...
ในคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พวกคุณมีโปรแกรมว่าจะทำอะไรหรือยัง? ถ้ายังไม่มี พวกเรามานอนดูหนังด้วยกันไหม? ผมจะเอาหมอนและฟูกมาปูตรงห้องรับแขก ขนผ้านวมออกมาให้ เตรียมทอดเฟรนช์ฟรายจานใหญ่ และซื้อน้ำอัดลมมาตุนไว้ พวกเรานัดเจอกันตั้งแต่ช่วงหัวค่ำของวันที่ 31 ธันวาคม เพื่อที่พวกเราจะได้ผ่านคืนข้ามปีไปด้วยกัน พร้อมกับแผ่นดีวีดีหนังเหล่านี้
1. A Bittersweet Life
เริ่มต้นกันประมาณสองทุ่ม กับหนังแอคชั่นจากเกาหลี เรื่อง A Bittersweet Life ของผู้กำกับ คิมจีวุน
หลายปีก่อน ตอนที่นั่งอยู่บนรถตู้ เพื่อไปทำสกู๊ปเรื่องโรงไฟฟ้าทางภาคใต้กับพี่หนึ่ง-วรพจน์ เราคุยเรื่องราวสัพเพเหระอะไรกันไปสักพัก แล้วพี่หนึ่งก็พูดขึ้นว่า "เวลาคนเราทะเลาะกัน เมื่อมันผ่านไปสักระยะ เรามักจะลืมไปแล้วว่าเราเริ่มทะเลาะด้วยเรื่องอะไร แต่น่าตลกดี ที่เรามักจะยังแสดงความโกรธเกลียดกันอยู่ได้"
คนเรามักจะเป็นเช่นนี้จริงๆ คือเราไม่ชอบที่จะจดจำเรื่องราวมากมาย เรามักจะพยายามลืมรายละเอียดที่รกสมองไปจนหมดสิ้น แต่เราชอบที่จะจดจำไว้เพียงแต่อารมณ์ความรู้สึก และทิฐิมานะที่มีต่อกัน ในความขัดแย้งหนึ่งๆ แท้จริงแล้วเกิดจากปัญหาที่สลับซับซ้อน ยืดเยื้อเรื้อรัง แต่มันง่ายมากที่เราจะลดทอนความซับซ้อนนั้นลงไป คงไว้เพียงแค่ความรู้สึกโกรธเกลียดกันไว้
ผมนึกถึงคำพูดของพี่หนึ่ง ตอนที่กำลังนอนดูดีวีดีเรื่องนี้เมื่อหลายปีก่อน และผมนึกถึงหนังเรื่องนี้ขึ้นมา ตอนที่กำลังนอนดูข่าวม็อบเสื้อเหลืองปะทะเสื้อแดงในทีวี เมื่อช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา
ผมคิดว่าสถานการณ์การเมืองในบ้านเมืองของเรา ดำเนินมายาวนานเกิน จนถึงจุดที่เราลงมือฆ่าฟันกัน เรากำลังนั่งจมอยู่ในกองเลือดของกันและกันแบบงงๆ ว่าเรามาถึงขั้นนี้ได้อย่างไร บางทีตอนนี้อาจจะถึงเวลาที่เรามานั่งถามกันและกันว่า "เราเริ่มทะเลาะด้วยเรื่องอะไร?" และ "เรามาถึงขั้นนี้ได้อย่างไร"
A Bittersweet Life เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับแกงค์มาเฟีย พระเอกเป็นนักฆ่าผู้เก่งกาจ เผอิญไปทำตัวกร่างตบหัวมาเฟียเด็กจากอีกแกงค์หนึ่ง เหตุการณ์เริ่มต้นจากเรื่องไร้สาระเล็กน้อยแค่นี้ จากน้ำผึ้งหยดเดียวแต่กลับนำไปสู่สงครามลุกลามใหญ่โต
ในฉากจบของ A Bittersweet Life เป็นฉากแอคชั่นยิงถล่มกันเละเทะ ดูไปแรกๆ ก็สนุกดีเหมือนหนังแอคชั่นทั่วไป แต่พอดูไปเรื่อยๆ เห็นเลือดท่วมมากขึ้นเรื่อยๆ จนน่าสยดสยองชวนอ้วก ผู้คนล้มตายอย่างไร้เหตุผล ก่อนจะสิ้นลมหายใจ พวกเขานั่งจมอยู่บนกองเลือดของกันและกัน และพึมพำด้วยคำพูดตรงกัน "เราเริ่มทะเลาะด้วยเรื่องอะไร? เรามาถึงขั้นนี้ได้อย่างไร?"
2. The Experiment
ความดี-ความเลว สิ่งที่ถูก-สิ่งที่ผิด พวกเรา-พวกมัน จริงๆ แล้วอาจจะไม่มีอยู่จริงก็ได้นะ
ความคิดที่กำลังวนเวียนอยู่ในหัวของเราตลอดเวลา ส่วนใหญ่แล้วอาจจะกำลังหลอกลวงตัวเราเองอยู่ก็ได้ ว่า "เรา" ทำอะไรแล้วถูกหมด ในขณะที่ "มัน" ทำอะไรแล้วผิดหมด จริงๆ แล้วนี่คือหลุมพรางของความคิด มันคืออคติอันมืดบอด ซึ่งเกิดจากการมองสิ่งต่างๆ โดยแบ่งแยกออกเป็น 2 ขั้วที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หรือที่เรียกว่า "ทวิลักษณ์" เป็นการมองโลกแบบตื้นเขิน และไม่สามารถใช้อธิบายโลกตามความจริงได้เลย
หนังเรื่อง The Experiment จะชี้ให้เราเห็นว่า อคติเกิดขึ้นจากการที่มนุษย์คนหนึ่ง หรือมนุษย์กลุ่มหนึ่ง ยอมสละความเป็นปัจเจกบุคคลที่สามารถใช้เหตุและผล แล้วไปตกอยู่ภายใต้การกำหนดบทบาททางสังคม ในโครงสร้างของสังคม ที่ได้แยกเราออกจากกัน แบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่าย แล้วในที่สุด เราก็คิดและดำเนินชีวิตไปตามบทบาทนั้นอย่างมัวเมา
The Experiment สร้างขึ้นโดยอิงเรื่องราวเหตุการณ์จริง จากการทดลอง Stanford Prison Experiment ใน ค.ศ. 1971 ซึ่งได้จัดทำขึ้นโดยนักสังคมวิทยาในสหรัฐอเมริกา เขานำอาสาสมัครกลุ่มหนึ่งมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันใน "คุก" จำลอง โดยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายผู้คุมและฝ่ายนักโทษ แล้วกำหนดเงื่อนไขสถานการณ์ต่างๆ เข้าไประหว่างการทดลอง เพื่อให้ฝ่ายผู้คุมได้ใช้อำนาจของตน และให้ฝ่ายนักโทษปฏิบัติตาม
อาสาสมัครเหล่านี้ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน และตอนเริ่มต้นการทดลองก็เพิ่งมาทำความรู้จักกัน พวกเขายังยิ้มแย้ม หยอกล้อเล่นหัวกันแบบเพื่อน แต่เมื่อการทดลองนี้ดำเนินไปเรื่อยๆ ปรากฏว่าอาสาสมัครแต่ละคน แต่ละฝ่าย ค่อยๆ อินกับบทบาทสมมติของตนมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาเริ่มทะเลาะกัน กลั่นแกล้งกัน ทำร้ายกันไปมา แล้วในที่สุด พวกเขาก็กลายเป็นผู้คุมจอมโหดและนักโทษเดนตายไปได้จริงๆ
เมื่อหลายวันก่อน พี่หนุ่ม - โตมร เขียนข้อความสั้นๆ ไว้ในสเตตัสเฟซบุคว่า "ทำไมวิธีคิดแบบ Binary Opposition หรือทวิลักษณ์ ด้วยการตัดสินว่า ถ้าข้างหนึ่งเลวก็ต้องเลวทั้งหมด ข้างหนึ่งดีก็ต้องดีทั้งหมด ในสังคมไทยถึงได้ 'แรง' ขนาดนี้ เหมือนคนขาดสติ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คนขาดสติเหล่านี้ ก็จะต้องลุกขึ้นมาตีกันจนเลือดนองแผ่นดิน เพราะคือวิสัยของคนขาดสติดาษๆ โดยทั่วไป"
The Experiment และ Stanford Prison Experiment เผยให้เห็นว่ามนุษย์เราแต่ละคน ในเวลาเริ่มต้นนั้นไม่มีดี-เลว ถูก-ผิด เรา-เขา แต่เมื่อมาอยู่ร่วมกันภายใต้โครงสร้างสังคมแบบหนึ่ง กำหนดบทบาทแบบหนึ่งให้แต่ละคน แต่ละฝ่าย เรากระเหี้ยนกระหือรือที่จะวิ่งเข้าสวมบทบาทสมมตินั้น และวิ่งเข้าห้ำหั่นกันอย่างไร้เหตุผล
ตอนนี้คงจะเป็นเวลาห้าทุ่มกว่าๆ ใกล้จะถึงวินาทีสุดท้ายของปี ขอหยุดการฉายหนังดีวีดีไว้ชั่วคราว เพื่อดูรายการจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ดูสมเด็จพระสังฆราชและดูในหลวงในทีวีกันสักแป๊บนะครับ
3. All the President's Men
หลายปีก่อน ตอนที่รัฐบาลทักษิณยังอยู่ ผมได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งโฆษกรัฐบาล ถึงแม้ตอนนั้นรัฐบาลจะยังดูมั่นคงและได้รับความนิยมอยู่ แต่ก็กำลังเริ่มมีปัญหากับสื่อมวลชนและนักวิชาการมากขึ้นเรื่อยๆ
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เรียกสื่อมวลชนบางสำนักในเวลานั้นว่า "สื่อเทียม" หมายความว่าเป็นสื่อที่คอยโจมตีรัฐบาลตลอดเวลา เพื่อหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจแอบแฝง พร้อมๆ กับการกล่าวตำหนิรายการข่าวประเภทคุยข่าว ว่าเป็นการทำงานสื่อมวลชนที่ผิดทิศทาง คือไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริง แต่มุ่งเน้นเสนอความคิดเห็นและเหตุผลส่วนตัว วิพากษ์วิจารณ์อย่างไร้ข้อมูล และเน้นการเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชม
โดยส่วนตัวผม ในเวลานั้นก็ไม่ได้ชอบรัฐบาลทักษิณ แต่ก็เห็นด้วยกับความเห็นของนพ.สุรพงษ์ ในเรื่องสื่อมวลชน ผมเชื่อว่าปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นและดำเนินต่อมาอย่างเรื้อรังจนถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความบกพร่องในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในเวลานั้น
การจะเปิดโปงความฉ้อฉลคอร์รัปชั่นของรัฐบาล ตามวิถีทางที่เหมาะสม คือการทำงานแบบ Investigative Journalism อย่างเช่นการเปิดโปงเรื่องซุกหุ้น เปิดโปงเรื่องสุวรรณภูมิร้าว ไม่ใช่การเอาโต๊ะมาตั้ง เอาเก้าอี้มาวางสองตัว แล้วให้พิธีกรคุยข่าวมานั่งคุย นั่งเล่า นั่งวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา พอโดนรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงปิดรายการ ก็หันไปใช้วิธีจัดรายการสดแบบสัญจร ซึ่งก็คือการก่อม็อบนั่นเอง
มันเป็นการง่ายมากๆ ที่พวกรายการคุยข่าวและสื่อเทียมเหล่านี้ จะถูกรัฐบาลหรือผู้ที่เข้าข้างรัฐบาลออกมาหักล้างว่า "เป็นเพียงความเห็น" หรือ "เป็นเพียงเรื่องเดิมที่ศาลตัดสินไปแล้วว่าไม่ผิด" ซึ่งในที่สุด ในตอนนี้เหล่าคนที่เข้าข้างรัฐบาลทักษิณ ก็หันมาใช้วิธีการเดียวกัน คือทำตัวเป็นสื่อเทียมและนักคุยข่าว ผ่านสถานีวิทยุชุมชน และสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม หรือไม่ก็ใช้วิธีก่อม็อบเช่นเดียวกัน
การทำงานของสื่อมวลชนแท้ๆ นั้นมีพลังมหาศาลและล้มรัฐบาลคอร์รัปชั่นได้ ไม่ว่าจะมีเสียงในสภาแน่นหนาขนาดไหน หรือได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากี่สิบล้านเสียง
All the President's Men เป็นหนังที่สร้างมาจากเรื่องราวจริงๆ ของ คาร์ล เบิร์นสไตน์ และ บ๊อบ วู้ดเวิร์ด สองนักข่าวหัวเห็ดจากหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ ช่วยกันขุดคุ้ยคดีงัดแงะห้องพักของโรงแรมวอเตอร์เกท จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตระดับโลก จนในที่สุด คดีนี้ถือเป็นแรงผลักให้ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ต้องหลุดออกจากตำแหน่ง
4. V for Vendetta
ตอนที่หนังเรื่องนี้ออกฉาย ผมได้ไปดูหนังเรื่องนี้ในโรง และคิดว่า V คือพวกพันธมิตรฯ ในขณะที่รัฐบาลทักษิณสมัยนั้นคือตัวร้ายในหนัง แต่เมื่อผมซื้อแผ่นดีวีดีหนังเรื่องนี้มาดูอีกรอบเมื่อไม่นานมานี้ ผมกลับมองว่า V คือพวกเสื้อแดง ในขณะที่รัฐบาลประชาธิปัตย์คือตัวร้ายในหนัง
V for Vendetta ใช้จินตนาการโลกอนาคตแบบ Dystopia มาสะท้อนให้เห็นปัญหาการเมืองของสังคมร่วมสมัย ซึ่งผมคิดว่าถ้าเรายังยึดมั่นว่ารูปแบบประชาธิปไตยเท่านั้นที่ดีที่สุด เรื่องราวแบบ V for Vendetta ก็คงมีรูปแบบซ้ำๆ เกิดขึ้นกับทุกสังคม ทุกยุคสมัย และทุกประเทศตลอดไป คือรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะคอร์รัปชั่นและครองอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้น พร้อมๆ ที่ประชาชนก็จะออกมาต่อสู้แข็งขืนมากขึ้น
Filmsick นักเขียนวิจารณ์หนัง เคยพูดว่าพวกเราไม่เคยเป็นประชาธิปไตยกันจริงๆ หรอก พวกเราแค่ดัดจริตทำเป็นประชาธิปไตยกันไปวันๆ เท่านั้นเอง ผมเห็นด้วยกับเขาอย่างยิ่ง สังคมไทยเราเอาแต่พูดคำว่าประชาธิปไตย และมีระบอบการปกครองที่ทำรูปแบบเหมือนว่าเป็นประชาธิปไตย แต่จริงๆ แล้วรูปแบบนี้ได้สร้างปัญหาให้เรามาตลอด
ช่วงปี 2006 อาจารย์ไชยันต์ ไชยพร จากคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ได้ฉีกบัตรลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไป หลังจากที่ทักษิณตัดสินใจยุบสภาหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผมได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์อาจารย์เรื่องการเมืองไทยในตอนนั้น
อาจารย์ไชยันต์บอกว่า ถ้าประชาชนแต่ละคนไม่ได้ตัดสินใจเลือกลงคะแนนอย่างอิสระและด้วยเหตุผลอย่างแท้จริง และผลรวมคะแนนเสียงนั้น ก็จะไม่ทำให้เราได้คนที่ดีที่สุดมาเป็นตัวแทน ยกตัวอย่างเช่นเพลงป๊อปยอดนิยม หนังทำเงินบ๊อกซ์ออฟฟิศ ก็ล้วนวนเวียนอยู่กับเพลงและหนังแบบตลาดๆ ที่ไม่ได้มีคุณค่ายอดเยี่ยมอะไร บรรดาส.ส.และนักการเมืองที่เดินในสภาฯ ตอนนี้ก็คงไม่ต่างกัน
อะไรคือทางออกกับปัญหาการเมืองในปัจจุบัน? ถ้ารัฐบาลเผด็จการคดโกงการเลือกตั้ง แทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระต่างๆ อีกทั้งยังมีหัวคะแนนทำงานอย่างแข็งขันในชนบท
แน่นอนว่าทางออกของปัญหาการเมือง ไม่ได้อยู่ที่การไปกาบัตรลงคะแนนอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ทางออกของปัญหาการเมืองก็ไม่ได้อยู่ที่การไปร่วมม็อบกันจนบ้านเมืองลุกเป็นไฟ อาคารรัฐสภาระเบิดเป็นจุณ อย่างในฉากไคลแมกซ์ของหนัง V for Vendetta
สำหรับผม V for Vendetta เชิดชูความเป็นปัจเจกชน ความสามารถที่จะเป็นตัวของตัวเอง ตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อตัวเอง และเหนือสิ่งอื่นใด คือการเลือกเพื่อสังคมส่วนรวม
ฉากสำคัญที่สุดคือฉากล้มตัวโดมิโน่นับแสนนับล้านตัว ตัวโดมิโน่เปรียบเหมือนมวลชนที่เกลื่อนกลาด โง่เขลา ถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่ว่าจะโดยฝ่ายใดก็ตาม มวลชนแบบนี้สร้างได้แต่กระแสความวุ่นวาย แต่ไร้พลังที่จะสร้างเปลี่ยนแปลงที่ดีงามและแท้จริง เหลือไว้เพียงตัวโดมิโน่ตัวเดียว ตัวสุดท้ายที่ยังไม่ล้ม เปรียบได้กับนางเอกของเรื่อง เธอเป็นปัจเจกชนอย่างสมบูรณ์ ที่ไม่ล้มไปตามแรงผลักของฝ่ายใด และไม่ล้มไปตามกระแสที่ใครเป็นคนจุด อีวี่สามารถตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง และให้กับสังคมรอบตัวได้อย่างแท้จริง
V for Vendetta เสนอว่าประชาธิปไตยไม่ได้เดินหน้าไปโดยมวลชนที่โอนเอนตามกระแส แต่ต้องเดินหน้าไปด้วยปัจเจกชนที่มีอิสระและเหตุผล การไปกาบัตรเลือกตั้งตามหัวคะแนน หรือตามระบบอุปถัมภ์ และการไปร่วมม็อบเพราะถูกเคเบิลทีวีหรือวิทยุชุมชนปั่นหัว นั้นไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นผลรวมของมวลชนผู้โง่เขลาที่จะนำบ้านเมืองให้ลงเหวลึกไปเรื่อยๆ
อีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จาก V for Vendetta คือการทำลายความชั่วร้าย ด้วยการใช้ความชั่วร้ายกว่านั้น รังแต่จะทำให้ความชั่วร้ายลุกลามและบานปลายไปเรื่อยๆ คนไทยทั้งประเทศควรจะเรียนรู้และจดจำกันได้แล้ว ว่าการโค่นรัฐบาลคอร์รัปชั่นด้วยการปฏิวัติโดยทหารนั้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้เลย
5. The Way Home
ใกล้รุ่งสางของเช้าวันแรกของปี ผมอยากให้เราดูหนังเรื่อง The Way Home ร่วมกัน ก่อนจะแยกย้ายกันไป
นี่คือตัวอย่างที่แท้จริงของคำว่า "อหิงสา" และ "อารยะขัดขืน" นี่คือหนังที่จะยกระดับจิตใจของเราทุกคน และจะช่วยหยุดความขัดแย้งทั้งปวงลงได้
ในเมื่อเราเปลี่ยนความคิดคนอื่นไม่ได้ง่ายๆ ด้วยการบังคับและโต้เถียง เพราะทุกคนล้วนอ้างเหตุผลและพร้อมที่จะใช้กำลังทำร้ายกัน มีเพียงแค่การให้ความรักและความเมตตาเท่านั้น ที่จะเป็นวิธีการสอนบทเรียนชีวิตที่ได้ผลที่สุด
เมื่อหลานชายนิสัยเสีย ชอบทำร้ายยายของตนเอง ที่แก่ชรา หลังโกง และเป็นใบ้ วิธีเดียวที่ยายใช้ในการโต้ตอบคือการใช้ภาษามือ ยายเอามือลูบหน้าอกตัวเองทุกครั้งที่หลานโกรธ งอแง เอาแต่ใจ
ถ้าจนถึงตอนนี้คุณยังไม่เผลอหลับไป และเรายังดูหนังอยู่ด้วยกัน คุณก็จะรู้ว่าภาษามือของการเอามือลูบหน้าอกแปลว่าอะไร
...
No comments:
Post a Comment