...
หลังจากที่เมื่อวานเขียนถึงเพลงภาษาอังกฤษ ที่เคยเรียนตอนเด็กๆ ตั้งแต่สมัยอยู่ชั้น ป.1 วันนี้ก็เลยนึกมาได้อีกเพลงนึงแล้วครับ ชื่อเพลงว่า "Skip to My Lou"
Fly's in the buttermilk, Shoo, fly, shoo,
Fly's in the buttermilk, Shoo, fly, shoo,
Fly's in the buttermilk, Shoo, fly, shoo,
Skip to my Lou, my darlin'.
Skip, skip, skip to my Lou,
Skip, skip, skip to my Lou,
Skip, skip, skip to my Lou,
Skip to my Lou, my darlin'.
เนื้อเพลงและไฟล์ midi เพลงนี้ ผมก็อปปี้มาจากเว็บ
http://www.niehs.nih.gov/kids/lyrics/skipto.htm นะครับ เสียดายว่าหาโหลดเพลงนี้แบบมีเสียงร้องไม่ได้
เพลงนี้มีท่าเต้นด้วย คือพอร้องว่า Fly's in the buttermilk ก็ทำท่ากระพือปีกเหมือนแมลงวัน พอถึงท่อน Shoo, fly, shoo ก็ทำท่าปัดมือตรงหน้าเหมือนกับไล่แมลงวัน เป็นต้น ส่วนอีกท่อนหนึ่ง ที่ร้องว่า Skip, skip, skip to my Lou นั้น เต้นแบบที่คนหนึ่งเอามือเท้าสะเอวให้แขนเป็นวงกลม แล้วคู่เต้นก็เคลื่อนที่สลับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ (พอนึกภาพออกไหมครับ? เขียนอธิบายยากเหมือนกันแฮะ ต้องทำท่าให้ดูน่ะครับ ถ้าเห็นแล้วรับรองจะต้องร้องอ๋อทันที) ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ ผมยังไม่รู้ความหมายของคำว่า Lou เลย มันอาจจะแปลว่า "แถว" หรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เพราะเท่าที่ค้นประวัติความเป็นมาของเพลงนี้ จากเว็บวิกิพีเดีย
http://en.wikipedia.org/wiki/Skip_to_My_Lou พบว่ามันเป็นเพลงเก่าแก่ของอเมริกา ตั้งแต่สมัยที่มีสงครามกลางเมืองโน่นเลย เป็นเพลงที่ร้องในงานเต้นรำแบบแลกเปลี่ยนคู่ชายหญิง แต่เวลาเราเรียนกันนี่มีแต่ผู้ชายนะครับ เพราะเป็นโรงเรียนชายล้วน สมัยนั้น พวกเด็กๆ อย่างเราก็ร้องแบบไม่รู้ความหมายของมันเท่าไร แต่พวกเราชอบร้องแบบแปลงเนื้อใหม่ คือร้องว่า
ซิ้บ...ซิ่บ...ซิบก็ไม่รูด
ซิ้บ...ซิ่บ...ซิบก็ไม่รูด
ซิ้บ...ซิ่บ...ซิบก็ไม่รูด
ซิบก็ไม่รูด...มายดาร์ลิ่ง
นึกถึงความหลังสมัยตอนเด็กๆ แล้วรู้สึกประทับใจครับ เด็กรุ่นผมเป็นรุ่นที่พวกนักประชากรศาสตร์ของไทยเรียกว่า "ประชากรรุ่นเกิดล้าน" คือเด็กรุ่นที่เกิดในช่วงปีพ.ศ.2506-2526 เป็นช่วงที่มีเด็กไทยเกิดใหม่ปีละ 1 เกินล้านคน ถือเป็นช่วงที่มีประชากรของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด การมีเพื่อนร่วมรุ่นเยอะขึ้น นี่ไม่ได้แปลว่าเราจะได้มีเพื่อนเล่นและสนุกเฮฮากันได้เยอะขึ้นนะครับ แต่มันหมายถึงการแก่งแย่งแข่งขันเพื่อแย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมากขึ้นต่างหาก เชื่อไหมว่าผมต้องเรียนพิเศษกวดวิชาตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาลเลยนะ เพื่อที่จะสอบเข้าโรงเรียนประถมแห่งนี้ให้ได้ การแก่งแย่งแข่งขันระหว่างคนรุ่นผมนั้นดำเนินมาเรื่อยๆ และถึงจุดพีคที่สุดคือการสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย สมัยนั้นพวกเราต้องสอบให้ได้เท่านั้นนะ เพราะมันคือจุดหมายปลายทางของทั้งชีวิต และยังไม่มีใครออกมาพูดปลอบใจในทำนองที่ว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน อย่างที่เขาว่ากันในทุกวันนี้ คนรุ่นผมจึงถือเป็นเด็กรุ่นที่เคร่งเครียดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ความเครียดนี้สะท้อนออกมาให้เห็นได้จากการที่คนรุ่นผมแต่งงานช้าลง และถึงแม้จะแต่งงาน แต่เราก็มีลูกจำนวนน้อยลง หรือบางคนไม่อยากมีลูกเลยด้วยซ้ำ
เมื่อหลายปีก่อนหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยมา ผมไปทำงานเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เล่มหนึ่ง มีเย็นวันหนึ่งไปเดินเล่นที่ร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์ เจอเพื่อนสมัยเรียนคนหนึ่งเดินเข้ามาทัก ผมจำเขาได้แค่ลางๆ เพราะเราเรียนกันคนละห้อง จึงจำได้แค่หน้าตาแต่ไม่รู้จักกัน เขาถามว่าเดี๋ยวนี้ทำงานที่ไหน ได้เงินเดือนเท่าไร และเขาก็ถามว่า "เอ๊ะ! มึงเรียนจบคณะอะไรนะ" ผมก็ตอบๆ เขาไป ว่าผมสอบเทียบได้ แล้วเอนทรานซ์เข้าคณะโน่นนี่นั่น เล่าไปตามเรื่องตามราว แล้วเขาก็บอกว่าเขาไปเรียนเมืองนอกเพิ่งกลับมา เรียนแพทย์ทางด้านสายตา และตอนนี้เขามาดูแลร้านตัดแว่นซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว เขาถามผมว่า จำเพื่อนคนนั้นคนนี้ได้ไหม ไอ้นั่นมันเอนท์ติดคณะนั้น ไอ้นี่มันเอนท์ติดคณะนี้ ผมก็เออๆ จำได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะเวลามันผ่านมานานมากแล้ว และผมเรียนจบจนออกมาทำงานทำการหลายปีแล้ว เลิกใส่ใจเรื่องการสอบเอนทรานซ์มาตั้งนานแล้ว จึงรู้สึกงงๆ ว่าทำไมเขายังพูดเรื่องราวเก่าๆ วนเวียนอยู่อีก แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจ และไม่ได้คิดอะไรมากนัก ก่อนที่เราจะแยกย้ายกันในวันนั้น เราก็แลกเบอร์โทรศัพท์กันตามปกติ เผื่อว่าจะได้ติดต่อกันอีกในวันหลัง
หลังจากนั้นหลายเดือน เสียงโทรศัพท์บ้านผมดังตอนหกโมงเช้า เพื่อนคนนี้โทรมาผมแต่เช้าตรู่ ผมจำเสียงเขาได้ และงงว่าโทรมาทำไมวะ แล้วเขาก็เริ่มชวนคุย เออ! มึงจำเพื่อนคนนั้นได้ไหม จำเพื่อนคนนี้ได้ไหม ไอ้นี่เอนท์ติด ไอ้นั่นเอนท์ไม่ติด มึงเก่งนะที่สอบเทียบได้และเอนท์ติด มึงเลยไม่ได้เรียน ม.6 ใช่มั้ย กูเรียนม.6 แต่กูไม่สบาย เลยต้องดร็อปไปปีนึง หลังจากนั้นพ่อกูเลยส่งไปเรียนเมืองนอก ผมงงมากว่ามันจะมาคุยเรื่องความหลังตอนหกโมงเช้าทำไม? แล้วเขาก็เล่าต่อ กูจบหมอทางด้านตา ถ้ามึงมีปัญหาสายตา ก็มาหากูได้ บ้านมึงอยู่แถวไหนนะ พอคุยกันไปคุยกันมาสักพัก ผมก็เริ่มคิดแล้วว่าท่าทางเขาเพี้ยนแหงๆ ตอนนั้นคนรุ่นผมต้องอายุ 20 กว่ากันแล้ว เรียนจบมีงานมีการทำ แต่ดูเหมือนว่าในสมองของเขา ยังคงวนเวียนติดอยู่กับช่วงวัยมัธยมปลายอยู่เลย ความเครียดของประชากรรุ่นเกิดล้าน นี่มันน่าขมขื่นและน่ากลัวจริงๆ นั่นเป็นการคุยโทรศัพท์กันครั้งสุดท้าย หลังจากเช้าวันนั้น เขาก็ไม่ได้โทรมาอีกเลย ผมลืมเบอร์โทรและชื่อของเขาไปแล้ว
แต่ผมยังจำเพลงภาษาอังกฤษที่เคยเรียนตอนป.1 ได้แม่นยำ
The Happy Wanderer และ Skip to My Lou เดี๋ยวกะว่าจะเอาเรื่องนี้ไปเขียนอย่างละเอียด ในคอลัมน์สุนทรียะแห่งความเหงา สำหรับ GM ไว้รออ่านกันนะครับ
...