Monday, January 12, 2009

ดูหนังเป็นตุเป็นตะ - Lady in the water


...


Lady in the Water จริงๆ แล้วถ้าเราพิจารณากันเฉพาะในตัวหนัง มันก็แค่หนังแฟนตาซีทริลเลอร์เรื่องหนึ่งซึ่งทำออกมาราบเรียบ ไม่ค่อยลุ้น ไม่ค่อยสนุกเท่าไร แต่ผมว่าความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้อยู่ตรงที่มันได้แสดงการปฏิสัมพันธ์กับโลกรอบๆ ตัวมันได้อย่างแหลมคม ผมคิดว่าผู้กำกับหนังเรื่องนี้ คือ เอ็ม ไนท์ ชยามาลาน ได้สร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างมีจุดประสงค์พิเศษ คือเพื่อพูดคุยกับแฟนหนังของเขา เพื่อโต้ตอบกับนักวิจารณ์ และเพื่อแสดงความคิดเห็นของเขาที่มีต่อสุนทรียะของศิลปะภาพยนตร์ร่วมสมัย ดังนั้น ก่อนจะเริ่มการวิเคราะห์ความแหลมคมของหนัง Lady in the Water เราจึงต้องทำความเข้าใจบริบทที่อยู่รอบๆ ตัวหนังเรื่องนี้เสียก่อน

1. ทฤษฎีประพันธกร
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจตัวผู้กำกับหนังเสียก่อน โดยใช้ทฤษฎีประพันธกร คือการทำความเข้าใจหนังเรื่องหนึ่ง ด้วยการศึกษาประวัติและผลงานเรื่องอื่นๆ ของตัวผู้กำกับ
สำหรับชยามาลาน เรารู้กันดีว่าเขาเป็นผู้กำกับหน้าใหม่มาแรง จากหนังเปิดตัวเรื่องแรกแนวเขย่าขวัญหักมุมเรื่อง The Sixth Sense เขาประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในแง่รายได้และคำชมจากนักวิจารณ์ หลังจากนั้นมา ทั้งแฟนหนังของเขาและนักวิจารณ์ทั่วโลก ต่างก็จับตามองและคาดหวังกับหนังเรื่องต่อๆ มา ว่ามันจะต้องเขย่าขวัญมากกว่าเดิม หักมุมได้แปลกประหลาดกว่าเดิม
Unbreakable ถูกคาดหมายว่ามันจะต้องหักมุมกันแบบให้คนดูตกเก้าอี้ แต่กลับไม่เป็นไปตามนั้น หลายคนมองว่ามันคือหนังซูเปอร์ฮีโร่แนวแปลกๆ เรื่องหนึ่งเท่านั้น โดยไม่ได้มองลงไปให้ลึกกว่านั้นว่ามันมีความเป็นปรัชญามากแค่ไหน
Sign ถูกคาดหมายว่ามันจะต้องเป็นหนังมนุษย์ต่างดาวบุกโลกที่เขย่าขวัญสุดๆ และแน่นอนว่ามันต้องหักมุมสุดๆ ด้วย เพื่อแก้มือจากหนังเรื่องก่อนคือ Unbreakable แต่มันก็กลับไม่ได้เป็นไปตามนั้นอีก มันกลายเป็นแค่หนังแนวศาสนาคริสต์ ที่มีเอฟเฟกต์ห่วยๆ คือให้มนุษย์ต่างดาวใส่ชุดยางง่ายๆ ช่วงนี้ชยามาลานเริ่มถูกสงสัยเคลือบแคลงถึงฝีไม้ฝีมือ
The Village ชยามาลานกลับมาพร้อมกับความต้องการวิพากษ์วิจารณ์สภาพสังคมและการเมืองอเมริกัน ผ่านทางหนังแนวสัตว์ประหลาดในหมู่บ้านเพี้ยนพิลึก คราวนี้ชยามาลานหักมุมหนังของเขาแบบหวังจะให้คนดูและนักวิจารณ์ตกเก้าอี้เหมือนกัน แต่คนดูหลายคนเดินเข้าโรงไปพร้อมกับความคาดหวังว่า "มันจะต้องหักมุก ... มันจะต้องหักมุม" เมื่อหนังหักมุมตามใจคนดูจริงๆ คนดูก็เลยรู้สึกว่า "เฮ้ย ... หักมุมแค่เนี้ยะ!?"
ผมคิดว่าในช่วงนี้ แฟนหนังและบรรดานักวิจารณ์เริ่มเซ็งและหมดใจกับชยามาลานแล้ว ทำให้ฉันกลัวกว่านี้อีกสิ! ทำให้ฉันแปลกใจกว่านี้อีกสิ! คุณทำแบบ The Sixth Sense ไม่ได้อีกแล้วเหรอ?? นี่คือบริบทที่ประพันธกรหรือตัวผู้กำกับกำลังเผชิญอยู่ตอนเขา เริ่มต้นทำหนัง Lady in the Water

2. รูปแบบของเรื่องเล่า
เมื่อเข้าใจตัวผู้กำกับแล้ว เราก็ต้องย้อนกลับไปปัดฝุ่นกองหนังสือเก่าๆ ในห้องสมุดที่มหาวิทยาลัย เพื่อเรียนวิชามนุษยวิทยาและสังคมวิทยาเพิ่มเติมกันอีกนิด เพื่อทำความเข้าใจเรื่อง "การหักมุม" ว่าทำไมเราชอบดูหนังหักมุมกันเหลือเกิ้นนน
ก่อนจะมีการหักมุม เราต้องมี "เรื่องเล่า" มาก่อน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ คือเมื่อมนุษย์เราเริ่มมารวมกลุ่มกัน เราได้พัฒนาการสื่อสาร สั่งสมและสืบทอดความรู้และวัฒนธรรมต่างๆ ต่อเนื่องกันมาด้วยเรื่องเล่า เรื่องเล่าจึงมีส่วนสำคัญในวิวัฒนาการของมนุษยชาติ ตั้งแต่การวาดภาพบนฝาผนังในปิระมิดของพวกอียิปต์โบราณเมื่อห้าพันปีก่อน มาจนถึงการเขียนบล็อกเล่าชีวิตประจำวันของพวกเราในวินาทีนั่นแหละ ทุกอย่างล้วนถ่ายทอดกันด้วยเรื่องเล่า
นักมนุษยวิทยาและสังคมวิทยาบางคนได้เสนอทฤษฎีว่า เรื่องเล่าของทุกชนเผ่า ทุกยุคสมัย ล้วนมีรูปแบบบางอย่างที่เหมือนกัน ซึ่งพวกเขาคิดว่ารูปแบบนี้ได้สะท้อนให้เห็นธรรมชาติบางอย่างของความเป็นมนุษย์ทุกคนในโลก ทุกยุคทุกสมัย ที่เราต่างก็มีร่วมกันอยู่ และทำให้เราอยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้ ยกตัวอย่างเช่น วลาดิเมียร์ พร็อพพ์ ทำการศึกษานิทานพื้นบ้านของรัสเซีย และเขาพบรูปแบบร่วมกันของนิทานทุกเรื่อง ว่าพวกมันล้วนประกอบด้วยองค์ประกอบของเนื้อเรื่อง 31 ขั้นตอน อาจจะมีครบ หรืออาจจะมีขาด แต่หลักๆ แล้วพวกมันล้วนมีรูปแบบเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการอีกหลายคนอย่างเช่น เลวีสโตรส เกรย์มาส ฯลฯ ก็ศึกษาและพบว่ามีรูปแบบนี้อยู่
รูปแบบของเรื่องเล่าที่มนุษย์ทั้งโลกแต่งขึ้นมา โดยคร่าวๆ แล้วมันจะประกอบด้วย
ตัวเอกไปทำอะไรผิดสักอย่างหรือขาดแคลนอะไรบางอย่าง - ตัวเอกก็เลยโดนตัวร้ายทำร้าย กลั่นแกล้ง ปรักปรำ - เขาต้องออกจากเมืองหรือบ้าน - เขาต้องเดินทางเพื่อแสวงหาหนทางแก้ไข - เขาพบผู้ช่วยอาจจะมาในรูปแบบอาจารย์ สัตว์เลี้ยง หรือลูกน้อง - เขาพบของวิเศษ อาวุธใหม่ หรือได้ฝึกวิชาใหม่ - เขาได้พบคนรัก - ตัวร้ายจะต้องตามมาราวี - หรืออาจจะพบปัญหาอุปสรรคความยากลำบากอื่นๆ - เขาจะแก้ไขปัญหาอุปสรรคนั้นได้ด้วยผู้ช่วยและของวิเศษ - เขาได้เดินทางกลับเมืองหรือบ้าน - ตัวเองลงมือจัดการกับตัวร้าย - เขาแก้ไขปัญหาที่ตนเองทำผิดหรือขาดแคลนตั้งแต่ตอนต้นเรื่อง - เขาได้แต่งงานกับคนรักและได้อยู่เมืองหรือบ้านนั้นตลอดไป - จบ
ลองนึกๆ ดูนะครับ ว่าเรื่องเล่าในรูปแบบนี้เราพบได้ในไหนบ้าง?
ตำนานศาสนา พระพุทธเจ้า พระเยซู
ตำนานประเทศ พระนเรศวร พระเจ้าตาก
เทพนิยาย ซินเดอเรลล่า เจ้าหญิงนิทรา
นิยายร่วมสมัย แฮรี่พอตเตอร์ เฒ่าผจญทะเล
เทพปกรณัม โอดิสซี อีเลียด
หนังโรง สตาร์วอร์ส ดายฮาร์ด พริตตี้วูแมน
การ์ตูน วอร์อี กังฟูแพนด้า
นิทานพื้นบ้าน สังข์ทอง พระอภัยมณี
กำลังภายใน มังกรหยก ฤทธิ์มีดสั้น
ละครทีวี จำเลยรัก บ้านทรายทอง ฯลฯ
ทุกอย่างล้วนดำเนินเรื่องเล่าไปอย่างมีรูปแบบเดียวกัน ตัวเอกมีปัญหา ต้องเดินทางไป เจอผู้ช่วย เจอคนรัก แล้วก็ปราบตัวร้าย แล้วก็แฮปปี้เอนดิ้ง อาจจะมากกว่านี้หรือน้อยกว่านี้หน่อย แต่ทุกเรื่องก็แตกต่างกันเพียงแค่ในรายละเอียด ตัวละคร สถานการณ์ ฉาก

3. สภาวะหลังสมัยใหม่
อันนี้ผมเขียนขึ้นมาจากความเข้าใจส่วนตัวนะครับ
ผมว่าความจริงแท้ของโลกเรา มันไม่ได้มีอะไรที่สัมบูรณ์ ไม่มีอะไรถูกต้อง ไม่มีอะไร 100% ไม่มีอะไรที่เหมือนกันไปทั้งหมดหรอก มีขาวก็ต้องมีดำ มี 1 ก็ต้องมี -1 มีแอคชั่นก็ต้องมีรีแอคชั่น ดังนั้นเมื่อมีเรื่องเล่า ก็ต้องมีการต่อต้านเรื่องเล่า ผมคิดว่าการต่อต้านเรื่องเล่านั้นมีมาตั้งแต่เริ่มต้นประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และมีมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของเรื่องเล่า เพียงแต่ว่าในโลกยุคหลังสมัยใหม่ หรือที่ Lyotard เสนอว่ามันเริ่มปรากฏในช่วง 40-50 ปีมานี้ การต่อต้านเรื่องเล่านี้ถือว่าเป็นสุนทรียะประการสำคัญของยุคสมัย
ในช่วงหลังๆ มานี้ เราจึงมักจะได้เห็นเรื่องเล่าประเภทที่ต่อต้านเรื่องเล่ามากขึ้นเรื่อยๆ และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นพระเอกนางเอกตายตอนจบ ตอนจบพระเอกนางเอกไม่ได้กัน หรือเรื่องเล่าแบบที่ตอนจบเฉลยว่าจริงๆ แล้วพระเอกคือร้อยตำรวจเอกปลอมตัวมา หรือจริงๆ แล้วเรื่องราวทั้งหมดนั้นคือความฝัน หรือตอนจบผู้ร้ายฟื้นคืนชีพขึ้นมา หรือเรื่องเล่าบางเรื่องก็นำเสนอพระเอกนางเอกแบบซอมซ่อ โทรมๆ หรือเป็นคนที่มีด้านลบภายในจิตใจ ฯลฯ
ผมคิดว่าในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นช่วงที่ฮอลลีวู้ดนำเสนอหนังที่ต่อต้านเรื่องเล่ามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และหนังพวกนี้ส่วนใหญ่ก็ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์อย่างสูง ทำรายได้อย่างถล่มทลาย แสดงให้เห็นว่าคนดูก็มีความต้องการอย่างมาก ซึ่งหนังต่อต้านเรื่องเล่านั้นมักจะแสดงออกในลักษณะต่างๆ กันดังนี้
- การเล่าแบบไม่เรียงลำดับเวลา เช่น Pulp Fiction ที่เล่าเรื่องราวของโจรหลายๆ คน หลายๆ กลุ่ม แบบรื้อลำดับเวลาออก แล้วเรียงเรื่องขึ้นมาใหม่
- การล้อเลียนตัวละครแบบดั้งเดิม เช่น Shrek ที่นำยักษ์เขียวอัปลักษณ์มาเป็นพระเอก และให้เจ้าชายผมทองขี่ม้าขาวกลายเป็นผู้ร้าย
- การหักมุม อันนี้มีเยอะมาก และแต่ละเรื่องก็สนุกมากด้วย เช่น The Usual Suspect , Fight Club

