Tuesday, August 07, 2007

10 ปีผ่านไป กับโรงหนังมัลติเพล็กซ์ของไทย

...

ประมาณสิบปีก่อน ผมทำงานเป็นนักข่าวสายเศรษฐกิจครับ ตอนนั้นมีโรงหนังแบบมัลติเพล็กซ์เกิดขึ้นใหม่เป็นแห่งแรก คือ EGV ฟิวเจอร์พาร์คบางแค เขาก็จัดงานเปิดตัวกันใหญ่โต ผมจำได้ว่าไปร่วมงานเปิดและได้ดูหนังในโรงนี้รอบแรกสำหรับสื่อมวลชน คือเรื่องมนุษย์หินฟลินสโตน (ฉบับคนแสดง) อีกไม่นานต่อมาโรงหนังแบบนี้ก็แพร่ไปทั่วกรุงเทพฯ แล้วมีโรงเมเจอร์ซีเนเพล็กซ์เพิ่มเข้ามาอีก โดยแห่งแรกคือที่ปิ่นเกล้า ช่วงนั้นต้องไปทำข่าวการเปิดตัวโรงหนังบ่อยมาก ได้ไปสัมภาษณ์เจ้าของและผู้บริหารของโรงพวกนี้หลายคน หลายครั้ง ผมจำคำพูดให้สัมภาษณ์ของพวกเขาได้แม่นครับ เขาภูมิใจนักหนาว่าจะเป็นโรงที่มีระบบมาตรฐานมากที่สุด และจะตอบสนองความต้องการของคนดูหนังได้มากที่สุด และต่อไปนี้คือคำสัมภาษณ์ของพวกเขาในตอนนั้น ที่ผมขอยืนยันนอนยันว่าเขาพูดแบบนี้จริงๆ

1. ค่าตั๋วราคาเดียวทุกที่นั่ง เพราะเขาบอกว่าโรงของเขาออกแบบมาอย่างดีเยี่ยม ดังนั้นไม่ว่าคุณจะนั่งตรงไหนของโรง ก็จะสามารถมองเห็นภาพและได้ยินเสียงในคุณภาพเท่ากันหมด สมัยนั้นราคาตั๋วของโรงพวกนี้ ราคาแค่ 70 บาทเท่านั้นครับ ราคาเดียวกันนี้ทุกรอบ ทุกวัน ทุกเรื่อง (เทียบกับค่าตั๋วของโรงหนังแบบเก่าสแตนด์อโลน อย่างสกาล่า แมคเคนน่า เอเธนส์ ที่ปัจจุบันปิดกันไปเกือบหมดแล้ว นั้นจะมีหลายราคา เริ่มตั้งแต่ 30 บาทตรงแถวใกล้ๆ จอ ไปจนถึง 70 บาทตรงแถวหลังสุด)

2. ระบบฉายหนังเป็นแบบใหม่ คือนำฟิล์มหนังทั้งเรื่องมากรอใส่ไว้ในม้วนเดียวกันหมด แล้วฉายตั้งแต่ต้นเรื่องไปจนถึงเอนด์เครดิตจนหมดฟิล์ม ดังนั้นหนังจะไม่สะดุด ไม่มีการฉายสลับม้วน และคนรักหนังจะได้ดูเอนด์เครดิตจนจบจริงๆ

3. ระบบเสียงแบบดิจิตอลที่ดีที่สุดในโลก มีทั้ง Dolby Digital, DTS, SDDS และระบบการติดตั้งลำโพงภายในโรงได้มาตรฐาน THX ทางเจ้าของโรงและผู้บริหาร ภูมิใจกับเรื่องนี้ที่สุด พูดถึงบ่อยที่สุด และถือเป็นจุดขายสำคัญที่สุดของโรงมัลติเพล็กซ์ในยุคนั้น

4. ช่องว่างระหว่างเก้าอี้ และทางเดินภายในโรง เพิ่มมากขึ้นกว่าโรงแบบมินิเธียเตอร์ (โรงหนังเล็กๆ ที่แอบไปสร้างกันตามห้างสรรพสินค้า) เพื่อความสบายในการนั่งดูหนัง และเพื่อความปลอดภัยในกรณีฉุกเฉิน

5. ภายในมัลติเพล็กซ์ มีโรงหนังแยกย่อยไป 8-10 โรง จึงสามารถฉายหนังที่มีความหลากหลาย และจัดโปรแกรมเวลาฉายเหลื่อมกัน เพื่อให้ผู้ชมสามารถมีทางเลือกได้มากกว่า และมีความสะดวกสบาย

สมัยนั้นผมไปดูหนังที่โรงมัลติเพล็กซ์พวกนี้ทุกอาทิตย์ครับ และบางอาทิตย์ก็ดูหลายเรื่องด้วย เพราะราคาถูกมาก ถ้าใครมีบัตรลดหรือบัตรสมาชิกของเขา ที่ซื้อในราคา 100 บาท ก็จะได้รับส่วนลดที่นั่งละ 20 บาท เหลือ 50 บาทเอง อีกทั้งยังโรงยังคุณภาพดีกว่า ผมเคยดูหนังเรื่องเดียวกันใน 2 โรงเพื่อเปรียบเทียบ คือดู Speed ที่โรงแมคเคนน่า และอุตส่าห์ถ่อไปดูอีกรอบที่ EGV ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ก็พบว่าการดูที่โรงแบบใหม่นี้ดีกว่าจริงๆ ทั้งภาพและเสียง ถึงแม้จะต้องเสียเวลาเดินทางไปนานกว่า

เวลาผ่านไปสิบปี จนถึงทุกวันนี้ ผมไม่ได้เป็นนักข่าวสายเศรษฐกิจแล้ว เลยไม่ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์พวกเจ้าของและผู้บริหารโรงหนังมัลติเพล็กซ์อีกต่อไป และแทบจะไม่ได้ไปดูหนังตามโรงมัลติเพล็กซ์พวกนี้แล้ว ถ้าไม่ใช่หนังรอบที่ดูฟรี ถ้าไม่ใช่เพื่อนๆ นัดไปดู และถ้าไม่จำเป็นหรือไม่ว่างจริงๆ ลองมาดูครับว่าเวลาเปลี่ยน โรงหนังพวกนี้เปลี่ยนไปอย่างไร และมันต่างไปจากคำให้สัมภาษณ์ของบรรดาเจ้าของและผู้บริหารโรงหนัง ที่เคยพูดไว้เมื่อสิบปีก่อนอย่างไร

1. ค่าตั๋วหนังขึ้นราคาเป็น 140 บาทแล้ว และราคาก็ไม่เท่ากันทุกที่นั่งอีกต่อไป ที่ว่าราคา 140 บาทนั่นคือแถวหน้าๆ ของโรง ส่วนแถวหลังๆ นั้นราคาเป็น 160 - 180 บาท และกันพื้นที่หลังสุดของโรง ไว้ทำเป็นเบาะพิเศษสำหรับคู่รัก ราคาสูงขึ้นไปกว่านั้นอีก (ไหนว่าโรงหนังของคุณออกแบบมาได้มาตรฐานทุกที่นั่ง ไม่ว่าจะนั่งตรงไหนในโรงหนังมีคุณภาพเท่ากันไง)

2. เนื่องจากต้องฉายโฆษณาก่อนหนังจริงเริ่มฉาย นานประมาณ 30-40 นาทีเป็นอย่างน้อย และในแต่ละวันเขาต้องทำรอบฉายให้ได้มากๆ เมื่อหนังใกล้จบ ก่อนหนังจะจบสัก 3-4 นาที จะมีเจ้าหน้าที่ของโรงจะเดินจากทางด้านหลัง ผ่านแถวที่นั่งผู้ชม แล้วไปยืนอยู่ตรงประตูทางออกที่อยู่ตรงด้านหน้าโรง ข้างๆ จอภาพ พอหนังจบปุ๊บ ก็เปิดไฟ เปิดประตูปั๊บ พร้อมกับประกาศเสียงดัง ว่าขอบพระคุณค่ะ เชิญออกตรงประตูนี้ ซึ่งผมว่ามันเป็นการรบกวนสมาธิคนดูอย่างมาก เพราะหนังบางเรื่องจบแบบหักมุม จบแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว จบแบบซาบซึ้งอารมณ์พีคสุดๆ คนดูจะเห็นเจ้าหน้าที่โรงไปยืนหัวโด่อยู่ข้างๆ จอ เพื่อรอเปิดประตูแล้ว ส่วนเอนด์เครดิตนั้นจะฉายไปจนจบ ทุกเรื่องทุกรอบหรือเปล่า นี่ผมไม่แน่ใจนะครับ เพราะไม่เคยอยู่ดูจบสักที

3. ไม่มีโรงที่แปะป้าย THX เหลืออยู่แล้ว และไม่มีโรงที่ฉายด้วยระบบเสียง DTS และ SDDS เหลืออีก ซึ่งสำหรับผม ผมว่าก็ไม่เป็นไรนะ อันนี้ไม่ซีเรียส มันเป็นไปตามพัฒนาการของเทคโนโลยี

4. เขาจัดเก้าอี้นั่งใหม่หมด เก้าอี้ที่นั่งสบายและมีช่องว่างเยอะ เป็นเฉพาะเก้าอี้ทางด้านหลังโรงที่มีราคาแพงกว่า ส่วนเก้าอี้ราคาต่ำสุดที่อยู่ทางด้านหน้า จะเบียดเสียดยัดเยียด ไม่ต่างจากมินิเธียร์เตอร์สมัยก่อน

5. ในโรงมัลติเพล็กซ์มีโรงย่อย 8-10 โรง แต่ส่วนใหญ่นำไปฉายหนังฟอร์มใหญ่ประจำสัปดาห์จนหมด บางทีหนังเรื่องเดียวใช้โรงฉาย 5-6 โรง เพื่อเหลื่อมเวลาฉาย ส่วนหนังฟอร์มเล็กๆ จะไม่มีโรงฉาย หรือฉายแค่ 1-2 รอบต่อวัน ในรอบเช้าสุดตอนศูนย์การค้าเปิด และรอบดึกสุดตอนศูนย์การค้าปิดเท่านั้น ดังนั้นในโรงมัลติเพล็กซ์ 1 แห่ง ที่มี 8-10 โรง จะฉายหนังจริงๆ แค่ 3-4 เรื่อง (ไหนว่าโรงเยอะๆ แล้วจะฉายหนังได้หลากหลาย คนดูสามารถเลือกได้ตามใจ และสะดวกสบายขึ้นไง)

ผมว่าเจ้าของโรงหนังมัลติเพล็กซ์ทุกวันนี้ ละโมบโลภมากเกินไป และไม่มีความจริงใจกับคนดูหนัง เมื่อเขาขยายธุรกิจมาได้สิบกว่าปี ธุรกิจของเขาเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งทำให้โรงหนังแบบเก่าสแตนด์อโลน ล้มหายตายจากไปเกือบหมดแล้ว และได้แทรกซึมตัวเองเข้าไปในทุกศูนย์การค้า ทุกย่านการค้า และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ผู้คน เขากลับใช้เวลานี้ในการตักตวงผลประโยชน์แบบไม่บันยะบันยัง และเบียดบังความสุขของคนดูหนังไปจนหมด

ปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นกับโรงหนังมัลติเพล็กซ์มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น

1. เรื่องโฆษณาก่อนฉายหนัง ที่มีจำนวนมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า บางโรงฉายโฆษณานานถึง 40 นาที เทียบกับเวลาฉายหนังที่มีความยาวประมาณชั่วโมงกว่าๆ หรือประมาณ 100 นาที นั่นเท่ากับว่าเวลาโฆษณานานเกือบจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของเวลาฉายหนังเลยทีเดียว

2. ราคาค่าตั๋วหนังในแต่ละวัน แต่ละรอบ แต่ละเรื่อง แต่ละโรงย่อย ก็ไม่เท่ากันเลย ปรับเปลี่ยนได้ตามใจเจ้าของโรงหนัง วันจันทร์ราคาหนึ่ง-วันศุกร์ราคาหนึ่ง รอบเช้าราคาหนึ่ง-รอบเย็นราคาหนึ่ง ภายในโรงมัลติเพล็กซ์แห่งเดียวกัน โรงย่อยก็ค่าตั๋วไม่เท่ากันอีก

3. แถมยังมีเรื่องเบียดบังเอาที่จอดรถไปให้คนอื่นเช่าทำตลาดนัด เอาลานพื้นที่หน้าโรงไปทำลานเบียร์ แทนที่จะใช้เป็นป้ายรถเมล์หรือที่สาธารณะเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ

ทุกวันนี้ หนังส่วนใหญ่ผมดูจากแผ่นดีวีดี ผมซื้อจอแอลซีดี 32 นิ้วมาใหม่ และสั่งซื้อแผ่นดีวีดีราคาถูกๆ จากในอินเตอร์เน็ต เอาไว้นอนดูอยู่กับบ้านสบายๆ ไม่ต้องออกไปเสียค่ารถ ค่าป๊อปคอร์น ค่าเดินช็อปปปิ้ง หรือถ้าอยากดูหนังโรงจริงๆ ถ้าเลือกโรงได้ ผมไปดูที่โรงของเครือเอเพ็กซ์ ได้แก่ สกาล่าและสยาม ซึ่งเป็นโรงหนังแบบเก่าสแตนด์อโลน ที่มีขนาดใหญ่มาก ที่นั่งเยอะ จอภาพใหญ่โต ราคาเพียง 100 บาท เท่ากันทุกเรื่อง ทุกรอบ ทุกวัน ถ้าอยากนั่งหลังสุดก็ราคา 120 บาท

นี่แสดงให้เห็นชัดเลย ว่าโรงหนังมัลติเพล็กซ์ ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของคนดูหนังจริงๆ มันเอาไว้ให้วัยรุ่นหนุ่มสาวไปแฮงค์เอาท์ฉาบฉวยเท่านั้น ไม่ได้เอาไว้ดูหนังแบบคนรักหนัง เวลาผ่านไปสิบปี ในที่สุดผมก็ย้อนกลับไปดูหนังจากโรงหนังแบบกัน และเชื่อว่ามีคนที่เป็นคอหนังจำนวนมากก็คิดแบบเดียวกัน

...

2 comments:

Unknown said...

ไม่ได้เห็นเขียนเรื่องยาวๆ นานแล้วนะครับ เขียนได้โดนใจมาก ผมก็ยังเคยคิดคล้ายๆ กันว่า เมื่อก่อนโรงหนังบอกว่า ทุกที่ราคาเท่ากัน แต่ทุกวันนี้มันก็ไม่เท่ากัน และแพงขึ้นเรื่อยๆ จนเน้นดู DVD อยู่บ้านมากกว่าแล้ว ยิ่งช่วงนี้ติดซีรีส์อเมริกาต่างๆ มาก ก็เลยไม่ได้ดูในโรงหนังไปโดยปริยาย

witchestest said...

โรงหนังเดี๋ยวนี้กลุ่มเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่คนรักหนังหรอก
แต่เป็นอีกกิจกรรมให้ "คนรักกัน" เค้ามีที่ไปมากกว่านะ
ตามสูตรเป๊ะๆ เดินห้าง+กินข้าว+ดูหนัง
หนังก็ดูขำๆ เอามันส์ ไม่ต้องคิดมาก เดี๋ยวเครียด
หนังที่อาจต้องใช้ความคิดหรือส่อแววเศร้าเนี่ย ผู้บริโภคคงเป็นชนกลุ่มเล็กกว่าไปจนถึงเล็กที่สุด

สมัยฉันเรียนเริ่มมีโรงหนังแบบใหม่ที่เรียกว่า มินิเธียเตอร์ เกิดขึ้น
ค่าตั๋วเฉลี่ยแล้วประมาณ 50 บาท (เริ่มต้นที่ 30 ไปจนถึง 60) ตามทำเลของโรงหนังและความใกล้ไกลจอ
มีเวลาเหลือระหว่างเรียนสักสองชั่วโมง
ฉันจะหนีเเข้าโรงหนัง ..

จำไม่ได้ว่าดูหนังในโรงมัลติเพล็กครั้งแรกเมื่อไหร่
หรือโรงมันเปลี่ยนเข้าสู่ยุคมัลติเพล็กซ์ตอนไหน
จำได้แต่ความรู้สึกตอนควักเงินซื้อตั๋วหนังใบละร้อย
แต่ก็ไม่เท่าความรู้สึกล่าสุดตอนควักเงินซื้อตั๋วหนังที่สยามพาราก้อน
ขณะที่ในใจก่นด่าตัวเองว่าพลาดไปแล้ว ไม่น่าตกปากรับคำเพื่อนเลย ให้ตายสิ
(มันไม่ได้มีค่าตั๋วหนังน่ะสิ ไหนจะค่ารถ เวลาในการเดินทาง ค่ากินอีก .. ถ้ามีเพื่อนไปด้วยก็อาจจะต้องเสียค่ากินเพิ่มขึ้น .. ต้องรอเวลาเข้าห้องน้ำก่อนดูหนัง และหลังดูหนัง เดินช้อปต่ออีกหน่อยย่อยอาหาร .. ฯลฯ)

่ที่แปลกคือวันนี้มีโรงหนังทั่วไปหมด
่ห้างนึงเกือบ 10 โรง แต่ฉายหนังอยู่ 3 เรื่อง
่จำได้ว่าสมัยที่เป็นมัลติเพล็กใหม่ๆ ราคาตั๋ว 70 เนี่ย ฉันได้ดูหนังหลากหลายกว่านี้นะ
เพราะหนังที่ชอบๆ หลายเรื่องก็ได้ดูในโรงทั้งนั้น
ต่างกับเดี๋ยวนี้ ไม่ค่อยมีหนังเล็กๆ เข้าฉายในเครือใหญ่
หรือถ้าได้เข้า ก็จะแอบเข้าและออกไปเงียบๆ เหมือนกลัวคนไปดู
มารู้อีกทีว่ามันเคยฉายในบ้านแล้วหรือ ก็อีตอนมีแผ่นดีวีดีออกมาแล้วนั่นแหละ

ช่วง 10 ปีโทรศัพท์มือถือเกลื่อนเมืองขึ้นเรื่อยๆ
โรงหนังทันสมัยขึ้น แต่มารยาทคนดูหนังเลวลง
ตลอดสิบปีในความรู้สึกฉัน มันแย่กว่าเดิมเห็นๆ .. ใครจะว่าดีก็ดีไปเหอะ

ไม่รู้มีใครยังจำบรรยากาศในการดูหนังสมัยเด็กกันได้มั่ง
กลิ่นของโรงหนัง เวลาเดินผ่านม่านเข้าไป
พื้นกระเบื้องยาง ที่มักเหนียวหนึบเพราะน้ำอัดลมหกซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ป๊อปคอนเรี่ยราดเต็มพื้น เก้าอี้พับเก่าๆ ที่ส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าด
ความสุขเวลาเดินออกจากโรงหนังกลับบ้าน