...
เหมือนกับในทศวรรษก่อน ที่คำว่า Cyber เคยเป็นคำยอดนิยม จนมันกลายเป็นคำ Prefix เอาไว้เติมหน้าคำใดๆ หรือแนวคิดใดๆ ที่ถูกเทคโนโลยีดิจิตอล คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต เข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลง มาถึงทุกวันนี้ ตัวเลข 2.0 กำลังกลายเป็นคำยอดนิยมเช่นเดียวกันนั้น มันกลายเป็น Suffix เอาไว้เติมหลังคำใดๆ หรือแนวคิดใดๆ ที่ถูกแนวคิด Web 2.0 เข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลง
สิ่งหนึ่งซึ่งได้ถูกแนวคิด Web 2.0 เข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย จนกระทั่งผมคิดว่า Web 2.0 ได้ทำให้เกิดคนกลุ่มใหม่ สำนึกทางการเมืองแบบใหม่ และรูปแบบการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบใหม่ ที่ควรจะใช้คำเรียกว่า Mob 2.0
ม็อบชาวเฟซบุคเป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุดของสิ่งที่เรียกว่า Mob 2.0 มันคือการรวมตัวกันของผู้ใช้เว็บไซต์โซเชียลเน็ทเวิร์ค ที่เริ่มผุดกำเนิดให้เห็นเป็นครั้งแรก และมีบทบาทอย่างมากบนเวทีการเมืองของไทย ในช่วงสถานการณ์วิกฤตเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม Mob 2.0 ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงในกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ "หลากสี" แบบม็อบชาวเฟซบุคเท่านั้นนะครับ เพราะในการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดง ก็มีคนแบบ Mob 2.0 ไปร่วมด้วยมากมายเช่นกัน
ชาว Mob 2.0 มีลักษณะเป็นอย่างไร? ถ้าอยากรู้ก็ดูเอาง่ายๆ จากสิ่งของรูปธรรมที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของ Mob 2.0
มันไม่ใช่มือตบ ตีนตบ หรือหัวใจตบ และไม่ใช่สีเสื้อเหลือง-แดง Mob 2.0 ใช้วัตถุเทคโนโลยีการสื่อสารมาเป็นสัญลักษณ์ แต่ช้าก่อน! ... มันไม่ใช่เพียงแค่โทรศัพท์มือถือรุ่นกระดูกหมาแบบยุคพฤษภาทมิฬอีกต่อไปแล้ว เพราะนั่นเป็นเพียงแค่เครื่องโทรศัพท์และส่ง SMS ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบ One-to-one เท่านั้น แต่ Mob 2.0 จะใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ที่สามารถใช้ถ่ายภาพ ถ่ายคลิปวิดีโอ และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าเว็บโซเชียลเน็ทเวิร์คได้ทุกที่ ทุกเวลา
วัตถุเทคโนโลยีอีกอย่างที่เป็นสัญลักษณ์ของ Mob 2.0 คือกล้องดิจิตอลทั้งแบบ DSLR และแบบคอมแพคท์ รวมไปถึงกล้องวิดีโอแคมคอร์เดอร์ โดยมันจะทำหน้าที่เป็นประจักษ์พยานว่าชาว Mob 2.0 คนนี้ ได้ลุกจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ เดินออกจากบ้าน และมาร่วมอยู่ในอีเวนท์ทางการเมืองนี้จริงๆ ชาว Mob 2.0 จะเลือกถ่ายรูปที่แสดงให้เห็นถึงจุดสถานที่ เวลา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นพระบรมรูปทรงม้า อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รวมถึงผู้คนที่กำลังชูป้ายคำประกาศที่ตลกๆ แปลกๆ เช่น "อย่าเพิ่งยิง...กูเพิ่งมา" เป็นต้น
การมารวมตัวชุมนุมกันของชาว Mob 2.0 มักจะไม่ยืดเยื้อเนิ่นนานแบบข้ามวัน ข้ามคืน หรือนานเป็นเดือนๆ แบบชาวบ้านในม็อบเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ที่มักจะมากินอยู่หลับนอนกันในสถานที่ชุมนุม ถึงขนาดปลูกข้าวทำนาประชดกันเลยก็มี แต่ Mob 2.0 มักจะนัดเริ่มชุมนุมกันสักบ่ายสามโมง (แต่จริงๆ มาถึงกันสัก 4-5 โมงเย็นเพื่อรอแดดร่ม) แล้วก็จะแยกย้ายกันกลับบ้านประมาณไม่เกิน 1 ทุ่ม
ในกรณีของม็อบเสื้อเหลืองและแดง ส่วนที่เป็นชาว Mob 2.0 ก็จะปล่อยให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ชุมนุมกันไปแบบยืดเยื้อกันไป แต่พวกตนก็จะเข้าไปร่วมตอนเย็นๆ หลังเลิกงาน แดดร่มลมตก และจะกลับบ้านให้ทันดูละครหลังข่าว
นอกจากเหตุผลเรื่องความปลอดภัยของชาว Mob 2.0 แล้ว อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งสำคัญมาก และแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนยุค Web 2.0 ของพวกเขา คือพวกเขายังต้องรีบกลับบ้านไปเพื่อไปโหลดรูปออกจากกล้องดิจิตอลหรือกล้องโทรศัพท์ นำมาคัดเลือก ตกแต่งสีสัน และอัพโหลดเข้าโซเชียลเน็ทเวิร์คของตัวเองนั่นเอง
และอันเนื่องมาจากการที่พวกเขาอยู่ในม็อบกันไม่นาน สิ่งที่ชาว Mob 2.0 ต้องการ จึงไม่ใช่ห้องน้ำ รถสุขาเคลื่อนที่ ไม่ใช่อาหารในกล่องโฟมและน้ำดื่มฟรี อีกทั้งยังไม่ต้องการแผ่นพลาสติกปูพื้นรองนั่งด้วย เพราะส่วนใหญ่มันจะเดินไปเดินมาเพื่อถ่ายรูปกันและกัน สิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆ คือเมมโมรี่การ์ดที่มีความจุมากพอใส่ไว้ในกล้องดิจิตอล และต้องการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สาย EDGE/GPRS หรือ 3G ที่รวดเร็วและไม่ติดขัด เพื่อการใช้งานสมาร์ทโฟนเชื่อมต่อเข้าอินเทอร์เน็ต ส่งข่าวอัพเดทให้เพื่อนๆ และอัพโหลดภาพและคลิปต่างๆ ในโซเชียลเน็ทเวิร์คของตน เหมือนกับเป็นนักข่าวรายงานสดแบบ Real-time
ชาว Mob 2.0 ไม่ค่อยสนใจการปราศรัยบนเวที เพราะ Mob 2.0 มีการศึกษาสูง ติดตามข่าวการเมืองอย่างเข้มข้น และมีความคิด ความเชื่อทางการเมืองของตนเองเหนียวแน่น พวกเขารู้ดีว่าคนพวกนี้คือนักการเมือง (หรือคนของนักการเมือง) ที่ไม่น่าไว้ใจ เขารู้ว่ากำลังโดนปลุกระดมเพื่อผลประโยชน์แอบแฝงบางอย่าง พวกเขาจึงฟังและแยกแยะตามความเชื่อของตนเอง อีกทั้งพวกเขายังเชื่อว่าตนเองมีแหล่งข้อมูลและความคิดเห็นที่น่าเชื่อถือกว่านั้น
การปราศรัยบนเวทีในปัจจุบันนี้ จึงกลายเป็นการสื่อสารทางการเมืองรูปแบบเก่าคร่ำครึ เป็นการสื่อสารแบบเผด็จการ คือข่าวสารถูกส่งแบบทางเดียว จากบนลงล่าง หรือเรียกว่าแบบ One-way Communication ไม่มีการโต้ตอบสองทาง หรือแบบ Two-way ซึ่งขัดกับสำนึกที่เน้นความเท่าเทียมในการสื่อสารของยุค Web 2.0 อย่างสิ้นเชิง
การตะโกนเฮๆ ตามคำปราศรัยบนเวที จึงไม่นับเป็นการสื่อสารการเมืองของชาว Mob 2.0 แต่มันเป็นเพียงการนำตัวเองเข้าร่วมในบรรยากาศฮึกเหิมของม็อบเท่านั้น ชาว Mob 2.0 สื่อสารทางการเมืองกันด้วยวิธีที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่านั้น และเท่าเทียมกันมากกว่านั้น ด้วยแนวคิดแบบ Web 2.0
ในทางแรก พวกเขาเตรียมทำป้ายคำประกาศมาเองจากบ้าน และแต่งตัวด้วยคอสตูมที่ดึงดูดความสนใจ แล้วก็เดินไปเดินมาในสถานที่ชุมนุม เพื่อล่อให้ชาว Mob 2.0 คนอื่นๆ มาถ่ายรูป หรือถ่ายคลิปวิดีโอ และอัพโหลดไฟล์เหล่านั้นไปใส่โซเชียลเน็ทเวิร์คต่างๆ
ถ้าเทียบกับการปราศรัยบนเวทีแบบเดิมแล้ว สารทางการเมืองของคนที่ทำป้ายแปลกๆ และแต่งตัวตลกๆ เมื่อถูกนำไปอัพโหลดในอินเทอร์เน็ทแล้ว มันจะมีพลังมากกว่า กระทบใจผู้รับมากกว่า และกระจายตัวออกไปได้กว้างไกลกว่า
การปราศรัยบนเวทีนั้น อย่างมากที่สุดในคืนที่มีผู้คนมาพีคสุดๆ ก็ไม่น่าจะเกิน 3-4 หมื่นคน และเมื่อนำการปราศรัยไปไรท์แผ่นแจก ก็น่าจะไม่เกิน 1-2 หมื่นแผ่น แต่ภาพหรือคลิปที่แพร่ไปในเน็ต ถ้ามันกลายเป็น Viral ขึ้นมา มันจะกระจายออกไปในฟอร์เวิร์ดอีเมล์, RT ในทวิตเตอร์, และ Share ในเฟซบุค มีคนได้ดูนับแสนในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน
ในทางที่สอง การแสดงออกและสื่อสารทางการเมืองของชาว Mob 2.0 พวกเขาจะใช้พื้นที่เสมือนจริงในเว็บไซต์โซเชียลเน็ทเวิร์คเป็นสถานที่ชุมนุมและปราศรัย โดยพวกเขาไม่ต้องไปยึดสถานที่จริงๆ อย่างถนนราชดำเนิน สนามบินสุวรรณภูมิ ทำเนียบรัฐบาล หรือสี่แยกราชประสงค์ อีกต่อไปแล้ว
ชาว Mob 2.0 ใช้หน้าวอลล์ของเฟซบุคและทวิตเตอร์ เพื่อจัดชุมนุมทางการเมืองของตนเองขึ้นมา และเขาก็ขึ้นปราศรัยด้วยตัวเอง ด้วยการ Tweet ข้อความยาว 140 ตัวอักษรในทวิตเตอร์ และอัพเดท Status ในเฟซบุคด้วยข้อความยาว 420 ตัวอักษร นอกจากนี้ยังอัพโหลดไฟล์ภาพ เสียง และคลิปวิดีโอ ที่พวกเขาถ่ายมาได้ และต้องการเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ รวมไปถึงการกดปุ่ม Retweet และกดปุ่ม Share ข้อความ รูปภาพ คลิป และลิงค์เนื้อหาของคนอื่น ที่เขาต้องการช่วยเผยแพร่ซ้ำๆ
ในขณะเดียวกัน นอกจากการนำการชุมนุมด้วยตัวเองแล้ว ชาว Mob 2.0 ก็เข้าร่วมการชุมนุมของคนอื่นไปด้วยพร้อมๆ กัน ในโลกเสมือนจริง พวกเขาล็อกอินเข้าใช้งานเว็บไซต์โซเชียลเน็ทเวิร์ค การร่วมฟังคำปราศรัยก็คือการเป็น Follower ในทวิตเตอร์ และเป็น Friend ในเฟซบุคของคนที่เขาอยากฟังความเห็นนั่นเอง
ในโลกเสมือน ชาว Mob 2.0 ใช้วิธีกด Like และเขียน Comment เพื่อแสดงว่าพวกเขาเห็นด้วย แทนที่จะใช้การร้องตะโกนเฮๆ และควักเอามือตบตีนตบขึ้นมาตบเหมือนในการชุมนุมแบบเดิม และในขณะเดียวกันนั้น พวกเขาก็จะนำคำปราศรัยเหล่านั้นไป Share หรือ Retweet ในวอลล์ของพวกเขาเอง ทำให้พวกเขากลายเป็นผู้นำม็อบและขึ้นปราศรัยด้วยตัวเองได้ด้วย
ความอิสระในการไหลเวียน และความสามารถในการลิตซ้ำตนเองไปเรื่อยๆ ของข้อมูลข่าวสารใน Mob 2.0 จะทำให้พลังและผลกระทบของมันทบทวีขึ้นไปเรื่อยๆ จนทำให้รัฐบาล, คณะปฏิวัติ, หรือใครก็ตามที่กำลังจะเข้ามาครองอำนาจต่อไปในอนาคต ไม่มีวันที่จะสามารถปิดกั้นและบิดเบือนข้อมูลข่าวสารได้อีกต่อไป สิ่งที่วิทยุยานเกราะเคยทำได้เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อีกแล้วจริงๆ
อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่า Mob 2.0 จะมาแก้ปัญหาทางการเมืองให้หมดสิ้นไปได้ ผมเชื่อว่าความขัดแย้ง ความรุนแรง การบาดเจ็บล้มตาย และการละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชน จะยังคงดำเนินต่อไปในสังคมไทยอีกนาน เพราะ Mob 2.0 เป็นเพียงคนกลุ่มใหม่ สำนึกทางการเมืองแบบใหม่ และรูปแบบการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบใหม่ ในขณะที่อุดมการณ์ทางการเมืองของชาว Mob 2.0 แต่ละคน แต่ละกลุ่ม จะยังคงมีอยู่เหมือนเดิม ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ที่เริ่มเกิดคนกลุ่มนี้ขึ้น
สิ่งที่ทำให้ผมมองสถานการณ์ของเราในแง่ร้ายเช่นนี้ คือกระแสความขัดแย้งอย่างรุนแรงในเว็บโซเชียลเน็ทเวิร์ค ทั้งเฟซบุคและทวิตเตอร์ ตลอดช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ที่ผ่านมา มันแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้พวกเราจะมีข้อมูลข่าวสารมากมาย รวดเร็ว ออกมาจากหลายทิศทาง และกระจายไปในหลายทิศทางพร้อมกัน แต่มันก็ไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด
แทบไม่ต่างจากที่รัฐบาลห้ำหั่นกับม็อบคนเสื้อแดงที่ราชดำเนินและราชประสงค์ และเกิดความเดือดร้อนแพร่ลามไปทั่วกรุงเทพและทั่วประเทศ ชาว Mob 2.0 ก็ห้ำหั่นกันดุเดือดเลือดพล่านในเฟซบุคและทวิตเตอร์ ทั้ง Mob 2.0 ที่เป็นคนเสื้อเหลือง คนเสื้อแดง และคนเสื้อหลากสี รวมถึงคนที่ไม่ได้แสดงจุดยืนทางการเมืองใดๆ เลยด้วยซ้ำ ต่างก็ได้รับ Collateral Damage จากการใช้งานโซเชียลเน็ทเวิร์คกันถ้วนหน้า
Cognitive Dissonance หรือความไม่ลงรอยกันของความคิด เป็นทฤษฎีจิตวิทยาที่นักนิเทศศาสตร์สามารถนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้ชัดเจนที่สุด มันทำให้ผู้ใช้เฟซบุคและทวิตเตอร์จำนวนมาก พากันกด Like เขียน Comment กดปุ่ม Retweet และ Share เนื้อหาที่สอดคล้องลงรอยกับความคิดเดิมของตนเอง จนในที่สุด ก็นำไปสู่การแบ่งขั้ว แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แตกแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ไม่ต่างจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ในโลกแห่งความจริง
ความสามารถในการตั้งตนเป็นผู้นำการชุมนุม เปิดปราศรัย และการเข้าร่วมในการชุมนุมของผู้อื่นในเวลาเดียวกัน กลายเป็นข้อด้อยของ Mob 2.0 ขึ้นมาในทันที เมื่อมันเปิดโอกาสให้ทุกคนทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าว ช่างภาพ คอลัมนิสต์ นักวิชาการ นักคิด หรือแม้กระทั่งกลายเป็นศาลและศาสดาได้ง่ายๆ เพียงแค่ล็อกอินเข้าใช้งานเฟซบุคและทวิตเตอร์ แล้วประกาศความเชื่อของตนเอง ผ่านการเขียน ภาพถ่าย ลิงค์ข่าว บทความ และคลิปต่างๆ
ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสลดใจที่สุด คือมันทำให้เรากลายเป็นวิทยุยานเกราะได้ด้วยตัวเราเอง แม้แต่สาวน้อยที่ดูน่ารักไร้เดียงสา ก็สามารถก่นด่า สาปแช่ง และปลุกระดมให้เพื่อนๆ ของเธอ เกลียดชังคนเสื้อแดง หรือเกลียดชังรัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้ดังใจ ขึ้นอยู่กับว่าแต่เดิมนั้นเธอเป็นคนเสื้อสีใดเท่านั้นเอง เพียงแค่ออกไปร่วมชุมนุมเพื่อถ่ายภาพ ถ่ายคลิป วันๆ ก็นั่งหาลิงค์บทความ ลิงค์ข่าวออนไลน์ ที่สอดคล้องกับความคิดของเธอ แล้วแปะไว้ให้เพื่อนๆ เข้ามาเสพ
เราไม่ได้ตั้งใจจะบิดเบือนข่าวสารเพื่อโกหกกัน เราไม่ได้ตั้งใจจะปลุกระดมความเกลียดชังใส่กัน และเราต่างก็ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ เลยจากการชุมนุมแบบ Mob 2.0 ด้วยการเล่นเฟซบุคและทวิตเตอร์ในทุกวันนี้ เพียงแต่เราไร้เดียงสากันเกินไป และเราทุกคนต่างก็ต้องการกำจัด Cognitive Dissonance ในหัวออกไป นี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด เป็นบทเรียนสำคัญที่ชาว Mob 2.0 ทุกคนจะต้องเรียนรู้ และก้าวข้ามมันไปให้ได้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีวี่แววว่าจะไม่สงบลงง่ายๆ และจะปะทุกันขึ้นมาอีกครั้งเมื่อถึงการเลือกตั้งทั่วไปสมัยหน้า
เพื่อที่อย่างน้อยที่สุด เราก็จะได้ไม่ต้องมานั่งทะเลาะกับเพื่อนทางเฟซบุคและทวิตเตอร์กันอีกแล้ว และเริ่มต้นหาวิธีการใช้ประโยชน์จาก Mob 2.0 ได้อย่างเต็มที่แทน
...
1 comment:
. . .
เห็นด้วยกับผู้เขียนบทความชิ้นนี้ในหลายประเด็นครับ
ข้อมูลที่ผมได้รับการยืนยันมา คือ ในระยะการชุมนุมที่ผ่านมา บรรดาค่ายโทรศัพท์มือถือหลายค่าย มียอดรายรับเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าจากการใช้งานการโทรเข้า-โทรออก และใช้งาน edge หรือ 3G อย่างดกดื่น/การสื่อสาร คือ การระบายออก ใครเป็นช่องทางหรืออำนวยการ ย่อมเก็บประโยชน์ส่วนนี้ได้เป็นกอบเป็นกำ
รวมถึงเคยอ่านผ่านตาว่าในรอบสองเดือนที่ผ่านมาว่า ที่ Facebook หรีอ Twitter ก็มียอดผู้ใช้เพิ่มขึ้นเป็นหลักล้าน นักข่าวบางคนในเครือเนชั่น มียอดคนคอย Follow เธอเพิ่มขึ้นจนประหลาดใจ เช่น @jin_nation
. . .
อีกประเด็นหนึ่ง ที่คอยผลักให้ผมไม่ได้ทำ Accout บน Facebook หรือ เล่น Twitter อย่างเป็นร่ำเป็นสันเหมือนเพื่อนๆ ร่วมรุ่น เพราะผมได้ค้นพบด้านที่อัปลักษณ์ของตัวเองว่า ผมต้องการ Fan เยอะๆ ผมอยากเป็น Somebody ผมอยากเป็นผู้นำทางความคิดคนอื่น อยากชักจูงมวลชนได้ อยากแสดงความเล่อเลิศทางสติปัญญา อยากอัพเดตทุกเรื่องก่อนใคร อยากถูกชมว่าน่ารักแสนดี แสน Smart แต่ผมก็เจ็บปวดมาก
และรับไม่ได้กับความคิดเห็นที่ตรงกันข้าม การด่าท่อว่าร้าย ดูถูกเหยียดหยาม เหมือนผมไม่ต้องการให้คนอื่นมาทิ้งขยะที่หน้าบ้าน บน Cyber ผมไม่อยากสูงสิงกับใครแบบเรียลไทม์ เพราะผมคิดตามเขาไม่ทันในบางประเด็น กลัวเขาด่าว่าโง่ พิมพ์ช้า และผมคิดว่าผมไม่สามารถแลกหรือแบ่งปัน เรื่องราวในชีวิตส่วนตัวของผมกับคนอื่นไม่ได้
ผมไม่กล้าถอด ถอดแล้วไม่รู้จะคุ้มค่าไหม แล้วเอาคืนได้หรือเปล่าแต่ในทางกลับกัน ผมอยาก อยากเห็นคนอื่นถอด
ผมจึงได้แต่เฝ้าติดตาม facebook ของคนที่ผมสนใจ อย่างคนโรคจิต ประหนึ่งไปคอยยืนที่หน้าประตูบ้านเขา แอบมอง คอยตามอ่าน Twitter ของหลายคนทีผมรู้จักหรือประทับใจในวิธีคิดขอเขา ในบรรดาคนที่ผมรู้จัก ผมคิดว่าผมได้อ่านความเห็นของเขาแทบทั้งสิ้น อ่านแบบติดตามเสียด้วย เพียงแต่แต่เขาไม่เคยรู้
ผมเป็นเพียงผู้เฝ้ามองอย่างหิวกระหาย เป็นชายอัปลักษณ์ที่อยู่วงนอก ใช่ ผมคิด่า ผมเป็นคนนอกเรือข่าย แต่ไม่เป็นไร ผมพอใจ ผมไม่แน่ใจว่า มีคนเหมือนผมเยอะไหมใน Cyber being
?
. . .
Post a Comment