Saturday, March 27, 2010

Web 2.0


...


 



 เมื่อ 12 ปีก่อน ตอนที่ผมเริ่มทำงานเขียนบทความเกี่ยวกับโลกยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ลงคอลัมน์ Cyber Being ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ตัวผมเองยังไม่ค่อยมีความรู้และความเชี่ยวชาญในเชิงเทคนิคมากนัก แต่เพียงมีความรู้สึกและความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะของผู้ใช้คนหนึ่ง ที่มีต่อสภาพสังคมรอบๆ ตัวซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อันเนื่องจากกระแสความนิยมในคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่เริ่มบูมขึ้นในตอนนั้น


 ระหว่างที่กำลังเขียนบทความชิ้นหนึ่ง ก็มาติดขัดอยู่กับประเด็นเรื่องที่มาของคำว่า Cyber ว่าคำนี้มีความหมายเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร และมันเริ่มถูกนำมาใช้เติมหน้าคำอื่นๆ หรือเป็น prefix เพื่อให้มีความหมายเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร ตั้งแต่เมื่อไร


 ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงง่ายมาก เพียงแค่เข้า Google.com หรือ Wikipedia.com


 แต่จำได้ว่าสมัยนั้นยังไม่มีใครรู้จักเว็บเซิร์ชเอนจิน Google.com ที่ใช้วิธีการค้นหาข้อมูลโดยใช้คำคีย์เวิร์ด มุ่งเข้าไปค้นเนื้อหาภายในเว็บไซต์ ซึ่งจะทำให้เราสามารถค้นหาข้อมูลและเนื้อหาสาระต่างๆ ได้มาก เทียบกับเว็บเซิร์ชเอนจินที่โด่งดังที่สุดในตอนนั้นคือ Yahoo.com มีลักษณะการค้นหาแบบใช้คำคีย์เวิร์ดไปค้นแต่ตรงหัวเรื่องของเว็บไซต์เท่านั้น ซึ่งเหมาะกับการค้นหาข้อมูลโฆษณาประชาสัมพันธ์เสียมากกว่า


 เมื่อหาข้อมูลไม่ได้ และไม่มีผู้เชี่ยวชาญให้ถาม สิ่งที่ผมทำในตอนนั้น เพื่อหาคำตอบให้กับปัญหาคำว่า Cyber คือเข้าไปโพสต์กระทู้ถามไว้ในเว็บบอร์ด Pantip.com เวลาผ่านไป 2-3 ชั่วโมง มีผู้ที่ใช้นามแฝงว่า "หนอน" เข้ามาตอบกระทู้ และได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคำนี้ไว้อย่างถูกต้องเสียด้วย ว่า Cyber ย่อมาจากคำว่า Cybernetics และนักเขียนนิยายแนววิทยาศาสตร์ชื่อ วิลเลียม กิบสัน เป็นคนแรกที่เริ่มนำคำว่า Cyber มาเป็น prefix ใส่คำอื่นๆ เพื่อให้มีความหมายเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งหลาย


 ผมเชื่อว่านับตั้งแต่นั้นมา โลกอินเทอร์เน็ตกำลังจะเปลี่ยนความคิด ความรู้ ความเชื่อ ของเราไปในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน



แหล่งรวมภูมิปัญญา



 เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ผมคิดว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ยังวนเวียนอยู่ใน 2 เรื่องหลักๆ คือ 1. การสื่อสารกันแบบไม่เห็นหน้าตา ซึ่งก็คือการแชทด้วย Pirch หรือ ICQ ส่วนโปรแกรม MSN นั้นเพิ่งจะมีมาหลังจากนั้น และ 2. การโฆษณาประชาสัมพันธ์ เว็บไซต์ที่เกิดขึ้นมาในตอนนั้นมุ่งไปเพื่อประโยชน์ทางการค้า ส่วนใหญ่เป็นเว็บไซต์เพื่อขายสินค้าและบริการ เว็บไซต์แนะนำบริษัทห้างร้าน และเว็บแบบ Portal หรือเว็บท่า ที่เป็นแหล่งรวมข้อมูลข่าวสารในอินเทอร์เน็ต


