Monday, February 08, 2010

The Happy Wonder Ring

บทความเก่ามวากกกก ตั้งแต่ สิงหาคม 27, 2007





เด็กนักเรียนชั้นป.1 หลายร้อยคน กำลังยืนเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบกลางสนามฟุตบอลขนาดใหญ่ พวกเราอยู่ในท่ายืนตรงแน่ว สองตามองไปข้างหน้า สองแขนแนบข้างลำตัว เตรียมพร้อมสำหรับการแสดงกิจกรรมเข้าจังหวะ ในพิธีเปิดงานกีฬาสีประจำปีของทางโรงเรียน


เสียงดนตรีจังหวะคึกคักดังขึ้น และตามด้วยเสียงร้องสดใส “I love to go a wandering” พวกเราทำท่าเดินย่ำเท้าอยู่กับที่ สองแขนแกว่งไกวตามจังหวะการเดิน “along the mountain track.” ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ เพื่อทำท่าทางสื่อความหมายถึงภูเขาอันยิ่งใหญ่ “And as I go, I love to sing, my knapsack on my back.” ลดแขนลงมาแล้วกำมือไว้ระดับอก ทำท่าสื่อความหมายว่ากำลังกระชับกระเป๋าเป้ที่สะพายหลังอย่างเข้มแข็ง


ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและพร้อมเพรียง สำหรับคนที่อยู่นอกสนามในวันนั้น ถ้ามองเข้ามาจะเห็นแขนขาของเด็กนักเรียนชั้นป.1 หลายร้อยคน ขยับเขยื้อนพรึ่บพรั่บอย่างพร้อมเพรียง พวกเราได้ถูกฝึกซ้อมมานานเป็นเดือน วันนี้พวกเราใส่ชุดเหมือนกันหมด เสื้อยืดสีขาวและกางเกงนักเรียน แบบที่ใส่ประจำในชั้นเรียนวิชาพละ


นั่นมันผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว ตอนนั้นผมยังเด็กมาก แต่ก็ยังจำภาพในวันนั้น และบทเพลงภาษาอังกฤษนี้ได้ขึ้นใจ


ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับโรงเรียนแห่งนี้ ที่เขาได้นำบทเพลงภาษาอังกฤษมาสอนเด็กตั้งแต่ชั้นป.1 ผมและเพื่อนๆ สามารถร้องตาม และพอจะเข้าใจความหมายได้ ถึงแม้จะไม่เข้าใจมันทั้งหมด ศัพท์บางคำก็ถือว่ายากสำหรับเด็กวัยนั้น อย่างเช่นคำว่า wandering ที่แปลว่าการเดินเตร็ดเตร่ ตอนนั้นผมคิดว่ามันคือ “wonder ring” เลยคิดไปว่าเพลงนี้ร้องเกี่ยวกับการเดินทางตามหาแหวนวิเศษ


ความจริงแล้วผมเริ่มเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาลด้วยซ้ำ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าเรียนป.1 ที่โรงเรียนแห่งนี้ มันคือโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และมันเป็นความใฝ่ฝันของพ่อแม่ทุกคนที่จะนำลูกเข้าที่นี่เลยก็ว่าได้ เด็กที่เข้าได้ก็ถือว่าเป็นชั้นหัวกะทิที่สุด คุณน่าจะรู้จักเพื่อนร่วมรุ่นของผมบางคน เพราะในทุกวันนี้ บางคนเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยักษ์ใหญ่ มีบางคนเป็นดาราละครและนักร้องชื่อดัง เขาดังขนาดที่ถ้าเอ่ยชื่อขึ้นมาแล้วคุณต้องร้องกรี๊ด และบังคับให้ผมช่วยไปขอลายเซ็นให้หน่อย


ในวันนั้น เขาก็อยู่ในสนามนี้ด้วย และกำลังแสดงกิจกรรมเข้าจังหวะพร้อมกับผม


“Val-da-ree, val-da-rah,val-da-ree,” พวกเราทำท่ายกมือขึ้นมาป้องปาก แล้วหันไปทางซ้ายทีขวาที เพื่อสื่อความหมายถึงการกู่ตะโกนร้องเพลงอย่างมีความสุข ระหว่างการเดินเตร็ดเตร่ท่ามกลางขุนเขาและธรรมชาติ “Val-da-rah ha-ha-ha-ha-ha val-da-ree, val-da-rah, My knapsack on my back.” พวกเรานำสองมือกลับมากำไว้ระดับอกอีกครั้ง


เป้ในจินตนาการยังสะพายกระชับอยู่กลางหลัง สายตามุ่งมั่นมองตรงไปยังครูผู้ฝึกสอน สองเท้ายังคงก้าวย่ำ ภูเขาในจินตนาการถึงแม้จะสูงชัน แต่หนทางข้างหน้าก็ราบรื่นและสวยงาม การเดินทางครั้งนี้ช่างแสนรื่นรมย์


ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่จะจับให้เด็กในวัยนี้หลายร้อยคน มาแสดงร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง แต่จากการทุ่มเทฝึกซ้อมมายาวนาน และจากการที่มีครูประจำชั้นมาคอยจับตาดูพวกเราอยู่ ท่านจะจดชื่อคนที่แสดงผิด ลืมคิว และทำท่าทางไม่พร้อมเพื่อนๆ เพื่อเอาไปหักคะแนนจิตพิสัย ทำให้พวกเราตั้งใจแสดงกันสุดฝีมือ


ครูประจำชั้นแต่ละห้องต้องดูแลเด็กนักเรียนประมาณ 60 คน ในระดับชั้นป.1 ชั้นเดียวก็มีห้องเรียน 7 ห้อง ชื่อของแต่ละห้องกำหนดตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ A ถึง G เมื่อคำนวนด้วยการคูณอย่างคร่าวๆ (ที่ผมได้เรียนตอนป.2 หรือในอีก 1 ปีหลังจากนั้น) รวมแล้วมีเด็กรุ่นเดียวกับผมถึง 400 กว่าคน การถูกหักคะแนน จะทำให้เกิดผลอะไรขึ้นบ้าง ในฐานะเด็กป.1 ผมยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่คิดแค่ว่าอย่าให้ถูกหักเลยจะดีกว่า


นับตั้งแต่นั้น ผมได้เรียนรู้ว่าการมีเพื่อนเยอะๆ ถึงแม้ว่าจะครึกครื้น สนุกสนานเฮฮาดี แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเสมอไปหรอก อย่างน้อยที่สุด ก่อนที่พวกเราจะมาเรียนที่นี่ ได้มายืนแสดงอยู่กลางสนามในวันนี้ พวกเราต้องผ่านการสอบแข่งขันกับเด็กคนอื่นอีกนับพันนับหมื่น และคราวนี้พวกเราสอบได้ อาจจะเป็นเพราะโชคดี หรืออาจจะเพราะเด็กคนอื่นไม่ได้เรียนกวดวิชาแบบเรา


ลืมเล่าไปนิดหนึ่ง ว่าผมเริ่มเรียนพิเศษ ตั้งแต่ตอนอยู่อนุบาลสอง โดยเรียนตอนเย็นหลังเวลาเลิกเรียนของทุกวัน และต้องเรียนวันเสาร์ตลอดทั้งวัน กวดเข้มเน้นวิชาภาษาอังกฤษ แล้วหลังจากนั้นก็ต้องเรียนพิเศษมาตลอดทุกชั้นปี จนกระทั่งมาเรียนพิเศษมากๆ เรียนแบบเป็นบ้าเป็นหลังในช่วงเรียนมัธยมปลาย เพื่อเตรียมตัวสอบเอนทรานซ์


ผมและเพื่อนร่วมรุ่นเกิดในช่วงกึ่งกลางยุคสมัย ที่นักประชากรศาสตร์ตั้งชื่อเรียกว่า “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” คือคนไทยที่เกิดในช่วงปีพ.ศ.2506-2526 ซึ่งเป็นช่วงปีที่ประเทศไทยเรามีอัตราเด็กเกิดใหม่สูงสุดในประวัติศาสตร์ คือมีจำนวนเกิน 1 ล้านคนต่อปี


ก็อย่างที่บอกไว้ข้างต้นแล้ว ว่าการมีเพื่อนร่วมรุ่นเยอะๆ ไม่ได้หมายถึงความสนุกสนานเฮฮากันอย่างเดียวหรอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมที่มีทรัพยากรอยู่จำกัดอย่างสังคมไทย เพราะมันจะหมายถึงการที่เราต้องแย่งทรัพยากรกันเอง แย่งกันกิน แย่งกันเล่น แย่งกันเรียน และแย่งกันทำทุกสิ่งทุกอย่าง ส่งผลให้พวกเราเป็นคนรุ่นที่มีความเคร่งเครียดมากที่สุด ความเครียดของยุคสมัยเรา ได้สะท้อนออกมาให้เห็นถึงวัฒนธรรมร่วมสมัยมากมายหลายด้าน เพราะในปัจจุบัน พวกเรามีอายุอยู่ระหว่าง 20-40 ปี ซึ่งเป็นช่วงหนุ่มสาวที่กำลังมีบทบาทต่อสังคม


ความเครียดของคนรุ่นผม จะพุ่งขึ้นถึงจุดสุดยอดในตอนที่เราเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย และเตรียมตัวสอบเอนทรานซ์ ในสมัยนั้นยังไม่มีระบบแอดมิชชั่น ไม่มีโอเน็ต เอเน็ต ไม่มีสอบตรง ไม่มีภาคพิเศษ และไม่มีมหาวิทยาลัยเอกชนมากมายแบบนี้ และยังไม่เคยมีใครออกมาพูดเชิงปลอบใจในทีวี ว่าผลสอบเอนทรานซ์ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเรา


สมัยนั้น ผลสอบเอนทรานซ์คือทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต เราจะถูกตัดสินอนาคตในวันสอบเอนทรานซ์เพียงแค่ 3-4 วัน เมื่อย้อนนึกถึงช่วงเวลานั้น ยังทำให้ขนลุกเกรียว ผมยังจำตอนเช้าของวันสอบเอนทรานซ์ได้ดี พ่อขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งที่หน้าสนามสอบ ตลอดเวลาที่ผ่านมา เขาไม่เคยพูดออกมาตรงๆ ว่า “เอ็งต้องสอบให้ติด!” แต่สายตาที่เขามองผมในเช้าวันนั้น และการที่เขากัดฟันทำงาน เพื่อส่งผมเข้าเรียนที่โรงเรียนชั้นเลิศแห่งนี้ได้ ตั้งแต่ชั้นประถมจนจบมัธยมปลาย ในขณะที่เขาเองเรียนจบแค่ชั้นป.4 นี่ก็เป็นการพูดทุกสิ่งทุกอย่างออกมาแล้ว


อย่างน้อยที่สุด ใน 3-4 วันนั้นผมก็ทำได้ดีพอ ที่จะไม่ทำให้เขาผิดหวัง ในขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นของผมอีกจำนวนมาก คงทำให้พ่อแม่ของพวกเขาผิดหวังน่าดู


เวลาหลายปีผ่านไป ในตอนเย็นย่ำของวันหนึ่ง ระหว่างที่ผมกำลังเดินเตร็ดเตร่อยู่ในร้านหนังสือย่านท่าพระจันทร์ ชายหนุ่มคนหนึ่งเดินตรงเข้ามาทักทาย เขาถามว่าจำเขาได้ไหม พวกเราเคยเรียนที่โรงเรียนเดียวกัน


ถึงแม้เราจะไม่ใช่เพื่อนสนิทกันสมัยเรียน ไม่เคยเรียนห้องเดียวกัน แต่การที่ต้องเดินสวนกันไปมาในโรงเรียนเดียวกัน นานถึง 10 กว่าปี ตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยม ก็พอจะทำให้ผมจำหน้าเขาได้


เขาเริ่มต้นการพูดคุยประสาเพื่อนเก่า ด้วยการถามว่าผมทำงานอยู่ที่ไหน ได้เงินเดือนเท่าไร ผมตอบเขาไปว่าทำงานเป็นนักข่าว ได้เงินเดือนหมื่นกว่าบาท แล้วหลังจากนั้น เขาก็ยิงคำถามต่อมาอีกเป็นชุด ประมาณว่า ตอนม.6 มึงเรียนอยู่ห้องอะไร หรือมึงสอบเทียบไปตั้งแต่ม.5 มึงเรียนจบคณะอะไร มึงเอนท์ติดเมื่อปีไหน มีใครไปเรียนมหาวิทยาลัยพร้อมกับมึงบ้าง


เขายังคงถามต่อไปอีก มึงจำเพื่อนคนนั้นคนนี้ได้ไหม เพื่อนคนนั้นเอนท์ติดคณะนี้ เพื่อนคนนี้เอนต์ติดคณะนั้น เพื่อนคนนี้เอนท์ไม่ติด มันเลยไปเรียนเอกชน มึงเคยเจอมันบ้างไหม?


หัวข้อในการพูดคุยวนเวียนอยู่กับเรื่องความหลังสมัยเรียนมัธยมปลาย ซึ่งห่างไกลจากความสนใจของผมไปเรื่อยๆ ก็เวลามันผ่านมาตั้ง 10 กว่าปีแล้ว ผมเรียนจบมาตั้งนาน ทำงานทำการมาก็หลายปีแล้ว มีชีวิตและวงเพื่อนวงใหม่ในที่ทำงาน ลืมเลือนชีวิตและเพื่อนเก่าสมัยเรียนไปเกือบหมด การพูดคุยกับเขาจึงทำให้ผมรู้สึกเบื่อและอึดอัดมากขึ้นเรื่อยๆ


งานยังไม่เสร็จ เงินเดือนไม่พอใช้ เพื่อนที่ทำงานแอบแทงข้างหลัง และเจ้านายก็ดูเหมือนว่าจะขี้หงุดหงิดมากขึ้นเรื่อยๆ เศรษฐกิจกำลังแย่ มีการพูดถึงการเลย์ออฟกัน ผมคงอยู่ในลิสต์อันดับต้นๆ ที่จะช่วยให้บริษัทประหยัดเงินได้หมื่นกว่าบาทต่อเดือน แฟนสาวกำลังจะทิ้งไปหาชายอื่น ตอนนี้ใครจะไปสนเรื่องเก่าๆ สมัยเรียน


ชีวิตจริงหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย มันต้องแก่งแย่งแข่งกันกันอย่างโหดร้ายกว่าการสอบเอนทรานซ์ และการแสดงกิจกรรมเข้าจังหวะ การเดินเตร็ดเตร่เพื่อค้นหาแหวนวิเศษนั้นคือความเข้าใจผิดมาตั้งแต่ต้น


จำไม่ได้ว่าเรายืนคุยกันในร้านหนังสือนานแค่ไหน แต่ในความรู้สึกของผม มันช่างนานเหลือเกิน ก่อนแยกย้ายกันมา เราแลกเบอร์โทรศัพท์กันเอาไว้ เผื่อจะได้ติดต่อกันอีกภายหลัง


หลายเดือนหลังจากนั้น เศรษฐกิจก็ล่มสลาย ผมลืมเรื่องนี้ไปแล้ว จู่ๆ ก็มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นตอนหกโมงเช้า ปลุกผมให้งัวเงียขึ้นมารับสาย เขาอยู่ที่อีกปลายสาย กล่าวทักทายว่าจำได้ไหม ที่เราเจอกันในร้านหนังสือ หลังจากนั้นเขาก็เริ่มชวนคุยวนอยู่กับเรื่องเดิม มึงเรียนจบคณะอะไรนะ มึงเอนทรานซ์ติดไปเมื่อปีไหนนะ มึงสอบเทียบได้ใช่ไหม มึงเลยไม่ได้เรียนม.6 ใช่ไหม … ฯลฯ


“สาด! … นี่มันหกโมงเช้านะเว้ย … แล้วนั่นมันก็เรื่องราวเมื่อสิบกว่าปีก่อน ใครจะไปสนวะ!” ผมแค่นึกในใจ โดยที่ปากก็พยายามพูดตอบคำถามเขาไปดีๆ เออ จำได้ … เออ จำไม่ได้


เขาเล่าว่า ตอนม.6 เขาไม่สบายอย่างหนัก จนต้องพักการเรียนไป หลังจากนั้นทางบ้านก็เลยส่งเขาไปเรียนเมืองนอก ตอนนี้ทำธุรกิจของที่บ้าน เสร็จแล้วเขาก็วนกลับมาพูดเรื่องเดิม มึงจำเพื่อนคนนั้นได้ไหม มันเอนท์ติดคณะนั้น มึงจำเพื่อนคนนี้ได้ไหม มันเอนท์ติดคณะนี้ … ฯลฯ


ผมตื่นเต็มตาและหายง่วงเป็นปลิดทิ้ง รู้สึกดีใจที่ไม่ได้เผลอพลั้งปาก หลุดคำด่าเขาไปเมื่อตอนที่ยังงัวเงียง่วงนอน ตอนนี้ผมรู้สึกสงสารเขาจับใจ ไม่รู้ว่าหลังจากที่เรียนจบจากโรงเรียนชั้นเลิศแห่งนี้ และแยกย้ายไม่เจอกันมาสิบกว่าปี เขาไปโดนอะไรมาบ้าง แต่เชื่อว่าเขาคงโดนมาเยอะกว่าผม ดูเหมือนว่าเขายังคงติดค้างอยู่กับคืนวันเก่าๆ ในหัวสมองของเขายังคงวนเวียนคิดอยู่แต่เรื่องเดิม ความเครียดอาจจะเหมือนกับตู้เย็น ที่จับพวกเราแช่แข็งเอาไว้กับอดีต


อดีตของคนรุ่นเรา มีความสุขมากกว่าปัจจุบัน ไม่น่าแปลกใจที่เราชอบดูเคเบิ้ลทีวีช่อง Majung ชอบอ่านนิตยสารที่ไปขุดเอาแบบเรียนมานีมานะกลับมา น้ำตาไหลเมื่ออัลบั้มภาพเก่าๆ มาพลิกดู และพวกเราบางคน โทรหาเพื่อนเก่าสมัยเรียน เพื่อคุยแต่เรื่องสมัยสอบเอนทรานซ์ ตั้งแต่หกโมงเช้า


ผมนำเรื่องนี้มาเล่า เพราะอยากจะให้คุณได้รู้เพื่อนร่วมรุ่นของผมคนนี้ เขาไม่ใช่ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยักษ์ใหญ่ เขาไม่ได้เป็นดาราละครและนักร้องชื่อดัง เขาทำธุรกิจของที่บ้าน และดูเหมือนเขาจะเพี้ยนมากๆ


ในวันนั้น เขายืนอยู่ในสนาม และกำลังแสดงกิจกรรมเข้าจังหวะพร้อมกับผม


“Val-da-ree, val-da-rah,val-da-ree,” พวกเราทำท่ายกมือขึ้นมาป้องปาก แล้วหันไปทางซ้ายทีขวาที เพื่อสื่อความหมายถึงการกู่ตะโกนร้องเพลงอย่างมีความสุข ระหว่างการเดินเตร็ดเตร่ท่ามกลางขุนเขาและธรรมชาติ



...



หมายเหตุ


1. เพลงนี้จริงๆ แล้วชื่อว่าเพลง The Happy Wanderer อ่านเนื้อเพลงทั้งหมดและทดลองฟัง ได้ที่เว็บไซต์ “แฟนแท้ๆ เพชรพระอุมา” http://petprauma.com/songs/happywonderer.html


2. อ่านรายละเอียดเรื่องประชากรรุ่นเกิดล้าน ในบทความ “ภาวะการตายและความยืนยาวของชีวิตประชากรไทย” ปราโมทย์ ประสาทกุล และปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ http://www.ipsr.mahidol.ac.th/content/home/ConferenceII/Article/Article01.htm

No comments: