...
ร่วมฉลองให้พี่ต้น อนุสรณ์ ติปยานนท์ ในโอกาสที่พอคเกตบุคส์รวมเรื่องสั้นของเขา เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ประจำปีนี้
นี่คือต้นฉบับสัมภาษณ์พี่ต้น อนุสรณ์ ไฟล์นี้เป็นต้นฉบับแรกสุด ที่ผมกับ พ่ง ภาวนา แก้วแสงธรรม ทำไว้ตั้งแต่ต้นปีพ.ศ.2549 ตอนนั้นเขาเพิ่งออกหนังสือ H2O ปรากฏการณ์แตกตัวของน้ำบนแผ่นกระดาษ (อะไรสักอย่างนี่แหละ ชื่อยาว จำไม่ค่อยได้)
หลังจากทำเสร็จก็ส่งไปให้บ.ก.อ่าน บ.ก.คอมเมนต์มาว่ามันยากและซับซ้อนเกินไป พูดคุยกันแต่เรื่องยากๆ เรื่องวรรณกรรม เรื่องวัฒนธรรมร่วมสมัย คนอ่านคงไม่เข้าใจและไม่ชอบอ่าน เขาอยากให้มีเนื้อหาสัมภาษณ์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของพี่ต้นมากขึ้น ให้ไปสัมภาษณ์เพิ่มเติมอีกรอบ
แต่บังเอิญตอนนั้น ผมกำลังวุ่นๆ กับเรื่องการทำวิทยานิพนธ์ และก็ยังมีเรื่องย้ายบ้านใหม่ เรื่องคอมพิวเตอร์เสีย เรื่องนี่นั่นโน่น รุมเข้ามาในเวลาเดียวกัน เลยยกงานสัมภาษณ์ชิ้นนี้ไปให้น้องพ่งเอาไปทำต่อ ดังนั้น บทสัมภาษณ์พี่ต้น อนุสรณ์ ฉบับที่นำไปลงตีพิมพ์จริงๆ จะเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ค่อนข้างมาก
ตอนแรกผมคิดว่าไฟล์ต้นฉบับแรกสุดชิ้นนี้สาปสูญไปเสียแล้ว เพราะตอนนั้นย้ายบ้านด้วย แถมคอมพ์เสียด้วย จึงนึกเสียดายต้นฉบับชิ้นนี้มาตลอด ยิ่งพอมารู้ว่าพี่ต้นได้เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ นึกถึงก็ยิ่งเสียดาย แต่วันนี้พยายามขุดไฟล์เก่าสุดออกมาจากแผ่นดีวีดีที่ทับถมอยู่ในกองหนังสือข้างๆ ตัว แล้วก็พบว่ามันแอบซ่อนอยู่นี่เอง
ลองอ่านดูครับ ว่าบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้มันยากเกินไปหรือเปล่า
พี่ต้นเขาพูดถึง มูราคามิ คุนเดอร่า iPod หว่องกาไว แฮรี่ พอตเตอร์ Nobody Knows เดเมี่ยน ไรซ์ Be With You ฟิวชั่นฟูดส์ เด็กแว๊น เด็กสก๊อย ฯลฯ ปรัชญาทุกสำนัก วัฒนธรรมร่วมสมัย ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ล้อมรอบตัวพวกเรา พี่ต้นวิเคราะห์ วิจารณ์ทุกอย่างโดยละเอียด ตอนที่ไปนั่งสัมภาษณ์เขา ฟังเขาพูดแล้วผมคิดตามแทบไม่ทัน ถือเป็นการไปทำงานสัมภาษณ์ที่ท้าทาย และยากที่สุดครั้งหนึ่ง
...
ถาม: ในหนังสือของคุณหลายเล่ม เขียนเกี่ยวกับช่วงชีวิตของคุณที่ไปอยู่ต่างประเทศ อยากให้คุณช่วยเล่าถึงประสบการณ์จริงๆ ในตอนนั้นสักหน่อย
อนุสรณ์: ผมไปอยู่ต่างประเทศ 2 ช่วง ช่วงแรกไปเรียนอยู่อิตาลี ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน แล้วก็กลับมาเมืองไทยด้วยความสนุกสนาน จำได้แม่นเลย ว่าคนอิตาเลียนมัน Womanizer จริงๆ คือเจ้าชู้จริงๆ เวลาไปเที่ยวผับกับมัน ตอนแรกผมก็รีๆ รอๆ แบบคนไทย เลยไม่ได้คุยกับสาวไหนเลย อิตาเลียนคนอื่นมันโฉบตัดหน้าไปหมด มันบอกว่า ในประเทศนี้ไม่มีการรีๆ รอๆ ในวินาทีที่ผู้หญิงปรายตามาให้ คุณต้องกระโจนเข้าใส่ การไปใช้ชีวิตอยู่อิตาลี ทำให้ผมเลิกกลัวผู้หญิง มันสอนให้รู้ว่าเรื่องหน้าแตกนั่นไร้สาระ โยนทิ้งไปเลย สนุกกับมันให้เต็มที่ จนช่วงที่ไปอยู่อังกฤษ จึงจะได้เจอกับภาวะจริงของชีวิต ผมรู้สึกว่าความเหงาและโดดเดี่ยวของชีวิต ได้ถูกเรียนรู้ที่นั่น วัฒนธรรมอังกฤษ เป็นวัฒนธรรมที่อยู่ตรงกลาง ระหว่างละตินกับสแกนดิเนเวีย ลอนดอนเป็นเมืองผ่าน เป็นศูนย์กลางที่อยู่ระหว่างโลกซีกเหนือกับโลกซีกใต้ มันจึงแหล่งรวมวัฒนธรรมจำนวนมาก หลากหลายไว้ด้วยกัน ดนตรีดังจากลอนดอนก่อน แล้วจึงข้ามไปที่อเมริกา ลอนดอนจึงถือเป็นแหล่งบ่มเพาะอะไรบางอย่าง สำหรับโลกด้วย และสำหรับผมด้วย
ถาม: ลักษณะคนในแต่ละเมือง ขึ้นอยู่กับเมืองใช่ไหม เช่นเมืองที่อยู่ทางใต้ๆ อย่างอิตาลี ทำให้คนเป็นแบบ Womanize ในขณะที่ชาวลอนดอนก็เป็นอีกแบบ
อนุสรณ์: อาจจะไม่เกี่ยวกับเหนือหรือใต้ ผมว่าอิตาลีเป็นชาติที่ Appreciate กับความงามอย่างที่สุด และสำหรับมันแล้ว ไม่มีอะไรงามเท่ากับผู้หญิง ทุกอย่างสำหรับมันต้องงาม แม้แต่เส้นสปาเก็ตตี้มันยังออกแบบเลย สงสัยว่าสิ่งเดียวที่มันออกแบบไม่ได้คือผู้หญิง มันเลยเป็นแบบนี้ แต่นี่ผมตอบแบบเล่นๆ นะ อย่ายึดถือจริงจังไป (หัวเราะ)
ถาม: เมืองมันเป็นแบบนี้ เลยสร้างคนในเมืองขึ้นมาตามมัน หรือว่าเป็นเพราะว่าคนมันเป็นแบบนี้ เลยสร้างเมืองขึ้นมาตามมัน
อนุสรณ์: ทั้ง 2 อย่างนั่นแหละ รูปแบบของทุกสิ่ง มีสิทธิจะเป็นไปได้หลากหลายรูปแบบ แต่มันจะถูกทดสอบโดยสภาพแวดล้อมไปเรื่อยๆ ทำให้รูปแบบของมันบริสุทธิ์ขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นช้าง ถ้าเท้ามันใหญ่กว่านี้นิดเดียว มันก็จะเดินไม่ได้ แต่ถ้าเท้ามันเล็กกว่านี้นิดเดียว มันก็จะเดินไม่ได้เช่นกัน รูปแบบของช้างตอนนี้จึงบริสุทธิ์ที่สุดแล้ว
ถาม: ก็แปลว่าที่เราเป็นแบบทุกวันนี้ เพราะกระบวนการลองผิดลองถูกตามธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งที่มีอำนาจเหนือเรา สร้างเราขึ้นมาสำเร็จแบบปุบปับ
อนุสรณ์: นั่นผมพูดถึงความคิดของคนอิตาลีไง ซึ่งเขาคงมีปัญหากับดาร์วิน (ชาร์ลส ดาร์วิน) ไปตลอดชั่วกาลปาวสาน
ถาม: ตอนที่อยู่อังกฤษ คุณได้ไปทำงานในร้านอาหารญี่ปุ่น แบบที่เขียนถึงในหนังสือ ลอนดอนกับความลับในรอยจูบ จริงๆ หรือเปล่า
อนุสรณ์: ใช่ครับ โชคดีตรงที่เราได้เริ่มตั้งแต่เบสิค เขาฝึกให้หุงข้าว ฝึกให้ทอดไข่ ทำให้เราได้รู้ว่าทุกอย่าง ล้วนเป็นเรื่องความละเอียดรอบคอบ อย่างเช่นมีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมกำลังจะไปหยิบข้าวมาหุงทำซูชิ เขาบอกให้ผมไปดูวันเดือนปีผลิต ข้าวฤดูหนาวต้องหุงตอนฤดูร้อน ข้าวฤดูร้อนต้องหุงตอนฤดูหนาว ผมก็เลยต้องไปหยิบข้าวจากอีกกระสอบหนึ่งมา เพียงแค่การหุงข้าว ยังต้องซับซ้อนขนาดนี้ คุณอาจจะคิดว่า โอ้โห! ประเทศญี่ปุ่นนี่มันวิ่งไปข้างหน้าตลอด แต่ถ้าคุณได้ไปดูวัฒนธรรมของจริงของเขา คุณจะเห็นว่าประเทศญี่ปุ่นมีรากที่แน่นหนา ด้วยการผสมผสานกับบางสิ่งจากภายนอก อาหารญี่ปุ่นที่เรากินกันจริงๆ เป็นมาจากโปรตุเกสนะ ไม่ว่าจะเป็นเทมปุระ ซาซิมิ ซูชิ นี่เป็นการรวมเอาการปรุงอาหารของคนโปรตุเกสเข้าไป แม้แต่คำว่าเทมปุระก็มาจากภาษาโปรตุเกส แต่ในขณะเดียวกันนั้น ญี่ปุ่นได้เอาวิธีคิดที่เกี่ยวกับการปลูกธัญพืช วิธีบ่มหมัก วิธีการจัดแต่ง มารวมเข้าไป เมื่อนำมาเทียบกับครัวไทย เราทำแต่ในคำว่า "อนุรักษ์" แต่เราไม่ได้มีการต่อยอด การอนุรักษ์ของเราก็คือกาเก็บแต่รูปแบบเอาไว้ อย่างแกงเขียวหวานก็แค่เอากะทิไปผัดกับน้ำพริกแกง ซึ่งผมว่าเราต้องทำมากกว่านั้น
ถาม: ทำไมคนเราต้องเคร่งเครียดกับการหาองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารขนาดนี้
อนุสรณ์: ก็เหมือนกับว่าให้คุณแต่งตัวธรรมดา คุณอยู่ได้ไหม คุณอยู่ได้ใช่ไหม แต่มันมีคนอีกกลุ่ม ที่ดีไซน์เสื้อผ้าแล้วใส่ขึ้นไปเดินบนแคทวอล์ค นั่นคืออะไรล่ะ เสื้อผ้ามันแตกต่างกันอย่างไร ระหว่างคริสเตียน ลาครัวซ์ กับโบ๊เบ๊ ผมว่ามันมีพุทธิปัญญาบางอย่างอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเข้าไปจับ ผมว่าคริสเตียน ลาครัวซ์ มันกำลังแสวงหาพุทธิปัญญาของเครื่องหุ้มห่อร่างกาย ในขณะที่โบ๊เบ๊มันเป็นแค่เสื้อผ้า เช่นเดียวกับอาหารที่คุณกิน บางอย่างมันก็แค่เพื่ออิ่มท้อง แต่บางอย่างมันไปถึงขั้นสูงสุดของรสชาติของมัน คุณจะสังเกตว่าอาหารญี่ปุ่นไม่ใส่ผงชูรส ไม่ใส่เครื่องปรุง หรือปรุงน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความหวานต้องมาจากข้าว ความเผ็ดก็มาจากพริก ผมรู้สึกว่าคนญี่ปุ่นกำลังพยายามผลักดันสิ่งที่อยู่ภายใน ให้ออกมาให้มากที่สุด นี่เป็นปรัชญาที่น่าสนใจของชาวญี่ปุ่นนะ คือการผลักดันศักยภาพของทุกสิ่งให้ออกมาให้มากที่สุด
ถาม: ทำไมเราต้องใส่เสื้อผ้าที่เกินเลยหน้าที่ของเสื้อผ้า ต้องกินอาหารที่เกินเลยหน้าที่ของอาหาร
อนุสรณ์: ก็คือปรัชญาศิลปะนั่นแหละ มันก็มี 3 ระดับ ระดับแรกคือ Engineer คือคุณทำให้สิ่งของต่างๆ ฟังก์ชั่นได้ ระดับที่สอง คือ Architect คือทำให้สิ่งของต่างๆ มีความงามด้วย มีฟังก์ชั่นด้วย และระดับสุดท้ายคือ Artist คือนอกจากจะมีความงาม มีฟังก์ชั่นแล้ว มันยังต้องทำให้คุณบรรลุถึงปัญญาที่อยู่ในสิ่งของนั้น โอเค กระดาษที่เราใช้กันอยู่ มันเริ่มต้นที่ Engineer คือผลิตออกจากโรงงาน แล้วเราก็จะมีกระดาษที่มีการเย็บเล่มอย่างดี นั่นคือ Architect และสุดท้ายเราก็จะมีกระดาษอีกแบบ อย่างที่คนญี่ปุ่นใช้เมือกของต้นสา หรือคนเชียงใหม่เขาค่อยๆ รีดออกมา นั่นคือ Artist นะ คนเราไม่จำเป็นต้องลงทุนขนาดนั้นเพื่อจะให้ได้กระดาษแผ่นหนึ่ง จริงไหม แต่ความสุขในวินาทีที่คุณได้จับเนื้อกระดาษน่ะ ผมเชื่อว่ามันมีพลังที่คุณอธิบายไม่ได้ ซึ่งโลกสมัยใหม่เรากำลังขาดสิ่งเหล่านี้ ถ้าคุณมองด้วยสายตาของ Artist และคุณมีความสามารถในการเสพงานศิลปะของเขา คุณจะลดทอนมุมมองแบบนี้ลงไป วินาทีที่คุณได้ไปเห็นเชฟของผมปรุงอาหาร ตอนที่เขาพยายามปอกมะม่วงเป็นร้อยๆ ลูก เพื่อคัดเอาแกนมะม่วงเพียงอันเดียว สิ่งเหล่านี้คุณยังไม่เคยเห็น แต่ผมได้เห็นแล้ว ผมยืนดูแล้วรู้สึกได้ว่าเขามีความปีติมาก
ถาม: คุณเขียนบทความชิ้นหนึ่ง ในหนังสือ Soul Stimulate ว่าทั้งโลกกำลังมีคนอดอยากมากมาย แต่ร้านอาหารที่คุณไปทำงานในประเทศอังกฤษ มีอาหารเหลือทิ้งขว้างมากมายทุกวัน
อนุสรณ์: นั่นก็ใช่ นี่คือข้อเสียที่ทำให้ผมไม่ชอบโลกทุนนิยม ไม่ว่าจะลอนดอน นิวยอร์ค หรือแม้แต่กรุงเทพฯ เพราะเราพร้อมจะทิ้งขว้างสิ่งของจำนวนมาก โดยมันไม่อยู่ในการรับรู้ของเราเลย มันมีคนอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นพวกหยาบคาย หยาบกระด้างเต็มไปหมด คนที่มีเงินในคริสเตียน ลาครัวซ์ แต่เขาสามารถรับรู้ศิลปะได้ไม่ต่างจากเสื้อผ้าโบ๊เบ๊ แม้แต่ผมและคุณก็เป็น เราซื้อโทรศัพท์รุ่นไฮเอนด์เลยนะ แต่ที่สุด เราก็ใช้แค่ยกหูโทรศัพท์
ถาม: ความพอดีมันอยู่ตรงไหนครับ ว่าเราจะทำงานศิลปะได้ด้วย โดยไม่ต้องล้างผลาญโลก เราปรุงอาหารอย่างมีศิลปะ โดยไม่ต้องทิ้งมะม่วงเป็นร้อยลูก
อนุสรณ์: คำว่าล้างผลาญของคุณนี่ลึกซึ้งนะ อย่างผมเองเขียนต้นฉบับหนังสือ ผมทิ้งกระดาษไปเป็นร้อยๆ แผ่น แบบนี้ถือว่าล้างผลาญไหม เพื่อจะให้ได้ต้นฉบับที่ดี เราต้องใช้คำว่าล้างผลาญ ให้ต่างจากคำว่า "ขัดเกลา" ผมว่าการที่เชฟของผมปอกมะม่วง 100 ลูก เขากำลังพยายามขัดเกลา สังคมไทยเราตอนนี้คงอยู่ในขั้นที่ 2 เท่านั้นมั้งครับ คุณคงยังไม่ต้องห่วง การที่สังคมจะก้าวไปถึงขั้นที่ 3 ได้ เราจะต้องมี Artist เป็นผู้ผลิต ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องมีผู้เสพ และผู้เสพนี้ก็ต้องมี Art Appreciation ผมว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มี Art Appreciation ที่จะทำให้สังคมไทยเราก้าวไปถึงขั้นที่ 3 ในสถาบันการศึกษาก็ไม่มีวิชา หรือกระบวนการที่จะทำให้คนไทย สามารถ Appreciation ของดีๆ อีกเยอะแยะ อาการแบบนี้ที่คุณเรียกว่าดัดจริตใช่หรือเปล่า คุณก็มองไปรอบๆ ตัวสิ เก้าอี้เป็นรูปมือ โต๊ะเป็นรูปนก เดี๋ยวนี้ร้านอาหารฝรั่งจำนวนมาก ใส่กะทิเข้าไป แล้วก็บอกว่านี่เป็นฟิวชั่นฟู้ด ใส่วาซาบิลงไป แล้วก็บอกว่าเป็นฟิวชั่นฟู้ด คือมันง่ายมากเลย ที่คุณจะประกาศว่าเป็นอะไร ด้วยการแค่ทำอะไรนิดเดียว ความง่ายตรงนี่ล่ะมั้ง ที่ทำให้คุณเรียกว่าดัดจริต
ถาม: ถ้าจะกินฟิวชั่นฟู้ดที่ดีๆ เราจะไปกินได้ที่ไหน
อนุสรณ์: ผมว่าโคอิเรสเตอรองต์ สุขุมวิท หรือไม่ก็ซึนามิ ที่โรงแรมเจดับบลิวมาริออต
ถาม: มันอร่อยยังไง
อนุสรณ์: การกินอาหารฟิวชั่นฟู้ดมันไม่ได้อยู่ที่ว่าอร่อยถูกปาก บางทีไปกินน้ำพริกกะปิที่ร้านหน้าปากซอยบ้าน ยังถูกปากเรามากกว่า แต่การกินฟิวชั่นฟู้ด คือการกินความคิดสร้างสรรค์ เหมือนกับเสื้อผ้าที่เขาใส่เดินบทแคทวอล์ค นั่นคุณว่าเขาใส่สบายไหม หรือเสื้อผ้าของคริสเตียน ลาครัวซ์ คุณว่าใส่สบายไหม แต่ทุกอย่างก็ต้องมีความพอดี อย่างเรื่องดนตรี ยุคหนึ่งเราก็เอาเทคโนโลยีมาผสมเสียงดนตรี แล้วเรียกมันว่า "เทคโนมิวสิค" พอวันหนึ่ง เมื่อเสียงเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนที่เป็นมิวสิคก็หายไป มันก็กลายเป็นแค่ Noise เท่านั้น การผสมผสานอะไรต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าคุณผสมอะไรลงไปมากๆ ในฟิวชั่นฟู้ด จนมันกลายเป็น Confusion Food ฟู้ดก็หายไปแล้ว ผมคิดว่าตอนนี้มีแนวโน้มที่คนส่วนใหญ่จะออกค้นหารากเหง้ามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างสถาปัตยกรรมสไตล์ มินิมัมลิสต์ ตัดทอนอะไรที่ไม่จำเป็นออกไปให้หมด ก็เริ่มกลับมาได้รับความนิยม เช่นเดียวกัน ตอนนี้ก็มีคนจำนวนมากพยายามหาอาหารต้นตำรับ รสชาติดั้งเดิมกินกัน แฟชั่นเครื่องแต่งกายก็คงเป็นแบบเดียวกัน เมื่อไรก็ตาม เมื่อโลกเกิดการปะทะกันในเรื่องความเปลี่ยนแปลง มันจะมีความพยายามถอยกลับไปสู่รากเหง้าเสมอ กลับไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Simple Model รูปแบบง่ายๆ การกลับไปสู่การหานิยามบางอย่างของสิ่งที่เป็นพื้นฐาน ช่วงที่เกิดโมเดิร์นิสม์ ก็เป็นช่วงที่เกิดการปะทะทางปัญญากันใหม่ๆ เราก็ย้อนกลับไปสร้างบ้านให้เรียบๆ สนามหญ้าเพลนๆ เรื่องผู้หญิงก็มีการปะทะการทางภูมิปัญญา มีการค้นพบคลิทอริส ซึ่งเป็น Simple Model ที่สุดของผู้หญิง ที่จะทำให้เธอเกิดอารมณ์พิศวาส พอต่อมาอีกสักพัก เราก็ค้นพบ G-Spot อีก เราก็จะค้นพบอะไรแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตราบใดที่มนุษย์ต้องการแสดงออกถึงอิทธิพลทางภูมิปัญญา ซึ่งมาถึงตอนนี้ หลายคนก็เริ่มคิดแล้ว ว่าคลิทอริสและจีสปอตเป็นเรื่องเหลวไหล เพราะจริงๆ แล้วเรื่องเพศน่าจะเป็นเรื่องขององค์รวม จริงไหม
ถาม: คือเราต้องเล้าโลมแบบรวมๆ ใช่ไหม
อนุสรณ์: ใช่ (หัวเราะ) คือมันไม่เหมือนสวิทช์ไฟ ที่เมื่อเราไปกดมันแล้วทำให้ตัวผู้หญิงสว่างวาบขึ้นมา มันเป็นความรู้ของผู้ชายในยุคหนึ่งๆ เท่านั้น แล้วมันก็จะพัฒนาต่อๆ กันไป จนกระทั่งเกิดการปะทะกันทางปัญญาครั้งใหญ่ มนุษย์ก็จะเริ่มคิดว่าเราต้องคิดแบบใหม่ เหมือนกับคอนเซ็ปต์เรื่อง Paradigm Shift ของโธมัส คูห์น คือความรู้จะถูกล้มกระดานหมด แล้วเริ่มต้นกันใหม่ เหมือนอย่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ที่ห่างกันไม่กี่ปี ช่วงนั้นแหละ ที่องค์ความรู้ใหม่ๆ พัฒนาขึ้นพร้อมกัน เกิดควอนตัมฟิสิกซ์ เกิดทฤษฎีสัมพัทธภาพ เป็นการฉีกออกจากฟิสิกซ์แบบคลาสสิค แบบของนิวตัน ตอนนี้เราคงกำลังรอให้เกิดการปะทะกันทางภูมิปัญญาครั้งใหญ่อีกครั้ง อาจจะระหว่าง Fundamentalism และ Capitalism ตอนนี้คงจะมีคนกลับไปสู่ Fundamentalism มากขึ้นเรื่อยๆ
ถาม: ศิลปะและศิลปินจะมีบทบาทอย่างไร ในการปะทะกันทางภูมิปัญญา
อนุสรณ์: ศิลปินในยุคสมัยนี้ กำลังต่อต้านการลดทอนทุกอย่าง ลงไปให้เป็นโมเดลสำเร็จรูป อย่างเช่น คุณจะสังเกตว่ามีวรรณกรรมหลายเรื่องที่เขียนถึงผู้หญิง จะปฏิเสธเรื่องคลิทอริสหรือจีสปอต เขาจะมุ่งไปสู่วัตถุอื่นๆ อาจจะเป็นติ่งหูก็ได้ อย่างในนิยายของมูราคามิ หรืออาจจะเป็นต้นยูคาลิปตัสสักต้นหนึ่ง ของนักเขียนอังกฤษคนหนึ่ง ผมจำชื่อไม่ได้แล้ว หรือสมุดโน้ตบุคสักเล่ม จากงานของพอล ออสเตอร์ ทุกอย่างมันย่อมนำพาเราไปสู่บทสรุปที่น่าสนใจได้เสมอ วรรณกรรมจึงเป็นการต่อต้านการลดทอน แต่มุ่งไปหาสิ่งที่เรียกว่าองค์รวม คืออาจจะเริ่มต้นจากติ่งหู แล้วพัฒนาไปถึงอะไรที่กว้างใหญ่ หรืออาจจะเริ่มต้นจากแมวหายสักตัว แล้วนำไปสู่อะไรที่คาดเดาไม่ได้ นี่คือพลังของวรรณกรรม ที่จะนำมนุษย์ไปหาองค์รวม ไม่คิดแบบลดทอนเหมือนวิทยาศาสตร์ ไล่จากอะตอม ลงไปอิเลกตรอน ลงไปควากซ์ ทั้งที่มนุษย์มีอะไรมากกว่านั้น คุณจะคิดค้นกล้องอะไรมาส่อง จนเห็นลึกลงไปให้เล็กกว่าควากซ์ คุณก็ไม่มีทางรู้ ว่าทำไมไอ้หมอนี่ถึงอกหัก ทำไมไอ้หมอนี่สมหวังในความรัก Simple Model ตอบสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ แต่วรรณกรรมจะช่วย หนังอย่าง 21 Grams ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ที่จะบอกว่า มนุษย์เรามีอะไรที่มากกว่าน้ำหนัก 21 กรัมที่หายไปตอนตายนะ
ถาม: วรรณกรรมจะนำเราไปได้อย่างไร ในเมื่อมนุษย์เอง คือผู้เขียนวรรณกรรม
อนุสรณ์: อ้าว แบบนี้คุณก็ต้องตั้งคำถามว่า แล้วศาสนาจะนำเราไปได้อย่างไร ในเมื่อมนุษย์เองที่คิดศาสนาขึ้นมา พระพุทธเจ้าและพระเยซูก็เป็นมนุษย์นะ แต่พวกเขาเชื่อว่ามีความคิดอะไรบางอย่าง ช่วยนำให้เราออกไปจากวงเวียนนี้ได้ สิ่งที่เราสร้าง ไม่จำเป็นต้องมาจำกัดเรา คงไม่ต้องถึงขั้นทำให้พ้นจากโลก เอาเป็นว่า วรรณกรรมจะนำพามนุษย์ไปสู่สภาวะที่เต็มเปี่ยม ได้มากกว่าวิทยาศาสตร์
ถาม: วรรณกรรมจะเป็นสิ่งที่ดีจริงๆ หรือมันเป็นเพียงแค่การสร้างอารมณ์โรแมนติก ทำให้เราลุ่มหลง
อนุสรณ์: แล้วศาสนาล่ะ โรแมนติกไหม อืม ... (คิดนาน) ชีวิตที่ดีงาม โลกสันติสุข คนยิ้มให้กัน เวลาคุณเข้าโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ ทุกคนจะยิ้มให้กัน ยกมือไหว้กัน ในโลกทุกวันนี้ ที่เราเดินสวนกันไปมา โดยไม่รู้จักกันเลย นี่มันก็โรแมนติกนะครับ แต่อย่าลืมว่าความโรแมนติก เป็นอารมณ์ดิบหนึ่งของมนุษย์ วรรณกรรมเรื่องหนึ่งที่คุณอ่านแล้วอินหรือไม่อิน มันก็ทำให้คุณรู้สึกว่าได้เติมเต็ม ภาวะที่เติมเต็มนั่นก็คือความโรแมนติก
ถาม: แล้วสถาปัตยกรรม แฟชั่น และการปรุงอาหาร มันจะช่วยนำมนุษย์เราได้ไหม
อนุสรณ์: ผมจำได้ ว่าตอนที่ผมเข้าเรียนคณะสถาปัตย์ใหม่ๆ ช่วงปีแรกๆ ในชั้นเรียนเราคุยกันว่า สถาปัตยกรรมจะทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้นไหม ทำให้มนุษย์ได้พบสิ่งที่ดีไหม แล้วพอ 2 ปีหลัง เราไม่ได้คุยกันเรื่องนี้อีกแล้ว เราเรียนกันเรื่องสถาปัตยกรรมล้วนๆ ว่าคุณจะบิดฟอร์มอย่างไร คอนเซ็ปต์ตรงนี้คุณได้มาจากไหน ผมว่าสถาปนิกไทยเราสนใจคำว่า "มนุษย์" น้อยลง
ถาม: โดยส่วนตัว ผมเชื่อสถาปัตยกรรมที่ช่วยมนุษย์ได้อย่างแท้จริง คือของโมเดิร์นิสม์ ที่เรียบๆ ประหยัด พอเหมาะพอดี
อนุสรณ์: เลอคอร์บูซิเยร์บอกว่า A house is a machine for living in บ้านคือเครื่องจักรหนึ่งที่มนุษย์เข้าไปอาศัยได้ แต่ผมเชื่อว่าสถาปนิกทุกคน คงไม่ยอมจำนนที่จะอยู่กับโมเดิร์นิสม์ไปตลอดชีวิต โมเดิร์นิสม์ก็ดีงาม สูงส่ง เก้าอี้โมเดิร์นนั่งสบายทุกตัว แต่ขณะเดียวกัน เราต้องถูกท้าทาย ว่าจะสามารถคิดอะไรให้เหนือไปกว่านี้อีกไหม คือทุกอย่างมีอายุจำกัดนะครับ โมเดิร์นิสม์ก็ต้องมีอายุจำกัด แม้แต่พระพุทธศาสนาเอง พระพุทธเจ้ายังบอกว่ามีอายุ 5,000 ปี โมเดิร์นิสม์ก็ต้องเปลี่ยน ทุกอย่างต้องแปรเปลี่ยน ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน แม้กระทั่งความจริงก็ต้องแปรเปลี่ยน ทุกอย่างเป็นอนิจจภาวะ
ถาม: แบบนี้เราจะยังเชื่ออะไรได้อีก ในเมื่อความจริงก็เปลี่ยนแปลง
อนุสรณ์: ผมก็เชื่อในสิ่งที่ดีงามมากมาย แต่ก็พร้อมที่จะเชื่อว่ามันต้องแปรเปลี่ยน ผมเชื่อพระไตรปิฎก แต่ผมก็เชื่อว่ามันต้องเปลี่ยนแน่ อย่างในพระวินัยเขียนว่าห้ามพระภิกษุจับเงินมากกว่าเท่านั้นเท่านี้ แล้วมันเข้ากับสมัยนี้ได้ไหม แต่เรื่องเหล่านี้ เราต้องพิจารณาอย่างใคร่ครวญให้ดีนะครับ มิเช่นนั้นมันจะกลายเป็นมิจฉาทิฐิไป เวลาคุณตีความพระพุทธศาสนาไป มันอาจจะกลายเป็นมิจฉาทิฐิ เป็นการตีความส่วนตัว ซึ่งมันน่ากลัวนะ ยิ่งเวลาที่มีคนมาเชื่อตาม
ถาม: สำหรับคุณตอนนี้ ระหว่างวรรณกรรมร่วมสมัยอย่างของมูราคามิ กับพระไตรปิฎก อะไรนำคุณได้มากกว่ากัน
อนุสรณ์: (หัวเราะ) คุณจะเปรียบเทียบแบบนี้ไม่ได้หรอก โอเคว่าตอนนี้มูราคามิเขย่าผมได้มากกว่า แต่พระพุทธเจ้าเป็นอะไรที่ผมรู้สึกว่าผมมีความสุข ในเวลาที่เหลียวไปมองคำสอนท่าน ผมไม่ใช่สาวกในแง่ที่จะต้องไปวัด ผมไม่สนใจการไปวัดไปวาขนาดนั้น ผมสนใจแค่ว่าข้างในพระไตรปิฎกมีอะไรที่ผมสามารถใช้งานได้แน่ เหมือนกับตำราเรขาคณิตของยูคลิด ซึ่งคุณพิสูจน์เมื่อไรก็ต้องได้ว่ามุมข้างในสามเหลี่ยม รวมกันได้ 180 องศา ถึงแม้ว่าในทุกวันนี้เราจะมีวิชาเรขาคณิตแบบอื่น ที่ไม่ใช่แบบของยูคลิดแล้วก็ตาม แต่ในระดับพื้นฐานของโลก ตำราของยูคลิดใช้งานได้เสมอ สำหรับผม พระไตรปิฎกก็เป็นเช่นเดียวกัน
ถาม: เวลาเรามีปัญหาในชีวิต แล้วหยิบวรรณกรรมร่วมสมัยขึ้นมาอ่าน เราจะได้คำตอบกับปัญหาของชีวิตเราไหม
อนุสรณ์: มันให้คำตอบในแง่ที่ว่า คุณจะได้เข้าใจสังคมร่วมสมัยได้มากขึ้นไง แต่มันไม่ได้อยู่ในระดับที่ใช้งานได้เสมอ คนละระดับกัน ผมถือว่าวรรณกรรมอาจจะเป็นแค่ รายงานความเคลื่อนไหวของสังคม ฉบับที่ 1 ฉบับที่ 2 อาจจะเป็น annual report หรืออาจจะถี่กว่านั้น รายไตรมาสก็ได้ อย่างเช่นถ้าผมสนใจว่า ทำไมโรงหนังโป๊มันถึงยังมีอยู่ เมื่อ 2 วันก่อนผมผ่านไปแถวพหลโยธินรามา ผมก็นึกว่าเอ๊ะ เคยอ่านเรื่องโรงหนังโป๊ใน GM ลองเข้าไปดูหน่อย กะว่าจะให้เวลามันครึ่งชั่วโมง จะไม่อยู่นานกว่านั้น ถ้าไม่กำหนดเวลาเดี๋ยวจะเพลิน ก็จ่ายตังค์ค่าตั๋วเข้าไป 50 บาท สิ่งที่รู้สึกได้ทันที คือกลิ่นแรงมาก แรงจนทนไม่ไหว และผมเชื่อว่ามันเป็นโรงหนังที่มีคนยืนอออยู่หน้าห้องน้ำเยอะที่สุดในโลก และเป็นโรงหนังที่คนเดินไปมาเยอะที่สุดด้วย ทำไมคนแม่งเยอะอย่างนั้นวะ ผมสนใจว่าทำไมโรงแบบนี้มันจึงยังอยู่ คำตอบคือ Capitalism เปิดโอกาสให้ด้านมืดจำนวนมาก ได้มีที่อาศัย ถ้ายังมีคนเสพ มันก็ยังอยู่ได้ ตอนนี้เขากำลังจะตั้งโดเมนเนมของเว็บไซต์ ให้ลงท้ายด้วย .xxx ด้วยซ้ำ วรรณกรรมจะบอกเล่าเรื่องเหล่านี้แก่เรา อย่ามองมนุษย์ง่ายๆ แค่ว่าพวกนี้มันด้านมืด พวกนี้มันเหลวไหล ใช้ไม่ได้ ถ้าวันนั้นมีใครบังเอิญผ่านไปหน้าโรงพหลโยธินรามา แล้วเจอผมเดินออกมาพอดี เขาก็ต้องนึกแล้ว ว่าผมใช้ไม่ได้ เขาไม่รู้รายละเอียดหรอกว่าผมเป็นใคร ผมเข้าไปกี่ชั่วโมง เข้าไปทำไม วรรณกรรมจะช่วยให้เราย้อนกลับไปดูรายละเอียดอีกมากมาย โดยไม่ต้องไปตัดสิน คือผมจะไม่บอกว่า นี่คุณ คุณทำไปเลย ไม่ต้องซ่อนเร้นด้านมืดก็ได้ แบบนี้ผมจะกลายเป็นศาสดานะ ที่จะคอยบอกว่าคุณควรไปซ้ายหรือไปขวา นี่ผมกำลังเป็นการสร้างนิกายแล้ว และผมไม่อยากจะแตะประเด็นเรื่องดีเลว หรืออะไรควร ไม่ควร วรรณกรรมยุคใหม่ถ้าคุณได้อ่าน จะรู้สึกว่ามันบิดผันไปตลอดเวลา ทุก Chapter เขาจะไม่จับคุณให้อยู่กับที่ แล้วบอกว่านั่งดีๆ นะ แล้วดูนะ A เป็นอย่างนี้ B เป็นอย่างนี้ C เป็นอย่างนี้ แล้วคุณต้องรับสิ่งนี้ไป ด้วยความจำยอม แบบนี้น่าเบื่อไหมล่ะ
ถาม: ถ้าสร้างวรรณกรรมยากๆ มันเป็นการเรียกร้องความใส่ใจจากคนอ่านอย่างมาก แม้แต่หว่องกาไว ตอนที่ทำหนังเรื่องแรกๆ เขาต้องห่วงแน่ ว่าคนดูจะรู้เรื่องไหม
อนุสรณ์: แต่ผมว่า ถ้าคุณจับคนยุคนี้มานั่ง แล้วให้เขาฟังหว่องกาไว กับฟังดอสโตเยฟสกี้พูด ผมว่าร้อยละ 90 ฟังหว่องกาไวแน่ๆ ไม่มีใครอยากฟังดอสโตเยฟสกี้หรอก
ถาม: ในทุกวันนี้ วรรณกรรมดีๆ เกิดขึ้นได้อย่างไรครับ
อนุสรณ์: อืม ... (คิดนาน) วรรณกรรมมันต้องมีแรงบันดาลใจ ผมชอบสกรีนบนเสื้อยืดตัวหนึ่งของคนภูเก็ต เขาสกรีนว่าปีก่อนนั้นเจอพายุอะไรสักอย่าง ปีถัดมาเจอไข้หวัดนก แล้วปีที่แล้วเจอซึนามิ พอมาปีนี้จะเจออะไร มันแสดงให้เห็นว่าเขารู้สึกว่าชีวิตอันสเตเบิ้ล ประเด็นนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจได้ มิติที่น่าสนใจของงานวรรณกรรมตอนนี้ คือโลกเราไม่มีเสถียรภาพอยู่เลย ปรากฏว่าวรรณกรรมบ้านเราส่วนใหญ่ กลับพยายามจับให้ทุกอย่างอยู่ในกรอบ จัดให้มีขั้ว มีคนดีคนเลว มีชนชั้น มีความขัดแย้งแบบอยู่ในกรอบ ซึ่งนี่จะทำให้ตัวละครแบนทันทีเลย ทั้งที่ในความจริงแล้ว โลกเราไม่มีความเสถียร อย่างเรื่องเพศชายเพศหญิง ตอนนี้ก็บ่งอะไรไม่ชัดเจนแล้ว แม้แต่คำว่านายกับนางสาว ก็ระบุเพศของคนนั้นไม่ได้ชัดเจน
ถาม: ที่คุณบอกว่ามีการแบ่งขั้วกันชัดเจน แล้วคุณว่าใครเป็นพระเอกและผู้ร้าย ในวงการวรรณกรรมตอนนี้
อนุสรณ์: ถ้าลองย้อนกลับไปเมื่อสมัยปีพ.ศ.2500 ต้นๆ เรามีศรีบูรพา ซึ่งเขียนเรื่องเกี่ยวกับชนชั้น เรามียาขอบ ซึ่งเขียนเรื่องรักอย่างเดียว เรามีส.ธรรมยศ ซึ่งเขียนนิยายเชิงปรัชญา แล้วเรามีน้อย อินทนนท์ ที่เขียนเรื่องการท่องป่า มีป.อินทรปาลิต ที่เขียนเรื่องตลกขบขัน ทั้งหมดนั้นแสดงให้เห็นว่าเรามีวรรณกรรมที่หลากหลายจริงๆ แต่ในทุกวันนี้ เราไม่มีความหลากหลายแบบนั้น วรรณกรรมของเราถูกจัดแบ่งให้เป็นแค่ ขนบกับไม่ขนบ เท่านั้นเอง นี่คือปัญหาซึ่งเริ่มมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไล่ตั้งแต่ยุค 14 ตุลา ที่มีการปลดปล่อยอำนาจจากพวกขุนศึก วรรณกรรมเราก็ถูกแช่แข็งมาตั้งแต่นั้น ว่าจะต้องเป็นแบบสัจจะนิยมมาตลอด วรรณกรรมสร้างสรรค์แบบอื่นๆ ถูกโจมตี ว่าเป็นเรื่องประโลมโลกย์ ไอ้นี่ไม่ใช่พวกซีเรียส ไม่ใช่นักเขียนตัวจริง ไม่ใช่ Certain Writer ความเชื่อแบบนี้แหละ ที่ทำให้วงการวรรณกรรมถูก Freeze ไว้ เช่นเดียวกับในวงการสถาปัตยกรรมเลย ที่เราเชื่อว่า สถาปัตยกรรมเป็นเรื่องของชนชั้นสูง เป็นเรื่องของคนมีเงิน เราจึงไม่มีความหลากหลาย ไม่มีทางเลือกเลย คุณคิดดูว่าในงานของสมาคมสถาปนิกสยาม การแสดงผลงานนักศึกษาในงาน เป็นการทำงานด้านความคิด ร้อยละ 90 ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนของบริษัทเอกชน บริษัทสถาปนิก ที่ไปแสดงงาน ส่วนใหญ่เป็นงานที่เป็นโครงการใหญ่ๆ หมดเลย ในขณะที่สถาปัตยกรรมแบบอื่นๆ ล่ะ อย่างเช่นบ้านดิน หรือบ้านที่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถนำไปใช้งานได้ล่ะ มันไม่ได้ถูกนำออกไปแสดง ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีสถาปัตยกรรมของตัวเอง สังคมไทยเราตกอยู่ภายใต้การผูกขาดและจารีต คือ Monopoly and Conventional นี่เป็นปัญหาต่อการสร้างสรรค์ทุกด้าน
ถาม: การโยนให้โครงสร้างสังคม ระบบเศรษฐกิจ และจารีต เป็นผู้ร้าย มันฟังดูซ้ำซากเกินไปไหมครับ ผมนึกว่าคุณจะสามารถระบุลงไปได้เป็นตัวคนเลย ว่าใครเป็นผู้ร้าย ใครเป็นพระเอก
อนุสรณ์: จะให้ตอบแบบนี้ก็ได้ แต่คุณจะเอาไปลงจริงเหรอ (หัวเราะ) ขอยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างสนามบินสุวรรณภูมิ เราจ้างบริษัทสถาปนิกแห่งหนึ่งซึ่งดังมาก คือเมอร์ฟีย์แอนด์จาร์ ซึ่งออกแบบสนามบินในชิคาโก พอเขาเริ่มต้นทำงานไปได้หน่อยเดียว บรรดาผู้ที่สูญเสียอำนาจทั้งหลายในสมาคมสถาปนิกสยาม ก็ออกจดหมายโจมตีเมอร์ฟีย์แอนด์จาร์ โจมตีกันถึงขนาดที่จะไม่มีแผ่นดินอยู่เลย บอกว่าแบบมีปัญหา ไปจ้างฝรั่งทำไม ถามว่าสถาปนิกไทยเราไม่มีฝีมือเหรอ ยิ่งตอนนี้นะ สถาปนิกไทยส่วนหนึ่งกำลังกังวลกันเรื่องการเปิด FTA เขาบอกว่าถ้าเราเปิด FTA สถาปนิกไทยตายกันหมดแน่ เมื่อมีต่างชาติเข้ามา มันก็จริงนะ คือที่ผ่านมา สถาปนิกไทยเราทำงานกันเหมือนในโรงงานทอผ้าเลยนะ แล้วเราก็ใช้ความเชื่อว่า Protect and Progress คือการปกป้องไว้ก่อนเพื่อให้เกิดการเติบโต ถ้าเปิด FTA จะมีสถาปนิกต่างชาติมารับงานไทย ทำงานเสร็จก็เอาเงินแล้วบินหนีไป ฟังๆ ดูแล้วมันเรื่องเดียวกันเลย ทั้งวรรณกรรมทั้งสถาปัตยกรรม ผมว่าสิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้ คือการ Break ออกไปจากจารีตให้ได้ ไม่งั้นหน่วยย่อยๆ ในสังคม จะไม่ได้ถูกพูดถึงเลย อย่างตัวคุณเองน่ะ ถ้าคุณจะซื้อบ้าน คุณจะมีปัญญาไปจ้างบริษัทสถาปนิกให้ออกแบบเหรอ ใช่ไหม เพราะเขาเป็นบริษัทใหญ่ๆ ทำแต่โครงการใหญ่ๆ เราต้องการบริษัทสถาปนิกขนาดเล็กๆ ที่ทำงานง่ายๆ เรียบง่าย เพื่อสนองตอบความต้องการของหน่วยย่อยๆ ในสังคม
ถาม: ตอนนี้วนกลับมาถึงยุคที่เราต้องต่อต้านจารีตอีกแล้วเหรอครับ ของแบบนี้มันวนเวียนมาทุกยุคทุกสมัยใช่ไหม
อนุสรณ์: พวกที่ต่อต้านจารีตเมื่อสมัย 14 ตุลา มาตอนนี้ก็กลายเป็นจารีตเสียเองใช่ไหม มันก็เหมือนกับที่นักปรัชญาฝรั่งเศสคนหนึ่ง เสนอว่า ตอนที่สำนักโครงสร้างนิยมเกิดขึ้นมา สักพักหนึ่งมันก็อยู่ไม่ได้ เพราะมีพวกดีคอนสรักชั่นนิสม์เกิดขึ้นมา ดังนั้น ในที่สุดแล้ว เราไม่ต้องสนใจสตรักเจอร์ดีไหม แต่เราสนใจโคออเปอเรชั่น คือเราสนใจความสัมพันธ์ในเชิงราบ ผมไม่ต้องยิ่งใหญ่ คุณไม่ต้องยิ่งใหญ่ แต่เราร่วมมือกันดีกว่า คอนเซ็ปต์มันก็คล้ายๆ พวกอินดี้ไง คือคุณไม่ต้องเป็นค่ายเพลงใหญ่ คุณเป็นแค่ค่ายเพลงเล็กๆ แล้วจับมือกันไว้ หรือนิตยสารคุณอาจจะไม่ต้องมีบริษัทอยู่ในตลาดหุ้น นิตยสารคุณอาจจะมีคนอ่านประจำแค่ 1-2 พันคน แต่เรามาจัดงานร่วมกัน ซึ่งมันก็เกี่ยวกับวงการหนังสือด้วยนะ คือทุกวันนี้เราก็มุ่งไปสู่งานมหกรรมหนังสือ ทุกคนรอขายในงานนั้น เพื่อเอาเม็ดเงิน แล้วไอ้สำนักพิมพ์เล็กๆ ล่ะ ร้านหนังสือเล็กๆ ล่ะ จะอยู่อย่างไร ในเมื่อคนอ่านทุกคนเก็บตังค์ไว้รอซื้อในงานกันหมด นี่คือสิ่งที่เราถูกทำให้คิด ถ้าร้านค้ามีหนังสือใหม่ๆ ดีๆ มานำเสนออย่างสม่ำเสมอทั้งปี เราจะไม่คิดแบบนี้ แต่นี่คุณไปดูสิ ช่วงก่อนเดือนเมษายนกับตุลาคม โรงพิมพ์ทุกโรงมีงานแน่นเอี้ยด หนังสือแม่งแย่งกันพิมพ์อุตลุตแค่ตอนนั้น
ถาม: ตอนนี้เพลงอินดี้ก็ดัง หนังสือแนวที่ไม่ขนบอย่างของปราบดา หรือแม้แต่ของคุณเอง ก็ขายดีใช้ได้ ไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไรนี่
อนุสรณ์: ผมว่าปรากฏการณ์นี้มันโป่งๆ มันเหมือนกับปรากฏการณ์ที่คนกรุงเทพฯ พากันไปฟังสนธิ (ลิ้มทองกุล) ทุกวันศุกร์นั่นแหละ คือทุกคนกำลังต้องการฟังเสียงบางอย่างที่ไม่เคยได้ยิน เสียงแห่งยุคสมัยนี่แหละ ที่ผมว่ามันขาดหายไปจากสังคมไทยตอนนี้ คือเราพร้อมที่ฟังเสียงนี้อยู่ รอฟังเสียงนี้อยู่ แต่ใครล่ะ ที่จะเป็นคนพูด เทียบกับรถคันใหญ่ๆ คันหนึ่ง สิ่งที่พวกเราทำอยู่นี่มันเปลี่ยนแค่ล้อ เปลี่ยนแอร์แบ็ก ในขณะที่เพลา เกียร์ เครื่องอะไรทุกอย่าง มันยังมุ่งหน้าไปทางเดิม มันกำลังขับเคลื่อนไปสู่ทิศเดิม ตอนที่ก่อนผมไปอังกฤษ ผมไปเมื่อปี 2540-2541 ก่อนมิลเลนเนียม ตอนนั้นไม่มีหนังสืออะไรน่าสนใจเลย แต่พอกลับมาเมืองไทยปุ๊บ ตอนประมาณปี 2546 ผมเห็น Open ผมเห็น a day ผมเห็น DNA ผมเห็น POP ผมก็เอ้อ มันมีอะไรแบบนี้ในเมืองไทยด้วยเหรอ แล้วปราบดา หยุ่น ก็มาช่วงเดียวกันนี้ใช่ไหม คือในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จารีตเพิ่งเริ่มถูกกระทบ
ถาม: เลขหลัก 2000 มิลเลนเนียม นี่มันเป็นตัวเลขที่สำคัญจริงๆ เลยนะครับ
อนุสรณ์: นี่มันเป็นเพราะเราวิเคราะห์มันย้อนหลังไง เหมือนกับเวลาหวยออกปุ๊บ แล้วคุณค่อยนึกถึงทฤษฎีที่จะเอาไปจับมัน ซึ่งมันมีเป็นร้อยๆ ทฤษฎีเลย ที่จะได้ตัวเลขนั้นมา ประเด็นนี้ตลกดีนะ เหมือนอย่างตอนที่ผมเริ่มเขียนเรื่องลอนดอนกับความลับในรอยจูบ ผมก็ไม่เคยคิดเลยว่าประเทศไทยเราจะเกิดหายนะภัย ผมมองเหตุการณ์ในเรื่องนั้น ด้วยสายตาของคนนอก ที่มองเข้าไปอย่างสงสารคนอเมริกัน คนนิวยอร์ค แล้วก็รู้ว่าสิ่งนี้จะต้องส่งผลกระทบไปทั่ว จนถึงตอนนี้ อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันครบรอบซึนามิแล้วใช่ไหม เราจึงค่อยเรียนรู้ว่า สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย ผมว่าไม่แน่นะ อีกสัก 2-3 ปี เราจะได้อ่านวรรณกรรมดีๆ ที่เกี่ยวกับซึนามิ เขียนโดยคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ตอนนี้เรายังต้องรอการตกผลึกอีกหน่อย
ถาม: วรรณกรรมดีๆ เกี่ยวกับซึนามิจะเป็นอย่างไรครับ เห็นตอนนี้ก็มีดารามาเขียนเล่าเหตุการณ์ที่ตัวเองไปเจอ ออกเป็นหนังสือหลายเล่ม
อนุสรณ์: ไม่ใช่ นั่นไม่ใช่วรรณกรรม มองย้อนกลับไปสมัยที่เกิดกาฬโรคในยุโรป หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีวรรณกรรมดีๆ เกี่ยวกับกาฬโรคตั้งเยอะ หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เช่นเดียวกัน เมื่อเวลาผ่านไปสักพักใหญ่ๆ เราถึงจะได้วรรณกรรมดีๆ ที่พูดถึงยิว วรรณกรรมดีๆ เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองนะ อย่าง The Reader วรรณกรรมต้องมีเวลาในการฟักตัว ถ้าคลื่นเข้าเมื่อวานนี้ วันรุ่งขึ้นคุณเขียนวรรณกรรมเพื่อแสดงความไว้อาลัย ผมว่านั่นคือ Propaganda ต่างหาก ตอนนี้เราให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆ แวดล้อมมัน น้อยมากเลย เวลาเกิดเหตุการณ์ใหญ่ขึ้นมา คนเขียนมักจะพุ่งเป้าไปที่เหตุการณ์ใหญ่นั้น มากกว่าที่จะทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่รอบๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ ในการเกิดซึนามิ กลุ่มคนที่อยู่ใกล้ที่สุด แต่มีอัตราการเสียชีวิตน้อยที่สุด คือพวกมอร์แกน เพราะเขามีภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างลึกซึ้ง แต่ปรากฏว่า รัฐบาลไม่เคยลงไปถึงสิ่งเหล่านี้เลย เรากลับพุ่งไปที่การจัดตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติ เราเอาเงินไปใส่กับ Hard Technology มากเลย ในขณะที่ Soft Technology เราแทบไม่สนใจมัน ซึ่งคุณว่า Soft Technology ควรจะถูกสนใจโดยใครล่ะ ผมว่าโดยพวกนักเขียนนี่แหละ พวกศิลปิน พวกนักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม ทำไมเราไม่มีวรรณกรรมดีๆ ให้เหมือนอย่างกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่โกเบ ปีค.ศ. 1995 แล้วฮารูกิ มูราคามิ เอาไปเป็นแรงบันดาลใจสำหรับหนังสือ After The Quake คุณจะเห็นว่าทุกครั้งที่เกิดเรื่องราว นักเขียนแต่ละชาติจะใช้เวลาในการซึมซับ แล้วแปลงมันออกมาเป็นวรรณกรรม
ถาม: หลังจากลอนดอนฯ และ H2O ตอนนี้คุณมีแรงบันดาลใจ หรือความสะเทือนใจอะไร ที่กำลังรอการฟักตัวอยู่บ้าง
อนุสรณ์: ตอนนี้ผมกำลังสนใจการหายไปของคนตัวเล็กๆ ผมรู้สึกว่าตอนนี้เรายังไม่สนใจคนจำนวนมาก ที่เขามีความสำคัญ มีอิทธิพลต่อการเกิดสิ่งต่างๆ ที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ คอนเซ็ปต์นี้ถูกใช้มากในหนังสือ H2O มีเรื่องหนึ่งถ้าคุณเคยอ่าน ที่พูดถึงนักวิ่งคนหนึ่งที่หายสาปสูญไป หรือถ้าจะให้พูดถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆ อย่างตุลามหาวิปโยค ผมกำลังมองว่า คงไม่ใช่ทุกคนหรอกมั้ง ที่จะไปที่นั่นเพื่อเดินขบวน มันต้องมีสักคนที่บังเอิญไป ถูกถีบไป หรือแวะไปกินก๋วยเตี๋ยว แล้วถูกเพื่อนจูงๆ ไป เฮ้ย! ไปร่วมเดินขบวนหน่อย ผมว่าคนแบบนี้แหละ ที่น่าสนใจ ผมอยากจะเขียนวรรณกรรมเกี่ยวกับคนลักษณะนี้ หรือว่าทำไมตอนนี้เราไม่เคยคิดถึงคนที่คิดค้นสูตรผัดไทเลยล่ะ คุณรู้ไหม ว่าผัดไทเกิดขึ้นได้อย่างไร ตอนนั้นจอมพลป. (พิบูลสงคราม) ประชุมกันอยู่ที่ตึกไทยคู่ฟ้า แล้วก็มีคนเสนอว่า เอ๊ะ! คนไทยเราน่าจะมีอาหารเส้นบ้างนะ แต่เราต้องไม่ใช่บะหมี่แบบจีน หรือเส้นพาสต้าแบบฝรั่ง นี่มันเป็น Center Design เลยนะ คือคนมีอำนาจสั่งลงมา ให้ทุกคนเอาไปคิด คนคิดก็บอก เออ ใส่น้ำมะขามเปียกดีไหม มันจะได้ไทยๆ เออ ใส่กุ้งแห้งด้วยดีไหม มันจะได้ไทยๆ ไอ้คนคิดนี่แหละ ที่หายตัวไปแล้ว เหลือไว้แต่ผัดไทที่เรากินกันอยู่ในทุกวันนี้ แล้วนี่มันไปสู่โครงการครัวของโลกแล้วด้วยนะ
ถาม: ทำไมการสนใจคนตัวเล็กๆ ที่หายไป จึงถือเป็นเรื่องสำคัญล่ะครับ
อนุสรณ์: เพราะมันคืออำนาจไง อำนาจของวรรณกรรม มันจะมีผลไปในระยะยาว ถ้าวรรณกรรมดีๆ จับคนเหล่านี้ขึ้นมาพูดถึงบ้าง มันคือการให้อำนาจกับคนเหล่านี้ ให้เขาถูกจดจำต่อไปได้ในระยะยาว จริงๆ แล้ว แนวความคิดในการเขียนวรรณกรรมแบบนี้ มีมานานแล้วนะ ผมว่ามิลาน คุนเดอร่า ก็ใช่นะ อย่างที่เขาเขียนถึงหมอหนุ่ม ในเหตุการณ์รัสเซียบุกโปแลนด์ ใน The Unbearable Lightness of Being ประเทศไทยเราก็มีเรื่องแบบนี้เยอะมากนะครับ ผมกำลังมองมันด้วยความตื่นตะลึง
ถาม: ทำไมวรรณกรรมร่วมสมัย และเนื้อเรื่องของนิยายของคุณ มักจะวนเวียนอยู่กับเรื่อง การหายไป และการตามหา
อนุสรณ์: เออ ... เนอะ! จริงด้วย ผมว่านี่อาจจะได้มาจากอิทธิพลแนวความคิดของวิชาสถาปัตยกรรม เขาเรียกคอนเซ็ปต์นี้ว่า Presence and Absence สิ่งที่หายไปจากที่หนึ่ง จะไปปรากฏในอีกที่หนึ่งเสมอ พูดง่ายๆ คือถ้าคุณมีรูปทรงอะไรอันหนึ่ง คุณเฉือนมันออกไปเป็นปริมาตรหนึ่ง แต่ปริมาตรนี้ไม่ได้หายไปไหน มันหายไปจากรูปทรงอันนี้ แต่มันก็ยังคงไปปรากฏเป็นอีกรูปทรงหนึ่ง ในอีกเวลาหนึ่ง สถานที่หนึ่ง เหมือนกับร้านกาแฟที่เรานั่งอยู่ด้วยกันตอนนี้ ที่เราสามารถมี space ให้นั่งตรงนี้ได้ ก็เพราะเขาเฉือนเนื้อตึกนี้ออกไป ให้เราใช้เป็นที่นั่ง แล้วคนก็เข้ามาแทนที่ตรง space นี้ไป สิ่งที่หายไปจากที่หนึ่ง จะปรากฏในอีกที่หนึ่งเสมอ งงไหม?
ถาม: คนอ่านหนังสือของคุณบางคน บอกว่างานเขียนของคุณ มีความคล้ายกับงานของมูราคามิ คุณมีความเห็นว่าอย่างไร เท่าที่คุณพูดมา ผมว่ามันเกี่ยวกับการเดินทางค้นหา สิ่งของที่หายไปอย่างลึกลับ ความหมกมุ่นครุ่นคิดต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
อนุสรณ์: ไม่ใช่แค่มูราคามิหรอก ยังมีพอล ออสเตอร์ นักเขียนอเมริกัน ที่ผมถือว่าเขาเป็นต้นแบบของผมมากกว่า เช่นหนังสือเล่มหนึ่งของเขา The Invention of Solitude การก่อร่างความเดียวดาย เกี่ยวกับคนที่ไปรื้อภาพเก่าของคุณยาย แล้วเพิ่งมาสังเกตเห็นว่าภาพของต้นตระกูลเขา เมื่อดูใกล้ๆ มันเป็นภาพตัดต่อ ที่ถูกฉีกออกไป แล้วเอาภาพใหม่มาต่อ คือภาพคุณตาของเขาหายไป เขาไม่รู้เลยว่าหายไปไหน แล้วก็ค่อยตามสืบ จนกระทั่งรู้ว่าคุณยายนั่นแหละ ฆ่าคุณตาของเขาตายไป นี่เป็นความลับประจำตระกูลของเขา ผมว่านี่เป็นอารมณ์ของยุคสมัยล่ะ สาเหตุง่ายๆ ก็คือ ในขณะที่ดูเหมือนว่าโลกเราแคบลงทุกที ด้วย Digital Network เรากลับรู้สึกห่างกัน เหมือนโฆษณา Dtac ไง ที่เขายืนคุยโทรศัพท์กับคนอื่น โดยไม่สนใจคนที่อยู่ตรงหน้า คือผมสามารถยกมือถือโทรหาคุณได้ ผมจึงหมดความต้องการที่จะเดินทางไปหาคุณ ภาวะแบบนี้แหละ เสมือนกับใกล้ แต่จริงๆ แล้วห่างไกล มันทำให้เรารู้สึกว่า คนๆ หนึ่ง พร้อมที่จะหายตัวไปได้ตลอดเวลา นี่มันเป็นอารมณ์ของยุคสมัยเลยนะ ไม่ใช่แค่มูราคามิ พล็อตแบบนี้ มีในหนังตั้งหลายเรื่องเลยนี่ครับ มี X-Files ตั้งหลายตอน ก็เสนอพล็อตแบบคนหายลึกลับ เหมือนกับว่า คนรุ่นนี้กำลังตั้งคำถามกับความจริงของโลก ว่าใต้พื้นน้ำแข็งที่เราเคยเชื่อว่ามีแผ่นดิน หรือภูเขาน้ำแข็ง รองรับเราอยู่ มันมีอะไรอยู่จริงๆ หรือเปล่า โดยเราต้องสืบย้อนความจริงกลับไป แล้วสิ่งเดียวที่เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในตอนนี้ คือเรื่องเล่าไงครับ พลังของเรื่องเล่า โอเคว่ายังไม่ต้องไปเรียกมันว่าวรรณกรรมเลยนะ เรียกมันว่าเรื่องเล่าก่อน เรื่องเล่านี่สำคัญมาก และเราก็กำลังต้องการฟังเรื่องเล่ากันเหลือเกิน รายการทีวีที่เราดูๆ กันอยู่ทุกคืน มันก็เป็นเรื่องเล่าทั้งนั้น แล้วสิ่งที่เศร้าที่สุดของคนเราทุกวันนี้ คืออะไรรู้ไหม คือการไม่มีรากนี่แหละ การที่ไม่แน่ใจว่าอะไรอยู่ใต้พื้นน้ำแข็ง คนสมัยนี้เกิดที่หนึ่ง ไปเรียนอีกที่หนึ่ง พอจบแล้วก็มาทำงานอีกที่หนึ่ง จะต้องมีวันหนึ่ง ที่คุณตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าบ้านฉันอยู่ไหน ที่ไหนที่ฉันจะหยั่งรากลงไปได้ในช่วงชีวิตที่เหลือ
ถาม: คำว่ารากของคุณ มีความหมายเดียวกับคำว่าแก่นแท้หรือเปล่า
อนุสรณ์: ไม่ใช่นะ ผมว่าแก่นแท้มีอยู่จริง รากคือจุดที่จะให้เราไปหยุดยืน เน็ตเวิร์คที่คุณเข้าไปแล้วรู้สึกอบอุ่น ชุมชนที่คุณอยู่แล้วสบายใจ นี่คือสาเหตุที่ทำไมขบวนการก่อการร้าย จึงแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้แต่พวกผู้ก่อการร้ายทางภาคใต้ เวลาคุณตัดสินใจเข้าไปอยู่ในขบวนการเหล่านั้น คุณจะรู้สึกทันทีว่าคุณมีราก คุณมีชุมชนที่เชื่อในสิ่งเดียวกับคุณ พร้อมจะตายตามอุดมการณ์เดียวกับคุณ ซึ่งสิ่งนี้หายากมากในปัจจุบันนะ ผมเชื่อว่าสิ่งนี้แหละ จะเป็นสิ่งเดียวในยุคของเรา ที่จะต้านทานทุนนิยมได้
ถาม: เพราะสถาบันหลักๆ ต่างล่มสลายไปหมดแล้ว คนไม่มีอะไรให้ยึดเหนี่ยว ไม่มีอะไรเป็นจุดหมายของชีวิตใช่ไหมครับ
อนุสรณ์: ใช่ เขาเลยต้องไปอยู่ใน Subculture หนึ่งร่วมกัน เพื่อจะได้มีราก มีตัวตน มีเป้าหมาย ท้ายที่สุดแล้ว มนุษย์เราก็เป็นได้แค่นี้เอง เรามีได้แค่เรื่องเล่าของแต่ละคน แล้วการตั้งคำถามเกี่ยวกับความดีงาม มันเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง เนื่องจากเราขยายตัวไป กระจัดกระจายกันออกไปเรื่อยๆ การนิยามสิ่งต่างๆ ย่อมต้องมีความขัดแย้ง มันยากที่จะลงรอยในหลายสิ่งหลายอย่าง นี่คือความดีของผม นี่คือความดีของคุณ ผมอยู่ในสังคมหนึ่ง คุณอยู่ในสังคมหนึ่ง เราก็ตีความสิ่งต่างๆ ต่างกันแล้ว ในโลกปัจจุบัน ทางเดียวที่จะต่อสู้กับทุนนิยม คือแบบนี้แหละ คือการขยายตัวออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เราไปสังกัดนิกายใดนิกายหนึ่ง ซึ่งมีรูปแบบชีวิตที่สำเร็จรูปให้ แล้วคุณก็จะขจัดความกังวลในชีวิตของคุณไปได้ ทุนนิยมได้นำพาเอาสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งมาให้ คือความกังวล ตัวละครของวรรณกรรมร่วมสมัยทั้งหมด ต้องมีความกังวล คุณไม่รู้ว่าเครื่องมือถือที่คุณใช้อยู่ อีก 3 เดือนข้างหน้าจะเชยหรือยัง เดี๋ยวมันจะมี 3G แล้วนะ โอ้โห แล้วจะไหวเหรอวะ คือเรามีคำถามตลอดเวลา แต่ถ้าเราสังกัดอัลกออิดะห์ปุ๊บ คุณไม่ต้องกังวลเรื่องพวกนี้แล้ว สิ่งเดียวที่คุณต้องเดินหน้าไป คือการต่อสู้กับอเมริกา ไปญิฮาดซะ หรือถ้าจะไปสังกัดธรรมกาย คุณก็มีหน้าที่นั่งสมาธิไปเลย นั่งไปให้ดีที่สุด นอกจากนั้น เป็นเรื่องไม่จำเป็นแล้ว
ถาม: คือเพื่อที่จะลดความกังวล เราก็ต้องไปยึดถือจุดหมายเทียมๆ ที่นิกายพวกนั้นตั้งไว้ให้ใช่ไหม
อนุสรณ์: นี่คือคุณสรุปให้เขาเองนะ ว่าเป็นจุดหมายเทียมๆ
ถาม: แล้วจุดหมายจริงๆ ของชีวิตเราคืออะไร
อนุสรณ์: ผมไม่รู้ ผมรู้แค่ว่า ถ้าจะต่อสู้กับทุนนิยม เราก็ต้องหานิกายไว้ยึด อย่างที่เขาเรียกว่า Fundamentalism ไง
ถาม: โดยส่วนตัว คุณว่านิกายพวกนั้น ให้จุดหมายเทียมหรือแท้
อนุสรณ์: ของแบบนี้มันในจิตนะ จิตคุณ-จิตผม มันอยู่ใน Sub-concious ในวินาทีที่เราล้าที่สุดแล้ว เราจะยอมตัวให้กับนิกายเหล่านี้ ผมว่าไปๆ มาๆ แล้ว Sub-Culture กับ Sub-Concious เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันนะ เวลาที่คุณมีแรงอยู่ คุณพร้อมจะสู้ พร้อมจะทำงาน แต่ในเวลาที่คุณเหนื่อยจนถึงที่สุด คุณจะคิดว่า ทำไมคนอ่านมันต้องการข้อมูลอะไรนักหนาวะ ทำไมเราต้องมานั่งคุยอะไรยาวๆ แค่นี้ยังไม่พออีกเหรอ ใน Sub-Concious จะคอยบอกว่า พอแล้ว พอแล้ว พอที ในวินาทีที่เราพอนี่แหละ คือวินาทีที่เราพร้อมจะเข้าสังกัดนิกาย สังกัดขบวนการกลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่ง
ถาม: ถ้าให้เลือกในวินาทีนี้ คุณอยากสังกัดนิกายอะไร
อนุสรณ์: เออ สตรีนิยมน่าจะดีนะ ผมสนใจเพราะผมไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับผู้หญิงเลย เคยไปนั่งฟังเขาสัมมนาวิชาการอยู่ทีหนึ่ง ฟังไม่รู้เรื่องเลยนะ เวลาเขาพูดถึงเรื่องอะไรนะ เรื่องเพศสภาวะ
ถาม: เรื่องเพศเรื่องใด ที่ตอนนี้คุณรับไม่ได้ครับ
อนุสรณ์: ผมไม่มีปัญหากับเรื่องที่ว่า โครโมโซมไหนจะได้กับโครโมโซมไหน ปัญหาที่ผมสนใจ คือเรายังไม่ยอมรับความจริงอีกมากเกี่ยวกับเรื่องเพศ คือเรายังไม่ยอมรับเลยว่าเด็กมันอยากมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่มันมีประจำเดือนแล้ว ดังนั้นเมื่อเห็นวัยรุ่นจูงมือกันเข้าโรงแรมแล้วเรากระอักกระอ่วนใจ ทั้งที่มันเป็นเรื่องที่เราต้องหัดยอมรับ ผมสนใจเรื่องเกี่ยวกับเพศ ก็เพื่อ 2 ส่วน คือการทำความเข้าใจเพศในตัวผม และทำความเข้าใจเพศที่ผมไม่รู้จัก งานเขียนของผมจำนวนมาก แสดงความรู้สึกว่าต้องการทำความเข้าใจเพศหญิง ผมอยากรู้นะว่าผู้หญิงเขาคิดอย่างไร เวลาที่เขาตกหลุมรัก หรือผู้หญิงคิดอย่างไร เวลาที่เขารู้สึกสูญเสีย ผมว่าความรู้สึกสูญเสียของผู้หญิงแปลกกว่าของผู้ชาย เวลาผู้ชายรู้สึกสูญเสีย เรารู้สึกเหมือนเราเขวี้ยงของออกไปข้างนอก แล้วของชิ้นนั้นหายไป เราก็เลยต้องไปเดินหา แต่สำหรับผู้หญิงเวลาสูญเสีย คือเขารู้สึกเหมือนกับโดนใครคนหนึ่ง ล้วงเอาของออกไปจากตัวเขา เขาจึงมีช่องโหว่เกิดขึ้นในตัว แล้วเขาก็ต้องการหาอะไรมาใส่ช่องโหว่นั้นให้เต็มเหมือนเดิม
ถาม: อันนี้ใครกล่าวครับ
อนุสรณ์: ผมกล่าวเอง (หัวเราะ) ความคิดเห็นผม เวลาพูดคุยกับผู้หญิง แล้วเลยมีไอเดียแบบนี้เกิดขึ้นมา
ถาม: มันเป็นเพราะจู๋ของเราอยู่นอกตัว แต่จิ๋มของผู้หญิงอยู่ข้างในตัวใช่ไหม
อนุสรณ์: ไม่แน่ใจนะ ผมว่าผู้หญิงจะรู้สึกว่าทุกอย่างอยู่ในตัวเขาสมบูรณ์อยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อสูญเสียความรัก เขาจึงรู้สึกว่ามีช่องโหว่ ในขณะที่ผู้ชายสนใจแต่เรื่องนอกตัว การสูญเสียความรัก คือการที่ของนอกตัวหายไป เหมือนทำของอะไรหาย
ถาม: ถ้าตัวละครผู้หญิงในเรื่องลอนดอนฯ ไม่ตาย ป่านนี้คุณคงแต่งงานไปแล้วใช่ไหม
อนุสรณ์: (หัวเราะ)
ถาม: เขามีตัวตนจริงๆ ใช่ไหม
อนุสรณ์: มีสิครับ เขาคือเพื่อนคนที่ผมรู้สึกว่าสนิทจริงๆ ถ้าเขาไม่ตายเหรอ อืม (คิดนาน) ผมว่าเราไม่ต้องไปพูดเรื่องความร้งความรัก ที่มันเกี่ยวข้องกับอารมณ์อย่างที่เราๆ รู้กันดี แต่นี่เราพูดแค่ว่า การที่เราเกิดขึ้นมาในโลกใบนี้ ย่อมต้องมีคนจำนวนมากอยู่ในความทรงจำของเรา และเราก็ได้ไปอยู่ในความทรงจำของคนจำนวนมากเช่นกัน สำหรับเขา เขาเป็นแรกๆ ที่ทำให้ผมอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไปในทางที่ดีขึ้น ผมเลยอยากจะเขียนหนังสือถึงเขา หรืออีกไม่นานนี้จะมีภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับเรื่องของเขา ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ ที่พูดถึงเขา แล้วทำให้ชีวิตของเขา ยังถูกจดจำได้ ผมอยากทำ คนตายก็เหมือนลูกโป่ง ที่ลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า การที่มันจะอยู่บนฟ้าได้นาน คนที่อยู่บนพื้นดินต้องออกแรงโบกลม ให้ส่งมันลอยขึ้นไปเรื่อยๆ คนที่ตายไปแล้ว จะถูกจดจำไว้ ก็ต้องมีงานเขียนถึงเขา
ถาม: พูดซะยืดยาว สรุปว่ารักกันจริงไหม
อนุสรณ์: ไอ้คำว่ารักกันจริงไหม นี่ไม่รู้หรอก รู้แค่สิ่งที่เขาแสดงออก ผมว่านี่มันเป็นเรื่องซับซ้อนนะ สมมติว่ามีคนมาชอบคุณ แล้วคุณจำเป็นต้องชอบเขาไหม ผมแค่รู้สึกว่าผมชื่นชม และรับรู้ถึงคุณค่าที่เขาให้เรา
ถาม: เขาสวยไหม
อนุสรณ์: เฮ้ย! อะไรของคุณเนี่ยะ? (หัวเราะ)
ถาม: คุณเคยแปลหนังสือเกี่ยวกับเรื่องความตายของชาวทิเบตเอาไว้ใช่ไหม
อนุสรณ์: เพราะผมต้องการความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากการที่น้องชายของผมตายไปอย่างปัจจุบันทันด่วน ตั้งแต่ผมยังเด็ก ผมสงสัยว่าทำไมเขาตายก่อนผม ทั้งที่ผมควรจะตายก่อน เพราะผมอายุมากกว่าเขา ผมเคยได้อ่านมาจากไหนไม่รู้ จำไม่ได้ เขาเขียนว่า เราจะไม่รู้ว่าคนๆ หนึ่งตาย จนกระทั่งเราไปงานศพของเขา ถ้าเราไม่ยอมไปงานศพของใคร ก็คือคุณยังทำใจไม่ได้ว่าเขาตายไปแล้ว การไม่ไปงานศพ คือการไม่ต้องเผชิญความจริง เหมือนกรณีที่ผมไม่ไปนิวยอร์ค ยิ่งนานเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่าเขายังไม่ตาย จนกระทั่งวันที่เราต้องเผชิญความจริงเสียที การเผชิญความจริง นี่รุนแรงกว่าความตายนะ ความตายของคนทุกคน ล้วนมีเรื่องราว ผมจึงถือว่าการเขียนถึงคนที่ตายไปแล้วนั้นโรแมนติกมาก เพราะคุณกำลังพยายามจะสร้างอะไรบางอย่าง ในสิ่งที่ไม่อาจจะเป็นไปได้ ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ คนที่มีชีวิตอยู่ เขาจะเปลี่ยนแปลงได้ เขาอาจจะโกรธคุณ เลิกรักคุณ แต่คนที่ตายไปแล้ว ทำอะไรไม่ได้แล้ว เขาจะคงที่แบบนั้นตลอด และ Theme นี้ปรากฏเยอะมากเลยนะในหนังและวรรณกรรม อย่างเรื่อง Yomigaeri, Be With You การคิดถึงคนที่ตายอย่างลึกซึ้ง มันเป็นความโรแมนติกของคนในยุคสมัยของเรา
ถาม: คุณว่าคนในยุคสมัยของเรา โรแมนติกมากขึ้นหรือน้อยลง
อนุสรณ์: ผมว่ามนุษย์สมัยใหม่โรแมนติกมากขึ้น แต่ในนัยยะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก อย่างเช่นหนังของหว่องกาไวนี่โคตรโรแมนติก ทั้งที่ตัวละครสัมผัสกันน้อยมาก แต่ในวินาทีที่มันพูดว่า "เราได้เจอกันและห่างกันแค่ 0.3 เซนติเมตร" โอ้โห! นี่มันจี้ดมากเลยนะ ซึ่งไม่ใช่แบบสมัยก่อน นึกออกไหม ถ้าเป็นสมัยก่อนต้องส่งดอกไม้ ต้องไปเดทกัน แต่สมัยนี้เรามีภาวะที่เสมือนหนึ่งว่าอยู่ใกล้กัน แต่ครอบครองกันไม่ได้ มันคือความจี้ดแห่งยุคสมัย เมื่อเทคโนโลยีดิจิตอลมันพัฒนาไปถึงขั้นหนึ่ง ผมรู้สึกว่ามีคุณอยู่ในใจ แต่ครอบครองคุณไม่ได้ นี่มันเป็นภาวะที่จี้ดมาก
ถาม: ในนิยายรักสมัยก่อนๆ ก็เล่าถึงความเหงาเหมือนกัน แล้วมันจี้ดแตกต่างกันอย่างไร ระหว่างความเหงาของหว่องกาไว กับความเหงาของนิยายสมัยก่อน
อนุสรณ์: ผมแค่คิดว่าความรู้สึกจี้ดของคนร่วมสมัย ต้องมีนัยยะหนึ่งที่ลึกซึ้งแฝงอยู่ คือภาวะตัวตนที่ถูกลบไป วินาทีที่ผมเจอคนที่ผมชอบ ผมพร้อมที่จะโยนตัวเองเข้าไปในตัวคนนั้น ผมจะทิ้งทุกอย่างที่เป็นตัวตนของผม นี่เป็นภาวะที่ดื่มด่ำลึกซึ้งมาก แต่ในขณะเดียวกัน เราจะรู้ตลอดว่าภาวะนั้นไม่เป็นจริง คุณเคยดู Before Sunrise ไหม แบบนั้นก็จี้ดใช่ไหม คือนัดกันว่าอีก 6 เดือนเราจะมาเจอกัน แต่สรุปว่าไม่มีใครมา มันมาเฉลยใน Before Sunset หนังภาคสอง มันจี้ดไง คือมันได้โยนตัวเองเข้าไปในซึ่งกันและกัน อนาคตข้างหน้ายังไม่สน
ถาม: ความจี้ดแบบนี้มันดีกับตัวเราไหม
อนุสรณ์: อารมณ์โรแมนติกมันเหมือนน้ำตาล เหมือนวิตะมิน ถ้าคุณกินมากถึงจุดหนึ่งกลับจะอ่อนแอ เพราะภูมิต้านทานตามธรรมชาติของคุณหายไป เรามีภูมิต้านทานบางอย่างที่จะต่อสู้กับการอกหัก แต่ถ้าคุณมีความจี้ดมากๆ คุณจะอกหักได้ง่ายขึ้น ดูเหมือนว่าเราทุกวันนี้ อยากจี้ดตลอดเวลา เพราะคุณต้องพึ่งพาโลกภายนอก คุณก็จะเหมือนลูกโป่งที่ขยายออกไปเรื่อยๆ พื้นผิวข้างนอกก็จะยิ่งบางลงทุกที ผมรู้จักคุณเพิ่มเข้ามา ผมรู้จักคนโน้นคนนี้ ยิ่งรู้จักคนมากเท่าไร ความเปราะบางในตัวผมก็จะมากขึ้นเท่านั้น เพราะผมต้องเสียสละจินตนาการเพื่อไปแชร์กับคุณ ไอ้การแชร์นี่แหละ ที่ทำให้พื้นผิวของผมบางลงทุกที ไม่มีทางที่เมื่อผมสัมผัสคุณ ผมจะไม่ถูกกระทบกระเทือน ผมต้องพร้อมที่จะเสียสละตัวเองในบางส่วนด้วย วินาทีที่ผมได้รับ SMS จากคุณ ผมพร้อมที่จะเปลี่ยนไป นี่คืออารมณ์ของยุคสมัยไง คุณมองออกไป จะเห็นว่ามีคนจำนวนมากที่พร้อม ความพร้อมคือความเปราะบาง คุณคิดดูนะ สมัยก่อนคนเราอาจจะฆ่าตัวตายเพราะเอนทรานซ์ไม่ติด แต่ปัจจุบัน เราฆ่าตัวตายด้วยเหตุผลมากกว่า 30-40 เท่า เหมือนกับที่สังคมญี่ปุ่นเคยเป็น คือทุนนิยมในยุคก่อนนั่นแหละ
ถาม: คุณพูดคำว่า "อารมณ์ของยุคสมัย" บ่อยมากเลย แล้วพอไล่เรียงดู มันมีหลายเรื่องมาก ทั้งความเหงา ความเปราะบาง การตามหาอะไรบางอย่าง ความหมกมุ่นใน ความว้าวุ่นใจ การไร้ราก ฯลฯ ทำไมมันถึงมีเยอะแบบนี้
อนุสรณ์: มันมีเยอะพอๆ กับมือถือที่เรียงขายอยู่ที่มาบุญครองนั่นล่ะมั้ง
ถาม: หรือว่าทุกเรื่องที่ไล่เรียงมา มันคือเรื่องเดียวกันหมด ที่เราสามารถสรุปมันลงมาเป็นหัวข้อเดียวได้
อนุสรณ์: อืม (คิดนาน) ในตำนานกรีกมีสัตว์ประหลาดตัวหนึ่งชื่อว่าไฮดรา ถ้าคุณตัดหัวมันหลุด หัวมันก็จะงอกออกมาใหม่อีกหลายหัว คือถ้าคุณแตะปัญหาเรื่องการไร้รากปุ๊บ มันก็จะแตกออกไปเป็นเรื่องอื่นๆ อีกเยอะแยะ ความเปราะบาง การพร้อมจะตกหลุมรักง่ายๆ ปัญหาของชีวิตคนสมัยนี้ ก็เหมือนกับหัวของไฮดรา
ถาม: จริงๆ แล้วมันคือปัญหาเรื่องจุดหมายของชีวิตหรือเปล่า ที่มนุษย์เราคิดกันมาหลายพันปีแล้ว ว่าเราเกิดมาทำไม อะไรคือจุดหมายของการมีชีวิตอยู่ เมื่อไม่มีจุดหมาย เราเลยต้องไปเข้า Sub-Culture ต้องหมกมุ่นในสิ่งบางสิ่ง ต้องตกหลุมรักคนง่ายๆ เลยเปราะบาง เลยเหงา
อนุสรณ์: (หัวเราะ) ก็เป็นได้นะ อย่างในนิยายของผม ตัวละครก็หมกมุ่นอยู่กับเต้าเจี้ยวหัวนกดอง ในนิยายของมูราคามิก็หมกมุ่นกับตู้พินบอล สิ่งที่เรากำลังหมกมุ่นอยู่ มันก็อาจจะเป็นจุดหมายที่เราตั้งเอาไว้เป็นช่วงๆ เป็นเหตุผลให้เราดำเนินชีวิตต่อไปได้ ผมมองอย่างนี้นะ เมื่อเราเปราะบางกันมากขึ้น เมื่อเราต้องปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้น เราเลยต้องการหาอะไรมาถมทับชีวิตเราให้เต็ม มาให้คำอธิบายแก่ชีวิต สำหรับมูราคามิอาจจะต้องการเครื่องพินบอล วินาทีที่เขาเดินไปเล่นมัน เขาจะรู้สึกปลอดภัย เช่นเดียวกับตัวละครของผม วินาทีที่เขาเจอเต้าเจี้ยวหัวนกดอง เขาจะได้รู้สึกว่าชีวิตที่ผ่านมานั้นไม่สูญเปล่า เทียบกับในอดีตกาล เราอาจจะเอาเรื่องอื่นมาอธิบายชีวิต อาจจะเป็นเรื่องไตรลักษณ์ อาจจะเป็นเรื่องอริยะสัจ 4 แต่สำหรับผม ขอแค่หัวนกดอง สำหรับมูราคามิคือตู้พินบอล
ถาม: แล้วพอได้มันมาถมจนเต็มแล้ว เราก็จะเริ่มไปหาสิ่งใหม่มาถมต่อไปเรื่อยๆ
อนุสรณ์: ใช่เลย เพราะยุคสมัยนี้มันเป็นแบบนี้จริงๆ คุณดูแค่โฆษณาในโทรทัศน์ ก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น เมื่อ 20 ปีก่อน เรามีแชมพูสระผมแค่ซันซิลค์ แฟซ่า ออด๊าซ แต่ทุกวันนี้เรามีแชมพูสระผมเป็นร้อยยี่ห้อ แค่เดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ตก็งงแล้ว
ถาม: อารมณ์ของยุคสมัยอย่างที่เล่ามา เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมเมืองหรือเปล่า หรือว่ามันเป็นสากล ที่เกิดในทุกสังคม ทุกประเทศ
อนุสรณ์: มันคงเริ่มต้นจากเมืองนะ แล้วมันกระจายออกไป อย่างตอนที่ผมไปพิษณุโลก แล้วพักโรงแรมม่านรูดกระจอกๆ แห่งหนึ่ง ผมเห็นเด็กวัยรุ่นขี่มอเตอร์ไซค์ซ้อนกันมา แล้วมาเปิดห้องนอนกัน ผมก็เลยคิดว่าชีวิตของเขา ก็คงเปราะบางไม่ต่างจากผม แต่เขาไปแสดงออกในความหมกมุ่นต่อมอเตอร์ไซค์ ต่อเรื่องเซ็กส์ การได้อยู่บนท้องถนน แล้วปล่อยให้สายลมตีหน้า มันเป็นสภาวะบางอย่างที่ลึกซึ้งสำหรับเขา แล้วก็จบลงด้วยการนอนกัน วันรุ่งขึ้นก็ไปกันใหม่ แล้วพวกเราก็ไปด่าเขา ทำไมมึงไม่กลัวตายเหรอวะ มึงเห็นชีวิตไม่มีค่าเหรอ ผมขอถามว่า ไอ้ผู้ใหญ่ที่ใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้น่ะ ใช้ชีวิตอย่างมีค่าแค่ไหน ชีวิตเราก็อ่อนแอในอีกมุมหนึ่งเช่นกัน เราอาจจะอ่อนแอในแง่ที่ต้องการการยืนยันจากวัตถุ แต่เขาอาจจะอ่อนแอในแง่ที่ต้องการการยืนยันจากกิจกรรม อย่างเช่นการมีกลุ่มทำอะไรร่วมกัน ไปดูหมอลำ ไปซิ่งมอเตอร์ไซค์ การได้มีกลุ่มเพื่อนร่วม Event สำหรับคนเมือง เราจะรู้สึกว่าเรามีพวก เมื่อเราได้ใช้วัตถุเดียวกัน เรื่องนี้สำคัญนะครับ มันเป็นเรื่องทุนนิยมเลย คือเรามารวมกลุ่มกันด้วยวัตถุ อย่างเช่นผมมี iPod คุณก็มี iPod เวลามานั่งร้านกาแฟแล้วมองเห็นกัน ก็รู้สึกใกล้ชิดกันแล้ว วัตถุมันกำหนดความเป็นกลุ่มได้ ในขณะที่ชาวบ้านต่างจังหวัด เขาใช้ Event กิจกรรม หรืออาจจะไปถึงระดับการมีพิธีกรรมร่วมกัน พิธีกรรมของเขาคือการไปออกันบนท้องถนนนั่นแหละ
ถาม: คุณว่าคนต่างจังหวัดในช่วงอายุเดียวกับเรา จะเก็ตหนังสือของคุณ หรือหนังสือของมูราคามิไหม
อนุสรณ์: เขาคงต้องมีกระบอกเสียงของพวกเขา ซึ่งผมก็กำลังรอดูอยู่ ว่าใครจะมาเป็นกระบอกเสียงให้เขา หรือเป็นตัวแทนของเขา ผมว่ามูราคามิก็ไม่สามารถเป็นตัวแทนให้กับยุคสมัยนี้ได้ทั้งหมด เขาก็ได้แค่คนบางส่วนเท่านั้น ยังต้องมีคนอื่นๆ อีก อย่างบานาน่า โยชิโมโต้ ที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงที่เปลี่ยวเหงา ผมหวังว่าสักวัน จะมีเด็กวัยรุ่นไทยสักคน ที่วันหนึ่งเขาเลิกซิ่งมอเตอร์ไซค์ แล้วมาจับปากกาเขียน เขียนเพื่อคนกลุ่มเดียวกับเขา
ถาม: อย่างตอนนี้ ผมเองอ่านงานของเสนีย์ เสาวพงศ์ มาลัย ชูพินิจ แล้วไม่เก็ตเลย เพราะเขาไม่ใช่กระบอกเสียงของผม ตัวแทนของผม
อนุสรณ์: ผมก็เป็นเหมือนคุณ แต่มันไม่ใช่ความผิดของวรรณกรรมเหล่านั้นนะ ปัญหาคือผู้อ่านไม่สามารถเอาตัวเองสวมเข้าไปในเรื่องราวเหล่านั้นได้อีกต่อไป
ถาม: แต่มันน่าแปลก ที่เนื้อเรื่องในวรรณกรรมร่วมสมัย มันพิลึกพิลั่น แปลกประหลาด ตัวละครหมกมุ่นอยู่กับของไร้สาระ เดินทางตามหาอะไรที่เรารู้ว่าไม่เข้าท่า แต่ผมอินกับมันเหลือเกิน
อนุสรณ์: ใช่เลยครับ อย่าง South of the Border, West of the Sun คุณจะรู้สึกว่า ไอ้พระเอกนี่มันอะไรกันนักกันหนาวะ กับผู้หญิงขาเป๋คนหนึ่ง มันยอมเสียชีวิตทั้งชีวิต ทิ้งลูกเต้า ทิ้งร้านผับ ไปหาผู้หญิงขาเป๋ แต่พออ่านๆ ไป ผมเองยังรู้สึกเลย ผมพร้อมนะ ผมถูกหนังสือเล่มนี้พาไป นี่มันคือเรื่องศาสนาเลยนะ เราถูกกล่อมให้เชื่อเลยว่านี่คือสิ่งที่สูงสุดแล้ว และเราพร้อมที่จะกระโจนลงไป เราต่างมีจุดอ่อน ผมก็มีจุดอ่อน คุณก็มีจุดอ่อน เราไม่รู้หรอกว่าสักวัน เราจะเจออะไรที่เราพร้อมจะกระโจนลงไป แต่สำหรับมูราคามิมันพูดถึงจุดอ่อนหนึ่งตลอด ซ้ำๆ ย้ำๆ อย่างใน South of the Border, West of the Sun จุดอ่อนก็ปรากฏในรูปของผู้หญิงขาเป๋ ซึ่งมัน Irresistable เหลือเกิน ในเรื่องอื่นมันก็มาปรากฏในรูปอื่น ซึ่งรวมๆ แล้วจุดอ่อนนี่คือนามธรรมอะไรบางอย่าง ผมว่าสักวันหนึ่ง ถ้าเราผ่านจุดอ่อนนี้ไปได้ เราก็จะมีกำลังจะเดินทางต่อ
ถาม: วรรณกรรมของพวกฮิปปี้ ก็กล่าวถึงเรื่องแบบนี้ การเดินทางแสวงหาอะไรบางอย่าง
อนุสรณ์: ก็จริงนะ อย่างวรรณกรรมที่เล่าถึงขับรถไปเรื่อยๆ ตามชายหาดแคลิฟอร์เนีย หรืออย่างเฮนรี่ มิลเลอร์ ที่ไม่สนอะไรนอกจากการ "เอา" ใน Sexus, Plexus, Nexus
ถาม: การเขียนงานซ้ำแบบนี้ มันมีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร
อนุสรณ์: หว่องกาไวก็ซ้ำ มูราคามิก็ซ้ำ ผมยกตัวอย่างสถาปนิกญี่ปุ่นคนหนึ่ง ชื่อว่า ทาดาโอะ ฮันโดะ เขาดังมาก ทำงานมา 30 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่งานชิ้นแรกจนถึงชิ้นล่าสุด วัสดุที่เขาใช้เป็นหลักมาตลอดคือคอนกรีตเปลือย ไม่มีการทาสีอะไร คนจำนวนมากก็สังเกตว่า เฮ้ย! คุณซ้ำนี่ น่าเบื่อ แต่สำหรับตัวเขา เขาค่อยๆ เปลี่ยนปริมาตรคอนกรีตนั้นไปเรื่อยๆ มีการเล่นกับรายละเอียดมากขึ้น เพิ่มกระจกดีไหม เอาคอนกรีตไปซ่อนใต้บ่อน้ำ นี่คือเขาทำงานซ้ำ แต่มันกระทบจิตใจมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ได้ งานชิ้นแรกๆ เป็นบ้าน ต่อมาเป็นโบสถ์ เป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นสวนศิลปะ คือเขายอมให้สาธารณะเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานเขามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างหนังของหว่องกาไว ผมว่า เขาได้พบอะไรใหม่ๆ โดยเฉพาะเรื่องล่าสุดคือ Eros ผมว่านี่อาจจะเป็นการก้าวกระโดด เปิดให้มีคนอื่นๆ มาเล่นหนังเขามากขึ้น เขากำลังมองหารสชาติใหม่ๆ ตอนนี้ผมว่าเขาได้รู้แล้วว่า คนส่วนใหญ่สามารถรับรู้งานของเขาได้ ในบางมุมที่เขาไม่เคยคิด อย่างหนัง Happy Together คนดูจะรับรู้ว่ามันเป็นหนังเกย์ แต่สำหรับเขา ผมว่ามันเป็นหนังเกี่ยวกับการเดินทางของไอ้หนุ่ม 2 คน ที่ต้องการไปน้ำตกอิกัวซู เออ! เนอะ แล้วมันก็วนมาถึงเรื่องที่คุณถาม เรื่องการออกเดินทาง และการหมกมุ่นกับอะไรก็ไม่รู้ ที่เขาถือว่าเป็นจุดหมาย
ถาม: พล็อตเรื่องการออกเดินทางเพื่อค้นหาแบบนี้ มันอยู่ในเรื่องเล่าทุกเรื่องของมนุษยชาติใช่ไหมครับ ตั้งแต่ลิเก นิทานปรัมปรา มาจนถึงหนังสือและหนังของคนยุคนี้
อนุสรณ์: ตั้งแต่กรีกแล้วนะ ยูลิซิสมันก็ออกจากเมืองใช่ไหม ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเรานี่สรุปว่า พูดถึงเรื่องการเดินทางออกจากเมืองเหมือนกันหมดเลยแฮะ แม้กระทั่งพระพุทธเจ้า ยังออกจากเมือง ไปเข้าป่า จนตรัสรู้ใช่ไหม ผมว่าความน่าสนใจของเรื่องนี้ คือมันมีคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับการเดินทาง 2 แบบ คือ Journey with a goal และอีกอันคือ Journey without end คือออกเดินทางไปแบบมีจุดหมายว่าจะไปไหน กับการออกเดินทางแบบเร่ร่อนไปเรื่อยๆ ผมว่าวรรณกรรมร่วมสมัย กำลังอยู่กับคอนเซปต์ Journey without end นะ
ถาม: คุณพูดคำว่าร่วมสมัยและยุคสมัยบ่อยมาก สำหรับคุณแล้วมันคืออะไร
อนุสรณ์: ก็คือคนที่ต้องทนกับทักษิณร่วมกับผม คนที่ดูราชินีหมอลำเหมือนกับผม คนที่ร่วมสมัยกับผม คือคนที่เสพสิ่งเดียวกับผม วิจารณ์สิ่งเดียวกับ รังเกียจสิ่งเดียวกับผม รู้สึกผิดชอบชั่วดีเหมือนกัน อย่างที่คุณบอกว่าคุณไม่เก็ตสิ่งที่เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียนแล้ว นั่นคือคุณไม่ได้ร่วมสมัยกับเสนีย์ เสาวพงศ์
ถาม: ทำไมเวลาเราพูดคำว่า "ร่วมสมัย" ปุ๊บ รายชื่อดังต่อไปนี้จะต้องไล่เรียงกันมา มูราคามิ หว่องกาไว ปราบดา หยุ่น เป็นเอก รัตนเรือง
อนุสรณ์: ผมว่าคนเรามีอะไรบางอย่างในตัว ที่ไม่เคยถูกเขย่า แล้วคนเหล่านี้ คนที่คุณเรียกเขาว่าร่วมสมัย เขาเขย่าสิ่งนั้นคุณได้ วินาทีที่คุณอ่านงานของมูราคามิจบ คุณบอกกับตัวเองว่าคุณกระโจนลงไปในนั้นได้เลย นี่คือเขาเขย่าบางอย่างในตัวคุณ คุณนึกถึงเขา เพราะเขามีอุปการะคุณ ในการช่วยเขย่าอะไรบางอย่างในตัวคุณ คุณฟังเพลงของเดเมี่ยน ไรซ์ ในหนัง Closer แล้วบอก โอ้! มันเขย่าเว้ย ผมบอกไม่ถูกนะว่ามันเขย่าอะไรยังไง คือถ้าดูหนัง Closer จริงๆ แล้วมันเขย่าจังเลย มีอยู่ฉากหนึ่ง ที่พระเอกกับนางเอกนัดไปพบกันที่ตู้ปลา แล้วก็นั่งดูปลา นั่งคุยกัน มันตลกดีนะ วันนี้ก็กำลังมีคนไปเดินสยามพารากอน เพื่อจะได้จ้องตู้ปลา ระหว่างที่กำลังคุยกันเหมือนกัน มันคืออะไร มันคืออารมณ์ที่คนร่วมสมัย รู้สึกมีพลังอำนาจอยู่กับตัว ในขณะที่เขากำลัง Observe อยู่ หนังเรื่อง Closer นี่โคตรร่วมสมัยเลย มันทำให้เรารู้สึกว่าคนเรานี่แม่ง ไม่มีแก่นสารเลย ผู้หญิงคนหนึ่ง พร้อมจะไปและก็มาได้ตลอด ตัวที่เป็นแดนเซอร์พร้อมที่จะไปและมาแบบไกลๆ เลยนะ ส่วนตัวจูเลีย โรเบิร์ต ก็พร้อมที่จะไปและมาจากชีวิตผู้ชายคนหนึ่งตลอด
ถาม: อย่างเฮมมิ่งเวย์นี่ถือร่วมสมัยไหม
อนุสรณ์: (คิดนาน) บางเรื่องก็ร่วม บางเรื่องก็ไม่ร่วม ผมว่า Old Man and the Sea ยังร่วมสมัยอยู่ มันยังเขย่าบางอย่างในตัวคุณได้ อย่างเจ ดี ซาลิงเจอร์ เรื่อง Catcher in the Rye ก็เขย่าคุณได้แน่ ความตายของเฮมมิ่งเวย์ก็ร่วมสมัย ความตายของคาวาบาตะก็ร่วมสมัย (ยาสุนาริ คาวาบาตะ) คุณลองไปถามเด็กจุฬาฯ ที่โดดตึกตายเมื่อเดือนก่อนสิ ว่าคาวาบาตะร่วมสมัยไหม ผมว่าเขาคิดเหมือนกับคาวาบาตะแน่ คือตอนที่โดดเขาต้อง peak มาก คาวาบาตะนี่ peak มาก คือกูต้องการอะไรอีกล่ะ โนเบลกูก็ได้แล้ว กูพีคแล้ว โซเซกิก็พีค (นัทสุเมะ โซเซกิ) ทุกคนพีคหมด ในขณะที่นักเขียนฝรั่งคนที่เพิ่งฆ่าตัวตาย ชื่อ ฮันเตอร์ ทอมป์สัน ผมว่าแตกต่างกัน ฝรั่งฆ่าตัวตายกับคนเอเชียฆ่าตัวตาย ด้วยเหตุผลต่างกันนิดหนึ่ง คนเอเชียฆ่าตัวตายเมื่อตัวเองพีค แต่ฝรั่งฆ่าตัวตายเมื่อตัวเองหมดแล้ว อย่างเฮมมิ่งเวย์พอรู้ตัวเองว่าหมดสภาพปุ๊บ ก็ฆ่าตัวตาย ฮันเตอร์ ทอมป์สัน พอรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เลยฆ่าตัวตาย
ถาม: แต่เคิร์ท โคเบน นี่เขาพีคมากเลยนะ ตอนที่ฆ่าตัวตาย
อนุสรณ์: อ้าว เคิร์ท โคเบน นี่ตะวันออกนะครับ วงเขาชื่อ Nirvana ใช่ไหมล่ะ
ถาม: เคยมีใครมาบอกคุณไหม ว่าคุณเขย่าเขาได้
อนุสรณ์: ก็มีบ้าง และมันรู้สึกดีนะครับ คงมีใครอีกหลายคน ที่กระดิ่งของเขาไม่เคยโดนเขย่า การได้อ่านวรรณกรรม ก็คือการเขย่ากระดิ่งของเขา
ถาม: ตอนนี้มีใครเขย่าคุณได้บ้าง มูราคามิ Closer หว่องกาไว
อนุสรณ์: ผมไม่ค่อยถูกเขย่าด้วยหว่องกาไวนะ ผมถูกเขย่าโดยเปโดร อัลโมโดวา มากกว่า ผมชอบ All About My Mother อีกคนที่เขย่าผมได้ คือ ฮิโรซากุ โคเรอิดะ ผู้กำกับ Nobody Knows น่ะ ผมถูกเขย่าโดยหว่องกาไวแค่เรื่องเดียว คือ In The Mood for Love ฉากที่พระเอกพยายามจะอัดเสียงเข้าไปในกำแพงนครวัดนั่นแหละ เขาพยายามบอกว่านี่แหละ เสียงแห่งยุคสมัย คือเดี๋ยวกูเอาเสียง Freeze ไว้ตรงนี้ก่อนนะ ตอนนี้ยังไม่มีใครได้ยินเสียงกู แต่สักวันหนึ่งข้างหน้า จะมีคนมาเปิดฟัง คือผู้กำกับมันพยายามใช้สัญลักษณ์ ว่าหนังกูไม่มีใครเก็ตเลยเหรอ ไม่มีใครแฮปปี้เลยเหรอ งั้นก็ไปพูดใส่กำแพงนครวัดดีกว่า เพลงที่ผมชอบตอนนี้ ก็เดเมียน ไรซ์ และก็เพลงจากคิวบาทั้งหลายแหล่ ตระกูลงาน ฮาวาน่าคลับ รูเบน กอนซาเลส อิบราฮิม เฟอร์เรอร์ บัวนาวิสต้าโซเชียลคลับ ผมรู้สึกว่า เฮ้ย! พระเจ้า คนเหล่านี้เมื่อก่อนมันไปหลบอยู่ที่ไหนวะ เหมือนตอนที่ไปดูงานศิลปะของ ยาโยอิ โคซาม่า ที่แสดงที่อังกฤษ ผมไปดูแล้ว โอ้! ป้าคนนี้มันไปอยู่ไหนมาวะ แกอายุ 70 แล้วนะ ผมเพิ่งได้ดูงานแก แล้วมันเพิ่งมาเขย่าผม ตอนนี้มาแสดงที่เมืองไทยด้วยนะ ที่ Playground และต้นสนแกลอรี่ ผมเดินเข้าไปในงานแสดงของแกแล้วเจอแต่จุดๆ แต่พอเดินกลับออกมาแล้ว ผมไม่เหมือนเดิมแล้ว
ถาม: คนเราถ้าถูกเขย่าบ่อยๆ นี่ดีไหมครับ
อนุสรณ์: ก็ไม่ต้องบ่อยหรอก โดนสักเดือนละครั้งนี่ ผมว่าแจ๋วแล้ว (หัวเราะ) ตอนอยู่ลอนดอนนี่มีอยู่วันหนึ่ง ที่ผมโดนเขย่า 2 หน เรียกว่าพอกลับถึงบ้านเนี่ยะ เพลียเลย โอ้โห มันมีอย่างนี้ด้วยเหรอวะ คือวันนั้นไปดูหนังของโคเรอิดะ เรื่อง After Life แล้วระหว่างทางกลับบ้าน ก็แวะดูงานศิลปะของโคซาม่า ผมรู้สึกว่าร่างกายของผมถูก Osmosis จนแฟบเลย เหมือนกับลูกอัณฑะตัวเองถูกสูบจบฟีบเลยหล่ะ โอ้โห! กูจะมีชีวิตข้างหน้าต่อไปได้อย่างไรวะเนี่ยะ กูจะสร้างงานดีๆ อย่างนั้นสู้เขาได้อย่างไร อย่างหนังเรื่อง The Ring เนี่ยะ ผู้กำกับมันชื่อไรนะ ผมดูจบแล้วไม่กล้าออกจากโรงเลยนะ ผมว่านั่นมันทำให้หนังผีสูงขึ้นอีก 1 ระดับ งานวรรณกรรม งานสถาปัตยกรรม อะไรก็ตาม มันต้องทำให้สภาวะในตัวคุณสูงขึ้น 1 ระดับ คือรู้สึกว่าไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป อย่างกาแฟเนี่ยะ กินที่ไหนก็ได้เยอะแยะ แต่พอมานั่งกินสตาร์บัคส์ คุณอาจจะ โอ้โห! ร้านนี้มันไปอยู่ไหนมาวะ มันยกกาแฟขึ้นไปอีกระดับ แล้วเมื่อคุณกินมันไปเรื่อยๆ คุณก็จะชิน คุณก็จะอยู่ระดับเดียวกับมัน แล้วคุณก็จะรอวันถูกเขย่าอีกครั้ง ด้วยกาแฟที่สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
ถาม: แบบนี้มนุษย์เราก็จะชินชา และรอให้ถูกเขย่าครั้งต่อไปตลอดเวลาสิ
อนุสรณ์: นี่คือจุดอ่อนของการเป็นผู้เสพไงล่ะ ถ้าคุณเป็นผู้เสพอย่างเดียว ร่างกายคุณจะอ่อนแอ เพราะคุณต้องรอให้คนอื่นมาเขย่า เหมือนกับในวันเปิดสยามพารากอน คนกรุงเทพฯ ไปยืนออกันหน้าห้าง แล้วบอกว่า ช่วยเขย่ากูหน่อย ช่วยเขย่ากูหน่อย คนพวกนี้ซีดเซียวนะ ถ้าจะให้ดี เมื่อคุณถูกเขย่ามาแล้ว คุณต้องถอยตัวเองออกมาเพื่อเป็นผู้ผลิตบ้าง ผมต้องไม่ยอมเป็นคนเสพย์ตลอด ผมอยากไปเขย่าคนอื่น เพื่อที่เขาจะได้รับอานิสงส์นี้ แล้วไปเขย่าคนอื่นต่อ อย่างวันนี้ผมเขย่าคุณ แล้ววันหนึ่งคุณก็จะได้ไปเขย่าคนอื่นต่อ
ถาม: แล้วอย่างแฮร์รี่ พอตเตอร์ล่ะ ที่เหล่าคนที่ถูกเขย่า มายืนรวมตัวกัน ออกันที่หน้าร้านหนังสือ รอขอลายเซ็นของ เจ เค โรลลิ่ง ในวันที่หนังสือเล่มใหม่ออก
อนุสรณ์: แต่กรณีแฮร์รี่ พอตเตอร์ มันคนละเรื่องกับที่เราคุยกันอยู่นะ มันเหมือนกับคนอ่านเหล่านั้น นับถือนิกายหนึ่ง แล้วดำเนินชีวิตตามนิกายนั้นไป นี่มัน Fundamentalism มากเลยนะ คุณไม่ต้องทำอะไร คุณแค่รอเวลา 2 ปีก็จะมีหนังสือเล่มใหม่มาให้คุณซื้อ ระหว่างการรอ 2 ปีนั้น ก็มีหนังมาคั่นให้ 1 ภาค ดังนั้นในทุกๆ ปี ชีวิตคุณก็มีความสุขไปได้ ปีที่หนังสือไม่ออก ก็มีหนังออก ปีที่ไม่มีหนังออก ก็มีหนังสือออก นิกายนี้เติบโตเร็วมาก มันถูกขยายด้วย Visual Culture เพราะเด็กรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมกับวัฒนธรรมภาพ คนรุ่นผมเติบโตมาพร้อมกับวัฒนธรรมการอ่าน
ถาม: คุณแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่มาเขย่า กับสิ่งที่เป็นนิกาย อย่างไร ทำไมคุณถือว่าแฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นนิกาย
อนุสรณ์: เพราะคนที่เสพแฮร์รี่ พอตเตอร์ ส่วนใหญ่ ไม่คิดว่าเขาจะต้องไปเขย่าอะไรใครต่อ เขาพอใจและจบกับสิ่งที่แฮร์รี่ พอตเตอร์ ให้เขาแล้ว
ถาม: นี่คือสิ่งที่คุณไปตัดสินเขานี่นา
อนุสรณ์: ก็ใช่ แต่อย่างน้อย นิกายที่ให้จินตนาการ ยังดีกว่านิกายที่ไม่ให้จินตนาการ ผู้ปกครองคงจะดีใจที่ลูกหลานได้เริ่มต้นรักการอ่าน อย่างน้อยๆ ผมว่ามันก็ดีสำหรับเด็กเล็ก คนเราทุกคนเนี่ยะ จะมากจะน้อย เราต่างสังกัดนิกายทั้งนั้น ไม่ว่าคุณจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ผมอาจจะสังกัดนิกายมูราคามิ ไม่มากก็น้อย นิกายไม่ใช่แค่การถูกเขย่า แต่เป็นการเฝ้ารอการเขย่าจากเขาด้วย คือเรามีกำหนดการที่จะต้องไปเข้าคอร์สให้เขาเขย่า เหมือนกับทุกวันอาทิตย์ต้องไปโบสถ์ หรือไปหาจานบิน ให้จานบินช่วยเขย่าหน่อย แต่อย่างมูราคามิ คงไม่ได้ตั้งใจจะให้ตัวเองเป็นนิกาย เพราะการจะเป็นนิกาย คุณจะต้องตั้งใจให้ตัวเองเข้าถึงได้ง่ายกว่านี้ คุณตั้งใจจะให้ทุกสิ่งที่เขาต้องการ อย่างแฮร์รี่ พอตเตอร์ หรือพวกหนังสือแฉ อะเดย์ก็เป็นนิกาย เริ่มแรกอะเดย์มีจิตใจที่จะเขย่า แต่คนที่เติบโตไปพร้อมกับอะเดย์ เริ่มค่อยๆ พอใจที่ได้เสพอะเดย์ คล้ายๆ กับความพอใจที่จะได้เสพแฮร์รี่ พอตเตอร์ เข้าไปทุกที แฟตเรดิโอก็เช่นเดียวกัน ที่ผมพูดๆ ไปนี่ ไม่ใช่ด้วยอคติ หรือเพราะเกลียดใครคนไหนนะ อย่างทักษิณก็เหมือนกัน คุณว่าตอนเริ่มต้นน่ะ ทักษิณอยากจะให้คนไทยคลั่งเขาขนาดนี้เหรอ ผมว่าไม่หรอก ตอนแรกสุด เขาคงแค่อยากจะตั้งพรรคไทยรักไทย เพื่อดูแลผลประโยชน์ของตัวเอง แล้วพอมาวันหนึ่ง มันโตจนเลยตัวเขาไปแล้ว อย่าง เจ เค โรว์ลิ่ง ผมว่าเขาก็ไม่ได้ตั้งใจในตอนต้น แต่เมื่อหนังสือขายดีไปสัก 2-3 เล่ม เมื่อเขาเริ่มรู้สึกว่า เขาป้อนอาหารให้สาวกเขาได้อย่างสม่ำเสมอ เขาก็จะเข้าสู่ระบบนี้
ถาม: ผมคิดว่า สิ่งไหนที่เราหลุดพ้นมันมาแล้ว เราจะถือว่ามันคือนิกาย ในขณะที่ สิ่งไหนที่เรายังอินกับมันอยู่ เราจะถือว่ามันคือการแค่มาเขย่าเรา
อนุสรณ์: ผมมองว่าเรายังมีปัญหากับคำว่า "สาวก" มันเป็นคำในแง่ลบอยู่มาก จริงๆ แล้วนิกายก็มีข้อดีของมันอยู่ คือมันทำให้เรามั่นคง ปลอดภัย ถ้าคุณจะต้องเลือกอ่านหนังสือสักเล่ม หรือนิตยสารสักฉบับ ไม่ว่ามันจะมาเขย่าคุณได้หรือไม่ก็ตาม มันยังไม่สำคัญเท่ากับความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย ที่ได้ซื้อหนังสือหรือนิตยสารเล่มนั้นมาอ่าน แทนที่คุณจะต้องไปเดินตระเวนหาซื้อวรรณกรรมเด็ก แล้วมานั่งอ่านดูเป็น 10-20 เล่ม คุณแค่ไปซื้อแฮร์รี่ พอตเตอร์มาเล่มเดียว ทุกๆ 2 ปี มันมั่นคงน่ะ ปลอดภัย ถูกไหมล่ะ เมื่อไรที่คุณเหนื่อย หมดแรง วินาทีนั้นคุณพร้อมที่จะเข้าไปสังกัดนิกายอะไรสักนิกายหนึ่ง เพราะมันให้ทุกสิ่งทุกอย่างแก่คุณได้ คุณจะมั่นคง ปลอดภัย เพราะมันบอกไว้หมด ว่าถ้าคุณทำตามมัน แบบนั้น แบบนี้ รับประกันว่าคุณจะไม่มีความกังวลใจ
ถาม: หว่องกาไวหล่ะ ถือเป็นนิกายได้หรือยัง
อนุสรณ์: ไม่หรอก เขาไม่เอาใจคนดูเท่าไรนี่ และอีกอย่างหนึ่งนะ การจะเป็นนิกายหรือไม่เป็นนิกาย ผมว่าดูได้จากว่า เมื่อมีคนมาวิจารณ์แล้ว มีคนออกมาตอบโต้แทนหรือเปล่า นี่แหละสำคัญ อย่างสนธิและเว็บไซต์ผู้จัดการ ตอนนี้เป็นนิกายหรือเปล่า ผมว่าดูได้จากว่า ถ้าคุณไปด่าสนธิ แล้วมีคนออกมาเถียงแทนหรือเปล่า
ถาม: คุณคิดว่าคุณเป็นคนที่คิดอะไรๆ ซับซ้อนเกินไปหรือเปล่า
อนุสรณ์: ผมว่าผมเป็นคนง่ายมากเลยนะ เพียงแต่ว่าเวลาผมคุยอะไรกับคนใกล้ๆ ตัว ผมรู้สึกเหมือนมันมีช่องว่างอะไรบางอย่างคั่นอยู่ตรงกลาง แต่เวลาผมคุยกับคนต่างชาติ กลับรู้สึกใกล้มากกว่า ง่ายมากกว่า อาจจะเป็นเพราะเรื่องภาษา ผมว่าผมชินกับกระบวนการความคิดแบบตะวันตก คือความคิดแบบเส้นตรง คนตะวันตกถูกความคิดแบบหนึ่งครอบงำมาตลอดนะ คือแบบเส้นตรง แบบที่ต้องไต่เต้าขึ้นไปสู่พระเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งสูงสุด ในขณะที่ตะวันออกเราเป็นความคิดเชิงราบ ที่เราอยู่ร่วมกับสิ่งหนึ่งมา จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของมันไปแล้ว
ถาม: อันนี้ใครกล่าว
อนุสรณ์: ผมกล่าว (หัวเราะ) ก็แหม เวลาผมไปเจอฝรั่ง ผมคุยกับเขา ก็พอได้ไอเดียว่าการจะดีที่สุด คือการดีขึ้นไปเรื่อยๆ แต่เวลาเราอยู่ในโลกตะวันออก ความสุขที่สุดของเรา คือการได้เป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งอื่นมากขึ้นทุกวัน
ถาม: สำหรับคุณแล้ว คุณว่าความรักคืออะไร
อนุสรณ์: เอ้อ นี่แหละ นี่คือคำถามที่ดีที่สุด (คิดนาน) เมื่อผมมีอายุมากขึ้น ผมเริ่มรู้สึกว่าผมเข้าใจตัวเองมากขึ้น ควบคุมตัวเองได้มากขึ้น และคิดถึงคนอื่นมากขึ้น สมัยเด็กๆ ผมเคยเป็นคนแบบที่ ชอบใครก็เข้าไปจีบ พอจีบมาได้แล้วเบื่อ ก็ทิ้งเขา เรียกว่าทำเวรกรรมไว้เยอะ พอมาวันนี้ ผมเริ่มรู้สึกว่าเขาก็มีหัวใจนะ มีเลือดเนื้อ มีมิติบางอย่าง ที่เมื่อคุณเดินเข้าไป แล้วเดินออกมา คุณได้นำมิตินั้นออกมาด้วย ตรงนี้เลยต้องระวัง อย่างที่ยิบรานบอก ว่าเอาน้ำ 2 แก้วมาผลัดกันกิน ในวินาทีที่คุณเดินออกมาน่ะ คุณมั่นใจแล้วหรือ ว่าแก้วที่คุณเอาออกมา เป็นแก้วของคุณหรือแก้วของเขา
ถาม: จะไปแคร์ทำไม ถ้าผู้ชายผู้หญิงเท่าเทียมกัน
อนุสรณ์: คนละประเด็นเลยครับ เพราะไม่มีกฎหมายฉบับใด อนุญาตให้เราทำร้ายจิตใจกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องจินตนาการและความรู้สึก ผมว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดในการผิดหวังกับความรัก คือการทำร้ายจินตนาการ เวลาคุณมีความรัก คุณจะสร้างจินตนาการใช่ไหม ว่าวันหนึ่ง คุณจะได้อยู่ร่วมกับเขา วันหนึ่งคุณจะได้ไปมัลดีฟกับเขา ไปดำน้ำดูปะการังสารพัด วันหนึ่งคุณจะขับรถสปอร์ตด้วยกัน แล้ววันหนึ่ง คุณก็เอาจินตนาการทั้งหมดของเขาไป ซึ่งโลกของจินตนาการนั้น เราอนุญาตแค่ให้ใครบางคนเท่านั้นที่จะเข้ามาได้ มันคือการจินตนาการร่วมกัน ความรักเป็นบ่อเกิดของจินตนาการที่สำคัญของมนุษย์ อีรอสไม่มีตัวตน มันปรากฏตัวได้เฉพาะยามค่ำ ตอนที่เจอกับไซคี ไซคีก็คือจิต จิตมันแสวงหาความสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา แต่อีรอสนี่ไม่สมบูรณ์ ความรักนี่ไม่สมบูรณ์
ถาม: แค่เรื่องความรัก คุณยังพาเราคุยกันไปได้ถึงขนาดนี้เลยเหรอ
อนุสรณ์: เวลาที่ผมคิดอะไรได้ถึงจุดหนึ่ง ก็จะเจอ 2 ทาง ทางแรกคือหาคนที่มาคุยกับเรารู้เรื่อง กับอีกทางหนึ่งคือเก็บงำมันเอาไว้กับตัว แต่คุณรู้ไหม ว่าทั้ง 2 ทาง มันก็ลงท้ายด้วยความเหงาและโดดเดี่ยว
ถาม: ก็แต่งงานซะ จะได้สิ้นเรื่องสิ้นราว ไม่ต้องคิดอะไรมากแล้ว
อนุสรณ์: ก็พยายามอยู่ ผมกำลังหาคนที่จะมาเดินอยู่รอบๆ
ถาม: เวลาจีบผู้หญิง คุณคิดเยอะๆ แบบนี้ และคุยแบบนี้หรือเปล่า
อนุสรณ์: เฮ้ย! ผมไม่ได้คิดเยอะนะ ผมคิดจบเป็นเรื่องๆ ไป คุณถามเรื่องไหน ผมก็ตอบเรื่องนั้น ผมว่าคนอื่นคิดเยอะกว่าผมเยอะ พรุ่งนี้ต้องส่งเงินผ่อนรถ ค่าโทรศัพท์มือถือ 4 เครื่องมาแล้ว โอเคแคปิตอลต้องส่งดอกพรุ่งนี้ โอเคว่า ผู้หญิงจำนวนหนึ่งคงสนใจเรื่องที่ว่าพรุ่งนี้จะจ่ายดอกเจ้าไหนก่อน มากกว่าที่จะสนใจว่าดอสโตเยฟสกี้แตกต่างจากหว่องกาไวอย่างไร
ถาม: เวลาจีบผู้หญิง คุณคุยเรื่องอะไร
อนุสรณ์: คุยเรื่องอาหารน่ะดีที่สุดครับ เวลาผมเจอผู้หญิงที่น่าสนใจ ผมนึกถึงการชวนเขาไปทานอาหาร อาหารเป็นสิ่งที่ผู้หญิงพอใจ หรือรับรู้มันได้ดีกว่าผู้ชาย
ถาม: เช่นพาเธอไปที่ร้านโคอิ แล้วก็บอก "นี่นะน้อง ฟิวชั่นฟู้ด มันอย่างโน้น อย่างนี้" ทำแบบนี้ใช่ไหม
อนุสรณ์: (หัวเราะ) ไม่ๆ ความน่าสนใจของผู้หญิง อยู่ตรงที่ว่าเธอเหมือนเป็นดินแดนขนาดใหญ่ ที่เมื่อมองจากภายนอก landscape เป็นแบบหนึ่ง แต่เมื่อเดินเข้าไป พริบตาที่คุณเดินเข้าไปในดินแดนของเขา landscape นั้นเปลี่ยนไป เหมือนเรามองภาพทรายสีส้มในออสเตรเลีย แล้วบอกว่าแม่งสวยนะ น่าไปเที่ยว แต่ถ้าคุณขับรถเข้าไปในสถานที่นั้นจริงๆ มันไม่เหมือนกับในภาพนะ มันน่ากลัวมาก เพราะมันห่างไกลเป็นร้อยๆ กิโลเมตร กว่าจะเจอเมืองสักเมือง น้ำมันหมดล่ะ ตายห่าเลย เหมือนในหนังเรื่อง Japanese Story ผู้หญิงน่าสนใจตรงนี้ คือเธอลี้ลับ น่าสนใจ และอันตราย เขาอยากคุยเรื่องอะไร เราก็พร้อมที่จะคุยกับเธอได้ จะเรื่องหนังเหรอ เรื่องหนังสือเหรอ เรื่องเพลงเหรอ คือพร้อมที่จะ Drive with her เลย ผมคุยได้หมดนะ ถ้าเป็นผู้หญิงยุโรปก็คุยในเรื่องซีเรียสๆ ได้ ถ้าเป็นผู้หญิงไทย ก็คุยเรื่องมโนสาเร่ แดจังกึม อะไรอย่างนี้
ถาม: คุณจะบอกว่าผู้หญิงไทยไร้สาระเหรอ
อนุสรณ์: ไม่ใช่ๆ ผมแค่รู้สึกว่าผู้หญิงไทยสนใจเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย แต่จริงๆ แล้วอย่าไปเปรียบเทียบอย่างนั้นเลย นี่มันเป็นมุมมองของผมคนเดียว ไม่ยุติธรรมสำหรับผู้หญิงทุกคน เอาเป็นว่าผู้หญิงแต่ละชาติมีคาแรคเตอร์ที่น่าสนใจต่างกัน เวลาคุยกับผู้หญิงไทย เหมือนกับการชมสวนเล็กๆ ที่มีความสวยงาม มีบ่อน้ำ มีดอกบัว มีต้นลั่นทม ต้นโมก เหมือนฉากในหนังเรื่องโหมโรง นึกออกไหม ผู้หญิงไทยมีความงามแบบ Delicate ในขณะที่ผู้หญิงฝรั่งจะไม่ใช่แบบนี้
ถาม: เพราะคุณไม่มีรถหรูๆ มาขับให้เธอนั่ง ไม่มีเงินพาเธอไปกินร้านโคอิ
อนุสรณ์: (หัวเราะ) เป็นไปได้ ถึงจะไปกินร้านโคอิ ผมก็ต้องโหนรถเมล์ไป สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมนะ ผมว่าตอนนี้ผู้หญิงไทย ถูก Bombard ด้วยเนื้อหาแบบเดียว ยกตัวอย่างเช่น หนังสือคอสโมฯ จะมีคอนเทนต์ไปในแบบเดียวกันหมด จะใส่รองเท้าอย่างไรให้ประสบความสำเร็จในการงาน จะทิ้งชายอย่างไรให้เข้าท่า แล้วคอนเทนต์เหล่านี้ ก็ถูกรายการทีวีนำไปอ่านออกอากาศซ้ำอีก เช่นในรายการแบบผู้หญิงถึงผู้หญิง แล้วคุณคิดดู ผู้หญิงไทยจะถูก Bombard ด้วยเนื้อหาเหล่านี้ แล้วเนื้อหาเหล่านี้มันไม่ใช่อะไรที่ตกผลึกเลย มันเป็นอะไรที่นำมาพูดคุยกันเล่นๆ ได้ Giggle อย่างเดียวเลย แล้วผมสงสัยว่ามันจะทำให้ผู้หญิงไทยจำนวนมาก ไม่พร้อมที่จะมานั่งคุยอะไรที่มันต้องตกผลึก
ถาม: จะดีกว่าไหม ถ้าคุณไปทำงานเป็นสถาปนิก เขียนแบบตึกใหญ่ๆ มีรายได้เยอะๆ จะได้มีเงินซื้อรถหรูๆ พาสาวไปกินอาหารร้านดีๆ
อนุสรณ์: นี่คุณ จริงๆ แล้วผมมีรถนะครับ ที่บ้านน่ะ เพียงแต่ผมไม่ชอบขับ แต่ผมตั้งใจว่าจะเปลี่ยนตัวเองแล้วนะ ปีหน้านะ เลิกสนใจแม่งหมดเลย แล้วไปถอยรถมาสด้า 3 มาสักคัน มีโน้ตบุคเจ๋งๆ สักเครื่อง มานั่งพิมพ์งานตามร้านแบบนี้แหละ แล้วก็ขับรถโฉบสาวไปมา คือผมก็รู้สึกว่าตัวเองก็ควรเปลี่ยน ก็อย่างที่บอก ว่าทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลง แล้วตัวเราเองจะมานั่งเหมือนเดิมตลอดเวลาได้ไง แล้วก็ไปนั่งว่าคนอื่นอย่างโน้นอย่างนี้
ถาม: การเป็นโสด ไม่มีแฟน มันถูกชดเชยด้วยการได้มีเวลาเขียนงานดีๆ เขียนวรรณกรรม ใช่ไหมครับ
อนุสรณ์: มันช่วยในแง่หนึ่ง ความเป็นโสดมันมีจุดอ่อนอย่างหนึ่ง คือทำให้คุณรู้สึกว่าคุณสื่อสารกับอะไรที่อยู่รอบตัวไม่ได้ การเขียนหนังสือ มันเป็นการที่คุณได้สื่อสารผ่านหนังสือ
ถาม: ถ้าเขียนหนังสือแล้วดังๆ จะทำให้มีแฟนสาวสวยๆ ได้ไหมครับ
อนุสรณ์: มีนักเขียนคนไหนแฟนสวยๆ บ้าง อืม ... (คิดนาน) ผมสนใจใครสักคนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจนะ แล้วก็อยู่กันไป วันต่อวัน ไปเรื่อยๆ ถ้ายังไม่เลิกกัน พอถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม ก็แต่งงานกันไป ก็แค่นั้นเอง แล้วจริงๆ งานเขียนแบบนี้มันไม่ได้ดึงคนเข้ามา คนแบบเรามีช่องว่างระหว่างคนสร้างงานกับคนอ่าน ผลงานเขียนแบบนี้ไม่ใช่น้ำหวานสำหรับแมลงมาตอม ความต้องการตอนที่หยิบปากกาขึ้นมา ไม่ใช่การเขียนหนังสือเพื่อหาแฟน มันเป็นการเขียนเพื่อหาอะไรบางอย่าง
ถาม: อ้าว คนเราจะทำอะไร ไม่ได้ถูกผลักดันด้วยเรื่องเพศและความตาย อย่างที่ฟรอยด์บอกไว้หรือครับ
อนุสรณ์: ไม่หรอกครับ ฟรอยด์มันก็คิดแบบโมเดิร์นิสม์ในตอนนั้นแหละ ที่จะลดทอนมนุษย์ลงไป ให้เหลือเพียงไม่กี่ปัจจัยที่กำหนด ซึ่งจริงแล้ว เราไม่ใช่แค่นั้นหรอก
...