Friday, March 13, 2009

ดูหนังเป็นตุเป็นตะ - Unbreakable ตอนที่ 1

...


เอ็ม ไนท์ ชยามาลาน อีกแล้วครับท่านผู้ชม!

ผมชอบหนังของชยามาลาน ไม่ใช่เพราะว่ามันสนุกหรือว่าบันเทิงอะไรนักหรอก แต่เพราะว่ามันสามารถนำมาเขียนวิเคราะห์ได้อย่างเป็นตุเป็นตะเหลือเกิน คราวที่แล้วผมเขียนถึง Lady in the Water และ The Happening ไปแล้ว มาคราวนี้จะเขียนเป็นตุเป็นตะถึง Unbreakable หนังใหญ่เรื่องที่สองของเขา หลังจากที่เพิ่งประสบความสำเร็จมาหมาดๆ จาก The Sixth Sense

การจะเป็นตุเป็นตะกับ Unbreakable ได้ เราต้องมีพื้นฐานเบื้องต้นดังต่อไปนี้ก่อน


1. เริ่มต้นที่ทฤษฎีประพันธกรเช่นเคย

โดยผมฟันธงว่า Unbreakable เป็นผลงานที่ดีที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดของชยามาลาน นับพิจารณาตั้งแต่ The Sixth Sense จนถึง The happening นะครับ ผมคิดว่าเขาได้ทุ่มความคิดทั้งหลายทั้งมวลในหัวใส่ลงไป จนทำให้หนังเรื่องนี้รุ่มรวยไปด้วยประเด็นทางปรัชญา วิชาการ สังคม และวัฒนธรรม ถ้าคุณเป็นแฟนหนังของชยามาลานอย่างเหนียวแน่น จะสังเกตเห็นได้เลยว่า แนวความคิดหลักในหนังเรื่องอื่นๆ ของชยามาลาน ทั้งที่สร้างก่อนและหลังจาก Unbreakable ล้วนมีปรากฏให้เห็นเป็นส่วนหนึ่งในหนัง Unbreakable ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น :
- การวิเคราะห์เรื่องเล่า จาก Lady in the Water
- ปรัชญาวิทยาศาสตร์ จาก The Happening
- การหักมุม จาก The Sixth Sense
- ศาสนาคริสต์และความศรัทธาต่อพระเจ้า จาก Signs
- The Village อันนี้ยังไม่ค่อยชัดเท่าไร แต่ผมมองว่ามันคาบเกี่ยวกันในเรื่องความหวาดกลัวต่อลัทธิการก่อการร้าย
ผมมองว่าหนังเรื่องอื่นๆ เหล่านี้ เป็นเพียง Subset ของหนังเรื่อง Unbreakable เท่านั้น รายละเอียดบางเรื่องโปรดย้อนกลับไปอ่านบทความดูหนังเป็นตุเป็นตะตอนเก่าๆ ส่วนรายละเอียดของ Unbreakable จะค่อยๆ อธิบายในลำดับต่อไปนี้


2. ความรู้และความจริง

ในวิชาระเบียบวิธีวิจัย สอนให้เราค้นหาความรู้และความจริงของโลก โดยมีลำดับดังต่อไปนี้

แนวความคิด หรือ Concept คือชุดเหตุผล ความคิด ความเชื่อของเรา ที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์หนึ่งๆ เช่น ทำไมวัตถุจึงต้องหล่นลงพื้นดินเสมอ

สมมติฐาน หรือ Hypothesis คือการนำแนวความคิดเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ตรวจสอบ คือนำมาตั้งเป็นสมมติฐานที่สามารถพิสูจน์ว่าผิดได้

ทฤษฎี หรือ Theory เมื่อสมมติฐานถูกพิสูจน์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการแล้วไม่พบว่ามีจุดใดผิด ก็ตั้งให้เป็นทฤษฎี

กฎ หรือ Law เมื่อทฤษฎีถูกพิสูจน์ซ้ำๆ ผ่านกาลเวลา และผ่านทุกสถานการณ์ ทุกสถานที่ เรายังพบว่าทฤษฎีไม่มีจุดผิดและถูกต้องเสมอ เราก็จะยกให้มันเป็นกฎ และเรียกว่า Unbreakable Law เช่นกฎแรงโน้มถ่วงของนิวตั้น เป็นต้น

(โปรดสังเกตว่าหนังเรื่องนี้ชื่อว่า Unbreakable)

3. นิรนัยและอุปนัย

ส่วนหนึ่งในวิชาปรัชญา กล่าวถึงวิธีการแสวงหาความจริงด้วยการใช้เหตุผล หรือการอนุมาน ทำได้ 2 วิธี คือการอนุมานแบบนิรนัย และการอนุมานแบบอุปนัย

2.1 นิรนัย คือการนำความเชื่อหรือความรู้เดิม มาสรุปเหตุการณ์ย่อยๆ ว่าเป็นไปตามนั้นด้วย เช่นการบอกว่า
มนุษย์ทุกคนต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย (ความรู้เดิม)
ฉันคือมนุษย์ (เหตุการณ์ย่อย)
ฉันก็ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย (คำตอบที่ได้)

2.2 อุปนัย คือการนำเหตุการณ์ย่อยๆ หลายเหตุการณ์ที่ตรงกัน ไปสรุปรวมเป็นความรู้ ว่าเหตุการณ์อื่นๆ ก็ต้องเป็นเหมือนกันหมด เช่นเรากำลังจะไปซื้อส้มในตลาด ถามแม่ค้าว่าส้มหวานไหม แม่ค้าบอกว่าหวานทั้งกอง เราเลยขอลองหยิบมาชิม ลูกแรกหวาน ลูกที่สองก็หวาน ลูกที่สามก็หวาน เราเลยยอมส้มมา 1 กิโลกกรัม โดยความเชื่อว่าส้มที่ซื้อมานี้ จะต้องหวานเหมือนส้มที่หยิบมาชิม

เป็นที่ถกเถียงกันมาหลายพันปีแล้ว ว่าวิธีการนิรนัยและวิธีอุปนัย แบบไหนดีกว่ากัน และทำให้เราได้ความจริงแท้มากกว่ากัน ในช่วงต้นของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ชาวกรีกโบราณยึดถือวิธีแบบนิรนัย ในทางศาสนา ลัทธิ ความเชื่อต่างๆ ที่เชื่อในความจริงสัมบูรณ์ ก็ยึดถือวิธีแบบนิรนัย คณิตศาสตร์และเรขาคณิตก็ใช้วิธีนิรนัยด้วยเช่นกัน (ซ.ต.พ.ที่เราเคยเรียนนั่นแหละ)

จนกระทั่งโลกเข้าสู่ยุคมนุษยนิยม และผู้คนเริ่มหันมาคิดแบบวิทยาศาสตร์มากขึ้น วิธีอุปนัยจึงเป็นที่ยอมรับมากกว่า แต่ในที่สุดแล้ว ในปัจจุบันก็มองว่าทั้งสองวิธีนี้มีปัญหาในตัวมัน ระเบียบวิธีวิจัยในสมัยนี้จึงใช้ทั้งวิธีนิรนัยและอุปนัยควบคู่กันไป เพื่ออุดช่องโหว่ของกันและกัน

ทีนี้เรามาดูหนังเรื่อง Unbreakable กันแบบทีละฉากๆ เพื่อดูการนิรนัยและอุปนัยในแต่ละสถานการณ์ ในสายตาของแต่ละตัวละคร


...

1. กำเนิดอีไลจาห์
เป็นการเปิดตัวละครเอกของเรื่องคือ "อีไลจาห์" เขาเป็นชายลึกลับที่มีความพิการตั้งแต่กำเนิด
จุดที่ควรสังเกตในฉากนี้มีอยู่ 2 ข้อ คือ
1.1 การอนุมานแบบนิรนัยครั้งแรกในหนังเรื่องนี้ เมื่อบุรุษพยาบาลเป็นทารกแรกเกิดแขนขาหัก เขาใช้ชุดความรู้เดิมมาสรุปในทันที ว่าต้องมีใครทำเด็กตกพื้นระหว่างการคลอด แต่ความจริงคือไม่มีใครทำเด็กตกเสียหน่อย เด็กคนนี้ป่วยเป็นโรคประหลาดทำให้กระดูกเปราะบาง เขาเกิดมาพร้อมกับอาการบาดเจ็บแขนขาหักตั้งแต่อยู่ในท้องแม่
1.2 การสนทนากันด้วยการมองผ่านกระจกเงา ระหว่างผู้ที่เข้ามาช่วยปฐมพยาบาล กล้องวางอยู่ในตำแหน่งเดียวแต่แพนกลับไปกลับ ผ่านกระจกเงา โดยกระจกเงาและภาพเงาสะท้อนในกระจก ถูกนำเสนอบ่อยครั้งในหนังเรื่องนี้ เพื่อต้องการจะสื่อความหมาย 2 ประการ
- กระจกหมายถึงสิ่งที่แตกหักได้ ซึ่งหมายถึงอีไลจาห์นั่นเอง เขาถูกเพื่อนๆ วัยเด็กเรียกว่า Mr.Glass
- เงาในกระจก หมายถึงการดำรงอยู่ของ 2 สิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน ในประเด็นนี้จะถูกขยายความในตอนถัดๆ ไป


2. Unbreakable
ชื่อหนังเรื่องนี้ ก็มี 2 ความหมายเช่นกัน
2.1 หมายถึงสิ่งที่ไม่แตกหัก คือพระเอกของเรื่อง เดวิด ดันน์ นำแสดงโดย บรูซ วิลลิส
2.2 หมายถึงสิ่งที่ไม่แตกหักอีกสิ่งหนึ่ง คือ Unbreakable Law เมื่อแนวความคิด ถูกนำมาเข้าสู่กระบวนการศึกษาวิจัย ตั้งเป็นสมมติฐาน ทดลอง พิสูจน์ จนยกระดับกลายเป็นทฤษฎี และเมื่อทำการทดสอบซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ทฤษฎีก็ยิ่งถูกต้องและตรงกับความจริงมากขึ้น จนกลายเป็นกฎที่ไม่อาจล้มล้างได้


3. การมองกลับหัว
นอกจากกระจกแล้ว สิ่งที่ถูกใช้ซ้ำๆ ในหนัง Unbreakable จนกลายเป็น Motif หลักของเรื่อง คือลักษณะการมองโลกแบบกลับหัว ชยามาลานต้องการจะนำเสนอว่าพวกเรากำลังค้นหาความจริงของโลก แบบกลับทิศกลับทาง รายละเอียดจะค่อยๆ อธิบายเพิ่มเติมในลำดับต่อไป


4. การสนทนาไร้สาระในรถไฟ
ผมนึกถึงฉากคุยกันในรถไฟในหนัง The Happening ชยามาลานใช้เทคนิคเดิมๆ ในการนำเสนอประเด็นทางปรัชญา
ในฉากนี้ถ้าจะดูเนื้อหาในบรรทัด ก็จะได้รับรู้ว่า 1. พระเอกแต่งงานแล้วแต่กำลังมีปัญหากับเมีย 2. พระเอกเป็นอดีตนักกีฬา และ 3. พระเอกไม่ชอบน้ำ
แต่ถ้าดูเนื้อหาที่อยู่ระหว่างบรรทัด จะพบว่าชยามาลานนำเสนอการอนุมานแบบนิรนัยเป็นครั้งที่สอง คือเมื่อหญิงสาวพูดคุยกับพระเอกไปสักพัก เธอก็รีบเดินหนีไป เพราะเธอใช้ชุดความรู้ที่มีอยู่เดิมมาสรุปได้เลยว่าพระเอกกำลังจะจีบเธอ


5. อุบัติเหตุของรถไฟขบวนที่ 177
ลูกชายของพระเอกนอนเอกขเนกบนโซฟา ดูข่าวทีวีนำเสนอข่าวอุบัติเหตุกับขบวนรถไฟที่พ่อของเขาโดยสาร โปรดสังเกตว่าเขามองกลับหัวเช่นกัน ในฉากกลางๆ เรื่อง เราจะได้เห็นว่าคนที่มองกลับหัวนั้นมีความคิดเกี่ยวกับความจริงของโลกอย่างไรบ้าง


6. การอนุมานแบบนิรนัยของหมอ
พระเอกถูกนำตัวเข้าไปในโรงพยาบาล โดยไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ และไม่มีแม้แต่รอยขีดข่วน ในขณะที่ผู้โดยสารคนอื่นตายหมดทุกคน ด้วยการอนุมานแบบนิรนัยของหมอ ทำให้หมอแทบไม่เชื่อเลยว่าพระเอกก็เป็นหนึ่งในจำนวนผู้โดยสารรถไฟขบวนนี้ด้วย
- คนในรถไฟขบวนที่ 177 ตายทั้งหมด
- คุณยังไม่ตาย
- คุณจึงไม่ได้อยู่ในรถไฟขบวนที่ 177

7. How many days of your life have you been sick?
ประโยคคำถามที่อยู่ในซองจดหมายลึกลับ ที่ถูกนำมาเสียบไว้ตรงกระจกหน้ารถ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของหนังเรื่องนี้ เพราะนับตั้งแต่นี้ไป หนังเรื่องนี้จะแสดงให้เราเห็นการแสวงหาความจริงของโลก ด้วยวิธีการ 2 แนวทาง
7.1 แบบนิรนัย - อีไลจาห์ ไพรซ์ พยายามพิสูจน์ทฤษฎีของเขา หาจุดผิดเพื่อมาแย้งทฤษฎี ถ้าหาจุดผิดไม่ได้ นั่นแปลว่าทฤษฎีของเขา Unbreakable
7.2 แบบอุปนัย - เดวิด ดันน์ เริ่มต้นการแสวงหาความจริงของโลก เขาเริ่มต้นจากการไม่รู้อะไรเลย และค่อยๆ เก็บข้อมูลมาเพิ่มเรื่อยๆ จนกระทั่งพบว่าตัวเขาเอง Unbreakable


8. การอนุมานแบบอุปนัยของพระเอก
คำถามในซองจดหมายลึกลับ ทำให้พระเอกเริ่มฉุกคิดเกี่ยวกับชีวิตตนเอง เขายังไม่สรุป ยังไม่เชื่อ และยังไม่ฟันธงใดๆ แต่เขาเริ่มต้นด้วยการเก็บข้อมูล ด้วยการถามเพื่อนร่วมงานและเมีย ว่ามีใครจำได้บ้างว่าเขาเคยป่วยครั้งสุดท้ายเมื่อไร


9. กระจกของอีไลจาห์
ตัวละครนี้มักจะปรากฏตัวพร้อมกับกระจกเสมอ เขาคืออีไลจาห์ในวัยเด็ก ที่ถูกเพื่อนๆ ล้อเรียกว่า Mr.Glass คนที่กระดูกเปราะแตกง่ายเหมือนกระจก ในฉากนี้เขากำลังมองผ่านเข้าไปในกระจกหน้าจอโทรทัศน์และกระจกหน้าต่าง
- ในกระจกหน้าจอโทรทัศน์และมองเห็นแต่หน้าตัวเอง และก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าทำไมเขาจึงต้องเป็นเช่นนี้
- ในกระจกหน้าต่างบ้านของเขา มองออกไปเห็นกล่องของขวัญวางอยู่บนม้านั่งยาวในสวนสาธารณะ และสิ่งนี้กำลังจะให้คำตอบแก่เขา


10. การ์ตูนกลับหัว
โปรดสังเกตว่าอีไลจาห์วัยเด็กก็เอียงคอเพื่อมองแบบกลับหัว (กลับหัวอีกแล้ว) ในกล่องของขวัญนั้นคือหนังสือการ์ตูนแนวซูเปอร์ฮีโร่ ซึ่งเมื่อเขาอ่านมันมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เขาสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของตนเอง และใช้ทฤษฎีอธิบายเหตุผลที่ว่าทำไมเขาจึงเกิดมาเป็นเช่นนี้ และเหตุผลว่าเขาเกิดมาเพื่ออะไร แน่นอนว่ามันกลับหัว กลับทิศกลับทาง วิปริตผิดเพี้ยนไปในที่สุด


11. ทฤษฎีจากการ์ตูน
ฉากนี้อีไลจาห์เปิดตัวในกระจกอีกเช่นเคย บทสนทนาในฉากนี้ทำให้เรารู้ว่าอีไลจาห์มีความหมกมุ่นกับการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่อย่างมาก จนเขาได้สร้างทฤษฎีจากการ์ตูนขึ้นมาเพื่ออธิบายโลกและผู้คน
1. โลกนี้มีการดำรงอยู่ของ 2 สิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน คือพระเอกและผู้ร้าย
2. ผู้คนมีลักษณะร่วม เช่น พระเอกมีกรามเป็นสี่เหลี่ยมใหญ่ ผู้ร้ายมีศีรษะเล็ก
เราจะเห็นภาพในกรอบรูปเป็นตัวคาแรกเตอร์การ์ตูนพระเอกและผู้ร้าย และเห็นภาพสะท้อนในกรอบกระจก เป็นตัวอีไลจาห์และลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมชมร้านของเขา อีไลจาห์และลูกค้ายืนประจันหน้ากัน โดยมีกรอบภาพการ์ตูนคั่นอยู่ตรงกลาง เปรียบเหมือนเป็นกระจกเงาบานใหญ่ตั้งอยู่ แต่อีไลจาห์กับลูกค้าคนนี้ไม่ใช่ภาพเงาสะท้อนของกันและกัน และไม่ใช่คู่ตรงข้ามของกันและกัน อีไลจาห์จึงไม่ยอมขายภาพวาดนี้ให้

...

ยังไม่จบครับ ยาวเกิน โพสต์รวดเดียวไม่ไหว โปรดติดตามตอนต่อไป

No comments: