Wednesday, December 24, 2008

ดูหนังเป็นตุเป็นตะ - Hostel Part 2

...


วิเคราะห์หนังเรื่อง Hostel Part 2 อย่างละเอียดยิบ ทีละเฟรมๆ บทความนี้เหมาะสำหรับคนที่เคยดูแล้วทั้งสองภาค เพื่อจะได้ทำความเข้าใจหนังอย่างลึกซึ้ง มากไปกว่าความสนุกจากฉากทัณฑ์ทรมานในหนัง และเหมาะมากสำหรับคนที่ไม่คิดว่าจะดูอยู่แล้ว เพราะเกลียดหนังแนวนี้ แต่ก็อยากจะรู้เรื่องแนวความคิดเรื่องการท่องเที่ยวในโลกยุค Late Capitalism และ Postmodernism


1. ฉากเปิดเรื่องสื่อความหมายได้อย่างครบถ้วน ว่าหนังเรื่องนี้กำลังต้องการพูดถึง Theme วิพากษ์การท่องเที่ยว โดยการเผาทำลายวัตถุสิ่งของที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวดังนี้
1.1 ภาพถ่ายบัตรประชาชนและบัตรเครดิตของผู้หญิง เป็นการสื่อว่าหนังเรื่องนี้จะพุ่งเป้าไปยังนักท่องเที่ยวหญิง
1.2 หมวกแก็ปปักตัวอักษรว่า ROME สื่อถึงของที่ระลึก หรือ Souvinir เล็กๆ น้อยๆ ที่พวกนักท่องเที่ยวมักจะชอบซื้อไว้ ของพวกนี้มักจะมีลักษณะพิเศษคือระบุถึงสถานที่เฉพาะบางแห่ง ในที่นี้คือโรม อิตาลี
1.3 โปสการ์ดรูปหอไอเฟล โปสการ์ดก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นของที่ระลึก และเป็นที่นิยมเพราะราคาถูกสุด เป็นการสื่อถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบประหยัด หรือพวกแบคแพคกิ้งนั่นเอง
1.4 สมุดบันทึก หรือเจอร์นัล สำหรับจดบันทึกเรื่องราวการเดินทาง เป็นกิจกรรมที่นิยมกันในกลุ่มคนหนุ่มสาว ที่มองว่าการท่องเที่ยวเป็นการเดินทางแสวงหาสัจธรรมบางอย่างของชีวิต การท่องเที่ยวจึงถูกนำเข้าผูกโยงกับวรรณกรรม นักท่องเที่ยวจึงมักจะจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ราวกับว่าเขากำลังสร้างวรรณกรรมแสวงหาสิ่งที่ยิ่งใหญ่


2. ฉากต้นเรื่องเป็นการเล่าปูพื้นย้อนกลับไปถึงเรื่องราวในภาคแรก ว่ามีเด็กหนุ่มแบคแพคเกอร์คนหนึ่งรอดตายกลับมาได้ เขานึกย้อนอดีตถึงสิ่งที่ได้ไปเห็นมา ภาพนี้คือโรงงานร้างที่ถูกใช้เป็นสถานที่ฆ่าคน สัญลักษณ์ที่เด่นชัดที่สุดของมัน คือเสาปล่องไฟขนาดยักษ์ ตั้งตระหง่านเด่นเป็นสง่า มองเห็นได้แม้ในระยะไกล เสายักษ์เป็นสัญลักษณ์ของลึงค์ยักษ์
ในหนังภาคแรก หนังได้พุ่งเป้าไปที่นักท่องเที่ยวชาย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กหนุ่มชาวอเมริกัน ที่ชอบแบคแพคกิ้งไปเที่ยวประเทศห่างไกล ด้อยพัฒนา ราคาถูก และมีความ Exotic อย่างเช่นประเทศเล็กๆ ในยุโรป คือสโลวาเกีย เป้าหมายหลักของเด็กหนุ่มพวกนี้คือการหาประสบการณ์ทางเพศที่แปลกใหม่ โดยกะว่าจะไป Fuck หญิงสาวในท้องถิ่นนั้นๆ ในที่สุดพวกเขาก็ถูกหลอกและพาไปเชือด เสายักษ์ที่เปรียบเหมือนลึงค์ยักษ์ จึงเปรียบได้กับลึงค์ของคนท้องถิ่น แทนที่พวกเด็กหนุ่มแบคแพคเกอร์จะได้ไป Fuck หญิงสาวท้องถิ่น กลับมาโดนลึงค์ในท้องถิ่นนั้น Fuck เอาแทน
ฉากที่โดดเด่นในหนังภาคแรก คือฉากทัณฑ์ทรมานบนเก้าอี้รัด แบคแพคเกอร์โดนสว่านเจาะขาแบบเห็นจะๆ เขาร้องสบถสุดเสียงว่า "ฟัคๆ ฟัคๆ"


3. ฉากนี้ถ่ายภาพได้สวยและน่าสะพรึงกลัวที่สุด เมื่อแบคแพคเกอร์สาวชาวอเมริกันไม่รู้เลยว่าภัยกำลังมาถึงตัว เธอกำลังง่วนอยู่กับการจดบันทึกการเดินทาง ใส่หูฟังไอพอดอย่างสบายอารมณ์ แสดงให้เห็นถึงความไร้เดียงสา ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับโลกรอบตัวเธอ


4. นี่ก็เป็นอีกฉากที่เผยให้เห็นความไร้เดียงสา ไม่รู้เรื่องราวของโลกเลย ของพวกแบคแพคเกอร์ชาวอเมริกัน ในฉากนี้พวกเธอ 2 คนพยายามยั่วยวนแบคแพคเกอร์ชายชาวอิตาลี เพราะอยากหาประสบการณ์ทางเพศที่แปลกใหม่ ในที่สุดพวกเธอก็โดนลวนลามและขู่จะทำร้ายจนกลัวหัวหด ต้องหนีกลับมาที่ห้อง และมีคนแปลกหน้าชวนให้เธอไปเที่ยวประเทศสโลวาเกีย แบคแพคเกอร์สาวคนหนึ่งแสดงความโง่ออกมาอีก ว่าประเทศสโลวาเกียนี่มีสงครามอยู่ไม่ใช่เหรอ เพื่อนเธอต้องช่วยตอบให้ว่านั่นมันประเทศบอสเนีย บทสนทนาในจุดนี้ เหมือนกับเรื่องเล่าตลกๆ ที่ว่ามีคนอเมริกันบางคน ยังคิดว่า Taiwan กับ Thailand เป็นประเทศเดียวกันนั่นแหละ


5. กิจกรรมทั่วๆ ไปของบรรดาแบคแพคเกอร์หนุ่มสาว
5.1 เช่าที่พักเป็น Hostel ราคาถูก เพื่อความประหยัด
5.2 ตอนเช็คอินก็ไม่ได้ดูตาม้าตาเรืออะไร สนใจแต่โปสการ์ดขายนักท่องเที่ยว
5.3 เข้าไปในห้องพัก เอาข้าวของออกจากกระเป๋า แล้วก็ออกมาเดินเที่ยวชมเมือง จินตนาการและ romanticized เมืองเล็กๆ ให้มีความโรแมนติก เพื่อตนเองจะได้นำไปจดใส่สมุดบันทึกให้มันกลายเป็นวรรณกรรมแนวแสวงหาได้


6. ทั้งที่จริงแล้ว เมืองเล็กๆ เหล่านี้ไม่ได้โรแมนติกอย่างที่ตนเอง romanticized มันไว้ มันเต็มไปด้วยภัยนตรายมากมาย แม้แต่เด็กเล็กๆ ในเมืองก็รวมตัวกันเป็นแกงค์อันธพาล คอยรีดไถนักท่องเที่ยว


7. ความแหลมคมของหนัง Hostel ภาค 2 คือนอกเหนือจากมันจะวิพากษ์วิจารณ์พวกแบคแพคเกอร์ แบบที่ทำเอาไว้อย่างยอดเยี่ยมแล้วในภาคแรก ในภาคนี้มันได้ขยายการวิพากษ์วิจารณ์ไปสู่การท่องเที่ยวของคนกลุ่มผู้ใหญ่ที่เป็นนักธุรกิจด้วย โดยนำคนสองกลุ่มนี้มาดำเนินเรื่องคู่กันไป เปรียบเทียบและเปรียบต่างกันอยู่ตลอดเวลา
ในขณะที่คนหนุ่มสาวอเมริกันท่องเที่ยวแบบแบคแพคกิ้ง เพื่อการแสวงหาประสบการณ์แปลกใหม่ บางคนมองว่าการแบคแพคกิ้งไม่ใช่การท่องเที่ยว แต่เป็นการศึกษา และถือเป็นพิธีกรรม หรือ Ritual สำหรับการข้ามผ่านช่วงวัย หรือ Coming of Age เป็นกิจกรรมที่เด็กหนุ่มสาวทุกคนจะต้องทำ หลังจากเรียนจบไฮสคูล วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย ก่อนจะเข้าสู่ชีวิตการทำงาน ก็ต้องเที่ยวหัวราน้ำเป็นการทิ้งท้าย และหาประสบการณ์ให้กับชีวิต เหมือนๆ กับในเรื่อง The Beach ของ อเล็กซ์ การ์แลนด์ ที่นำมาทำเป็นหนังใหญ่ ลีโอนาร์โด ดีคาปริโอ นำแสดงนั่นแหละ
คนวัยผู้ใหญ่ที่เป็นนักธุรกิจ ก็ต้องการท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน โดยถือว่ามันเป็นพิธีกรรม หรือ Ritual เพื่อการข้ามผ่านสถานการณ์บางอย่างในชีวิต ซึ่งในประเด็นนี้ ผมจะกล่าวถึงอย่างละเอียดในข้อต่อไป
ภาพทางซ้ายมือคือภาพพวกแบคแพคเกอร์สาวที่ไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองกำลังจะ "ถูกเที่ยว" - ภาพทางขวามือคือภาพนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้ใหญ่นักธุรกิจที่กำลังเตรียมตัวจะ "ไปเที่ยว"
(หนังตัดต่อแบบแบ่งออกเป็น 2 กรอบซ้ายขวา เหมือนกับจะเป็นการคารวะ ไบรอัน เดอพัลม่า ผู้กำกับหนังเขย่าขวัญระดับตำนาน ที่ชอบใช้วิธีตัดต่อแบบนี้ในหนังหลายเรื่อง)


8. นักท่องเที่ยวกลุ่มผู้ใหญ่ที่เป็นนักธุรกิจ ใช้การท่องเที่ยวไปยังประเทศห่างไกล และ Exotic เพื่อเป็นการข้ามผ่านช่วงวัย หรือ Coming of Age เช่นกัน แต่เป็นช่วงวัยกลางคนที่กำลังประสบปัญหาชีวิต อย่างที่เรียกว่า Mid-life Crisis หรือวิกฤตวัยกลางคน ภาพในช่วงนี้เผยให้เห็นโลกของผู้ใหญ่ ที่ถูกห้อมล้อมไปด้วยเรื่องงาน เงิน และครอบครัว บางคนกำลังตีกอล์ฟคุยธุรกิจ บางคนยืนอยู่หน้าตลาดหุ้น บางคนนั่งในที่ประชุม บางคนนั่งอยู่กับเมียในเรือยอชท์ แต่ทุกคนละทิ้งสิ่งที่กำลังอยู่ทันที และเหมือนจะมีความสุข ตื่นเต้นดีใจ และลิงโลดมากๆ เมื่อกำลังจะได้ "ไปเที่ยว"


9. ในงานเทศกาลของท้องถิ่น นักท่องเที่ยวทั้ง 2 กลุ่มได้มาเผชิญหน้ากัน คือแบคแพคเกอร์และผู้ใหญ่นักธุรกิจ ต่างฝ่ายต่างก็กำลังเที่ยวในแบบของตนเอง และกำลังเฝ้ารอพิธีกรรมของการข้ามผ่านช่วงวัยของตนเอง กล่าวคือ ทางฝ่ายแบคแพคเกอร์สาวกำลังเฝ้ารอว่าคืนนี้จะไปมีเซ็กส์กับใคร ทางฝ่ายผู้ใหญ่นักธุรกิจก็กำลังเฝ้ารอเวลาที่จะได้ฆ่าคน


10. ฉากสำคัญของเรื่อง ที่ผู้กำกับใช้บอกเล่า Theme หลักของหนังทั้งเรื่อง เขาเล่ามันผ่านบทสนทนาของตัวละคร 2 ตัวระหว่างที่กำลังวิ่งจ็อกกิ้ง เตรียมฟิตร่างกายรอเข้าพิธีกรรมฆ่าคน
ตัวละครทั้งสองพูดกันถึงเรื่องเพื่อนคนหนึ่งที่เคยมาฆ่าคนที่นี่แล้ว เมื่อกลับไปเขาก็เปลี่ยนเป็นคนละคน คือเป็นคนที่แข็งแกร่ง น่าเกรงขาม มีอะไรบางอย่างที่พอมองหน้าแล้วก็รู้ว่าเจ้าหมอนี่เจ๋งจริง พวกเขาอยากจะเป็นแบบนั้นบ้าง กลับไปแล้วจะได้ไม่ต้องไปกลัวเมียอีก ไม่ต้องไปกลัวหัวหน้างานอีก
"สิ่งที่เรากำลังจะทำนี้ จะทำให้เราใช้ชีวิตต่อไปข้างหน้าได้อย่างคุ้มค่าที่สุด"
บทสนทนานี้เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับเรื่องพิธีกรรม หรือ Ritual ในแง่ของสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา เปรียบเหมือนกับพวกชนเผ่าในป่าอเมซอน ที่จะต้องไปกระโดดบันจี้จัมป์ตรงหน้าผาเพื่อทดสอบความกล้า ก่อนจะขึ้นเป็นหัวหน้าเผ่า หรือพวกชนเผ่าแอสกิโม ที่จะต้องไปฆ่าหมีขาวให้ได้เสียก่อน จะขึ้นเป็นหัวหน้าเผ่า อะไรทำนองนั้นแหละ แต่ในสังคมร่วมสมัย เราใช้การท่องเที่ยวแทน
ฉากนี้ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงหนังเรื่อง City Slicker ที่นำแสดงโดย บิลลี่ คริสตัล มันเป็นหนังตลกเกี่ยวกับชายหนุ่มวัยกลางคน 2 คน ที่กำลังประสบปัญหา Mid-life Crisis อย่างหนัก เลยไปซื้อทัวร์คาวบอย พวกเขาลาพักร้อนแล้วพากันไปขี่ม้าต้อนวัว โดยมีคาวบอยแก่ๆ กวนๆ เป็นไกด์นำทัวร์ รับบทโดย แจ๊ค พาแลนซ์ ดาราหนังคาวบอยรุ่นเก่า ที่เขาได้รับตุ๊กตาทองจากหนังเรื่องนี้ด้วย


11. อีกจุดหนึ่งที่ผมว่ามันแสดงให้เห็นความแหลมคมของหนัง Hostel ภาค 2 ที่เหนือกว่าภาคแรก คือการจัดให้เชือดแต่ละห้อง มีการตกแต่งให้มีลักษณะเป็นห้องแบบมี Theme Concept ที่แตกต่างกันไป เหมือนกับที่พวกโรงแรมหรือรีสอร์ทหรูๆ ในปัจจุบันนิยมทำกัน โดยการออกแบบห้องย่อยให้แตกต่างกัน ห้องนี้เป็นยานอวกาศ ห้องนี้เป็นคาวบอย ห้องนี้เป็นบาหลี ฯลฯ เป็นต้น
การออกแบบเช่นนี้ คือการสร้าง Psudo Place หรือสถานที่เทียม เป็นการจำลองสภาพแวดล้อมและสร้างบรรยากาศขึ้น เพื่อเอาใจนักท่องเที่ยวในยุคหลังสมัยใหม่ คือนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ต้องการแค่เดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวนั้น แต่ยังต้องการปรับเปลี่ยนสถานที่ท่องเที่ยวให้แตกต่าง วิลิศมาหราขึ้นไปอีก คือออกไปนอกโลก ออกไปนอกกาลเวลากันเลยทีเดียว เป็นการเติมแฟนตาซีเข้าไปให้มากขึ้นกว่าการท่องเที่ยวธรรมดา
ห้องเชือดที่เห็นมีรูปแบบเพิ่มเติมในหนังภาคนี้ คือห้องเชือดแบบอ่างอาบน้ำ และห้องเชือดแบบภัตตาคาร


12. เมื่อผู้เที่ยวกลับกลายเป็นผู้ "ถูกเที่ยว" พวกเขาจะต้องถูกอุดปาก
การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ในโลกแห่งบริโภคนิยม "ปาก" เป็นอวัยวะหลักที่คนเราใช้ในการบริโภค เมื่อเราตกเป็นฝ่ายที่ถูกเที่ยวหรือถูกบริโภค ปากจึงต้องถูกอุดไว้นั่นเอง
ที่ผ่านมาหลายทศวรรษ การท่องเที่ยวได้บริโภคทรัพยากรในท้องถิ่นที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างล้างผลาญ ทะเล ภูเขา สัตว์ป่า ต้นไม้ แม่น้ำลำคลอง วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ขนบธรรมเนียมประเพณี ถูกทำลายโดยฝีมือของนักท่องเที่ยว
ประเทศไทยของเราเองก็ตกอยู่ในสภาพของประเทศที่ "ถูกเที่ยว" เช่นกัน คุณลองนึกภาพของผู้หญิงไทยในบาร์เบียร์พัทยา ชาวพื้นเมืองบนเกาะสมุยหรือปาย สัตว์ป่าในเขาใหญ่หรือทุ่งใหญ่นเรศวร ปลาและปะการังในทะเลอันดามัน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกสูบกินโดยการท่องเที่ยว แปรสภาพให้กลายเป็นรายได้เข้าสู่ประเทศ สุดท้ายก็เหลือแต่เศษซากหรือ Waste ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
โดยส่วนตัวแล้ว ผมดูหนัง Hostel ทั้งสองภาค รวมไปถึงหนังเรื่อง The Beach ได้เห็นชะตากรรมของเหล่านักท่องเที่ยวเหล่านี้แล้วก็รู้สึกสะใจอยู่ลึกๆ แต่ถ้าจะให้ไปหลอกพวกแบคแพคเกอร์เหล่านี้มาเชือด ก็คงทำไม่ลงหรอก นี่มันหนังนะคุณ


13. นอกจากจะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการท่องเที่ยวในสังคมร่วมสมัยได้อย่างเจ็บแสบ Hostel ภาค 2 ยังปล่อยหมัดแย็บใส่ประเด็นทุนนิยมด้วยเล็กน้อย ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่ใหญ่กว่า และครอบคลุมปัญหาเรื่องการท่องเที่ยวขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง หมัดแย็บแรกคือการวิจารณ์ทุนนิยมว่าแปลงทุกสิ่งทุกอย่างให้กลายเป็นสินค้าได้ หรือ Commoditization ไม่เว้นแม้กระทั่งชีวิตมนุษย์ ภาพที่เห็นนี้คือการแปะป้ายราคาการประมูลชีวิตของแบคแพคเกอร์สาว - ภาพแบคแพคเกอร์สาวที่ยังไม่ตายสนิท ถูกนำกลับมาเช็ดล้างและทำให้เป็นสินค้าซ้ำอีกครั้ง แบบที่เรียกว่า Refurbish - และภาพแคตตาล็อกสินค้ารถมอเตอร์ไซค์ ที่บรรดาคนคุมห้องเชือดนำขึ้นมานั่งดูฆ่าเวลา ระหว่างรอให้ลงมือลูกค้าฆ่าคน หนังต้องการจะสื่อว่า พวกคนคุมห้องเชือดรับทำงานสกปรกนี้ เพื่อจะได้รับเงินเดือนแล้วไปหาซื้อรถมอเตอร์ไซค์ที่พวกเขาชอบนั่นเอง


14. หมัดแย็บใส่ทุนนิยมอีกหมัด นำเสนอผ่านสัญลักษณ์ที่เห็นบ่อยที่สุดในหนัง คือภาพหมาพันธุ์บลัดฮาวนด์ ซึ่งเป็นหมาล่าเนื้อที่นายพรานเลี้ยงเอาไว้เพื่อใช้ให้วิ่งไปคาบสัตว์ที่บาดเจ็บกลับมา สังเกตเห็นได้ชัดเจนว่าตัวละครในหนังเรื่องนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับ "การล่า" คือเป็นนายพรานผู้ล่า เป็นสัตว์ที่ถูกล่า เป็นนางนกต่อหรือเหยื่อล่อ และเป็นหมาล่าเนื้อ เปรียบเหมือนกับผู้คนในสังคมทุนนิยม นายทุนคือนายพรานผู้ล่า แรงงานก็คือหมาล่าเนื้อ ที่จะต้องรับใช้นายพราน แล้วในท้ายที่สุดก็จะตกเป็นสัตว์ที่ถูกล่าเสียเอง ในภาพนี้จะเห็น
14.1 หมาล่าเนื้อนอนอยู่แทบเท้าของนายพราน ในกล่องที่เหยียบอยู่นั่นคือหัวคนที่พยายามหนีออกจากโลกของการล่า หรือโลกทุนนิยมนั่นเอง
14.2 นักธุรกิจที่มาท่องเที่ยว ยอมจ่ายเงินหลายหมื่นเหรียญเพื่อจะได้มาล่าที่นี่ พวกเขาต้องสักลายหมาล่าเนื้อเพื่อเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งก็คือการ Identified ตัวเองว่าเป็นหมาล่าเนื้อนั่นเอง
14.3 พวกเขาก็เจ็บปวดรวดร้าว จนต้องลงไปกองกับพื้น ยืน 4 ขาเหมือนกับหมา
14.4 แล้วในที่สุด หมาก็กัดกับหมา และหมาก็กินเนื้อหมากันเอง นี่คือสัจธรรมคือโลกทุนนิยม


15. ตอนจบของเรื่อง ผู้เที่ยว - กลายเป็นผู้ถูกเที่ยว - แล้วก็ย้อนกลับไปเป็นผู้เที่ยว เมื่อนางเอกที่เป็นแบคแพคเกอร์ในตอนต้นเรื่อง และกำลังจะถูกผู้ใหญ่ที่เป็นนักธุรกิจเชือด กลับกลายมาเปิดเผยตัวว่าร่ำรวยกว่า (เนื้อเรื่องเหมือนบ้านทรายทองเป๊ะเลย ที่พจมานเปิดเผยตัวเองว่าเป็นผู้ได้รับมรดกจากท่านพ่อ) เมื่อร่ำรวยกว่า เธอก็ซื้อชีวิตตัวเอง และขอย้อนกลับไปเป็นฝ่ายเชือด หรือเป็นฝ่ายผู้เที่ยวบ้าง
บทสรุปของเรื่องนี้ ก็คือในที่สุดแล้ว หมาก็กัดหมา หมาก็กินหมา ผู้เที่ยวก็ถูกเที่ยวเสียเอง ผู้เชือดก็กลับกลายเป็นผู้ถูกเชือด ทุกอย่างวนเวียนอยู่ในโลกทุนนิยม ในโลกของเรานี้ ใครรวยกว่า ก็ได้เป็นฝ่ายเชือด ก็เท่านั้นเอง


โปรดสังเกตว่าจุดที่นางเอกซึ่งเป็นแบคแพคเกอร์สาว เลือกที่จะเชือด ก็คือลึงค์ของผู้ชาย ลองมองย้อนกลับขึ้นไปที่ ข้อ 2. นะครับ ว่าหนัง Hostel ภาคแรกนั้นพูดถึงการต่อสู้กันระหว่างลึงค์ของแบคแพคเกอร์ชาย และลึงค์ของคนท้องถิ่น พอมาในตอนจบของภาค 2 นางเอกเชือดลึงค์ของนักท่องเที่ยว
ผมเลยคิดว่าหนังต้องการจะสื่อว่า "การท่องเที่ยว" ไม่ใช่อะไรที่สูงส่ง และไม่ได้เก๋ไก๋แบบที่พวกแบคแพคเกอร์ชอบสร้างภาพกันไว้ แต่จริงๆ แล้ว มันก็คือ "การต่อสู้ของลึงค์" โดยคำว่า "ลึงค์" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงไอ้จู๋ผู้ชายแบบลุ่นๆ ดุ้นๆ นั่นน่ะครับ แต่ "ลึงค์" คือสัญลักษณ์ในแนวความคิดแบบพวก Lacanian ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ก็สามารถมีลึงค์ได้ ในระดับสัญลักษณ์นั่นเอง
การที่เราไปเที่ยวที่ไหน ก็คือการที่เรา Penetrate ลึงค์ของเราเข้าไปในสถานที่นั้น ซึ่งในที่สุด เราก็ต้องโดนลึงค์ของเจ้าถิ่น ต่อสู้ย้อนกลับมานั่นเอง นี่คือสิ่งที่ Hostel บอกคนดู


...

No comments: