Wednesday, September 19, 2007

สีสันกับป้าโด

...

หลังจากที่ไปสมัครเป็นสมาชิกเว็บไซต์ http://www.imeem.com ซึ่งเป็นเว็บให้บริการแชร์ไฟล์เพลง ตอนนี้เลยรู้สึกเห่อเหมือนกับเด็กเพิ่งได้ของเล่นใหม่ กลับไปค้นไฟล์เพลง mp3 เก่าๆ ที่เคยโหลดเก็บไว้นานหลายปีแล้ว เอามาฟังอีกรอบ แล้วก็เพิ่งจะมาตระหนักตัวเอง ว่าจริงๆ แล้วตัวผมเองสมัยยังเป็นวัยรุ่น ก็เป็นนักฟังเพลงเหมือนกันนะ ผมเคยติดตามฟังเพลงเจ๋งๆ ทั้งของไทยและของต่างประเทศเยอะเลยทีเดียว เพียงแต่ช่วงหลังๆ ตั้งแต่เรียนจบมานี้ เรื่องเพลงก็ค่อยๆ หลุดไปจากความสนใจ จนตอนนี้ตามกระแสไม่ทันอีกต่อไป น้องบุ๊ยเบอร์รี่เป็นน้องที่ออฟฟิศคนหนึ่ง ก็เคยถามว่าทำไมพี่อ๋องไม่ติดตามฟังเพลงใหม่ๆ เลยเหรอ เพราะเขามักจะได้ยินผมเปิดแต่เพลงเก่าๆ ที่เคยฮิตเมื่อสมัย 10 กว่าปีก่อน ฟังวนไปวนมา ระหว่างที่กำลังนั่งทำงานอยู่ที่ออฟฟิศ ตามปกติแล้วผมเป็นคนติดตามเรื่องหนังมากกว่า หนังใหม่ หนังดี หนังกระแส หนังอินดี้ นี่ผมค่อนข้างจะรู้จักหมด ในขณะที่เพลงของนักร้องใหม่ๆ อย่างบียอนเซ่ โคลด์เพลย์ แมนิคสตรีทพรีชเชอร์ นี่ผมแทบไม่รู้จักเลย เพราะผมคิดว่าการที่เราต้องตามติดป๊อปคัลเจอร์ทุกด้าน ทั้งหนัง ทั้งเพลง ทั้งหนังสือ ทั้งทีวี ไปพร้อมกันหมด ถือเป็นเรื่องที่เปลืองพลังงานมาก ผมเลยเลือกตามแต่เรื่องหนังอย่างเดียวเป็นหลัก ส่วนเรื่องเพลงก็เลยเอาแต่ฟังเพลงเก่าๆ ไป

กลับมาที่เรื่องการฟังเพลงสมัยเป็นวัยรุ่นกันต่อครับ สมัยนั้นจำได้ว่าผมติดตามกระแสเพลงเจ๋งๆ จากการอ่านนิตยสาร "สีสัน" ของน้าทิวา สาระจูฑะ สีสันถือเป็นนิตยสารที่ผมซื้อติดต่อกันยาวนานมาก ตั้งแต่ช่วงมัธยมต้นเรื่อยมาจนถึงตอนเรียนมหาวิทยาลัยเลย ประมาณว่าเวลาเดินผ่านร้านแผงหนังสือหน้าปากซอย ก็จะชะเง้อดูว่าเล่มใหม่ออกหรือยัง พอซื้อมาแล้วก็จะรีบเปิดอ่านเซกชั่นวิจารณ์เพลง เขาก็จะมีคอลัมนิสต์หลายคนมา อย่างพวกขุนทอง อสุนี วิรัตน์ โตอารีย์มิตร ปณิธาน ฯลฯ มาเขียนถึงอัลบั้มเพลงที่น่าสนใจ เล่มหนึ่งก็เขียนถึงสักประมาณ 7-8 ชุด ทั้งไทยทั้งฝรั่งคละแนวหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่เป็นเพลงฝรั่ง มีเขียนถึงอัลบั้มเพลงไทยบ้าง แต่ต้องเป็นอัลบั้มเพลงไทยแบบที่อินดี้ๆ หน่อย (จริงๆ แล้วสมัยนั้นเรายังไม่ฮิตคำว่า "อินดี้" กันเลยครับ และคำว่า "อัลเตอร์" ก็ยังไม่เกิดด้วยซ้ำ) จำพวก วงเฮฟวี่มด ดิโอฬารโปรเจคท์ TKO ดอนผีบิน ปฐมพร วงตาวัน เพลงของค่ายเบเกอรี่ และพวกเพลงเพื่อชีวิตที่ตอนนั้นฮิตกันมาก เพลงไทยที่เขาเขียนถึงไม่ค่อยมาจากค่ายเพลงใหญ่พวกแกรมมี่ อาร์เอส นิธิทัศน์ เพราะสมัยนั้น นักฟังเพลงส่วนใหญ่ค่อนข้างจะเอือมระอากับค่ายเพลงพวกนี้ ที่ทำเพลงกันออกมาคุณภาพต่ำ เนื้อหาวนเวียน ภาคดนตรีก็ซ้ำซาก และส่วนใหญ่ก็เอาพวกดารา นางแบบ มาปั้นให้เป็นนักร้องแล้วขาย แถมยังอัดโฆษณาและรายการมิวสิควิดีโอกันกระหน่ำทั้งวันทั้งคืน จนช่อง 9 อ.ส.ม.ท. สมัยนั้นถูกเหน็บแนมว่าย่อมาจาก องค์การส่งเสริมมิวสิควิดีโอแห่งประเทศไทย โดยส่วนตัวผม ผมคิดว่าสมัยนั้นวงการเพลงไทยตกต่ำจริงๆ และรู้สึกเหมือนไม่มีทางเลือกให้เลย ก็ได้นิตยสารสีสันนี่แหละ ที่ช่วยเปิดหูเปิดตา

(แต่ทุกวันนี้ พวกศิลปินเพลงยุคนั้นกลับมาจัดคอนเสิร์ตใหญ่โต และมีคนแห่กันไปดูอย่างล้นหลาม ผมคิดว่านั่นไม่ใช่เพราะคุณภาพของเพลงที่ดีจนถึงขึ้นกลายเป็นของคลาสสิคหรอกครับ แต่เหตุที่คนแห่กันไปนั้นก็เพราะความรู้สึกแบบนอสตัลเจียมากกว่า คือเมื่อฟังเพลงเหล่านั้นแล้วทำให้เราย้อนคิดไปถึงคืนวันเก่าๆ ซึ่งเรามีความสุขมากกว่าในปัจจุบัน สมัยนั้นจริงๆ แล้ว ผมคิดว่าคนรุ่นเราฟังเพลงของ สามารถ พยัคฆ์อรุณ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง มาช่า วัฒนพานิช ฯลฯ ด้วยความรู้สึกเซ็งและถูกยัดเยียดมากกว่าครับ)

หลังจากอ่านบทความวิจารณ์เพลงในสีสันเสร็จ ผมก็จะจำชื่ออัลบั้มและศิลปินเอาไว้ แล้วก็ไปหาซื้อมาฟังตามนั้น แต่สมัยนั้น อัลบั้มเพลงพวกนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะหาซื้อหรือหาฟังกันได้ง่ายๆ นะครับ ตอนนั้นไม่มี Bit Torrent ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มี mp3 และแถมยังไม่มีแม้กระทั่งแผ่นซีดีด้วยซ้ำไป ทางเดียวที่จะได้ฟังเพลงพวกนี้คือจากเทปคาสเส็ทท์ ซึ่งไม่ได้มีวางขายตามแผงเทปทั่วไป แผงเทปทั่วไปตอนนั้นก็วางขายแต่เพลงของค่ายใหญ่ๆ เทปเพลงที่เจ๋งๆ เหล่านี้ วางขายอยู่ที่ร้านเฉพาะบางร้านเท่านั้น เราต้องใช้เวลาเดินหาแหล่งเทปพวกนี้อยู่นานนะครับ กว่าจะเจอ อย่างเช่นร้านน้องท่าพระจันทร์ ร้านชื่ออะไรสักอย่างจำไม่ได้ อยู่แถวสามย่าน และก็มีอีกร้านหนึ่งซึ่งผมไปอุดหนุนบ่อยที่สุด คือร้านโดเรมี สยามสแควร์ สมัยนั้นร้านโดเรมี ไม่ได้ตั้งอยู่ตรงริมถนนใหญ่ ตรงตีนสะพานลอยรถไฟฟ้าอย่างในตอนนี้นะ แต่เป็นร้านเล็กๆ อยู่ในซอยเล็กๆ ใกล้กับโรงแรมโนโวเทล ร้านเขาเล็กมากขนาดที่ถ้าคุณเดินไปแถวนั้นแล้วไม่สังเกต คุณก็จะเดินผ่านหน้าร้านเขาไปเฉยๆ เลย แต่ภายในร้านเล็กๆ แบบนี้ กลับมีคลังเทปเพลงเจ๋งๆ อยู่เยอะมาก เยอะขนาดที่คุณอยากได้เทปชุดไหน ก็ไปบอกเจ้าของร้าน เขาก็จะเดินเข้าไปค้นกุกกักๆ อยู่หลังร้านสักพัก แล้วก็หยิบมาขายให้เราได้ เจ้าของร้านนี่ผมเพิ่งมารู้ภายหลัง ว่าแกชื่อว่า "ป้าโด"

เทปที่ขายในร้านป้าโดสมัยนั้น มี 2 ประเภท คือเทปลิขสิทธิ์กับเทปพีค็อก "เทปพีค็อก" ก็คือเทปผีสมัยนี้นี่แหละ แต่เราเรียกมันว่าเทปพีค็อก เพราะว่ามันมีตรานกแก้วพีค็อกติดอยู่บนตัวเทป ตัวม้วนเทปและกล่องเป็นพลาสติกใสแจ๋ว มีปกเทปสวยงาม แต่ตัวปกจะไม่มีพับหลายๆ ทบ และไม่มีพิมพ์เนื้อร้องให้ ราคาเทปลิขสิทธิ์เพลงฝรั่งสมัยก่อนตกม้วนละ 60-70 บาท ในขณะที่เทปพีค็อกราคา 20-30 บาท คุณภาพของเสียงจากเทปทั้งสองประเภทนี้ใกล้เคียงกันมาก อาจจะเป็นเพราะเทคโนโลยีการอัดเสียงสมัยก่อน และเครื่องเล่นเทปคาสเส็ทท์ที่ใช้ตามบ้านทั่วไป ไม่สามารถแยกแยะเสียงได้ชัดเจนมากนัก ดังนั้นการซื้อเทปคาสเส็ทท์แบบอะนาล็อก ไม่ว่าจะลิขสิทธิ์หรือผี ก็ให้คุณภาพเสียงไม่ต่างกันในหูคนฟังระดับธรรมดาอย่างผม แต่มาถึงทุกวันนี้ ร้านป้าแกคงขายแต่แผ่นซีดีแล้ว และก็คงเหลือแต่แผ่นซีดีลิขสิทธิ์ล้วนๆ

สมัยนั้นผมแวะร้านป้าโดแทบจะทุกเสาร์อาทิตย์ เพราะเป็นวันที่ต้องไปเรียนพิเศษที่โรงเรียนกวดวิชาแถวสยามสแควร์อยู่แล้ว พอเรียนเสร็จก่อนขึ้นรถเมล์กลับบ้าน ก็แวะร้านป้าแกสักแว้บ ถามถึงเทปชุดที่ได้อ่านวิจารณ์มาจากหนังสือสีสัน เทปที่ผมไปซื้อจากร้านป้าโดสมัยก่อน ก็คละๆ กันไป ทั้งไทยและเทศ ทั้งผีและลิขสิทธิ์ ตอนนั้นถือเป็นช่วงเวลาที่ผมได้ฟังเพลงเยอะจริงๆ หลังจากนั้นมาอีกหลายปี วงการเพลงไทยและคนฟังเพลง จึงสามารถหลุดออกจากการครอบงำของค่ายเทปยักษ์ใหญ่ได้ เกิดเป็นกระแสเพลงแนวอัลเทอร์เนทีฟ นักร้องนักดนตรีหน้าใหม่ผุดขึ้นจำนวนมาก มีงานเทศกาลบันเทิงคดี ค่ายเทปเล็กๆ อย่างเบเกอรี่มิวสิคได้รับความนิยม ดารานางแบบเริ่มหายออกไปจากวงการเพลง คนทำงานเบื้องหลังค่อยๆ ออกมาสู่เบื้องหน้า ตอนนั้นผมยังคงติดตามฟังเพลงอยู่ต่อมาอีกสักระยะ จำได้ว่ายังได้ไปนั่งดู มาโนช พุฒตาล แสดงสดในงานเทศกาลบันเทิงคดี ที่เขาจัดกันที่ศูนย์เยาวชนไทยญี่ปุ่นเลย ปีนั้นพ.ศ.อะไรจำไม่ได้นะครับ ประมาณ 2537-2538 นี่แหละ ผมคิดว่านั่นคือคนรุ่น "พี่ชายของเด็กแนว" คือก่อนที่เราจะมีคำว่าอินดี้ ก่อนที่เราจะมีเด็กแนว ก่อนที่เราจะมีอะเดย์ ก่อนที่เราจะมีแฟตเรดิโอ เราเคยมีนิตยสารสีสัน ร้านป้าโด เพลงอัลเทอร์ฯ และเทศกาลบันเทิงคดี มาก่อน และผมเป็นคนที่อยู่ในรุ่นนั้น

หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทำงาน ก็ค่อยๆ ห่างออกจากกระแสเพลงไปเรื่อย ร้านป้าโดก็ไม่ค่อยได้ไปแล้ว เพราะมีร้านเทปทาวเวอร์เรคคอร์ดส เข้ามาเปิดในเมืองไทย ที่ชั้นบนเวิลด์เทรดเซนเตอร์ หลังๆ เลยชอบไปเดินเล่นเตร็ดเตร่ในทาวเวอร์เรคคอร์ดสมากกว่า มีเพลงให้เลือกหลากหลายกว่า แถมยังเปิดทดลองฟังได้ด้วย และช่วงนั้นแผ่นซีดีก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น พื้นที่ในร้านทาวเวอร์เรคคอร์ดสส่วนใหญ่วางขายแต่แผ่นซีดีทั้งนั้น เหลือส่วนขายเทปเล็กนิดเดียว ซีดีสมัยนั้นยังแพงมากจนซื้อไม่ไหว ถ้าเป็นเพลงฝรั่งขายแผ่นละ 450 บาทขึ้นไป เพลงไทยขายประมาณ 300 บาท แล้วหลังจากนั้นไม่นาน ก็ค่อยเกิดกระแส mp3 ขึ้นมา โดยมีจุดเริ่มต้นที่พันธุ์ทิพย์พลาซ่า และนั่นก็คือจุดสิ้นสุดการติดตามฟังเพลง การซื้อนิตยสารสีสัน และการซื้อเทปหรือแผ่นซีดีของผม ในปัจจุบัน ผมก็เอาแต่ซื้อแผ่น mp3 หรือไม่ก็ดาวน์โหลดเพลงที่ชอบจากอินเตอร์เน็ต มาเปิดฟังแบบวนๆ เท่านั้น

เทปที่ซื้อมาจากร้านป้าโดเหล่านั้นก็ทิ้งไปหมดแล้ว เพราะเทปมันยืดด้วย และเพราะผมย้ายบ้านด้วย เลยไม่ได้เก็บสะสมเอาไว้ เหลือไว้แต่ความทรงจำดีๆ เกี่ยวกับเพลงที่เคยฟังสมัยวัยรุ่น และนี่คือตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของบทเพลงที่ผมฟังในตอนเป็นวัยรุ่น ถ้าคุณอยากฟังเพลงไหน กดปุ่ม Play เลยครับ


1. The Mission UK - Butterfly On A Wheel
วงนี้เป็นแนวไซคีเดลิกร็อค มันแปลว่าอะไรไม่รู้นะ แต่เขาเขียนไว้ในหนังสือสีสันน่ะครับ เพลงนี้เป็นเพลงรองสุดท้ายในหน้าบี ของอัลบั้มชุดอะไรไม่รู้ จำไม่ได้ แต่เพราะทั้งชุด ในชุดนั้นผมชอบเพลงนี้ที่สุด



2. Acoustic Alchemy - Same Road, Same Reason
วงนี้เป็นวงดูโอ มือกีตาร์ 2 คน เล่นเพลงบรรเลงทั้งชุด เพราะโคตรๆ ทั้งชุดเช่นกัน เหมาะสำหรับเปิดฟังระหว่างการอ่านหนังสือเตรียมสอบเอนทรานซ์



3. Chris Rea - September Blue
เชื่อไหมว่าผมไม่เคยเห็นหน้านักร้องคนนี้เลย แต่เสียงเขาทุ้มนุ่ม และเพลงสะอาดสดใสเหลือเกิน




...

ปล.1 ไม่แน่ใจว่าร้านป้าโดที่ตรงตีนสะพานลอยรถไฟฟ้าสยามสแควร์ยังอยู่หรือเปล่า ได้ยินแว่วๆ ว่าแกย้ายไปแล้ว ไปเดินสยามครั้งล่าสุดก็ไม่ได้สังเกต ใครพอจะรู้ช่วยยืนยันข่าวด้วยครับ
ปล.2 เมื่อหลายเดือนก่อนไปดูหนังรอบค่ำกับน้องยุ้ย พอหนังเลิกออกมาตอนสักสี่ทุ่มกว่า ก็ไปยืนรอรถเมล์หน้าโรงหนังสยาม เจอป้าโดยืนรอรถเมล์อยู่เหมือนกัน แต่ไม่กล้าไปทักแกหรอกนะ
ปล.3 ได้ยินมาว่าป้าโดดุมาก มีพวกรายการทีวีหรือพวกนิตยสารจะไปขอสัมภาษณ์แก แกไล่ออกจากร้านทุกราย
ปล.4 ได้ยินมาว่าป้าโดมีพี่น้องฝาแฝดอีกคนนึง เปิดร้านขายเทปเหมือนกัน แต่เน้นขายเทปแนวเฮฟวี่ร็อค อยู่ตรงชั้น M พันธุ์ทิพย์พลาซ่า อันนี้ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า
ปล.5 นานมาแล้วเคยไปสัมภาษณ์น้าทิวา ที่ออฟฟิศนิตยสารสีสัน เป็นตึกแถวเก่าๆ เล็กๆ โทรมๆ ข้างในรกมาก และเหม็นกลิ่นขี้หนูอย่างแรง ตอนนั้นทึ่งเหมือนกัน ว่าที่นี่หรือคือจุดกำเนิดไลฟ์สไตล์การฟังเพลงในสมัยวัยรุ่นของเรา

...

No comments: