Wednesday, June 30, 2010

Follow Me


 


 ในโรงหนังที่มืดสนิทแบบนี้ หน้าจอแอลซีดีของเครื่องโทรศัพท์สมาร์ทโฟน สามารถส่องแสงโดดเด่นได้ ไม่ต่างจากสปอตไลท์ที่ชาวก็อตแธมซิตี้เอาไว้ส่องขึ้นฟ้าเพื่อเรียกแบทแมนนั่นเลยทีเดียว


 ถ้าเมื่อ 10 ปีกว่าก่อน เราเคยเริ่มรณรงค์ให้งดคุยโทรศัพท์มือถือกันในโรงหนัง ผมคิดว่าเมื่อมาถึงยุคนี้สมัยนี้ คงถึงเวลาที่เราควรเริ่มรณรงค์ให้งดเล่นทวิตเตอร์ เฟซบุค และแชทบีบีเอ็ม ในโรงหนังกันอย่างจริงจังเสียที เพราะผู้คนมากมายที่นั่งอยู่รอบตัวผมในตอนนี้ กำลังเปิดหน้าจอโทรศัพท์ของพวกเขา ส่องแสงสว่างแว้บทางโน้นทีทางนี้ที แยงตาผมแทบจะตลอดเวลา


 ถ้าคุณใช้โทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนและโซเชียลเน็ทเวิร์คเป็นประจำ คุณคงไม่แปลกใจเลย เมื่อเห็นผู้คนสมัยนี้ชอบควักเครื่องโทรศัพท์ขึ้นมาเปิดดูบ่อยๆ เพราะในชีวิตประจำวันพวกเราก็คงทำไม่ต่างกัน คือใช้สมาร์ทโฟนสารพัดแบรนด์ สารพัดโอเอส เพื่อออนไลน์เข้าเว็บโซเชียลเน็ทเวิร์คอย่างทวิตเตอร์และเฟซบุค ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งจริงๆ แล้วควรใช้คำว่า "ตลอดเวลา" เสียมากกว่า ไม่ว่าตอนนั่งในรถตู้ อยู่ในร้านกาแฟ เดินเล่นในศูนย์การค้า ในระหว่างการประชุม ผมก็เคยเห็นเพื่อนบางคนควักไอโฟนขึ้นมาเล่นเฟซบุค หรือแม้กระทั่งตอนเข้าห้องน้ำ เมื่อมืออยู่ว่างๆ ผมก็คว้าโทรศัพท์ของตัวเองออกมากดๆ ออนไลน์เล่นๆ


 ในตอนนี้ ผมเองก็อยากควักโทรศัพท์ขึ้นมาเปิดดูด้วยเหมือนกัน เพราะตอนก่อนจะเดินเข้าโรงมา ก็เพิ่งพิมพ์อัพเดทสถานะในเฟซบุคไว้ ว่ากำลังอยู่ที่หน้าโรงหนังลิโด้และกำลังจะไปดูหนังจีนเรื่อง The Message โดยคิดว่าตอนนี้คงมีเพื่อนๆ มาเขียนคอมเมนต์ใส่ไว้หลายคนแล้ว


 มีหลายคนที่แทบไม่ได้เงยหน้าขึ้นมาดูหนังสนุกบนจอผ้าใบที่อยู่ตรงหน้าเลยด้วยซ้ำ เพราะมัวแต่ก้มหน้าอ่านตัวหนังสือบนจอแอลซีดีเล็กๆ บนฝ่ามือ ที่แป๊บเดียวก็ "ตึ๊ง!" อีกสักประเดี๋ยวก็มาอีก "ตึ๊ง!" มีเสียงเตือนดังขึ้นมาตลอดเวลา


 คงเป็นเพราะสมัยนี้เราสื่อสารกันง่ายเกินไป สะดวกเกินไป ทันใจเกินไป ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้าเกินไป ทำให้เราทุกคนต่างก็กำลังหมกมุ่นคลั่งไคล้กับกิจกรรมการสื่อสารกันแบบไม่ลืมหูลืมตา


 เทียบกับในหนังจีนเรื่อง The Message ที่ฉายอยู่เบื้องหน้า มันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นเข้ายึดครองประเทศจีน ทำให้คนจีนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นตอบโต้ ด้วยการรวมตัวกันเป็นองค์กรใต้ดินเพื่อลอบสังหารนายทหารญี่ปุ่น พวกเขากลายเป็นจารชนที่ไม่เปิดเผยตัว ได้แต่ติดต่อสื่อสารกันอย่างลับๆ ด้วยรหัสลับและช่องทางที่พิศดารพันลึกที่สุดเท่าที่หาได้ในยุคนั้น เช่น เขียนเป็นข่าวประกาศปะปนไปบนกระดานข่าวกลางเมือง หรือสลักรหัสมอร์สไว้บนมวนบุหรี่แล้วทิ้งลงบนพื้น ฯลฯ


 โลกที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง ไม่มีแบลคเบอร์รี่ ไม่มีไอโฟน ไม่มีแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือเอาไว้ส่ง SMS ในยุคนั้น พวกเขาต้องใช้เวลาถึง 5 วัน 5 คืน กับความตายอันน่าสยดสยองของเหล่าจารชนผู้เป็นวีรบุรุษ เพื่อจะส่ง The Message ถึงกันเพียงแค่ 1 คำ


 The Message นี้มีค่ามากมายเหลือคณานับ เพราะมันช่วยให้ผู้อีกคนหลายร้อยหลายพันไม่ต้องล้มตายเพิ่มขึ้นอีก


 ข้อมูลข่าวสารเคยเป็นสิ่งที่มีค่ามหาศาล เป็นเรื่องความเป็นความตาย ในยุคสมัยที่กระบวนการติดต่อสื่อสารติดขัดคับข้อง แต่ในยุคสมัยที่เราสื่อสารกันได้ง่ายๆ สะดวกสบาย ข้อมูลข่าวสารยังมีค่าอยู่อีกหรือ?


 "คริ คริ ไปดูคนเดียวอีกแล้วอ่ะดิ๊!!??" ...


 ผมอดใจไม่ไหว จึงหยิบโทรศัพท์ออกมาเปิดอ่านคอมเมนต์ที่เพิ่งเข้ามาในเฟซบุค โดยพยายามเอามือป้องหน้าจอไว้เพื่อไม่ให้แสงสว่างกระจายออกไปมากนัก


 ถ้าเป็นในทวิตเตอร์ ก็จะเรียกคนกลุ่มนี้ว่าเป็น Followers แต่ส่วนใหญ่ผมเล่นเฟซบุคมากกว่า ในเฟซบุคเราเรียกคนที่ตามอ่านและคอมเมนต์เรื่องราวต่างๆ ที่เราอัพเดทใส่ไว้ ว่าเป็น Friends List พวกเขาเพิ่งเข้ามาคอมเมนต์ใส่สถานะ ที่ผมเพิ่งอัพเดทเข้าไปเมื่อตอนก่อนเดินเข้าโรง


 แสงสว่างจากจอแอลซีดียังคงผุดพรายขึ้นมาจากที่นั่งรอบๆ ตัว พวกเราทุกคนกำลังสื่อสารกันอย่างบ้าคลั่ง ในระหว่างที่จารชนในหนังกำลังต่อสู้ดิ้นรนจนตัวตาย เพื่อหาวิธีติดต่อสื่อสารกับคนอื่น


 มันโคตรจะขัดแย้งกันเลย


 ผมนึกถึงตอนที่กำลังเดินทางร่วมไปกับทริปสื่อมวลชนเมื่อเดือนก่อน เพื่อทำข่าวเกี่ยวกับแอปพลิเคชั่นบริการระบบนำทางเวอร์ชั่นใหม่ ของบริษัทโทรศัพท์มือถือยี่ห้อหนึ่ง


 ในรถยนต์ที่กำลังมุ่งหน้าออกจากกรุงเทพฯ นอกจากคนขับแล้ว ผู้โดยสารอีก 3 คนในรถต่างก็ก้มหน้าก้มตากดโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนในมืออย่างเมามัน คนหนึ่งแชทกับเพื่อนนักข่าวที่อยู่ในรถอีกคันหนึ่ง อีกคนหนึ่งใช้โทรศัพท์รุ่นใหม่ล่าสุดที่เพิ่งได้รับมาเพื่อการทดสอบ เปิดดูแผนที่และทดลองใช้งานระบบนำทาง


 แน่นอนว่าผมก็ใช้โทรศัพท์ของผมออนไลน์เล่นเฟซบุคไปเกือบตลอดทางเช่นกัน


 เพื่อนนักข่าวยื่นโทรศัพท์มือถือเครื่องทดสอบมาให้ผลองเล่นดูบ้าง พี่ดูสิ! มันใช้ Share Location ได้ด้วย


 ผมทดลองกดปุ่มบนหน้าจอแอลซีดีแบบทัชสกรีนเพียงสัมผัสเดียว พิกัดตำแหน่งของรถเรา ก็ไปปรากฏอยู่เป็นสถานะบนหน้าเฟซบุคของผมทันที ว่าตอนนี้ผมอยู่แถวๆ สะพานพระรามเก้า ถนนสุขสวัสดิ์


 พิกัดตำแหน่งกลายเป็นสิ่งสำคัญขึ้นมา เมื่ออินเทอร์เน็ตไร้สาย แบตเตอรี่ และหน่วยความจำพัฒนาขึ้น ก่อให้เกิด Gadgets ต่างๆ ที่สามารถปลดปล่อยเราออกจากบ้านและออฟฟิศ เราไม่จำเป็นต้องใช้สายโทรศัพท์ ไม่ต้องคอยมองหาปลั๊กไฟ และไม่ต้องห่วงการสั่นสะเทือนระหว่างการเดินทาง ว่าจะทำให้ฮาร์ดดิสก์สะดุดและเสียหาย


 ดังนั้น ตลอดทั้งวันพวกเราจึงเร่ร่อนออกไปในโครงข่ายการสื่อสารขนาดใหญ่ และข้อมูลแรกสุดที่เราต้องการสื่อสารออกไปในโซเชียลเน็ทเวิร์ค ก็คือพิกัดตำแหน่งของเรานั่นเอง ว่าเรากำลังอยู่ที่ไหน ?


 วิวทิวทัศน์นอกหน้าต่างรถเป็นอย่างไร นอกจากเพื่อนนักข่าวที่ขออาสาเป็นคนขับรถแล้ว พวกเราที่เหลือก็มีใครสนใจมอง พวกเราจ้องอยู่แต่หน้าจอแอลซีดีบนมือถือ


 ด้วยสมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ตไร้สาย และเว็บโซเชียลเน็ทเวิร์ค ผมว่าพวกเราเหมือนมีโทรจิตส่งถึงกันได้เหมือนในนิยายวิทยาศาสตร์เข้าไปทุกทีแล้ว เราสามารถบอกเพื่อนในเครือข่ายได้ตลอดเวลา ว่ากำลังอยู่ที่ไหน ทำอะไร พบเจอกับใคร และเพื่อนๆ ก็สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเรา แล้วตอบกลับมาได้ทันทีเช่นกัน


 เมื่อ 50 กว่าปีก่อน จอห์น เดนเวอร์ เริ่มมีชื่อเสียงในฐานะนักร้อง นักแต่งเพลง แนวโฟล์คซองคันทรี่ เขาต้องเดินทางทัวร์คอนเสิร์ตไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา โดยไม่สามารถพา แอนนี่ มาร์เทลล์ ภรรยาที่เขารักมากติดตามไปด้วย ในระหว่างการเดินทางไกลและห่างจากเธอมาแสนนาน โดยแทบจะไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้เลย เพราะในยุคนั้น เทคโนโลยีการสื่อสารก็มีแค่การส่งจดหมาย โทรเลข และการโทรศัพท์ทางไกลเท่านั้น


 เขาจึงแต่งเพลง Follow Me ขึ้นเพื่อมอบให้เธอ เพื่อบอกว่าเขาคิดถึง และอยากมีเธอติดตามไปไหนต่อไหนด้วยตลอดเวลา ... Follow me where I go what I do and who I know ...


 ผมว่านี่คือเพลงที่ซาบซึ้งกินใจที่สุดของ จอห์น เดนเวอร์ มันทั้งเศร้าและทั้งอิ่มเอมในเวลาเดียวกัน "ไม่ว่าฉันกำลังอยู่ที่ไหน ทำอะไร พบเจอกับใคร ... ตามฉันมาสิจ๊ะ!"


 เพียงเวลาแค่ 50 ปีเท่านั้นเอง มันช่างแสนสั้นเหลือเกิน เมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่ดำเนินมาหลายพันปี แต่ในช่วง 50 ปีมานี้ โลกเราเปลี่ยนแปลงไปมากมายเนื่องจากการผุดกำเนิดขึ้นของเทคโนโลยีการสื่อสาร


 ถ้าในปี 1997 จอห์น เดนเวอร์ ไม่ได้เสียชีวิตไปเนื่องจากอุบัติเหตุเครื่องบินตก ถ้าเขามีชีวิตอยู่ต่อมาจนถึงปัจจุบัน และได้ลองเล่นทวิตเตอร์หรือเฟซบุค ถ้าเขาได้ Follow และ Add Friend กับนักข่าวชื่อดังที่รายงานข่าวแบบเรียลไทม์จากสถานที่เกิดเหตุการณ์จราจลในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ผ่านเครือข่ายโซเชียลเน็ทเวิร์ค


 จอห์น เดนเวอร์ จะร้องเพลง Follow me เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไหม?


 "ว้าย! คุณพี่จะไปไหนอ่ะ" ... "ดีแล้ว ไปเที่ยวบ้างอะไรบ้าง" ... คอมเมนต์จาก Friends List เริ่มทะยอยเข้ามาในเฟซบุคของผม


 เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง สื่อกลางเปลี่ยนแปลง ก็จะส่งผลทำให้ข้อมูลข่าวสารเปลี่ยนแปลงไปด้วย


 ข่าวสารจะไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอย่างในหนังจีนเรื่อง The Message ข่าวสารจะไม่สุนทรีย์ละมุนละไมอย่างเพลงของ จอห์น เดนเวอร์


 ผมคิดว่าแนวโน้มต่อไปข้างหน้า ข่าวสารจะเป็นเรื่องเล็กน้อย กระจัดกระจาย เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ส่งผลต่อใคร ข่าวสารกำลังถูกลดทอนความสำคัญลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่ ผู้คนจะให้ความสำคัญกับตัวสื่อกลางมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเราจะสนใจเรื่อง 3G หรือ 4G และเรื่อง iPad 4 หรือ Android 2.1


 เหมือนกับสถานการณ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในปีนี้ เราเริ่มหันไปสนใจเทคโนโลยีของตัวสื่อกลาง ได้แก่การแพร่ภาพแบบไฮเดฟ ตัวอุปกรณ์ทีวีสามมิติ และการปกป้องลิขสิทธิ์


 หลังจากดูหนังจบ ก่อนจะกลับเข้าบ้าน ผมแวะกินก๋วยเตี๋ยวราดหน้าที่ร้านแผงลอยหน้าปากซอย ค่ำนี้มีลูกค้ามาอุดหนุนหนาตากว่าปกติเล็กน้อย นอกจากจะเพื่อมานั่งกินก๋วยเตี๋ยวแล้ว พวกเขาคงมานั่งดูฟุตบอลโลกคู่ถ่ายทอดตอนสามทุ่มด้วย เพราะการเข้ารหัสสัญญาณดาวเทียมเพื่อปกป้องลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกปีนี้ ทำให้หลายบ้านที่ไม่มีเสาอากาศแบบเก่าเปิดรับชมไม่ได้


 ในร้านก๋วยเตี๋ยวราดหน้า มีแค่เพียงทีวีเก่าคร่ำคร่าขนาด 14 นิ้ว ติดสายอากาศแบบหนวดกุ้ง ให้ภาพการแข่งขันฟุตบอลบนหน้าจอที่สั่นไหว เป็นเงาซ้อน และมีจุดสัญญาณรบกวนเหมือนฝนตกตลอดเวลา แต่ลูกค้า 3-4 โต๊ะในร้านราดหน้าทุกคนกำลังจับจ้องดูมันอย่างตั้งอกตั้งใจ


 ณ เวลานี้ คงไม่มีใครสนใจเรื่องเทคโนโลยีไฮเดฟฟินิชั่น ทีวีสามมิติ และการแพร่สัญญาณผ่านดาวเทียม หรือเรื่องอะไรๆ พวกนั้นอีกแล้ว


 ความทันสมัยของเทคโนโลยีการสื่อสารก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่คุณค่าของข้อมูลข่าวสารก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


 ผมกินก๋วยเตี๋ยวราดหน้าไป นั่งดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกไป และก็โดนฝูงยุงจากแอ่งน้ำเน่าใกล้ๆ ร้านค้าแผงลอยแห่มารุมกัด ผมหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเพื่อออนไลน์เฟซบุค และเริ่มพิมพ์ข้อความเพื่ออัพเดทสถานะของตนเอง


 "@ ร้านราดหน้าปากซอยบ้าน โดนยุงกัดคันมากๆ"


 ตอนที่กดปุ่ม Send ข้อความ ผมก็เกิดคำถามขึ้นมาในใจ ว่านี่มันเพื่ออะไร?


 


...


 


 

No comments: