Wednesday, August 29, 2007

24

...

เมื่อตอนต้นเดือนที่ผ่านมา ผมไปสัมภาษณ์ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องธรรมะกับการทำงาน เขาเคยทำงานเป็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัทแห่งหนึ่ง และมีความเครียดสะสมจนกระทั่งถึงจุดที่ทนไม่ไหว แล้วเขาก็เริ่มต้นหันมาศึกษาธรรมะของศาสนาพุทธ แล้วทำให้ความเครียดลดลง และจิตใจสบายขึ้น มีคำพูดของเขาช่วงหนึ่งสะดุดใจผมมาก ผมถามเขาไปว่า "ทำไมงานถึงทำให้คุณเครียดมากขนาดนี้ ผมเองทำงานก็เครียด แต่ไม่เห็นเครียดเหมือนคุณ" (แกล้งถามแบบซื่อๆ น่ะครับ เพราะมันแหงอยู่แล้ว ผมได้เงินเดือนกระจ้อยร้อย ปริมาณงานและความรับผิดชอบก็น้อยนิด ส่วนเขาเป็นผู้บริหารระดับสูง เงินเดือนเพียบ มีความรับผิดชอบเยอะกว่า เขาจึงต้องเครียดมากกว่า) แล้วเขาก็ตอบมาได้น่าสนใจมาก

"สมัยก่อนเรามองการทำงานเป็นชั่วโมงการทำงาน และเราทำงานวันละ 8 ชั่วโมง แต่ตอนนี้ไม่ใช่นะ เราแบ่งซอยชั่วโมงลงไป เป็นนาที เป็นวินาที เป็นเสี้ยววินาที งานนี้ต้องรีบทำให้เสร็จในอีกไม่กี่นาที เพราะเดี๋ยวจะมีงานใหม่เข้ามา เทคโนโลยีใหม่และระบบการทำงานแบบใหม่ นั่นหมายถึงสังคมคาดหวังให้เราทำงานเร็วขึ้นเรื่อยๆ จนเราไม่มีจุดเวลาที่จะว่างเลย คนปัจจุบันถูกกดดันแบบต่อเนื่องและสม่ำเสมอทุกวินาที ทุกวินาทีของเราถูกครอบคลุมด้วยเนื้องาน ด้วยภาระ ด้วยพันธะสารพัดอย่าง โลกยุคข้อมูลข่าวสาร คนอื่นๆ รู้ข่าวนี้กันหมดแล้ว คุณรู้หรือยัง มีข่าวใหม่ๆ เข้ามาตลอดทุกเสี้ยววินาที แล้วข่าวสมัยนี้ไม่ใช่แค่ว่าเมื่อวานเกิดอะไรขึ้น แต่เมื่อชั่วโมงที่แล้วเกิดอะไรขึ้น เพื่อนมาถาม อ้าว ไม่รู้เหรอ ตกข่าวเหรอ ไม่ได้อ่านในเน็ตเหรอ"

คำพูดของเขาทำให้ผมนึกถึงทีวีซีรีย์สของฝรั่ง เรื่อง 24 คือช่วงนี้วันๆ ไม่ค่อยได้ทำอะไรเลย นอกจากนอนดูดีวีดีหนังซีรีย์สฝรั่งหลายเรื่อง ที่สั่งซื้อมาราคาถูกๆ จากในอินเตอร์เน็ต ซีรีย์สเรื่อง 24 นี่ได้รับความอนุเคราะห์มาจากน้องอ้วนกับน้องพ่ง ที่อุตส่าห์ขนมาให้ยืมดูเป็นตั้งๆ มันเป็นเรื่องแนวแอคชั่นระทึกขวัญ ที่ตัวพระเอกเป็นสายลับชื่อ แจ๊ค บาวเออร์ ต้องไปเผชิญหน้ากับผู้ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ และต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าสารพัดที่ประดังประเดเข้ามา จุดเด่นของซีรีย์สเรื่องนี้ ที่ทำให้มันโดดเด่นและแตกต่างไปจากทีวีซีรีย์สเรื่องอื่นๆ คือการที่ผู้เขียนบทและผู้กำกับแสดงความเทพ ด้วยการดำเนินเรื่องแบบ Real Time ให้เวลาตามท้องเรื่อง ตรงเป๊ะกับเวลาที่หนังฉาย แบบวินาทีต่อวินาที คือแต่ละเอพิโสดหรือแต่ละตอนที่ฉายทางทีวี มีความยาว 1 ชั่วโมงรวมโฆษณา เนื้อเรื่องตามท้องเรื่องก็ดำเนินไป 1 ชั่วโมงด้วยเหมือนกัน และที่เขาตั้งชื่อว่า 24 นั่นหมายถึงเวลา 24 ชั่วโมง นั่นหมายความว่า ในแต่ซีซั่นจะมีทั้งหมด 24 เอพิโสด ก็เท่ากับว่าเนื้อเรื่องที่เราจะได้ดูตลอดทั้งซีซั่น ดำเนินไปในเวลา 24 ชั่วโมงหรือ 1 วันนั่นเอง

ตอนเริ่มแต่ละเอพิโสดจะมีภาพไตเติ้ลเป็นรูปตัวเลข 24 เหมือนกับบนหน้าปัดนาฬิกาปลุกแบบดิจิตอล ที่ต้องเสียบปลั๊กไฟน่ะครับ ตัวเลข 24 จะกระพริบๆ แล้วสว่างวาบขึ้นเหมือนไฟฟ้าลัดวงจรจนมันร้อนจัดแล้วตัดไป หลังจากภาพไตเติ้ล เราจะเห็นเนื้อเรื่องดำเนินไปแบบวินาทีต่อวินาที วิธีที่เขาทำให้เนื้อเรื่องน่าติดตามมากขึ้น คือการกระจายพล็อตเรื่องในแต่ละวินาทีนั้น ออกไปยังหลายๆ เหตุการณ์ ที่กำลังเกิดกับตัวละครหลายๆ ตัว เช่นนอกจากตัวพระเอกที่กำลังตกในสถานการณ์คับขันแล้ว แล้วภาพก็ตัดไปในอีกฟากหนึ่งของเมือง ลูกสาวพระเอกก็กำลังถูกจับตัวไปเรียกค่าไถ่ แล้วภาพก็ตัดไปในอีกรัฐหนึ่ง ประธานาธิบดีกำลังติดต่อเจรจากับผู้ก่อการร้าย แล้วภาพก็ตัดไปในห้องข้างๆ ประธานาธิบดี ลูกน้องเขากำลังวางแผนหักหลังอยู่ ดังนั้น ในแต่ละวินาทีที่ดำเนินไป จะมีเหตุการณ์สารพัดเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน จากทุกตัวละคร ทุกฟากของเมือง ทุกรัฐของประเทศ คนดูจึงรู้สึกตื่นเต้นระทึกใจตลอดเวลา พอจะตัดเข้าช่วงโฆษณา เขาจะนำภาพเหตุการณ์ทั้งหมดมาทำเป็นกล่องเล็กๆ เรียงไว้บนหน้าจอเดียวกัน แล้วภาพก็ตัดไปที่ตัวเลขเวลาบนหน้าปัดนาฬิกาดิจิตอล กำลังเดินหน้าไป พร้อมกับเสียง ตุบๆ ตุบๆ เหมือนกับเสียงหัวใจเต้น ตัวเลขนาฬิกานั้นตรงกับตัวเลขเวลาจริงเป๊ะ

สุนทรียะของป๊อปคัลเจอร์หลายๆ อย่างในปัจจุบัน อยู่ที่การใช้การรับรู้เรื่องเวลา มาบีบรัดและเร่งเร้าให้คนดูรู้สึกตึงเครียดตลอดเวลา เทียบกับหนังหรือรายการทีวีสมัยก่อน คนดูจะไม่รับรู้เรื่องเวลามากนัก เมื่อเรานั่งดูหนังอยู่ในโรง ก็ปล่อยหัวสมองให้จดจ่ออยู่กับเนื้อเรื่อง ที่ตัวเอกจะนำพาเราไปยังสถานที่ต่างๆ ที่จะเกิดสถานการณ์ต่างๆ เช่นหนังแนวโร้ดมูฟวี่ ก็นำคนดูไปร่วมนั่งรถที่ขับจากรัฐหนึ่งไปอีกรัฐหนึ่ง ความสนใจจึงมุ่งไปตรงสถานที่ที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมกับพัฒนาการของตัวละคร โดยไม่มีเงื่อนไขด้านเวลาเข้ามาบีบ แต่ป๊อปคัลเจอร์ทุกวันนี้ ไม่ได้ทำให้เรารับรู้แค่สถานที่เปลี่ยน แต่ยังทำให้เรารับรู้ถึงเวลาที่เปลี่ยนแปลงตลอด และมีเวลาที่จำกัดมากด้วย

ผมเชื่อว่าความนิยมในซีรีย์สแนวแอคชั่นระทึกขวัญพวกนี้ กำลังค่อยๆ บ่มเพาะความรู้สึกกังวลเรื่องเวลา ให้กับผู้คนในสังคมร่วมสมัย มากขึ้นเรื่อยๆ เรารู้สึกตระหนักถึงคุณค่าของเวลา มากเกินกว่าความเป็นจริง และเรารู้สึกว่าเวลาของเราผ่านไปแบบไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับเวลาในซีรีย์สพวกนี้ ตัวอย่างเช่น เวลา 1 ชั่วโมงในซีรีย์ส 24 นั้นพระเอกของเราช่วยกอบกู้โลกจากสงครามนิวเคลียร์ได้สำเร็จ นอกจากเรื่อง 24 แล้ว ซีรีย์สเรื่องอื่นๆ อย่างเช่น CSI แค่ภายใน 1 ชั่วโมง พระเอกและทีมงานของเขาใน CSI สามารถไขคดีฆาตกรรมได้ถึง 3 คดีรวด พวกเขามีกันอยู่ 4-5 คน แล้วกันทีมกันทำงาน ทีมละ 1-2 คน แยกย้ายกันไปสืบสวนที่เกิดเหตุ คนดูจะเห็นภาพการทำงานของแต่ละทีมตัดสลับกันไปมา จนกระทั่งถึงตอนจบของแต่ละเอพิโสด คดีทั้งหมดจะถูกคลี่คลายได้ ในโลกแห่งความเป็นจริง เราไม่ได้ดำเนินชีวิตและทำงานกันแบบตัวละครในซีรีย์สพวกนี้นะครับ แน่นอนว่าเวลาเป็นทรัพยากรที่มีค่า เรามีเวลาเท่ากันทุกคน ความสำเร็จในชีวิตและการงาน จึงอาจจะขึ้นอยู่กับว่า ใครจะใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน แต่ใครมันจะอัจฉริยะเก่งกาจได้ขนาดพระเอกในซีรีย์สพวกนี้ล่ะ ที่จะดำเนินชีวิตและทำงานแบบทุกวินาที แถมทำแบบ Multi-tasking ด้วย คือทำหลายๆ อย่างพร้อมกันได้ในเวลาเดียวกัน และทุกอย่างก็เสร็จได้เรียบร้อยภายในเวลา 1 ชั่วโมง

ผมบังเอิญได้ดูหนังใหม่ล่าสุดของ เดวิด ฟินเชอร์ เรื่อง Zodiac มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตามจับฆาตกรต่อเนื่องคนหนึ่ง ซึ่งอ้างอิงเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในช่วงทศวรรษที่ 70 ในสหรัฐอเมริกา ตอนแรกที่เปิดหนังเรื่องนี้ขึ้นมาดู ผมคาดว่าจะได้ดูหนังระทึกๆ แบบ Seven อย่างที่ผู้กำกับคนนี้เคยทำไว้เมื่อหลายปีก่อน หรืออย่างน้อยที่สุด ก็น่าจะได้ดูหนังที่สนุกประมาณ CSI ที่ตำรวจชาญฉลาด ทำงานฉับไว ตามจับฆาตกรโรคจิตที่โหดเหี้ยมอันตราย แต่ปรากฏว่าที่คิดไว้นั้นไม่ใช่เลย

--------------- สปอยล์นิดหน่อยครับ จริงๆ ก็อ่านต่อได้ ไม่ทำให้เสียอรรถรสเท่าไร ------------------

ถ้าคุณเคยอ่านเรื่องย่อของหนัง คงพอจะรู้ว่าหนังเรื่องนี้อ้างอิงจากเรื่องจริง คดีนี้เป็นคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง ที่ตำรวจดำเนินการสืบสวนสอบสวนกันยาวนานแบบข้ามทศวรรษ และจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถจับคนร้ายรายนี้ได้ เหตุฆาตกรรมครั้งแรกเกิดขึ้นประมาณต้นทศวรรษที่ 70 และดำเนินมาอีกหลายครั้งตลอดทศวรรษที่ 80 จนเรื่องราวเงียบหายไป โดยตำรวจก็จับใครไม่ได้ จนกระทั่งปลายทศวรรษที่ 90 ผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ ที่มีหลักฐานน่าเชื่อว่าเป็นคนร้ายตัวจริง แต่หลักฐานนั้นยังไม่พอจะมัดตัวและเอาเขาขึ้นศาลได้ ก็แก่ตายไปแล้ว

ฮาดีครับ ฆาตกรต่อเนื่องในโลกแห่งความเป็นจริง ตำรวจใช้เวลานานถึง 3 ทศวรรษในการตามจับตัว แล้วก็ยังจับไม่ได้ด้วยซ้ำ ผมว่า เดวิด ฟินเชอร์ จงใจสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อต่อต้านหนังแนวระทึกขวัญที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เขาได้ฉายภาพความเป็นจริงของชีวิตออกมา คือตำรวจแต่ละคน นักข่าว และผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดี ก็ทำงานกันไป เรื่อยๆ เฉื่อยๆ สมัยนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้กันเลย แถมยังไม่มีเครื่องแฟกซ์ใช้กันด้วยซ้ำ เวลาจะส่งลายนิ้วมือให้ตรวจสอบกันที ต้องส่งทางไปรษณีย์ครับ และแต่ละคนก็ไม่ได้ทำแต่งาน แต่เขามีชีวิตด้านอื่น มีแฟน มีภรรยา เขาก็ดำเนินชีวิตของเขาไป เมื่อเวลาดำเนินไป ตัวละคนบางคนก็ติดเหล้า บางคนก็แต่งงานใหม่ บางคนก็แก่ตาย บางคนเลิกเป็นนักเขียนการ์ตูนแล้วกลายเป็นนักเขียนหนังสือแทน ฯลฯ

มันคือชีวิตน่ะครับ ชีวิตต้องดำเนินไปตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่อะไรที่ปุบปับสำเร็จเสร็จเรียบร้อย เหมือนกับที่เราคุ้นเคยจากการดูซีรีย์ส 24 ถ้าเราทำใจยอมรับความจริงของชีวิต และปล่อยให้มันช้าลงมาหน่อย ไม่ใช่เอาแต่วิ่งไล่มตัวเลขดิจิตอลที่กระพริบๆ เพราะไปไฟลัดวงจร เราก็อาจจะมีความสุขกับการมีชีวิตอยู่ และการทำงานประจำวัน มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ นี่เป็นธรรมะที่ผมได้จากการดูซีรีย์ส 24 และนำมาเปรียบเทียบกับคำพูดของ ดร.วิทย์

...

No comments: