Monday, May 26, 2008

Plagiarism (1)

...


อย่างที่เล่าไปแล้ว ว่าเมื่ออาทิตย์ก่อนผมไปเก็บข้าวของจากบ้านเก่า แล้วได้เจอสิ่งของมากมายที่มีค่าต่อความทรงจำ ก่อนที่จะเล่าให้ฟังถึงพวกของเก่าเจ๋งๆ ทั้งหลายแหล่ วันนี้อยากจะเล่าให้ฟังถึงเศษกระดาษเก่าๆ ที่ผมเก็บเอาไว้นานมาก นานจนลืมไปแล้วว่าเคยเก็บเอาไว้

หลังจากที่ไปรื้อกองเศษกระดาษขนาดสูงท่วมหัวผม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชีทเอกสารประกอบการเรียนปริญญาโท สายตาก็แว่บไปเจอกระดาษแผ่นนี้เข้า มันเป็นกระดาษถ่ายเอกสารมาจากหน้าหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2545 คอลัมน์ชื่อว่า "คนหลงวิก" ผู้เขียนใช้นามปากกาว่า "นายหนัง" บทความชื่อว่า "Sweet Home Alabama ความรักปลดโซ่ตรวน"



ความเป็นมาของกระดาษแผ่นนี้ เริ่มต้นที่มีเพื่อนเก่าคนหนึ่ง จู่ๆ ก็มาถามผมว่า ผมได้ไปเขียนคอลัมน์วิจารณ์หนังให้กับหนังสือพิมพ์มติชนด้วยเหรอ? ผมก็งงๆ แล้วบอกว่าเปล่า ไม่เคยเขียนให้มติชนเลย เขาก็ถามต่อ แล้วทำไมคอลัมน์วิจารณ์หนังในมติชนเมื่อวันอาทิตย์ก่อน ถึงมีเนื้อหาเหมือนกับบทความเก่าๆ ที่ผมเคยเขียนลงในนิตยสาร LIPS ไปแล้ว ตอนที่เขาอ่านเจอบทความในมติชน เขานึกว่าผมเป็นผู้เขียน โดยแอบเอาบทความเก่าๆ ของตนเองจากแหล่งหนึ่ง มาปัดฝุ่น ดัดแปลงนิดๆ หน่อยๆ แล้วเอาไปลงตีพิมพ์ในอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเลย ผมก็บอกเขาไปว่าไม่เคยทำแบบนี้ แต่สงสัยคนเขียนคอลัมน์ในมติชนคงเอาแนวคิดจากบทความเก่าของผมไปใช้เขียนงานของเขากระมัง

พอมีเวลาว่าง ผมก็ไปที่ห้องสมุดธรรมศาสตร์ เพื่อค้นหาหนังสือพิมพ์มติชนฉบับนี้ขึ้นมา เมื่อเปิดหน้าวิจารณ์หนังอ่านดู ก็ถึงกับผงะ ว่าเนื้อหาครึ่งหนึ่งของบทความชิ้นนี้ ได้ลอกเอาแนวความคิด ถ้อยคำ และเนื้อหาจากบทความของผมมาลง โดยไม่ได้ให้เครดิต และไม่ได้อ้างอิงใดๆ เลย ด้วยความหงุดหงิดใจ ผมก็เลยเอาไปถ่ายเอกสารเก็บไว้ แต่ก็ไม่ได้เอาไปใช้ทำอะไร เอากลับบ้านมาแล้วก็วางทับๆ ซ้อนๆ ไว้กับชีทเอกสารต่างๆ จนกระทั่งลืมไปเลย

ผมเคยส่งอีเมล์ไปหาคอลัมนิสต์คนนี้ เพื่อตำหนิของเขา ว่าการเขียนงานด้วยการลอกแบบนี้ไม่ถูกต้อง เป็นการไม่ให้เกียรติแก่ผู้เป็นต้นฉบับ และที่สำคัญคือมันทำให้ผู้เป็นต้นฉบับเสียชื่อเสียงได้ด้วย เพื่อนผมที่ไปอ่านเจอ คิดว่าผมเป็นคนเขียน โดยแอบเอาบทความเก่าของตัวเองมาเขียนซ้ำ นี่ไม่รู้ว่านอกจากเพื่อนคนนี้แล้ว ยังมีคนอ่านหนังสือของผมอีกกี่คนที่ไปอ่านเจอ แล้วคิดแบบเดียวกัน คอลัมนิสต์คนนี้เขียนอีเมล์ตอบกลับมาสั้นๆ ว่าเขาขอโทษ แต่เขายืนยันว่าไม่ได้ลอก เขาเพียงแค่เคยอ่านบทความของผม แล้วนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนของเขาเท่านั้น

ลองไปอ่านบทความต้นฉบับของผม ชื่อบทความว่า Man is born free ... ที่ลงตีพิมพ์ในคอลัมน์ None of E-business นิตยสาร LIPS และได้นำไปรวมไว้ในหนังสือพอคเกตบุคส์ "เรื่องของผมผู้ชายไม่เกี่ยว" ได้ที่บล็อก http://noneofebusiness.wordpress.com/2008/01/08/man-is-born-free/

ลองเปรียบเทียบดู ว่ามันเหมือนกันแค่ไหน มันคือการลอกหรือมันคือการได้รับแรงบันดาลใจ



จุดที่เหมือนกันจนน่าเกลียดคือช่วงครึ่งแรกของบทความของเขา
1. การใช้คำว่า "โซ่ตรวน" มาจาก Man is born free, and everywhere he is in chains. ในบทความของผม ซึ่งผมอ้างอิงมาจาก หนังสือ Social Contract ของ Rousseau
2. การเล่าถึงเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้หญิงเก่ง (ผู้เขียนบทความนี้เป็นเพื่อนกับผู้หญิงคนนี้ คนเดียวกันกับผมเหรอ??)
3. พูดถึงหนัง เจมส์ บอนด์ โดยใช้แนวความคิดและถ้อยคำเดียวกับผมเป๊ะๆ ได้แก่ กระสอบทราย - ชกซ้ายชกขวา - ด้วยความเมามัน - เป็นหนังที่มีเนื้อหากดขี่ทางเพศ - พระเอกของเรื่องใช้ผู้หญิงมาบำบัดความใคร่ - เปลี่ยนไปไม่เคยซ้ำหน้าเลยในแต่ละภาค
4. ได้ไปทานข้าวที่บ้านเพื่อนผู้หญิงคนนี้ และนั่งดูละครด้วยกัน (เป็นสถานการณ์เดียวกับของผมเป๊ะอีกแล้ว)
5. อ้างอิงถึงละครน้ำเน่าหลังข่าว โดยของผมเล่าถึงละครเรื่อง "บ้านทรายทอง" เวอร์ชั่น ศรราม เทพพิทักษ์ แต่เนื่องจากเขาลอกบทความเก่าของผมไป จึงดัดแปลงเรื่องละครเพื่อให้ตรงกับบริบทในสังคมและช่วงเวลาตอนนั้น กลายเป็นละครเรื่อง "ร้อยเล่ห์เสน่ห์ร้าย" แสดงโดย เจษฎาภรณ์ ผลดี
6. มีการพูดถึงความน้ำเน่าของเนื้อหาในละคร โดยใช้แนวความคิดและถ้อยคำเดียวกับผม ได้แก่ ตัวละครเพศหญิงหลายคนต้องตบตีด่าทอกัน - เพียงเพื่อแย่งชิง - ตัวเดียวอันเดียว - ที่มีเจ้าของคือของตัวละครเพศชาย
7. มีการพูดถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ การประกอบสร้างโดยสังคม
8. การเปรียบเทียบคำว่า "โซ่ตรวน" กับ "สังคมรอบตัวเราได้กำหนดบทบาทชีวิตของเรา ผ่านทางกระบวนการทางสังคมหลากหลายรูปแบบ"

ในช่วงครึ่งหลังของบทความของเขา เขียนถึงหนังเรื่อง "Sweet Home Alabama" นำแสดงโดย รีส วิทเธอร์สปูน เนื้อหาตรงนี้ส่วนใหญ่วนเวียนเขียนเล่าถึงเรื่องย่อ หรือ Synopsis ของหนัง ใครแสดง ใครกำกับ มีเรื่องราวอย่างไร ซึ่งผิวเผินและง่ายดาย ถ้าให้เด็กอนุบาลมาดูหนังเรื่องนี้ ก็สามารถเล่าเรื่องย่อได้ไม่ต่างกัน ถือเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามกับแวดวงวรรณกรรมและแวดวงสื่อสารมวลชนของไทย ว่าทำไมสื่อยักษ์ใหญ่ระดับนี้ จึงมีเนื้อหาด้อยคุณภาพขนาดนี้

สิ่งนี้เรียกว่า Plagiarism หรือการโจรกรรมทางวรรณกรรม อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ที่เว็บนี้ http://www.faylicity.com/porch/porch64.html

นอกจากงานชิ้นนี้แล้ว ยังมีงานชิ้นอื่นของผมที่ถูกลอกไปอีกเหมือนกัน และผมได้ซีรอกส์เอาไว้ด้วย เอาไว้ว่างๆ จะนำมาให้ดูกันอีก


...

No comments: