Wednesday, March 25, 2009

นักคิดนักเขียน

...

นิตยสาร GM ฉบับครบรอบ 23 ปี มีธีมคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับ "นักคิด"

นอกจากจะได้รับมอบหมายจากบรรณาธิการให้เขียนบทความเกี่ยวกับนักคิดชิ้นนี้แล้ว ผมยังรับทำบทสัมภาษณ์นักคิด 2 คน คือ คุณหมอวิธาน ฐานะวุฑฒ์ และ อาจารย์ไชยันต์ ไชยพร ด้วยความบังเอิญหรืออะไรก็ไม่ทราบ ทั้งสองท่านได้ให้สัมภาษณ์ในบางประเด็นตรงกันอย่างน่าตั้งข้อสังเกต คือเรื่องความเกี่ยวพันกันระหว่างการคิดและการเขียน

ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ผมเดินทางไปจังหวัดเชียงรายเพื่อสัมภาษณ์คุณหมอวิธาน มีอยู่ประเด็นหนึ่งซึ่งติดใจผมมาก คุณหมอได้พูดไว้ตอนท้ายของการสัมภาษณ์ ว่าการได้ทำงานเขียนคอลัมน์ประจำในมติชนสุดสัปดาห์ติดต่อกันมาหลายปี ช่วยทำให้เขาได้ตกผลึกทางความคิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อชีวิตโดยรวมทุกด้าน คุณหมอได้สรุปว่าการเขียนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการคิด

เมื่อเขาไปทำงานจัดเวิร์คช็อปอบรมให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุขทั่วประเทศ เขาจึงแจกสมุดเปล่าให้กับผู้เข้าร่วมคนละหนึ่งเล่ม ไม่ใช่เพื่อให้ใช้จดเลกเชอร์การบรรยาย แต่เพื่อให้เขียนอะไรก็ได้ที่ออกมาจากความคิดและความรู้สึกของตนเอง โดยคุณหมอเชื่อว่าการเขียนจะทำให้ผู้เข้าร่วมการเวิร์คช็อปทุกคน สามารถตกผลึกทางความคิดได้เช่นเดียวกัน เพราะเมื่อได้ย้อนกลับไปอ่านสิ่งที่เขียนไว้ในวันแรกๆ เทียบกับวันท้ายๆ มักจะแสดงให้เห็นชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงทางความคิดไปในทางที่ดีขึ้น และลึกซึ้งขึ้น

หลังจากที่กลับมาจากเชียงราย การสัมภาษณ์คุณหมอวิธานยังคงวนเวียนอยู่ในหัวของผมตลอดเวลา จนกระทั่งในอีก 1 อาทิตย์ถัดมา ผมไปสัมภาษณ์อาจารย์ไชยันต์ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และก็พบว่าเขาได้พูดถึงประเด็นที่ใกล้เคียงกันมาก

อาจารย์ไชยันต์ให้คำอธิบายส่วนตัว ถึงสิ่งที่เรียกว่า "แกนประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ" (แนวคิดของคาร์ล จาสเปอร์ ที่ใช้อธิบายการผุดกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กัน ของปรัชญาและนักปรัชญาในทั่วทุกมุมโลก เมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อน) ว่าเกิดขึ้นจากวัฒนธรรมการเขียน

แรกเริ่มเดิมที คนเราใช้ภาษาพูดในการสื่อสารถึงกันเป็นหลัก จนเมื่อเกิดการเขียน ทำให้เราสามารถ "สถิตย์ความคิด" ของตนเอง จากแต่เดิมที่ฟุ้งกระจายและสูญหายไปกับการคิดในใจ หรือการพูดคุยปากเปล่ากันตามสถานการณ์ เมื่อมันถูกทำให้สถิตย์เป็นตัวอักษรบนกระดาษ เราสามารถย้อนกลับไปอ่านสิ่งที่ตนเองคิดและเขียน ทำให้เข้าใจตนเองว่าเราคือใคร การเขียนจึงเปรียบเหมือนเป็นกระจกสะท้อน ที่ทำให้คนเราสามารถตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่ของตนเองบนโลก

และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของปรัชญาในทุกมุมโลก

จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับหมอวิธานและอาจารย์ไชยันต์ เพราะผมพบว่าการได้เขียนบทความเป็นประจำ ตั้งแต่สมัยเมื่อ 10 ปีก่อนที่เป็นคอลัมน์ Cyber Being ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ต่อมาย้ายมาเขียนประจำอยู่ในนิตยสาร GM จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ คือโอกาสสำคัญที่จะได้สถิตย์ความคิดของตนเองไว้ และสื่อสารมันออกไปให้คนอื่นได้รับรู้ และสิ่งนี้ได้ทำให้ "ผม" ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อ 3 ปีก่อน นอกจากการเขียนคอลัมน์ในนิตยสารเป็นประจำแล้ว ผมเริ่มใช้ blog เป็นเครื่องมือในการสถิตย์ความคิดของตนเอง เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อที่เปิดกว้างกว่า ไม่มีข้อจำกัดในด้านพื้นที่และเงื่อนไขด้านธุรกิจใดๆ จนถึงทุกวันนี้ผมเขียนบทความทิ้งไว้ใน blog แล้วมากกว่า 400 เรื่อง และก็ยังเขียนอยู่เป็นประจำแทบทุกวัน (ยกเว้นช่วงที่งานเข้าจริงๆ เท่านั้น) ด้วยความสุขและความเต็มใจ

เพื่อนสนิทคนหนึ่งเคยมาถาม ว่ามึงบ้ารึเปล่าวะ!? มึงจะเขียนหนังสือให้คนอื่นเข้ามาอ่านฟรีๆ ทุกวันๆ ไปเพื่ออะไร นี่มันแทบไม่มีค่าทางเศรษฐกิจเลย แถมเขียนไปแล้วจะมีใครสนใจมาอ่านมันมากแค่ไหนก็ไม่รู้ มีแต่จะทำให้เสียแรง เสียเวลาเปล่ามากกว่า สู้มึงเอาแรงและเวลานี้ไปเขียนอะไรที่มันได้ตังค์จะดีกว่าไหม?

ตอนนั้นผมก็ยังไม่รู้คำตอบเหมือนกัน รู้เพียงแค่ว่าเขียนแล้วทำให้รู้สึกดี เขียนแล้วทำให้เข้าถึงตนเอง และมันจะเพิ่มพูนสะสมขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อได้ย้อนกลับไปอ่านทุกตัวอักษรที่ตนเองเคยเขียนไว้ ผมยิ่งได้มองเห็น "ผม"

โชคดีที่ได้ไปสัมภาษณ์หมอวิธานและอาจารย์ไชยันต์ พวกเขาช่วยทำให้เข้าใจและมีคำตอบในประเด็นนี้

คำว่า "ผม" ในที่นี้ไม่ใช่ ego อย่างที่เรามักจะใช้คำว่า ego ในความหมายที่ผิดเพี้ยนไป ว่าคือความหยิ่งผยอง โอหัง หรือจริตแบบที่ชอบโอ้อวดใครต่อใคร ว่าข้าคือนักเขียน ข้าคือคอลัมนิสต์ ข้าคือนักคิด เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่ผมเขียนไปทั้งหมดนับสิบปี ก็ไม่เห็นว่ามีใครสนใจหรือพูดถึงสักเท่าไร

สำหรับผม ถือว่าการเขียนเป็นกิจกรรมส่วนตัว ดังนั้น "ผม" ในที่นี้จึงหมายถึงตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่ของตนเอง รู้ว่าตนเองคือใคร ผ่านการอ่านสิ่งที่ตนเองได้เขียนไว้ เพื่อจะได้รู้ว่าเคยคิดอะไร กำลังคิดอะไร และเผื่อว่าจะคิดอะไรต่อไปได้อีก ซึ่งทั้งหมดนี้มันสำคัญมากต่อการมีชีวิตอยู่

การตระหนักรู้ตนเองนั้นมันสำคัญอย่างไรต่อการมีชีวิตอยู่ นี่มันเป็นคำถามเชิงปรัชญามากๆ เลยนะ ซึ่งผมเองก็ไม่รู้คำตอบเหมือนกัน แต่ผมมีความพึงพอใจที่จะได้ตั้งคำถามและถูกตั้งคำถามแบบนี้

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผมได้ทำงานเป็นบรรณาธิการให้กับนิตยสารใหม่ฉบับหนึ่ง มีทีมงานเป็นรุ่นน้อง 2 คน ตอนที่เรากำลังประชุมเพื่อจัดวางเนื้อหาและแบ่งงานกันทำ ผมเสนอให้พวกเขามีพื้นที่ในนิตยสารฉบับนี้คนละประมาณครึ่งหน้า เพื่อเปิดเป็นคอลัมน์ประจำของตนเอง

น้องคนหนึ่งถามว่าเด็กเพิ่งเรียนจบมาใหม่อย่างเขา จะเขียนคอลัมน์ได้หรือ?

น้องอีกคนหนึ่งบอกว่าเขาอยากเขียน แต่เขายังไม่รู้เลยว่าจะเขียนอะไรดี?

ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่กำลังถูกหลอกให้หลงเชื่อว่าการเขียน เป็นกิจกรรมที่ทำได้เฉพาะคนบางพวก บางกลุ่ม เช่นพวกนักวิชาการ นักเขียน คอลัมนิสต์ ชนชั้นสูง ดารา คนดัง ฯลฯ เพราะตามหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และบนแผงหนังสือพอคเกตบุค ถูกจับจองไว้หมดแล้วโดยคนที่ถูกระบุตัวให้เป็น "นักคิด"

ผมคิดว่าคนเรามีความสามารถในการคิดและเขียนเหมือนกันหมด เพียงแต่ว่าเราถูกพรากความสามารถนี้ไปโดยระบบการศึกษา ที่สั่งให้เรากรอกคำตอบในกระดาษข้อสอบแบบ Multiple Choice มาตั้งแต่ประถมยันมหาวิทยาลัย ระบบการศึกษาแบบที่ไม่ยอมให้เราเขียน คือระบบการศึกษาที่ไม่สนใจว่าเราคิดอะไร สนใจเพียงแค่ว่าเรารู้อะไรจากในห้องเรียนเท่านั้นเอง

เมื่อไม่ได้เขียน ก็ยากที่เราจะสถิตย์ความคิด เมื่อไม่ได้สถิตย์ความคิด เราก็เลยพาลคิดไปว่าตัวเองไม่ได้คิด หรือคิดไม่ได้ แบบพวกที่ถูกระบุตัวไว้แล้วว่าเป็น "นักคิด"

ในที่ประชุม ผมตอบรุ่นน้องทั้งสองคนนี้ไป ว่าให้เขียนความคิด ความรู้สึก ไอเดีย ประสบการณ์ หรือเรื่องอะไรก็ได้ตามแต่ใจ ขอให้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหลักของนิตยสารของเรา และเป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างสูงต่อตนเองและต่อผู้อ่าน

แล้วในที่สุดเมื่อถึงกำหนดส่งต้นฉบับ พวกเขาก็เขียนคอลัมน์ส่งได้จริงๆ

พวกเขาทำให้ผมนึกถึงตนเองเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ตอนที่เพิ่งเริ่มทำงานเป็นนักข่าวและเพิ่งหัดเขียนหนังสือ ผมนึกขอบคุณหัวหน้าเก่าหลายคน ธันยวัชร - ยังดี - สมชัย - เพิ่มพล - ณิพรรณ - โตมร - เอกศาสตร์ - เอกชยา

ถึงแม้ว่าสิ่งที่ผมเขียน และสิ่งที่น้องๆ เพิ่งเขียนส่งมา จะไม่แหลมคมเหมือนกับพวกนักเขียน นักคิด คอลัมนิสต์ชื่อดังในนิตยสารชั้นนำทั้งหลาย แต่ผมเชื่อว่าถ้าคุณอ่านกันอย่างเปิดใจให้กว้าง คุณก็จะเห็นว่ามันไม่ได้เลวร้าย โง่งม ตื้นเขิน และคุณน่าจะเห็นตรงกันกับผม ...

... ว่าใครๆ ก็เขียนได้ ใครๆ ก็คิดได้ และเราทุกคนควรจะมีโอกาสได้สถิตย์ความคิดของตนเองเป็นประจำ ถึงแม้จะไม่ใช่พื้นที่บนหน้าหนังสือพิมพ์หรือหน้านิตยสาร แต่ก็อาจจะเป็นไดอะรี่ส่วนตัว หรือเป็น blog ที่เว็บไหนสักแห่งก็ได้ ขอเพียงแค่ตั้งใจเขียนให้ดี เขียนในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อ่าน

อย่างที่เขียนไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว ว่าเราเขียนไม่ใช่เพื่อให้ใครมาเรียกว่าเราเป็น "นักคิดนักเขียน" แต่เพื่อให้การเขียนนั้นช่วยสะท้อนให้เห็นตนเอง ตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่ของตนเอง

หมอวิธานบอกว่าในการจัดเวิร์กชอปนั้น นอกจากการแจกสมุดเปล่าให้เขียนแล้ว เขายังให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงออกในทางอื่นๆ อีกมากมาย เพราะการตระหนักรู้ตนเองและกระจกสะท้อนภาพตัวเองนั้น จริงๆ แล้วมีมากมายหลายทาง

ดูตัวอย่างจากบรรดานักคิดที่ GM ฉบับนี้เสนอบทสัมภาษณ์ ก็จะเห็นได้ว่าการสถิตย์ความคิดนี้ทำได้หลากหลายวิธี บางคนสถิตย์ความคิดด้วยการแสดง วาดภาพ เล่นดนตรี ถ่ายภาพ ฯลฯ อาจารย์ไชยันต์บอกว่าการเขียนเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและเป็นพื้นฐานมากที่สุดเท่านั้นเอง

ลองนึกๆ ดูแล้ว ผมเคยเห็นผู้หญิงคนหนึ่ง สถิตย์ความคิดของตนเองด้วยการตื่นนอนตั้งแต่ตีห้าทุกวัน เพื่อมาทำกับข้าวให้ลูกได้กินอิ่มก่อนออกไปโรงเรียน มีผู้ชายคนหนึ่ง สถิตย์ความคิดของตนเองด้วยการตื่นเวลาเดียวกันนั้น เพื่อขนสินค้ามากมายใส่ท้ายจักรยาน ปั่นออกจากบ้านไปตั้งแต่เช้ามืดเพื่อส่งให้กับลูกค้าทั่วเมืองที่กำลังรออยู่

พวกเขาไม่ได้มีอาชีพทำมาหากินเป็นนักเขียน และตลอดชีวิตของพวกเขาก็ไม่เคยมีใครเรียกเขาว่านักคิด แต่ความคิดของพวกเขาได้สถิตย์อยู่ในกล้ามเนื้อทุกมัด กระดูกทุกท่อน เลือดทุกหยด สายใยประสาททุกเส้น ที่อยู่ภายในตัวลูกของเขา

เมื่อเขามองดูลูก เขาก็จะได้เห็นภาพสะท้อนของตนเองอยู่ในนั้น และแน่นอนว่าเมื่อลูกของพวกเขาลงมือเขียน ความคิดของพวกเขาก็จะสถิตย์อยู่ในงานเขียนของลูกด้วย

ยังมีวิธีสถิตย์ความคิดอีกมากมายหลากหลาย ซึ่งผมไม่สามารถแจกแจงออกมาได้หมด คุณสามารถเลือกหาวิธีเฉพาะของคุณเองก็ได้ มันขึ้นอยู่กับความสนใจ โอกาส และความสามารถพื้นฐานของแต่ละคน ซึ่งสำหรับผมนั้น ขอเลือกวิธีการเขียน เพราะผมทำอะไรอย่างอื่นไม่เป็น และยังไม่มีโอกาสได้ไปทำอะไรอย่างอื่น

บรรณาธิการ GM บอกว่าเนื่องในโอกาสที่นิตยสาร GM ฉบับครบรอบ 23 ปี มีธีมคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับ "นักคิด" ก็อยากให้ผมช่วยเขียนระบุด้วยว่าใครเป็นนักคิดบ้าง ผมคิดว่าได้เขียนระบุไว้อย่างครบถ้วนตามคำขอนี้แล้ว เป็นเพราะความคิดของคนเหล่านี้ ที่ทำให้ผมสามารถสถิตย์ความคิด เรื่อง "นักคิดนักเขียน" ไว้ด้วยการเขียนบทความชิ้นนี้


...

No comments: