินา หรือแม้กระทั่งน้ำท่วมตอนนี้ในบ้านเรา ยิ่งตอกย้ำให้เรารู้สึกว่าโลกกำลังจะแย่แล้วจริงๆ

ประเด็นที่น่าสนใจคือ แล้วในความเป็นจริงล่ะ โลกกำลังเป็นอย่างไรกันแน่? นักวิทยาศาสตร์ในการประชุมในข่าว ออกมาตั้งคำถามกับวาทกรรมเรื่องโลกร้อนในปัจจุบัน ที่เราใช้พูดกัน ว่ามันตรงกับความเป็นจริงแค่ไหน เท่าที่เห็นกันตอนนี้ มีแต่การใช้คำพูดที่ดูรุนแรงเพื่ออธิบายสภาวะการณ์ อย่างเช่น "วิกฤติโลก" "มหันตภัย" "วันสิ้นโลก" "ไม่มีทางแก้ไขเยียวยา" ฯลฯ ซึ่งคำเหล่านี้ตรงกับความจริงหรือเปล่า หรือผู้พูดมีอะไรอยู่เบื้องหลังการพูดนี้ อย่างเช่นพวกองค์กรเอกชนที่เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ก็นำเรื่องนี้มาพูดให้น่ากลัว เพื่อผลักดันการรณรงค์ของตนเอง และเพื่อเรียกร้องเงินช่วยเหลือ พวกนักการเมืองฝ่ายค้าน ก็นำเรื่องนี้มาพูดเพื่อโจมตีนโยบายรัฐบาล พวกสื่อมวลชน ก็นำเรื่องนี้มาเขียนข่าวโดยขยายความน่ากลัวเพิ่มเข้าไป ทำให้มันกลายเป็นข่าวที่เน้นอารมณ์มากเกินไป

น่าสังเกตว่า กระแสการพูดถึงเรื่องโลกร้อน ดูจะร้อนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังจากกรณีที่สหรัฐอเมริกา ปฏิเสธที่จะร่วมลงนามในปฏิญญาเกียวโต ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ปฏิญญานี้จะทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ถูกจำกัดปริมาณก๊าซพิษที่จะปล่อยออกจากโรงงานอุตสาหกรรม ขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ ถึงแม้มันจะดีต่อสภาพแวดล้อมของโลก แต่แน่นอนว่ามันจะไปกระทบต่อภาคการผลิตและอุตสาหกรรมในประเทศเหล่านั้นอย่างแรง หลังจากที่อเมริกาไม่ยอมลงนาม ตั้งแต่นั้นมา นักการเมืองฝ่ายค้าน นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ต่างก็ร่วมกันนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อน ออกมาเผยแพร่ผ่านทางสื่อมวลชนกันอย่างถี่ยิบ เนื้อหาเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนกลายเป็นสินค้าขายดี ที่ผู้คนทั่วโลกต้องการหามาเสพ และยิ่งนับวัน เราต่างก็ยิ่งอยากฟังเรื่องราวที่ร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ

เมื่ออ่านข่าวนี้แล้ว ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปถึงรายการทอล์คโชว์ทางทีวี เมื่อคืนวันอาทิตย์ก่อนโน้น เขาหยิบประเด็นโลกร้อนมาพูดถึงเหมือนกัน แล้วไปสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์ของไทยหลายคน ต่างคนต่างก็ออกมาโหมประโคมเรื่องโลกร้อนกันขนานใหญ่ ราวกับว่าพวกเขาแข่งขันกันพูดเรื่องนี้ ใครพูดได้น่ากลัวที่สุดจะชนะเลิศ ในรายการนี้มีการตัดสลับภาพจากหนังเรื่อง An Inconvenient Truth มาประกอบบทสัมภาษณ์ด้วย ทำให้ยิ่งดูน่ากลัวมากขึ้นไปอีก มีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ทำนายว่าเนื่องจากสภาวะโลกร้อน จะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นเรื่อยๆ และกรุงเทพฯ จะจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด จะเกิดภัยโน่นภัยนี่ตามมาอีกมากมาย ภายในอีก 12 ปี โลกจะเกิดวิกฤติครั้งใหญ่และหลังจากนั้นโลกก็จะสันติสุข ฟังๆ ดูเหมือนกับเป็นเรื่องที่ดีนะครับ แต่ผมว่านี่มันเป็นแนวคิดแบบพวกลัทธิวันล้างโลกชัดๆ นอกจากพวกนักการเมืองและเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ตอนนี้ยังมีพวกลัทธิวันล้างโลก มาร่วมใช้ประโยชน์จากประเด็นสภาวะโลกร้อนแล้วด้วย

ที่เขียนมาทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าสภาวะโลกร้อนไม่ได้เกิดขึ้นจริงนะครับ มันเกิดขึ้นจริงนั่นแหละ ทุกฝ่ายยอมรับตรงกัน เพียงแต่ระดับความร้ายแรงของมันมีมากแค่ไหนกันแน่ มันอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อมนุษยชาติร้ายแรงกันอย่างที่เราเคยเชื่อกันมา และโลกก็จะค่อยๆ เสื่อมโทรมไปตามสัจธรรมโลกอยู่แล้ว โดยที่พวกนักการเมือง เอ็นจีโอ และสื่อมวลชน ไม่ต้องมาประโคมข่าวพวกนี้ให้น่ากลัวเพื่อผลประโยชน์ตนเองหรอก ผมมองว่าข่าวสภาวะโลกร้อนในตอนนี้ ก็เหมือนกับเรื่องอันตรายจากการสูบบุหรี่นั่นแหละ เมื่อ 10-20 ปีก่อน คนไทยเรายังใช้ชีวิตร่วมกับคนสูบบุหรี่ได้อย่างสบายๆ แต่ในทุกวันนี้ แค่เห็นใครสูบบุหรี่ใกล้ๆ เราก็รู้สึกรังเกียจราวกับเขาไม่ใช่คน บุหรี่นั้นมีอันตรายต่อปอดจริง แต่มันไม่ได้ส่งผลร้ายแรงอย่างที่เราเชื่อกันตอนนี้ ความคิดเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ในหัวคนไทยเราตอนนี้ เพิ่งถูกสร้างขึ้นมาและตอกย้ำซ้ำๆ ติดต่อกันมาไม่กี่ปีนี้เอง ด้วยฝีมือการรณรงค์ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ผมคิดว่าพวกเขาทำงานกันได้ดี ผมไม่อยากสูบบุหรี่และไม่อยากดมกลิ่นบุหรี่ของใคร เพียงแต่ผมตั้งคำถามกับเรื่องความจริง ว่าวาทกรรมเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ที่เราดูในสื่อทุกวันนี้ มันเป็นความจริงแค่ไหน เช่นเดียวกับวาทกรรมเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนนี่แหละ คุณว่ามันเป็นจริงแค่ไหน

...

4 comments:

Anonymous said...

โอย นี่แหละคือความน่ากลัวของสื่อ ไม่ว่าจะหยิบหนังสือเล่มไหนก็พูดแต่เรื่องนี้ แม้แต่ GM สนทนากันเป็นหน้าๆ เลย
ขนาดคิดว่าตัวเองเป็นคนหนักแน่นแล้วนะ อ่านแล้วยังหวั่นไหวเลย และที่หวั่นไหวคงเป็นเพราะพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์คงน้อยล่ะมั้ง ก็เลยเอียงไปทางที่ว่าอาจจะจริง เข้าข่ายคนโง่ย่อมเป็นเหยื่อคนฉลาด เพราะเล่นเอากูรูทั้งหลายมาให้ข้อมูลเพียบ
จิตตกไปหลายวัน ตอนนี้ก็ได้แต่เตือนตัวเองว่า "อย่ากลัวในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง" อืม ก็พอช่วยบรรเทาอาการหวั่นไหวได้บ้าง

Anonymous said...

ปัญหาของวาทกรรม คือมันถูกขยายให้ใหญ่โตเกินกว่าที่มันเป็นจริงๆ

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จะไม่เกิดขึ้น

กันไว้ดีกว่แก้ เพราะบางเรื่องอย่แล้วแก้ไม่ได้

การตระหนักรับรู้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นเป็นเรื่องดีครับ แม้ว่ามันจะน่ารำคาญอยู่บ้างที่มันถูกทำให้ใหญ่โตเกินตัว

รู้เท่าทันเป็นเรื่องดีครับ แต่ต้องตระหนักรู้เป็นเบื้องต้นก่อน

Anonymous said...

ธรรมชาติของคน ถ้าไม่จวนตัว ก็จะไม่สนใจ หรือสะทกสะท้าน
เป็นการดีแล้วที่มีการออกมาพูด ออกมาประโคมข่าว ในลักษณะนี้
จะได้ช่วยทำให้คนเริ่มหันมาสนใจ ให้ความสำคัญ ในการป้องกันไว้ก่อน ก่อนที่จะสายเกินแก้
ถือว่าเป็นตัวกระตุ้นทีดีก็แล้วกัน

Anonymous said...

