Tuesday, May 04, 2010

ถาม-ตอบ "นี่นั่นโน่น"

...


 


 - พูดถึงหนังสือเล่มล่าสุดว่า มีที่มาที่ไปอะไรยังไงบ้าง


 เรียงความทั้ง 42 เรื่องที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเขียนบล็อกส่วนตัว ซึ่งเริ่มต้นในช่วงกลางปี พ.ศ.2549 ตามคำชักชวนและยุยงของเพื่อนๆ ทางอินเทอร์เน็ต ช่วงเวลานั้น ผมว่ามันเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์วุ่นวายสับสนเกิดขึ้นในชีวิตผม รวมไปถึงสภาพสังคมรอบๆ ตัวผมด้วย ทั้งเรื่องการงาน ความรัก ความสัมพันธ์ ครอบครัว สังคมรอบตัวก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมืองและสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ทุกอย่างทั้งในตัวและรอบตัวล้วนดูน่าหงุดหงิดรำคาญใจ นั่นอาจจะเป็นช่วงวิกฤตวัยกลางคน หรือเป็นช่วงวัยทองอะไรสักอย่างของชีวิตผมเอง


 โดยปกติแล้วในตอนนั้น ผมทำงานเขียนบทความและสารคดีลงนิตยสาร GM อยู่แล้ว ผลงานที่เขียนอย่างเป็นทางการและลงตีพิมพ์ในนิตยสาร ส่วนใหญ่จะรวมอยู่ในหนังสือพอคเกตบุคหลายเล่มที่ออกมาก่อนหน้านี้ เช่น "ดูหนังคนเดียว" "การเดินทางใต้เงาตึก" และ "เมืองใหญ่ในวงเล็บ" ซึ่งมักจะกล่าวถึงความรู้สึกแปลกแยกและโดดเดี่ยวออกจากสังคมทุนนิยมและบริโภคนิยม แต่ผมพบว่ายังมีแรงบันดาลและไอเดียในการเขียนเหลืออยู่ในหัวอีกมากมาย ซึ่งมันทำให้รู้สึกค้างคาใจและอัดอั้นในใจ ผมจึงเริ่มต้นงานเขียนอีกกลุ่มก้อนหนึ่งใส่บล็อกเป็นประจำทุกวัน


 ลักษณะการเขียนบล็อกนั้น มันอยู่กึ่งกลางระหว่างการเขียนไดอะรี่กับการเขียนบทความเผยแพร่ทางสื่อมวลชน ในแง่ที่เหมือนกับไดอะรี่คือมันมีความใกล้ชิด ส่วนตัว และเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ได้ดี และในแง่ที่เหมือนบทความทางสื่อมวลชน คือมันก็มีพื้นที่กว้างใหญ่ให้เราสามารถเขียนบทความขนาดยาว เลือกหยิบจับประเด็นไหนก็ได้ และที่สำคัญคือเราเขียนได้มากเท่าที่อยากเขียน ทั้งความแรงของเนื้อหาและความถี่ของการอัพเรื่องใหม่ๆ เข้าไป


 ผมเลยใช้พื้นที่ใน http://theaestheticsofloneliness.blogspot.com/ เพื่อเขียนถึงสิ่งที่ผมครุ่นคิดในชีวิตประจำวัน โดยสัญญากับตัวเองว่าจะเขียนวันละอย่างน้อย 1 เรื่อง ซึ่งก็ไม่มีเหตุผลว่าจะขยันเขียนไปมากขนาดนี้เพื่ออะไร ตอนที่เริ่มเขียนนั้นก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะนำมารวมเล่ม เพียงแค่อยากเขียนและส่งต่อไปให้เพื่อนทางอินเทอร์เน็ตได้มาช่วยกันอ่านและช่วยกันแสดงความคิดเห็นทิ้งไว้ แค่อยากให้เพื่อนได้รู้ว่าผมคิดอะไรอยู่ และเราคิดเหมือนกันอยู่ไหม ยิ่งคนอ่านมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผมขยันและเอาจริงเอาจังกับการเขียนบล็อกมากขึ้น จนมันมีผลงานมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยนำมาคัดเลือกและขัดเกลา แล้วส่งไปเสนอสำนักพิมพ์



 - เนื้อหาในเล่มมีธีมอย่างไร ต้องการสื่อสารอะไรกับผู้อ่าน


 เรื่องราวที่เขียนในบล็อกส่วนใหญ่ยังคงมีน้ำเสียงเหมือนกับงานเขียนตามของผมตามนิตยสาร คือเกี่ยวกับความรู้สึกแปลกแยกและโดดเดี่ยวจากสังคมทุนนิยมและบริโภคนิยม แต่รายละเอียดของเรื่องราวนั้นแตกต่างออกไป เพราะในเมื่อมันอยู่ในบล็อกที่ไม่มีข้อจำกัดใดๆ ผมก็เขียนถึงได้ทุกเรื่อง ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นหนังที่เพิ่งดู นิตยสารที่อ่าน กาแฟที่ดื่มทุกเช้า รถเมล์ที่นั่งไปกลับที่ทำงาน ขนมขบเคี้ยว ลอตเตอรี่ โลชั่นทาผิว ความรัก นกเพนกวิน เรื่อยไปจนถึงเรื่องที่ใหญ่ขึ้น อย่างเรื่องสภาพเศรษฐกิจข้าวของขึ้นในตอนนั้น และการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2549 เป็นต้น


 ในช่วงแรกที่เขียนออกมาแต่ละตอน จุดมุ่งหมายก็คือเพื่อสื่อสารแนวความคิด ประเด็น และเรื่องราวของแต่ละตอนๆ เหล่านั้น แต่พอผ่านไปเป็นเดือน เป็นปี จนถึงทุกวันนี้ที่ผมยังเขียนใส่เพิ่มเข้าไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อย้อนกลับไปดูรวมกันทั้งหมด ผมคิดว่ามันเริ่มกลายเป็นสิ่งที่ใหม่ ที่ใหญ่กว่าและมากกว่าผลรวมของแต่ละตอนๆ


 มันกลายเป็นงานอดิเรกที่มีค่าสำหรับชีวิต เป็นกระจกสะท้อนให้ผมมองเห็นความคิดของตัวเองในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี เป็นสมุดบันทึกขนาดใหญ่ที่ใช้สถิตความคิดที่แว้บเข้ามาในหัว ก่อนที่มันจะสูญสลายเลือนหายไป


 และที่สำคัญที่สุด ผมคิดว่าบล็อกนี้เป็นสิ่งที่ผมใช้บอกเพื่อนทุกคน ว่าเราสามารถคิดและเขียนได้จากทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกผู้คน ทุกเหตุการณ์ที่อยู่รอบตัวเรา ตอนที่ผมคัดเลือกบล็อกบางเรื่องและรวบรวมส่งไปให้บรรณาธิการพิจารณา เขาตอบกลับมาว่าโอเค เขาชอบมัน เพราะมันเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเราสามารถเขียนถึงทุกสิ่งทุกอย่างได้จริงๆ มันจึงไม่มีเหตุผลเลยถ้าใครสักคนจะบ่นว่าไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไรดี เพราะจริงๆ แล้วทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีแง่มุมที่น่าสนใจให้เขียนถึงได้หมด



 - ปัญหาหนึ่งซึ่งมักจะได้ยินคือเรามักจะพูดว่าไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรดี คุณเคยเป็นหรือเปล่าครับ?


 เคยเป็นและก็ยังเป็นอยู่ประจำ จนถึงทุกวันนี้เวลาเขียนบล็อกหรือเขียนบทความส่งนิตยสาร ก็ยังเป็นอยู่ คือคิดว่าเราจะเขียนอะไร ใช้ประเด็นอะไรมาเป็นหลัก ใช้แนวความคิดอะไรมาเป็นกรอบ จะเริ่มต้นอย่างไร จะจบเรื่องอย่างไร สิ่งที่ยากที่สุดก็คือตอนคิดว่าจะเขียนเรื่องอะไรดีนี่แหละ เหมือนกับตอนเราเป็นเด็กนักเรียน แล้วคุณครูวิชาภาษาไทยสั่งการบ้านว่าให้เขียนเรียงความมาคนละเรื่อง เลือกหัวเรื่องตามใจเรา ให้เขียนเรื่องอะไรก็ได้


 ผมว่าในชีวิตประจำวันของเราทุกคน มีไอเดียมากมายผุดขึ้นมาระหว่างวัน มีความคิดเห็นสารพัดที่เรามีต่อสิ่งรอบตัว มีข้อเท็จจริงและข้อมูลข่าวสารที่เราอยากจะเล่าแบ่งปันให้คนอื่น สิ่งเหล่านี้มันแว้บมา แล้วก็แว้บไป แล้วพอถึงเวลาที่เราจะต้องเขียนเรียงความส่งครู เราก็เขียนอะไรไม่ได้เลย จุดนี้คือประโยชน์ของการเขียนบล็อก คือมันจะช่วยให้เราทุกคนได้จดโน้ตและทำให้ความคิดมากมายในแต่ละวันนั้นหยุดนิ่ง สถิตลงบนหน้าจอ ลงบนฮาร์ดดิสก์ และสถิตไว้ในไซเบอร์สเปซ


 ผู้อ่านหนังสือส่วนใหญ่มักจะคิดว่านักเขียนคนนี้เก่ง คนนั้นเก่ง ซึ่งจริงๆ แล้วเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนหรือผู้อ่าน ล้วนคิดได้และเขียนได้ไม่ต่างจากกันหรอก ยกตัวอย่างเช่น เวลาเห็นทหารเอารถถังออกมาปฏิวัติ เราไม่จำเป็นต้องเป็นผู้อ่านหนังสือแบบ Passive ที่รออ่านความเห็นของบรรดานักคิด นักเขียน นักวิชาการตามหน้าหนังสือพิมพ์ เพราะเราเองก็รู้ว่ามันผิดหรือถูก เราเองก็พอจะคาดการณ์ได้ว่ามันจะนำไปสู่ปัญหาใหม่อะไรบ้าง


 ถ้าเรามองโลกอย่าง Active มากขึ้น โดยการที่บางทีเราอาจจะเดินออกไปดูม็อบการเมือง หรือเดินไปดูรถถังที่จอดไว้ทั่วเมือง ถ่ายรูปมาไว้ แล้วกลับมานั่งเขียนความคิดเห็นของเราออกมา นำภาพถ่ายนั้นมาประกอบ เก็บใส่บล็อกเอาไว้ นี่คือตัวอย่างของการสถิตความคิดเอาไว้ในบล็อก


 ผมไม่อยากสรุปว่าประโยชน์ของการเขียนบล็อกคือช่วยฝึกกระบวนการคิด หรือช่วยฝึกการเป็นนักเขียน เพราะมันจะตื้นเกินไป และนี่เป็นแค่สิ่งที่จะได้รับในเบื้องต้นเท่านั้น ผมว่าการเขียนบล็อก หรือการทำอะไรอย่างอื่น อะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่การเขียน แต่จะเป็นการถ่ายภาพ ทำคลิปวิดีโอ เล่นดนตรี ทำอาหาร วาดภาพ ฯลฯ รวมถึงการทำงานสร้างสรรค์ที่ออกจากตัวเราทุกอย่าง จะช่วยทำให้ความคิดที่แว้บมาแว้บไปในหัว หยุดนิ่งและสถิตอยู่ในผลงานที่เราทำ เมื่อทำอย่างสม่ำเสมอและทำให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ มันจะกลายเป็นสิ่งใหม่ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น



 - การมองโลกแบบ Active ที่กล่าวเมื่อสักครู่ ช่วยอธิบายขยายความด้วยครับ


 มันไม่ใช่ทั้งการมองโลกในแง่ร้าย ไม่ใช่ทั้งการมองโลกในแง่ดี ไม่ใช่ทั้งการมองโลกในแง่จริง เพราะความจริงแท้นั้นผมว่ามันไม่มีอยู่จริง มันมีเพียงสิ่งที่เราคิดว่าจริงอยู่ในหัวของเราเองแต่ละคนเท่านั้น ซึ่งของแต่ละคนก็คงไม่เหมือนกัน


 การมองโลกแบบ Active ก็เหมือนกับการอ่านหนังสือแล้วคิดตาม ครูคนหนึ่งเคยสอนผมว่า เวลาเราอ่านหนังสือ ให้เราทำเหมือนกับกำลังคุยกับมัน คือให้อ่านแล้วคิดตามไป เชื่อ ไม่เชื่อ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และเรามีความคิดเห็นอะไรเพิ่มเติมในเรื่องนั้นๆ บ้าง นั่นก็แปลว่ากิจกรรมการอ่านหนังสือไม่ใช่แค่การรับรู้แบบ Passive เท่านั้น แต่เรายัง Active คิดวิเคราะห์-สังเคราะห์ตาม


 การอ่านหนังสือจึงเป็นการเขียนหนังสือขึ้นมาอีกเล่มหนึ่งในใจเราเอง


 ในชีวิตประจำวันของเราเองก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโลกยุคข้อมูลข่าวสารอย่างในทุกวันนี้ ตลอดทั้งวันมันจะมีคนมาคอยบอกว่า สิ่งนี้จริง ... สิ่งนั้นงาม ... สิ่งโน้นดี เราควรจะรับรู้สิ่งรอบๆ ตัว และแสดงออกมาได้ว่าเราเชื่อ ไม่เชื่อ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และเรามีความคิดเห็นเพิ่มเติมจากนั้นไปอีกมากน้อยแค่ไหน และเราก็จะได้เรียนรู้ว่า สิ่งนี้จริง ... สิ่งนั้นงาม ... สิ่งโน้นดี ตามความคิดอ่านของเราได้เอง


 บล็อกของผม หนังสือของผม บทความในนิตยสารต่างๆ ที่ผมเขียน ก็เช่นเดียวกัน มันไม่ได้เอาไว้ให้คุณเชื่อหรือปลาบปลื้ม แต่มันเอาไว้คุณคุยด้วย ให้คุณถกเถียง และให้คุณลงมือเขียนเรื่องราวที่เพิ่มเติมต่อเนื่องออกไปเรื่อยๆ



 - โดยส่วนตัวของคุณ อะไรคือแรงจูงใจหลักที่ทำให้คุณเขียนอย่างเช่นทุกวันนี้


 ผมเชื่อว่าการเขียนเป็นกิจกรรมที่ง่ายที่สุด ที่จะช่วยให้เรามองเห็นตัวเอง โลกรอบตัวเราขยายใหญ่ขึ้นทุกวัน เสียงดังขึ้น จ้อกแจ้กจอแจมากขึ้น การมีชีวิตอยู่ในโลกแบบนี้ ทำให้เราหายตัวไป หรือไม่ก็ตัวลีบเล็กลงไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าการเขียนหรือการสร้างสรรค์อะไรออกมาจากตัว จะทำให้เราสามารถมองเห็นตัวเองผ่านผลงานที่เราสร้างขึ้น เข้าใจว่าเราคือใคร อยู่ตรงจุดไหนในโลกใบนี้


 บล็อกของผมเขียนมาอย่างสม่ำเสมอ 3-4 ปี มีคนอ่านบ้าง ไม่มีคนอ่านบ้าง และก็ไม่ได้ค่าตอบแทนเหมือนงานที่เขียนลงในนิตยสาร ส่วนที่คัดมาลงตีพิมพ์ใน "นี่นั่นโน่น" มีอยู่ 42 เรื่อง ถือเป็นเพียงแค่ 1 ใน 10 ของสิ่งที่ผมเขียนมาตลอด 3-4 ปี มีเพื่อนมาถามผมเสมอว่าผมทำไปเพื่ออะไร ผมเองก็งงๆ มันยากที่จะตอบ มันไม่ใช่เรื่องเดียวกับการมีอีโก้หรือการหมกมุ่นกับอัตตาของตนนะ มันคืออะไรที่ใกล้เคียงกับการตระหนักรู้ถึงตนเอง การมีคุณค่า มีความภูมิใจ ได้รู้ว่าเราคิดอะไรได้ ทำอะไรได้ บางเรื่องถึงแม้เขียนขึ้นมาแล้วแทบไม่มีคนอ่าน ไม่มีใครคอมเมนต์ แต่มันคือบล็อกส่วนตัวของผมเอง ที่ผมใช้เรียนรู้ตัวเองผ่านการบันทึกความคิดทุกอย่าง ทุกวัน จากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว



 


...


 


ต้นฉบับก่อนลงหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


 

1 comment:

Anonymous said...

...

ผมอ่าน "นี่ นั่น โน่น" แล้ว
มันเป็นช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมาแล้ว
ผมเองและเพื่อนๆ พี่ๆ ก็อยู่ร่วมในเหตุการณ์นั้น

มันเป็นช่วงเวลาดีๆ ที่พวกเราได้ "เติบโตและเรียนรู้"
จากหลายเหตุการณ์ หลายบุคคล
กลายเป็นความทรงจำที่เราต่างเก็บเกี่ยวกันมาคนละนิด คนละหน่อย

หากไม่มีบล็อกของพี่ช่วยบันทึกไว้
เรื่องราวเหล่านั้นก็คงหายวับไปหมดแล้ว
แต่นี่ ดีมากที่เรายังมีบล็อก มีหนังสือให้ได้กลับไปรู้สึกและทบทวนตัวเองอีกครั้ง

ผมเคยเป็นเด็กประเภทที่ต้อง "จ่ายราคาแห่งความศรัทธา" ให้กับผู้อื่นอยู่บ่อยๆ อาจเพราะโลกแคบ แต่เพราะบางสิ่งบางอย่างในบล็อกของพี่นี่เอง ที่ทำให้ผม
ฉุดคิดและหูตาสว่าง

. . .