Sunday, December 03, 2006

Es lebe die Freiheit!

...

เมื่อวานผมเพิ่งได้ดูหนังเรื่อง Sophie Scholl ด้วยความอนุเคราะห์จากน้องชายผู้น่ารัก ส่งแผ่นดีวีดีมาให้ในวันรุ่งขึ้น หลังจากที่ผมเอ่ยปากถามถึงไปแว้บเดียว ว่าอยากดูเหลือเกินในตอนนี้ มันเป็นเรื่องราวของกลุ่มนักศึกษาเยอรมนี ที่เคลื่อนไหวต่อต้านนาซีอย่างลับๆ ในนาม White Rose ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเขาทำใบปลิวออกแจกจ่าย และขีดเขียนฝาผนังในเมือง เพื่อปลุกให้ชาวเยอรมนีเลิกก้มหัวให้กับฮิตเล่อร์ด้วยความหวาดกลัวเสียที โซฟี โชลล์ และพี่ชาย เป็นสมาชิกของกลุ่มนี้ พวกเขาถูกตำรวจจับได้ระหว่างกำลังเอาใบปลิวไปวางในมหาวิทยาลัย เรื่องราวดำเนินไปในช่วงเวลาที่เธอถูกสอบสวนและดำเนินคดีในศาล ซึ่งรวบรัดเพียงแค่ 5 วัน แล้วเธอก็โดนตัดสินประหารชีวิต ด้วยเครื่องกิโยติน

หนังได้แสดงให้เห็นความสลับซับซ้อนของความคิดของตัวละครแต่ละฝ่าย ทั้งฝ่ายนาซี ผ่านตัวตำรวจผู้ทำหน้าที่สอบสวนชื่อว่า โรเบิร์ต มอห์ร ที่มีความเชื่อมั่นในลัทธิชาตินิยม เผด็จการ และเชื่อว่าในที่สุด ฮิตเล่อร์จะนำพาชาวเยอรมันไปสู่ความสงบสุขและร่ำรวย ส่วนตัวโซฟี โชลล์ ก็เชื่อมั่นในเรื่องเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย ทั้งสองคนต่อปากต่อคำกันในระหว่างการสอบสวน โรเบิร์ต มอห์ร ยกเหตุผลว่าเผด็จการฮิตเล่อร์ช่วยนำพาเยอรมนีให้รอดพ้นจากการรุกรานของประเทศอื่น และแนวคิดชาตินิยมก็ช่วยให้เยอรมนีรอดพ้นจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำมาได้ ส่วนโซฟีก็บอกว่าลัทธิเผด็จการชาตินิยมแบบนี้ ถ้าผู้นำเป็นบ้าล่ะ จะนำพาประเทศไปถึงไหนกัน เราจึงควรจะต้องเชื่อมั่นในตัวมนุษย์ และให้สิทธิเสรีภาพแก่ทุกคนโดยเท่าเทียมสิ ซึ่งเรื่องพื้นฐานที่สุดก็คือเรื่องการแสดงความคิดเห็นนี่แหละ

การเถียงกันเรื่องความถูก-ผิด ความดี-เลวแบบนี้ เถียงกันไปทั้งปีทั้งชาติก็ไม่มีสิ้นสุด ชาตินิยมก็ดีในสถานการณ์หนึ่ง ในระดับหนึ่ง เสรีนิยมก็ดีในอีกสถานการณ์หนึ่ง และในระดับหนึ่ง เพียงแต่ในกรณีของฮิตเล่อร์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนี้ มันดูง่ายว่าฝ่ายไหนถูกหรือผิด ก็ฮิตเล่อร์มันเล่นสั่งฆ่าคนไปเป็นล้าน และนำพาทั้งโลกเข้าสู่มหาสงคราม แล้วยิ่งเมื่อในที่สุดแล้ว มันเป็นฝ่ายแพ้สงคราม มันก็ต้องเป็นฝ่ายผิดอยู่แล้ว ดังนั้น สำหรับผม ผมเลยคิดว่า ประเด็นหลักของหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่การต่อต้านนาซี ไม่ใช่การเชิดชูประชาธิปไตย และไม่ได้สรุปแบบฟันธงว่าอะไรดีอะไรเลวแบบตื้นๆ ผมว่าประเด็นหลักของหนังเรื่องนี้ อยู่ที่การตั้งคำถามกับเสรีภาพของมนุษย์ ว่ามนุษย์คนหนึ่งควรมีสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น ความเชื่อ และอุดมคติของตนเอง มากแค่ไหน และถ้ามันแตกต่างไปจากคนอื่น หรือมันผิดกฎอัยการศึกหล่ะ เขาควรต้องรับโทษถึงตายหรือเปล่า

