...
ที่นั่งสุดท้ายที่เหลืออยู่บนรถเมล์ฟรีคันนี้ คือที่นั่งข้างๆ หญิงเร่ร่อนคนหนึ่ง
ร่างกายขนาดใหญ่ยักษ์ของเธอ ดูเหมือนเอาถุงของเหลวขนาดใหญ่หลายๆ ถุง มาวางกองซ้อนกันไว้ แผ่กว้างออกด้านข้างจนแทบเต็มเบาะ ผมเผ้าและเสื้อผ้าดูสกปรกมอมแมม และข้าวของสัมภาระมากมายพะรุงพะรัง วางเกะกะไว้รอบๆ ตัว จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมที่นั่งตรงนี้ยังเหลืออยู่
คุณเคยสังเกตหรือเปล่า? ในกรุงเทพฯ ช่วงนี้มีคนเร่ร่อนแบบนี้ให้เห็นมากขึ้นตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บนรถเมล์ฟรี ไม่รู้ว่ามันเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร ผมเดาว่าอาจจะตั้งแต่เมื่อกลางปีก่อน ตอนที่ทางกทม. สั่งปิดสนามหลวงเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ครั้งใหญ่
คนที่ไม่มีบ้านให้กลับ และไม่มีออฟฟิศให้ไป ไม่มีใครที่กำลังรอคอย และไม่มีใครให้คิดถึง ผมเดาไม่ออกเลย ว่าทั้งชีวิตที่ผ่านมาของคนเหล่านี้ จะต้องผ่านเรื่องราวเลวร้ายอะไรมาบ้าง
ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ นั้นโชคดีกว่ามาก เพราะนอกจากบ้านและที่ทำงาน เรายังมี The Third Place เช่นร้านกาแฟหรือศูนย์การค้า เพื่อให้ไปนั่งหายใจทิ้งหรือเดินเล่นเตร็ดเตร่ แต่สำหรับคนเร่ร่อนเหล่านี้ที่ไม่มีเงินมากพอจะจ่ายค่ากาแฟร้อนแก้วละร้อยกว่าบาท และไม่มีสภาพร่างกายที่น่าพิศมัยในสายตาของฝูงชน
พวกเขาจึงต้องมาอาศัยหลบอยู่บนรถเมล์ฟรีแบบนี้ โดยไม่ได้ใช้มันเป็น The Third Place หรอก พวกเขาไม่มี The First และ The Second Place เพราะในเมื่อไม่มีจุดเริ่มต้น และไม่มีจุดหมายปลายทาง การดำรงอยู่ ณ จุดพิกัดใดๆ จึงล้วนไร้ความหมาย และไม่มีความแตกต่างกัน
ชีวิตต้องล่องลอยอยู่ท่ามกลางระหว่างทุกสถานที่
คุณกำลังคิดอะไรอยู่? ผมเฝ้ามองเธอ และนึกสงสัยขึ้นมา อยากจะเอ่ยปากถาม
เส้นผมของเธอปลิวไสวด้วยลมร้อนระอุจากท้องถนนภายนอก แสงแดดยามบ่ายสาดเปรี้ยงเข้ามาปะทะใบหน้าอันหยาบกร้านของเธอ สายตาของเธอมองออกไปนอกหน้าต่างรถเมล์อย่างเหม่อลอย
ภาพนี้น่าจะโรแมนติก สวยงาม น่าเคลิบเคลิ้มดี เหมือนฉากนางเอกขับรถเปิดประทุนท่ามกลางสายลมและเปลวแดดบนถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ในหนังแนว Road Movies บางเรื่อง
เพียงแต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้โรแมนติกแบบนั้น กลิ่นเหม็นเปรี้ยวจากร่างกายและเสื้อผ้าของเธอ โชยอ่อนๆ มาปะทะจมูกผมซึ่งกำลังนั่งอยู่ข้างๆ ตลอดเวลา
ผมเพิ่งสังเกตข้าวของสัมภาระมากมายของเธอ ถูกจัดเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบ เธอมีร่มเก่าๆ คันหนึ่ง พับเก็บและแขวนมันไว้กับราวจับตรงพนักพิงของเบาะด้านหน้า เธอมีถุงพลาสติกสีเขียวใบใหญ่จากห้างบิ๊กซี ซ้อนกันไว้ 4-5 ชั้นเพื่อเพิ่มความทนทาน เธอจึงใช้ประโยชน์มันได้แทบไม่ต่างกับกระเป๋าถือแอร์เมส พราด้า หรือหลุยส์วิตตอง โดยเกี่ยวมันไว้กับก้านร่มที่พับอยู่ เพื่อจะได้ไม่ต้องวางบนตักให้หนักและเกะกะ
ข้างในกระเป๋าถือสุดหรูของเธอนั้น ยังมีถุงพลาสติกใบเล็กๆ ยิบย่อยอยู่ภายในอีกหลายใบ ผมรู้เพราะเห็นเธอควักถุงพลาสติกเล็กใบเล็กๆ ออกมาใบหนึ่ง บรรจงแกะปมปากถุงที่มัดไว้อย่างแน่นหนา ข้างในนั้นเป็นถุงพลาสติกใสใส่ลูกชิ้นทอด เธอแกะหนังสติ๊กที่รัดปากถุงออก แล้วนำหนังสติ๊กเส้นเดียวกันนั้นมารัดเส้นผมยุ่งเหยิงที่กำลังปลิวไสว เพื่อไม่ให้เกะกะเลอะเทอะระหว่างการกินลูกชิ้นถุงนั้น
เธอควานมือลงไปในแอร์เมสใบนั้นอีกครั้ง แล้วหยิบแท่งไม้เล็กๆ ออกมา ลักษณะคล้ายปากกาสไตลัส ที่เอาไว้ใช้จิ้มหน้าจอเครื่องพีดีเอสมัยก่อน ผมเดาว่ามันคือเศษตะเกียบไม้แบบใช้แล้วทิ้ง เธอนำมันมาหักให้สั้นลง ฝนปลายไม้ให้มีความแหลมเล็กน้อย แล้วเก็บไว้เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการกินอาหาร
เธอจิ้มลูกชิ้นปิ้งขึ้นมากินพลาง มองวิวนอกหน้าต่างรถเมล์ฟรีไปพลาง คงมีความสุขไม่ต่างจากชนชั้นกลาง ที่ไปนั่งจิ้มชีสเค้กชิ้นละร้อยกว่าบาท อยู่ที่โต๊ะริมหน้าต่างร้านเบเกอรี่ชิคๆ ฮิปๆ แล้วเฝ้ามองคนแปลกหน้าเดินผ่านไปมา เพียงแต่วิวบนรถนี้น่าจะตื่นตาตื่นใจกว่า
เมื่อกินเสร็จ เธอยังใช้ประโยชน์จากสไตลัสแท่งนั้น ด้วยการนำมาแคะขี้ฟันต่อ ก่อนจะเช็ดปลายแหลมของมันกับชายเสื้อจนสะอาด แล้วหย่อนมันกลับเข้าไปเก็บที่่เดิม นับว่าเป็นอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ ที่สารพัดประโยชน์จริงๆ สามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานได้ โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นอะไรเข้าไปใส่เพิ่มเลย
หลังจากนั้นเธอก็หยิบขวดน้ำดื่มและผ้าขนหนูออกมา แล้วค่อยๆ รินน้ำใส่บนผ้า นำมาเช็ดหน้าเช็ดตา แล้วก็เช็ดมือจนสะอาด ก่อนจะเก็บกวาดเศษอาหารที่หล่นบนเสื้อ ใส่กลับเข้าไปในถุงพลาสติก ถอดหนังสติ๊กที่มัดผมอยู่ออกมา นำกลับมามัดปากถุงให้สนิท แล้วทิ้งกลับเข้าไปในกระเป๋าถือใบเดิม เธอมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าบางคนที่กินแฮมเบอร์เกอร์ในร้านฟาสต์ฟู้ด แล้วไม่ยอมเก็บเศษขยะและเศษอาหารไปทิ้งลงถังเมื่อจะออกจากร้าน
หลังจากนั้นตลอดทางที่นั่งเคียงข้างเธออยู่บนรถเมล์ฟรีคันนี้ ผมได้รับความเพลิดเพลินอย่างบอกไม่ถูก จากการเฝ้าดูเธอหยิบจับข้าวของสารพัด ของกิน ของใช้ ยาดม ยาอม ยาหม่อง ขนม น้ำดื่ม แว่นตา ผ้าปิดปาก ฯลฯ เข้าๆ ออกๆ จากกระเป๋าถือสุดหรูใบนั้น
ทุกกิจกรรมการเคลื่อนไหวล้วนจำกัดอยู่ในวงรัศมีแคบๆ รอบตัวเธอ ระมัดระวังไม่ให้ไปกระทบกระแทก หรือรบกวนผู้อื่นที่อยู่ใกล้เคียง เหมือนกับในวันเสาร์-อาทิตย์ พวกเราชอบไปนั่งงอก่องอขิง เบียดเสียดกันแบบไหล่ชนไหล่ อยู่ในร้านกาแฟเก๋ๆ แล้วก็ควัก iPad ขึ้นมาเล่นเกมนกไร้สาระหรือออนไลน์เฟซบุคเพื่อโชว์คนรอบข้าง The Third Place เหล่านี้แปรสภาพกลายเป็นสลัมของชนชั้นกลาง โดยไม่เห็นมีใครปริปากบ่น
ผมคิดว่าเธอไม่แตกต่างจากพวกเรา ที่เป็น Gadget Freak ในยุคสมัยแห่ง Digital Nomad สักเท่าไรหรอก
เพียงแต่เธอเป็นคนที่จำเป็นต้องเร่ร่อนจริงๆ และแกดเจ้ททั้งหลายของเธอไม่มีราคาค่างวด ไม่มีวงจรไฟฟ้าอยู่ภายในเท่านั้นเอง ในขณะที่พวกเราต้องพกแกดเจ้ทเป็นอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ราคาแพงลิ่้ว เพื่อที่จะได้หนีออกจากบ้านและที่ทำงานเป็นครั้งคราว แล้วมาเร่ร่อนกันแบบขำๆ อยู่บนเครือข่ายการสื่อสารในยุคดิจิตอล
ในวิถีแห่งการเร่ร่อน ไม่ว่าในโลกยุคดึกดำบรรพ์ของพวกชนเผ่าโบราณ หรือในโลกยุคดิจิตอลของพวกเรา กฎกติกาย่อมไม่แตกต่างกัน ความอยู่รอดปลอดภัยนั้นขึ้นอยู่กับการรักษาเกียรติของตัวเองและเคารพศักดิ์ศรีของผู้อื่น ส่วนความกินดีอยู่ดีก็ขึ้นอยู่กับการเข้ายึดครองจุดพิกัดหนึ่งๆ เอาไว้ได้เพียงชั่วคราว อาจจะเป็นท้องทุ่งหญ้าเอาไว้เลี้ยงสัตว์ หรือเก้าอี้โซฟานุ่มๆ ในร้านกาแฟ หรือเบาะแข็งๆ บนรถเมล์ฟรี เพื่อทำมาหากิน ทำภารกิจอะไรสักอย่างให้เสร็จสิ้น ก่อนจะละทิ้งมันไว้เบื้องหลัง เพื่อออกเดินทางเร่ร่อนต่อไป
แกดเจ้ทคือสิ่งสำคัญในวิถีแห่งการเร่ร่อน มันคือการควบแน่นเทคโนโลยียิ่งใหญ่ มาสู่อุปกรณ์ขนาดเล็กมากพอที่คนเราพกพาติดตัวได้ มันช่วยให้คนเร่ร่อนเอาชีวิตรอดอยู่ได้ ท่ามกลางความโหดร้ายของผู้คน และความแร้นแค้นของโลกในระหว่างการเดินทาง
นับตั้งแต่หินเหล็กไฟที่พกใส่กระเป๋าไว้เพื่อใช้ก่อกองไฟ ผ้าขาวม้าและมีดพร้าที่เป็น Mulitools เหมือนกับมีดพกสวิส มันเป็นอุปกรณ์อเนกประสงค์ที่ผู้ใช้สามารถพลิกแพลง ประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายตามแต่สถานการณ์
เรื่อยมาจนถึงสมาร์ทโฟนเครื่องเล็กๆ บนฝ่ามือ ที่เราใช้ทำงานได้ทุกสิ่งทุกอย่าง โทรศัพท์ จดบันทึก แชท เช็คอีเมล์ ถ่ายรูป ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม เล่นเฟซบุค ทวิตเตอร์ ฯลฯ มันเป็นได้แม้กระทั่งไม้บรรทัดเล็กๆ ถ้าคุณหาโหลดแอพพลิเคชั่นมาใส่เข้าไป
ถ้าหญิงเร่ร่อนคนนี้มีสมาร์ทโฟนสักเครื่องอยู่ในมือ เธออาจจะอยากบอกเล่าความคิดและความรู้สึกในขณะนี้ ด้วยการอัพเดตสเตตัสใส่เฟซบุค
คุณกำลังคิดอะไรอยู่? ผมเฝ้ามองเธอ และนึกสงสัยขึ้นมา อยากจะเอ่ยปากถาม
"เทคโนนะคะ ... เทคโน" กระเป๋ารถเมล์ตะโกนบอกป้ายที่เรากำลังจะไปถึง
เด็กนักศึกษากลุ่มใหญ่ที่นั่งอยู่เบาะสุดท้ายของรถเมล์ ทะยอยลุกขึ้นมาเตรียมตัวลงจากรถ
หญิงเร่ร่อนก็เตรียมลงจากรถด้วยเช่นกัน เธอเก็บกระเป๋าถือสุดหรูและร่มของเธอ แล้วค่อยๆ ลุกขึ้นยืนอย่างเชื่องช้า ร่างกายใหญ่ยักษ์เหมือนถุงของเหลวกองทับซ้อนกัน ค่อยๆ ขยายตัวสูงขึ้่นไปในแนวตั้ง ผมเอี้ยวตัวหลบให้เธอค่อยๆ เดินโขยกขเยกออกไป กระเป๋ารถเมล์หันมามองเธอด้วยสายตาเอือมระอา เด็กนักศึกษากลุ่มใหญ่เตรียมแหวกทางให้เธอเดินผ่านไปด้วยสายตาที่รังเกียจ
ทุกครั้งที่ผ่านมาแถวเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ บริเวณถนนพิบูลสงครามตัดกับสะพานพระรามเจ็ด ผมมักจะใช้แอพฯ Foursquare ที่โหลดใส่สมาร์ทโฟนเอาไว้ เพื่อเช็คอินพิกัดตำแหน่งจุดหนึ่ง
มีคนตั้งชื่อไว้ว่า "ฝูงคนป่าสะพายบีบี"
คงเป็นอาจารย์หรือนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์สักคน ที่มีวรรณศิลป์และอารมณ์ขัน เขาเสียดสีสังคมร่วมสมัยที่เปี่ยมไอทีนี้ได้อย่างน่ารัก ด้วยการตั้งชื่อพิกัดตำแหน่งนี้ลงไปในแอพพลิเคชั่นยอดนิยมของชาว Digital Nomad
ในโลกยุคดิจิตอล สถานที่จริงและสถานที่เสมือนซ้อนทับกันอยู่อย่างสลับซับซ้อน คนเร่ร่อนอย่างเธอและอย่างพวกเรา ต่างก็สะพายแกดเจ้ทของตนเอง เพื่อล่องลอยอยู่ในท่ามกลางระหว่างทุกสถานที่
หลังจากที่สนามหลวงปิดปรับปรุงภูมิทัศน์ ผมเดาว่าเธอคงต้องย้ายมาอาศัยนอนอยู่ใต้สะพานใหญ่ๆ อย่างสะพานพระรามเจ็ด เพราะบริเวณนั้นมีสวนสาธารณะและลานกว้าง
ไม่มีใครอยากเร่ร่อนจริงๆ หรอก ถ้าชีวิตเขามีทางเลือกมากกว่านี้ ใครๆ ก็อยากมีที่ทางสักที่ ให้ชีวิตนี้ได้ลงหลักปักฐาน Settle Down กับใครสักคน
นอกจากพวกฝูงคนป่าสะพายบีบี หรือ Digital Nomad ที่ชอบเร่ร่อนแบบขำๆ
ในขณะที่คนอย่างเธอไม่มีทางเลือก
เธอไปยืนอยู่ริมถนนเพื่อรอข้ามถนน แน่นอนว่าด้วยสภาพร่างกายแบบนี้ เธอเดินขึ้นสะพานลอยไม่ไหวหรอก ในมือยังถือกระเป๋าสุดหรูและร่มคันนั้นเอาไว้
รถเมล์ฟรีค่อยๆ เคลื่อนที่ต่อไปช้าๆ ชีวิตเร่ร่อนของผมยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง สมาร์ทโฟนและแอพฯ Foursquare ยังถืออยู่ในมือ
เราพยายามบอกตัวเองว่ามีอะไร ด้วยข้าวของที่มีในมือ แต่ในความจริงแล้ว เราไม่มีอะไรเลย
...
1 comment:
ทุกครั้งที่ผมกลับไปกรุงเทพฯ (ผมใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกหลายปีแล้ว) จะเห็นเอกลักษณ์ของเมืองกรุงของเราเสมอ คือ คนหลากชนชั้นฐานะอยู่ผสมปนเปกันอย่างกลมกลืน ในทุกสถานที่ ทุกมุมถนน ผมทั้งทึ่งทั้งฉงน หลายครั้งผมเห็นผู้คนต่างๆ ก็คิดถามขึ้นมาเช่นกันว่าพวกเขากำลังคิดอะไรอยู่
ความหลากหลายเป็นลักษณะร่วมของเมืองใหญ่ทั่วโลก แต่ผมไม่เคยเห็นความ "กลมกลืน" เท่าที่กรุงเทพฯ เลยครับ
Post a Comment