...
เมื่อตอนกลางปีที่แล้ว ผมเห็นป้ายนี้แปะอยู่ตรงทางเดินภายในสถานีรถไฟฟ้าในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คิดว่ามันน่ารักดี ก็เลยคว้ากล้องมาสแนปภาพเก็บเอาไว้
จนกระทั่งเมื่อเดือนที่ผ่านมา ได้เห็นภาพข่าวชาวญี่ปุ่นผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ ยืนต่อคิวยาวเหยียดด้วยความอดทนและมีระเบียบวินัย เพื่อรอซื้ออาหารและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ และยังเห็นภาพข่าวผู้บริหารโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกิดความเสียหาย ออกมาโค้งคำนับอย่างมีมารยาท เพื่อขอโทษขอโพยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
ทำให้ผมนึกถึงป้ายนี้ขึ้นมาอีกครั้ง
มันคือป้ายรณรงค์การรักษามารยาทในรถไฟฟ้า เป็นภาพคนหนุ่มกำลังฟังเพลงจากเครื่องไอพอดเสียงดังมาก จนกระทั่งคนแก่ที่ยืนอยู่ติดกันในรถไฟฟ้า ต้องเอานิ้วอุดหูตัวเอง คนหนุ่มมองเห็นดังนั้น ก็เลยยอมลดวอลุ่มเสียงเครื่องไอพอดของตนเองลง
เพียงแค่เสียงหงิงๆ ที่เล็ดลอดออกมาจากหูฟัง ยังถือเป็นเรื่องมารยาทสำคัญที่คนญี่ปุ่นเขาใส่ใจ จนต้องทำเป็นป้ายมาแปะไว้ที่สถานีรถไฟฟ้า เห็นแบบนี้ก็เลยไม่น่าแปลกใจ ว่าทำไมเมื่อเกิดภัยพิบัติร้ายแรงใหญ่โต ถึงขนาดที่ทั้งสังคมเกือบจะล่มสลายไปอยู่แล้ว คนญี่ปุ่นยังรักษาระเบียบวินัย สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบ และแสดงออกต่อกันอย่างมีมารยาท ตามที่เห็นในภาพข่าว
หลายคนให้เหตุผลว่านี่เป็นเพราะคนญี่ปุ่นมีสายเลือดบูชิโด เป็นเชื้อชาติที่มีความอดทนสูง และรักในเรื่องศักดิ์ศรีอย่างแรงกล้า ผมคิดว่านี่เป็นการให้เหตุผลแบบ Stereotype และ Racism มากเกินไป คือเหมารวมคนเชื้อชาติหนึ่งๆ ว่ามีคุณลักษณะหนึ่งๆ เหมือนกันไปหมดทุกคน
จริงๆ แล้ว คนญี่ปุ่น 1 คน ไม่ได้มีความอดทนสูงกว่า ไม่ได้รักศักดิ์ศรีมากกว่าคนไทย 1 คนหรอกนะ ถึงแม้ว่าในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เราจะได้เห็นข่าวคนไทยบางคน กรูกันเข้าไปยื้อแย่งน้ำมันปาล์มในดิสเคานต์สโตร์ น่าเอน็จอนาถเหมือนกับฝูงแร้งหิวโซ บินกรูกันไปรุมทึ้งซากศพเน่าเปื่อย หลายคนอธิบายภาพข่าวนี้ด้วยวลีฮิตของดาราตลกคนหนึ่ง ว่า Thailand Only! ซึ่งผมคิดว่านี่ก็เป็นคำอธิบายแบบ Stereotype และ Racism เช่นกัน
เพราะมนุษย์ทุกคน ทุกเชื้อชาติ ล้วนไม่แตกต่างกัน แต่คำถามคือ อะไรล่ะ!? ทำให้คนไทยเรากรูกันเข้าไปแย่งซื้อน้ำมันปาล์ม แม้ว่าเราไม่ได้อดอยากขาดแคลนเลยแม้แต่น้อย ในขณะที่คนญี่ปุ่นยังคงต่อคิวซื้ออาหารกันอยู่ได้ แม้ว่าบ้านเรือนทรัพย์สินของพวกเขาสูญสลายไปสิ้นแล้ว
คำตอบคือมุมมองที่เรามีต่อโลกรอบตัว คำถามต่อไป แล้วอะไรล่ะ!? ที่เป็นตัวกำหนดมุมมองที่เรามีต่อโลกรอบตัว
คำตอบนั้นใกล้ตัวอย่างไม่น่าเชื่อ มันคือเทคโนโลยี
อย่าเพิ่งเข้าใจผิด ผมไม่ได้หมายความว่า เป็นเพราะประเทศญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีเหนือกว่าประเทศไทย เขาจึงมีระเบียบวินัยมากกว่าเรา อีกทั้งคำว่า "เทคโนโลยี" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างสมาร์ทโฟน แทบเล็ท 3G หรือบรอดแบนด์ เท่านั้น แต่หมายรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์คิดค้นขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ
ลองนึกถึงฉากหนึ่งที่อยู่ในหนังเรื่อง 2001: A Space Odyssey ของสแตนลี่ย์ คูบริค ลิงตัวแรกที่เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ เริ่มรู้จักหยิบจับท่อนกระดูกสัตว์ขึ้นมากวัดแกว่งไปมาเป็นอาวุธ แล้วก็ขว้างมันขึ้นไปบนท้องฟ้า ภาพตัดฉับ! กลายเป็นยานอวกาศที่กำลังล่องลอยคลอด้วยเสียงเพลง The Blue Danube
ฉากนี้แหละ! ที่รวบรวมเอาเทคโนโลยีทุกสิ่งอย่าง ทุกยุคสมัยของมนุษย์ มาเสนอไว้ภายในเพียงพริบตาเดียว
ตั้งแต่ไฟ ล้อ กระดาษ หูกทอผ้า แท่นพิมพ์ เครื่องจักรไอน้ำ รถไฟ รถยนต์ ฯลฯ เรื่อยมาจนถึงไมโครชิป คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งค้อน
"If all you have is a hammer, everything looks like a nail."
"ถ้าคุณมีเพียงแค่ค้อน ทุกสิ่งทุกอย่างก็ดูเหมือนว่าเป็นตะปูสำหรับคุณ" คำกล่าวของอับลาฮัม มาสโลว์ นักจิตวิทยาชื่อดัง สะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่เราใช้ เป็นสิ่งที่กำหนดมุมมองของเราเอง
พระไพศาล วิสาโล เขียนบทความไว้ในหนังสือเรื่อง "สถานะและชะตากรรม ของมนุษย์ในยุคคอมพิวเตอร์" ว่าเทคโนโลยีทั้งหมดทั้งมวลล้วนไม่เป็นกลาง หลายคนหลงคิดว่าเทคโนโลยีเป็นเพียงวัตถุที่เรานำมาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ จนมีหลายคนชอบพูดว่าเทคโนโลยีนั้นขึ้นอยู่กับผู้ใช้งาน ว่าจะนำมาใช้งานอย่างไร ใช้ในทางดีหรือในทางร้าย
แต่แท้จริงแล้ว เทคโนโลยีไม่ได้มาวางอยู่บนโลกเราแบบไร้เดียงสาเช่นนั้น มันเกิดมาพร้อมวัตถุประสงค์ และพร้อมกับระบุวิธีการใช้งาน นั่นหมายความว่ามนุษย์ผู้สร้างได้ใส่คุณค่าและมุมมองของตนเองเข้าไปในเทคโนโลยีนั้นแล้ว เมื่อตกมาอยู่ในมือของมนุษย์ผู้ใช้ การที่เราจะใช้งานมันได้ เราต้องยอมสมาทาน รับเอาคุณค่าและมุมมองนั้นมาใส่ตัวเสียก่อนด้วย และเมื่อใช้ไปนานๆ เข้า เทคโนโลยีก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงและกำหนดตัวผู้ใช้นั้นโดยที่เขาอาจจะไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว
ป้ายรณรงค์การรักษามารยาทในรถไฟฟ้าที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็น ถึงมุมมองที่คนญี่ปุ่นมีต่อโลกรอบตัวพวกเขา ซึ่งมุมมองเช่นนี้เกิดขึ้นมาได้เพราะเทคโนโลยีรถไฟฟ้าเป็นตัวกำหนด
รถไฟฟ้าไม่ใช่เป็นเพียงแค่รถไฟฟ้า แต่มันเป็นเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับมุมมองในเรื่องความเท่าเทียมกัน ระเบียบวินัย และการอยู่ร่วมกัน
ถึงแม้สังคมญี่ปุ่นจะมีการต่อสู้แก่งแย่งแข่งขันกันสูง ผู้คนมีความเคร่งเครียดจนสถิติการฆ่าตัวตายสูงมาก แต่การที่พวกเขาต้องเบียดเสียดเยียดยัดกันอยู่ในรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นระบบขนส่งสาธารณะร่วมกันในชีวิตประจำวันทุกวันๆ ทำให้พวกเขามีมารยาท รักษาระเบียบวินัย และสามารถอยู่ร่วมกันในขบวนรถได้อย่างปลอดภัยจนถึงที่หมายปลายทางของแต่ละคน แม้ว่าในช่วงเวลาเร่งด่วน ผู้คนจะแออัดมากถึงขนาดที่ต้องให้พนักงานมาช่วยดันผู้โดยสารเข้าไปในขบวนรถ เพื่อจะได้ปิดประตูได้
จากรุ่นสู่รุ่น พวกเขาเรียนรู้ว่าการแก่งแย่งแข่งขัน ทะเลาะเบาะแว้งกัน เอารัดเอาเปรียบ หรือรบกวนผู้อื่นในที่สาธารณะ จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่แออัดอยู่แล้วนั้น ยิ่งยากลำบากมากขึ้น ทั้งต่อคนอื่นและต่อตนเอง เขาจึงหันมาให้ความร่วมมือกัน เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย ใครที่ให้ความร่วมมือกับผู้อื่นได้มากกว่า ก็จะได้รับการยอมรับ มีโอกาสอยู่รอด ได้สืบเผ่าพันธุ์ และปลูกฝังลูกหลานของตนเอง ให้รู้จักให้ความร่วมมือกับผู้อื่นมากขึ้นไปเรื่อยๆ
แตกต่างจากประเทศไทยเรา ที่เพิ่งมีรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เพียงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้เอง ระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ นอกจากนั้นต่างก็ง่อยกระรอกแทบทั้งหมด รวมถึงระบบขนส่งทางรางทั่วประเทศอย่างรถไฟ ก็ล้าสมัย ชำรุด และขาดประสิทธิภาพ จนพึ่งพาอะไรไม่ได้ คนไทยทั้งประเทศต้องหนีไปใข้เทคโนโลยีรถยนต์ ทั้งรถส่วนตัว รถเมล์ รถทัวร์ หรือแม้กระทั่งจักรยานยนต์
และก็แน่นอนว่า ... รถยนต์ไม่ใช่เป็นเพียงแค่รถยนต์
เวลาเรานั่งอยู่ในรถไฟฟ้า เรายังได้เห็นหน้าเห็นตาคนอื่นรอบๆ ตัว ได้กลิ่นเนื้อตัวของเขา ได้แชร์อากาศหายใจร่วมกัน ได้สัมผัสถึงความทุกข์ความสุขที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน แต่เวลาเรานั่งอยู่ในรถยนต์ เรามองเห็นเพียงแค่แผ่นเหล็กของรถคันอื่น
รถยนต์เป็นเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับมุมมองในแบบปัจเจก ผู้ใช้ต้องแยกตัวออกจากผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ระบบปรับอากาศทำให้เราไม่สนใจสภาพมลพิษบนท้องถนน ระบบเครื่องเสียงทำให้เราบันเทิงเริงรมย์อยู่ในโลกส่วนตัว ระบบเครื่องยนต์ทำให้เราพุ่งทะยานไปข้างหน้าแบบตัวใครตัวมัน เครื่องยนต์ของใครแรงกว่า ก็ไปได้ไกลกว่า แซงได้เร็วกว่า ปรู้ดปร้าดทันใจมากกว่า
จากรุ่นสู่รุ่น พวกเราเรียนรู้ว่ารถคันอื่นล้วนเป็นคู่แข่ง คนข้ามถนนคือสิ่งกีดขวาง คนขี่จักรยานคือคนที่รนหาที่ตายเอง ต้นไม้บนเกาะกลางถนนน่าจะตัดทิ้งไปเสีย จะได้เอามาทำถนนเพิ่มอีก 1 เลน พื้นที่ว่างเปล่า หรือแม้กระทั่งวัดวาอาราม ก็ถูกนำมาทำเป็นที่จอดรถทั้งหมด
เรามองไม่เห็นมนุษย์คนอื่น มองไม่เห็นโลกรอบตัว มองเห็นแต่กล่องเหล็กมากมายที่เป็นคู่แข่ง
ในสังคมที่มีมุมมองแบบนี้ คนแก่งแย่งได้มากกว่า ก็จะได้รับการยอมรับ และมีโอกาสอยู่รอดต่อไป ได้สืบเผ่าพันธุ์ และปลูกฝังลูกหลานของตนเองให้แก่งแย่งเก่งขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น ก็ไม่ต้องแปลกใจถ้าเราจะได้เห็นคนไทยบางคนขับรถแข่งกันไปแข่งกันมา จนสุดท้ายต้องคว้าปืนขึ้นมายิงใส่กัน หรือคนไทยบางคนขับรถชนคันอื่นจนตกจากทางด่วนลงมาตายเกือบทั้งคัน
ในสังคมสมัยใหม่ การคมนาคม เดินทาง ขนส่ง คือมิติที่มีความสำคัญที่สุดในชีวิตประจำวัน เพราะเราไม่ได้มีระบบเศรษฐกิจและระบบการผลิตแบบอยู่กับที่ แต่เราอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบแลกเปลี่ยน หมุนเวียน และเรามีระบบการผลิตขนาดใหญ่ที่ต้องมีเคลื่อนย้ายแรงงานและวัตถุดิบตลอดเวลา ในแต่ละวัน เราต้อใช้เวลากับการเดินทางมากพอๆ กัน หรือมากกว่าเวลาที่เราเอาไปทำกิจกรรมอื่นๆ เสียอีก
เทคโนโลยีที่มีอิทธิพลต่อมุมมองของเราทุกคนมากที่สุด จึงได้แก่เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการคมนาคม
การที่เราไม่มีระบบขนส่งสาธารณะให้ใช้งาน มีแต่เพียงทางด่วนที่ฉวัดเฉวียนอยู่เต็มท้องฟ้ากรุงเทพฯ และถนนคอนกรีตเสริมเหล็กที่ตัดเข้าไปถึงชนบททุรกันดารเพียงเพื่อให้ควายเดิน นี่ก็เท่ากับบีบให้คนไทยทั้งประเทศต้องหันไปใช้รถยนต์ และสมาทานเอาคุณค่าและมุมมองแบบตัวใครตัวมันมาใช้ ซึ่งแน่นอนว่าเราเอามันมาใช้กับมิติอื่นๆ ของชีวิตด้วย
ไม่ต้องแปลกใจ ที่ในมิติอื่นๆ ของชีวิต เราก็แก่งแย่งแบบเดียวกันนี้ เราจึงได้เห็นคนไทยแย่งกันซื้อน้ำมันปาล์มเหมือนแร้งลง ทั้งที่เราไม่ได้หิวโหยแต่อย่างใด หรือเมื่อเห็นรถกระบะพลิกคว่ำอยู่ข้างถนน คนไทยก็แห่กันเข้าไปปล้นชิงทรัพย์สินเงินทองของผู้ประสบอุบัติเหตุ
สีหน้าของคนไทยที่กรูกันเข้าไปแย่งชิง นั้นยิ้มแย้ม หัวเราะ พวกเขากำลังสนุกสนานและสะใจกับกิจกรรมการแย่งชิง เหมือนกับสีหน้าของคนไทยที่ขับรถฝ่าไฟแดงมาโดยไม่โดนตำรวจเรียก หรือไปแย่งปาดเข้าเลนขวาตรงคอสะพานได้สำเร็จ
สีหน้าของคนญี่ปุ่นที่กำลังรอคิวซื้ออาหารหลังจากที่เพิ่งประสบภัยพิบัติ ก็เหมือนกับสีหน้าของตัวการ์ตูนในป้ายรณรงค์รักษามารยาทในรถไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นนั่นเอง มันเป็นสีหน้าของคนที่กำลังเสียใจและเกรงใจในเวลาเดียวกัน คนหนุ่มกำลังเสียบหูฟังเพลงอยู่เพลินๆ แล้วเหลือบไปเห็นคนแก่ข้างๆ กำลังอุดหู เขารีบลดวอลุ่มไอพอดของตนเองลงทันที โดยที่ไม่ต้องให้ใครร้องขอ ตักเตือน หรือบังคับ
ผมไม่เชื่อว่าคนญี่ปุ่นจะดีเพราะมีสายเลือดบูชิโด และไม่เชื่อว่าคนไทยจะเลวเพราะมีสันดาน Thailand Only! ผมเชื่อว่าเราต่างก็ถูกกำหนดตามคุณค่าและมุมมองที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เราเลือกใช้ หรือถูกบังคับให้ใช้
เราไม่ได้ต้องการเทคโนโลยีที่ใหม่ที่สุด ดีที่สุด แพงที่สุด ล้ำหน้ากว่าประเทศอื่นที่สุด แต่เราต้องการเทคโนโลยีที่ให้คุณค่าและมุมมองที่ถูกต้องแก่เรา เราจะได้เห็นมนุษย์เป็นมนุษย์ สัมผัสถึงความเท่าเทียมกัน และอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข โดยไม่ต้องแย่งชิงหรือเอาชนะกันแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพียงเพื่อความสะใจ
ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้นไปกว่านี้ สิ่งที่ต้องเปลี่ยน คือรากฐานแก่นแท้ที่สุดของสังคม คือเทคโนโลยีนั่นเอง
...
4 comments:
หวัดดีครับคุณวุฒิชัย
เพิ่งมีโอกาสได้อ่าน "นี่ นั่น โน่น" และ "The Aesthetics of Loneliness - สุนทรียะแห่งความเหงา" ในรูปแบบ pocket book
ไม่รู้เป็นเพราะเราเป็นคนรุ่นเดียวกันหรือเปล่า ผมเลยค่อนข้าง "อิน"ไปกับบทความของคุณเอามากๆ หรือ มันเป็นเรื่องของ "อารมณ์ร่วมแห่งยุคสมัย" ก็ไม่รู้ แต่สรุปว่า ผมชอบเรื่องราวที่คุณเล่าให้ฟังมากครับ
ใน "นี่ นั่น โน่น" มีอยู่ตอนนึงที่คุณพูดถึงเด็กอัจฉริยะที่คิดเลขเร็วทำนองที่ว่า 999,990 คูณ 999,995 ได้ในพริบตา แล้วคุณคิดว่ามันน่าจะมีเทคนิคคิดเลขเร็วอะไรบางอย่าง
จริงๆแล้วมันมีหลายเทคนิคที่ใช้ได้ และ ไม่จำเป็นต้องเป็น "อัจฉริยะ" อะไรทำนองนั้นถึงจะคิดได้จริงอย่างที่คุณว่านั่นแหล่ะครับ มันอยู่ที่"ความคุ้นเคย"มากกว่า (ผมค่อนข้างรู้สึกไม่ค่อยดีกับคำว่า "อัจฉริยะ"ที่มักใช้กันจนเฝือไปหมด)
ผมจะลองยกตัวอย่างวิธีนึงก็ได้ครับ
ถ้าเรามองโจทย์ 999,990 x 999,995 เผินๆ เราก็จะรู้สึกว่ามันมีค่าใกล้ 1,000,000 ทั้ง 2 ตัว มีค่าแตกต่างไปซัก 10 และ 5 ใช่มั้ยครับ
ถ้าเขียนอีกแบบนึงเราจะได้ว่า (1ล้าน-10)คูณกับ(1ล้าน-5)ซึ่งเราก็จะเห็นรูปแบบของการคูณตัวประกอบประเภท (a-b)(a-c) ซึ่งในแต่ละวงเล็บจะมีตัวหน้าเหมือนกันใช่มั้ยครับ
เราลองเอามาคูณกันดูจะได้เท่ากับ
aคูณa - aคูณb -aคูณc + bคูณc
ดูเผินๆคุณอาจจะแย้งว่าจะคิดแบบนี้ไปทำไมให้มันยุ่งยากใช่มั้ยครับ แต่จริงๆแล้วมันไม่ยากตรงที่ตัวเลขที่เราใช้มันเป็นตัวเลขที่ลงท้ายด้วย 0 กับ 5
เราจะได้ 999,990 x 999,995 = (1ล้าน-10)คูณกับ(1ล้าน-5)
= 1ล้าน คุณ 1ล้าน - 10 คูณ 1 ล้าน - 5 คูณ 1 ล้าน + 5 คูณ 10
= 1 ล้านล้าน - 10 ล้าน - 5 ล้าน + 50
= 1 ล้านล้าน -15 ล้าน +50
= 999,900ล้าน +100ล้าน - 15ล้าน +50
= 999,900ล้าน + 85ล้าน +50
= 999,985ล้าน +50
= 999,958,000,050
เป็นไงบ้างครับ คุณอาจจะไม่เห็นด้วยว่า มันซับซ้อนเกินไป เสียเวลาเกินไปที่คิดอย่างนี้ จริงๆแล้วข้อนี้กับคนที่"คุ้นเคย"กับตัวเลขทำนองนี้ แม้จะดูหลายขั้นตอน แต่คิดจริงๆไม่ถึง 10 วินาทีหรอกครับ
ถ้าตัวอย่างวิธีนี้มันดูยากไป ลองลดตัวเลขเหลือ 2 หลักดู และ ใช้หลักการเดียวกันก็จะเห็นรูปแบบอะไรบางอย่าง
เช่น 90 x 95 = ?
เราจะเห็นว่าผลต่างยังเป็น 10 กับ 5 เหมือนเดิม แต่ตัวเลขลดลงเยอะ
เราจะได้ 100 x100 -10x100- 5x100 +10x5
= 1หมื่น -1,500 +50
= 8,550
ทำบ่อยๆ เราอาจจะย่อมันเหลือแค่ 90 มาลบกับผลต่างของเลขอีกตัว คือ 5 เป็น 85 ได้ 2 ตัวหน้า
แล้วเอา 5คูณ 10 = 50 เป็น 2 ตัวหลัง
จะได้ผลลัพธ์ 8,550 เช่นกัน!!!!!
ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจหรอกครับที่จะมีเด็กคิดเลขเร็วอะไรทำนองนี้ได้ และ ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็ก"อัจฉริยะ"อะไรแบบนั้นด้วย
เทคนิคพวกนี้มีในหนังสือคิดเลขเร็วมากมาย ขึ้นอยู่กับว่า เราจะเคยหันมา"สนใจ"มันบ้างหรือเปล่า
หวัดดีครับคุณวุฒิชัย
เพิ่งมีโอกาสได้อ่าน "นี่ นั่น โน่น" และ "The Aesthetics of Loneliness - สุนทรียะแห่งความเหงา" ในรูปแบบ pocket book
ไม่รู้เป็นเพราะเราเป็นคนรุ่นเดียวกันหรือเปล่า ผมเลยค่อนข้าง "อิน"ไปกับบทความของคุณเอามากๆ หรือ มันเป็นเรื่องของ "อารมณ์ร่วมแห่งยุคสมัย" ก็ไม่รู้ แต่สรุปว่า ผมชอบเรื่องราวที่คุณเล่าให้ฟังมากครับ
ใน "นี่ นั่น โน่น" มีอยู่ตอนนึงที่คุณพูดถึงเด็กอัจฉริยะที่คิดเลขเร็วทำนองที่ว่า 999,990 คูณ 999,995 ได้ในพริบตา แล้วคุณคิดว่ามันน่าจะมีเทคนิคคิดเลขเร็วอะไรบางอย่าง
จริงๆแล้วมันมีหลายเทคนิคที่ใช้ได้ และ ไม่จำเป็นต้องเป็น "อัจฉริยะ" อะไรทำนองนั้นถึงจะคิดได้จริงอย่างที่คุณว่านั่นแหล่ะครับ มันอยู่ที่"ความคุ้นเคย"มากกว่า (ผมค่อนข้างรู้สึกไม่ค่อยดีกับคำว่า "อัจฉริยะ"ที่มักใช้กันจนเฝือไปหมด)
ผมจะลองยกตัวอย่างวิธีนึงก็ได้ครับ
ถ้าเรามองโจทย์ 999,990 x 999,995 เผินๆ เราก็จะรู้สึกว่ามันมีค่าใกล้ 1,000,000 ทั้ง 2 ตัว มีค่าแตกต่างไปซัก 10 และ 5 ใช่มั้ยครับ
ถ้าเขียนอีกแบบนึงเราจะได้ว่า (1ล้าน-10)คูณกับ(1ล้าน-5)ซึ่งเราก็จะเห็นรูปแบบของการคูณตัวประกอบประเภท (a-b)(a-c) ซึ่งในแต่ละวงเล็บจะมีตัวหน้าเหมือนกันใช่มั้ยครับ
เราลองเอามาคูณกันดูจะได้เท่ากับ
aคูณa - aคูณb -aคูณc + bคูณc
ดูเผินๆคุณอาจจะแย้งว่าจะคิดแบบนี้ไปทำไมให้มันยุ่งยากใช่มั้ยครับ แต่จริงๆแล้วมันไม่ยากตรงที่ตัวเลขที่เราใช้มันเป็นตัวเลขที่ลงท้ายด้วย 0 กับ 5
เราจะได้ 999,990 x 999,995 = (1ล้าน-10)คูณกับ(1ล้าน-5)
= 1ล้าน คุณ 1ล้าน - 10 คูณ 1 ล้าน - 5 คูณ 1 ล้าน + 5 คูณ 10
= 1 ล้านล้าน - 10 ล้าน - 5 ล้าน + 50
= 1 ล้านล้าน -15 ล้าน +50
= 999,900ล้าน +100ล้าน - 15ล้าน +50
= 999,900ล้าน + 85ล้าน +50
= 999,985ล้าน +50
= 999,958,000,050
เป็นไงบ้างครับ คุณอาจจะไม่เห็นด้วยว่า มันซับซ้อนเกินไป เสียเวลาเกินไปที่คิดอย่างนี้ จริงๆแล้วข้อนี้กับคนที่"คุ้นเคย"กับตัวเลขทำนองนี้ แม้จะดูหลายขั้นตอน แต่คิดจริงๆไม่ถึง 10 วินาทีหรอกครับ
ถ้าตัวอย่างวิธีนี้มันดูยากไป ลองลดตัวเลขเหลือ 2 หลักดู และ ใช้หลักการเดียวกันก็จะเห็นรูปแบบอะไรบางอย่าง
เช่น 90 x 95 = ?
เราจะเห็นว่าผลต่างยังเป็น 10 กับ 5 เหมือนเดิม แต่ตัวเลขลดลงเยอะ
เราจะได้ 100 x100 -10x100- 5x100 +10x5
= 1หมื่น -1,500 +50
= 8,550
ทำบ่อยๆ เราอาจจะย่อมันเหลือแค่ 90 มาลบกับผลต่างของเลขอีกตัว คือ 5 เป็น 85 ได้ 2 ตัวหน้า
แล้วเอา 5คูณ 10 = 50 เป็น 2 ตัวหลัง
จะได้ผลลัพธ์ 8,550 เช่นกัน!!!!!
ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจหรอกครับที่จะมีเด็กคิดเลขเร็วอะไรทำนองนี้ได้ และ ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็ก"อัจฉริยะ"อะไรแบบนั้นด้วย
เทคนิคพวกนี้มีในหนังสือคิดเลขเร็วมากมาย ขึ้นอยู่กับว่า เราจะเคยหันมา"สนใจ"มันบ้างหรือเปล่า
โทษทีที่ตอบช้านะครับ
ผมตั้งค่า privacy ให้บล็อคทุกคอมเมนต์เพื่อรอตรวจสอบ เพราะในนี้มี spam เยอะมาก
ขอบคุณมากที่มาช่วยขยายความเรื่องโจทย์เลขนี้ ผมก็อยากรู้เหมือนกัน
เรื่องเทคนิคคิดเลขเร็วนี่ผมสอนลูกสาวตั้งแต่อยู่ชั้นป.1แล้ว และ แกล้งลองให้ลูกสาวผมคิดเลขเร็วโชว์ให้เพื่อนๆผมดู ปรากฎว่าทุกคนก็ตกตะลึงกันหมด amazingมาก บอกว่าลูกสาวผมเป็น"อัจฉริยะ" ( ซึ่งเป็นคำที่ผมไม่ชอบเลย พับผ่าสิ!!!)
แต่ไม่ยักมีใครเคยถามเลยว่า ผมสอนลูกสาวยังไง และ ใช้เทคนิคอะไรถึงได้คิดได้เร็วขนาดนั้น ผมว่าเรื่องแบบนี้ก็สะท้อนวิธีคิดของคนไทยเราได้เป็นอย่างดี ที่มักมองแต่"ผลลัพธ์" มากกว่า "กระบวนการ"
ผมเคยเขียนเทคนิคคิดเลขเร็วเอาไว้ให้พ่อแม่สอนลูกๆในblogนี้ครับ ลองเข้าไปอ่านดูเล่นๆนะครับ
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=pomjom&date=02-05-2009&group=1&gblog=43
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=pomjom&date=13-05-2009&group=1&gblog=44
ป.ล. ขอโทษครับ รีบพิมพ์ไปหน่อย ตัวเลขมันเลยสลับกันอยู่นิดนึง
คำตอบจริงๆเป็น 999,985,000,050 ไม่ใช่999,958,000,050 (ค่าผิดไปเป็นหลักสิบล้านเลยแฮะ)
Post a Comment