Monday, February 08, 2010

Self-help

มกราคม 29, 2008





นานหลายปีแล้ว ที่ผมกับเพื่อนเก่ากลุ่มนี้ไม่ได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกัน พวกเราเป็นเพื่อนร่วมเรียนมหาวิทยาลัย รู้จักกันมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2533 ซึ่งนับมาจนถึงตอนนี้ มันก็นานเท่ากับครึ่งชีวิตของพวกเราแล้ว เมื่อตอนสิบกว่าปีก่อนโน้น สมัยที่ยังเป็นนักศึกษา เราเคยไปไปนั่งกินเหล้าจนเมาหัวราน้ำกันเกือบทุกคืนวันศุกร์ ส่วนในตอนปิดเทอม พวกเราไปเที่ยวไกลๆ ด้วยกันแบบหัวหกก้นขวิด โบกรถ นอนเตนท์ เล่นน้ำทะเล ปีนเขา เดินป่า


หลายปีที่ผ่านมา พวกเราแทบไม่ได้เจอกันพร้อมหน้าพร้อมตา และเดินทางท่องเที่ยวด้วยกันเลย จนกระทั่งคืนนี้


คืนวันศุกร์ พวกเราเฝ้ารอจนถึงเวลาทุกคนเลิกงาน แล้วก็นัดหมายกันขับรถตะบึงหนีออกจากเมือง โดยทั้งหมดมีจุดหมายปลายทางเดียวกัน คือบ้านพักตากอากาศหลังหนึ่ง ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา


พวกเรารวมกัน 6 คน นั่งๆ นอนๆ ล้อมวงคุยกันอยู่หน้าจอทีวี มีสก็อตซ์วิสกี้ขวดใหญ่ โซดา โค้ก และน้ำแข็ง วางตั้งอยู่ข้างๆ วง


ผมนอนดูรายการข่าวภาคดึกในทีวีไปพลาง เงี่ยหูฟังพวกเพื่อนๆ พูดคุยกันไปพลาง พวกเขากำลังอัพเดทเรื่องชีวิตของกันและกัน ตามประสาเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันมานาน การมาเที่ยวต่างจังหวัดแบบนี้ก็ดี ตรงที่มันทำให้เรามีเวลาอยู่ด้วยกันได้นานขึ้น โดยที่ไม่ต้องมีใครขอตัวกลับก่อนให้เสียบรรยากาศ


ตอนนี้พวกเราบางคนเป็นพนักงานบริษัทเอกชน บางคนเป็นข้าราชการ บางคนทำธุรกิจส่วนตัว บางคนเป็นฟรีแลนซ์ ตลอดเวลาสิบกว่าปีหลังจากที่เรียนจบมา พวกเราแยกย้ายกันออกไปเดินบนเส้นทางที่แตกต่างกัน และเส้นทางเหล่านั้นก็มาบรรจบกันที่นี่ ตรงนี้ ในค่ำคืนนี้


...


หลังจากนั่งคุยกันไปได้สักพัก เพื่อนคนหนึ่งวิ่งเข้าไปในห้องนอน แล้วค้นในกระเป๋าเดินทางส่งเสียงดังกุกกัก เขาวิ่งกลับออกมา พร้อมกับหนังสือพอคเกตบุคเล่มเล็กๆ ชื่อเรื่องว่า “ใครเอาเนยแข็งของฉันไป Who Moved My Cheese?”


เขาทำงานอยู่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เพิ่งจะได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปอยู่ในระดับผู้บริหาร เขาเล่าว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขารู้สึกตัวว่าไม่มีความสุขเลย ถึงแม้หน้าที่การงานจะก้าวหน้าดี เขาจึงพยายามศึกษาหลักวิธีในการทำงานและการดำเนินชีวิต หนังสือเล่มนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการศึกษาของเขา จนตอนนี้เขาได้เรียนรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสัจธรรม สิ่งที่เราทำได้ มีเพียงแค่การยอมรับและยอมปรับตัวตามนั้น ในคืนนี้ เขาจึงติดหนังสือเล่มนี้มาด้วย เพราะอยากแบ่งให้เพื่อนคนอื่นได้อ่าน


“มึงเอาไปอ่านเลยนะ เล่มบางๆ มึงอ่านครึ่งชั่วโมงก็จบ” เขายื่นหนังสือมาให้ผม แล้วคะยั้นคะยอให้อ่านในทันที


เพื่อนอีกคนทำงานเป็นพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง เขาบอกว่ากำลังเครียดและเป็นทุกข์กับเรื่องงานอย่างหนัก เขานำหนังสือติดตัวมาอ่านด้วย แล้วก็นำมันขึ้นมาโชว์ ชื่อเรื่องว่า “ขอลิขิตชีวิตนี้ด้วยตัวเอง” เขาบอกว่าเป็นหนังสือรวมข้อความสั้นๆ ที่อ่านแล้วให้กำลังใจ ประมาณว่า “เมื่อคุณล้ม ก็จงลุกขึ้นมา” หรือว่า “ต่อไปนี้คุณจงลิขิตชีวิตตนเอง” ฯลฯ อะไรประมาณนี้


ฟังดูขัดแย้งกันพิลึก หนังสือที่จะมาสอนให้คุณลิขิตชีวิตตัวเอง แต่ในเนื้อหากลับเต็มไปด้วยคำว่า “จง” ซึ่งเป็นประโยคคำสั่ง


เพื่อนอีกคนไม่ได้บ่นว่าเครียดหรือเป็นทุกข์อะไรนัก แต่เขาก็เอาหนังสือของตนเองขึ้นมาโชว์บ้าง “Super Richy: It’s not easy to be me” เป็นหนังสือเกี่ยวกับชีวิตจริงของชายหนุ่มผู้มีพลังพิเศษ สามารถมองเห็นชาติที่แล้วของคนอื่นๆ ว่าเคยทำกรรมอะไรมา จนส่งผลทำให้ชีวิตในชาตินี้ต้องเป็นทุกข์ และจะต้องแก้ไขกรรมอย่างไร เพื่อให้ได้พบกับความสุขในชาตินี้และชาติหน้า เนื้อหาออกไปในแนวพุทธศาสนา ปนๆ กับเรื่องอภินิหารเหนือธรรมชาติ


เพื่อนอีกคนวิ่งเข้าไปในห้องนอน แล้วค้นกระเป๋าเดินทางของตนเอง สักพักเขาก็กลับออกมาพร้อมกับหนังสือพอคเกตบุค ชื่อเรื่องว่า “ชีวิตที่เคลื่อนไปด้วยวัตถุประสงค์ The Purpose Driven Life”


ตั้งแต่รู้จักกันมา ผมรู้ว่าเขาเป็นคริสเตียนที่ดีคนหนึ่ง และน่าจะเป็นคนที่มีความสุขมากที่สุด แต่เขาเล่าว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขาทำธุรกิจส่วนตัว แล้วประสบปัญหามากมาย ตอนนี้กำลังถูกฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล และถ้าผลตัดสินออกมาว่าผิด เขาจะต้องเสียค่าปรับเป็นเงินจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้ว ผมว่าไปๆ มาๆ ความทุกข์ของเขาดูเป็นเรื่องจริงจัง ทำให้ความทุกข์ของเพื่อนคนอื่นๆ กลายเป็นเรื่องเด็กเล่นไปเลย


เขาอธิบายเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ว่าไม่ได้พูดถึงจุดหมายของชีวิต แต่พูดถึงจุดประสงค์ของการมีชีวิตอยู่ต่างหาก จุดหมายกับจุดประสงค์นั้นต่างกัน จุดหมายคือ “จุด” ที่อยู่ข้างหน้า แต่จุดประสงค์คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องใช้ชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ เพื่อไปให้ถึง “จุด” นั้น หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 40 บท ผู้เขียนสั่งไว้ว่าให้อ่านวันละ 1 บท ใช้เวลา 40 วัน เขาบอกว่าตอนนี้เพิ่งอ่านมาถึงบทที่ 20 กว่า ดังนั้นจึงนำมันมาอ่านก่อนนอนคืนนี้


พวกเรามีกันอยู่ 6 คน มันน่าแปลกใจจริงๆ ว่าโดยไม่ได้นัดหมาย มีอยู่ 4 คนที่นำหนังสือแนวคล้ายๆ กันมาอ่าน (ถึงแม้รายละเอียด และแก่นสาระ ของแต่ละเล่มจะแตกต่างกัน แต่ผมขอจัดว่ามันเป็นหนังสือแนวคล้ายกัน เพราะอย่างน้อยที่สุด เวลามันอยู่ในร้านหนังสือ มันก็ถูกวางใกล้ๆ กัน อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน)


ส่วนที่เหลืออีก 2 คนที่ไม่ได้นำหนังสือติดตัวไปด้วยนั้น คนหนึ่งก็ไม่ต่างจากคนอื่น เขาบ่นว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ และเขาเพิ่งจะกลับมาจากการไปปฏิบัติธรรมที่สำนักสงฆ์แห่งหนึ่ง ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ก่อนที่จะมาร่วมในทริปนี้เพียงไม่กี่วัน


และคนสุดท้ายคือผมเอง ผู้ที่กำลังเขียนบทความชิ้นนี้อยู่


...


เมื่อหลายปีก่อน ผมจำได้ว่าในทริปที่พวกเราไปเที่ยวทะเลด้วยกัน เพื่อนคนหนึ่งเคยนำหนังสือแฮรี่ พอตเตอร์ ไปนอนอ่าน เพื่อนอีกคนเคยนำหนังสือนิยายจีนกำลังภายใน อย่างเช่นเรื่อง กระบี่เย้ยยุทธจักร บางคนเอาหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นไป


พอมาในทริปนี้ หนังสือของพวกเราเปลี่ยนแนวไปพร้อมๆ กัน


นอกจากหนังสือทั้ง 4 เล่มที่นำติดตัวกันมา ในคืนนั้น พวกเรายังได้ถกกันถึงหนังสือแนวนี้อีกหลายเล่มที่เราเคยอ่านกันมา อย่างเช่น สนทนากับพระเจ้า, เดอะซีเคร็ท, เข็มทิศชีวิต ฯลฯ บางคนพูดถึงหนังสือของท่านพุทธทาส บางคนเล่าประสบการณ์การไปปฏิบัติธรรม บางคนเล่าเรื่องการไปเข้าร่วมสัมมนากับพวกแลนด์มาร์คฟอรั่ม


“เพราะตอนนี้เรื่องธรรมะและเรื่องพวก self-help กำลังเป็นกระแส เราจึงหันมาสนใจเรื่องนี้พร้อมๆ กัน” ผมเสนอไอเดียนี้ขึ้นมา


“ไม่ใช่กระแสหรอก มันก็มีของมันอยู่อย่างนี้ตลอด เพียงแต่พวกเราถึงวัยแล้วต่างหาก เราจึงหันมาสนใจมันพร้อมกัน” เพื่อนคนหนึ่งแย้ง


สำหรับคนอายุ 30 ต้นๆ นับว่าถึงวัยแล้วหรือนี่? ผมนอนมองดูหยดน้ำที่เกาะข้างขวดโซดา ไหลย้อยลงนองพื้นจนเฉอะแฉะ น้ำแข็งในกระติกละลายทิ้งกลายเป็นน้ำจ๋อมแจ๋ม ในคืนนั้น แทบจะไม่มีใครในกลุ่มพวกเราแตะต้องเหล้าฝรั่งขวดนั้นเลย เหล้ายังไม่พร่องพ้นคอขวดไปด้วยซ้ำ ไม่มีใครเมาหัวราน้ำกันอีกแล้ว


...


เผลอหลับไปตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ ผมสะดุ้งตื่นขึ้นมาอีกทีเพราะความไม่คุ้นเคยกับอากาศหนาว ท้องฟ้าเพิ่งจะเริ่มมีแสงสว่างเรืองๆ เพื่อนคนอื่นๆ ยังคงนอนหลับสนิทใต้ผ้าห่มอุ่น ผมคว้าเสื้อหนาวมาใส่ แล้วหอบเอาหนังสือทั้งสี่เล่มนั้นออกไปหาที่นั่งอ่านอย่างสงบ


ผมไม่อยากวิจารณ์หนังสือเป็นรายเล่ม เพราะรู้ตัวว่าภูมิไม่แน่นพอที่จะเป็นนักวิจารณ์ เพียงแค่ขอพูดถึงแบบสั้นๆ คร่าวๆ ว่าหนังสือบางเล่มนั้นช่างนอนเซนส์สิ้นดี ในขณะที่หนังสือบางเล่มก็เมกเซนส์ดี ผมจึงนั่งอ่านมันอย่างหิวกระหาย


และในเช้าวันนั้น หนังสือบางเล่มสามารถ “เขย่า” ผมได้จริงๆ ขอใช้คำพูดแบบ อนุสรณ์ ติปยานนท์ คำว่า “เขย่า” หมายถึง … อืม … หมายถึงเขย่านั่นแหละครับ


สิ่งที่หนังสือเหล่านี้ทุกเล่มเขียนไว้เหมือนกันหมด และสามารถเขย่าผมได้ประการแรก คือการหัดคิดเชิงบวก มันคือเรื่องที่คนสมัยนี้รู้จักคุ้นเคยกันดี เพราะมันได้ถูกนำเสนอในวัฒนธรรมร่วมสมัย รอบๆ ตัวเราตลอดเวลา และมาจากทุกทิศทุกทาง (ประมาณว่า “ก๋านคิดบวร์ก ถำให้ผู้หญิงสั๋วขึ้น” นั่นก็ใช่)


สิ่งที่มันเขย่าผมได้เป็นประการที่สอง คือเรื่องความเชื่อ โดยมันแนะนำให้ผู้อ่านมีความเชื่ออย่างแรงกล้า อย่างเช่น จงเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ อย่างใน ขอลิขิตชีวิตตัวเอง หรือจงเชื่อกฎแห่งกรรม อย่างใน Super Richy หรือจงเชื่อกฎแห่งการดึงดูด อย่างใน เดอะซีเคร็ท จงลุกขึ้นแล้วมุ่งหน้าไปสู่จุดหมาย อย่างใน Who Moved My Cheese? หรือจงเชื่อในพระเจ้า ว่าพระเจ้ามีจุดประสงค์ให้เราทุกคนแล้ว แบบ The Purpose Driven Life


จริงๆ แล้ว ทุกคำสอนและคำแนะนำ ล้วนคุ้นหูคุ้นตาเรา จนแทบจะกลายเป็นคอมมอนเซนส์ไปแล้ว เพราะมันก็มาจากคำสอนในศาสนา ลัทธิ และปรัชญาสำนักต่างๆ นั่นเอง แล้วถูกนำมาเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ให้กลายเป็นหนังสือ self-help ที่บูมสุดขีดในโลกตะวันตกเมื่อไม่ถึง 100 ปีมานี้เอง และแน่นอนว่ามันแพร่มาถึงเมืองไทยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของบ้านเราเป็นแบบนี้ มันก็กลายเป็นประเภทหนังสือที่ยึดครองพื้นที่บนชั้นวางในร้านขายหนังสือไปเกือบหมดสิ้น


...


“ทำไมมึงไม่เขียนหนังสือแบบนี้มาขายบ้างวะ!? จะได้มีตังค์กับเขาเสียที” เพื่อนคนหนึ่งเพิ่งตื่นขึ้นมา และเดินมาทักทายด้วยประโยคนี้ เมื่อเขาเห็นว่าผมกำลังก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือพวกนี้อย่างเอาจริงเอาจัง


คำถามของเขาทำให้ผมเริ่มคิดได้ ว่าเออ จริงด้วย! ที่ผ่านมา ผมไม่เคยเขียนหนังสือแบบนี้เลย เพราะแก่นแกนภายในตัวของผม (ถ้าสิ่งนี้มีอยู่จริง) นั้นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับทุกๆ คำสอน ทุกๆ คำแนะนำ ในหนังสือแบบนี้ ผมมองโลกในแง่ร้าย คิดในเชิงลบ ไม่เชื่อในสิ่งใดๆ ในโลก และตั้งคำถามกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต


แก่นแกนภายในตัวเราแต่ละคนนั้นแข็งแกร่ง มีบ้างในบางครั้งที่มันถูกเขย่า โดยหนังสือดีๆ สักเล่ม หนังดีๆ สักเรื่อง หรือเหตุการณ์สำคัญสักครั้งในชีวิต แต่ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่จะถูกทำลายลง หรือปรับปรุง เปลี่ยนแปลงได้โดยง่ายเลย


มันเป็นเรื่องคอมมอนเซนส์อยู่แล้วทั้งนั้น ผมรู้ว่าการคิดเชิงลบทำให้จิตใจห่อเหี่ยวหดหู่ แต่ผมก็มีความเชื่อมาตลอด ว่าคนเราเกิดมาโดยความบังเอิญ ไม่มีจุดหมาย ไม่มีจุดประสงค์ ชีวิตนี้จึงเป็นการเดินเตร็ดเตร่ไร้จุดหมาย ผมรู้ว่าความสงสัยและมัวแต่ตั้งคำถาม ทำให้ชีวิตเราวนเวียนอยู่กับที่ ใครเอาเนยแข็งของฉันไป? ใครเอาเนยแข็งของฉันไป? ผมเคยนั่งคิดแบบนี้ติดต่อกันมานานหลายปี


เมื่อได้อ่านหนังสือพวกนี้หลายเล่ม ทั้งที่เขียนได้นอนเซนส์และที่เขียนได้เมกเซนส์ มันทำให้ผมรู้สึกดีขึ้น มันเขย่าผมได้จริงๆ ในตอนที่อ่าน แต่ผมสงสัยว่า ในที่สุด มันช่วยเราได้จริงแค่ไหน หรือมันเป็นเพียงแค่การเขย่าไป เขย่ามา


เรากำลังรอรับการเขย่า ในขณะที่มีอีกหลายคน กระตือรือร้นด้วยจิตอันเป็นกุศล ในการไปช่วยเขย่าคนอื่น และมีแม้กระทั่งบางคน ที่ทำมาหากินกับการเขย่าคนอื่น ผมจึงคิดว่ามันแปลกดี ที่เรามักจะเรียกหนังสือแนวนี้ว่า self-help เพราะไม่เห็นว่าการอ่านพวกมัน จะเป็นการช่วยตัวเองตรงไหน


“อย่างกูเนี่ยะนะ!? จะให้เขียนหนังสือแบบนี้ ไม่ไหวหรอก!” ผมตอบปฏิเสธไป


เพราะคิดแบบนี้ ทำแบบนี้หรือเปล่า? ที่ทำให้เป็นทุกข์


เมื่อกวาดตามองเพื่อนๆ ที่เพิ่งตื่นนอนกันขึ้นมา เดินไปเดินมาหาอะไรกินรองท้อง ผมไม่รู้หรอก ว่าแก่นแกนภายในตัวเขาเป็นเหมือนผมหรือเปล่า แต่เมื่อมองจากภายนอก เป็นข้าราชการก็บ่นว่าทุกข์ เป็นผู้บริหารก็ทุกข์ เป็นเจ้าของกิจการก็ทุกข์ เป็นฟรีแลนซ์ก็ทุกข์ จนดูเหมือนว่าในทุกวันนี้ พวกเราก็ต่างเป็นทุกข์กันได้ง่าย และเป็นสุขกันได้ยากเสียเหลือเกิน


โลกเราในทุกวันนี้ทำไมมันช่างสับสน ชีวิตของเราทำไมมันช่างยากเย็น ทำให้เราต่างวิตกกังวลในเรื่องการใช้ชีวิต การทำงาน ความรัก ความสัมพันธ์ ฯลฯ และทุกๆ เสี้ยว ทุกๆ อณู ทุกๆ ปริมณฑลของชีวิต จนต้องหาซื้อหนังสือเหล่านี้มาอ่านกันทุกคน


ในปีหนึ่งก็ลาพักร้อนมาเที่ยวไกลๆ สักทริป ซื้อหนังสือ self-help มาอ่านสักเล่ม แล้วหลังจากนั้นก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม ด้วยเหตุที่แก่นแกนภายในเราไม่เคยเปลี่ยน เราก็จะกลับเข้าสู่วงจรความเครียดและความทุกข์แบบเดิมๆ จนต้องหาซื้อเล่มใหม่ เพื่อให้มันช่วยมาเขย่าเรา ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก


บางทีการจะได้รับประโยชน์จากหนังสือแนวนี้ ไม่ได้มาจากการซื้อมันมาอ่านหรอก แต่น่าจะมาจากการเขียนมันขึ้นมาขายสักเล่ม อย่างประโยคที่ว่า “The only way to get rich from a self-help book is to write one.” เป็นประโยคทองของ คริสโตเฟอร์ บัคเลย์ ผู้เขียนหนังสือแนว self-help เรื่อง God is My Broker


...


 

No comments: