...
ผมไม่ได้เขียนบล็อกวิจารณ์หนังเสียตั้งนาน พอดีอาทิตย์ที่แล้วทำงานจ๊อบเสร็จหมด เลยไปฉลองดูหนังมาสองเรื่องควบ หลังจากที่ไม่ได้ดูหนังโรงมานาน หนังที่ดูวันนั้นไม่ใช่ Grindhouse ของเควนตินกับโรดริเกวซนะครับ เรื่องนั้นดูไปได้แค่เรื่องเดียวคือโคโยตี้แข้งปืนกล อยากจะดูอีกเรื่อง คือโชเฟอร์บากพยายม แต่มันก็ดันออกจากโรงไปเสียก่อน โปรแกรมหนังสมัยนี้เปลี่ยนเร็วเหลือเกิน เรื่องที่ได้ไปดูควบมาเลยเป็นเรื่อง Ratatouille กับ The Bourne Ultimatum ต่างหาก
The Bourne Ultimatum ถือเป็นหนังแอคชั่นระทึกขวัญ ที่ดีที่สุดในรอบหลายปีเลยครับ พล็อตเรื่องไม่มีอะไรมาก แค่เจสัน บอร์น สืบย้อนและเดินทางกลับไปหาจุดกำเนิดของตัวเอง แต่ที่โดดเด่นคือบทที่เขียนให้พระเอกแสนฉลาด เป็นอัจฉริยะ ห้ำหั่นเฉือนคมกับสายลับฝ่ายตรงข้ามทุกวินาที เข้ากันได้ดีมากกับสไตล์การกำกับของ พอล กรีนกราส ที่ตัดต่อหนังฉับไวแถมด้วยภาพที่สั่นไหวเคลื่อนกล้องตลอดเวลา ใครที่ยังไม่ได้ดูและอยากจะไปดูในอาทิตย์นี้ก่อนหนังจะออกจากโปรแกรม ขอแนะนำให้เลือกที่นั่งหลังสุดเท่านั้นครับ เพราะถ้านั่งหน้าแล้วเจอภาพสั่นตลอดเวลาแบบนี้ มีสิทธิเวียนหัวอ้วกแตกก่อนหนังจบ ประเด็นที่สะกิดใจผมตลอดดูหนังเจสัน บอร์น ภาคนี้ คือพระเอกของเรื่องที่รับบทโดย แมทท์ เดม่อน ผมดูแล้วไม่สามารถอินไปกับการแสดงของเขาได้ ว่าเขาเป็นสายลับอัจฉริยะจริงๆ
ปัญหามันเริ่มต้นมาจากการที่เมื่อปีก่อน ผมดูหนังการ์ตูนเรื่อง Team America จากแผ่นดีวีดี การ์ตูนเรื่องนี้เป็นแนวล้อเลียนจิกกัดรัฐบาลขวาจัดของจอร์จ บุช ว่าชอบทำตัวเป็นตำรวจโลก ส่งทหารไปถล่มประเทศโน้นนี้เป็นประจำ แถมยังล้อเลียนจิกกัดพวกดาราฮอลลีวู้ดบางคนที่เป็นฝ่ายซ้าย คอยตามวิจารณ์การทำงานรัฐบาลขวาจัดของตน ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ดาราพวกนี้ทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากออกมาให้สัมภาษณ์ด่ารัฐบาลเป็นครั้งคราวเท่านั้น เขาทำตัวละครนึงล้อเลียนแมทท์ ได้แสบสุดๆ ด้วยการให้เป็นตัวละครปัญญาอ่อน ทุกฉากที่โผล่มา เขาแต่พูดคำว่า "แม้ททททท เดม่อนนนนนน..." ด้วยน้ำเสียงเหมือนคนมีปัญหาทางสมองและหลงตัวเอง
ผู้ที่ได้ติดตามวงการหนังฮอลลีวู้ดมาพอสมควร คงจะเก็ตมุขนี้ว่ามันล้อเลียนแมทท์ ว่าเขามีภาพพจน์ว่าเป็นดาราหนุ่มที่ฉลาดมากจนถือเป็นอัจฉริยะคนหนึ่ง และมักจะได้รับบทเป็นตัวละครที่ฉลาดๆ เป็นประจำ อันเนื่องมาจากการที่เขาได้รับรางวัลออสการ์ ในฐานะผู้เขียนบทหนัง Good Will Hunting ร่วมกับ เบน แอฟเฟล็ค ซึ่งหนังเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กอัจฉริยะด้านคณิตศาสตร์คนหนึ่ง มีข่าวลือหนาหูหลังจากที่ประกาศผลรางวัลนี้ ว่าพวกเขาไม่ได้เขียนบทหนังนี้ด้วยตัวเอง คนเขียนบทที่แท้จริง คือ วิลเลียม โกลด์แมน นักเขียนบทชื่อดังของฮอลลีวู้ด แต่สามารถที่ทางสตูดิโอเจ้าของหนัง ลงชื่อให้แมทท์และเบนเป็นผู้เขียนบท เพราะต้องการโปรโมทหนังและนักแสดงให้น่าสนใจขึ้น ว่าเป็นหนังฉลาดๆ ที่นำแสดงและเขียนบทโดยดาราฉลาดๆ ถึงแม้ในเวลาต่อมา วิลเลียม โกลด์แมน จะออกมาให้สัมภาษณ์เพื่อแก้ข่าวหลายครั้งแล้ว ว่านี่เป็นข่าวลือ เขาทำแค่ช่วยให้คำแนะนำและคำวิจารณ์แก่แมทท์และเบนในการพัฒนาบทชิ้นนี้เท่านั้น ไม่ได้เป็นคนเขียนเอง แต่ข่าวลือก็แบบนี้แหละ มันมักจะน่าเชื่อถือกว่าข่าวจริงเสมอ แฟนหนังฮอลลีวู้ดหลายคนเลือกที่จะเชื่อข่าวลือมากกว่า และคงหัวเราะกับมุขตลกในหนังการ์ตูนเรื่อง Team America ที่ล้อเลียน แมทท์ เดม่อน ว่าเป็นดาราปัญญาอ่อน
ประเด็นคือเมื่อคนดูหนังมีภาพล้อเลียนอยู่ติดในหัวสมองไปแล้ว และมีอคติเริ่มต้นไปแล้ว มันเป็นการยากมากที่จะสลัดมันออกไป และทำใจให้อินไปกับหนังเรื่องใหม่ที่กำลังดู ดังนั้น ผมจึงนั่งดู แมทท์ เดม่อน ในบทเจสัน บอร์น แสดงไหวพริบปฏิภาณและความฉลาดเหนือมนุษย์ พร้อมกับมีภาพจากการ์ตูน Team America อยู่ในหัวตลอดเวลา "แม้ททททท เดม่อนนนนนน...แม้ททททท เดม่อนนนนนน...แม้ททททท เดม่อนนนนนน..." เปรียบเหมือนกับในตอนนี้ เวลาผมเห็น บี้ เดอะสตาร์ ออกมาในโทรทัศน์ ผมมักจะนึกไปถึงนายแบบโฆษณาหน้าปลาเก๋า ของโทรศัพท์ดีแทคทุกครั้งไป และเวลาได้ยินเสียงเพลง ไอนี้ดซัมบอดี้...เลิฟ ผมมักจะนึกไปถึงหน้าเสนาเปิ้ล กำลังเต้นและร้องเพลง ไอ้นิดซำบายดีบ่ จากรายการสาระแนโชว์ ที่ทำล้อเลียน บี้ เดอะสตาร์ ทุกครั้งเช่นกัน ความหล่อและความเท่ของ บี้ เดอะสตาร์ ถูกทำลายลงไปหมดสิ้น โดยการล้อเลียนหรือ Parody นี่แสดงให้เห็นถึงพลังของศิลปะแขนงนี้ได้อย่างดี
... Intermission ... หยุดพักกินน้ำปัสสาวะกันก่อน
Ratatouille หนังการ์ตูนเรื่องล่าสุดจากค่ายพิกซาร์ ซึ่งผมไม่ค่อยประทับใจเท่าไร เมื่อเทียบกับการ์ตูนเรื่องก่อนๆ ของพวกเขา เนื่องจากผมว่าตอนจบของหนัง ค่อนข้างรวบรัดและยัดเยียดประเด็นแก่คนดูมากเกินไป คือประเด็นการ "วิจารณ์การวิจารณ์" ซึ่งทำให้ประเด็นตอนท้ายของเรื่อง ค่อนข้างเฉไฉออกไปจากประเด็นที่ปูไว้ตอนต้นเรื่อง
--- Spoiler Alert เนื้อหาที่เขียนต่อไปจากนี้อาจจะบอกเล่าเนื้อเรื่องมากเกินไป จนทำให้ผู้ที่ยังไม่ได้ดูเสียอรรถรสได้ ---
ผมว่าหนังควรจะโฟกัสอยู่ที่ประเด็นที่ปูไว้ดีมากแล้วตั้งแต่ตอนต้นเรื่อง คือประเด็นว่า Anyone can cook. คือการบอกว่าใครๆ ก็ทำอาหารได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่แหลมคมมาก เป็นการให้กำลังใจคนดู และตอกย้ำความมีศักยภาพในตัวมนุษย์ทุกคน แต่ในตอนท้ายของเรื่อง แทนที่หนังจะจับอยู่ที่พัฒนาการของตัวละครทุกตัว ที่ควรจะต้องค่อยๆ เข้าถึงศักยภาพในตัวเองของแต่ละคน หนังกลับย้ายมุมไปที่การวิพากษ์วิจารณ์ตัวละครที่เป็นนักวิจารณ์อาหารในเรื่อง การทำเช่นนี้ มันไม่ใช่การให้คนดูหนังค่อยๆ ตื่นรู้อย่างเบิกบานภายในตัวเอง แต่เป็นการทำให้คนดูหนัง โบ้ยปัญหาออกไปนอกตัว ว่าเกิดจากความไม่ดีของผู้อื่น
อย่างไรก็ตาม หนังการ์ตูนเรื่องนี้ก็ไม่ถึงกับเป็นหนังที่แย่มากนัก เพราะประเด็นตอนท้ายเรื่อง ที่เกี่ยวกับการ "วิจารณ์การวิจารณ์" ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างมาก หนังไม่ได้ด่านักวิจารณ์แบบตื้นเขิน ว่าเอาแต่เขียนวิจารณ์ ทำไมไม่ไปทำอาหารเสียเองล่ะ เพราะการด่าแบบนี้งี่เง่าครับ ในระบบเศรษฐกิจและสังคมแบบทุนนิยมแบบนี้ เราแต่ละคนต้องแบ่งหน้าที่กันทำงานของตนเองไปอยู่แล้ว พ่อครัวก็ทำอาหาร นักวิจารณ์ก็เขียนวิจารณ์ แต่หนังด่านักวิจารณ์และการวิจารณ์แบบเอาอีโก้ตนเองไปถล่มคนอื่น โดยนำเสนอประเด็นนี้ผ่านตัวละคร แอนทอน อีโก้ นักวิจารณ์อาหารชื่อดังตามท้องเรื่อง แค่การตั้งชื่อตัวละครตัวนี้ก็ชัดเจนมากแล้วว่า ปัญหามันอยู่ที่ "อีโก้" เขาวิจารณ์อาหารโดยใช้อีโก้ของตนเอง ไปถล่มถมทับพ่อครัว ยิ่งทำงานวิจารณ์ไปนานเข้า ก็ยิ่งอีโก้พองโตขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งไปถล่มทับพ่อครัวได้มากขึ้น ก็ยิ่งย่ามใจและยิ่งเขียนงานวิจารณ์ที่ไปทำร้ายทำลายคนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ เขาทำงานเขียนวิจารณ์ ด้วยการพกอีโก้ไปชิมอาหาร แบบยึดหลักว่าจะต้องหาที่ติเตียนให้ได้มากที่สุด
การวิจารณ์คนอื่นและผลงานของคนอื่นแบบเอาอีโก้เราไปถล่ม ทำได้ง่ายมากครับ คือไม่ว่าจะเขาจะเป็นใคร ไม่ว่าเขาจะทำอะไร เราสามารถหาวิธีด่าเขาได้หมด เพราะเราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ ต้องมีข้อบกพร่องและไม่สมบูรณ์แบบเสมอ และที่สำคัญ คือในการมองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราสามารถมองได้หลายมุม แล้วแต่ว่าเราจะเลือกมองมันอย่างไร คือหมายความว่า ทุกอย่างในโลกเราล้วน Subjective หรือเป็นอัตวิสัย ขึ้นอยู่กับผู้มองว่าจะคิดอย่างไร ตัวอย่างเช่น ถ้าไปชิมอาหารร้านนี้แล้วรู้สึกว่ารสชาติเหมือนเดิม เราก็สามารถมองได้หลายทาง 1.มองว่าพ่อครัวเขามีความชัดเจน มีเอกลักษณ์รสชาติของตนเอง หรือ 2.มองว่าพ่อครัวคนนี้ซ้ำซาก ไม่มีพัฒนาการ เมื่อมองได้หลายทางแบบนี้ ตอนเอามาเขียนวิจารณ์ ก็ขึ้นอยู่กับอีโก้ของคุณแล้วหล่ะ ว่าคุณเลือกว่าจะไปถล่มทับเขา หรือว่าคุณเลือกว่าจะใจกว้างกับเขา
อันนี้คัดลอกมาจากเว็บ imdb.com ครับ เป็นบทวิจารณ์ที่ แอนทอน อีโก้ จัดการเขียนเชือดร้านอาหารร้านหนึ่ง แล้วปิดฝาโลงย้ำว่าเขาจะไม่กลับไปกินที่ร้านนั้นอีกแล้ว
Anton Ego: "Finally Chef Gusteau has found his rightful place in history alongside another equally famous chef... Monsieur Boy-ar-dee."
ส่วนอันนี้ เป็นบทวิจารณ์ชิ้นสุดท้ายของ แอนทอน อีโก้ ที่เขาตระหนักถึงความพองโตของอีโก้ตัวเอง และ ได้เรียนรู้แล้วว่าการวิจารณ์ที่ดี ควรเป็นอย่างไร
Anton Ego: In many ways, the work of a critic is easy. We risk very little yet enjoy a position over those who offer up their work and their selves to our judgment. We thrive on negative criticism, which is fun to write and to read. But the bitter truth we critics must face is that, in the grand scheme of things, the average piece of junk is more meaningful than our criticism designating it so. But there are times when a critic truly risks something, and that is in the discovery and defense of the new. Last night, I experienced something new, an extraordinary meal from a singularly unexpected source. To say that both the meal and its maker have challenged my preconceptions is a gross understatement. They have rocked me to my core. In the past, I have made no secret of my disdain for Chef Gusteau's famous motto: Anyone can cook. But I realize that only now do I truly understand what he meant. Not everyone can become a great artist, but a great artist can come from anywhere. It is difficult to imagine more humble origins than those of the genius now cooking at Gusteau's, who is, in this critic's opinion, nothing less than the finest chef in France. I will be returning to Gusteau's soon, hungry for more.
แน่นอนว่ามนุษย์ทุกคนต้องมีอีโก้ครับ พ่อครัวก็มีอีโก้ นักวิจารณ์ก็มีอีโก้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว พ่อครัวก็คงไม่กล้าทำอาหารให้คนอื่นกิน นักวิจารณ์ก็ไม่กล้าเขียนหนังสือให้คนอื่นอ่าน แต่วิธีที่เราทุกคนมาอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขในโลกนี้ และวิธีที่จะทำให้เราทุกคนได้มีโอกาสแสดงถึงศักยภาพความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียม หรือตามประเด็นว่า Anyone can cook. คือการที่เราทุกคนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิจารณ์ จะต้องตระหนักและยอมรับ ว่าเราต่างก็มีอีโก้ ไม่ใช่หลงตัวเองจนเอาแต่พูดว่าฉันไม่มีอีโก้ แล้วก็เอาอีโก้ไปวิจารณ์แบบถล่มทับคนอื่นตลอด ที่สำคัญอีกประการ คือการเข้าใจว่าความจริงในโลกเรามันเป็น Subjective เรามองเห็นและตัดสินสิ่งต่างๆ ได้หลายมุม หลายทาง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกอย่างไร ไม่ใช่เอาแต่ยืนยันด้วยอีโก้ของตนเอง ว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้เท่านั้น
...
Monday, August 20, 2007
วิจารณ์หนังสองเรื่องควบ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment