ตอนที่ 1
...
1. ฉากเปิดเรื่อง
เป็นการแนะนำให้ผู้ชมได้รู้จักสมาชิกในครอบครัวฮูเวอร์ทีละคน ผู้ชมจะได้รู้ว่าชีวิตของพวกเขาแต่ละคนดูแปลกๆ และช่างไม่มีความสุขเอาเสียเลย สิ่งที่น่าสังเกตคือในฉากเปิดเรื่องนี้ คือพวกเขาไม่ได้อยู่ร่วมกัน แต่จะแยกกันอยู่คนละห้อง คนละสถานที่ แต่ละคนกำลังแยกย้ายกันไปเผชิญกับโลกภายนอกที่ยิ่งใหญ่มากเกิน จนถล่มถมทับตัวพวกเขา และกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาไม่มีความสุข ลองมาดูรายละเอียดของโลกภายนอกที่โหดร้ายของพวกเขาทีละคน และสัญลักษณ์ที่ผู้กำกับใช้ในการสื่อความหมาย
1.1 นางงามในจอทีวีขนาดยักษ์
โอลีฟ ลูกสาวคนสุดท้องของครอบครัว ยืนอยู่คนเดียวหน้าจอทีวีขนาดยักษ์ เธอหมกมุ่นอยู่กับการประกวดประขัน ฝันอยากขึ้นเวทีประกวดใหญ่ๆ และได้รางวัลชนะเลิศ ภาพในจอทีวีคือภาพการประกวดนางงามอเมริกา เธอพยายามเลียนแบบสีหน้าและท่าทางของนางงาม โปรดสังเกตขนาดของจอทีวีว่าใหญ่โตจนเลยขนาดร่างกายของเด็กหญิง แสดงให้เห็นความฝันเรื่องการประกวดนางงามเป็นเรื่องที่ใหญ่โตเหลือเกินสำหรับเธอ
1.2 How to-ความสำเร็จ
ริชาร์ด พ่อของครอบครัวนี้ เป็นนักเขียนหนังสือแนว How to-ความสำเร็จ เขาเขียนต้นฉบับหนังสือ "บันได 9 ขั้นสู่ความสำเร็จ" และกำลังรอการตัดสินใจจากสำนักพิมพ์ ตอนนี้เขากำลังตระเวนออกไปบรรยายและโปรโมทแนวความคิด โปรดสังเกตว่าเมื่อเขาอยู่บนเวทีนั้นตัวเขาดูเล็กนิดเดียว เทียบกับภาพบนจอโปรเจคเตอร์ แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เขากำลังเสนออยู่นั้น ที่เกี่ยวกับชัยชนะ ความสำเร็จ บันได 9 ขั้น อะไรๆ เหล่านั้น ล้วนยิ่งใหญ่เกินตัวเขา
1.3 การควบคุมตนเอง
ดเวย์น ลูกชายคนโตของครอบครัว ฝันอยากเป็นนักบิน เขาแปะภาพวาดของฟรีดริช นิทซ์เช่ ไว้บนผนังห้อง ชอบอ่านหนังสือเรื่อง Thus Speak Zarathustra คนดูจะได้เห็นว่าเขาเก็บตัวอยู่ในห้องเพื่อออกกำลังกายอย่างเข้มงวด และสาบานไว้ว่าจะไม่พูดสักคำจนกว่าจะสอบเข้าเรียนการบินได้สำเร็จ ดเวย์นเป็นตัวละครที่น่าสงสารที่สุดในหนังเรื่องนี้ เพราะความฝันและไอดอลของเขา เป็นเรื่องใหญ่และอยู่ห่างไกล เกินการควบคุมของตัวเขาเอง ในที่สุด เขาจึงย้อนกลับมาควบคุมตนเอง ด้วยอยู่ในห้องนอนรกๆ แคบๆ จัดตารางการออกกำลังกาย และสาบานว่าจะไม่พูด
1.4 กลอนประตูและยาเสพติด
เอ็ดวิน ปู่ของครอบครัว คนดูจะไม่รู้ประวัติความเป็นมาอะไรมากนัก รู้แต่ว่าเป็นคนแก่ที่ไม่ค่อยมีความสุขกับช่วงวัยหนุ่มของชีวิตสักเท่าไร เขามักพูดถึงความหลังวัยหนุ่มที่น่าเสียดาย เสียใจ และแสดงออกทางการใช้อารมณ์รุนแรงและถ้อยคำเสียดแทงผู้อื่น เขาชอบล็อกกลอนประตูห้องของตนเอง เพื่อปิดกั้นตัวเองออกจากโลกภายนอก และใช้ยาเสพติดเพื่อการหนีจากโลกแห่งความจริง
1.5 บุหรี่
เชอริล แม่ของครอบครัว ดูจะเป็นคนที่ปกติที่สุดในหนังเรื่องนี้ เธอพยายามช่วยกอบกู้ชีวิตของสมาชิกทุกคนภายในบ้าน รวบรวมสมาชิกทุกคนให้อยู่รวมกัน แต่ในฉากนี้เธอกำลังผจญอยู่กับการจราจรที่วุ่นวาย การคุยโทรศัพท์รบกวน และการแอบสูบบุหรี่
1.6 ฆ่าตัวตาย
แฟรงค์ น้าชายของครอบครัว เขาเป็นน้องของเชอริล เป็นอาจารย์สอนวิชาวรรณคดี ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง มาแซล พรุสต์ เขาเพิ่งรอดชีวิตมาจากการฆ่าตัวตาย ตอนนี้กำลังพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาล รอให้พี่สาวมารับตัวไปรักษาต่อที่บ้าน ในฉากนี้เราจะเห็นภาพห้องอับทึบของโรงพยาบาล เทียบกับหน้าต่างเพียงเล็กๆ อยู่ตรงริมจอด้านซ้ายมือ สายตาของแฟรงค์กำลังมองออกไปนอกหน้าต่างอย่างเลื่อนลอย ราวกับว่าเขามีความหลังอันขมขื่นอยู่ในโลกภายนอกนั้น
2. ชื่อเรื่อง
ผู้กำกับจงใจนำชื่อเรื่อง Little Miss Sunshine ซึ่งหมายถึงชื่อเวทีการประกวดความสามารถเด็ก มาทาบทับลงบนใบหน้าเศร้าๆ ของแฟรงค์ ผู้ชายวัยกลางคนที่เพิ่งฆ่าตัวตายมาหยกๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้ง ระหว่างภาพของความหวัง ความสวยงาม ความฝัน ชัยชนะ ที่เรามักจะได้เห็นบนเวทีประกวดต่างๆ เทียบกับผู้ชายที่ซึมเศร้า พ่ายแพ้ หนีโลก และฆ่าตัวตาย
3. การแบ่งแยกออกจากกันด้วยประตูและผนัง
ถัดจากฉากเปิดเรื่องที่ได้แนะนำให้รู้จักตัวละครที่เป็นสมาชิกของครอบครัวฮูเวอร์ทีละคนๆ ไปแล้ว ผู้กำกับก็ต้องการบอกผู้ชมให้รู้ถึงลักษณะความสัมพันธ์ภายในครอบครัวนี้ ว่าพวกเขาสัมพันธ์กันอย่างไร? คำตอบก็คือ แทบไม่มีความสัมพันธ์กันเลย เป็นญาติ พี่น้อง พ่อแม่ลูก สายเลือดเดียวกันแท้ๆ และส่วนใหญ่ก็อยู่บ้านเดียวกัน ร่วมหลังคาเดียวกันแท้ๆ แต่พวกเขากลับห่างเหิน หมางเมิน ไม่สนใจ ไม่สัมพันธ์กัน ไม่รักกัน
ประตูและผนัง ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงความห่างเหินในครอบครัวนี้ มันถูกนำเสนอบ่อยและชัดเจนที่สุดในช่วงนี้ของหนัง
3.1 ประตูห้องผู้ป่วยในโรงพยาบาล
เชอริลต้องค่อยๆ เปิดแง้มดูน้องชายตนเอง เธอต้องเดินเข้าห้องไปแบบค่อยๆ ย่อง กลัวน้องชายจะตกใจหรือหวาดกลัว ทั้งที่เป็นพี่น้องกัน คนหนึ่งเพิ่งรอดตายมาหยกๆ แท้ๆ กลับยังต้องระแวงระวังกันเอง มันแสดงให้เห็นความห่างเหินกันอย่างแท้จริง
3.2 ประตูบ้าน
เชอริลพาแฟรงค์กลับมาบ้านของเธอ เพื่อให้เขาอาศัยอยู่ที่นี่ชั่วคราว แฟรงค์ทำท่าทางเกรงใจและลังเลที่จะก้าวเข้ามาในบ้าน บริเวณ foreground ของภาพนี้ เผยให้เห็นภาพถ่ายครอบครัวบ้านนี้ ภาพถ่ายครอบครัวเป็นเพียง Myth หรือมายาคติ ของสถาบันครอบครัวที่มีอยู่แค่ในอุดมคติ ทุกคนอยู่ใกล้ชิดกัน ยิ้มแย้มมีความสุขด้วยกัน แต่ครอบครัวในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่แบบนี้เลย
3.3 ประตูห้องนอน
เชอริลพาแฟรงค์ให้มานอนร่วมห้องกับดเวย์น เพื่อให้ดเวย์นช่วยดูแลแฟรงค์ไม่ให้แอบลงมือฆ่าตัวตายอีกครั้ง ในฉากนี้ ดเวย์นกำลังนอนอ่านหนังสือของนิทซ์เช่อยู่ในห้องนอนตนเอง ซึ่งเป็น space ส่วนตัวของเขา แต่กลับถูกแม่พาน้าชายเข้ามาบุกรุก เขาแสดงความเซ็ง ไม่พอใจ ไม่อยากสุงสิงกับแม่และน้าชายของตนเอง ส่วนแฟรงค์ก็รู้สึกผิดและเกรงใจหลานชายตนเอง
3.4 บ้านที่เต็มไปด้วยประตูและผนัง
ในมุมมองของสถาปัตยกรรม การออกแบบภายในอาคารจะใช้ประตูและผนัง เพื่อกั้นหรือแบ่ง space หนึ่ง ให้แยกออกเป็นหลายๆ space ในสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ มักจะนิยมกั้นหรือแบ่งแยก space กันมาก เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว และเพิ่มประโยชน์พื้นที่ใช้สอย เห็นได้ชัดเจนจากการออกแบบคอนโดมีเนียม หรือบ้านสไตล์ Town Home โครงการหรูๆ ใจกลางเมือง ที่มีพื้นที่จำกัดมากๆ สถาปนิกมักจะซอยห้องและพื้นที่ให้ยิบย่อยเล็กลง เพราะคนสมัยใหม่ชอบความเป็นส่วนตัว ถึงแม้จะอยู่ภายในบ้านตนเองก็ตาม ก็ยังต้องการอยู่คนเดียว แยกออกจากสมาชิกคนอื่นในครอบครัว แตกต่างจากคนสมัยก่อน ที่ออกแบบภายในบ้านให้โล่งกว้าง เพื่อให้สมาชิกทุกคนได้อยู่ร่วมกัน ใน space เดียวกัน
4. ความอึดอัดบนโต๊ะอาหาร
เวลาอาหารค่ำคือช่วงเวลาเดียวในแต่ละวัน ที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะได้มาเห็นหน้าเห็นตากัน โดยตลอดทั้งวัน แต่ละคนจะแยกกันอยู่ พ่อแม่ต้องออกนอกบ้านไปทำงาน ลูกๆ ก็อยู่แต่ในห้องของตัวเอง ปู่ก็ล็อกห้องอัพยาเฮโรอีน เมื่อทุกคนมานั่งล้อมวงกินข้าว บรรยากาศเต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน อึดอัด ความทุกข์ที่สมาชิกแต่ละคนได้รับจากโลกภายนอก ทำให้พวกเขาหงุดหงิดและมาระบายอารมณ์ใส่กันบนโต๊ะอาหาร ซึ่งน่าจะเป็นเวลาแห่งความสุขของครอบครัว
5. I Hate Everyone .
ดเวย์นเขียนใส่กระดาษ I Hate Everyone .
