Thursday, October 12, 2006

13 เกมสยอง

...

วันนี้นั่งพิมพ์งานอยู่ในออฟฟิศ จู่ๆ ก็มีน้องแมลงสาปตัวเล็กๆ รุ่นเด็กๆ วิ่งผ่านหน้าจอคอมพ์ไปซะงั้น สำหรับออฟฟิศนี้ แมลงสาปถือเป็นเรื่องธรรมดาสามัญประจำวันไปแล้ว ผมเอากระดาษเอกสารปัดๆ ให้มันวิ่งหนีไปพ้นๆ พอดีนึกอะไรเล่นๆ แว้บเข้ามาได้ในหัวพอดี เลยหันไปหาน้องที่นั่งทำงานอยู่โต๊ะติดกัน บอกเขาว่า ให้กินแมลงสาปตัวนี้ เดี๋ยวพี่จะให้เงินสามหมื่น คือกะว่าจะเลียนแบบหนังเรื่อง 13 เกมสยอง หน่ะครับ น้องบอก "บ้าเด่ะ! พี่กินเองเด่ะ เดี๋ยวหนูให้สามหมื่น" ผมเลยบอกว่างั้นให้สี่หมื่น เขายังคงส่ายหน้า ผมบอกว่างั้นให้ห้าหมื่น เอาสมุดบัญชีพี่ไปดูเลย มีเงินอยู่จริง กินเข้าไปเลย เดี๋ยวพรุ่งนี้พี่เอาเงินเข้าบัญชีให้แน่นอน เขาทำหน้าลังเลสักพัก แล้วก็หัวเราะฮาแตก เขาบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องความสกปรก หรือเรื่องรังเกียจแมลงสาปอะไรหรอก แต่มันเป็นเรื่องของคุณค่าของความเป็นมนุษย์มากกว่า ซึ่งผมว่าคำตอบของเขา ที่ปฏิเสธไม่ยอมกินแมลงสาปนี่แหละ คือประเด็นหลักของหนังเรื่อง 13 เกมสยอง

ผมดูหนังเรื่องนี้มาสองอาทิตย์แล้ว และพยายามคิดทบทวนประเด็นต่างๆ เพื่อเขียนวิจารณ์ให้ละเอียดๆ แต่มันติดอยู่ตรงที่ผมคิดว่าประเด็นหลักมันเกี่ยวข้องกับปรัชญาวัตถุนิยม ซึ่งผมไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องนี้ลึกนัก ถ้าใครมาอ่านบล้อกนี้แล้วพอจะมีไอเดียอะไรในจุดนี้มาช่วยอธิบายเพิ่มเติม ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับปรัชญาวัตถุนิยม ตรงที่การเล่นเกมสยอง 13 ข้อในหนัง สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนและสังคมในทุกวันนี้ มีโลกทัศน์แบบวัตถุนิยมกันมากจนเกินไปแล้ว จนมันกำลังจะนำพาพวกเราทุกคนไปสู่ความหายนะร่วมกัน

ขออธิบายเกี่ยวกับปรัชญาวัตถุนิยมสักเล็กน้อย โลกทัศน์แบบวัตถุนิยม คือการมองว่าวัตถุคือความจริงแท้เพียงอย่างเดียว ทุกอย่างในโลกล้วนเป็นเพียงวัตถุ วัตถุเกิดขึ้นมาและกำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อมองโลกทั้งใบนี้ว่าความจริงแท้คือวัตถุ ดังนั้นอะไรที่ไม่ใช่วัตถุ หรือเราจับต้องสัมผัสมันไม่ได้ หรือเป็นเรื่องนามธรรม ล้วนไม่มีจริงหรือเป็นเรื่องไร้สาระ อย่างเช่นเรื่องจิตใจ ศาสนา สวรรค์นรก ชาติหน้า รวมไปถึงเรื่องคุณธรรม ศีลธรรม คุณค่า ความดีความงาม ความเป็นมนุษย์ ฯลฯ ในโลกวัตถุนิยม เราทุกคนต่างก็ลดทอนทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ให้กลายเป็นเพียงวัตถุ จนมองไม่เห็นคุณค่าใดๆ ที่เป็นนามธรรม

เมื่อทุกอย่างเป็นวัตถุแล้ว ถ้าเราต้องการจะศึกษาวัตถุนั้นๆ เราจะใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ นักวัตถุนิยมในยุคสมัยของพวกเรา หรือที่เรียกว่านักวิทยาศาสตร์ ก็จะจัดกระทำต่อวัตถุชิ้นนั้น ด้วยการนำมาตัดแบ่งลงไป ให้เล็กจนถึงหน่วยสุดท้าย ที่ไม่สามารถแบ่งย่อยลงไปได้อีก ซึ่งเรียกว่า atom นั่นเอง เมื่อเจออะตอม นักวิทยาศาสตร์ก็ยังอุตส่าห์แบ่งย่อยมันลงไปอีกในระดับนิวตรอน โปรตรอน อิเลกตรอน และยังสามารถแบ่งลงไปอีกเป็นควากซ์ การเจอหน่วยที่เล็กที่สุดของวัตถุ ก็เท่ากับการเจอความจริงแท้ที่สุดของโลกในทัศนะของวัตถุนิยมนั่นเอง แปลว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ล้วนถูกกำหนดด้วยวัตถุหน่วยเล็กๆ เหล่านี้

และเมื่อนักวิทยาศาสตร์ต้องการจะศึกษาวัตถุในแง่คุณค่า เขาจะนำมาชั่งตวงวัด เพื่อตีค่าของมันในเชิงวัตถุ คือทำให้กลายเป็นตัวเลขในหน่วยต่างๆ ตั้งแต่ภายใน 1 อะตอม นับว่ามีจำนวนนิวตรอน โปรตรอน อิเลกตรอน กี่ตัว แต่ละตัวมีน้ำหนักเท่าไร มีขนาดกว้างยาวเท่าไร นี่แหละคือคุณค่าของวัตถุนิยม การตีค่าสิ่งต่างๆ ออกมาเป็นตัวเลขได้ แสดงให้เห็นว่ามนุษย์สามารถเข้าถึง และรู้ถึงขอบเขตของสิ่งนั้นๆ เรียบร้อยแล้ว คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับปรัชญาของตัวเลข ได้จากบล้อกที่ผมเขียนเมื่อสองเดือนก่อน เรื่อง "10 เมืองที่ควรไปเที่ยวให้ได้ก่อนตาย" ในลิงค์นี้นะครับ คลิ๊กเข้าไปได้เลย http://theaestheticsofloneliness.blogspot.com/2006/07/10.html

หนังเรื่อง 13 เกมสยอง จึงเกี่ยวข้องกับปรัชญาวัตถุนิยม ตั้งแต่ชื่อเรื่องของมันเลยครับ ตัวเลข 13 คือจำนวนเกมที่ผู้เล่นจะต้องเล่นไปเรื่อยๆ ให้ชนะได้ทั้งหมด จึงจะได้เงินรางวัล 100 ล้านบาท ซึ่งนี่ก็เป็นตัวเลขอีกแล้ว หมายความว่า สำหรับตัวละครภูชิตในเรื่อง ที่ตกอยู่ในโลกทัศน์แบบวัตถุนิยมแบบถอนตัวไม่ขึ้น ตัวเลข 13 เกม คือเส้นทางในการดำเนินชีวิตของเขา ส่วนตัวเลข 100 ล้าน คือจุดหมายของการมีชีวิตอยู่ของเขา

เกมทั้ง 13 ข้อที่เห็นในหนัง ล้วนแสดงให้เห็นว่าความเป็นมนุษย์ถูกทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่า ว่ามีอยู่จริงหรือเปล่า หรือว่ามีเพียงวัตถุเท่านั้นที่มีอยู่จริงในโลกใบนี้ เด็กที่หัวเราะกับเด็กที่ร้องไห้นั้นแตกต่างกันหรือเปล่า อาหารจีนสุดหรูกับขี้ราดน้ำเกรวี่นั้นแตกต่างกันหรือเปล่า อันธพาลกับพลเมืองนี้นั้นแตกต่างกันหรือเปล่า ความกตัญญูและครอบครัวมีอยู่จริงหรือ แกงค์มอเตอร์ไซค์ซิ่งมีความผิดมหันต์ถึงขนาดจะต้องตายสยองแบบนั้นแน่หรือ หนังได้ตั้งคำถามกับคนดู ผ่านทางสายตาของภูชิต ว่าแมลงวันในเกมข้อที่ 1 กับคนเป็นๆ ในเกมข้อที่ 13 ถือว่าเป็นเพียงวัตถุเหมือนกันหรือเปล่า ถ้าคุณเอาหนังสือพิมพ์มาตีแมลงวันตายได้ คุณก็ย่อมเอามีดไปแทงคนให้ตายได้ เพราะเหล่านั้นล้วนเป็นเพียงวัตถุเหมือนกัน คิดเสียว่ามันล้วนแล้วแต่ก่อขึ้นมาจากควากซ์ นิวตรอน โปรตรอน อิเลกตรอน จำนวนมากเหมือนกัน เพื่อที่จะให้เกมดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนครบ 13 ข้อ และคุณจะได้รับจุดหมายของชีวิต คือเงิน 100 ล้าน

ผมคิดว่า ไม่ใช่เฉพาะแค่ภูชิตคนเดียวหรอกครับ ที่มีโลกทัศน์แบบวัตถุนิยมสุดโต่ง พวกเราทุกคนในทุกวันนี้ล้วนเป็นเช่นเดียวกับเขา ชีวิตประจำวันของภูชิตที่อยู่ในเนื้อเรื่องตอนต้น สะท้อนให้คนดูได้เห็นว่าเขาก็เป็นคนแบบเดียวกับเรานี่แหละ ทำงานกินเงินเดือน ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน มีภาระครอบครัวต้องดูแล แต่ทุกอย่างในชีวิตไม่ได้ดำเนินไปง่ายๆ และดูเหมือนว่ามันกำลังจะพังทลายลงอย่างฮวบฮาบ เพียงเพราะตัวเลขยอดขายในเดือนนี้ ที่เขาทำได้ไม่เป็นไปตามเป้า เงินก็กำลังจะหมด งานก็กำลังจะโดนไล่ออก แฟนก็เลยทิ้ง รถก็โดนไฟแนนซ์ยึด ทางบ้านก็จะไม่มีเงินค่าเล่าเรียนให้น้อง ดูเหมือนว่าปัญหาทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับตัวเลขเงินทั้งนั้น แสดงให้เห็นว่า มันไม่ใช่เฉพาะตอนที่อยู่ในเกม 13 เท่านั้นหรอก ที่ภูชิตได้แปรความสุข ความสำเร็จ และจุดหมายของการมีชีวิตอยู่ ให้เป็นตัวเลขและเป็นวัตถุไปเสียหมด แต่เขาทำแบบนี้มาตั้งแต่ต้นเรื่องแล้ว และพวกเราต่างก็เป็นเช่นเดียวกันนี้

คำโปรย Tagline ในโปสเตอร์โฆษณาของหนังเรื่องนี้ เขียนประมาณว่า คุณแน่ใจหรือว่าคุณไม่ได้กำลังอยู่ในเกม ผู้กำกับได้ตั้งคำถามกับคนดูเมื่อดูหนังเรื่องนี้จบ ว่าสังคมเราในทุกวันนี้ คือเกม 13 เกมสยองหรือเปล่า สำหรับผม ผมเชื่อว่าคงไม่มีไอ้เด็กเปรตที่ไหน จะมานั่งหน้าคอมพ์แล้วจัดรายการเรียลิตี้โชว์บ้าๆ แบบนี้ แต่ผมเชื่อว่าเราทุกคนกำลังมีโลกทัศน์แบบวัตถุนิยมกันเกินไปแล้ว จึงทำให้สังคมเราเปรียบได้เหมือนกับ 13 เกมสยองจริงๆ เรากำลังวัดความสุข ความสำเร็จ และตั้งจุดหมายของชีวิต ว่าคือตัวเลขเงินเดือนและเลขเงินในบัญชีธนาคาร โดยเราต่างก็ยอมทำในสิ่งที่ลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ ทั้งของตัวเราเอง และของผู้คนที่อยู่รอบตัวเรา ผมเคยเขียนถึงการเล่นเกม Fear Factor ว่าเป็นการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ ไว้ในบล้อกเก่าๆ เรื่อง The Winner-Take-All Society อยากให้คุณลองย้อนกลับไปอ่านดู คลิ๊กเข้าไปได้ที่ http://theaestheticsofloneliness.blogspot.com/2006/08/winner-take-all-society.html

การลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ในยุคสมัยนี้ ไม่ได้ทำกันแบบน่าเกลียดน่ากลัวแบบในหนังหรือในเกมเฟียร์แฟคเตอร์ และก็ไม่ได้ทำกันแบบกดขี่ข่มเหงโฉ่งฉ่างกันแล้วนะครับ แต่เขาทำกันอย่างแนบเนียนนิ่มนวล สำหรับผม ผมว่าอย่างน้อย การเดินก้มหน้าไปตอกบัตรพนักงานทุกเช้าและทุกเย็น ก็เป็นการ dehumanized แบบหนึ่ง ที่เรายอมทำกันอย่างไม่เคยตั้งคำถาม เพราะกลัวจะโดนไล่ออกจากเกมนี้ นี่ยังไม่รวมถึงการแก่งแย่งแข่งขัน ไปจนถึงขั้นทำร้ายทำลายคนอื่น เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง อย่างที่เห็นในหนังนะครับ ซึ่งไม่รู้ว่าใครเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ของจริงมาบ้าง หรือใครอาจจะเคยเป็นผู้ลงมือกระทำแล้วก็เป็นได้ การที่เรายืนหยัดขึ้นประกาศก้อง ว่าเราไม่ยอมกินแมลงสาปเพื่อเงินห้าหมื่นบาท ตามคำท้าของเพื่อน อย่างน้อยที่สุด มันก็แปลว่าวัตถุไม่ใช้สิ่งจริงแท้เพียงสิ่งเดียว เพราะยังมีเรื่องของศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์อยู่อีก แต่มันไม่ได้แปลว่าเราได้รักษาคุณค่านี้ไว้ได้ตลอดไปหรอกครับ เรารักษามันไว้ได้แค่ในคราวนี้ แต่ใครจะรู้ล่ะ ว่าเราจะทนทานต่อไปได้นานสักแค่ไหน

ถ้าแสนนึง ผมอาจจะกิน มีใครจะมาท้าผมไหม?

...

1 comment:

Anonymous said...

บางทีก็เป็นการยากที่จะบอกว่าสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ เช่น เรื่องคุณค่าของสิ่งต่างๆนั้นมีอยู่จริงหรือเปล่า

แต่ถึงแม้ในที่สุดแล้วมันจะไม่มีจริง เราคิดว่าแค่ให้ความสำคัญกับมัน(เสมือนมีอยู่จริง) ก็ทำให้ชีวิตมีความหมายขึ้นเยอะแล้ว