 จำได้ว่าเคยมีเว็บไซต์ที่เปิดให้บริการสร้างเว็บเพจของตัวเองได้ฟรีๆ เรียกว่า Geocities.com ซึ่งเพิ่งจะปิดตัวเองไปเมื่อไม่นานนี้เอง คนส่วนใหญ่เคยใช้มันเป็น Template เพื่อสร้างเป็นเว็บไซต์แนะนำตัว มีบางธุรกิจขนาดเล็กเอาไว้ใช้โฆษณาสินค้าและบริการ และไว้ขายของออนไลน์เล็กๆ น้อยๆ ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่เมื่อมีเทคโนโลยีอะไรใหม่เกิดขึ้นมา เราก็แสวงหาหนทางใช้ประโยชน์จากมันให้ได้มากที่สุด


 เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน ธรรมะบางอย่างของโลกเรา ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นการแสวงหาประโยชน์สูงสุดเข้าสู่ตัวเองนั้น มันสิ้นสุดเร็วมาก และไปต่อไม่ได้ไกล มีอยู่ยุคสมัยหนึ่งที่เขาเรียกว่าเป็นยุคฟองสบู่ดอตคอมแตก เว็บไซต์ที่เอาไว้ขายของ เอาไว้เป็นเว็บท่า เอาไว้เพื่อดูดคนเข้ามามากๆ เพื่อขายโฆษณาแบบแบนเนอร์ ล้มหายไปอย่างรวดเร็วมาก


 นอกจากนี้ พวกชื่อโดเมนเนมเท่ๆ เก๋ๆ ความหมายดีๆ ที่เคยมีกระแสเห่อ แย่งชิงตัดหน้าไปจดกัน แล้วเอามาขายต่อกันแพงๆ เว่อร์ๆ กลายเป็นเรื่องน่าตลกไร้สาระ เมื่อเราย้อนมองกลับไป


 ผมเชื่อว่าแนวโน้มของโลกยุคเทคโนโลยีสารสนเทศที่แท้จริง คือสิ่งที่เรียกว่า Web 2.0 คือการรวมพลังแห่งการแบ่งปันเนื้อหา มากกว่าการดูดกินผลประโยชน์เข้าตัวเองเพียงทางเดียว


 เว็บบอร์ด Pantip.com เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ของ Web 2.0 มันเป็นสิ่้งที่มาก่อนกาล และก็น่ายินดีที่มันอดทนอยู่ได้จนถึงเวลาที่เหมาะสม คือเวลาแห่งการแบ่งปันภูมิปัญญาในปัจจุบัน เว็บ Geocities.com ก็เป็นการจุดประกายที่น่าสนใจ ในยุคเริ่มต้นนั้นมันถูกใช้เพื่อวิธีคิดแบบธุรกิจมากเกินไป  จนตอนนี้มันเดินต่อไปไม่ได้แล้ว แต่วิธีคิดแบบ Geocities.com ได้ถูกนำไปขยายไปสู่การแบ่งปันมากขึ้น จนกลายเป็นไดอะรีออนไลน์ และ Weblog หรือที่เรียกย่อๆ ว่า Blog และมันก็เดินทางต่อไปได้ ขยายตัวขึ้นไปเป็น Collective Intelligence หรือเป็นแหล่งรวมภูมิปัญญาของมนุษย์


 จุดจบของการใช้อินเทอร์เน็ตแบบเห็นแก่ตัว น่าจะเป็นปี ค.ศ.2006 เมื่อนิตยสารไทม์ยกย่องให้ You เป็นบุคคลแห่งปี ตามปกติแล้วมันเป็นประเพณีปฏิบัติของนิตยสารฉบับนี้ที่จะเชิดชู Celebrity ระดับโลกขึ้นมา 1 คน เพื่อมาเป็นบุคคลแห่งปี อาจจะหยิบมาจากแวดวงการเมือง แวดวงบันเทิง ฯลฯ แต่ในปี 2006 บุคคลแห่งปีคือ You เขาหมายถึงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคนในโลก คนไม่มีชื่อเสียง ไม่ได้ผลประโยชน์ทางธุรกิจจากอินเทอร์เน็ต แต่กำลังแบ่งปันภูมิปัญญาเข้ามาใส่ไว้ในโลกอินเทอร์เน็ตแบบฟรีๆ ในรูปแบบต่างๆ


 คนที่เขียนไดอะรี่ชีวิตประจำวันใส่ไดอะรี่ออนไลน์ คนที่เขียนบทความวิจารณ์หนังใส่บล็อก คนที่ถ่ายภาพสารคดีท่องเที่ยวใส่เว็บ Picasa.com คนที่ถ่ายและตัดต่อคลิปวิดีโอใส่ Youtube.com คนที่แต่งเพลงแล้วอัพโหลดใส่ Myspace.com คนที่ไปช่วยเขียนสารานุกรมสาธารณะ Wikipedia.com คนที่คอยรายงานสถานการณ์ม็อบการเมืองผ่าน Twitter.com และ Facebook.com หรือแม้กระทั่งคนที่ตั้งและตอบกระทู้ในเว็บบอร์ดทั่วโลก คนเหล่านี้คือ You คือบุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ และเป็นผู้ที่ร่วมกันสร้างยุค Web 2.0 ขึ้นมา


 ความรุดหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิด Web 2.0 เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างถูกแปลงให้กลายเป็นดิจิตอลไฟล์ได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือ ภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว มันถูกบันทึกไว้ในจานฮาร์ดดิสก์ หรือหน่วยความจำ Solid State ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำลงเรื่อยๆ และถูกเคลื่อนย้าย ส่งต่อถึงกัน แบ่งปันกันได้ง่ายๆ ด้วยเครือข่ายการสื่อสารที่ขยายช่องทางให้ใหญ่โตขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่้งเครือข่ายการสื่อสารแบบไร้สาย


 Google.com ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิด Web 2.0 ได้ง่ายขึ้น เพราะมันมุ่งค้นหาเข้าไปลึกถึงเนื้อหารายละเอียดในเว็บ ไม่ใช่ค้นแค่ตรงคำพาดหัวที่ผิวเผิน มันทำให้ Portal หรือพวกเว็บท่าไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป อีกทั้งมันยังทำให้ชนชั้นและความเป็น Celebrity แบบในโลกแห่งความเป็นจริง กลายเป็นสิ่งไร้ความหมาย


 ข้อมูลความรู้จำนวนมหาศาล สร้างขึ้นมาโดยคุณ ผม และเราทุกคน แล้วก็อัพโหลดไปทิ้งไว้บนไซเบอร์สเปซแบบฟรีๆ รอให้ใครสักคนที่ต้องการมัน ค้นหาด้วยเซิร์ชเอนจิน แล้วก็เข้ามาดาวน์โหลดไปใช้แบบฟรีๆ นี่คืออุดมคติที่ดีงามสุดๆ ของโลกเทคโนโลยีสารสนเทศ และมันเกิดขึ้นจริงแล้ว


 แม้แต่เด็กประถมในทุกวันนี้ เมื่อจะทำรายงานหรือเขียนเรียงความสักเรื่อง เขาก็เข้าไปค้นใน Google.com และ Wikipedia.com ได้อย่างง่ายดาย และเมื่อทำรายงานเสร็จ เขาก็นำผลงานของตนกลับเข้าไปใส่ไว้ในไซเบอร์สเปซเช่นกัน คือใส่ในบล็อกส่วนตัว หรือใส่ในเว็บ Social Network ทั้งหลายแหล่ อาจจะเป็น hi5.com ที่เขาใช้จีบหญิงในเวลาว่าง


 สิ่งที่เราทุกคน ในฐานะที่เป็น You หรือบุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ต้องระมัดระวัง ก็คือการ Copy/Paste เนื้อหาเดิมซ้ำไปซ้ำมา Collective Intelligence และ Web 2.0 จะเกิดขึ้นได้ยาก ถ้าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่างเข้ามาค้นหาข้อมูล แล้วลากเมาส์ทำไฮไลท์ คลิกปุ่ม Copy แล้วนำไป Paste ต่อในบล็อกของตัวเอง เพราะนี่ไม่ใช่การสร้างและแบ่งปันภูมิปัญญาแก่กันและกัน แต่เป็นเพียงแค่การช่วยเผยแพร่ข้อมูลเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันดีเฉพาะในแง่การช่วยเผยแพร่เท่านั้น ไม่ใช่การสร้างสิ่งใหม่



การสถิตความคิด



 โดยส่วนตัวผมเอง เริ่มเขียนบล็อก ซึ่งก็คือรูปแบบหนึ่งของ Web 2.0 ตั้งแต่ช่วงกลางปี ค.ศ.2006 ตามคำแนะนำของเพื่อนทางอินเทอร์เน็ตที่มีนามแฝงว่า grappa และ YodmanudYing คุณ grappa เป็นบล็อกเกอร์ยอดนิยมคนหนึ่ง ส่วนคุณ YodmanudYing เขียนไดอะรี่ออนไลน์แบบส่วนตัว พวกเราแชทคุยกันมานานแล้วผ่านทาง MSN มานาน ผมก็เคยอ่านบล็อกและไดอะรี่ของพวกเขามาบ้าง แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจจริงจัง และไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นอะไร ที่ตนเองในฐานะที่เป็นนักเขียนอยู่แล้ว จะต้องมานั่งเขียนอะไรไปใส่ในอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ใครก็ไม่รู้มาเปิดอ่านฟรีๆ


 จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในตอนกลางปี 2006 เมื่อผมพบว่ามีเพื่อนนักเขียนเป็นบล็อกเกอร์กันมากขึ้น ข้อมูลดีๆ มากมายในอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นจากชาวบ้านที่เป็นใครก็ไม่รู้ อัพโหลดขึ้นไปใส่ไว้ ซึ่งตัวผมเองก็ใช้ข้อมูลแบบฟรีๆ มากมายจาก Wikipedia.com เมื่อไม่รู้อะไรก็เข้าไปทิ้งกระทู้คำถามใน Pantip.com อยู่บ่อยๆ ความรู้และแรงบันดาลใจมากมาย ที่คนๆ หนึ่งได้รับจาก Collective Intelligence รวมกับข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาลที่ถูกส่งมาจากสื่อมวลชน ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ


 ผมคิดว่าคนในยุคเทคโนโลยีการสื่อสารกำลังถูกถล่มทับด้วยข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาลทุกลมหายใจเข้าออก ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะมาช่วยบอกให้เรารู้ แต่ถ้าเรารู้มากเกินไป มีคนมาบอกอะไรๆ เรามากเกินไป ในที่สุด เราจะรู้สึกว่าเราไม่รู้อะไรเลย


 เราจะมีคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับที่เรารู้อะไรๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ดูหนังเรื่องนี้หรือยัง ฟังเพลงนี้แล้วคิดอย่างไร โทรศัพท์มือถือรุ่นนี้น่าซื้อไหม สงกรานต์ปีนี้ไปเที่ยวไหนดี เขาว่ากันว่านักการเมืองคนนั้นเป็นแบบนี้ ดาราคนนี้เป็นแบบนั้น


 หนทางที่เราจะอยู่รอดได้ท่ามกลางคำถามและความไม่รู้เหล่านี้ โดยไม่สับสนและว้าวุ่น ก็คือการสรุปมันออกมาไว้ภายนอกหัว


 งานเขียนของผมส่วนใหญ่เคยถูกตีพิมพ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร พอคเกตบุค เมื่อย้อนกลับไปนั่งอ่านดูตัวเอง ก็พบว่ามันเต็มไปด้วยการตั้งคำถาม ความสับสนว้าวุ่นใจ ผมคิดว่าตนเองไม่ได้เป็นนักคิด และไม่ได้คิดมากเป็นพิเศษมากกว่าคนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมสมัยกัน ผมว่าเราทุกคนกำลังสับสนว้าวุ่นและเต็มไปด้วยคำถามในหัวเช่นเดียวกัน เพราะเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน


 ช่องทางของสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีอยู่เดิมนั้นค่อนข้างจำกัด มีนิตยสารน้อยเกินไป หนังสือพิมพ์น้อยเกินไป สำนักพิมพ์น้อยเกินไป หรือว่าถึงแม้บางคนจะบอกว่ามันมีมากพอแล้ว แต่ผมไม่ใช่นักเขียนชื่อดังระดับเบสต์เซลเลอร์ โอกาสที่จะได้เขียนงานออกมาเพื่อนำคำถามและความสับสนว้าวุ่นออกมาไว้นอกหัวนั้นก็น้อยเหลือเกิน อินเทอร์เน็ตจึงเป็นคำตอบสำหรับคนร่วมสมัยอย่างเรา คุณ และผม


 ทั้งที่เป็นนักเขียน นักอ่าน ช่างภาพ แม่บ้าน นักศึกษา พนักงานออฟฟิศ นักวิชาการ เซลส์แมน คนแก่วัยเกษียณ หรือเด็กนักเรียนชั้นประถม เราทุกคนเลือกที่จะสร้างอะไรก็ได้ที่เราชอบและถนัด ผมเป็นนักเขียนก็เลือกที่จะใช้วิธีเขียนบทความใส่บล็อก ถ้าคุณเชี่ยวชาญอย่างอื่น ก็ทำอย่างอื่นกันไป ถ่ายหนัง แต่งเพลง ถ่ายรูป ทำกับข้าว ปลูกต้นไม้ งานวิจัย หรือแม้กระทั่งนินทาลูกค้าและเจ้านายของคุณ


 แล้วเรานำออกมาแชร์กัน ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ดีหรือเลว งามหรืออัปลักษณ์ เพราะผลรวมของการสร้างสรรค์ทั้งหมดนั้น จะสะท้อนความเป็นคนร่วมสมัยของเราทุกคนออกมาให้เห็น และจะกลายเป็น Collective Intelligence ร่วมกัน


 ผมเชื่อว่าการที่จะอยู่ร่วมกันในโลกที่กลายเป็นแหล่งรวมภูมิปัญญา ก็คือเราสถิตความคิดของเราเอาไว้ แล้วก็ใส่กลับเข้าไปในแหล่งรวมภูมิปัญญา


 ตลอด 4 ปีที่่ผ่านมา เพื่อนหลายคนชอบมาถาม "มึงจะเขียนบล็อกไปเพื่ออะไร ทำไมมึงไม่ไปเขียนอะไรที่มันได้เงิน" ผมคิดว่าคำถามแบบนี้เป็นการสั่นคลอนความเชื่อที่มีอยู่อย่างมาก


 มาจนถึงทุกวันนี้ เพื่อนหลายคนเปลี่ยนคำถามว่า "มึงจะเขียนสเตตัสใส่ Facebook ตลอดเวลาไปเพื่ออะไร" เพราะผมกำลังเห่อการเล่น Facebook.com อยู่ มันมีเกมให้เล่น มีแบบสอบถามให้ทำ มีช่องให้โหลดภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ และที่สำคัญ มีช่องว่างให้เขียนว่า What's on your mind ? เมื่อผมคิดอะไรออกปุ๊บ ผมก็จะรีบบันทึกมันใส่ไว้ในสเตตัส


 มันคงเป็นเหมือนเมื่อ 4 ปีก่อน ที่ผมเอาแต่คอยย้ำถามคุณ grappa และ YodmanudYing ว่าเอาเรื่องจากไหนมาเขียน เขียนไปเพื่ออะไร ใครจะมาอ่าน เขียนไปเยอะๆ แล้วมันจะดีอย่างไร ?


 ตลกดีที่ลักษณะของคำถามแบบนี้ มันแทบไม่ต่างจากคำถามอภิปรัชญา เรามาจากไหน เกิดมาทำไม อยู่ไปเพื่ออะไร ตายแล้วไปไหน ?


 ถ้าตอบว่าเพื่อหาเงินหาทองมาใส่ตัวเองไปเรื่อยๆ ผมก็คงหยุดเขียนบล็อกไปแล้ว และก็ไม่ใช้เวลามากมายในแต่ละวันในการอัพสเตตัสใส่ Facebook เพราะว่าต้องเอาแรงไปเขียนอะไรเพื่อให้ได้เงิน ไม่ใช่มาเขียนอะไรฟรีๆ แบบนี้


 ผมเชื่อว่าในขณะที่ผมกำลังเขียนบล็อกและสเตตัสเพื่อสถิตความคิด เพื่อนคนอื่นๆ ก็คงสร้างอะไรอย่างอื่นเพื่อสถิตความคิดเช่นกัน พวกเราความสับสนว้าวุ่นของสังคมร่วมสมัย ของโลกยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ออกมาจากภายใน แล้วตั้งพักไว้ภายนอก


 นอกจากนี้มันยังเป็นจิตสาธารณะที่เราจะแบ่งปันอะไรที่เรารู้ ออกไปให้ผู้อื่นอีกมากมายร่วมกัน สังคมจะเดินหน้าไปได้ด้วยการที่ทุกคนแบ่งปันให้ ไม่ใช่เอาแต่ตักตวงรับเข้ามาอย่างเดียว


 ผมนึกถึงเจ้าของนามแฝง "หนอน" เมื่อ 12 ปีก่อนทุกครั้ง เมื่อเขียนบทความนิตยสารหรือเขียนบล็อกทุกชิ้นสำเร็จเสร็จสิ้น ผมนำมันกลับเข้าไปใส่ไว้ใน Collective Intelligence และคิดว่ามันจะกลายเป็นข้อมูลความรู้และแรงบันดาลใจ ให้เกิดการสถิตความคิดของผู้คนอีกจำนวนมากมายมหาศาล


 



***



 Pantip.com
 สังคมและชุมชนออนไลน์แห่งแรกและใหญ่ที่สุดของไทย ในตอนนี้มันคือแหล่งรวมภูมิปัญญาขนาดใหญ่ที่สุดของคนไทย ที่ทุกคนมาแชร์ให้กันและกันแบบฟรีๆ ในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องหนัง เพลง หนังสือ รถยนต์ กล้อง อาหาร งานครัว ปรัชญา ศาสนา งานอดิเรก หรือแม้กระทั่งการซ่อมบ้าน ซ่อมคอมพิวเตอร์ มันกลายเป็นบ้านเกิดของผู้คนที่กำลังมีบทบาทสำคัญในวงการต่างๆ เช่นดารา พิธีกร นักเขียน



 Drama-addict.com
 เมื่อสังคมออนไลน์หนึ่งๆ พัฒนามาจนถึงจุดอิ่มตัว จิตสำนึกของคนในนั้นจะค่อนข้างเหมือนคนสังคมในโลกแห่งความเป็นจริง คือมีอัตตา เห็นแก่ตัว หาผลประโยชน์ หลอกลวง แก่งแย่งแข่งขัน และเต็มไปด้วยกาฝากสังคมออนไลน์ ทำให้ภูมิปัญญาเติบโตขึ้นแบบบิดเบี้ยว รกรุงรัง ไม่น่าดู ดราม่า-แอดดิกท์ เป็นเว็บบอร์ดที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นปฏิสสารของพันทิปดอตคอม ที่จะคอยวิพากษ์วิจารณ์ความบิดเบี้ยวนั้น ผมถือว่าเป็นการตรวจสอบภูมิปัญญาที่ได้ผลดีเยี่ยม



 Being Digital - นิโคลาส เนโกรปอนเต
 หนังสือเกี่ยวกับโลกยุคเทคโนโลยีสารสนเทศที่ผมนึกถึงบ่อยที่สุด เพราะ นิโคลาส เนโกรปอนเต เขียนไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1995 จนถึงตอนนี้ทุกอย่างเป็นจริง สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน โดยเฉพาะการที่เขาบอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกทำให้เป็น "ดิจิตอล" ได้หมด เทคโนโลยีจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ให้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


 ซูซาน บอยล์ และ ฮิตเล่อร์ ซับนรก
 เป็นคลิปยอดนิยมในเว็บ Youtube.com คลิปของซูซาน บอยล์ แสดงให้เห็นพลังของสื่อดิจิตอลในการแพร่ลามตัวเองไปอย่างรวดเร็ว จนเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก คลิปฮิตเล่อร์ ซับนรก แสดงให้เห็นพลังในการสร้างสรรค์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคนรวมกัน คลิปนี้ออกมาหลายเวอร์ชั่น ทำโดยผู้ใช้หลายคน แต่ละคนไม่มีชื่อเสียง ไม่มีใครรู้จัก แต่รับรองว่าทุกเวอร์ชั่นนั้นตลกจนแทบตกเก้าอี้เลยทีเดียว



 นาธาน -โอเน็ต - GT200
 ในยุคสมัยนี้ สื่อมวลชนกระแสหลักของไทยอ่อนแรงลงไปเยอะ ทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ จนต้องถูกกำหนด Agenda Setting โดยกระแสข่าวจากในชุมชนออนไลน์ เว็บบอร์ด และบล็อก ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตช่วยกันแชร์ข้อมูล ความรู้ และความคิดเห็น นำไปสู่การเปิดประเด็นข่าวร้อนแรงออกไปสู่สังคม และในที่สุดก็นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างดี



 Diary of the Dead - จอร์จ เอ. โรเมโร
 หนังซอมบี้ของ จอร์จ เอ. โรเมโร มีเอกลักษณ์พิเศษตรงที่การแทรกประเด็นวิพากษ์วิจารณ์สังคมอยู่เสมอ ในภาคนี้เขาวิพากษ์วิจารณ์สังคมโลกยุค Web 2.0 ที่ชอบแชร์คลิปวิดีโอกัน ซอมบี้ก็วิ่งไล่ฆ่าคนไปเรื่อย ส่วนคนชอบถ่ายและแชร์คลิปก็วิ่งตามถ่ายไปเรื่อย ดูแล้วเสียดสีความเฉยชาและเห็นแก่ตัวของคนในยุคนี้ได้อย่างดี คือเฉยชาต่อความรุนแรงตรงหน้าที่กำลังเกิดกับเพื่อนมนุษย์ และเห็นแก่ตัวที่จะเก็บภาพเหล่านั้นเอาไปอัพโหลดเพื่ออวดเพื่อนออนไลน์


 



***



My Disbelief



 ผมค่อยๆ คลายความเชื่อในสิ่งพิมพ์กระดาษลงเรื่อยๆ แล้ว สวนทางกับที่ผมค่อยๆ เชื่อในสื่ออิเลกทรอนิกส์มากขึ้นไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้ 1.อีบุคส์ยังไม่บูม 2.สำนักข่าวออนไลน์ดูไม่น่าเชื่อถือ 3.บล็อกเกอร์ ชาวเว็บบอร์ด และชาวโซเชียลเน็ทเวิร์คทั้งหลาย ดูเนิร์ดๆ ไร้สาระ เหมือนคนว่างงาน มานั่งเล่นไปทำไม ทั้งหมดนี้เกิดจากความเชื่อบางอย่างที่บรรษัทสิ่งพิมพ์ขนาดใหญ่สร้างขึ้นมา เพื่อกดทับพวกเราเอาไว้ เพราะบรรษัทสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถสร้าง Business Model อะไรที่ดีพอ ที่จะสร้างเงินให้กับตนเองได้คุ้มค่า สำหรับการย้ายตัวเองจากสิ่งพิมพ์ไปสู่สื่ออิเลกทรอนิกส์เท่านั้นเอง ทั้งที่ทุกวันนี้พวกเขาต้องทนรับค่ากระดาษ ค่าพิมพ์ และค่าขนส่งมหาศาล กระดาษแพงขึ้นเรื่อยๆ และมีน้ำหนักมากจริงๆ แต่ความกลัวว่าจะมีสภาพเหมือนบรรษัทเพลงและหนังที่โดน mp3 และ Bittorrent เล่นงานซะอ่วมนั้นมีมากกว่า เขาจึงยังคงต้องพิมพ์สิ่งพิมพ์ต่อไปแบบนี้ แล้วก็คอยตอกย้ำเราว่ากระดาษนั้นมีเสน่ห์กว่า กระดาษนั้นน่าเชื่อถือกว่า และนักเขียนลงกระดาษนั้นยิ่งใหญ่และมีสาระกว่า เท่านั้นเอง


 


...


 


 

No comments: