...
ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงนี้ มีคนนำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์นองเลือดหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 และ 2519
ผมเกิดปี 2516 จึงแน่นอนว่าในตอนนั้นแทบไม่รู้เรื่องรู้ราวเลยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย มีเพียงแค่ความทรงจำแรกๆ ในชีวิต คือการตื่นนอนมาทุกเช้าพร้อมกับเสียงเพลงที่ดังมาจากเครื่องวิทยุเทปแบบหูหิ้วเครื่องเก่าของที่บ้าน มันเป็นเพลงปลุกใจที่เปิดทุกวันตอน 6 - 7 โมงเช้า และตามมาด้วยรายการข่าวของสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ในทีวีตอนนั้น ก่อนจะเปิดสถานี เราก็ต้องฟังเพลง "เราสู้" กันก่อน 1 จบ
เด็กรุ่นเดียวกับผม สามารถร้องเพลง "เราสู้" ได้ก่อนพวกเราจะเข้าโรงเรียนอนุบาลเสียอีก
เครื่องวิทยุเทป และโทรทัศน์เก่าๆ เหล่านั้นสูญสลายผุพังไป พร้อมกับบรรยากาศแบบทหารๆ และเพลงปลุกใจ ก็ค่อยๆ กลายเป็นเพียงความทรงจำ และเลือนหายไปจากบรรยากาศแวดล้อมรอบตัว
ประวัติศาสตร์จะวนกลับมาซ้ำรอยเสมออย่างที่หลายคนเชื่อหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ แต่ผมคิดว่าถ้ามันวนมาจนดูคลับคล้ายคลับคลาของเดิม นั่นเป็นเพราะเราเองที่คอยมองหารูปแบบที่มันซ้ำ ซึ่งโดยในรายละเอียดส่วนใหญ่แล้วล้วนเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปแล้ว
สิ่งที่ทำให้มันเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากเดิม คือเทคโนโลยี
ผมเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสารตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นตัวการสำคัญที่สุดในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเมือง
คนในยุคหนึ่งซึ่งเทคโนโลยีหลักๆ เพียงวิทยุทหารและทีวีที่แพร่ภาพเพียงแค่แว้บๆ ในแต่ละวัน ย่อมต้องสำนึกและความคิดการเมืองแบบหนึ่ง แตกต่างไปจากคนในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีเทคโนโลยีสื่อสารยุคดิจิตอลสารพัดสารเพ
ตอนย่างเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ผมค่อยๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมาจากวัฒนธรรมร่วมสมัยในตอนนั้น มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ซื้อเทปเพลงของวงคาราวานชุด "ยูเอส เจแปน" มาเปิดฟังที่บ้าน หน้าปกเป็นรูปควายห่มธงชาติอเมริกัน ในชุดนี้มีเพลงเก่าๆ เอามาบันทึกเสียงใหม่ อย่างเข่น จิตร ภูมิศักดิ์ ถั่งโถมโหมแรงไฟ คนกับควาย ฯลฯ พ่อได้ยินเพลงเหล่านี้ก็เลยมาบอก "เอ็งฟังเพลงพวกนี้ ถ้าเป็นเมื่อก่อน ตำรวจมาจับเอ็งไปเข้าคุกแล้วนะ"
หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยแบบ "นายกต้องมาจากการเลือกตั้ง" ดังขึ้นและแพร่ลามไปอย่างรวดเร็ว มันรวดเร็วเพราะในช่วงนั้นคนไทยก็เริ่มได้ทำความรู้จักกับเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ เหล่านี้เริ่มแพร่เข้ามา อย่างพวกเคเบิลทีวี จานรับดาวเทียม โทรศัพท์มือถือ และเครื่องเพจเจอร์
สภาพสังคม ลักษณะการใช้ชีวิตและการทำงาน รวมไปถึงความคิดเกี่ยวกับการเมืองของคนรุ่นนั้นก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง
ม็อบมือถือในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เป็นม็อบแรกที่ผมได้ไปร่วม ถึงแม้ตอนนั้นจะยังเป็นเด็กนักศึกษา ยังไม่มีมือถือใช้ แต่ก็รับรู้ได้ว่ากำลังถูกแวดล้อมไปด้วยกลุ่มคนแบบใหม่ในสังคม คนที่กำมือถือเท่าท่อนกระดูกหมาชูขึ้นฟ้า แล้วตะโกน "ออกไป ออกไป" ส่วนก้นก็กำลังนั่งทับแผ่นกระดาษรองนั่ง ที่สกรีนเป็นรูปในหน้าของนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น
ผมคิดว่าคนแบบม็อบมือถือเกิดขึ้นจากการเริ่มมีพลังในการสื่อสารแบบไร้สายเป็นครั้งแรก ทำให้มีสำนึกเรื่อง Mobility ในชีวิตประจำวันมากขึ้น โทรศัพท์มือถือและเพจเจอร์ที่เริ่มแพร่หลายกันในขณะนั้น ทำให้นักธุรกิจ ผู้บริหาร พนักงานออฟฟิศ เริ่มไม่ผูกติดตัวเองไว้กับสถานที่ทำงาน สายโทรศัพท์แบบ land line และปลั๊กไฟ พวกเขาจึงสามารถออกมาแสดงพลังบนท้องถนนได้นานเท่าที่ต้องการ โดยใช้อุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ในการทำงานและติดต่อกับทางบ้านได้อย่างสะดวก
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ความคิดเรื่องชุมชนเสมือนจริงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีการสื่อสารก็เริ่มต้นด้วย คือที่วิทยุข่าวสารจราจร จส.100 ซึ่งก่อตั้งช่วงปลายปี 2534 มีการเปิดให้ประชาชนโทรศัพท์เข้ามาแชร์ข้อมูลข่าวสารและให้ความช่วยเหลือกันในเรื่องการจราจร (ซึ่งส่วนใหญ่ก็ด้วยโทรศัพท์มือถือนั่นแหละ)
ถึงแม้ทางสถานีจะถูกกล่าวหาว่าเข้าข้างรัฐบาลยุคนั้นอยู่มาก แต่ผมจำได้ว่ามีการเปิดให้ประชาชนโทรศัพท์เข้าไปแสดงความคิดเห็นด้านการเมืองอยู่บ่อยๆ และมันก็มีส่วนในการสร้างชุมชนเสมือนจริงทางด้านการเมืองขึ้นมาเป็นครั้งแรก
หลังจากเหตุการณ์นองเลือดเดือนพฤษภาคม 2535 ไปอีกไม่กี่ปี คนไทยก็เริ่มได้รู้จักบุคคลที่ได้รับการขนานนามว่า "อัศวินคลื่นลูกที่สาม" คำว่าคลื่นลูกที่สามนี้อ้างมาจากแนวความคิดของ อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ ซึ่งกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงระลอกที่สามของสังคมโลก ว่าจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสาร
ในตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่เทคโนโลยีการสื่อสารเปลี่ยนแปลงเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ เกิดอินเทอร์เน็ต เกิดชุมชนเสมือนจริงบนหน้าปัทม์วิทยุและตามเว็บบอร์ดต่างๆ ในไซเบอร์สเปซ เกิดเคเบิลทีวีนับร้อยช่อง ดาวเทียมดวงแรกของประเทศไทย สถานีวิทยุชุมชน คอมพิวเตอร์ เอ็มพีสาม ยาฮูดอตคอม พันทิปดอตคอม ยูทูปดอตคอม ซีดีรอม ดีวีดีรอม ฯลฯ
ม็อบเสื้อเหลืองก็เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในช่วงเวลานั้น เรื่องราวเริ่มต้นเมื่ออัศวินคลื่นลูกที่สามของเราได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรี และเริ่มแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนที่เป็นปฏิปักษ์ มีการปิดรายการทีวีจนผู้จัดต้องย้ายไปจัดรายการแบบเวทีสัญจรตามที่ต่างๆ
ผมไปร่วมกับม็อบนี้ในช่วงที่รัฐบาลเพิ่งสั่งปิดรายการทีวีใหม่ๆ เขาเลยย้ายไปจัดรายการบนเวทีสดทุกเย็นวันศุกร์ ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีคนไปฟังกันแน่นจนล้นออกมานอกหอประชุม ตอนนั้นยังไม่มีการใช้เสื้อสีเหลืองและอุปกรณ์มือตบเป็นสัญลักษณ์ประจำ
จำได้ว่ามีการอัดเทปและอัดคลิปวิดีโอใส่แผ่นซีดีรอม วางขายเพื่อเรี่ยไรเงิน แถมยังนำไฟล์เสียงและภาพขึ้นเผยแพร่ทางเว็บไซต์ข่าว นอกจากนี้ก็ทำรายการทีวีผ่านดาวเทียมและเคเบิลทีวี มวลชนเสื้อเหลืองก็ทวีจำนวนมากขึ้น โดยไม่มีทางที่รัฐบาลจะสามารถปิดกั้นสื่อมวลชนได้อีก
ม็อบเสื้อแดงก็เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้นไม่นาน โดยความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในยุคสมัยเดียวกับเสื้อเหลือง คือมีการใช้ทีวีผ่านดาวเทียม และเว็บบอร์ดต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นชุมชนออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีการใช้วิทยุชุมชนและวิทยุแท็กซี่ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากเทคโนโลยีการกระจายเสียงที่พัฒนาขึ้น ทำให้สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้เพิ่มมากขึ้น ในที่สุดก็ก่อให้เกิดเป็นกลุ่มคนในชุมชนเสมือนจริงบนคลื่นวิทยุ เว็บบอร์ด ทีวีดาวเทียมได้
ม็อบเสื้อแดงซึ่งดูเหมือนจะเป็นกลุ่มชนชั้นล่างที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสด้านต่างๆ รวมถึงด้านเทคโนโลยี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนกลุ่มนี้ใข้เทคโนโลยีการสื่อสารเข้าช่วยอย่างมาก และทันสมัยมากกว่าด้วยซ้ำ คือการโฟนอินและวิดีโอลิงค์ของอดีตนายกฯ ถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมส่งตรงมายังจุดชุมนุม โดยที่รัฐบาลไม่มีทางบล็อกสัญญาณได้เลย
ตลอดสามสิบกว่าปี ตั้งแต่นักศึกษาหัวก้าวหน้าและพวกชาตินิยมคลั่งเจ้า มาจนถึงปัจจุบันที่เป็นคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ดูเหมือนว่าทุกกลุ่มคน ทุกความเชื่อ และทุกสถานการณ์ ล้วนเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
จุดเปลี่ยนทางการเมืองครั้งสำคัญๆ เหตุการณ์ความรุนแรงนองเลือดแต่ละครั้ง มักจะเกิดขึ้นตามหลังจากเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ เป็นที่นิยมใช้กันไปสักระยะหนึ่ง
ตัวอย่างล่าสุดของกลุ่มการเมืองที่เกิดจากเทคโนโลยีการสื่อสาร คือม็อบหลากสีที่มาจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่ใหม่กว่าขึ้นไปอีก คือบรรดาเว็บไซต์แบบโซเชียลเน็ทเวิร์คทั้งหลาย อย่างพวกเฟซบุคและทวิตเตอร์
ข้อมูลข่าวสารและโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการเผยแพร่ไป จากเพลงปลุกใจที่เปิดผ่านวิทยุ และทีวีของพวกทหาร กลายเป็นคลิปเพลงแม้วแร็พบ้าง เหวงแร็พบ้าง ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็เอาคลิปวิดีโอเหตุการณ์ทหารเข้าสลายการชุมนุมมาเผยแพร่ผ่านยูทูปดอตคอมเพื่อต่อสู้กัน
นักข่าวและประชาชนทั่วไปก็อัพเดทสถานการณ์ผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ใส่เว็บโซเชียลเน็ทเวิร์คของตนเองอย่างเมามัน ทั้งตัวข้อความ ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ และลิงค์เนื้อหาอีกสารพัด ทุกคน-ทุกฝ่าย หยิบจับคว้าเอาทุกสิ่งทุกอย่าง มาแปะไว้บนกระดานข่าวของเว็บโซเชียลเน็ทเวิร์คต่างๆ
สิ่งเดียวที่เราทุกคนมั่นใจได้ คือในยุคนี้ไม่มีฝ่ายไหนสามารถปกปิดและบิดเบือนข่าวสารได้ง่ายๆ และยาวนานได้เหมือนเมื่อยุคปี 2516 - 2519 อีกแล้ว
แต่สิ่งที่เหลือที่ไม่มีใครสักคนมั่นใจได้เลย คือเทคโนโลยีสื่อสารใหม่ๆ เหล่านี้ จะนำพาสถานการณ์ความขัดแย้งให้ดำเนินไปถึงจุดไหน
เพราะแม้แต่คลิปวิดีโอแห่งความตายคลิปเดียวกัน สองฝ่ายการเมืองยังนำมาอธิบายด้วยเรื่องราวที่แตกต่างกันได้
นี่ก็หมายความว่า เทคโนโลยีจึงไม่ใช่แค่วัตถุ ไม่ใช่แค่สิ่งประดิษฐ์ ไม่ใช่แค่เครื่องมือเครื่องใช้ แต่มันคือสิ่งที่มาจัดระเบียบโลกแห่งความจริงของเราทุกคนไปพร้อมกัน
เทคโนโลยีการสื่อสารสร้างความจริงขึ้นมาในหัวของคนแต่ละฝ่าย และยิ่งนับวัน ความจริงนี้ก็ยิ่งทวีความเหมือนจริงขึ้นไปเรื่อยๆ
เทคโนโลยีเป็นพื้นฐานของทุกๆ กิจกรรมในการดำรงชีวิต เมื่อมีเทคโนโลยีเกิดขึ้นและถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย มันจะ Shape รูปร่างของสังคมไปตามวิธีการใช้งานและคุณสมบัติของมัน
เหมือนกับเมื่อมนุษย์สร้างล้อกลมที่หมุนได้ขึ้นมาแล้วเมื่อหลายพันปีก่อน วิถีชีวิตของเราหลังจากนั้นมาก็จะอิงอยู่กับล้อกลมตลอดมาและตลอดไป
...
No comments:
Post a Comment