20. ข้อจำกัดของการนิรนัย
ในขณะที่ชายคนหนึ่งแข็งแกร่ง Unbreakable ชายอีกคนต้องนอนซมในโรงพยาบาลด้วยอาการเปราะแตกง่าย เขาสงสัยกับชีวิตนี้ ว่าเกิดมาทำไม ทำไมต้องเป็นเช่นนี้ พระเจ้าสร้างคนอย่างเขาขึ้นมาทำไม
อีไลจาห์ไปหาเมียของเดวิด ดันน์ ซึ่งทำงานเป็นนางพยาบาลกายภาพบำบัด และพยายามอธิบายทฤษฎี Unbreakable ให้เธอฟัง เขาบอกว่า "โลกของเราทุกวันนี้อยู่ในยุคสมัยแห่งความทุกข์ยาก ผู้คนกำลังจะหมดศรัทธาต่อพระเจ้าและต่อตัวเอง ผู้คนไม่เชื่อแล้วว่ามีพลังพิเศษอยู่จริง ผมขอให้คุณอย่าเพิ่งหมดศรัทธา และขอให้เปิดใจให้กว้าง"
ฉากนี้เผยให้เห็นชัดเจน ว่าอีไลจาห์นำเรื่องศาสนาและความศรัทธาต่อพระเจ้า มาผสมปนเปเข้ากับโครงเรื่องเล่าในหนังสือการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ เขาใช้วิธีนิรนัยในการสร้างทฤษฎีขึ้นมา และพยายามประกาศทฤษฎีนี้ต่อผู้คน
วิธีนิรนัยเป็นวิธีหาความรู้ที่ primitive หรือบรรพกาล มีมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ กรีกโรมันโบราณ เรื่อยมาจนถึงยุคกลางของยุโรป เป็นการคิดหาเหตุผลหรือความรู้มาอธิบายโลกและชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่จะได้คำตอบมาเป็นเรื่องพระเจ้า เทพเจ้า ความจริงสัมบูรณ์ แล้วก็นำมาอธิบายเหตุการณ์ย่อยๆ ที่เกิดขึ้น เช่นฝนตกฟ้าร้องเพราะเทพเจ้า คนเราเกิดมาตามพระประสงค์ของพระเจ้า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ทุกสิ่งทุกอย่างหมุนอยู่รอบโลก ฯลฯ
ข้อจำกัดของการนิรนัย คือ
- ถ้าชุดเหตุผลหรือทฤษฎีเริ่มต้นนั้นผิด ก็จะนำไปสู่คำตอบที่ผิดไปด้วยในท้ายที่สุด
- ทฤษฎีที่มีอยู่ตั้งแต่เริ่มต้นนั้น จะถือว่าถูกต้องไปจนกว่าจะหาอะไรมาหักล้างได้ว่าผิด
ในกรณีทฤษฎี Unbreakable ของอีไลจาห์ ข้อจำกัดอยู่ตรงที่
- ทฤษฎีนี้ผิดตั้งแต่เริ่มต้นหรือเปล่า (ตามท้องเรื่อง คือทฤษฎีนี้เป็นจริงนะ)
- อีไลจาห์ถือว่าทฤษฎีของเขาถูกต้องไปเรื่อยๆ ถึงแม้จะหาตัว เดวิด ดันน์ เจอหรือไม่เจอก็ตาม
- คำตอบในท้ายที่สุด เป็นเพียงการเน้นย้ำว่าทฤษฎี Unbreakable ของอีไลจาห์นั้น เป็น Unbreakable Law
21. ข้อจำกัดของการอุปนัย
การ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ในสมัยนี้ มักจะนำเสนอตัวละครที่มีมิติลุ่มลึกขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่เพียงแค่การแบ่งขาว-ดำ ดี-เลว สุข-ทุกข์ เหมือนอย่างเคยอีกต่อไป ตัวพระเอกซูเปอร์ฮีโร่ในการ์ตูนจึงมักจะมีความเป็นมาอันสลับซับซ้อน มีนิสัยแปลกประหลาด มีความคิดในด้านมืด มีความเศร้าและระทมทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการนำมาสร้างเป็นหนังก็จะยิ่งเห็นได้ชัดเจน อย่างเช่น Spider-man ของ แซม เรมี่ ก็นำเสนอด้านลึกของตัวร้ายที่น่าสงสาร ด้านเศร้าของพระเอกที่ไม่อยากเป็นผู้รับผิดชอบโลก ใน Batman ของ ทิม เบอร์ตัน และ คริสโตเฟอร์ โนแลน ก็ยิ่งเห็นได้ชัด ว่าตัวพระเอกมืดหม่นลง
ซูเปอร์ฮีโร่ของชยามาลานใน Unbreakable ก็เป็นเช่นเดียวกัน เดวิด ดันน์ ทำหน้าตึงๆ มึนๆ ตั้งแต่ต้นเรื่องจนกระทั่งมาถึงฉากนี้ ฉากที่เขาพาเมียมานั่งดินเนอร์ฉลองครบรอบวันแต่งงาน เขาต้องการจะกลับมาคืนดีกับเมียอย่างมาก และต้องการสลัดความทุกข์โศกในใจออกไปให้ได้
ความทุกข์โศกในใจของเดวิด ดันน์ เกิดจากการที่เขาไม่เข้าใจว่าตนเองที่แท้จริงแล้วคือใคร มีความสามารถพิเศษอย่างไร และชีวิตของเขาทำอะไรได้บ้าง หลังจากที่เขาทิ้งอนาคตการเล่นอเมริกันฟุตบอล และมาแต่งงานกับเมีย ดำเนินชีวิตไปอย่างคนปกติสามัญ ทำให้เขาระทมทุกข์สะสมเรื้อรังมา
การไม่เข้าใจตนเองของเดวิด เกิดขึ้นจากข้อจำกัดของวิธีอุปนัย กล่าวคือเดวิดไม่เคยฉุกคิด หรือสังเกตตนเองมาก่อนเลย ว่าเขามีพลังพิเศษอยู่ ทำให้ไม่เคยเจ็บป่วย ไม่เคยบาดเจ็บ เพราะความรู้ที่ได้จากวิธีอุปนัยนั้น ได้มาจากการสังเกตเหตุการณ์ย่อยๆ หลายเหตุการณ์ เพื่อมองหารูปแบบหรือสิ่งที่ร่วมกัน แล้วจึงนำมาสรุปเป็นทฤษฎี ในเมื่อเดวิดไม่เคยสังเกต เขาก็ไม่มีทฤษฎีเกี่ยวกับชีวิตตัวเองเลย
จนกระทั่งได้รับคำถามจากอีไลจาห์ ว่า "How many days of your life have you been sick?" เดวิดจึงค่อยเริ่มฉุกคิด และเริ่มกระบวนการหาความรู้แบบอุปนัย คือเริ่มไปถามคนโน้นคนนี้ว่าเคยเห็นเขาป่วยไหม ย้อนกลับไปดูเอกสารข่าวเก่าๆ ของตนเอง และค่อยๆ พิจารณาร่างกายตนเองอย่างละเอียด
วิธีอุปนัยเป็นวิธีหาความรู้ในโลกสมัยใหม่ หรือโลกโมเดิร์นิสม์ เริ่มต้นมาจากยุคเรเนซองต์ อย่างเช่นพวก ฟรานซิส เบคอน ไอแซค นิวตัน คาร์ล ปอปเปอร์ ฯลฯ เป็นยุคสมัยนี้คนเราเกิดความคิดแบบมนุษยนิยม เริ่มให้ความสำคัญกับศักยภาพของตนเอง มากกว่าการให้ความสำคัญกับพระเจ้า คนเริ่มคิดว่าตนเองสามารถหาความรู้ได้จากการคิด (คือเหตุผล) และการประจักษ์ (คือสังเกต) แล้วรวบรวมข้อมูลหลักฐานเหล่านั้นมาก่อขึ้นเป็นทฤษฎี ซึ่งวิธีอุปนัยก็คือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ประจักษ์นิยม เหตุผลนิยมนั่นเอง
นิรนัย การนำส่วนใหญ่มาสรุปส่วนย่อย
อุปนัย การนำส่วนย่อยมาสรุปส่วนใหญ่
ข้อจำกัดของวิธีอุปนัย
- ต้องอาศัยการสังเกตประสบการณ์ และต้องรวบรวมข้อมูลละเอียด
- ทฤษฎีที่ได้มานั้นยังต้องถือว่าผิดไปเรื่อยๆ (Falsibility) รอให้ต้องพิสูจน์จนครบถ้วนที่สุด
22. การพิสูจน์ทฤษฎี Unbreakable ครั้งสุดท้าย
หลังจากที่เดวิดใช้วิธีอุปนัยในการเก็บข้อมูลมานาน เขาสรุปได้ชัดเจนแล้วว่าเขาไม่เคยเจ็บป่วย และเขามีสัญชาตญาณพิเศษจริงๆ เขาคิดว่าสิ่งนี้ต้องเกี่ยวข้องกับความทุกข์โศกของเขาในปัจจุบัน เขารีบโทรไปหาอีไลจาห์ อีไลจาห์ให้คำแนะนำแก่เขาในการพิสูจน์ทฤษฎีครั้งสุดท้าย ด้วยการทำตัวเป็นซูเปอร์ฮีโร่ตัวจริง
นี่คือฉากแอคชั่นเพียงฉากเดียวในหนังเรื่องนี้
เริ่มจากเดวิดเดินเข้าไปในสถานีรถไฟ โปรดสังเกตฉากรอบตัวเขาดูเหมือนวิหารโบราณ และเครื่องแต่งกายของเขาก็เป็นเสื้อคลุมเหมือนนักบวชสมัยโบราณ ชยามาลานต้องการนำเสนอฉากนี้ให้เหมือนกับพวกนักวิทยาศาสตร์สมัยโบราณ กำลังทำการทดลองเล่นแร่แปรธาตุอยู่
23. ทฤษฎี Unbreakable - Unbreakable Law
ในที่สุด เดวิดก็พิสูจน์ทฤษฎีสำเร็จ ทฤษฎี Unbreakable ของอีไลจาห์ กลายเป็น Unbreakable Law เดวิดได้ใช้พลังพิเศษของตนเองช่วยชีวิตคนอื่น เช้าวันรุ่งขึ้นเขาตื่นมาพร้อมกับความแจ่มใส เมียมีความสุข ลูกชายมีความภูมิใจ
เดวิดนึกขอบคุณอีไลจาห์
24. สิ่งที่ต้องแลกมา
การจะได้มาซึ่งความรู้และความจริง ตลอดหลายพันปีของวิวัฒนาการของมนุษยชาติ เราต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง?
ใน Unbreakable อีไลจาห์ลงมือก่อการร้ายหลายครั้ง เพียงเพื่อค้นหาใครสักคนที่เป็นคู่ตรงข้ามของเขา เพียงเพื่อยืนยันว่าทฤษฎีจากการ์ตูนของเขาเป็นความจริง
25. วิธีวิทยา
ผมคิดว่าชยามาลานไม่ได้ให้ข้อสรุปแบบฟังธงลงไป ว่าใครผิดใครถูก ใครดีใครเลว และเขาก็ไม่ได้บอกว่าวิธีนิรนัยของอีไลจาห์มีปัญหา หรือมีจุดอ่อนมากกว่าวิธีอุปนัยของเดวิด ซึ่งนี่ก็แสดงให้เห็นความเป็นนักปรัชญาของชยามาลานได้อย่างชัดเจน
ข้อสรุปในท้ายที่สุดตามท้องเรื่อง ทฤษฎี Unbreakable นั้นเป็นจริง และอีไลจาห์ก็เป็นคนที่ฉลาดมากถึงขนาดที่สามารถนิรนัยมันออกมาได้สำเร็จ ถ้าไม่มีอีไลจาห์มาเป็นจุดเริ่มต้น เดวิดก็จะไม่มีวันค้นพบตัวเอง เขาก็จะจมอยู่กับความทุกข์โศกในใจตลอดไป ไม่ได้มีโอกาสไปช่วยเหลือคนอื่นแบบซูเปอร์ฮีโร่
สิ่งที่ผมได้ข้อสรุปจากหนัง Unbreakable
1. วิธีนิรนัยโดยอ้างศาสนาและพระเจ้า ทำให้พวกที่จิตใจวิปริตบางคน ถือเป็นข้ออ้างในการก่อการร้ายและทำลายล้างผู้อื่น โดยถือว่าเป็นภาระกิจศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมันก็คือลัทธิการก่อการร้ายและการก่อสงครามจิฮัดโดยพวก Fundamentalism ในปัจจุบันนั่นเอง
2. วิธีอุปนัยและวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ ทำให้มนุษย์แห้งแล้ง ซึมเศร้า ขาดจิตนาการ ไร้ศรัทธา และเป็นการยากที่เราจะรวมรวมข้อมูลอะไรได้ครบถ้วนจนได้ความรู้ความจริงขึ้นมาได้
3. วิธีวิทยาที่เหมาะสมนั้นก็คือการนำนิรนัยและอุปนัยมาใช้ร่วมกันนั่นเอง แต่จุดปัญหาของการแสวงหาความรู้ในยุคปัจจุบัน ก็คือความหมกมุ่นในการพิสูจน์และความอยากรู้อยากเห็นจนมากเกินไป มักจะนำเราไปสู่ความสูญเสียอย่างมาก กว่าที่เราจะได้พบความรู้ใดๆ
...
No comments:
Post a Comment