6. Road Movie
Little Miss Sunshine เป็นหนังแนว Road Movies ที่ดำเนินเรื่องตามขนบของแนวนี้เป๊ะๆ คือเปิดเรื่องด้วยการแนะนำตัวละครที่แตกต่างกัน ขัดแย้งกัน โกรธหรือเกลียดกัน แล้วก็ต้องมีสถานการณ์บีบบังคับให้ตัวละครจำเป็นต้องออกเดินทางร่วมกัน และการเดินทางครั้งนี้จะให้บทเรียนชีวิต และช่วยแก้ไขความขัดแย้งของตัวละครได้
ฉากนี้คือฉากที่ใช้อธิบายสถานการณ์บีบบังคับให้ตัวละครทั้ง 6 ต้องออกเดินทางด้วยกัน คือต้องพาโอลีฟ ลูกสาวคนเล็กของครอบครัว ไปร่วมการประกวด Little Miss Sunshine ต้องใช้เวลาเดินทางร่วมกัน 2-3 วันเลยทีเดียว
7. ความหมายของรถตู้
ในหนัง Road Movies แต่ละเรื่อง ก็จะเลือกใช้พาหนะที่แตกต่างกันไป ตามเนื้อหาและประเด็นที่ต้องการสื่อ เช่น
ถ้าต้องการแสวงหาความหมายของชีวิตของคนหนุ่ม อย่าง The Motorcycle Diary ก็จะใช้มอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะ เพื่อจะได้เห็นความมาโชแมนและความห้าวหาญของ เช กูวาร่า
ถ้าต้องการแสวงหาอิสระเสรีภาพของเพศหญิงและแนวคิดเฟมินิสม์ อย่าง Thelma & Louise ก็จะเลือกใช้รถยนต์เปิดประทุน เพื่อจะได้เห็นเส้นผมสีบลอนด์ของนางเอกปลิวไสวในสายลม
สำหรับในหนังเรื่อง Little Miss Sunshine เป็นหนังที่ต้องการค้นหาความหมายและคุณค่าของครอบครัว พวกเขาจึงเลือกใช้รถตู้เก่าๆ ของครอบครัวเป็นพาหนะในการเดินทาง
รถตู้เป็นพาหนะที่บรรทุกผู้โดยสารได้ทีละเยอะๆ แต่ผู้โดยสารจะต้องนั่งอยู่รวมกัน แชร์ space ร่วมกัน เป็นการบีบบังคับให้สมาชิกในครอบครัวนี้ต้องอยู่ใกล้ชิดกัน โดยไม่มีการแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ เหมือนตอนอยู่ในบ้านอีกต่อไป ในช่วงแรกของการเดินทาง พวกเขายังคงมึนตึงและไม่อยากพูดจากัน
สิ่งที่น่าสังเกตคือ โอลีฟใส่หูฟังซาวนด์อะเบาท์ทำให้เธอไม่รับรู้ว่าคนอื่นในรถตู้กำลังพูดคุยอะไรกันอยู่ คุณสังเกตกันไหม ว่าสิ่งของ Gadget ทันสมัยพวกนี้ กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ผู้คนในสังคมร่วมสมัย ใช้ในการปิดกั้นตัวเองและแสดงความเป็นส่วนตัว เมื่อเวลาต้องอยู่ในสถานที่สาธารณะ เช่นเวลาอยู่บนรถเมล์ รถไฟฟ้า รถตู้ หรือในร้านกาแฟสตาร์บัคส์ เรามักจะเห็นคนหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาคุย หยิบ iPod ขึ้นมาฟัง หรือหยิบ PSP ขึ้นมากดเล่น
ผู้คนในสังคมสมัยใหม่ นอกจากจะอยู่บ้านแบบที่แบ่งซอยเป็นห้องเล็กๆ เพื่อความเป็นส่วนตัวแล้ว เมื่อเวลาต้องอยู่ในสถานที่สาธารณะ ที่ต้องแชร์ space ร่วมกับคนอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรายังสรรหาวิธีและอุปกรณ์มาแยกเราออกจากกัน
8. ความอ้วน
ครอบครัวฮูเวอร์แวะพักรับประทานอาหารในร้านริมถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ฉากนี้แสดงให้เห็นถึงความหมกมุ่น Body Culture ในสังคมอเมริกัน และการถ่ายทอดวัฒนธรรมนี้จากรุ่นสู่รุ่น เมื่อโอลีฟต้องการกินไอศครีม "ช็อกโกแลต อะลาโมด" แต่ริชาร์ดพยายามห้ามเธอ โดยสอนว่ากินไอศครีมแล้วจะทำให้อ้วน ไม่สวย ไม่สามารถไปขึ้นเวทีประกวดได้
ตั้งแต่ฉากต้นเรื่อง ตัวละครโอลีฟถูกนำเสนออย่างขับเน้นให้เห็นชัดเจน ว่าอ้วนท้วน เจ้าเนื้อ สมบูรณ์ เปล่งปลั่ง เราจะเห็นเธอยืนพุงกลม ทำตาแป๋วอยู่หน้าจอทีวี มาจนถึงฉากนี้ เราได้เห็นเธอแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปร่างของตนเอง
แต่ในมุมมองของผู้ชม ทุกคนจะรู้สึกรักและเอ็นดูเธอ ไม่ใช่เพราะว่าเธอสวย หุ่นดี แต่เพราะเธอมีความสดใส ร่าเริง และน่ารักแบบเด็กๆ ทำให้ทุกคนจะต้องประนามความคิดและคำพูดของริชาร์ด และเอียนกับแฟชั่นความสวยแบบผอมๆ เต็มทีแล้ว
ชื่อ "โอลีฟ" เหมือนกับตัวการ์ตูน Olive Oil ในเรื่อง Popeye ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์การ์ตูนที่ผอมแห้ง การตั้งชื่อลูกว่า Olive อาจจะเป็นการสื่อถึงความคาดหวังของคนเป็นพ่อแม่ ว่าอยากให้ลูกของตนเองมีรูปร่างผอมแห้งด้วย
สิ่งที่น่าสังเกตในฉากนี้ คือบริการสาวในร้านนี้ก็เป็นผู้หญิงเจ้าเนื้อ และเธอพยายามสนับสนุนให้โอลีฟกินไอศครีม หนังเรื่องนี้ต้องการแสดงให้เห็นภาพแบบ stereotype ของผู้หญิงในชนชั้นแรงงานว่าต้องเป็นคนเจ้าเนื้อ ในขณะที่ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จ เป็นคนผอม
9. การเข็นรถ
รถตู้เกิดปัญหาเกียร์พัง ไม่สามารถเข้าเกียร์ 1 และ 2 ได้ ช่างที่อู่ไม่สามารถซ่อมให้ได้เพราะไม่มีอะไหล่ จึงแนะนำให้ครอบครัวฮูเวอร์ช่วยกันเข็นรถ จนมีความเร็วถึงระดับที่จะเข้าเกียร์ 3 ได้ แล้วค่อยขึ้นไปนั่งทีละคนๆ
รถตู้ได้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนครอบครัวมาตั้งแต่ต้น การที่ให้ตัวละครทั้งหมดร่วมกันเข็นรถ จึงหมายถึงการให้สมาชิกในครอบครัวร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหาในครอบครัวนั่นเอง นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นคนในครอบครัวร่วมมือกันทำสิ่งเดียวกัน ไปในทิศทางเดียวกัน คิดตรงกัน และช่วยเหลือกัน
สิ่งที่น่าสังเกตในฉากนี้ คือรอยยิ้มของตัวละครทุกคน ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันเมื่อสมาชิกทุกคนในครอบครัวได้วิ่งขึ้นมาบนรถได้สำเร็จแล้ว พวกเขาเพิ่งจะเรียนรู้ว่าการได้ทำอะไรร่วมกับคนในครอบครัว ก็ทำให้มีความสุขได้
10. ความสุข - ความสำเร็จ
โดยส่วนตัว ผมคิดว่าคนสมัยนี้ค่อนข้างจะมีความคิดสับสนและคลุมเครือกับคำว่า "ความสุข" และคำว่า "ความสำเร็จ"
ความสุขนั้นเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในตัว ส่วนความสำเร็จนั้นเป็นเงื่อนไขที่อยู่ภายนอกตัว
ความสุขเป็นสิ่งสัมบูรณ์และจบตรงที่ความพอใจของเราเอง ส่วนความสำเร็จเป็นสิ่งสัมพัทธ์ที่เราต้องเปรียบเทียบกับสิ่งอื่นนอกตัวเรา
ความสุขนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายๆ อย่างไม่น่าเชื่อ และอย่างไม่คาดคิดมาก่อน จากตัวอย่างในข้อ 9 เมื่อสมาชิกในครอบครัวช่วยกันเข็นรถได้สำเร็จ พวกเขาก็ยิ้มออกมาอย่างมี "ความสุข"
แต่พอมาถึงฉากนี้ เราจะเห็นว่าทุกคนย้อนกลับมาทุกข์อีกครั้ง เพราะว่าพวกเขามัวแต่ไปโฟกัสที่ "ความสำเร็จ" แทน
10.1 เมื่อริชาร์ดจอดแวะปั๊มเพื่อโทรศัพท์หาเจ้าของสำนักพิมพ์ ถามว่าเมื่อไรเขาจะได้เซ็นสัญญาพิมพ์หนังสือเสียที แต่เจ้าของสำนักพิมพ์กลับปฏิเสธไม่พิมพ์งานของเขาแล้ว จากที่บรรยากาศดีๆ ชิวๆ ในระหว่างทริปร่วมกับครอบครัว ตอนนี้ริชาร์ดเป็นทุกข์ขึ้นมาทันที ที่พบว่าตนเองล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จ ริชาร์ดคิดว่าตัวเขาเองจะต้องประสบความสำเร็จกับการพิมพ์หนังสือเสียก่อน ถึงจะมีความสุขได้ ส่วนเชอริล เมื่อรู้ว่าริชาร์ดล้มเหลว ก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เธอคิดว่าความล้มเหลวของสามี จะทำให้ครอบครัวนี้ไม่มีความสุขอีกต่อไป
10.2 แฟรงค์เดินเข้าร้านมินิมาร์ทในปั๊มน้ำมันเพื่อซื้อหนังสือโป๊และน้ำดื่ม เผอิญไปเจอกับเด็กหนุ่มซึ่งเป็นแฟนเก่า เขามากับแฟนใหม่ ซึ่งเป็นคนแย่งตำแหน่งที่หนึ่งและจะได้รับทุนการศึกษาไป เด็กหนุ่มดูสดชื่นรื่นเริง แต่งตัวดี ฐานะดี แฟนใหม่ก็ดูร่ำรวย ขับรถสปอร์ตเปิดประทุน แฟรงค์กลับมารู้สึกเป็นทุกข์ในทันที เขานำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วคิดว่าตนเองล้มเหลว ไม่สำเร็จ เขาจึงคิดว่าชีวิตนี้ไม่มีความสุข เขาพยายามปกปิดความล้มเหลวของตัวเอง พยายามยิ้มแย้มและพูดจาให้ดูดีที่สุด และปกปิดรอยบาดแผลที่ข้อมือซึ่งเกิดจากการฆ่าตัวตาย
11. ทุกคนล้วนสนใจแต่เรื่องตัวเอง
ความทุกข์ที่เกิดจากโลกภายนอก ทำให้ทุกคนต่างสนใจแต่เรื่องตัวเอง หมกมุ่นอยู่กับปัญหาของตัวเอง จนลืมสนใจคนอื่น พวกเขาลืมทิ้งโอลีฟไว้ที่ปั๊ม
12. ความหมายของผู้แพ้
ฉากดราม่าที่สำคัญที่สุดของหนังเรื่องนี้ มาแปะไว้อยู่ตอนกลางเรื่องพอดี เมื่อครอบครัวฮูเวอร์เช็คอินเข้าโรงแรมจิ้งหรีดโทรมๆ ทุกคนแยกย้ายกันไปพักผ่อนเพื่อเตรียมเดินทางกันต่อในวันรุ่งขึ้น ความตึงเครียดในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น เมื่อทุกคนรู้ว่าริชาร์ดล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จในการพิมพ์หนังสือ ความฝันและความหวังของทุกคนในครอบครัว จึงไปตกอยู่กับโอลีฟ ลูกสาวคนสุดท้อง ซึ่งกำลังเดินทางไปประกวด Little Miss Sunshine
เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ต้องแบกรับเอาความหวังของทั้งครอบครัวเอาไว้กับตัวเอง ถือเป็นความกดดันมหาศาล จนทำให้เธอร้องไห้กับปู่ เธอบอกว่า กลัวความพ่ายแพ้ล้มเหลว เพราะพ่อไม่ชอบคนขี้แพ้ ปู่ก็เลยสอนว่า คนขี้แพ้จริงๆ คือคนที่ไม่กล้าแม้แต่จะลงแข่ง (ประมาณเดียวกับเพลงของพี่เบิร์ดนั่นแหละ) คนที่ได้ลองลงแข่งแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ชนะเลิศเป็นแชมป์ แต่ก็ยังดีกว่าคนที่ไม่ได้ลงแข่งเลย คำคมของปู่ทำให้โอลีฟใจชื้นขึ้น และยิ้มออกมาได้
แต่จริงๆ แล้วคำคมของปู่ในฉากนี้ ยังไม่ใช่แนวความคิดที่เป็นจุดหมายปลายทางของหนังเรื่องนี้หรอกนะ เป็นเพียงแค่แนวความคิดในขั้นแรก ที่เข้าใจง่าย และเข้าถึงได้ง่าย เพื่อเอาไว้สอนเด็กเท่านั้นเอง
ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมว่าประเด็นของหนังเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่แพ้หรือชนะ ลงแข่งหรือไม่ลงแข่ง ประเด็นมันอยู่ลึกกว่านั้น คือการตั้งคำถาม ว่าทำไมเราต้องแข่งกันด้วยมากกว่า ซึ่งประเด็นนี้จะค่อยๆ ถูกขยายออกให้ชัดเจนในลำดับต่อไป
...
โปรดติดตามตอนต่อไป
No comments:
Post a Comment