แต่ดูเหมือนความน่ากลัวของสื่อก็ไม่ได้ทำให้คนสะทกสะท้านเลย
ฉันว่าการที่ทำให้ดูร้ายแรง ก็เพื่อสะกิดให้คนที่ไม่เคยรู้สึกได้รู้สึกว่า เฮ้ย จริงๆ มันเกี่ยวข้องกับเรานะ

วันธรรมดา ฉันอาจจะไม่รู้สึกนักหรอก เพราะเช้ามาก็เข้าห้องแอร์นั่งทำงานแล้ว อากาศข้างนอกร้อนอีกปีละองศาก็ไม่เห็นเป็นไร
แต่วันหยุดที่นั่งทำงานอยู่บ้าน - บ้านฉันไม่มีแอร์หรอก ฉันรู้สึกว่ามันอึดอัดขึ้นทุกที จนจะทนไม่ไหว
นึกภาพไม่ออกเลยว่า สมัยเด็กๆ เคยนั่งรถที่ไม่มีแอร์ ทำไมไม่เห็นรู้สึกร้อนขนาดนี้

ฉันเคยคิดว่า เออ มันจะเป็นไรเท่าไหร่กันเชียว
หนังเรื่องที่ว่าก็ทำให้ฉันวิตกจริตเหมือนกัน - แต่ก็เป็นอยู่ไม่กี่วันเท่านั้นแหละ ฉันก็ลืมๆ มันไป

วันไหนที่มีธุระต้องออกไปเจอแสงแดด รู้สึกร้อนจนแสบหน้า หรือว่าโลกมันร้อนขึ้นจริงๆ

ต้นไม้ในสวนของฉัน ซึ่งปกติก็ออกจะทนทุกสภาพอากาศ เป็นต้นไม้ประเภทที่อยู่กับแดดทั้งวันได้(ถ้าฉันเลี้ยงแล้วรอด แสดงว่ามันทนจริง)ช่วงปีนี้กลับมีหลายต้นที่ใบไหม้เพราะร้อนเกินไป
คนอาจไม่รู้สึก แต่ต้นไม้รู้สึกน่ะ

ฉันว่า มันอยู่ที่ว่า เราคิดยังไง

เรื่องสูบบุหรี่ก็เหมือนกัน
มันก็ไม่เป็นไรหรอก อยากตายก็ตายไป แต่มันรบกวนคนอื่นที่ไม่สูบไง - คิดถึงคนรอบข้างที่ยังต้องหายใจในอากาศเดียวกันบ้าง

เหมือนอย่างที่ใครบางคนเคยเล่าถึงเพื่อนบ้านที่ติดกันแดดล้ำออกมานอกถนนซอยหน้าบ้าน และกั้นครัวล้ำเข้ามาในถนน ซึ่งไม่มีใครว่าเพราะเป็นซอยตันที่ไม่มีใครผ่าน และยังเป็นถนนส่วนบุคคลด้วย และบุคคลในที่นั้นนิ่งเฉยมานาน - เมื่อเขาซึ่งย้ายไปใหม่พูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา - เจ้าของบ้านหลังนั้นบอก เขาอยู่อย่างนี้มานาน 30 ปีไม่เห็นมีใครเคยว่าอะไร
-เขาถามเจ้าของบ้านว่า -
"คุณจะเห็นแก่ตัวต่อไปเป็นปีที่ 31 หรือยังไง"

นอกจากเรื่องโลกร้อน มันสะท้อนให้เห็นถึงการใช้พลังงานแบบไม่บันยะบันยัง - พลังงานจากปิโตรเลียมซึ่งขุดมาจากซากพืชซากสัตว์อายุนับพันล้านปี - แน่นอนว่าสักวันมันจะต้องหมดไป

มีคนเคยคำนวณไว้ว่า ถ้าใช้กันแบบนี้ อีกสิบปีจะหมดยุคของปิโตรเลียมแล้ว เพราะมันหมดโลกหรือเหลือน้อยจนราคาแพงสุดๆๆๆ (ซึ่งคงจะเหลืออยู่ในอเมริกานั่นแหละ)ตอนนั้นจะเป็นยังไง

เราลืมยุคที่รณรงค์ให้ประหยัดพลังงานกันไปแล้วล่ะ

ฉันว่าการโฆษณาชวนเชื่อในเรื่องใดๆ ก็ตาม
ถ้ามันแฝงความจริงหรือประโยชน์ต่อส่วนรวมอยู่บ้าง
ก็ไม่น่าเสียหายอะไร
แบบเดียวกับโฆษณาทั่วไป ที่ดึงเอาแต่ข้อดีข้อเล็กๆ ของผลิตภัณฑ์มาพูดถึง

สื่อมันไม่ได้น่ากลัวเท่า มนุษย์ไม่ยอมรับว่าตัวเองทำอะไรไปบ้าง และพร้อมจะเปลี่ยนพฤติกรรมกันมั้ย เท่านั้นล่ะ