...
วันนี้สะดุ้งตื่นขึ้นมาตอนตีห้า เพราะอากาศหนาวมาก หนาวจนตัวสั่นนอนต่อไม่ไหว เลยลุกขึ้นมาชงกาแฟและเปิดทีวีดูแก้เซ็ง ผมไม่ได้ดูรายการทีวีตอนเช้ามืดแบบนี้มานานมากแล้ว และยิ่งเป็นเช้ามืดของวันอาทิตย์เสียด้วย กดรีโมทเปลี่ยนช่องไปเปลี่ยนช่องมา ก็เห็นว่ามันมีรายการนำเที่ยวก๊อกๆ แก๊กๆ รายการสารคดีเอามารีรัน รายการข่าวเช้ามืด ไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจสักเท่าไร แล้วเปลี่ยนช่องก็มาเจอรายการนี้ เออเนอะ มันมีรายการแบบนี้ด้วยแฮะ! ทางช่อง 9 อสมท.
มันเป็นรายการธรรมะแนวพาไปเที่ยวไหว้พระตามวัดโน้นวัดนี้หลายๆ วัด ตอนต้นรายการนำไปเที่ยววัดอินทร์ตรงบางขุนพรหม มีการเล่าประวัติการก่อสร้างหลวงพ่อโตที่วัดนั้นเล็กน้อย แล้วพอมาถึงช่วงท้ายของรายการ ก็มาถึงคิวของวัดอะไรสักอย่าง มาดูกันสิ ว่าวัดนี้มีอะไรให้ชาวพุทธอย่างเราไปกราบไหว้กัน ... รูปปั้นพระพิฆเนศขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ... ผมไม่แน่ใจว่ารูปปั้นนี้ตั้งอยู่ในวัดหรือเปล่า แต่คิดว่ามันคงตั้งอยู่ในบริเวณที่ใกล้ๆ กับวัด และมีพระจากวัดมาคอยดูแลผลประโยชน์
รายละเอียดมาแล้ว! หลวงพ่อองค์นี้มาพูดโฆษณาเชิญชวนให้ชาวพุทธมากราบไหว้ขอพรจากพระพิฆเนศ มีรายละเอียดของสถานที่ลงไว้ให้ และมีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อด้วย ... อืมมม ... ผมไม่ได้จะดูหมิ่นศาสนาฮินดูและศาสนาพราห์ม และไม่ได้จะลบหลู่รูปปั้นพระพิฆเนศ แค่อยากจะบอกว่าศาสนาพุทธนั้นแตกต่างจากศาสนาฮินดูและพราห์มอย่างมาก แตกต่างกันตั้งแต่ในระดับรากฐานของปรัชญา พระพุทธเจ้าค้นพบสัจธรรมและสั่งสอนมนุษยชาติมานานกว่า 2,500 ปี และคำสอนของศาสนาพุทธก็พยายามชี้ให้เราแยกออกจากศาสนาฮินดูและพราห์มมานานแสนนาน แต่ดูเหมือนว่า 2,500 ปีที่ผ่านมา จนถึงทุกวันนี้เรายังไม่ได้เรียนรู้อะไรกันเลย แม้กระทั่งพระสงฆ์ห่มผ้าเหลือง ยังมาเชิญชวนให้ชาวพุทธย้อนกลับไปกราบไหว้รูปปั้นและทำพิธีกรรมรกรุงรัง เราไม่ได้เข้าใจปรัชญาของศาสนากันอย่างลึกซึ้ง และนำมันมาปะปนกัน ซึ่งผมเชื่อว่าในท้ายที่สุด จะนำเราไปสู่ความเสื่อม ศาสนาก็เสื่อม และสังคมก็จะเสื่อม
ตอนจบรายการภาพตัดมาที่พิธีกรสองสาว พวกเธอกล่าวสรุปเรื่องธรรมะประจำวันนี้ ว่าขอให้ผู้ชมไปร่วมกันกราบพระพิฆเนศเพื่อขอพรให้ชีวิตมีความสุข เพราะพระพิฆเนศเป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จ
ความเสื่อมของศาสนาพุทธในสังคมไทย และความเสื่อมของสังคมไทยในปัจจุบัน ผมคิดว่ามันมาจากความสับสนและไม่รู้ใน 2 เรื่อง คือ 1. แนวความคิดเรื่องความสุข และ 2. แนวความคิดเรื่องความสำเร็จ
1. ในยุคสมัยที่คนไทยเราไขว่คว้าหาความสุขกันเหลือเกิน ศาสนาพุทธจะยิ่งเสื่อมลง
เพราะศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้เราไขว่คว้าหาความสุข แต่สอนให้เรารู้เหตุแห่งทุกข์และหาวิธีพ้นทุกข์ - การหาความสุขนั้นแตกต่างจากการหาวิธีพ้นทุกข์ อันนี้คุณ commonperson ได้เคยแนะนำเอาไว้ว่า ... "ในทัศนะของผมหน่ะครับ เพราะพระพุทธเจ้าทรงมองเห็นว่าโลกนี้มีแต่ความทุกข์ ในอริยสัจจ์ก็ทรงเอาทุกข์มาตั้งไว้ก่อน ในทางพุทธศาสนาบอกไว้ว่าสิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ ในบทสวดทำวัตรเช้าก็มีบทสวดที่แปลแล้วมีความหมายประมาณว่าเราเป็นผู้ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เป็นผู้มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ทำไฉนที่สุดแห่งทุกข์จะบังเกิดแก่เราได้ เพราะทุกอย่างอยู่ใต้กฏไตรลักษณ์ที่ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา / หลวงพ่อเทียนบอกว่าความสุขไม่มีหรอกความสุขที่จริงมันก็คือทุกข์น้อย / ลองหาบทความเรื่องเส้นโค้งของความสุขมาอ่านผมคิดว่าจะเข้าใจเรื่องความสุขได้ดีขึ้นนะครับ / หลวงพ่อชาบอกว่าความสุขความทุกข์มันก็เหมือนเราไปจับงูนั่นแหละความสุขคือเราไปจับงูที่หางซึ่งคิดว่าไม่มีอะไรแต่พอเราเผลองูก็แว้งมากัดเรา แต่ความทุกข์เราไปจับงูที่หัวเราก็โดนงูกัดเลย ประมาณนี้อ่ะครับ / ณรงค์พัวฯยังบอกว่า ในยามที่ท่านมีความสุข จงอย่าลืมความทุกข์ที่รอสบตาท่านอยู่อย่าอดทน และถ้าความสุขเป็นสิ่งที่จีรังยั่งยืนมนุษย์ก็ยังต้องทุกข์เพราะสำลักความสุขอยู่ดี ผมก็ความรู้น้อย ขอแสดงความเห็นแค่นี้นะครับ"
2. ในยุคสมัยที่คนไทยเรานำเรื่องความสุขมาปะปนกับเรื่องความสำเร็จ สังคมไทยจะยิ่งเสื่อมลง
เพราะมันจะยิ่งนำพาเราให้ห่างออกจากเรื่องจิตใจ แต่จะนำเราไปสู่เรื่องวัตถุและสสาร - ผมมองว่าความสำเร็จนั้นเป็นเรื่องสัมพัทธ์ที่เราต้องนำไปเปรียบเทียบกับภายนอกตัว อ่านรายละเอียดได้จากบทความเรื่อง "ขอ-เชื่อ-รับ" ที่ผมเขียนวิจารณ์หนังสือเดอะซีเคล็ท http://aloneinthecinema.multiply.com/journal/item/313/313
ผมจะจำแนกเรื่องความสุข ความสำเร็จ และสิ่งที่ศาสนาพุทธมุ่งสอนให้เห็นอย่างชัดเจน ดังต่อไปนี้
ความสำเร็จ - เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมร่วมสมัย เป็นยุคสมัยที่สังคมให้ความสำคัญกับวัตถุมากขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่ความโลภ กิเลส การแก่งแย่งแข่งขัน และนำตนเองไปเปรียบเทียบกับสิ่งภายนอกตัว คำสอนและคำแนะนำเกี่ยวกับความสำเร็จจะพบเห็นได้ตามหนังสือแนว How-to ทั่วไป
ความสุข - เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและลึกซึ้งกว่าความสำเร็จ พบเห็นได้ในแนวความคิดของศาสนาส่วนใหญ่ที่มีความเก่าแก่มากๆ รวมไปถึงศาสนาพุทธบางนิกาย เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางร่างกาย และความมั่นคงทางอารมณ์ของมนุษย์
ความทุกข์ - เป็นสิ่งที่ศาสนาพุทธมุ่งสอน ผมเองก็ยังไม่มีความรู้มากพอที่จะนำมาอธิบาย ณ ที่นี้ ขอเว้นไว้ให้ผู้รู้มาช่วยกันอภิปรายต่อ
...
No comments:
Post a Comment