Monday, October 23, 2006

tsotsi

...

มาจองที่ไว้ก่อนครับ เดี๋ยวกำลังจะออกไปงานหนังสือ เผื่อว่าจะกลับมาไม่ทันเที่ยงคืน ไว้พอกลับมาแล้วจะเขียนวิจารณ์หนังเรื่อง Tsotsi นะครับ คราวนี้จะเขียนแบบปกติแล้ว ไม่ใช่เขียนแบบนักวิจารณ์หนังที่เก่งที่สุดในโลก แบบเมื่อสองวันก่อนแล้ว อันนั้นย้อเย่นน่ะ

ที่เขียนวิจารณ์หนังเรื่อง Munich ไปเมื่อสองวันก่อน ในบล้อกเรื่อง "นักวิจารณ์หนังที่เก่งที่สุดในโลก" http://theaestheticsofloneliness.blogspot.com/2006/10/blog-post_21.html ผมตั้งใจเพื่อ "วิจารณ์การวิจารณ์" แบบที่ไม่ค่อยเข้าท่าสักเท่าไร จริงๆ แล้วผมชอบหนังเรื่อง Munich และผมก็ชอบผลงานของสปีลเบิร์กหลายๆ เรื่อง

...

กลับมาเรื่อง Tsotsi ดีกว่า มีเพื่อนเอาแผ่นดีวีดีหนังเรื่องนี้มาให้หลายอาทิตย์แล้ว แต่ผมเพิ่งได้ดูไปเมื่อคืนวันเสาร์ เพราะกลัวว่าหนังมันจะเศร้าหนะครับ อ่านเรื่องย่อตรงปกหลังกล่องดีวีดีแล้ว คิดว่าหนังมันต้องเศร้าแหงๆ เลยเก็บเอาไว้ก่อน ปรากฏว่าจริงๆ แล้วหนังดีมากครับ ไม่ได้เศร้า ไม่ได้บีบน้ำตาอย่างที่กลัวตั้งแต่แรก มันทำให้คนดูรู้สึกอิ่มเอมใจ และมีความหวังกับผู้คนในสังคมปัจจุบันมากขึ้น มันเป็นเรื่องของวัยรุ่นอันธพาลคนหนึ่ง ไปก่อคดีปล้น ชิงทรัพย์ และขโมยรถ แล้วบังเอิญมาพบว่ามีเด็กทารกอยู่เบาะหลัง เขาเลยเก็บเด็กมาเลี้ยง แล้วเด็กนั่นก็ได้เปลี่ยนชีวิตแบบอันธพาลของเขาไปอย่างสิ้นเชิง เรื่องราวมาจากหนังสือนิยายชื่อเดียวกันนี้ ที่เขียนมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในแถบชานเมืองโยฮันเนสเบิร์ก เมืองหลวงของประเทศแอฟริกาใต้ ประเทศที่ร่ำรวยจากเหมืองทองเหมืองเพชร แต่กลับเต็มไปด้วยสลัม แหล่งเสื่อมโทรม คนยากจน และวัยรุ่นอันธพาล

ผมคิดว่าสถานการณ์ในเรื่อง Tsotsi เหมือนกับสถานการณ์ในสังคมเราทุกวันนี้ ที่มีช่องว่างทางสังคมกว้างเหลือเกิน คนรวยก็รวยล้นฟ้า และกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนจำนวนเพียงเล็กน้อย ปล่อยให้คนจนมีจำนวนมหาศาล กำลังอดอยาก ไม่มีแม้กระทั่งบ้าน ต้องไปแออัดกันในแหล่งเสื่อมโทรม ที่เต็มไปด้วยยาเสพติด การพนัน โรคระบาด ขาดโอกาสทางการศึกษา และโอกาสในการทำงาน การดำเนินชีวิต แล้วในที่สุด คนยากจนจำนวนมหาศาลเหล่านี้ ก็ผลิตลูกหลานที่เป็นวัยรุ่นอันธพาลออกมามากมาย สังคมเราทุกวันนี้จึงเต็มไปด้วยเด็กวัยรุ่นแบบ Tsotsi คำว่า Tsotsi เป็นแสลงในภาษาแอฟริกาใต้ แปลว่าอันธพาลหรือกุ๊ยข้างถนน

ถ้าคุณไม่ใช่พวกไฮโซที่ร่ำรวยขับรถเก๋ง และทำงานหรือใช้ชีวิตอยู่แต่ในแหล่งเลิศหรูตลอดวัน ถ้าคุณเป็นคนระดับเดียวกับผม คนระดับที่เดินดินกินข้าวแกง ทำงานเลิกดึกๆ ก็เดินเลียบฟุตบาธมาขึ้นรถเมล์ที่ป้าย คุณกับผมก็จะได้พบเห็น Tsotsi เหมือนๆ กัน คือพวกที่นั่งมั่วสุมกันในร้านอินเตอร์เน็ตและเกมส์ออนไลน์ นั่งกินเหล้ากันตรงฟุตบาธหน้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ขี่มอเตอร์ไซค์ซิ่งเสียงดังเป็นกลุ่มใหญ่ๆ อย่างที่เรียกว่าเด็กแว้น มีเด็กผู้หญิงตัวดำๆ อ้วนๆ แต่งตัวโป๊ๆ นั่งซ้อนท้ายไป อย่างที่เรียกว่าเด็กสก๊อย แล้วตะโกนด่าพ่อล่อแม่กันตามท้องถนน แล้วเราก็จะมาพบเห็น Tsotsi กันได้อีกที บนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกเช้า ที่มักจะลงข่าววัยรุ่นอันธพาลก่อคดีร้ายแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่สังเกตเห็นได้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

หนังเรื่อง Tsotsi พยายามจะแสดงให้เห็นว่า คนเราโดยพื้นฐานแล้วเป็นคนดี ไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำรวยแค่ไหน โดยพื้นฐานแล้วเรามีความเป็นคนเท่าๆ กัน และเราก็มีความดีเท่าๆ กัน ความแตกต่างเพียงประการเดียว ที่ทำให้คนเราแบ่งแยกออกจากกัน คือการตั้งจุดหมายในชีวิต คนเราจะพยายามเป็นคนดี ถ้าเขามองเห็นจุดหมายของชีวิตในอนาคต ว่าชีวิตเขาจะดีขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าเขามองไม่เห็นจุดหมายที่ดีในอนาคตเลย เรื่องอะไรที่เขาจะเป็นคนดีในวันนี้ให้เสียเปล่า

คนแบบซอทซี่ (หรือแว้น หรือสก๊อย) เกิดขึ้นจากความตีบตันของจุดหมายในชีวิต เขาใช้ชีวิตแบบวันต่อวันเท่านั้น อย่างที่เห็นในหนังเรื่องนี้ พวกเขาตื่นเช้ามาก็ไปนั่งกินเหล้ากับเพื่อน เล่นพนันทอยลูกเต๋า พอตกเย็น เพื่อนก็ถามแล้ว "เฮ้! ซอทซี่ เย็นนี้ไปทำอะไรกันดี?" ทุกคนในกลุ่มล้วนไร้จุดหมาย และเอาแต่ถามกันและกัน ว่าเฮ้! เย็นนี้เราไปไหนกันดี? สังเกตได้ชัดเจนว่าประโยคนี้ถูกใช้บ่อยมากในหนัง จนกลายเป็น motif ที่นำไปสู่ประเด็นหลักของหนัง คือเรื่องจุดหมายของชีวิตนั่นเอง แล้วในที่สุด เมื่อเด็กวัยรุ่นชนชั้นล่างหลายคนมารวมกัน จุดหมายพวกเขาก็ลงเอยด้วยการรวมกลุ่มกัน เพื่อไปลักวิ่งชิงปล้นไปวันๆ และลุกลามถึงขั้นลงมือฆ่าเจ้าทรัพย์เลยด้วย โดยที่ไม่มีความรู้สึกผิดหรือสะทกสะท้านใจ

เมื่อซอทซี่พบเด็กทารกที่เบาะหลัง เขาลังเลอยู่นานว่าจะเอายังไง แล้วในที่สุดก็ตัดสินใจที่จะนำกลับมาเก็บไว้ที่บ้าน โดยไม่ลงมือฆ่า หรือปล่อยให้ตายอยู่ในรถตามยถากรรม นี่แสดงให้เห็นว่าหนังต้องการจะบอกเราว่า คนเรามีความดีเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าเขาจะเป็นอันธพาลหรือฆาตกรโหดมาจากไหนก็ตาม หลังจากนั้น เด็กทารกค่อยๆ เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของซอทซี่มากขึ้น อย่างน้อยที่สุด เด็กก็ดึงเวลาในระหว่างวัน ทำให้เขาไม่ได้ออกไปนั่งกินเหล้าและเล่นพนันทอยลูกเต๋ากับเพื่อนเหมือนเคย และตอนเย็นก็ไม่ได้ออกไปตระเวนลักวิ่งชิงปล้น ต่อมา ซอทซี่ค่อยๆ ผูกพันกับเด็กมากขึ้น เขาพยายามช่วยให้เด็กคนนี้มีชีวิตรอดต่อไป ดังนั้น เด็กจึงกลายเป็นจุดหมายในชีวิตของซอทซี่

เมื่อชีวิตมีจุดหมายแล้ว ความเลว ความเถื่อน และพฤติกรรมต่อต้านสังคมทั้งหลายของซอทซี่ ก็ค่อยๆ ลดลง สุดท้าย เขาถึงกับนำเงินที่ได้มาจากการปล้นรถ ยกให้เพื่อนเอาไปสมัครสอบเรียนต่อ เพื่อที่เพื่อนจะได้หลุดพ้นออกไปจากวงจรชีวิตอันธพาลเสียที

คงไม่ต้องเฉลยตอนจบกันตรงนี้นะครับ ผมบอกแค่ว่า ในตอนจบ ซอทซี่ได้เดินทางค้นหาจุดหมายของชีวิต และได้นำจิตวิญญาณอันดีงามของตัวเองกลับคืนมาได้อย่างสมบูรณ์ ผมเชื่อว่าปัญหาสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องวัยรุ่นอันธพาลที่ก่อคดีร้ายแรงลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ จะลดลงได้เยอะ ถ้าเราชี้ให้เขาเห็นจุดหมายของชีวิตพวกเขา การให้โอกาสในการศึกษา การทำงาน และการใช้ชีวิต จะทำให้วัยรุ่นอันธพาลรู้สึกว่า มันไม่คุ้มเลย ที่จะทิ้งโอกาสเหล่านี้ไป เพื่อไปรวมกลุ่มกันทำเรื่องเลวร้าย ที่ตัวเขาเองก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา

อย่างเช่น นักเรียนช่างกลจะยกพวกตีกันไปทำไม แกงค์มอเตอร์ไซค์ซิ่งจะมาซิ่งทำไม พวกเด็กเกรียนจะโดดเรียน แล้วไปสุมหัวกันสูบบุหรี่กินเหล้า อยู่ในร้านเกมออนไลน์ทำไม ผมว่าพวกเขาเองก็ตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ ว่าจะทำเรื่องเลวร้ายไปเพื่ออะไร พวกเขาเองก็คงรู้ว่ามันไม่มีประโยชน์ ไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย เพียงแค่สนุกสนานเฮฮากับเพื่อนไปวันๆ แต่บางทีพวกเขาทำไปเพียงเพราะพวกเขาไม่รู้จะทำอะไรอย่างอื่น เพราะพวกเขาไม่มีจุดหมายในชีวิตนั่นแหละ

ผมชอบประโยคคำถามในเรื่องนี้ เฮ้! เย็นนี้เราไปไหนกันดี? ถ้าเป็นซอทซี่ คำตอบคือยกพวกกันไปลักวิ่งชิงปล้น แต่ถ้าเป็นพวกเราล่ะ เราอาจจะยกพวกกันไปช็อปปิ้งที่สยามพาราก้อน ดูเหมือนกับประเด็นปัญหาทั้งหมด ของทุกคน ทุกชนชั้น มันสามารถรวบยอดให้เข้าสู่เรื่อง จุดหมายในชีวิต ได้หมดเลยแฮะ คุณมีความเห็นว่าอย่างไร

...

4 comments:

GMclub said...

จากสวยนอกซอย

1 เรารู้แค่ว่าเราดูเรื่องนี้แล้วเราอยากมีลูก!
2 นิสัยคือชะตาของมนุษย์ อย่างที่เขาว่าไว้จริงๆ

Anonymous said...

อือฮึ

ไปกินไอติม


...ตุ๊ก ตุ๊ก วิ่งผ่าน...

UAN said...

เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ดูหนังเฉินหลงเรื่อง ROB-B-HOOD (2006, BENNY CHAN) แล้วก็คิดถึง TSOTSI ขึ้นมาด้วย อาจจะเป็นเพราะว่าหนังสองเรื่องนี้กล่าวถึงโจรลักพาตัวเด็กเหมือน ๆ กัน แต่ TSOTSI ก็อาจจะดูจริงจังกว่า และมีเนื้อหาด้าน “การไถ่บาป” ที่น่าสนใจกว่า แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ROB-B-HOOD จะเป็นหนังที่ไม่ดีแต่ประการใด อ้วนดู ROB-B-HOOD ด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลินมาก และ ROB-B-HOOD ก็ทำให้ตัวเองรู้สึกดีกับ “กู่เทียนเล่อ” มากยิ่งขึ้น

กลับมาที่ TSOTSI ส่วนตัวรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้สามารถแสดงความสัมพันธ์อันตรึงเครียดปนโรแมนติกของตัวละครเอกในเรื่องออกมาได้ค่อนข้างดี โดยตัวหนังมีกลิ่นอายและสไตล์อะไรบางอย่างที่ไปได้ดีกับรสนิยมของฮอลลีวู้ด จึงทำให้ไม่แปลกใจแต่อย่างใดเมื่อทราบข่าวว่า GAVIN HOOD ผู้กำกับ TSOTSI จะได้มากำกับ RENDITION ที่มีเจค จิลเลนฮาล นำแสดง

อย่างไรก็ดี ถ้าพูดถึงหนังที่เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมปีล่าสุดแล้ว TSOTSI ก็อาจจะเป็นหนังที่ตัวเองชอบน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับหนังอีก 4 เรื่องที่เหลือคือ MERRY CHRISTMAS (ฝรั่งเศส), PARADISE NOW (ปาเลสไตน์), DON’T TELL (อิตาลี) และ SOPHIE SCHOLL (เยอรมัน)

ไม่รู้หมือนกันว่าหนังที่ชิงออสการ์ทั้ง 5 เรื่องนี้ เรื่องใดดีที่สุด แต่ถ้าตัวเองได้เป็นคณะกรรมการออสการ์ ก็อาจจะลงคะแนนให้กับ SOPHIE SCHOLL เพราะหนังเรื่องนี้มีเนื้อหาเข้มข้นถึงพริกถึงขิงเกี่ยวกับหญิงสาวที่เผชิญหน้ากับชะตากรรมอันโหดร้ายจากภัยการเมือง ที่ถ่ายทอดอารมณ์และบรรยากาศออกมาได้เข้มข้นตรงตามที่ตัวเองต้องการ

แต่หนังเรื่องที่เหลือก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน โดย DON’T TELL หนังดราม่าจากอิตาลีมีจุดเด่นตรงที่เนื้อหามีความเป็นสากลและมีความร่วมสมัยไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานเพียงใด กับเรื่องราวของ “ความลับและความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว” ที่มาพร้อมกับการแสดงอันยอดเยี่ยมของ GIOVANNA MEZZOGIORNO (FACING WINDOW)

PARADISE NOW จากปาเลสไตน์ โดดเด่นตรงความเข้มข้นด้านเนื้อหา เพราะหนังเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับมือระเบิดพลีชีพที่ต้องออกไปปฏิการโจมตีศูนย์กลางการค้าของอิสราเอลเพื่อการแก้แค้นแทนชาวปาเลสไตน์ซึ่งเป็นเรื่องที่เซ้นส์ซิทีฟมากสำหรับคนอเมริกันและชาวโลกยุคปัจจุบัน การแสดงอยู่ในระดับดี จังหวะหนังดูลงตัว และการที่หนังเรื่องนี้มาจาก “ปาเลสไตน์” ก็เป็นอะไรที่สร้างกระแสด้านการเมืองได้ดี

ส่วน MERRY CHRISTMAS จากฝรั่งเศส ก็มีจุดเด่นในการผสมผสานเนื้อหาที่หนักแน่นให้ไปกันได้กับความซาบซึ้งตรึงใจ ซึ่งในขณะที่ PARADISE NOW อาจจะทำให้อ้วนตระหนักได้เพียงความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในการก่อความรุนแรง แต่ MERRY CHRISTMAS กลับทำให้อ้วนได้ตระหนักว่าโลกของเรา “ต้อง” ยุติการก่อความรุนแรงอย่างแท้จริงและควรหันหน้ามารักกันให้มาก ๆ เพราะนายทหารฝรั่งเศส สก็อต และเยอรมัน ที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ตัวเองรู้สึกอยากจะเปลี่ยนการ “ร่วมรบ” มาเป็น “ร่วมรัก” ในทันที

โฮะ ๆ ๆ ๆ

Riverdale said...

โดยส่วนตัว ผมเองก็ไม่ค่อยชอบเรื่อง Tsotsi เท่าไหร่ ผมไม่รู้สึกถึงความแปลกใหม่ใดๆ กับหนังเรื่องนี้ และไม่เห็นว่ามันพยายามจะท้าทายอารมณ์ความรู้สึกของคนดูมากนัก มันไม่ใช่หนังแย่ แต่อาจเป็นเพราะผมคาดหวังกับมันไว้มากกว่านี้

ผมชอบ Paradise Now มากกว่าเยอะ (โดยเฉพาะฉากจบเนี่ยสุดยอด) และชอบ Don't Tell กับ Sophie Scholl มากกว่านิดหน่อย