Thursday, September 30, 2010

Happy Feet

...



            กระแสความนิยมต่อนักร้องจากประเทศเกาหลีแนวบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ป และการแพร่ลามของวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับดนตรีของเกาหลีออกไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ทำให้ผมนึกถึงหนังอนิเมชั่นเรื่อง Happy Feet



            อนิเมชั่นเรื่องนี้มีประเด็นเกี่ยวข้องเรื่องการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม สังเกตดูจากการที่ตัวละครทั้งหมดภายในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเพนกวินต่างพันธุ์ สัตว์ชนิดต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในแถบขั้วโลก รวมไปถึงมนุษย์เรา ใช้ภาษาและสำเนียงพูดที่แตกต่างกันไปเพื่อสื่อสารถึงกัน แต่ในท้ายที่สุด ภาษาและสำเนียงที่สามารถใช้สื่อสารถึงได้อย่างสากลที่สุด ข้ามผ่านทุกวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งเผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ คือภาษาร่างกายและการเคลื่อนไหว เหมือนการเต้นแทปของเจ้า Happy Feet นั่นเอง
            Happy Feet Trailer (
http://www.youtube.com/watch?v=GeT1ED0PMEs)



            ความสำเร็จของวัฒนธรรมดนตรีจากเกาหลีก็เป็นเช่นเดียวกัน กล่าวคือมันมีจุดเริ่มต้นมาจาก Choreography หรือการออกแบบท่าเต้นของนักร้อง เพราะว่าเป็นการสื่อสารด้วยภาษาร่างกาย และจังหวะการเคลื่อนไหว ซึ่งมีความเป็นสากลและก้าวข้ามทุกวัฒนธรรม ได้มากกว่าภาษาและทำนองที่อยู่ในเนื้อเพลง ลองรดูคลิปการแสดงของเกิร์ลกรุ๊ปจากเกาหลีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบ้านเรา คือวงวันเดอร์เกิร์ล ไปแสดงคอนเสิร์ตที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนเริ่มร้องเพลง Nobody พวกเธอสอนท่าเต้นง่ายๆ ให้กับผู้ชมเสียก่อน เหมือนกับมันเป็น Protocal ที่นักร้องและผู้ชมติดต่อถึงกันได้ นี่คือคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมพวกนักร้องเกาหลีต้องมีท่าเต้นในทุกคำร้อง ? เพราะถ้าพวกเธอหรือพวกเขาหยุดเต้น กระแสการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมที่กำลังดำเนินอยู่ ก็จะติดขัด ขาดห้วง และหยุดชะงักลงทันที
            WG Performance in NY (
http://www.youtube.com/watch?v=dqPJX4VSM3w)



            สังเกตดูว่าเพลงเกาหลีที่ได้รับความนิยม มักเป็นเพลงที่มีจังหวะจะโคน มากกว่าจะเป็นเพลงช้าที่มีทำนองไพเราะ จังหวะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเสียงดนตรี ภาษา และการสื่อสารทั้งปวง จังหวะในการพูดและเขียนคือการตัดคำ วรรคตอน ประโยค และย่อหน้า ที่จะทำให้ผู้ส่งสารและผู้รับสารที่กำลังเผชิญหน้ากันอยู่สามารถเชื่อมโยงถึงกัน มันเปรียบเหมือนเสาและคานที่ต้องคอยรองรับงานสถาปัตยกรรมทั้งหมด จังหวะในเสียงเพลงเปรียบเหมือนการเดินเข้าไปในอาคาร ผ่านเสาทีละต้นๆ ตั้งแต่ประตูทางเข้าไปถึงทางออก ลองดูคลิปการแสดงของวันเดอร์เกิร์ล ในเพลง So Hot ที่มีจังหวะหนักๆ และท่าเต้นกระแทกๆ ทำให้นักร้องและผู้ชม Synchronize เข้าด้วยกันได้ง่าย
            Wonder Girls - So Hot performance (
http://www.youtube.com/watch?v=69OeMHN90m8)



            การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีจังหวะและสอดคล้องกัน เป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของสัตว์ทุกชนิดบนโลก โดยส่วนใหญ่ใช้เพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม การเกี้ยวพาราสี และการจับคู่เพื่อผสมพันธุ์ เช่นนกยูงตัวผู้จะรำแพนหางแล้วเดินไปเดินมาเพื่ออวดตัวเมีย สัตว์มีแนวโน้มที่จะมองหาเพศตรงข้ามที่มีร่างกายสมส่วน สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างสมมาตร หรือ Symmetry เพราะมันจะแสดงให้เห็นถึงสุขภาพและสายพันธุ์ที่ดีกว่า อ่านรายละเอียดเรื่องความงามของความสมมาตรจากวิกิพีเดีย
           
http://en.wikipedia.org/wiki/Symmetry



            ท่าเต้นของนักร้องแต่ละคน การจัดตำแหน่งยืนของนักร้องแต่ละคน วิธีการเคลื่อนมุมกล้อง และการจัดองค์ประกอบภายในภาพ ที่วงเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีชอบใช้ในมิวสิควิดีโอ จึงมักจะแสดงให้เห็นความสมมาตร หรือ Symmetry อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิวสิควิดีโอเพลง Gee ของวง Girls' Generation เห็นได้อย่างชัดเจนว่ากล้องจะเคลื่อนเข้าและออกเหมือนการเต้นหน้ากระจกในห้องซ้อม โดยองค์ประกอบภาพทางซ้ายและขวาดูเท่ากันตลอด
            SNSD - Gee Mirrored Dance Version HD (
http://www.youtube.com/watch?v=cVZcV1JH8Go)



            จำนวนคนและความพร้อมเพรียง เป็นอีกหนึ่งสาระสำคัญของการออกแบบท่าเต้น หรือ Choreography แบบเกาหลี มันสะท้อนความงามแบบตะวันออก และลัทธิการปกครองแบบทหาร ที่ผู้คนในสังคมจะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เชื่อฟังอำนาจ และทำอะไรๆ โดยพร้อมเพรียงกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือวิธีการเดินสวนสนามของทหารเกาหลีเหนือในงานฉลองวันชาติ ลองดูคลิปที่มีการนำเพลงจีนมาใส่ประกอบเข้าไปเพื่อให้ดูตลกขบขัน ลองเปรียบเทียบกับท่าเต้นของพวกบอยด์แบนด์จากเกาหลีใต้ เกือบจะดูคล้ายกับการเดินสวนสนามของทหารเกาหลีเหนือเลยทีเดียว
            Syldavia Television - North Korean Army Parade (
http://www.youtube.com/watch?v=TL87e_5svNs)



            นอกจากนี้ จำนวนคนและความพร้อมเพรียง ยังช่วยทำให้เกิด Resonance หรือที่ในวิชาฟิสิกส์เรียกว่าปรากฏการณ์การกำธรหรือการสั่นพ้อง วัตถุที่มีการสั่นสะเทือนในระดับความถี่เดียวกัน จะเสริมแรงสั่นสะเทือนให้กันและกันมากขึ้นไปเรื่อยๆ ตัวอย่างของปรากฏการณ์นี้ คือการดีดสายกีตาร์ในระดับเสียงหนึ่ง จะทำให้สายอื่นที่ตั้งไว้ในระดับเสียงเดียวกันสั่นตามได้ด้วย หรือการออกแรงผลักคนที่กำลังเล่นชิงช้า จะทำให้ชิงช้าแกว่งแรงและสูงขึ้น ในวง Girls' Generation มีนักร้องมากถึง 9 คน เมื่อพวกเธอเต้นพร้อมกันหมด จังหวะตรงกัน เคลื่อนย้ายร่างกายพร้อมกัน ในระดับเดียวกันเป๊ะๆ จะขับเน้น Choreography ให้ชัดเจนและมีพลังต่อผู้ชมมากขึ้น เหมือนกับปรากฏการณ์การกำธรหรือการสั่นพ้องนั่นเอง อ่านรายละเอียดเรื่อง Resonance ได้จากวิกิพีเดีย
           
http://en.wikipedia.org/wiki/Resonance



            Sex Appeal เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในวัฒนธรรมป๊อป ซึ่งแน่นอนว่าวัฒนธรรมเพลงเกาหลีก็จะขาดสิ่งนี้ไม่ได้ เทรนด์ของเรือนร่างผู้หญิงในปัจจุบัย ผมเชื่อว่านมเป็นสิ่งที่เอ้าท์ไปแล้ว ตอนนี้สิ่งที่กำลังอินสุดๆ คือเรียวขาและสะโพก ลองดูมิวสิควิดีโอนักร้องเกิร์ลกรุ๊ปของไทยเรา วง Swee:D ที่ได้รับอิทธิพลจากเกาหลีมาอย่างชัดเจน จะเห็นได้ว่าท่าเต้นและมุมกล้องมุ่งขับเน้นไปที่เรียวขาและสะโพกของเด็กสาว มากกว่าที่จะโฟกัสไปยังเต้านม เหมือนกับนักร้องสาวในยุคก่อนๆ อย่างพวก ฮันนี่ แสงระวี คริสติน่า ฯลฯ
            Swee:D (สวีทดี) - ห้าม (Harm) (
http://www.youtube.com/watch?v=TdwKq-CR5rU)



            สิ่งที่ช่วยยืนยันว่าการสื่อสารด้วย Choreography ของนักร้องจากเกาหลี สามารถก้าวข้ามได้ทุกอย่าง ชาติ วัฒนธรรม ภาษา เพศ ฯลฯ คือวัฒนธรรม Cover Dance ที่กลายเป็นที่นิยมของเด็กวัยรุ่นไทยและทั่วโลก พวกเขาจะรวมกลุ่มกันมา แต่งหน้า ทำผม แต่งตัว และเต้นเลียนแบบวงเกาหลีที่พวกเขาชื่นชอบ Cover Dance กลายเป็น Viral Marketing ที่ได้รับความนิยมและได้ผลมากที่สุดอย่างหนึ่ง มันยิ่งช่วยทำให้เพลงเกาหลีแพร่หลายเร็วและกว้างขึ้นไปอีก ลองดูคลิป Cover Dance เพลง Nobody ที่ได้นำคลิปวิดีโอการเต้นเพลงนี้ของคนทั้งโลกมาตัดต่อรวมเข้าด้วยกัน มียอดผู้ชมเกินสองล้านคน ไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้นที่ร่วมเต้น Cover Dance เพลงจากเกาหลี ลองดูตัวอย่างคลิปวิดีโอนี้ คุณจะเห็นว่าแม้แต่หุ่นยนต์ก็เต้น Cover Dance เพลง Nobody
            robot dancing wondergirls' nobody (
http://www.youtube.com/watch?v=jywQLnUnMG0)



            เด็กหญิงส่งสารด้วยการเคาะกระจกเป็นจังหวะ เพนกวินจักรพรรดิตอบโต้ด้วยการเต้นแทป ฉากไคลแมกซ์จาก Happy Feet แสดงให้เห็นชัดเจน ว่าในโลกยุคโลกาภิวัตน์และโลกยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ข้อมูลข่าวสารจากทุกประเทศทั่วโลก สามารถไหลบ่าท่วมท้นไปสู่กันและกันได้อย่างเสรี มีเพียงจังหวะและการเต้นเท่านั้น ที่ทำให้ทุกคน ทุกเชื้อชาติ ทุกภาษา ทุกวัฒนธรรม สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ ผู้ที่ควบคุมจังหวะและการเต้นจะเป็นผู้ควบคุมโลก
            Happy Feet (Dancing in Aquarium) (
http://www.youtube.com/watch?v=wdAgkP4ap80)



...


 

No comments: