Friday, May 08, 2009

ดูหนังเป็นตุเป็นตะ - Little Miss Sunshine 2

ตอนที่ 2



...



13. นิสัยของผู้ชนะและผู้แพ้


 ฉากนี้หนังต้องการแสดงให้เห็นถึงนิสัยของตัวละครแต่ละคน ซึ่งจะสะท้อนออกมาเป็นวิธีการที่พวกเขาใช้แก้ไขปัญหาหรือความทุกข์ใจ
 ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะมีน้ำเสียงประชดประชันริชาร์ดมาตั้งแต่ต้นเรื่อง ว่าเป็นคนที่คิดแบบหนังสือจิตวิทยาความสำเร็จมากเกินไป และพยายามแสดงให้เห็นว่าความคิดของริชาร์ดนั้นบูลชิทเพียงใด เพราะแม้แต่ตัวริชาร์ดซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือนี้เองยังล้มเหลวเลย แต่ผมว่าหนังเรื่องนี้ฉลาดพอที่จะไม่โหดร้ายกับริชาร์ดมากเกินไปกว่านี้ และไม่ทำร้ายหรือทำลายแนวคิดแบบจิตวิทยาเพื่อความสำเร็จที่ยังพอมีความดีอยู่บ้าง ริชาร์ดยืนหยัดกับความคิดแนวจิตวิทยาความสำเร็จของตนเอง เขาลุกขึ้นต่อสู้เพื่อจุดหมายของตนเองอีกครั้ง ด้วยการขี่มอเตอร์ไซค์บึ่งไปหาเจ้าของสำนักพิมพ์เพื่อถามให้แน่ใจอีกครั้งว่าจะพิมพ์งานของเราหรือไม่ แต่ในที่สุดผลออกมาก็เหมือนเดิมนั่นแหละ เขาล้มเหลว แต่อย่างน้อยที่สุด เขาก็ได้ต่อสู้อย่างถึงที่สุดแล้วจริงๆ สอดคล้องกับคำคมของปู่ที่เพิ่งพูดกับโอลีฟเมื่อสักครู่นี้เอง ว่าคนที่ลงแข่งขันแล้วแพ้ ไม่ได้ถือว่าเป็นคนขี้แพ้ คนขี้แพ้คือคนที่ไม่กล้าแม้แต่จะลงแข่งขัน
 หันกลับมาดูตัวละครที่เหลืออยู่ในโรงแรม
 ปู่คือคนขี้แพ้ตัวจริง ที่ผ่านมาเขาเอาแต่นั่งบ่นกับชีวิตตัวเอง และพูดจาหยาบคายถากถางคนอื่น เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา ก็ล็อคประตูห้องแล้วอัพยา หนีจากโลกแห่งความจริง ฉากนี้คือฉากสุดท้ายที่เราจะได้เห็นปู่ เพราะเขาตายในคืนนี้เนื่องจากเสพยาเกินขนาด การตายของปู่มีลักษณะคล้ายเป็นมรณสักขี เพราะก่อนตายเขาได้ถ่ายทอดคำคมให้กับหลานสาวไป การตายคือการตอกย้ำคำคมนั้นให้โดดเด่นขึ้นมา ตัวละครปู่นี้ทำให้ผู้ชมรู้สึกสะเทือนใจ เพราะถึงแม้เขาจะแก่พอที่จะเรียนรู้แล้วว่าชีวิตที่ดีควรเป็นเช่นไร และเป็นเจ้าของคำคมๆ แต่เขาก็นำมันนั้นมาลงมือทำเองไม่ได้ เขาทำได้แค่ถ่ายทอดมันให้กับหลานสาวตัวเล็กๆ
 ส่วนแม่ก็ปล่อยชีวิตไปโดยทำอะไรไม่ได้ เธอได้แต่แอบสูบบุหรี่
 แฟรงค์ก็จมอยู่กับความอิจฉาในความสำเร็จของผู้อื่น เขาหยิบรูปถ่ายคู่กับอดีตแฟนหนุ่มขึ้นมาดูอย่างอาลัยอาวรณ์




14. Go Hug Mom


 ตามสูตรของหนัง Road Movie ในระหว่างการเดินทางร่วมกัน ตัวละครจะต้องเจอปัญหาที่วิกฤตหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ และทุกคนจะต้องมาร่วมกันแก้ไขปัญหานั้น ในฉากนี้ เราเห็นว่านี่เป็นครั้งแรกในหนังเลยก็ว่าได้ ที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวฮูเวอร์มาอยู่ร่วมกัน แชร์ space เดียวกันได้ โดยไม่มีความอึดอัดใจ ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่เยาะเย้ยถากถางกัน เมื่อปู่ตาย ทุกคนต้องมานั่งประชุมกันเพื่อหาทางจัดการศพของปู่ และรีบเดินทางต่อเพื่อพาโอลีฟไปเข้าประกวดให้ทันเวลา
 ดเวย์นเป็นตัวละครที่มีความเปลี่ยนแปลงและมีพัฒนาการทางความคิดมากที่สุด เขาเขียนใส่กระดาษให้โอลีฟว่า Go Hug Mom เพื่อให้โอลีฟไปกอดปลอบใจแม่ ส่วนริชาร์ดยังคงยืนหยัดกับความคิดจิตวิทยาเพื่อความสำเร็จเหมือนเดิม เขาดิ้นรนสุดชีวิตเพื่อให้โอลีฟไปขึ้นเวทีประกวดให้ได้ ด้วยการขโมยศพปู่ออกจากโรงพยาบาล เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาในกระบวนการจัดการศพที่ยุ่งยาก ทำให้ในการเดินทางครั้งนี้ ไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง และสมาชิกทุกคนยังคงเดินทางร่วมกันในรถตู้กันเดิม ถึงแม้ปู่จะตายไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ถูกทอดทิ้งจากครอบครัว




15. ครอบครัวแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง


 เมื่อรถตู้คันนี้แตรเสีย และโดนตำรวจทางหลวงเรียกตรวจค้น ตำรวจเจอหนังสือโป๊ที่วางไว้บนศพปู่ เลยมัวแต่สนใจหนังสือโป๊นี้ และปล่อยครอบครัวฮูเวอร์ให้เดินทางต่อไป ผมว่านี่เป็นมุขตลกร้ายที่เด็ดขาดที่สุดในหนังเรื่องนี้แล้ว มันทั้งตลก ทั้งเศร้า ทั้งเสียดสี ทั้งอบอุ่นใจ
 สิ่งสุดท้ายที่ชายชราคนหนึ่งเหลือทิ้งไว้ให้กับโลก สิ่งสุดท้ายที่ปู่ทิ้งไว้ให้กับครอบครัวฮูเวอร์ คือหนังสือโป๊ 3-4 เล่ม และมันก็ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับครอบครัวนี้ได้จริงๆ




16. What


 ดเวย์นเพิ่งจะรู้ตัวว่าตัวเองเป็นตาบอดสี หมายความว่าเขาเป็นนักบินไม่ได้ ความฝัน ความหวังทั้งหมดของชีวิตดเวย์นพังทลายลงทันที สิ่งที่เขาทำมาทั้งหมดสูญเปล่า เขาล้มเหลวโดยไม่ทันได้ไปสอบเลยด้วยซ้ำ
 นี่เป็นอีกหนึ่งมุขตลกร้ายที่สุดยอดของหนัง ผมว่ามุขตลกที่ตื้นเขิน มักจะมาจากการตีหัว คำหยาบ ความรุนแรง และการเล่นคำ อย่างที่เรามักจะเห็นได้จากตลกคาเฟ่ และหนังไทยทั่วไป แต่ในหนังตลกชั้นดีและความตลกแบบที่มีรสนิยม คือมันจะต้องสร้างความรู้สึกและอารมณ์ที่ปั่นป่วน กระอักกระอ่วน ผสมผสาน ปนเป จนทำให้ผู้ชม "หัวร่อไม่ออก ร่ำไห้ไม่ได้" เมื่อหนังพาผู้ชมมาจนถึงจุดพีคที่สุด คนดูจะทั้งหัวเราะและสะอึกสะอื้นไปพร้อมกัน และนี่คืออีกหนึ่งฉากที่แสดงถึงสิ่งนี้ได้ดี




17. ฉากนี้สวยที่สุด และทรงพลังที่สุด ผมเลยเอามาให้ดูทีละเฟรมๆ ไม่อยากอธิบายอะไรมาก ดูจากภาพเอาละกัน








18. ฆ่าตัวตาย ล้มละลาย หย่าร้าง ติดยา สอบไม่ได้


 น้าชายฆ่าตัวตาย - พ่อล้มละลาย - แม่กำลังจะหย่ากับพ่อ - ปู่เพิ่งตายเพราะเสพยาเกินขนาด - ลูกชายสอบเข้าโรงเรียนการบินไม่ได้ - สุดท้ายเหลือเพียงโอลีฟ ลูกสาวคนสุดท้องที่กำลังจะไปไม่ทันเข้าประกวด Little Miss Sunshine
 ครอบครัวฮูเวอร์เป็นครอบครัวที่ห่วยแตกที่สุด มันคือศูนย์รวมของคนขี้แพ้ในทุกด้าน ทุกมิติ มันทำลายมายาคติของภาพถ่ายครอบครัวลงไปอย่างสิ้นเชิง ทุกคนไม่ได้มีความสุข ไม่ได้ยิ้มแย้ม ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อมันเป็นเช่นแล้ว ครอบครัวนี้จะมีความสุขหรือไม่? สมาชิกในครอบครัวจะมีความสุขหรือไม่?
 โปรดสังเกตการองค์ประกอบของภาพนี้ มันสมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับหนังฟอร์มเล็กทุนต่ำเรื่องหนึ่ง ผมว่าภาพนี้ ฉากนี้ วินาทีนี้ คือชัยชนะของคนแพ้อย่างแท้จริง




19. Ritual และ Sacrifice 1


 ผมคิดว่าดเวย์นเป็นตัวละครที่เป็นตัวแทนของผู้คนในสังคมร่วมสมัย ลักษณะของดเวย์นทำให้ผมนึกถึงหนังเรื่อง Fight Club ตอนที่ไทเลอร์ เดอร์เดน ประกาศแมนิเฟสโต้ของลัทธิ เขาบอกว่าคนรุ่นเรา (ซึ่งก็คือคนรุ่น Fight Club) ไม่มีอะไรให้ต่อสู้ด้วยเลย ไม่มีสงคราม ไม่มีความอดอยาก เราเป็นลูกคนกลางของประวัติศาสตร์ ที่กำลังดำเนินชีวิตไปอย่างไร้จุดหมาย ไร้คุณค่า และในที่สุดก็ตั้งจุดหมาย คุณค่า และแนวความคิดอะไรขึ้นมาใส่ตัวเอง
 ปู่คือตัวแทนของความทุกข์ของคนรุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โน้นเลย ส่วนพ่อคือตัวแทนของความทุกข์ของคนในยุคหลังสงครามโลกเป็นต้นมา เป็นคนรุ่น Baby Boomer และ YUPPIES ที่เอาแต่พร่ำพูดถึงเรื่องความสำเร็จ แฟรงค์นั้นไม่ต้องพูดถึง เขาทุกข์จนลงมือฆ่าตัวตายและหลุดโลกไปแล้ว โอลีฟคือตัวแทนของคนรุ่นลูกหลานของเรา คนรุ่นถัดไปที่จะต้องสืบทอดวัฒนธรรมของการแข่งขันแก่งแย่ง
 ในขณะที่ดเวย์น คือตัวละครที่มีช่วงอายุอยู่ตรงกลางพอดี เผชิญปัญหาที่เหมือนกับเรามากที่สุด และผมคิดว่าผู้ชมส่วนใหญ่จะ Identified ตัวเองเข้ากับดเวย์นได้มากที่สุด
 ปัญหาของดเวย์นไม่ใช่เรื่องปากท้อง ไม่ใช่เรื่องชีวิต ไม่ใช่เรื่องความเป็นความตายอะไรเลย ไม่เหมือนกับปู่ที่ต้องเข้าไปร่วมรบในสงครามโลก ไม่เหมือนกับพ่อที่ต้องดิ้นรนหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว แต่ปัญหาของดเวย์นนั้นเป็นแค่เรื่องส่วนบุคคล เรื่องความใฝ่ฝัน อยากได้ อยากมี อยากเป็น เขาอยากเป็นนักบินและก็หมกมุ่นอยู่กับความอยากของตนเอง และยึดถือเอาว่ามันช่างยิ่งใหญ่ ช่างสำคัญเสียเหลือเกิน
 คำสาบานของดเวย์น คือการขับเคี่ยวแข่งขันกับตัวเอง เขาไม่ได้ไปแข่งกับคนอื่น แต่เขาหันมาแข่งกับตัวเอง บังคับควบคุมตัวเอง ก็เหมือนกับเด็กสมัยนี้เวลาไปจับฉลากเข้าโรงเรียนประถม-มัธยม หรือตอนเด็กวัยรุ่นที่กำลังเตรียมสอบเอนทรานส์ หรือคนหนุ่มสาวที่เรียนจบออกมาแล้วกำลังหางานทำ แต่ละคนจะมี Ritual หรือพิธีกรรมอะไรบางอย่างของตนเอง โดยยอมอุทิศ สละ หรือ Sacrifice บางสิ่งบางอย่างออกไปจากตนเอง เพื่อแลกให้ได้มาซึ่งความสำเร็จและความสุข
 Ritual และ Sacrifice เป็นแนวคิดที่เป็นแบบบรรพกาลมาก คนยุคหินอยากได้อะไรก็สร้างพิธีกรรม บวงสรวง บูชายัญ ถวายของแก่พลังอะไรบางอย่างที่เขาเชื่อว่าอยู่ข้างบนและดลบันดาลลงมาให้ได้ Ritual และ Sacrifice ยังคงปรากฏให้เห็นในสังคมปัจจุบันมากมาย บางคนวิ่งแก้บน บางคนรำแก้บน แต่ผมมองว่า ในวัฒนธรรมร่วมสมัยของเรา ได้เกิดมี Ritual และ Sacrifice ขึ้นมาอีกมากมาย ซึ่งล้วนมีรูปแบบซับซ้อนและการอำพรางได้แนบเนียนกว่านั้น เช่น
   - ลัทธิคลั่งผอม ผู้หญิงบางคนควบคุมการกินอาหารของตนเอง ควบคุมรูปร่างของตนเอง เพราะคาดหวังว่าจะไปควบคุมสายตาของคนอื่นที่มองตัวเธอ
   - ลัทธิชีวจิต หรือพวก Health Fetishism บางคนก็กินข้าวต้มกับถั่วและสวนทวารด้วยน้ำกาแฟ เพื่อให้ช่วยรักษาโรคมะเร็ง
   - ลัทธิธรรมะอินเทรนด์ บางคนกินเจ ไปปฏิบัติธรรม และเข้าลัทธิความเชื่อต่างๆ เช่นพวกแสกนกรรม ตาเอ็กซเรย์ ระลึกชาติ เพื่อให้เกิดพลังพิเศษส่งผลต่อความสำเร็จในหน้าที่การงาน
   - ลัทธิความสุข-ความสำเร็จ ทำให้เราคิดว่าต้องประสบความสำเร็จเสียก่อน ถึงจะมีความสุข นำไปสู่การเกิดขึ้นของแนวคิดแบบจิตวิทยาความสำเร็จ The Secret กฎแห่งแรงดึงดูด Positive Thinking และอะไรต่างๆ อีกมากมาย
 แต่ละลัทธิจะมีพิธีกรรมและสิ่งที่เราต้องสละแตกต่างกันไป อย่างในกรณีของดเวย์น เขาหมกมุ่นมากจนถึงขนาดที่ต้องละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต เพื่อไปให้ถึงความสำเร็จนี้ให้ได้ บึ้งตึงกับทุกคนในครอบครัว เกลียดทุกคนในโลก และสาบานว่าจะไม่พูดเลยสักคำ
 ก็อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นนั่นแหละ ว่าความสุขกับความสำเร็จมันเป็นคนละเรื่องกัน คนที่หมกมุ่นกับความสำเร็จซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอกตัว ในที่สุดก็จะค้นพบว่าเขาควบคุมสิ่งที่อยู่ภายนอกตัวนั้นไม่ได้เลย เขาต้องจมอยู่กับความกังวล ไม่แน่นอน ไม่มั่นคง นานวันเข้า ความรู้สึกไม่สามารถควบคุมอะไรได้ ก็จะย้อนกลับมาทำให้พวกเขาควบคุมตนเองแทน อย่างที่ยกตัวอย่างไว้ข้างต้นนั้น




20. Ritual และ Sacrifice 2


 ครอบครัวฮูเวอร์เดินทางมาถึงโรงแรม และส่งชื่อโอลีฟเข้าประกวดได้ทันเวลา หนังในช่วงนี้ได้เผยให้เราเห็นโลกของการประกวดเด็ก Little Miss Sunshine
 เพื่อให้ได้ชัยชนะ ครอบครัวและตัวเด็กจะต้องทำ Ritual และ Sacrifice อย่างที่เห็นในภาพ มันคือการดัดแปลงสภาพร่างกายของเด็ก และพรากความเยาว์และไร้เดียงสาออกจากตัวเด็ก ผู้ชมจะได้เห็นโลกของการประกวดเด็ก Little Miss Sunshine ผ่านสายตาครอบครัวฮูเวอร์ ซึ่งให้ความรู้สึกแปลกแยก แปลกถิ่น อย่างรุนแรง




21. สังคมที่หมกมุ่นอยู่กับการแข่งขันประกวดประชัน


 เวทีประกวด Little Miss Sunshine คือภาพสะท้อนที่ทำให้เรามองเห็นภาพของสังคมโดยรวม เบื้องหน้าดูยิ้มแย้มแจ่มใส่ มีความสุข มีความสำเร็จ แต่เบื้องหลังของพวกเราทุกคน ล้วนเต็มไปด้วย Ritual และ Sacrifice ที่แสนเจ็บปวด แต่เราก็ยังบ้าคลั่งการแข่งขันกันต่อไปโดยไม่รู้ตัว ไม่ตั้งคำถาม ภาพที่สามนั้นทำให้ผมนึกถึง พี่เพชร พี่ม้า และพี่โจ้




22. ความสำเร็จคือสิ่งสัมพัทธ์ที่อยู่ภายนอกตัว


 โอลีฟได้เผชิญกับประสบการณ์การประกวดบนเวทีใหญ่ ทำให้เธอตกเข้าไปสู่วังวนของลัทธิความสุข-ความสำเร็จ เธอหมกมุ่นอยู่กับความสำเร็จ ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับสายตาและคำตัดสินของกรรมการ เด็กหญิงเกิดความกังวลในรูปร่างหน้าตาของตนเอง เมื่อนำไปคิดเปรียบเทียบกับเด็กที่เข้าประกวดคนอื่นๆ ในตอนนี้ ความไร้เดียงสาของเธอได้ถูกทำลายไปแล้ว จากการเข้าประกวด Little Miss Sunshine




23. ความสุขคือสิ่งสัมบูรณ์ที่อยู่ภายในตัว


 ฉากนี้เป็นฉากที่ผู้กำกับใช้สรุปประเด็นสำคัญที่สุดของหนังเรื่องนี้ โดยเริ่มต้นที่ดเวย์นและแฟรงค์รู้สึกแปลกแยกอย่างรุนแรง พวกเขาอึดอัดที่จะต้องอยู่ท่ามกลางผู้คนที่หมกมุ่นกับการแข่งขันประกวดประชัน ก็เลยพากันออกมายืนนอกโรงแรม
 แฟรงค์เริ่มเข้าประเด็นสรุปของหนัง โดยการบอกกับดเวย์น ว่าจริงๆ แล้วความพ่ายแพ้ล้มเหลวในชีวิต ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต และจุดหมายของชีวิตนี้เราไม่ได้เกิดมาเพื่อชนะการแข่งขัน แท้จริงแล้วความพ่ายแพ้ล้มเหลวเป็นบทเรียนของชีวิต ชีวิตหนึ่งซึ่งได้เกิดมาแล้ว จะนับว่าน่าเสียดายมากถ้าไม่ได้รับบทเรียนเหล่านี้
 ดเวย์นเกิดการหยั่งรู้ขึ้นมาในวินาทีนี้เอง หลังจากที่เขาเคี่ยวกรำกับตนเองมายาวนาน และได้เผชิญหน้ากับความล้มเหลวครั้งสำคัญในชีวิต เมื่อได้ยินแฟรงค์พูด เขาก็เข้าใจในทันที เขาสรุปประเด็นของหนังว่า
 ชีวิตที่หมกมุ่นกับการแข่งขันและความสำเร็จ มันเหมือนกับเวทีประกวดนางงามที่ไม่รู้จักจบสิ้น ประกวดแล้วประกวดอีกไปอย่างนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วเราไม่เห็นจะต้องไปประกวดเลย




...



โปรดติดตามตอนต่อไป



 
 

No comments: