Thursday, December 18, 2008

ดูหนังเป็นตุเป็นตะ - Memento

...


ผมดูหนังเรื่อง Memento ที่โรงลิโดเมื่อหลายปีก่อน จำได้ว่าช่วงนั้นกำลังเรียนปริญญาโทอยู่ เพิ่งเรียนจบคอร์สเวิร์คมาหมาดๆ และกำลังเข้าสู่ช่วงการทำวิทยานิพนธ์ ในหัวสมองตอนนั้นก็เลยมีแต่เรื่องวิชาระเบียบวิธีวิจัยที่เรียนมา เพื่อเตรียมตัวสำหรับการเริ่มต้นทำบทที่ 1 - 2 - 3 ของวิทยานิพนธ์

การไปนั่งดู Memento ด้วยการมีกรอบของวิชาระเบียบวิธีวิจัย ทำให้ผมมองเห็นหนังเรื่องนี้ในแง่มุมที่อาจจะแตกต่างจากคนอื่น


1. ภาววิทยา

Leonard Shelby: She's gone. And the present is trivia, which I scribble down as fucking notes.
(เลนนีพูดถึงเมียที่ถูกฆาตกรรม และในเหตุการณ์เดียวกันนั้นก็ทำให้หัวของเขากระทบกระเทือน กลายเป็นคนความจำระยะสั้นเสื่อม คือจำสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้เลย เขาจึงต้องใช้วิธีจดบันทึกสิ่งต่างๆ เอาไว้ในเศษกระดาษกระจัดกระจายเพื่อช่วยจำ)

- โลก ณ ปัจจุบันในหัวของเลนนี มีลักษณะเป็น Trivia คือเป็นความจริงแบบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย และเขาก็จดบันทึกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านั้นใส่เศษกระดาษ สักเป็นประโยคสั้นๆ บนผิวหนัง หรือถ่ายภาพโพลารอย์แล้วจดโน้ตเอาไว้หลังภาพ
- Trivia เป็นลักษณะการมองโลกที่ปรากฏให้เห็นประจำอยู่ในวัฒนธรรมร่วมสมัยหลายอย่าง เช่นในนิตยสารต่างๆ ที่มีเนื้อหาสั้นๆ กระจุกกระจิก เช่น 10 เมืองที่ต้องไปเที่ยวก่อนตาย หรือ 15 ข้อควรจำสำหรับการออกเดทกับผู้ชายขี้อาย เป็นต้น เมื่อรวมๆ กันเข้าไว้แล้ว เรามักจะเรียกว่ามันเป็นเนื้อหาแบบสาระบันเทิง หรืออย่างที่เราเห็นในรายการเกมส์โชว์ทางทีวี แบบเกมเศรษฐี หรือเกมทศกัณฑ์ ที่ถาม-ตอบกันถึงเรื่องความรู้รอบตัวแบบสั้นๆ
- หลายคนเมื่ออ่านนิตยสารหรือได้ดูรายการทีวีเหล่านั้น แล้วก็รู้สึกว่าตนเองได้รู้ได้เห็นข้อมูลข่าวสารความรู้มากมาย แต่ในความเห็นของผม สิ่งเหล่านั้นคือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย นำมารวมกันได้บ้าง-ไม่ได้บ้าง จริงบ้าง-ไม่จริงบ้าง
- คำถามคือ --- ความจริงของโลกเรามีลักษณะอย่างไรกันแน่? มันร้อยเรียงเป็นเรื่องราว ที่ต่อเนื่อง มีขนาดใหญ่โต เกี่ยวพันกัน ส่งผลกระทบถึงกัน หรือมันแตกออกเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
- คำถามคือ --- ถ้าความจริงของโลก แตกออกเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เราสามารถนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านั้นมารวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อให้ตรงกับความจริงของโลกได้หรือเปล่า ?


2. วิธีวิทยา

Leonard Shelby: Memory can change the shape of a room; it can change the color of a car. And memories can be distorted. They're just an interpretation, they're not a record, and they're irrelevant if you have the facts.
(เลนนีพูดกับเทดดี้ ชายลึกลับที่ผลุบๆ โผล่ๆ มาหาเขาตลอดเรื่อง เทดดี้บอกว่าสิ่งต่างๆ ที่เลนนีจดโน้ตไว้นั้นมันเชื่อได้แค่ไหน เลนนีเถียงว่ามันเชื่อถือได้มากกว่าความทรงจำ ถึงแม้เขาจะเป็นคนความจำเสื่อม แต่ด้วยการจดโน้ต ทำให้เขาตอบสนองกับเรื่องต่างๆ ได้ดีกว่าใช้ความจำเสียอีก)

- เลนนีต้องการเข้าถึงข้อเท็จจริง หรือ Fact ดังนั้นเขาจึงไม่เชื่อในความทรงจำ เขาบอกว่าความทรงจำคือเรื่องแต่ง ที่ผ่านการตีความ ผ่านการปรุงแต่งด้วยจิตใจคนมาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตำรวจสอบปากคำพยาน พยานอาจจะจำห้องผิด จำสีรถผิด ความทรงจำจึงเป็นสิ่งที่บิดเบือนได้ง่าย
- เมื่อต้องการข้อเท็จจริง เลนนีจึงเลือกใช้แต่วัตถุพยานอย่างเดียว คือการจดโน้ตต่างๆ ด้วยตัวเขาเอง
- ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการใช้วิธีวิทยา(Methodology) แบบวิทยาศาสตร์ เพื่อเข้าถึงความจริงของโลก หลักการสำคัญของวิทยาศาสตร์คือการสังเกตและจดบันทึกปรากฏการณ์ โดยไม่ใส่การตีความ หรือไม่ผ่านการปรุงแต่งข้อมูลใดๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็น ภาววิสัย (Objectivity) ปลอดจาก อัตวิสัย (Subjectivity)
- คำถามคือ --- วิธีวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ นำเราไปสู่ความจริงหรือเปล่า ?


3. ระเบียบวิธีวิจัย

Leonard Shelby: Sammy Jankis wrote himself endless notes. But he'd get mixed up. I've got a more graceful solution to the memory problem. I'm disciplined and organized. I use habit and routine to make my life possible. Sammy had no drive. No reason to make it work.
[listens and looks at his tattoo reading "John G. raped and murdered my wife"]
Leonard Shelby: Me? Yeah, I got a reason.
(เลนนีเล่าถึง แซมมี่ เจนกิส ผู้ชายคนหนึ่งซึ่งเขารู้จักและเป็นโรคความจำระยะสั้นเสื่อมเหมือนกัน เลนนีบอกว่าแซมมี่เป็นโรคนี้แล้วชีวิตล้มเหลว เพราะไม่มี disciplined and organized และ No drive No reason to make it work ในขณะที่ตัวเขาเอง 1. เป็นคนที่มี disciplined and organized อย่างมาก เขาพกปากกา กระดาษ กล้องโพลารอยด์ ติดตัวไว้ตลอดเวลา และยอมเจ็บตัวเพื่อสักบันทึกต่างๆ ลงบนผิวหนังตนเอง 2. มี Drive และ Reason ที่จะต้องมีชีวิตอยู่ คือเขาต้องล้างแค้นให้กับเมีย)

- คำว่า Discipline ในที่นี้ ผมตีความว่ามันหมายถึง "ระเบียบวิธีวิจัย" ในการศึกษาวิจัยต่างๆ ผู้วิจัยจะต้องเคร่งครัดในระเบียบวิธีวิจัย เพื่อจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และสามารถประมวลผลได้ตรงกับความจริง ในที่นี้คือระเบียบวิธีวิจัยแบบวิทยาศาสตร์นั่นเอง
- การมี Discipline ทำให้ระบบการศึกษา วงการศึกษา การทำวิจัย และวงวิชาการในโลกปัจจุบัน ดำรงอยู่ได้และเป็นจริงเป็นจังอยู่ได้ เมื่อนักศึกษาและนักวิจัยทุกคนทำการวิจัยด้วยความเคร่งครัด ทำให้ได้ผลวิจัยและวิทยานิพนธ์เล่มแล้วเล่มเล่า ก่อขึ้นรวมกันเป็นองค์ความรู้ขนาดใหญ่
- โทมัส คูนห์ เปรียบเทียบการก่อขึ้นของความรู้แบบนี้ ว่าเหมือนกับการก่อกำแพงอิฐ และเรียกมันว่า กระบวนทัศน์ หรือ Paradigm
- คนที่คิดแบบวิทยาศาสตร์จะเชื่อว่าองค์ความรู้นี้จะใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ และเข้าถึงความจริงสัมบูรณ์ในที่สุด
- คำถามคือ --- เลนนี่อ้างว่าเขามี Drive และ Reason ซึ่งเขานำมาปะปนกับ Disciplined และ Organized ของเขา การมีแรงขับและเหตุผลส่วนตัวที่รุนแรง จะยังทำให้เลนนีสามารถเคร่งครัดในระเบียบวิธีวิจัยได้อยู่หรือเปล่า ?


4. ญาณวิทยา

Leonard Shelby: I have to believe in a world outside my own mind. I have to believe that my actions still have meaning, even if I can't remember them. I have to believe that when my eyes are closed, the world's still there. Do I believe the world's still there? Is it still out there?... Yeah. We all need mirrors to remind ourselves who we are. I'm no different.
(คำพูดในฉากจบของเรื่อง เลนนีขับรถไปแล้วคิดขึ้นมาในใจ เขาหลับตา และลืมตาขึ้นมาอีกที โลกก็ดำเนินต่อไป ราวกับว่าตัวเขากับโลกแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด)

- เลนนีเชื่อว่าโลกภายนอกตัวคือความจริง ความจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่ และอยู่ภายนอกตัวเรา ไม่ว่าเราจะเข้าไปรับรู้มันหรือไม่ตาม ถึงแม้เราหลับตา แต่โลกรอบตัวก็ยังคงอยู่ตรงนั้น แบบนั้น ถือเป็นการมองความจริงแบบ Objectivity
- เทียบกับบางสำนักคิด บอกว่าความจริงไม่มีอยู่ ตราบจนเราเข้าไปรับรู้มัน หมายความว่าถ้าเราหลับตา ปิดหู และปิดประสาทสัมผัสทั้งหมด ก็เท่ากับว่าโลกรอบตัวหายไปด้วย
- ความจริงตามสำนักคิดแบบนี้ จึงเปลี่ยนแปลงไปโดยขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละบุคคล เรียกว่าความจริงแบบ Subjectivity เช่นคนตาบอดสีก็จะมีความจริงแบบหนึ่ง ผู้หญิงก็จะมีความจริงแบบหนึ่ง เด็กก็จะมีความจริงแบบหนึ่ง ความจริงสัมบูรณ์จึงไม่มีอยู่ จะมีก็แต่ความจริงสัมพัทธ์
- ในกรณีของเลนนี ถึงแม้เขาจะจำอะไรไม่ได้เลย แต่ความจริงเรื่องการตายของเมีย เรื่องภาระกิจล้างแค้น เรื่องแซมมี่ เจนกิส เรื่องอาชีพนักสืบบริษัทประกัน เรื่องโน้นเรื่องนี้ ก็ยังคงเป็นความจริงอยู่แบบนั้น
- คำถามคือ --- ความจริงของโลกภายนอก ตรงกับความจริงในหัวของเราหรือเปล่า ? คือ Objectivity ตรงกับ Subjectivity หรือเปล่า ?
- คำถามคือ --- ด้วยวิธีวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ การจดบันทึกความจริงแบบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เมื่อนำมารวมกันกลายเป็นความจริงในหัวของเลนนี่ ตรงกับความจริงของโลกภายนอกตัวเขาหรือเปล่า ?


5. การประกอบสร้างความจริง

Leonard Shelby: I'm not a killer. I'm just someone who wanted to make things right. Can't I just let myself forget what you've told me? Can't I just let myself forget what you've made me do. You think I just want another puzzle to solve? Another John G. to look for? You're John G. So you can be my John G... Will I lie to myself to be happy? In your case Teddy... yes I will.
(ก่อนจะถึงฉากจบ เป็นฉากไคลแมกซ์ของเรื่อง เมื่อเลนนีได้รู้ความจริงทุกอย่าง (พร้อมๆ กับที่คนดูก็เพิ่งรู้เหมือนกัน) ในที่สุด เขาก็เรียนรู้ที่จะเข้าไปจัดกระทำความจริง และประกอบสร้างความจริงของตนเองขึ้นมา แล้วหนังก็วนกลับไปสู่ตอนต้นเรื่อง)

- "Will I lie to myself to be happy? In your case Teddy... yes I will." ผมโกหกตัวเองเพื่อให้มีความสุขน่ะเหรอ? ในกรณีของคุณ เท็ดดี้ ใช่เลย"


หนังเรื่อง Memento ได้เผยให้เห็นจุดอ่อนของ 1. วิธีวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ 2. การมองโลกแบบ Trivia และ 3. Objectivity

แผนผังขนาดใหญ่ที่เลนนีทำขึ้นมาจากการขีดโยงกระดาษโน้ตและรูปถ่ายโพลารอยด์ คือจักรวาลความจริงของเลนนี เขาสร้างมันขึ้นมาเองกับมือ และถือเอาว่าเป็นเรื่องจริงเรื่องจัง ถึงขนาดที่ว่ามันทำให้เขาลงมือฆ่าคนได้โดยไม่รู้สึกผิด

ผมคิดว่าแผนผังนี้เปรียบเหมือนกับวิทยานิพนธ์นับล้านๆ เล่มในห้องสมุด และผลงานวิจัยอีกมากมายมหาศาล ที่เกิดขึ้นจาก Discipline เดียวกัน เมื่อเรานำมาก่อขึ้นไปกลายเป็นกำแพงความรู้สูงสุดลูกหูลูกตา และเชื่อว่าสักวันกำแพงนี้จะยิ่งใหญ่ได้เท่ากับสัจธรรมของโลก ในขณะที่เราไม่มีทางรู้เลย ว่ามีอิฐก้อนใดในกำแพงนี้ที่กร่อนร้าว

เมื่อแผนผังนี้นำเลนนีไปสู่หนทางหายนะ กำแพงความรู้ของมนุษยชาติ จะนำพวกเราไปสู่หนทางใด

...

1 comment:

wichstandup said...

"ข้อสังเกตเรื่องจุดอ่อนของนั้นน่าสนใจเป็นวิธีมองที่น่าสนใจทีเดียว

ส่วนเรื่องแผนผังนั่นผมมั่นใจว่ามันจะไม่พาเราไปหาความจริงแน่นอน แต่อย่างน้อยมันเป็นวิถีที่เราจะทำให้เราอยู่ได้ ไม่ว่าจะตอบความต้องการในด้านความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ ความต้องการเอาชนะธรรมชาติ ความอวดดื้อถือดีหรืออะไรก็ตาม

มันเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น แต่สิ่งที่จะทำให้เราไปสู่หายนะผมว่าคือ ขีดความสามารถในการรับรู้ของมนุษย์เองต่างหาก นั่นก็คือการที่หนังแสดงถึงอาการและผลข้างเคียงจากโรคความจำสั้นของเลนนี่ ที่ทำให้เขาต้องกระทำอะไรไปอย่างนั้น"