The Sixth Sense ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจนของหนังหักมุม ที่สะท้อนให้เห็นสุนทรียะของหนังในโลกยุคหลังสมัยใหม่ นอกจากความเขย่าขวัญ การสะดุ้งตกใจ และภาพน่าเกลียดน่ากลัวในหนังแล้ว ความสนุกประการสำคัญคือการต่อต้านเรื่องเล่า และนั่นก็ทำให้ชยามาลานถูกคาดหวังถึงอย่างมากในเวลาต่อมา แฟนหนังของเขาหวังให้เขาเป็นหัวหอกสำคัญในการทำลายเรื่องเล่า ส่วนใหญ่ก็จะเดินเข้าโรงไปพร้อมกับเสียงเชียร์อย่างสะใจว่า "หักมุม หักมุม หักมุมๆๆ" และเมื่อหนังของชยามาลานเรื่องต่อๆ มาไม่ได้หักมุมมากมาย หรือหักมุมแล้วแต่ยังไม่สะใจ นักวิจารณ์หนังก็มักจะเขียนถึงอย่างไม่ค่อยเป็นธรรมเท่าไร ว่าหนังห่วยเพราะหมดมุขหักมุม ผู้กำกับมือตกเพราะหักมุมไม่สะใจ โดยละเลยที่จะพูดถึงเนื้อหาหรือประเด็นสำคัญที่แฝงอยู่ภายในตัวหนัง

ผมคิดว่าชยามาลานก็เป็นผู้กำกับหนังธรรมดาๆ คนหนึ่ง ซึ่งเขาก็คงคาดหวังที่จะสื่อสารความคิด หรือเสนอประเด็นอะไรอื่นๆ ไปสู่คนดูหนังของเขาบ้าง เรื่องศาสนา เรื่องการเมือง เรื่องการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ ฯลฯ ไม่ใช่ว่าเอะอะอะไรก็จะหักมุมหนังกันท่าเดียว เพียงแต่หนังเรื่องเปิดตัวของเขาคือ The Sixth Sense เท่านั้นเอง ที่มันกลายเป็นหลุมของความสำเร็จ และเป็นป้ายแปะบนหน้าอกของเขา ว่าเขาจะต้องทำแบบนี้ให้ได้อีก

Lady in the Water จึงเป็นหนังที่เขาต้องการจะพูดคุยกับคนดูหนังของเขา ว่า "เฮ้! พวกคุณ! จะหักมุมกันไปถึงไหน? ดูหนังกันที่ประเด็นของหนังกันซะบ้างสิ"

และประเด็นของหนัง Lady in the Water นี้ก็คือ "คุณค่าของเรื่องเล่า" ถือเป็นการตอบโต้กระแสนิยม "การต่อต้านเรื่องเล่า" ที่แหลมคมอย่างมาก


***


1. นิทานก่อนนอน
ก่อนหนังจะเข้าโรงฉาย ชยามาลานให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อตอกย้ำว่าหนังเรื่องนี้ของเขาเกี่ยวกับนิทานก่อนนอน มันมาจากเรื่องราวง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ ที่เขาเล่าให้ลูกชายฟังก่อนนอน แฟนหนังของเขาส่วนใหญ่คือกลุ่มคนที่โตแล้ว เป็นวัยรุ่นหรือเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นวัยที่เบื่อการฟังนิทานก่อนนอนแบบเด็กๆ ทุกคนอยากดูหนังหักมุม หนังเขย่าขวัญ และทุกคนคงจะสงสัยว่าถ้าผู้กำกับหนังคนนี้ทำหนังเกี่ยวกับนิทานก่อนนอน เขาจะทำมันออกมาอย่างไร
แล้วก็ปรากฏว่าหนังเปิดเรื่องด้วยภาพกราฟิกการ์ตูน พร้อมเสียงเล่านิทานเกี่ยวกับมนุษย์และมนุษย์น้ำ เป็นความจงใจของชยามาลานที่จะบอกกับคนดูว่านี่คือหนังเกี่ยวกับนิทาน ก็ต้องเปิดเรื่องด้วยการเล่านิทานสิ ชยามาลานใช้นิทานเป็นสื่อ เพราะมันคืองานเขียนที่มีรูปแบบของเรื่องเล่าชัดเจนที่สุด


2. ตัวเอก
ตัวเอกของเรื่องเล่าเรื่องนี้เป็นผู้หญิง เป็นมนุษย์น้ำที่ออกเดินทางจากเมืองน้ำขึ้นมาบนโลกมนุษย์ โดยผ่านทางสระว่ายน้ำของอพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่ง เธอมีชื่อว่า "Story" (ชัดเจนมากเลยเห็นไหม?) ปัญหาที่เป็นสาเหตุให้เธอต้องออกเดินทางมา ถูกบอกเล่าตั้งแต่ตอนต้นเรื่องแล้ว ว่าเป็นเพราะมนุษย์ไม่ยอมฟังมนุษย์น้ำอีกต่อไป ทำให้โลกเกิดความโกลาหลวุ่นวายมากมาย เธอจึงต้องมาเพื่อพูดกับมนุษย์อีกครั้ง


3. ผู้เล่านิทาน
หลังจากฉากเปิดเรื่องที่เป็นกราฟิกการ์ตูนและเสียงคนเล่านิทานแล้ว หลังจากนั้นมา นิทานเรื่องนี้ก็ยังถูกเล่าอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านปากของตัวละครสำคัญตัวนี้เอง เธอเป็นแม่ชาวเกาหลี ความหมายของตัวละครนี้ คือ
- แม่คือผู้เล่านิทานให้เราฟังตอนเด็กๆ คือผู้นำเรื่องเล่าจากรุ่นหนึ่งถ่ายทอดไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง
- ใช้ตัวละครเป็นชาวเกาหลี เพื่อจะสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าชนชาติใดก็มีนิทานที่มีรูปแบบเดียวกัน เชื่อมโยงถึงกัน เข้าใจตรงกันได้หมด


4. แรงบันดาลใจ
จุดประสงค์ของ Story ก็คือเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครสักคนที่เป็นนักเขียน เพื่อให้เขาเขียนหนังสือที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชยามาลานมารับบทเป็นนักเขียนคนนั้นด้วยตัวเอง เขาต้องการจะบอกว่า "นิทานก่อนนอน" หรือ "Story" หรือ "เรื่องเล่า" ธรรมดาๆ นี่แหละ คือแรงบันดาลใจที่สำคัญในการสร้างสรรค์ของมนุษย์
ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ พวกเราทุกคนตั้งแต่เด็กๆ เราก็เติบโตขึ้นมาด้วยการฟังนิทาน ตอนเด็กเราก็ร้องขอให้แม่เล่านิทานให้ฟัง ร้องขอให้แม่ซื้อหนังสือนิทานให้อ่านนิทานคือการสืบทอดความรู้ คำสอน วัฒนธรรม จริยธรรม ศีลธรรม และกรอบความคิดทุกอย่าง จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง โดยที่เราไม่รู้ตัว นิทานสั่งสอนเราเรื่องความดีความเลว ธรรมะชนะอธรรม ความขยัน ความประหยัด อดทน ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู ฯลฯ วรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ของโลกก็สร้างขึ้นมาโดยนักเขียนที่ตอนเด็กๆ ต้องได้ฟังนิทานมาแล้วทั้งนั้นแหละ


5. อุปสรรค
อุปสรรคระหว่างการเดินทางของนางเอก คือสัตว์ประหลาดลักษณะเหมือนหมาป่าตัวใหญ่ มีขนเป็นหนามแหลมสีเขียวเหมือนใบหญ้า แอบอยู่ในสนามหญ้าข้างสระน้ำ คอยดักทำร้ายนางเอกเมื่อออกจากบ้านคนเดียว


6. ผู้ช่วยเหลือ
ตามรูปแบบของเรื่องเล่า ระหว่างการเดินทาง ตัวเอกจะพบอุปสรรคและศัตรูตามรังควาน เขาหรือเธอจะได้พบกับผู้ช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เช่น
- Guild คือคณะบุคคลที่รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือตัวเอก เช่น 7 ประหลาดแห่งกังหนำ ในมังกรหยก
- Healer คือผู้รักษาอาการเจ็บป่วย เมื่อตัวเอกได้รับพิษหรือบาดเจ็บครั้งสำคัญ
- Guardian คือผู้คอยคุ้มครองปกปักรักษาตัวเอก เช่นนางฟ้าในซิลเดอเรลล่า
- Symbolist คือผู้ช่วยตัวเอกถอดรหัสลับ เพื่อไปเอาคัมภีร์ ไปเอาอาวุธ หรือเดินทางผ่านด่านอะไรสักอย่าง
ในหนังเรื่องนี้ จะมีการกำหนดตัวผู้ช่วยเหลือทั้งหมดนี้ 2 ครั้ง โดยกำหนดตาม 2 แนวความคิด ในครั้งแรกกำหนดผิด แล้วจึงมาถูกต้องในครั้งที่สอง รายละเอียดจะกล่าวเพิ่มเติมในข้อ 9. และ 10.


7. ของวิเศษ
ก้อนหินที่นางเอกใช้รักษาอาการบาดเจ็บเมื่อถูกสัตว์ประหลาดหมาป่าทำร้าย


8. ตัวร้าย
นักวิจารณ์หนังเป็นตัวละครที่สำคัญมากในหนังเรื่องนี้ ผมคิดว่าชยามาลานจงใจให้เขาเป็นตัวร้ายของหนังเรื่องนี้
โปรดสังเกตว่าในนิทานที่ซ้อนอยู่ภายในหนังเรื่องนี้ ไม่มีตัวร้ายหลักอยู่เลย มีเพียงสัตว์ประหลาดหมาป่าเป็นอุปสรรคในการเดินทางและปฏิบัติภาระกิจของนางเอกเท่านั้น ปัญหาหลักจริงๆ ที่ทำให้นางเอกต้องเดินทางออกจากเมืองน้ำมาที่เมืองมนุษย์ ก็เพราะมนุษย์ไม่ยอมฟังมนุษย์น้ำ หรือไม่ยอมฟังเรื่องเล่านั่นเอง
สาเหตุที่มนุษย์ไม่ยอมฟังเรื่องเล่า ก็เพราะความเป็นคนรู้มาก เมื่อโตแล้วก็เลยคิดว่าตนเองรู้มาก ไม่อยากฟังเรื่องเล่าซ้ำซาก ไม่ฟังนิทานอีกต่อไป โดยมองว่านิทานเป็นเรื่องน่าเบื่อไปเสีย
นักวิจารณ์หนังได้แสดงออกถึงความเป็นคนรู้มากตลอดทั้งเรื่อง เขาหงุดหงิดอารมณ์เสียกับผู้คนในอพาร์ทเมนต์แห่งนี้ และมีอยู่ฉากหนึ่ง เขาวิพากษ์วิจารณ์หนังที่เพิ่งไปดูมาให้พระเอกฟังว่า ทำไมหนังถึงได้ปัญญาอ่อน ให้นางเอกกับพระเอกยืนพูดกันกลางสายฝน หรือให้นางเอกกับพระเอกคิดออกมาเป็นการพูด เขามองว่าหนังแบบเดิมๆ เหล่านี้น่าเบื่อ


9. ผู้ต่อต้านเรื่องเล่า
กระแสความนิยมในการต่อต้านเรื่องเล่า แสดงออกผ่านตัวพระเอกของเรื่อง เขาเป็นเจ้าของอพาร์ทเมนต์ที่จมอยู่กับความโดดเดี่ยวและความเจ็บปวดในอดีต เขาเคยมีความสุขกับชีวิต มีเมียและลูกอยู่ร่วมกันดี เขาเคยเขียนบันทึกประจำวันเป็นประจำ จนกระทั่งเมียและลูกของเขาถูกคนร้ายฆ่าตาย เขาคิดว่าโลกนี้คือความอยุติธรรม และชีวิตนี้ไม่ได้ดำเนินไปตามเรื่องเล่าที่เขาฟังมาตั้งแต่เด็ก ที่จะต้องจบอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง เขาจึงเลิกเขียนบันทึกประจำวัน และนำสมุดบันทึกไปวางเก็บไว้บนชั้นหนังสือที่ฝุ่นเกาะเกรอะกรัง
ชยามาลานต้องการจะบอกว่า ผู้คนในสังคมร่วมสมัยก็เป็นแบบเดียวกับพระเอกนี่แหละ คือเมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เราพบว่าโลกนี้โหดร้ายและเราไม่ได้มีความสุขเหมือนในนิทาน เราจึงอยากจะต่อต้านนิทาน ต่อต้านเรื่องเล่ากันเหลือเกิน
ความคิดแบบนี้เอง ที่สร้างกระแสความนิยมในการต่อต้านเรื่องเล่าในตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา หนังเรื่องไหนหักมุมได้แบบคนดูตกเก้าอี้ หนังที่ล้อเลียนล้อเล่นกับเจ้าชายเจ้าหญิงในนิทาน หรือหนังที่เล่าเรื่องซับซ้อนไม่เรียงลำดับเวลา ถือว่าเป็นหนังดีแห่งยุคสมัย


10. การกำหนดตัวผู้ช่วยเหลือครั้งแรก
พระเอกไปขอให้นักวิจารณ์หนังช่วย เพราะคิดว่าเขาคือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องเล่า นักวิจารณ์หนังใช้ความรู้มาก คิดซับซ้อน จนทำให้ชี้ตัวผู้ช่วยเหลือผิดหมด
- Healer น่าจะเป็นผู้หญิง ที่ดูมีพลังแห่งชีวิตอยู่
- Guild น่าจะเป็นกลุ่มคนที่ชอบทำตัวไร้สาระไปวันๆ
- Symbolist น่าจะเป็นคนที่ชอบมองหารูปแบบในทุกเรื่องรอบตัว เช่นเล่นเกมปริศนาอักษรไขว้
- Guardian นี่พระเอกของเรื่องตีขลุมไปเอง ว่าคือตนเอง


11. การกำหนดตัวผู้ช่วยเหลือครั้งที่สอง
เมื่อตัดเอาความรู้มากออกไป และย้อนกลับไปหาคุณค่าเดิมๆ ของเรื่องเล่า คิดแบบง่ายๆ เรียบง่าย ไม่ต้องซับซ้อน ก็จะพบตัวผู้ช่วยเหลือที่แท้จริง
- Healer คือตัวพระเอกเองนั่นแหละ
- Guild คือผู้หญิงที่เป็นพี่น้องกันที่โผล่มาให้เห็นตั้งแต่ตอนต้นเรื่อง
- Symbolist คือเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ ที่มองหารหัสจากกล่องซีเรียล
- Guardian คือผู้ชายกล้ามใหญ่แขนเดียวที่โผล่มาตอนต้นเรื่อง


12. ความตายของนักวิจารณ์
ฉากไคลแมกซ์ของหนังเรื่องนี้ อยู่ที่ฉากการตายของนักวิจารณ์ เขาวิ่งหนีสัตว์ประหลาดหมาป่าเข้าไปในอพาร์ทเมนต์ แล้วจู่ๆ ไฟก็ดับๆ ติดๆ มีเสียงเพลงซาวนด์แทร็กประกอบแบบเขย่าขวัญ เขาเดินย่องๆ อยู่คนเดียว และก็เริ่มพูดวิพากษ์วิจารณ์หนังเขย่าขวัญ ว่าเขารู้ดีว่าหนังแนวนี้ทำอย่างไรให้คนดูกลัว ตัวละครจะต้องทำเรื่องโง่ๆ และก็ต้องตายอย่างสยดสยองในที่สุด
เขาทำเป็นรู้มาก ว่าในฉากแบบนี้ สัตว์ประหลาดจะโผล่ออกมาให้ตกใจ แล้วตัวละครในหนังเขย่าขวัญทั่วไปจะแหกปากร้องโวยวายและวิ่งหนี แล้วก็จะโดนจับกินในที่สุด เขาจึงจะไม่ร้องโวยวายและจะไม่วิ่งหนี แต่จะจ้องตาสัตว์ประหลาดเอาไว้
แต่ในที่สุด ความรู้มากนั่นแหละ ที่ฆ่าเขา


13. จบ
ฉากจบเรื่องก็ไม่มีอะไรเลย สตอรี่ นางเอกของเราก็เดินทางกลับเมืองน้ำของเธอได้สำเร็จ ภาระกิจของเธอก็ลุล่วง นักเขียนหนุ่มได้แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสืออันยิ่งใหญ่ของเขา และชีวิตของผู้คนในอพาร์ทเมนต์ก็ดำเนินต่อไป พร้อมกับที่ทุกคนได้บทเรียนสำคัญ ได้รับประสบการณ์ที่เหนือจินตนาการ และได้ค้นพบคุณค่าของนิทานก่อนนอน
แค่นี้เอง ! ไม่ได้มีหักมุม ไม่ได้เล่าเรื่องแบบยอกย้อนซับซ้อน ไม่ได้ล้อเลียนตัวละครในเทพนิยาย พระเอกนางเอกไม่ได้ตายตอนจบ พระเอกไม่ใช่ร้อยตำรวจเอกปลอมตัวมา ทุกอย่างเป็นไปตามนิทานง่ายๆ เรียบๆ
และชยามาลานก็ถูกนักวิจารณ์ด่ายับอีกครั้ง

...


No comments: