...
การปะติดปะต่อความทรงจำ ให้กลายเป็นเรื่องเล่าของความรัก
ผมเอาดีวีดีรักแห่งสยามมานั่งดูอีกรอบ ดูแบบละเอียดยิบเฟรมต่อเฟรมกันเลยทีเดียว หลังจากที่ไปดูในโรงมาแล้วรอบครึ่ง (เอ๊ะ! ทำไมรอบครึ่ง? อ่านรายละเอียดได้ในบล็อก) เพื่อพยายามมองหารูปแบบอะไรบางอย่าง ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในแก่นแกนของหนังเรื่องนี้ และนี่คือรูปแบบที่ผมได้ค้นพบ และแกนของเรื่องที่ผมสามารถอธิบายได้ ขออธิบายด้วยการดูภาพ Capture ทีละฉากๆ ไล่ตามลำดับในเรื่อง
**** เนื่องจากมีมากถึง 70 ภาพ จึงโพสต์ในบล็อกเกอร์ไม่ไหว ต้องโพสต์ใส่ไว้ที่เว็บมัลติพลาย กรุณาเข้าไปอ่านเรื่องพร้อมภาพประกอบเรียงตามลำดับสวยงามได้ที่นี่***
http://aloneinthecinema.multiply.com/journal/item/1
ภาพเก่า - เพลง - ความทรงจำ - เรื่องเล่า - ความสูญเสีย
01- ฉากแรกสุด ในบ้านของมิววัยเด็ก อาม่านั่งอยู่ท่ามกลางภาพถ่ายเก่าๆ ใส่กรอบแปะบนฝาผนัง
02- มิวถามอาม่าว่าทำไมไม่ยอมย้ายบ้าน อาม่าบอกว่าแก่แล้ว ไม่อยากย้ายไปไหน
03- มิวเล่นเปียโนของอากง บทเพลงจีนเก่าๆ อาม่าเดินมาหา โปรดสังเกตว่ามีภาพถ่ายเก่าๆ บนฝาผนังจำนวนมาก
04- โคลสอัพไปที่เปียโน อาม่ากำลังเล่นและเล่า narrative หรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับความรักของตนเอง ว่าเพลงนี้อากงชอบเล่นให้อาม่าฟัง แล้วก็ถามมิวว่าฟังออกไหม ว่าเพลงนี้หมายถึงอะไร มิวตั้งใจฟัง แล้วตอบว่า อากงคิดถึงอาม่า แล้วอาม่าก็บอกว่าให้มิวหัดเล่นเปียโนให้เก่งๆ เพื่อสักวันจะได้เล่นมันให้คนรักฟังบ้าง
05- โคลสอัพไปที่ภาพเก่าของอากงกำลังเล่นเปียโน อาม่าบอกว่า ถ้าอากงกลับมาบ้าน แล้วไม่เจอใคร เขาก็จะเหงา นี่คือสาเหตุที่อาม่าไม่ยอมย้ายบ้านไป เพราะยังคงรักอากงอยู่อย่างสุดซึ้งนั่นเอง เด็กอย่างมิวในตอนนั้น ยังไม่เข้าใจว่าความรักคืออะไร และไม่รู้ว่าอาม่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์กันแน่ ?
ความรัก - ความสมบูรณ์
06- ฉากครอบครัวของโต้งนั่งกินข้าวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา มีอยู่ 4 คน คือแม่ พ่อ โต้ง และแตง นั่งกันครบทุกมุมของโต๊ะ 4 เหลี่ยม แสดงให้เห็นความครบถ้วน เต็มสมบูรณ์ ความสุข และความรักในครอบครัว หลังจากนั้นหนังก็นำเสนอว่าครอบครัวโต้งกำลังเดินทางไปเที่ยวเชียงใหม่ โดยแตงขอแยกไปเที่ยวต่อกับเพื่อน
การปะติดปะต่อ - เรื่องเล่า - ลายแทง - Elizabethtown
07- โต้งกลับมาจากเชียงใหม่ แล้วซื้อตุ๊กตาไม้แบบถอดชิ้นส่วนได้มาเป็นของขวัญให้มิว โดยแยกออกเป็นชิ้นๆ แล้วเอาไปซ่อนตามจุดต่างๆ เขียนลายแทงให้มิวเดินตามหาทีละชิ้น
08- ช่วงนี้ทำให้ผมนึกถึงฉากตอนจบของหนังเรื่อง Elizabethtown ของคาเมรอน โครว์ ไม่ได้จะจับผิดมะเดี่ยวว่าลอกเขามานะ แค่บอกว่ามันสื่อความหมายและแนวคิดเดียวกัน
09- ว่าคนสองคนจะสื่อถึงกัน เข้าใจกัน และมีความสัมพันธ์กันได้ ด้วยการมีเรื่องเล่า narrative ร่วมกัน โดยปะติดปะต่อองค์ประกอบต่างๆ ไปในเส้นทางเดียวกัน
10- โต้งบอกว่าที่บ้านชอบเล่นเกมแบบนี้ เวลาที่จะให้ของขวัญกัน ซึ่งในเนื้อเรื่องหลังจากนี้ เราจะเห็นการเล่นเกมนี้อีกหลายครั้ง
11- แต่! ... ชิ้นส่วนสุดท้ายของตุ๊กตาไม้ขาดหายไป เพราะโดนรถขยะเก็บไปเสียก่อน สะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์ของเด็กทั้งคู่นี้ขาดพร่อง เรื่องเล่าของพวกเขาไม่สมบูรณ์ และตุ๊กตาไม้ตัวนี้ได้กลายเป็นโมทิฟหลักของหนังเรื่องนี้
ชิ้นส่วนที่หายไป - ความทรงจำ - ความสูญเสีย
12- ภาพถ่ายเก่าๆ ถูกนำมาใช้อีกครั้ง (คราวที่แล้วคือภาพถ่ายของอาม่าและอากงของมิว) มาคราวนี้เป็นภาพของครอบครัวมิวระหว่างไปเที่ยวเชียงใหม่
13- แตงหายตัวไปเฉยๆ แตงจึงเปรียบเหมือนกับชิ้นส่วนที่หายไปของครอบครัวนี้ นำมาซึ่งความรู้สึกสูญเสีย พ่อเสียใจ นั่งร้องไห้ ยอมรับความสูญเสียนี้ไม่ได้ และเริ่มติดเหล้าตั้งแต่บัดนั้น
14- แม่เสียใจเหมือนกัน เดินเข้าไปในห้องนอนของแตง บนโต๊ะมีชิ้นส่วนตัวต่อจิ๊กซอว์ที่ยังต่อไม่เสร็จ วางกระจัดกระจาย และมีอัลบั้มรูปภาพถ่ายครอบครัววางอยู่ แม่หยิบขึ้นมาดูแล้วร้องไห้
15- แม่หยิบหมอนของแตงขึ้นมาซุกกอดและร้องไห้ หมอนจะถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนของความสูญเสียและการจากลาอีกครั้ง ในตอนถัดๆ ไป
16- ภาพโต๊ะอาหารของครอบครัวโต้ง คราวนี้มีเหลือกันอยู่แค่ 3 คน โต๊ะสี่เหลี่ยมมีด้านหนึ่งที่ว่างเปล่า
ฉากเปิดเรื่อง
17- กว่าจะถึงฉากเครดิตต้นเรื่อง ก็กินเวลาไปแล้ว 20 นาที ถือเป็นการเปิดเรื่องที่แปลกประหลาดดี ผมคิดว่ามะเดี่ยวทำแบบนี้ เพราะต้องการนำเสนอแก่นของเรื่อง โมทิฟ และสัญลักษณ์ต่างๆ ที่จำเป็นในการทำความเข้าใจหนังทั้งเรื่อง ให้ครบถ้วนหมดเสียก่อน ซึ่งก็ได้แก่ข้อ 1-4 ที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อนำหัวข้อ 1-4 มา intersect กัน ก็จะเหลือหัวข้อดังต่อไปนี้ "ความทรงจำ - ความสูญเสีย - ภาพเก่า - การปะติดปะต่อ - ชิ้นส่วนที่หายไป - ความรัก - เพลง"
แล้วหลังจากนี้ไป หัวข้อเหล่านี้จะถูกนำกลับมาสอดแทรกไว้ตลอดเรื่อง เพื่อให้คนดูได้เห็นมันซ้ำๆ เป็นการตอกย้ำแก่นแกนของหนัง
ความรักคืออะไร?
18- เมื่อโต้งกับมิวโตขึ้นกลายเป็นเด็กวัยรุ่น พวกเขาไม่เข้าใจว่าความรักคืออะไร ด้านหนึ่ง มิวเป็นนักดนตรีวงออกัสต์ ผู้จัดการวงบอกให้มิวแต่งเพลงรัก แต่มิวยังนึกไม่ออกว่าจะแต่งอย่างไร เพราะเรื่องเล่าเกี่ยวกับความรักของเขาไม่สมบูรณ์ ตุ๊กตาไม้ยังไม่มีจมูก
19- อีกด้านหนึ่ง โต้งเป็นแฟนกับโดนัท แต่เขาก็ไม่แน่ใจว่ารักเธอหรือเปล่า เพราะเรื่องเล่าเกี่ยวกับความรักของเขาไม่สมบูรณ์เช่นกัน
20- โต้งได้เจอมิวอีกครั้งที่สยามสแควร์ พวกเขากำลังจะเติมเรื่องเล่าของกันและกันให้สมบูรณ์
21- โต้งไปบ้านมิวเพื่อเอาซีดีไรท์เพลง มองเห็นตุ๊กตาไม้ และภาพเก่าๆ ในวัยเด็กของตนเองที่ถ่ายคู่กับมิว และมิวใส่กรอบวางไว้บนโต๊ะอย่างดี
22- โต้งมองไปที่หน้าต่างบ้านเก่าของตนเอง เห็นภาพหลอนเป็นพี่แตงยืนอยู่ แล้วถามมิวว่า เคยเห็นพี่แตงกลับมาหรือเปล่า สะท้อนให้เห็นความทุกข์จากการสูญเสีย และการเฝ้ารอให้เขากลับคืนมา เหมือนอาม่าบอกว่ารออากงกลับบ้าน (ข้อ 1)
เด็กสาวที่สร้างเรื่องเล่าเพียงฝ่ายเดียว
23- หญิงเป็นเด็กสาวข้างบ้านที่แอบรักมิว
24- โปรดสังเกตภาพถ่ายของมิวจำนวนมากแปะไว้บนฝาผนังห้องของหญิง เหมือนกับภาพของอากงที่อยู่บนฝาผนังบ้านของอาม่า (ข้อ 1) และเหมือนกับภาพถ่ายของครอบครัวโต้งตอนไปเที่ยวเชียงใหม่ (ข้อ 4) แสดงให้เห็นว่าเธอกำลังพยายามสร้างเรื่องเล่าความรักของเธอกับมิว ขึ้นจากการปะติดปะต่อเองฝ่ายเดียว ฉากนี้ดูเหมือนฝาผนังห้องของเลนนี่ ในหนังเรื่อง Memento
การเรียกร้องขอฟังเรื่องเล่า
25- พ่อมีอาการความจำเสื่อม หลงๆ ลืมๆ ชอบหยิบภาพถ่ายเก่าๆ ตอนไปเที่ยวเชียงใหม่ขึ้นมาดู ในปัจจุบัน อาการความจำเสื่อมมักจะถูกนำมาใช้เป็นเนื้อเรื่องในหนังจำนวนมาก เพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิดและปรัชญาร่วมสมัยได้ดี
26- พ่อเฝ้าถามคำถามเดิมๆ วนเวียน แตงหายไปไหน? ตอนที่ถ่ายภาพนี้แตงไปอยู่ไหน? แตงไปด้วยหรือเปล่า? ถามซ้ำแล้วซ้ำอีก จนทำให้แม่รำคาญ
ความรัก VS ความสูญเสีย
27- ฉากที่ดีที่สุดในหนังเรื่องนี้ ที่สะท้อนให้เห็นแก่นของหนังทั้งเรื่อง และกระจายออกไปสู่ตัวละครเกือบทุกตัว เริ่มต้นที่โต้งไปนอนค้างที่บ้านมิว และเริ่มต้นคุยกัน
28- มิวเริ่มเล่าถึงความรู้สึกเหงาที่เกิดขึ้นหลังจากการสูญเสียอาม่า ถือเป็นประสบการณ์ความรักและความสูญเสียครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของมิว (อีกครั้งหนึ่งคือตอนที่โต้งย้ายบ้าน)
29- ภาพตัดไปที่แม่ ออกมาตามหาโต้งว่าหายไปไหน ดึกดื่นไม่ยอมกลับบ้าน แม่กำลังหวาดกลัวต่อความสูญเสีย หลังจากที่ลูกสาวหายตัวไปเมื่อหลายปีก่อน ตอนนี้ลูกชายกำลังจะหายไปอีกคน
30- มิวตั้งประเด็นที่น่าสนใจมาก ว่าคนเราจะรักได้อย่างสุดหัวใจ โดยไม่ต้องกลัวการสูญเสียได้หรือไม่?? ย้อนกลับไปที่ข้อ 1 กับประเด็นว่า อาม่ารักอากงมาก จนถึงวันที่อากงตายไปแล้ว อาม่ายังคงเฝ้ารออากงกลับบ้าน แบบนี้อาม่าจะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์?
31- ถึงตอนเช้า โต้งกลับบ้านไปแล้ว มิวตื่นขึ้นมาเห็นข้างตัวเองว่างเปล่า หยิบหมอนที่โต้งหนุนนอนเมื่อคืนขึ้นมากอด เหมือนกับฉากแม่กอดหมอนลูกสาวในข้อ 4
ความรักที่ไร้เรื่องเล่าคือความรักที่ฉาบฉวย
32- โต้งไปเดินเที่ยวกับโดนัทที่สยามสแควร์ ตัวละครโดนัทในเรื่องนี้ ปรากฏอยู่เฉพาะที่สยามสแควร์ คนดูจะไม่เห็นบ้านของเธอ ไม่เห็นครอบครัว ไม่รู้ประวัติความเป็นมา แต่รับรู้แค่ความน่ารัก แต่งตัวหรูหรา เดินช็อปปิ้ง เตร็ดเตร่อย่างไร้จุดหมาย เป็นตัวละครที่แบนบาง ไร้เรื่องเล่า
33- ระหว่างเดินช็อปปิ้งกันอยู่ โต้งเหลือบไปเห็นตุ๊กตาไม้แบบเดียวกับที่เคยให้มิว วางขายอยู่ ตุ๊กตาไม้ตัวนี้สมบูรณ์ มีจมูกอยู่ สะท้อนให้เห็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับความรักระหว่างโต้งกับมิวที่ครบถ้วน โต้งให้ความสนใจตุ๊กตาไม้นี้อย่างมาก จนทำให้โดนัทโกรธ
34- เพราะไม่มีเรื่องเล่า ไม่มีความทรงจำ จึงไม่มีความรักให้กัน แล้วโดนัทก็เดินจากไป
การเรียกร้องขอฟังเรื่องเล่า 2
35- จูนเป็นผู้หญิงที่หน้าตาเหมือนแตง แม่เลยจ้างให้มาแสดงละครหลอกพ่อ ก่อนจะจ้าง แม่ถามอย่างเอาจริงเอาจัง ถึงประวัติความเป็นมาของจูน แสดงให้เห็นว่าตัวแม่เองก็หิวกระหายเรื่องเล่าเหมือนกับพ่อนั่นแหละ (ในข้อ 8)
36- เมื่อพาจูนมาที่บ้าน พ่อเห็นก็นึกว่าเป็นแตง เลยดีใจใหญ่ และเฝ้าแต่ถามว่าแตงหายไปไหนมา เล่าให้ฟังหน่อย
37- จูน (ที่แสร้งเป็นแตง) เล่าเรื่องเล่าแบบเป็นตุเป็นตะ ว่าความจำเสื่อม ชาวเขามาช่วยชีวิตไว้ และหาทางกลับบ้านไม่ได้ เป็นเรื่องเล่าที่ฟังแล้วนอนเซ้นส์มาก แต่ยิ่งเล่า ก็ยิ่งทำให้พ่อมีความสุข เพราะพ่อหิวกระหายเรื่องเล่ามานานแสนนาน เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าแล้ว พ่อก็ผูกพันและรักแตงได้เหมือนเดิม แสดงให้เห็นว่าความรักนั้นเกิดจากการมีเรื่องเล่าร่วมกัน กรุณาย้อนกลับไปอ่าน ข้อ 1 เกี่ยวกับเรื่องเล่าของอาม่า และ ข้อ 3 เกี่ยวกับลายแทงของโต้ง และหนัง Elizabethtown
เรื่องเล่าของจูน
38- จูนสารภาพว่าเรื่องเล่าเมื่อกี้นี้ลอกมาจากหนังเรื่อง "รักจัง" มาจนถึงตอนนี้ คนดูยังไม่รู้เลยว่าจูนมีประวัติความเป็นมาที่แท้จริงอย่างไร
39- เมื่อจูนกลับมาถึงบ้าน เป็นอพาร์ทเมนต์ห้องเล็กๆ เธออยู่คนเดียว บนผนังห้องของเธอมีภาพถ่ายใบเล็กๆ ติดเต็มไปหมดเหมือนกัน แต่กล้องไม่ได้โคลสอัพเข้าไปให้คนดูเห็นรายละเอียด เหมือนกับหนังไม่ได้ต้องการจะบอกคนดูว่าจูนคือใคร แต่บอกแค่ว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็มีเรื่องเล่าของตัวเองทั้งนั้นแหละ
เพลงก็คือเรื่องเล่านั่นเอง
40- ความสัมพันธ์ระหว่างโต้งกับมิวดำเนินไปด้วยดี เป็นแรงบันดาลใจให้มิวแต่งเพลงรักได้หวานซึ้ง ผมคิดว่าสำหรับหนังเรื่องนี้ เพลง ก็เปรียบเหมือนกับตัวต่อจิ๊กซอว์ ตุ๊กตาไม้ การเดินตามลายแทง ภาพถ่ายบนฝาผนัง ความครบถ้วน และการเกิดขึ้นของเรื่องเล่า ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับความรักและความสูญเสีย ในที่สุดมิวก็แต่งเพลงด้วยความรัก ได้เหมือนกับที่อากงเล่นเปียโนให้อาม่าฟัง (ในข้อ 1)
จูนเดินตามลายแทง
41- พ่อดีใจที่ลูกสาวกลับมา อยากจะแสดงความรักด้วยการสร้างเรื่องเล่ากันใหม่ จึงเขียนลายแทงให้จูนเดินตาม แต่จูนไม่สามารถเดินตามลายแทงได้ครบ เพราะเอาลายแทงแผ่นหนึ่งไปห่อหมากฝรั่งทิ้งเสียก่อน แสดงให้เห็นว่าจูนไม่ได้ต้องการจะมีเรื่องเล่าและความรักกับครอบครัวนี้
รักแห่งสยามสแควร์
42- ฉากนี้แสดงให้เห็นความรักรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยมีสยามสแควร์เป็นฉากหลัง เริ่มต้นที่โต้งกับมิวนั่งกินไอติมด้วยกัน โดยมิวมานั่งแทนที่โดนัท
43- โดนัทก็เดินเตร็ดเตร่ช็อปปิ้งกับผู้ชายต่อไป อย่างไร้จุดหมาย
44- (อีกแล้ว)
การเรียกร้องขอฟังเรื่องเล่า 3
45- บ้านของโต้งจัดงานเลี้ยงฉลองที่แตงกลับมา เพื่อนบ้านมาเยี่ยมเยียน และพยายามคาดคั้นขอฟังเรื่องเล่าจากจูน (ที่แสร้งเป็นแตง) ว่าหายไปไหนมา จูนก็เล่าเรื่องรักจังให้ฟังอีกรอบ หลังจากนี้ก็เป็นฉากเฟิร์สทคิสระหว่างโต้งกับมิว และแม่เดินมาเห็นเข้าพอดี
เรื่องเล่าของแม่
46- หลังจากที่ได้ดูเรื่องเล่าของใครต่อใครมาแล้ว คราวนี้ก็มาถึงเรื่องเล่าของแม่บ้าง ตั้งแต่ต้นเรื่องและนับตั้งแต่แตงหายตัวไป แม่เป็นคนที่นิ่ง เก็บอารมณ์ รักษาสภาวะตัวเองให้เดินหน้าต่อไปได้ ในขณะที่พ่อนั้นล้มเหลวเสียคนไปแล้ว หลายคนคงอยากจะรู้แล้วว่าทำไมแม่จึงดำเนินชีวิตต่อมาได้แบบนี้ คำตอบอยู่ในฉากนี้ ฉากที่แม่รีบมาหามิว และบอกให้มิวเลิกคบกับโต้งแบบคู่เกย์
47- เรื่องเล่าของแม่ คือเหลือโต้งเป็นที่พึ่งที่หวังสุดท้าย แม่รักและต้องการให้โต้งเติบโตเป็นคนปกติ เรียนจบ หางาน เก็บเงิน แต่งงาน มีลูก และมีอนาคตแบบผู้ชายปกติทั่วไป นี่คือความรักของแม่ และเรื่องเล่าของแม่ เรื่องที่แม่คาดหวังจากโต้ง
การพังทลายของเรื่องเล่า
48- เมื่อหญิงรู้ความจริงว่ามิวเป็นเกย์ ก็เสียใจและวิ่งกลับมาที่ห้อง ฉีกทึ้งภาพถ่ายของมิวที่แปะไว้บนฝาผนังทิ้ง ภาพถ่ายเหล่านี้รวมตัวกันเป็นเรื่องเล่าความรักที่มีต่อมิว เมื่อไม่มีทางสมหวังกับมิวแล้ว หญิงก็ทำลายเรื่องเล่านี้ทิ้ง
49- แม่ร้องไห้เป็นครั้งที่สอง ครั้งแรกคือเมื่อสูญเสียลูกสาว ครั้งนี้แม่กำลังสูญเสียลูกชาย เมื่อรู้ว่าลูกชายเป็นเกย์ เรื่องเล่าของแม่ที่วางไว้ ก็พังทลายลง
50- โต้งไปนั่งกินเหล้าที่คอนโดเพื่อน เจอกับหญิงที่รู้เรื่องทั้งหมดแล้ว โต้งพยายามปล้ำหญิง และเพิ่งรู้ตัวว่าเขาไม่มีอารมณ์ทางเพศกับหญิง โต้งร้องไห้เพราะไม่เข้าใจว่าตัวเองคืออะไร "ฉันเป็นอะไรอ่ะหญิง ฉันเป็นอะไร?" คำถามนี้สะท้อนให้เห็นว่าโต้งไม่รู้ว่าในเรื่องเล่าความรัก ระหว่างชายหญิงปกติ อย่างที่แม่คาดหวังไว้นี้ เขามี Role อย่างไร (ซึ่งก็คือ Sex Role นั่นเอง)
การก่อสร้างเรื่องเล่าขึ้นมาใหม่
51- จูน (ในบทของแตง) นั่งดูอัลบั้มรูปเก่าๆ กับพ่อ แล้วเล่าเรื่องราวต่างๆ นานาให้พ่อฟัง โดยแต่งมันขึ้นมาเองมั่วๆ ทำให้พ่อมีความสุขมาก
52- แม่ได้ยินเรื่องเล่าต่างๆ จากปากจูน ก็เดินมาถามว่าเอาเรื่องเหล่านี้มาจากไหน จูนบอกว่าแต่งขึ้นมาเอง มันก็แค่เป็นเรื่องที่พ่ออยากฟัง
53- ในตอนแรกนั้น แม่ยังไม่ยอมรับเรื่องเล่าใหม่ที่จูนแต่ง และยังคงยึดติดกับเรื่องเล่าเก่าๆ ของตนเอง จึงพยายามคาดคั้นจากจูนให้ได้ ว่าจูนเป็นใครมาจากไหน ทำไมถึงหน้าเหมือนแตง
54- ที่โรงพยาบาล จูนเล่าประวัติของตัวเองอย่างละเอียด ว่าเป็นเด็กยากจนมาจากเชียงใหม่ พ่อแม่ตายไปแล้ว ตอนนี้เธอจึงใช้ชีวิตอยู่คนเดียว แม่ฟังแล้วสะเทือนใจ เกิดความผูกพันและความรักในตัวจูน
55- แต่จู่ๆ แม่ก็นึกขึ้นมาได้ ว่าจูนชอบแต่งเรื่องขึ้นมาเอง จึงถามไปว่าเรื่องที่จูนเล่านั้น เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง? และในฉากนี้เอง ที่แม่ได้เรียนรู้ถึงพลังของเรื่องเล่าที่มีต่อความรัก เราทุกคนต้องมีเรื่องเล่าที่ประกอบสร้างขึ้นมาจากภาพความทรงจำมากมาย และมันจะทำให้เราเป็นตัวเราในทุกวันนี้ รวมไปถึงยังสร้างความผูกพันและความรักกับใครสักคน (เรื่องประมาณ Memory and Self Narrative) การจะไปคาดคั้นบังคับขอฟังเรื่องเล่าจากใคร หรือไปบังคับให้ใครมาเดินตามเรื่องเล่าของเรานั้น มันไม่ถูกต้อง
การเรียนรู้
56- เมื่อเข้าสู่ช่วงท้ายของหนัง ก็จะถึงช่วงที่ตัวละครได้เรียนรู้บทเรียนซึ่งเป็นประเด็นหลักของหนัง ฉากนี่แม่กับโต้งกำลังช่วยกันแต่งต้นคริสต์มาส ผมว่าการนำของตกแต่ง เครื่องประดับต่างๆ มาใส่ต้นคริสต์มาสในฉากนี้ มีความหมายเหมือนกับตัวต่อจิ๊กซอว์ ตุ๊กตาไม้ และภาพถ่ายบนฝาผนัง โต้งมีท่าทีลังเล ไม่แน่ใจ ว่าจะเอาอะไรไปใส่ไว้ตรงไหน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เขาไม่มีเรื่องเล่า และไม่มี Sex Role ของตัวเอง
57- แม่บอกให้โต้งเอาตุ๊กตาสองตัวติดตรงไหนก็ได้ ติดๆ ไปเถอะ ตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง หมายความว่า เมื่อโต้งโตแล้ว ต่อไปนี้ ชีวิตโต้งก็ต้องมีเรื่องเล่าของตัวเองได้แล้ว มีคนตั้งข้อสังเกตว่าตุ๊กตาทั้งสองตัวนี้ เป็นเพศหญิงและเพศชาย ฉากนี้จึงแสดงให้เห็นการตัดสินใจเลือก Sex Role ของโต้งนั่นเอง
Sex Role ของโต้ง
58- แล้วโต้งก็ไปบอกเลิกกับโดนัท
เรื่องเล่าของแม่ 2
59- จูนก็ลาจากครอบครัวนี้ไป โดยทิ้งจดหมายไว้แบบเป็นลายแทงให้แม่เดินตาม จนถึงตอนนี้ คนดูยังไม่รู้เลยว่าที่แท้จริงแล้วจูนคือใคร ลักษณะตัวละครจูน เป็น Magical Realism คือสิ่งมหัศจรรย์ที่จู่ๆ ก็เกิดขึ้นมาในเรื่อง ส่งผลกระทบต่อตัวละครทั้งหมด และก็เป็นเงื่อนไขให้เนื้อเรื่องดำเนินไป
60- ลายแทงนำแม่มาสู่ซองจดหมายที่มีภาพถ่ายครอบครัวตอนไปเที่ยวเชียงใหม่ ในภาพมีกัน 3 คน คือแม่ พ่อ และโต้ง
61- พ่อเดินมาพอดี แล้วก็เริ่มถามเซ้าซี้ซ้ำๆ แบบเดิม ว่าแตงหายไปไหน? แตงไม่อยู่แล้วใช่ไหม? แต่คราวนี้ แทนที่แม่จะรำคาญแล้วเอาภาพไปซ่อนเหมือนเคย แม่เริ่มเล่าเรื่องของแม่ให้พ่อฟัง แม่บอกว่าตอนที่ถ่ายภาพนี้ แตงยังอยู่ แตงเป็นคนถ่ายภาพนี้เอง
62- เรื่องเล่าของแม่ แสดงให้เห็นว่า การที่แตงไม่ปรากฎให้เห็นอยู่ในภาพ ก็ไม่ได้แปลว่าแตงไม่ได้อยู่กับเรา (มันเป็นแนวคิดเรื่อง Presence - Absence การไม่ปรากฏ ไม่ได้แปลว่าไม่มีอยู่) ทำให้พ่อได้เริ่มเรียนรู้บ้าง พ่อพูดซ้ำๆ ว่า ผมรู้แล้ว รู้แล้ว รู้แล้ว
Sex Role ของโต้ง 2
63- ฉากจบของเรื่อง หลังจากบอกเลิกกับโดนัทแล้ว โต้งก็ไปพบกับมิวที่หลังเวทีคอนเสิร์ต
64- Sex Role ของโต้ง ยังคงคลุมเครืออยู่ ถึงแม้จะบอกเลิกกับโดนัท แต่เขาก็ไม่ได้ลงเอยกับมิว "เราคงคบกับมิวเป็นแฟนไม่ได้"
65- "แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่ได้รักมิวนะ" แนวคิดเรื่อง Presence - Absence มาอีกแล้ว ถึงเราไม่ได้เป็นแฟนกัน แต่เราก็รักกันนะ นี่คือเรื่องเล่าที่โต้งเลือก
66- โต้งเอาชิ้นส่วนจมูกของตุ๊กตาไม้มาให้มิวเป็นของขวัญวันคริสต์มาส ถือเป็นการเติมเต็มเรื่องเล่าความรักของคนทั้งสองให้เต็มสมบูรณ์เสียที คือทั้งสองรักกัน แต่ทั้งสองก็ต้องยอมรับความสูญเสีย ว่าไม่สามารถเป็นแฟนกันได้
บทสรุปของความรักและความสูญเสีย
67- โต้งกลับมาถึงบ้าน เขารักมิว และยอมรับความสูญเสียที่ไม่สามารถเป็นแฟนกันได้
68- พ่อนอนหลับไปด้วยสีหน้าที่มีรอยยิ้ม พ่อตระหนักว่าความรักที่มีต่อแตงนั้นยังมีอยู่ตลอดไป แต่ในขณะเดียวกัน พ่อก็ต้องยอมรับความจริงและความสูญเสียด้วย ว่าแตงตายไปแล้ว
69- มิวกลับบ้านเอาชิ้นส่วนจมูกไปเสียบใส่ตุ๊กตาไม้ของตน ถือเป็นการเติมเต็มส่วนที่หายไป ตอนนี้เรื่องเล่าของมิวสมบูรณ์แล้ว มิวรู้จักความรักแล้ว
70- แต่เขาก็ร้องไห้ เพราะต้องยอมรับความสูญเสียด้วย จบแบบ Cliche ของหนังแนวเกย์ คือถ้าไม่ตายก็ต้องไม่สมหวังนั่นแหละ แต่เอนี่เวย์ ผมว่าหนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังเกย์หรอก มันเป็นหนังที่อธิบายความรักในแง่มุมต่างๆ ที่มีความสากลมากๆ เลยทีเดียว
...
...
4 comments:
สุดยอดครับพี่อ๋อง อ่านกำลังเพลินเลยแต่ขอนอนก่อนนะฮ่ะ
พรุ่งนี้จะเข้ามาใหม่ให้จบนะ
ชอบไอเดียการเชียน blog นี้มาก :)
cheer!
fr.berry
happy belated birthday
20 march
wish you all the best!!
ชอบประเด็นที่ว่าด้วย "เรื่องเล่า" มากๆ
แต่รู้สึกว่าตรงที่เขียนเรื่อง sex role ของโต้งดูจะขัดแย้งกันเองอยู่สักหน่อย โดยเฉพาะตอนที่บอกจะปล้ำหญิง
ส่วนตัวผมมองว่าเป็นเพราะว่าโต้งไม่ได้เป็นเกย์ (หรืออย่างน้อยก็ ณ ตอนนั้น) แต่ที่โต้งรักมิวเพราะมิวเป็น "จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย" ของเขาในเวลานั้นพอดี ซึ่งโดนัททำหน้าที่นี้ไม่ได้
เมื่อเรื่องราวกลายเป็นว่า "เขาเป็นเกย์" ในสายตาเพื่อน ก็เลยมาลงที่หญิง ด้วยเหตุผลว่าโบ้ยความผิดให้หญิง ผสมกับความที่ไม่ยอมรับ "ความเป็นเกย์" ของตัวเองที่คนอื่นยัดเยียดให้ ก่อนที่จะได้สติคืนมา (ไม่น่าจะแปลว่าไม่มีอารมณ์ทางเพศกับหญิงอะครับ ส่วนฉากที่เอามือไปจับนมแล้วชักมือกลับ ผมว่าถ้าโต้งถอนตัวออกมาแล้วโดนจับมือกลับไปอีก เป็นใครก็ต้องตกใจ) แล้วถึงเฝ้าถามซ้ำๆถึง sex role ของตัวเอง
ขอบคุณคร้าบบบสำหรับไอเดียเพิ่มเติม
อ้อ บล้อกเรื่องนี้ไปเปิดอ่านที่เว็บมัลติพลายจะอ่านง่ายกว่านะครับ เพราะมันมีรูปประกอบทุกข้อ ทีละเฟรมๆ
Post a Comment