ฉากที่น่าสนใจ คือฉากที่โซฟีและพี่ชายถูกนำตัวขึ้นศาล โดยมีผู้พิพากษาคือ โรแลนด์ ฟรีสเลอร์ ในวินาทีสุดท้ายก่อนจะตัดสิน ศาลเปิดให้จำเลยลุกขึ้นกล่าวประโยคสุดท้าย เพื่อยอมรับความผิด และเพื่อขอความเมตตา เผื่อว่าศาลจะลดโทษจากประหารชีวิต ให้เหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งสถานการณ์สงครามตอนนั้น เป็นช่วงปลายๆ แล้ว ถ้าคุณเหลือโทษแค่ติดคุกตลอดชีวิต และคุณเชื่อว่านาซีแพ้แน่ คุณก็คงรู้ว่าจะติดคุกจริงๆ ไม่นานเท่าไร ผมเลยสงสัยว่า ถ้าเป็นคุณล่ะ? ถ้าคุณอยู่ในสถานการณ์นั้น ในวินาทีนั้น คุณจะยังคงยืนหยัด ยืนยันกับความคิดเห็น ความเชื่อ และอุดมคติของคุณต่อไป โดยยอมตายเพื่อแสดงมรณสักขี หรือว่าคุณจะยอมรับผิด ยอมรับว่าที่เขียนในใบปลิวนั้นเหลวไหล และอ้อนวอนขอให้ศาลไว้ชีวิต เอาชีวิตให้รอดไว้ก่อน วันหน้าค่อยว่ากันใหม่

ถ้าในโลกนี้ เรื่องความถูก-ผิด ความดี-เลว นั้นซับซ้อน ไม่สามารถตัดสินแบบฟันธง และเราจะต้องดำเนินชีวิตอยู่ให้รอดในสภาวะเช่นนี้ ด้วยความประนีประนอม และสมดุลย์แล้ว แบบนี้เราจะมีท่าทีต่อความคิดเห็น ความเชื่อ และอุดมคติ ของตัวเราเอง และของผู้อื่นอย่างไร


โรเบิร์ต มอห์ร : นี่คือกฎหมาย และนี่คือประชาชน หน้าที่ของผมคือทำให้ทั้งสองมาบรรจบกัน พวกเราทุกคนต้องยึดถือกฎหมายสิ ไม่ว่าใครจะร่างมันก็ตาม ไม่งั้นแล้วจะให้เรายึดถืออะไร


โรแลนด์ ฟรีสเลอร์ : มหาสงครามนี้จะนำชัยชนะมาให้ชาวเยอรมัน จะทำให้เกิดความยิ่งใหญ่และความบริสุทธิ์


ถ้าเป็นคุณ เห็นกิโยตินอยู่ตรงหน้าแบบนี้ จะยังคงยืนหยัด ยืนยันอยู่ไหม??


โซฟี โชลล์ : ใช่ ฉันทำ (แจกใบปลิว) และฉันก็ภูมิใจกับสิ่งที่ทำลงไป


...

7 comments:

Anonymous said...

การตัดสินใจของคนๆ เดียวกันในเรื่องเดียวกันแต่ต่างช่วงเวลากันก็สามารถตัดสินใจแตกต่างไปได้ ความแตกต่างนั้นน่าจะเกิดมาจากประสบการณ์ชีวิตที่สะสมมาว่าเรามีความผูกพันกับสิ่งใดหรือใครๆ มากน้อยแค่ไหน แล้วเรานำสิ่งเหล่านี้มามีอิทธิพลกับการตัดสินใจของเราหรือไม่ การตัดสินใจแบบริสุทธิ์ใจกับตัวเองมากที่สุดคือการตัดสินใจโดยที่ไม่ได้เป็นกังวลกับใครหรือนาคตใดๆ ในวินาทีต่อไปแม้แต่ความตาย มันเป็นเพียงความจริงใจกับตัวเอง ซึ่งแม้แต่ความซับซ้อนของความถูก ผิด ดี เลว ก็ยังไม่เกี่ยวข้องใดๆ Finde ich so.

Anonymous said...

ถ้าเป็นผมๆ คงไม่เคลื่อนไหวอะไรเลย เพราะผมเชื่อว่าการพยายามไปเปลี่ยนแปลงคนอื่นมันยากมาก และผลลัพท์ของผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์​ จุดจบก็อย่างที่รู้ๆ กัน เราไม่รู้ว่าจะสู้เพื่ออะไร ประชาธิไตย? เสรีภาพ? คอมมิวนิสต?์ เผด็จการ? ผู้ืชนะล้วนตรากฏเกณฑ์ทั้งสิ้น

Anonymous said...

แต่เป็นเรา เราจะสู้นะ
ไม่อยากมารู้สึกทีหลังว่า
ไม่ได้ทำอะไรเลย

แต่ว่าก่อนที่จะสู้
ต้องรู้ก่อนว่า สู้เพื่ออะไร

Anonymous said...

เราว่าถูกหรือผิดอาจจะตัดสินไม่ได้ทั้งหมด แต่ยังมีบ้างที่เห็นกันชัดๆ ยกตัวอย่าง ฝีมือเล่นดนตรีของเรา กับ โมสาร์ต เห้นกันชัดๆว่าใครดีใครเลว

ถ้าเป้นสิ่งที่มั่นใจว่าดี เราว่าก็คุมที่จะสู้นะ

Anonymous said...

ถ้าการแสดงออกทางเสรีภาพทางความคิดของคนเรา มีเงื่อนไขวว่าจะต้องแลกมันมาด้วยชีวิต ??

เราจะเรียกมันว่าเสรีภาพอยู่เหรอ?????

Anonymous said...

อ่านที่พี่เขียนแล้ว ทำให้ผมอยากชมภาพยนตร์เรื่องนี้เลยครับ เราคิดว่าแต่ละยุคสมัยและสังคมก็นิยามเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกแตกต่างกันไป นิสัยใจคอของคนแต่ละยุคสมัยก็แตกต่างกันด้วย

สิ่งที่ผมกำลังสงสัยก็คือ จิตวิญญาณในด้านการต่อสู้ของคนในยุคสมัยก็แตกต่างกัน ต้องยอมรับว่าคนในยุคก่อนเรานั้น เขามีจิตวิญญาณที่เข้มแข็งมีอุดมการณ์ที่แน่วแน่ สามารถยอมตายได้เพื่อสิ่งที่เขาเชื่อ

แต่มองกลับมาที่คนในยุคปัจจุบัน น้อยคนนักที่จะกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวในอุดมการณ์ของตน จิตวิญญาณของพวกเราแตกกระเจิงจากวัตถุ วันๆ เราหมกหมุ่นแต่เรื่องของตัวเอง

เราไม่รู้สึกว่า เรื่องของสังคม เรื่องประเทศชาติ สำคัญกว่า อินเตอร์เน็ตไฮ-สปีดที่บ้านเราขัดข้อง หรือ เปิด MSN ไม่ได้ อัพบล็อกไม่ขึ้น

เรื่องในระดับอุดมการณ์เป็นเรื่องไกลตัวเราออกไปเรื่อยๆ นับวันคนอย่างนางเอกในเรื่องนี้ก็สูญหายไปจากสังคม และผมก็เชื่อว่าคนในสังคมเราก็ไม่กรี๊ดคนอย่าง
นางเอกเท่าไหร่ ถ้าเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในยุคนี่ละก็

เราอาจมานินทาเธอก็ได้ว่า "อี่นี่มันบ้า เอาชีวิตไปเสี่ยงทำไม อยู่บ้านทาโลชั่นดีกว่า"

wichiter said...

ผมว่าการที่คนเราต่อสู้เพื่ออะไรที่ยิ่งใหญ่มากๆ
แล้วก็ฟังดูเป็นนามธรรมมากๆ
มันน่ากลัว :P

ยิ่งคนไหนชอบป่าวประกาศว่า จะต่อสู้เพื่ออะไรพวกนี้
เรายิ่งจำเป็นต้องระมัดระวัง คนๆนั้นเป็นพิเศษ