Sunday, October 29, 2006

What I've Learned

...

1. คนสมัยนี้สมาธิสั้นลง และไม่ค่อยทนให้ความสนใจกับอะไรได้นานๆ
2. ระบบความคิดของผู้คน เปลี่ยนไปเป็นแบบรวบรัด เร่งรีบ ตัดทอน ตัดแบ่งเป็นห้วงๆ สรุปๆ ให้ง่าย สั้น กระชับ
3. เห็นได้ชัด จากศิลปะแขนงต่างๆ ในสมัยนี้ ที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างรวบรัด ตัดทอน ไร้ความสละสลวย ทั้งหนัง เพลง วรรณกรรม ฯลฯ
4. ในวงการวรรณกรรม แม้ผู้เขียน ตั้งใจจะเขียนอะไรเป็นเรื่องเป็นราว ที่ต้องร้อยเรียงความคิดอย่างดี ก็จะถูกอ่านแบบข้ามๆ โดยผู้อ่านอยู่ดี
5. ไม่น่าแปลกใจที่วรรณกรรมไทยดีๆ ค่อยๆ มีจำนวนน้อยลง แม้กระทั่งหนังสือรวมเรื่องสั้น ก็มีน้อยเหลือเกิน เทียบกับหนังสืออื่นๆ บนแผง
6. การเขียนแบบใหม่ คือการเขียนแบบสั้นๆ แบ่งเป็นห้วงๆ หรือเป็นข้อ ได้ถือกำเนิดขึ้น และมาทดแทนการเขียนแบบเก่า
7. ในยุคที่ไม่มีใครสนใจหรือตั้งใจจะอ่านอะไร ผู้เขียนเองก็รู้ดี ก็เลยคิดว่าไม่จำเป็นต้องตั้งใจเขียนอะไร ให้ยาว ให้สละสลวย ให้เรียงร้อยความคิด
8. การเขียนแบบใหม่นี้ ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง เริ่มแพร่หลายจากวงการนิตยสาร
9. เช่น 10 เมืองที่ต้องไปเที่ยวให้ได้ก่อนตาย, 59 คำที่ผู้หญิงพูดหลังถึงจุดสุดยอด, 7 เคล็ดลับกระชับสะโพกและพุงเผละๆ , 100 หนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน, ฯลฯ
10. คนทำนิตยสาร ไม่กล้าเรียกร้องความตั้งใจจากคนอ่าน เขาจึงต้องเขียนอะไรสั้นๆ ง่ายๆ แบ่งเป็นข้อๆ รวบรัด สรุปจบ
11. แม้กระทั่งเรื่องบทเรียนชีวิตทั้งชีวิต ของมนุษย์สักคน ยังถูกสรุปแบบรวบรัด ตัดทอน ให้กลายข้อๆ สั้นๆ ความยาวเนื้อหาทั้งหมดเพียง 2 หน้ากระดาษได้
12. การตัดแบ่งเป็นการเขียนออกเป็นห้วงๆ หรือข้อๆ ได้ทำลายรายละเอียด ความซับซ้อน ความต่อเนื่อง ของสาระที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ
13. คงเหลืออยู่แต่สาระที่ขาดวิ่นเป็นห้วงๆ
14. เปรียบได้กับระบบจำนวนในวิชาคณิตศาสตร์ ระบบจำนวนจริง (Real Number) สามารถครอบคลุมแนวความคิดเกี่ยวกับจำนวน และจำนวนตัวเลขชนิดต่างๆ ได้ทั้งหมด ทั้งตรรกยะ อตรรกยะ จำนวนนับ เศษส่วน ศูนย์ ติดลบ ฯลฯ
15. จำนวนนับ (Count Number) เป็นเพียงแค่ซับเซต (Sub-set) ที่เล็กนิดเดียว ในระบบจำนวนจริงที่กว้างใหญ่ จำนวนนับไม่สามารถแทนแนวความคิดเกี่ยวกับจำนวนได้ทั้งหมด
16. การเขียนเรื่องราวชีวิตของคน แบบเป็นข้อๆ ก็คือการตัดแบ่งเรื่องราวชีวิตเขาออกเป็นห้วงๆ เหมือนกับตัวเลขจำนวนนับ
17. บางคนเชื่อว่าการเขียนเรื่องราวชีวิตแบบเป็นห้วงๆ นี้ แสดงให้เห็นถึงการตกผลึกของชีวิต
18. ผมว่าจริงๆ แล้ว มันแสดงให้เห็นว่าคนเราสมาธิสั้นลง และไม่ค่อยทนให้ความสนใจกับอะไรได้นานๆ มากกว่า
19. ทั้ง 18 ข้อข้างบนนั่น คือ What I've Learned สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการทำงานเขียน

...

5 comments:

Anonymous said...

ชอบๆ อ่านแล้วชอบ

Anonymous said...

ย่อหน้าก็คงเหมือนการแบ่งเป็นข้อๆ เหมือนกันครับ

เดี๋ยวนี้ทำอะไรก็เป็นพื้นที่ขายไปหมด
ทุกอย่างก็แฝงโฆษณาหมด
ดีที่ภาพประกอบยังไม่ถูกคุกคาม ไม่งั้นคงต้องหาโลโก้ลูกค้า คงทุเรศลูกตาตัวเองไม่น้อย

Anonymous said...

ฉันได้เรียนรู้ว่า ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative) ถูกนำมาใช้วัดข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative) ซะอย่างนั้น เช่น ผลสอบ TOEIC ได้ 570 ขึ้นไป ถือว่าภาษาอังกฤษดี ทั้งนี้เพื่อทำให้สิ่งที่เป็นนามธรรมกลายเป็นรูปธรรม

เพื่ออะไร???

นามธรรมก็คือนามธรรม รูปธรรมก็คือรูปธรรม

งานเขียนที่ดีเพียงงานเขียนเดียว (อย่างโซเฟียลา)ก็สามารถทำให้ประทับใจไปตลอดชีวิตได้ โดยไม่ต้องอ่านงานเขียนจำนวนมากๆ

Anonymous said...

การเขียนเป็นข้อๆ ช่วยให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย
คล้ายกับการสรุปจากเนื้อหาที่อาจจะมีแต่น้ำ เมื่ออ่านจบแล้ว ก็ต้องตีความ หรือสรุปอีกครั้ง

ดังนั้นการเขียนหรือสรุปเป็นข้อๆ มันช่วยร่นระยะเวลาในการทำความเข้าใจกับเนื้อหาได้ดีเหมือนกัน

รอชมภาพวาดสีน้ำ หรือสีเทียน ของคนขี้เหงาอยู่นะ

Anonymous said...

ไม่เห็นด้วยทั้ง 100% แต่ส่วนใหญ่ก็จริ๊งจริงล่ะครับ

อย่าว่าแต่คนทั่วไป
คนที่ต้องอ่านเป็นอาชีพเดี๋ยวนี้ยังขี้เกียจอ่านอะไรยาวๆ
และอย่าว่าแต่คนอ่าน
ผมว่าคนเขียนก็ขี้เกียจเขียนอะไรยาวๆ เหมือนกันนะ