Thursday, September 30, 2010

ทุกที่ ทุกเวลา

...


 


 ผมเพิ่งมาสังเกตเห็น ว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา งานเขียนของตนเองที่ลงตีพิมพ์ในนิตยสารแนวไอที มีวลีว่า "ทุกที่ ทุกเวลา" อยู่จำนวนมาก


 คุณเคยสังเกตไหม? เวลาอ่านนิตยสารแต่ละประเภท มักจะพบว่ามีวลีที่ปรากฏให้เห็นประจำ อยู่ในแทบทุกบทความ ทุกคอลัมน์ ทุกหน้า ทุกย่อหน้า มันเป็นวลีที่นักเขียนในกองบรรณาธิการ ชอบหยิบยกขึ้นมาใช้เขียน เพื่ออธิบายแนวคิดหรือสภาวะอะไรบางอย่าง ซึ่งเป็นคุณค่าหลักของนิตยสารประเภทนั้นๆ


 ยกตัวอย่างเช่น:
 นิตยสารนาฬิกามักจะใช้วลี "มีความเป็นมายาวนานนับศตวรรษ"
 นิตยสารบ้าน "บรรยากาศอบอุ่นลงตัว"
 นิตยสารรถยนต์ "สมรรถนะดี ตอบสนองฉับไว ขับขี่สนุก ปลอดภัย"
 นิตยสารเครื่องเสียง "รายละเอียดของเสียงครบถ้วนที่สุดในระดับราคานี้"
 นิตยสารเลี้ยงลูก "มีความฉลาดทางอารมณ์"
 นิตยสารธรรมะร่วมสมัย "ความสุขและความสำเร็จ"
 นิตยสารผู้หญิง "ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่"
 นิตยสารผู้ชาย "10 อันดับที่คุณต้องรู้"
 นิตยสารวัยรุ่น "ในสไตล์ที่เป็นตัวคุณ"
 และนิตยสารไอทีในยุคสมัยนี้ มักจะใช้วลี "ทุกที่ ทุกเวลา"


 วลีที่ใช้บ่อยๆ เหล่านี้ นอกจากมันจะทำหน้าที่ตอกย้ำคุณค่าหลักที่นิตยสารประเภทนั้นๆ ต้องการนำเสนอให้กับผู้อ่านแล้ว มันยังสะท้อนให้เห็นความรู้สึกวิตกกังวลในใจลึกๆ ของผู้อ่าน


 คนอ่านนิตยสารนาฬิกา วิตกกังวลถึงคุณค่าที่แท้จริงของนาฬิกา เพราะด้วยฟังก์ชั่นของนาฬิกา มันก็เป็นเพียงแค่เครื่องประดับและอุปกรณ์บอกเวลา หลังจากที่วิศวกรสร้างวงจรไฟฟ้าทำหน้าที่นับวินาที แทนที่การใช้กลไกจักรลานแบบเดิม ต้นทุนการผลิตก็ถูกลงๆ จนนาฬิกาที่ราคาเพียงเรือนละไม่กี่ร้อยบาท ก็สามารถบอกเวลาได้ และใช้เป็นเครื่องประดับได้ ดังนั้น การที่นาฬิกาสักเรือนจะตั้งราคาสูงไปถึงหลักแสนและหลักล้าน อย่างพวกนาฬิกาสวิส ก็ต้องขายตำนาน ประวัติศาสตร์ เรื่องราวขั้นตอนการผลิต การออกแบบ ชื่อเสียง และการอ้างถึงความเป็นมายาวนานนับศตวรรษของแบรนด์นั้นๆ


 คนอ่านนิตยสารบ้าน วิตกกังวลถึงความมั่นคงของชีวิตและสถาบันครอบครัว วลีว่า "อบอุ่นลงตัว" สะท้อนให้เห็นแนวความคิดแบบตะวันตกในด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม "ความอบอุ่น" คือการมองว่าบ้านเป็นที่พักพิงเพื่อหลบอากาศหนาวเย็น ในขณะที่สังคมไทยเรา มองว่าบ้านคือความร่มเย็น เพราะมีอากาศร้อนและฝนตกชุกตลอดปี ส่วน "ความลงตัว" สะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณแบบนักบุกเบิก สำรวจ แสวงหา เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง ก็มีความปรารถนาที่จะหยุดการอพยพเคลื่อนย้าย และได้ลงหลักปักฐานสร้างครอบครัว และดำเนินชีวิตในสถานที่ใดที่หนึ่งตลอดไป


 คนอ่านนิตยสารเครื่องเสียง วิตกกังวลถึงความสมบูรณ์แบบ และพยายามแสวงหาความสมบูรณ์แบบนั้นผ่านการบริโภคสินค้าอย่างละเอียดขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นความคลั่งไคล้ในอุปกรณ์เครื่องเสียงของกลุ่มคนที่เรียกว่าออดิโอไฟล์ การฟังเป็นประสาทสัมผัสที่เข้าถึงได้ยาก เมื่อเทียบกับประสาทสัมผัสอื่นๆ คือสายตา ผิวหนัง ลิ้น และจมูก เพราะเสียงเป็นเพียงคลื่นการสั่นสะเทือนของอากาศ ไม่ใช่วัตถุสสารที่จับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน การวัดคุณภาพของเสียงจึงเป็นเรื่องอัตวิสัย เป็นนามธรรม และการเข้าให้ถึงทุกรายละเอียดของเสียงจึงเป็นเรื่องอุดมคติ และจะกลายเป็นความวิตกกังวลที่ไม่มีวันสิ้นสุดของชาวออดิโอไฟล์ พวกเขาต้องใช้เงินเพื่อการบริโภคเครื่องเสียงมากขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นพวกเขาจึงต้องเลือกซื้อเครื่องเสียงที่คุ้มค่าเงินที่จ่ายไปมากที่สุด


 คนอ่านนิตยสารวัยรุ่น วิตกกังวลกับความเป็นตัวของตัวเอง นักการตลาดและนักโฆษณาได้หยิบเอาคุณค่าแบบปัจเจกชนนิยม มาสร้างความวิตกกังวลให้กับเด็กวัยรุ่น เพราะเป็นช่วงวัยที่เพิ่งก้าวพ้นออกจากพ่อแม่ บ้าน และครอบครัว มาอยู่ท่ามกลางกลุ่มเพื่อนฝูงที่เป็นคนวัยเดียวกัน พวกเขาถูกหล่อหลอมให้ต้องแตกต่างจากคนอื่น และต้องแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมา นิตยสารวัยรุ่นจึงนำเสนอเนื้อหาว่า "ในสไตล์ที่เป็นตัวคุณ" ผ่านการบริโภคสินค้า แฟชั่น และเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มวัฒนธรรมย่อย หรือ Sub-culture ต่างๆ เป็นแคตาล็อกปัจเจกชนสำเร็จรูป ให้ผู้อ่านซึ่งเป็นเด็กวัยรุ่นได้เลือกสรรว่าตนเอง จะเป็นตัวของตัวเองแบบไหน


 คนอ่านนิตยสารเลี้ยงลูก วิตกกังวลกับอารมณ์และความรู้สึกของลูก คนที่กำลังอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ แต่งงาน และมีครอบครัวในยุคปัจจุบัน ก็คือคนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2506-2526 ซึ่งเป็นช่วง 2 ทศวรรษที่ประเทศไทยมีประชากรเกิดใหม่มากที่สุด คือมีเด็กเกิดใหม่ปีละเกิน 1 ล้านคน นักประชากรศาสตร์เรียกว่า "ประชากรรุ่นเกิดล้าน" เป็นคนรุ่นที่มีความเคร่งเครียดจากการสอบแข่งขันวัดระดับความสามารถเปรียบเทียบกับคนรุ่นเดียวกัน จึงมีวัยเด็กที่ไม่มีความสุขนัก ต้องเรียนพิเศษ กวดวิชา ฯลฯ พอเติบโตขึ้นมาและมีลูก จึงเปลี่ยนกระบวนทัศน์เรื่องความสามารถเสียใหม่ จากเดิมวัดจาก IQ ก็กลายเป็นการวัด EQ และคาดหวังให้ลูกมีอารมณ์และความรู้สึกที่ดี มีความสามารถในการมีความสุขมากกว่าคนรุ่นตน


 คนอ่านนิตยสารรถยนต์ วิตกกังวลกับสมรรถนะทางเพศ การขับรถกับเรื่องเพศมีความเกี่ยวพันกันลึกซึ้ง เพราะรถเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่สุด ที่ใกล้ชิดกับชีวิตของเรามากที่สุด มันเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มสมรรถนะของร่างกายในการเดินทาง ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักในชีวิตประจำวันของเราทุกคน การขับรถสะท้อนถึง Sex Drive การขับรถออฟโรดคันใหญ่ก็สะท้อนให้เห็นถึงการโอ้อวดขนาดลึงค์ของตน รถมีสมรรถนะดีก็คือตนเองมีสมรรถนะทางเพศดีไปด้วย รถตอบสนองฉับไวก็คือลึงค์ที่แข็งตัวได้ทันทีเมื่อถูกกระตุ้นอารมณ์ การขับขี่สนุกคือเซ็กส์ที่สนุกสนาน และความปลอดภัยก็คือการมีเซ็กส์อย่างปลอดภัยจากโรคติดต่อและไม่มีการตั้งครรภ์


 คนอ่านนิตยสารธรรมะร่วมสมัย วิตกกังวลเรื่องความสุขและความสำเร็จ สังคมร่วมสมัยนำหลักศาสนามาตีความใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับทุนนิยมและบริโภคนิยม ศาสนาจึงกลายเป็นพิธีกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการแบบใหม่ และเป็นเป้าหมายของชีวิตแบบใหม่ งานเขียนในนิตยสารแนวธรรมะร่วมสมัย จึงมักจะนำคำว่า "ความสุข" และ "ความสำเร็จ" มาวางเคียงกันตลอดเวลา กลายเป็น "ความสุขและความสำเร็จ" ราวกับว่ามันคือสิ่งเดียวกัน หรือต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกัน ทั้งที่ความสุขและความสำเร็จนั้นแตกต่างกัน ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน


 คนอ่านนิตยสารผู้ชาย วิตกกังวลกับการแข่งขันและจัดอันดับ ผู้ชายส่วนใหญ่เหมือนกับตัวละครใน Hi-fidelity นิยายของ นิค ฮอร์นบีส์ ที่ชอบจัดอันดับเพลงต่างๆ อุดมการณ์ของสังคมชายเป็นใหญ่ และเศรษฐกิจทุนนิยม คาดหวังให้ผู้ชายต้องเก่งกาจ และสามารถแข่งขันเอาชนะเหนือคนอื่น นิตยสารผู้ชายจึงต้องทำหน้าที่ผลิตซ้ำอุดมการณ์เหล่านี้ ด้วยการหมกมุ่นกับการจัดอันดับ และคัดเลือกข้อมูลแบบ "ที่สุด" ในด้านต่างๆ มานำเสนอ ผู้อ่านที่เป็นผู้ชายก็จะได้รู้สึกว่าตนเองได้รู้ก่อนใคร ได้รู้สิ่งที่ควรรู้ครบแล้ว และอยู่เหนือกว่าใครๆ ในการแข่งขันและจัดอันดับ


 คนอ่านนิตยสารผู้หญิง วิตกกังวลกับความไร้พลัง ไร้ความสามารถของตนเอง แต่เดิมเนื้อหาในนิตยสารผู้หญิงเมื่อหลายสิบปีก่อน มักจะนำเสนอเนื้อหาเล็กๆ น้อยๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสวยความงามและการทำงานบ้าน เพราะสังคมในยุคนั้นได้จำกัดขอบเขต หน้าที่ และบทบาทของพวกเธอเอาไว้แค่นั้น แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปด้วยพลังของขบวนการสิทธิสตรี ผู้หญิงก็มีบทบาทมากขึ้น เนื้อหานิตยสารผู้หญิงจึงต้องรองรับบทบาทใหม่เหล่านี้ โดยการพยายามให้คำแนะนำ ปลุกปลอบ และให้กำลังใจผู้อ่านที่เป็นผู้หญิง ว่าสิ่งต่างๆ นั้น "ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ ... "


 และคนอ่านนิตยสารไอที วิตกกังวลกับส่วนต่อยื่นของร่างกายตลอดเวลา แต่เดิม นิตยสารไอทีเมื่อ 10 ปีก่อน มักจะใช้วลีว่า "รวดเร็วทันใจ" เพราะเทคโนโลยียังถูกจำกัดอยู่แค่เพียงเฉพาะบางด้านของชีวิต เช่นในด้านการทำงาน เราต้องการใช้มันทำงานให้เสร็จโดยไว เพื่อจะได้ออกไปใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ แต่ในทุกวันนี้ เทคโนโลยีได้เข้ามาเกี่ยวพันกับชีวิตของเราทุกด้าน และได้กลายเป็นส่วนต่อยื่นของร่างกายเราแบบหุ่นยนต์ Cybernatics พวกเราได้เลยจุดที่จะสามารถหยุด หรือเลิกใช้งานพวกมันไปแล้ว พวกเราจำเป็นต้องพึ่งพามัน และใช้งานมันทุกที่ ทุกเวลา


 วลีเหล่านี้เมื่อปรากฏขึ้นมาในนิตยสาร จะช่วยให้ผู้อ่านได้คลายความรู้สึกวิตกกังวลในใจ เพราะคิดว่าตนเองได้เรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ จากการอ่านเนื้อหาเหล่านี้ ในขณะที่ตัวผู้เขียนเอง รู้สึกว่ามันง่ายมากที่จะเขียนงานให้ตรงประเด็นของนิตยสาร และความต้องการของผู้อ่าน เพียงแค่ตอกย้ำคุณค่าบางอย่างผ่านการเขียนวลีประจำๆ เหล่านี้ไว้ในบทความของตนเอง


...


 

No comments: