Wednesday, September 26, 2007

รวมบทความเกี่ยวกับการรับน้อง

...

ไม่ได้ขี้เกียจเขียนงานนะครับ เพียงแต่ช่วงนี้กำลังสนใจประเด็นการรับน้อง คาดว่าจะเอามาเขียนลงในคอลัมน์ "สุนทรียะแห่งความเหงา" เลยค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต แล้วเจอบทความที่น่าสนใจหลายชิ้น ที่มีแนวความคิดหลากหลาย เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และเขียนด้วยกรอบความคิดที่แตกต่างกันไป ตามสำนักของนักวิชาการแต่ละคน บทความเหล่านี้เขียนขึ้นในช่วงปี 2548-2549 มาจนถึงตอนนี้ปี 2550 สถานการณ์และปัญหาจากการรับน้องยังคงเหมือนเดิมและซ้ำซากอยู่ เลยมาใส่บล็อกนี้ให้ลองอ่านกัน


...


ร้อยแปดวิถีทัศน์ : ฝันร้าย SOTUS
ใจ อึ๊งภากรณ์ Giles.U@chula.ac.th

ในตอนเย็นของวันทำงานธรรมดาๆ ที่จุฬาฯ วันหนึ่ง ผมเดินออกจากห้อง เพื่อไปขึ้นรถไฟกลับบ้าน แต่ปรากฏว่า มีเสียงโห่ร้อง อย่างน่ากลัวเกิดขึ้น จากตึกคณะเศรษฐศาสตร์

ตอนแรกผมไม่แน่ใจว่า เสียงนี้เป็นเสียงฝูงสัตว์ป่า หรือกลุ่มอันธพาลกันแน่ แต่พอยืนฟังสักพัก ก็รู้ว่าเป็นนิสิตจุฬาฯ เห่าหอนโห่ร้องว่า คณะของตน และมหาวิทยาลัยของตน ดีกว่าคนอื่น ฯลฯ ผมเดินต่อไปที่ตึกรัฐศาสตร์ ก็ปรากฏว่ามีเสียงประหลาดๆ แบบนี้เกิดขึ้นเช่นกัน แต่ออกมาจากห้อง ที่ประตูหน้าต่างปิดหมด

สักพักหนึ่งผมเดินไปที่หน้าเสาธง ก็เห็นวัยรุ่นอันธพาลชาย 3 คนยืนปรามนิสิตหญิงปี 1 คนเดียว เขาใช้วิธีบังคับทารุณ ให้ผู้หญิงคนนั้น วิ่งไปวิ่งมา หรือนั่งลงแล้วยืนขึ้น ทั้งหมดกระทำไป เพื่อทำลายความเป็นปัจเจกความคิดสร้างสรรค์ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของนิสิตคนนั้น เพราะการบังคับ ให้คนทำสิ่งที่ไร้สาระเพื่อ 'พิสูจน์' ความจงรักภักดี

มันแย่ยิ่งกว่าการบังคับทาส หรือนักโทษให้ขุดคลอง ยิ่งกว่านั้น ขณะที่พวกรุ่นพี่กำลังบังคับให้นิสิตปี 1 วิ่งไปวิ่งมาอย่างไร้สาระ ก็มีการตะโกนด่า อย่างที่คุณพ่อคุณแม่ หรือครูของนิสิตคนนั้น คงไม่มีวันกระทำ เพราะมันเป็นพฤติกรรมแท้ของคน ที่ไม่มีอารยธรรม และนอกจากนี้ ทั้งหมดนี้ กระทำต่อหน้ากลุ่มนิสิตปี 1 เพื่อเป็น 'ตัวอย่าง' ให้เขาเห็น

สรุปแล้วมันเป็นภาพของการทำลายศักดิ์ศรีซึ่งกัน และกันระหว่างนิสิตรุ่นพี่ และรุ่นน้อง ทั้งผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำกลายเป็นสัตว์ป่า เพราะผู้กระทำหลงเชื่อว่า ตนเองมีสิทธิที่จะกระทำแบบนั้นกับผู้อื่น

การตะโกนแบบหยาบๆ เพื่อบังคับให้คนภายใต้อำนาจเราทำสิ่งที่ไร้สาระ เรียนรู้โดยตรงจากการฝึกกองทหารในระบบทุนนิยม ถ้าดูภาพยนตร์เรื่องชีวิตการฝึกทหารก็จะเห็นวิธีการแบบนี้ เป้าหมายหลักคือ การฝึกให้พลทหารทำตามคำสั่งโดยไม่คิด และไม่เถียง เพราะพวกนายพลมองว่าเป็นการสร้าง 'ประสิทธิภาพในการรบ' ขอเน้นอีกครั้งหนึ่งว่าวิธีการนี้ใช้เพื่อสร้างประเพณีบรรยากาศการทำตามคำสั่งโดยไม่คิดเอง

ดังนั้นนี่คือสิ่งที่นักศึกษาใน 'มหาวิทยาลัยชั้นนำ' ของไทยกำลังถ่ายทอดจากรุ่นพี่ไปสู่รุ่นน้อง ดังนั้นอย่าหวังอะไรมากจากเด็ก SOTUS ที่จบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะถ้าตอนสอบเข้าเขาคิดเองเป็น พอผ่านการฝึกฝนในห้องเชียร์ในปีแรกก็คงไม่มีมันสมองเหลือเพื่อการวิเคราะห์โลกอีก

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องของระบบทหารคือ ในสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 หรือในสงครามระหว่างเวียดนามกับสหรัฐในทศวรรษที่ 60 และ 70 ฝ่ายที่ชนะไม่ได้ชนะเพราะมีการฝึกทหารให้เป็นหุ่นยนต์ที่ทำตามคำสั่ง แต่ชนะเพราะทหารฝรั่งเศสหรือทหารเวียดนามเข้าใจด้วยมันสมองของตนเองว่า เขาออกรบเสี่ยงตายเพื่ออะไร

พูดง่ายๆ ไม่ต้องมีใครมาสั่งให้เขารบอย่างกล้าหาญหรอก เขารบอย่างกล้าหาญเพราะเขาเห็นด้วยกับอุดมการณ์ที่เขากำลังปกป้อง Henry Kissinger เข้าใจเรื่องนี้ดี เพราะเขาสารภาพว่า "เราแพ้สงครามเวียดนามเนื่องจากเราใช้การทหารในการรบในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามใช้การเมือง"

กลับมาสู่มหาวิทยาลัยของผมที่หวัง 'เป็นเลิศทางวิชาการ' .... ถ้าเราถามนิสิตรุ่นพี่หรือนิสิตเก่าว่า กิจกรรมในห้องเชียร์ทำไปทำไม เขาจะตอบว่ามันเป็นกิจกรรมร่วมภายใต้ระบบ SOTUS ที่สร้างความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในคณะ เขาจะอธิบายต่อว่าการผ่านความยากลำบาก (การถูกบังคับอย่างทารุณโดยรุ่นพี่) ช่วยให้ทุกคนรู้จักกันดีขึ้น และสามัคคีกัน

ดังนั้นผมขอเสนอว่าจริงๆ แล้วถ้านิสิตจะฝ่าความยากลำบากพร้อมๆ กันก็ควรอาสาสมัครหมู่ไปขุดโคลนออกจากท่อระบายน้ำตามถนนอย่างที่นักโทษเขาทำกัน หรืออาสาสมัครไปเก็บขยะตามสลัมแถวๆ คลองเตย หรือทำความสะอาดห้องน้ำสาธารณะ ฯลฯ จะมีประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า

แต่ผมเชื่อว่านิสิตพวกที่หลงใหลในระบบ SOTUS คงไม่มีวันทำ เพราะลึกๆ แล้วระบบนี้เป็นระบบที่ปกป้องโครงสร้างอำนาจระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง "สิงห์ดำ แดง เหลือง ม่วง ลาย ฯลฯ" หลังจากที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยแล้วออกไปทำงาน พูดง่ายๆ SOTUS มันไม่แค่ทำลายความคิดของนิสิตขณะที่ศึกษา แต่มันปกป้องระบบอำนาจนิยมในหมู่ชนชั้นนำในสังคมไทยด้วย
สำหรับคนที่ไม่เข้าใจว่า SOTUS คืออะไร ขออธิบายว่าเป็นตัวย่อจากภาษาอังกฤษ 5 คำดังนี้

S มาจากคำว่า Stupid หรือ 'โง่' ระบบห้องเชียร์ช่วยให้นิสิต โง่มากขึ้น เพราะทำลายเซลล์ในสมอง และความสามารถในการคิดเองเป็น แถมกิจกรรมต่างๆ ที่ทำในห้องเชียร์ถูกกำหนดว่าต้องเป็นเรื่องโง่ๆ ด้วย ห้ามเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต้องวิ่งไปวิ่งมา ขังรุ่นน้องในห้องโดยปิดประตูหน้าต่าง และไม่เปิดแอร์ ทำถูกก็โดนด่า ทำผิดก็โดนด่า ไม่ทำก็ด่า ทำก็ด่า ทำไปทำมาทั้งรุ่นน้อง และรุ่นพี่โง่กันอย่างสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ทำกิจกรรมเสร็จแล้วออกมาจากห้องก็ต้องไหว้รุ่นพี่อีก ถ้ารุ่นพี่สั่งให้ไหว้หมา 'เพื่อความสามัคคี' ก็คงต้องไหว้มั้ง? แถมเรียนจบก็นำความโง่ไปใช้ในสังคมภายนอก หมอบคลานกราบไหว้สิ่งที่ไม่ควรกราบ ไม่ต้องใช้สมองคิด สังคมจะได้โง่

สรุปแล้วโคตรโง่เลย !

O มาจากคำว่า Out-Dated ซึ่งแปลว่า 'ล้าสมัย' ความล้าสมัยของระบบห้องเชียร์ และ SOTUS ดูได้จากการที่มีการยกเลิกระบบนี้เองโดยนักศึกษาไทยในยุค 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นยุคตื่นตัวทางสังคมของนักศึกษา ในยุคนั้นเริ่มมีขบวนการนักศึกษาที่ปฏิเสธความโง่ และความป่าเถื่อนของระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ประเพณีต่างๆ ที่พวกพี่ๆ โง่ นำมาใช้ในสมัยเผด็จการทหารก็เลยกลายเป็นเรื่องตลก และถูกยกเลิกไป

แต่ปรากฏว่าตอนนี้เกือบ 30 ปีผ่านไป สังคมนักศึกษาก็ยังจมอยู่ในความโง่ของอดีต สาเหตุก็ไม่ใช่เพราะนักศึกษาโง่หรอก แต่เพราะชนชั้นปกครองไทยอยากให้โง่ต่างหาก ดังนั้นเมื่อนักศึกษาเริ่มคิดเองเป็น และเริ่มเคลื่อนไหวทางสังคมหลังสมัย 14 ตุลา ชนชั้นปกครองกลัวว่าจะปกป้องอภิสิทธิ์ไม่ได้ จึงมีคำสั่งร่วมลงมาให้สังหารหมู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และมีคำสั่งตามมาให้เผาหนังสือที่อาจปลดแอกพวกเราจากความโง่ตามห้องสมุดต่างๆ ด้วย

ในยุคโลกาภิวัตน์ ใครๆ เขาพูดกันว่าพลเมืองต้องมีส่วนร่วมในการปกครอง ต้องร่วมตรวจสอบผู้แทน ต้องมีประชาธิปไตย ต้องคิดเองเป็น และมีการเสนอมานานว่าควรปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนานักศึกษา แต่ในหมู่นิสิตรุ่นต่างๆ ที่บ้าคลั่ง SOTUS การเปลี่ยนแปลงในโลกภายนอกคงไม่มีความหมาย น่าสงสารไม่มีสมองก็คิดเองไม่เป็น แล้วคงไม่รู้จักเปลี่ยนวิธีปฏิบัติ

T ย่อจาก Tyranny ซึ่งแปลว่า 'การใช้เผด็จการกดขี่ผู้อื่น' ระบบ SOTUS ใช้วิธีการไร้สาระของการกดขี่เพื่อความไร้สาระ และเป็นระบบที่นำมาหนุนความคิดแบบอำนาจนิยมกราบไหว้ในสังคมภายนอก แต่เราไม่ควรลืมประวัติศาสตร์ของเราเอง ในปี 2475, 2516 และ 2535 มวลชนชาวไทยรวมตัวกันล้มระบบเผด็จการ และชนะ

ดังนั้นถ้านิสิตนักศึกษารุ่นใหม่ต้องการล้มเผด็จการของห้องเชียร์ และรุ่นพี่ ก็คงต้องเรียนบทเรียนจากอดีต คนหนุ่มสาวไทยสามารถล้มเผด็จการได้ และเคยยกเลิกระบบรุ่นพี่รุ่นน้องในจุฬาฯ ด้วย แต่ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องรวมตัวกันปฏิเสธความโง่ แล้วพวกรุ่นพี่ที่ดูเหมือนจะมีอำนาจล้นฟ้าก็จะกลายเป็นมนุษย์น้อยที่น่าสงสารเท่านั้นเอง ดีไม่ดีเขาอาจไหว้เราเป็นการขอบคุณก็ได้เพราะเราสามารถปลดแอกความโง่จากเขาได้

สิ่งที่สำคัญคือ นิสิตต้องทำเอง ไม่ใช่ไปหวังว่าคนอื่นอย่างผมหรือใครที่ไหนจะทำให้ อย่าลืมว่าคนสามารถเอาแอกออกจากควายได้ แต่เนื่องจากควายเอาแอกออกเองไม่ได้ ควายจำต้องเป็นทาสของมนุษย์ตลอดกาล

U มาจาก Uncivilised ซึ่งแปลว่า 'ป่าเถื่อน' ไม่มีอารยธรรม การใช้อำนาจระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง การทำกิจกรรมไร้สาระ การตะโกนในทำนองว่า "คณะguดีกว่าคณะmuang" การทำลายความเป็นปัจเจกมนุษย์ และการทำลายมันสมองที่จะคิดเอง ล้วนแต่เป็นความป่าเถื่อนไร้อารยธรรม แม้แต่สัตว์ในป่ายังมีอารยธรรมมากกว่าพวกบ้า SOTUS เพราะสัตว์มันคิดเองไม่เป็นตามธรรมชาติเรายกโทษให้มันได้ แถมมันไม่มีวันจงใจโง่หรือแกล้งคนอื่นเหมือนพวกนิสิต SOTUS

รู้ไหมว่าระบบ SOTUS นี้คนไทยเอามาจากไหน? ลองคิดดูว่าที่ไหนไร้อารยธรรมที่สุดในโลก คนกลุ่มไหนกำลังทำตัวเป็นอันธพาลระดับโลกาภิวัตน์จนเกิดการเกลียดชังกันทั่วทุกแห่ง คนกลุ่มไหนพร้อมจะกอบโกยขณะที่คนยากจนอดอยาก คนกลุ่มไหนฆ่าเด็กในนามของเสรีภาพ ....

ใช่ครับ ระบบ SOTUS มาจากส่วนบนของสังคมสหรัฐอเมริกาที่ล้าหลัง และไร้อารยธรรมที่สุด พวก 'รักชาติไทย' ทั้งหลายว่าอย่างไรครับ? จะเดินตามก้นสหรัฐเหมือนคนกวาดมูลต่อไปไหม?

S ตัวสุดท้ายมาจากคำว่า Stop It - 'เลิกเถิดเรื่องโง่ๆ ไร้สาระ' เลิกเถิดเรื่องการกดขี่กันเองในหมู่นักศึกษา เลิกตะโกนบ้าๆ เพื่อเชียร์สิ่งที่ไม่น่าเชียร์ เลิกภูมิใจ และเคารพกราบไหว้ในสิ่งน่าเบื่อย่ำแย่ เลิกกลัวที่จะขัดคำสั่งรุ่นพี่ รุ่นพี่เลิกกลัวที่จะไม่ทำตามประเพณีโง่ๆ ต่อไป....

แล้วถ้าเลิกไปนิสิตจะใช้เวลาทำอะไร? จัดการแสดงดนตรี จัดละคร ไปดูหนัง อ่านหนังสือ อ่านหนังสือพิมพ์ และวารสาร สนใจปัญหาสังคม สนใจปัญหาการเมือง สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม คุยกับเพื่อน คุยกับคนในครอบครัว จู๋จี๋กับแฟน ไปกินข้าวอร่อยๆ ออกกำลังกาย ไปเที่ยว เขียนจดหมายมาวิจารณ์คนอย่างผมก็ได้ (มีอี-เมล์ข้างบน)...

ระบบห้องเชียร์ และ SOTUS มันน่าจะเป็นฝันร้ายจากอดีตที่ไม่เป็นจริง แต่ทุกวันนี้ ในหมู่คนหนุ่มสาวที่อ้างตัวว่าเป็นกลุ่มชั้นนำ (Cream of Thai Society) มันเป็นความจริง และแย่ยิ่งกว่าฝันร้ายอีก


...


รับน้อง ต้นตอแห่งปูมอำนาจ
นิธิ เอียวศรีวงศ์
จากมติชน - วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1296

ตามตำนานการรับน้องใหม่ที่พวกจุฬาฯ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่มีประเพณีรับน้องเล่า ว่ากันว่าเริ่มจากนิสิตในหอพักก่อน (ตั้งแต่สมัยที่ยังมี "หอวัง" ซึ่งอยู่ในสนามกีฬาศุภชลาศัยปัจจุบัน) โดยนำเอาประเพณีทำนองเดียวกันซึ่งมหาวิทยาลัยของอังกฤษทำมา "เล่น" บ้าง

ประเพณีพิธีกรรมคือเครื่องมือการสร้างและ/หรือตอกย้ำแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคม แม้ว่าอังกฤษและพวกจุฬาฯ รุ่นแรกๆ ทำพิธีแกล้งน้องเพียงวันเดียว (ที่จริงคืนเดียว) แต่ที่จริงก็คือการสร้าง/และหรือตอกย้ำความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องต่อจากนั้นนั่นเอง

แน่นอนครับ ด้วยความหวังว่า ความเหลื่อมล้ำของอำนาจระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง ซึ่งแสดงให้เห็นในพิธีกรรมนี้ จะดำรงอยู่อย่างถาวร ส่วนพิธีกรรมจะได้ผลแค่ไหนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสังคม ในอังกฤษพิธีกรรมรับน้องล้มเหลว เพราะเงื่อนไขทางสังคมที่จะทำให้คนยอมรับอำนาจของคนอื่นเพียงเพราะเขาเป็น "รุ่นพี่" มีน้อย หรือแทบไม่มีเลย จึงยากที่จะทำให้เกิดแบบแผนความสัมพันธ์ชนิดที่พิธีกรรมรับน้องสร้างขึ้นอย่างถาวร

ตรงกันข้าม สังคมไทยสมัยใหม่ (คือหลัง ร.5 เป็นต้นมา) มีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้แบบแผนความสัมพันธ์เช่นนี้เป็นความสัมพันธ์กระแสหลัก จึงทำให้การรับน้องขยายตัวอย่างแพร่หลายในสถาบันการศึกษาทุกแห่งและทุกระดับ รวมทั้งขยายตัวออกไปสู่พิธีกรรมอื่นๆ ในชีวิตน้องใหม่ทั้งปี เช่น การประชุมเชียร์และการออกกำลังกายทุกเย็น เพื่อตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของอำนาจ และการยอมรับในความเหลื่อมล้ำนั้น

มีเรื่องที่ผมอยากสะกิดให้คิดเพื่อเข้าใจประเด็นตรงนี้อยู่สองเรื่อง

เรื่องแรก การรับน้องในเมืองไทยนั้นเป็นเรื่องของอำนาจอย่างชัดเจน อย่าไปดัดจริตหาเหตุผลอื่นๆ เลยครับ เพราะมันชัดเสียจนน่าจะขวยปากที่จะไปยกให้เรื่องอื่น นอกจากนี้ เรื่องอำนาจก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายนะครับ ในทุกสังคม สมาชิกย่อมต้องเรียนรู้ แบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสังคมที่ตัวจะต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไปทั้งนั้น

เรื่องที่สองก็คือ การศึกษาโดยเฉพาะอุดมศึกษาเป็นประตูเข้าสู่ความเป็นชนชั้นนำของสังคมไทยสมัยใหม่ และในวัฒนธรรมของชนชั้นนำสมัยใหม่ของไทยนั้น แบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ลดหลั่นเป็นลำดับชั้นอย่างชัดเจนมีความสำคัญมาก เพราะจำลองมาจากความสัมพันธ์ขององค์กรราชการ การเรียนรู้แบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจเช่นนี้จึงมีความสำคัญสำหรับคนที่จะก้าวเข้าสู่ชนชั้นนำของสังคม น่าสังเกตนะครับว่า ประเพณีรับน้องใหม่เริ่มที่มหาวิทยาลัยก่อน แล้วจึงขยายไปสู่โรงเรียนมัธยมและประถม ที่น่าสังเกตต่อมาก็คือ โรงเรียนมัธยมที่รับประเพณีรับน้องใหม่มาอย่างถึงพริกถึงขิงคือโรงเรียน "ผู้ดี๊ผู้ดี" เช่น โรงเรียนสาธิตของทุกมหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนดังอื่นๆ เพราะเด็กมัธยมเหล่านี้ล้วนอยู่ในครรลองที่จะก้าวผ่านประตูไปสู่ความเป็นชนชั้นนำทั้งสิ้น

ผมไม่เคยได้ยินว่าโรงเรียนประชาบาลวัดหลังเขามีการรับน้องใหม่เลย ก็เด็กทุกคนในโรงเรียนต่างรู้ว่า จบแล้วกูก็ออกไปทำนา หรือรับจ้างเหมือนพ่อแม่กูนั่นเอง และในสังคมแบบนั้นมีแบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ได้จำลองมาจากความสัมพันธ์ขององค์กรราชการ

แหล่งที่มาของอำนาจในวัฒนธรรมไทยเดิม ซึ่งยังปรากฏให้เห็นในชุมชนเกษตรกรรมชนบทของปัจจุบัน มีความหลากหลายมาก ผมหมายความว่า เราไม่อาจจัดบันไดเพียงอันเดียวเพื่อวางทุกคนลงไปตามขั้นบันไดได้หมด คนรวยก็มีอำนาจบนบันไดอันหนึ่ง กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านก็มีอำนาจบนบันไดอีกอันหนึ่ง จ้ำหรือ แก่วัดซึ่งอาจจะยากจน แต่มีความรู้ที่ชาวบ้านเห็นว่าจำเป็นแก่ชุมชนก็มีอำนาจอยู่บนอีกบันไดหนึ่ง จนถึงที่สุดลุงแก่ๆ คนที่หุงข้าวกระทะได้เก่ง ก็มีอำนาจในอีกบันไดหนึ่ง เพราะถ้าแกไม่ช่วย ก็จัดงานเลี้ยงขนาดใหญ่ไม่ได้

ฉะนั้น อำนาจในวัฒนธรรมชาวบ้านจึงกระจายไปยังคนต่างๆ ในชุมชนอย่างกว้างขวาง ไม่ได้อยู่ในระบบลำดับขั้นของอำนาจเพียงระบบเดียว เหมือนองค์กรราชการ

ถ้านิยามอำนาจในระดับพื้นฐานเลย อำนาจคือความสามารถที่ทำให้คนอื่นทำตามความปรารถนาของตัว และในทุกสังคมมนุษย์การใช้อำนาจย่อมมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาก็คือคนในวัฒนธรรมชาวบ้านอย่างที่ผมกล่าว ซึ่งมีอำนาจจากฐานที่ต่างกันจะใช้อำนาจแก่กันอย่างไร ?

นี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก วัฒนธรรมชาวบ้านเชี่ยวชาญด้านกลวิธีที่หลากหลายและสลับซับซ้อน ในอันที่จะทำให้ความปรารถนาของตัวสัมฤทธิผล นับตั้งแต่แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ รวมไปถึงสร้างความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์, ใช้เส้น (เช่น ดึงเอาญาติผู้ใหญ่หรืออุปัชฌาย์ของคนที่เราจะใช้อำนาจมาอยู่ฝ่ายเดียวกับเราก่อน), ใช้เสียงของคนหมู่มากบีบบังคับทางอ้อม, ยกย่องให้เป็นผู้นำอย่างเป็นทางการ, ฯลฯ

พูดให้ฟังขลังๆ ก็คือ ปฏิบัติการทางอำนาจ ของชาวบ้านละเอียดอ่อน และต้องใช้สติปัญญามากกว่าพวก "ปัญญาชน" ในมหาวิทยาลัยอย่างมาก

เพราะ "ปัญญาชน" มีวัฒนธรรมของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่จัดอำนาจไว้ในลำดับขั้นของบันไดเดียว ฉะนั้น การใช้อำนาจจึงง่ายมาก นั่นก็คือออกคำสั่ง ถ้าเกรงว่าเขาไม่เชื่อก็ข่มขู่ตะคอก ไปจนถึงใช้กำลังบังคับเอาด้วยวิธีต่างๆ ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

ชนชั้นนำไทยรู้จัก ปฏิบัติการเชิงอำนาจ อยู่อย่างเดียว คือบีบบังคับ อีกทั้งไม่รังเกียจความรุนแรงที่จะใช้ในปฏิบัติการเชิงอำนาจอีกด้วย ขอแต่ให้ผู้ใช้ความรุนแรงนั้นยืนในตำแหน่งที่ถูกต้องของบันไดแห่งอำนาจเท่านั้น

นี่คือเหตุผลที่ผู้คนในสังคมซึ่งเข้าถึงสื่อพากันสนับสนุนการฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด, เคยสนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้, สนับสนุนการขจัดอาชญากรรมด้วยโทษที่รุนแรง เช่น จับอาชญากรคดีข่มขืนตอน หรือนำโทษประหารชีวิตมาใช้กับคดีอุกฉกรรจ์เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการลดหย่อน ฯลฯ

ก็สั่งแล้ว ไม่ฟังนี่หว่า

ฉะนั้น ทุกครั้งที่ผู้คนซึ่งได้รับการศึกษาสูงๆ และสังกัดอยู่ในชนชั้นนำพูดว่า คนไทยชอบให้ใช้อำนาจเด็ดขาด, เฉียบขาด, เฉียบพลัน และรุนแรง ผมอดรู้สึกทุกครั้งไม่ได้ว่า พวกมึงเท่านั้นหรอกที่เป็นอย่างนั้น ชาวบ้านไทยหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจในลักษณะเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง

กว่าชุมชนในชนบทจะตัดสินใจทำอะไรร่วมกันได้สักอย่าง มีการเจรจาต่อรอง โอ้โลมปฏิโลม รวมทั้งนวดเส้นเกาหลังกันมามาก จึงจะได้มติเอกฉันท์ของชุมชน โดยไม่มีใครสั่งให้ใครทำอะไร (อย่างออกหน้า) เลย

วัฒนธรรมราชการจึงเป็นเรื่องตลกในหมู่บ้านเสมอมาไงครับ เพราะทุกคนขอรับกระผมกับนายอำเภอเสมอ โดยไม่เคยทำตามที่นายอำเภอสั่งสักครั้งเดียว

ก็นายอำเภอทุกคนต่างจบมหาวิทยาลัยและผ่านพิธีกรรมรับน้องมาแล้วทั้งนั้น ทั้งในฐานะรุ่นน้องและรุ่นพี่

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของรุ่นพี่ก็คือ จะกลืนอำนาจเถื่อนของตัวเข้าไปในระบบแห่งอำนาจที่เป็นทางการได้อย่างไร ตราบเท่าที่กลืนไม่ได้ ก็ยากที่จะทำให้รุ่นน้องยอมรับบันไดแห่งอำนาจอันเดียวได้

รุ่นพี่ที่จุฬาฯ ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องกลายเป็น "ประเพณี" ซึ่งเป็นหนึ่งในคำขวัญของนิสิตมหาวิทยาลัยนั้น

อะไรที่เป็น "ประเพณี" ไปแล้วนี่เลิกยากนะครับ เพราะถ้าเลิก "ประเพณี" นี้ได้ เดี๋ยวก็จะพาลไปเลิก "ประเพณี" โน้นเข้าอีก และมหาวิทยาลัยไทยโดยเฉพาะจุฬาฯ นั้น เขาตั้งขึ้นมาทำไมหรือครับ หนึ่งในหน้าที่หลักคือตั้งขึ้นมาเพื่อรักษา "ประเพณี" น่ะสิครับ โดยเฉพาะ "ประเพณี" ทางสังคมและการเมืองซึ่งให้อภิสิทธิ์แก่อภิสิทธิ์ชน

ด้วยเหตุดังนั้น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่รุ่นพี่สร้างขึ้นครอบงำรุ่นน้อง (และแสดงออกให้สังคมได้รู้ผ่านพิธีกรรมรับน้อง) จึงได้รับการยอมรับและส่งเสริมโดยนัยยะจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เสมอมา

สมัยผมเรียนจุฬาฯ บางคณะมีกฎห้ามไม่ให้น้องใหม่ใช้บันไดหน้าขึ้นตึกบางแห่ง อาจารย์คณะนั้นก็รู้ แต่ไม่เคยมีใครบอกน้องใหม่ว่า นี่ไม่ใช่กฎของมหาวิทยาลัย น้องใหม่ต้องแต่งเครื่องแบบของมหาวิทยาลัยให้ถูกต้องเป๊ะ บางครั้งมหาวิทยาลัยก็ช่วยกวดขันให้ด้วย แต่ไม่เคยกวดขันกับรุ่นพี่เลย (เช่น เด็กผู้หญิงต้องสวมถุงเท้าขาวจนกว่าจะผ่านปี 1 แล้ว)

มาในภายหลัง ผมพบว่าน้องใหม่ถูกบังคับขืนใจโดยเปิดเผยมากขึ้นในทุกมหาวิทยาลัย บังคับให้วิ่งและซ้อมเชียร์กันทุกเย็นจนดึกดื่น มีว้ากเกอร์ออกมา "ปฏิบัติการทางอำนาจ" ที่สิ้นปัญญาให้เห็น ฯลฯ แต่ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนร้อนใจต่อแบบปฏิบัติของความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไร้ความเท่าเทียม และทำลาย "มนุษยภาพ" อย่างซึ่งๆ หน้าเช่นนี้เลยสักแห่งเดียว

ถึงส่วนใหญ่ของน้องใหม่ไม่ได้ฆ่าตัวตายทางกาย แต่ทุกคนตายทางวิญญาณ และสติปัญญาไปหมดแล้ว ภายใต้สายตาของมหาวิทยาลัยนั้นเอง

ที่มหาวิทยาลัยไม่กระดิกทำอะไรตลอดมานั้น ก็เพราะลึกลงไปจริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบนี้คือวัฒนธรรมของอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั่นเอง ก็ถูกแล้วไม่ใช่หรือที่น้องใหม่ซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นชนชั้นนำของสังคม จะต้องเรียนรู้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในวัฒนธรรมนี้

ปัญหารับน้องใหม่จึงไม่ใช่นอกหรือในสถานที่, หรือท่าเต้นที่น้องถูกบังคับให้ทำมันลามกอนาจารหรือไม่, หรือครูดูแลได้ทั่วถึงหรือไม่ ฯลฯ มันลึกกว่านั้นแยะครับ

เพราะมันเกี่ยวกับวัฒนธรรมอำนาจของชนชั้นนำไทย ซึ่งรุ่นพี่, อาจารย์, ผู้บริหาร, สังคมคนอ่านหนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่ตัวน้องใหม่เอง ต่างสังกัดอยู่ในวัฒนธรรมอำนาจอันเดียวกันนี้

ฉะนั้น ถ้าอยากแก้ไข ไม่ใช่ไปแก้ที่ตัวพิธีกรรมซึ่งทำหน้าที่เพียงช่วยตอกย้ำความสัมพันธ์ทางสังคมที่ผู้คนยอมรับอยู่แล้วเท่านั้น แต่ต้องไปแก้ให้ระบบการศึกษาเป็นระบบการเรียนรู้ที่ไม่สร้างบันไดแห่งอำนาจบันไดเดียว เช่น มีเด็กที่ได้เป็นวีรบุรุษ-สตรีเต็มไปทั้งห้อง (เมื่อไหร่เด็กคะแนนบ๊วย แต่วาดเขียนเก่งจึงจะได้รับการยกย่องเท่ากับที่หนึ่งของห้องเสียที) ในขณะเดียวกันก็ต้องไปแก้ที่ระบบการเมือง, เศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มชนชั้นนำนั่นแหละ ให้ยอมรับอำนาจที่หลากหลาย และ ปฏิบัติการทางอำนาจ ที่ต้องใช้เหตุผลกันมากขึ้น แทนที่จะใช้แต่ตำแหน่งบนขั้นบันได

อย่างไรก็ตาม ผมออกจะสงสัยด้วยว่า ถึงเราไม่ทำอะไรเลยสักอย่าง ระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่จำลองมาจากองค์กรราชการซึ่งเป็นระบบความสัมพันธ์กระแสหลักในหมู่ชนชั้นนำไทย กำลังจะถูกท้าทายมากขึ้นจากระบบความสัมพันธ์แบบอื่นเรื่อยๆ ถึงจะยกกันขึ้นไปเป็นซีอีโอ นับวันซีอีโอก็ทำอะไรไม่สำเร็จมากขึ้น จนเกือบจะกลายเป็นตัวตลกไปแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่า ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นในพิธีรับน้องและการปฏิบัติต่อน้องใหม่ในมหาวิทยาลัย คือสัญญาณของการล่มสลายของระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่กำลังจะพ้นสมัยไปเสียแล้ว


...


เลิกรับน้อง...มองต่างมุม
โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากมติชนรายวัน ฉบับวันที่ 22 มิ.ย. 2548

พ่อแม่ที่มีลูกเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้คงโล่งใจกันตามๆ กัน เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ได้ประกาศยกเลิกกิจกรรมรับน้อง รวมทั้งกิจกรรมหน่วงเหนี่ยวให้น้องๆ เข้าเชียร์ข่าวการรับน้องท่า "ปั่นกล้วย" ที่ออกทางหนังสือพิมพ์และทีวีทำให้เสียงประชาชนส่วนใหญ่ที่ผ่านสื่อขานรับมาตรการนี้อย่างล้นหลาม มีเสียงส่วนน้อย คือครูหยุยและผู้นำนักศึกษาออกมาเรียกร้องให้พิจารณาผ่อนปรนให้มีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ แต่ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นเสียงนกเสียงกาไป

ที่จริงแล้ว การรับน้องเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกิจกรรมนอกหลักสูตรทั้งหมดของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะตามมาด้วยการประชุมเชียร์ การเข้าร่วมกิจกรรมสโมสรต่างๆ รวมทั้งการแข่งกีฬาภายในมหาวิทยาลัย

การรับน้อง(ที่ดี) จะเป็นการทำให้นิสิตนักศึกษารู้จักกันเร็วขึ้น มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันการประชุมเชียร์หรือแม้แต่ระบบ SOTUS ที่ดี ที่เข้าใจ Order ว่าเป็นระเบียบไม่ใช่การใช้อำนาจเป็นการสร้างระเบียบวินัยให้กับสังคมไทยที่มักอ้างว่าทำตามใจคือไทยแท้

ถ้าจะสังเกตให้ดีจะพบว่าคณะเกษตรและคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่เป็นคณะที่ต้องผลิตบัณฑิตออกไปทำงานกับคนงานไร้ฝีมือจะต้องเข้าใจเรื่องขอบเขตทางกายภาพ(physical limits) ของกำลังมนุษย์ มักจะมีการรับน้องที่เน้นการออกกำลังกาย ความอดทน และระเบียบวินัย ดังนั้น การประชุมเชียร์จึงเป็นการฝึกงานนอกหลักสูตรของนักศึกษารุ่นพี่ไปในตัว

ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ส่วนหนึ่งการรับน้องจะมีการซ้อมวิ่ง เพื่อเตรียมวิ่งขึ้นดอยพร้อมกัน อันเป็นประเพณีอันยาวนานซึ่งนับเป็นเรื่องที่ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จำนวนมากนับเป็นประสบการณ์ที่ดีไปชั่วชีวิต

ตราบใดที่รุ่นพี่ไม่ก่อกิจกรรมอุบาทว์หรือกิจกรรมที่อาจมีผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของรุ่นน้อง ก็น่าที่จะยอมรับได้

ถ้าไม่ยอมรับก็ลองมาคิดภาพของการที่คนหนุ่มคนสาวเป็นหมื่นคนมารวมกันอยู่ในที่เดียวกันหากไม่มีกิจกรรมประชุมเชียร์แล้วอะไรจะเกิดขึ้น เวลาประชุมเชียร์เป็นเวลาที่รุ่นพี่ทุกปีและรุ่นน้องอยู่รวมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการดึงเอาคนหนุ่มคนสาวเหล่านี้ออกจากบาร์เบียร์ คาราโอเกะ มาอยู่ในสถานที่ที่จะปลอดภัย ไม่ลับสายตา

นอกจากนี้ การรับน้องและประชุมเชียร์ที่ดีเป็นการหล่อหลอมหนุ่มน้อยต่างโรงเรียนให้มามีความสามัคคีไม่ให้ทะเลาะเบาะแว้งกันภายใน แทนที่จะไปซิ่งมอเตอร์ไซค์หรือรถแข่ง ไม่ไปเป็นแก๊งซามูไรวัยรุ่นที่เที่ยวเอาดาบไปไล่ฟันคนอื่น หรือตีกันเองภายใน และระหว่างคณะ

สำหรับผู้เขียนที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างจังหวัด(ซึ่งมีนักศึกษาพักในมหาวิทยาลัยหลายพันคน) คิดว่าคำสั่งที่ยกเลิกทุกอย่างเป็นความคิดที่ออกจะเป็นความคิดของ "คนกรุงเทพฯมากไปหน่อย"

คนกรุงเทพฯอยากให้ลูกเลิกเชียร์กลับบ้านไวๆ เพราะมหาวิทยาลัยไม่มีหอพัก อีกทั้งรถก็ติดบ้านก็อยู่ไกล แต่ต่างจังหวัดอาจจะอยากให้ลูกอยู่ในมหาวิทยาลัยทำกิจกรรมในที่สาธารณะมากกว่าจะไปซุกๆ ซ่อนๆ พรอดรักกันใต้ต้นไม้

คำสั่งนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมถึงต้องใช้ไม้บรรทัดอันเดียวมาตัดสินมหาวิทยาลัยทั้งประเทศ

หากไม่มีการรับน้อง การเชียร์ การระดมพลเพื่องานสาธารณประโยชน์ของมหาวิทยาลัยและของจังหวัดก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ เช่น งานแห่เทียนหรืองานลอยกระทง ก็ล้วนแต่อาศัยรุ่นพี่รุ่นน้องควบคุมกันไปทั้งนั้น

รวมทั้งการเลิกระบบรุ่นพี่รุ่นน้องอาจจะทำให้สมาคมนักศึกษาเก่า(ซึ่งมหาวิทยาลัยกำลังจะพัฒนาให้มาเป็นกองกำลังสนับสนุนที่สำคัญเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ) อ่อนแอลงไปในที่สุด

ที่ผู้เขียนพยายามจะสื่อสารก็คือ การรับน้องและการประชุมเชียร์เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรที่สำคัญ ถ้าจะคิดเลิกก็ต้องหากิจกรรมอย่างอื่นมาแทน(และต้องเป็นกิจกรรมที่นักศึกษาอยากทำด้วย) หรือมิฉะนั้นก็ควรยกเครื่องการรับน้องทั้งระบบให้เป็นการรับน้องที่อารยะ

มหาวิทยาลัยจะต้องถือโอกาสทำให้การรับน้องและระบบเชียร์เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตร ที่ฝึกทักษะการอยู่ในสังคมของทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้อง ควรมีการอบรมสตาฟฟ์เชียร์ของแต่ละคณะ ควรให้เข้าใจถึงความสำคัญของการรับน้องว่าเป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรที่สร้างความเป็นคนเต็มคนที่มีศักดิ์ศรี มีการเสียสละประโยชน์เพื่อส่วนรวมระบบรับน้องที่อนาจารและอุบาทว์ต้องเลิกไป

มหาวิทยาลัยควรนำเอาเทคนิคสมัยใหม่ของการละลายน้ำแข็ง(ice-breaking) ที่ใช้ใน Business Game หรือในการจัดการความรู้(Knowledge management) มาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมรับน้องให้มีความสุขสนุกสนาน มีความรู้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เกิดการสร้างเครือข่ายอย่างกว้างขวาง

การเลิกรับน้อง อาจจะทำให้มีนักศึกษาฆ่าตัวตายเพราะเหงาได้เหมือนกัน เพราะมีปัญหาการปรับตัวของนักศึกษาในสภาพแวดล้อมใหม่

ดังนั้น การเลิกรับน้องต้องตามด้วยระบบกิจกรรมนอกหลักสูตรที่หลากหลายและดึงดูดใจ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาอยู่ในหอพักเป็นพัน ว่าแต่ว่าอาจารย์จะยอมเสียสละเวลาส่วนตัวมาดูแลลูกศิษย์เหมือนรุ่นพี่ดูแลรุ่นน้องหรือไม่ จะเห็นได้ว่าการทดแทนระบบ "รับน้อง" ต้องใช้บุคลากรและทรัพยากรจำนวนมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน มิใช่ว่าประกาศเลิกแล้วก็สบายใจได้

สำหรับผู้เขียนอยู่มหาวิทยาลัย(ที่ยินดีจะอ้างว่า) มีบรรยากาศโรแมนติคที่สุดในประเทศไทย ขอเตือนผู้ปกครองว่า อย่าคิดว่าเลิกรับน้องแล้วปัญหาวัยรุ่นจะหมดไป ถ้าไม่มีกิจกรรมอื่นให้วัยรุ่นใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์(และสนุกสนาน) มาทดแทนละก็ ผู้ปกครองอาจจะปวดหัวยิ่งกว่านี้อีก

ขอสรุปอย่างวัยรุ่นว่า "คิดเลิกนะง่ายป๋า แต่คิดแก้ ซิยากกว่า"


...


เพลงนี้เจ๋งดี ลอกมาจากบล็อก http://nklmeekeaw.exteen.com/20070707/mr-moke-momool

เพลงต้านระบบโซตัส โดย Mr.Moke Momool
*เพลงนี้มีเนื้อหาที่รุ่นแรงมาก โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

จังหวะ : 4Beat
Tempo : 200
Genre : Speed Death Progressive Metal

(Intro)
“เฮ้ย ไอ้เด็กใหม่ มึงวิดพื้นเดี๋ยวนี้”
“มึงมีสิทธิ์อะไรมาสั่งกู ไอ้สัด!” (เสียงเอฟเฟคปืนลูกซอง)

Riff Intro

(ร้องแบบสำรอก)
ระบบสุดเหี้ย ไอ้สัดหัวดอ ระบบหัวควย
กูกับมึงต่างกันที่ไหน ห่างแค่ปีเดียว
มึงมาจากไหน ถึงกับได้ ริมาสั่งกู
สัดสันดาน พ่อมึงตาย ระบบเฮงซวยยยยยยยย!
ควย ควย ควย!
ควย ควย ควย!
ไร้ค่า!ระบบไร้ค่าแบบนี้ เก็บไว้ทำไม
ไอ้สัด ที่ไหน ตั้งระบบนี้ ไอ้เวรตะไล
จักรวรรดิเฮงซวย สร้างมายึดมึง มึงยังรับมา
ขยะไร้ค่า ทาสระบบเฮงซวย มึงต้องตายยยย!

~Solo Guitar Baroque Style~

(ร้องแบบพูด)
S : Suck! Suck System
O : Out of Control! Out of Morality
T :Tyranny! Why freshy have to bow them!
U : Unacceptable! Uncivilize Unity!
S : Slaughter Them! Destroy them all---------------!
ว๊ากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก

~Bass Solo~

Kill them all!
Kill them all!
Destroy the tyranny elder!
คณบดี อาจารย์ทั้งหลาย ไม่คิดหรือไง
ไอ้บ้าอำนาจ พวกมึงมันบ้า สัดห่าเผด็จการ
สืบทอดอำนาจ ทำกันเข้าไป เสรีภาพอยู่ไหน
ประชาธิปไตย โคตรรจอมปลอม ไอ้ประเทศเทยยยยยยยยยยยยยยยยยยย!

~Drums Solo~

ไอ้สัดจัญไร กูจะฆ่ามึงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงง!

Outtro

(ร้องแบบประกาศ)
พวกเรานิสิตปี1
ที่มีความคิด มีชีวิตเป็นของตัวเอง
ขอประกาศสงครามกับระบบเฮงซวยนับแต่บัดนี้!

(เสียงม็อบ)
ฆ่ามัน!ฆ่ามัน!ฆ่ามัน!ฆ่ามัน!ฆ่ามัน!
ระบบเฮงซวย!ออกไป!ออกไป! ออกไป!
ไช!โย!ไช!โย!ไช!โย!ไช!โย!ไช!โย!

Fade Out


...

1 comment:

Unknown said...

อืมมม.....
หลายมหาวิทยาลัย เลือกคนที่สุดแสนจะเก่งเข้าไป
แล้วทำให้สุดแสนจะโง่ตอนจบออกมา

อ่าน Post นี้แล้วยิ่งเข้าใจมากขึ้น