...
ผมพบว่าการเป็นนักเขียน มีหลายสิ่งหลายอย่างที่คล้ายกับการเป็นฆาตกรต่อเนื่อง
แรงจูงใจที่ทำให้พวกเราลงมือเขียนหรือฆ่านั้น มาจากความปรารถนาต่อสิ่งที่มองเห็นเป็นประจำทุกวันๆ และเหยื่อรายแรกในชีวิตของพวกเรา ที่เราลงมือเขียนถึง หรือเราลงมือฆ่า มักจะเป็นคนที่เรารู้จักดี และเป็นคนที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด
นักเขียนและฆาตกรต่อเนื่องแต่ละคน จะดำเนินการเขียนและการฆ่าไปในแบบที่มันเป็นพิธีกรรมส่วนตัว ในเมื่อเป็นพิธีกรรม มันก็จะมีรูปแบบที่ซ้ำ คงที่ แน่นอน ตายตัว และทำนายได้ นักอ่านและเอฟบีไอมักจะใช้คำเรียกรูปแบบของการเขียนและการฆ่าที่ซ้ำๆ นี้ว่าเอกลักษณ์หรือลายเซ็น
อย่างตัวผมเอง มีรูปแบบการเขียนที่ค่อนข้างมองเห็นได้ชัดเจน คือ
1. ในการทำงานเขียนบทความ ผมใช้วิธีสร้างวงเล็บขึ้นมาในจินตนาการ เริ่มต้นย่อหน้าแรกคือการเกริ่นเปิดประเด็นหลักของบทความ ด้วยการเปิดวงเล็บใหญ่ ( [ ) แล้วก็เล่าเรื่องไปเรื่อยๆ เข้าสู่การเปิดประเด็นย่อย ด้วยการเปิดวงเล็บปีกกา ( { ) และก็เข้าสู่การยกตัวอย่างกรณีย่อยๆ ด้วยการเปิดวงเล็บเล็ก ( ( )
2. เมื่อบทความดำเนินไป ผมจะค่อยๆ เก็บกวาดประเด็นต่างๆ ที่ได้เปิดวงเล็บเอาไว้ ด้วยการไล่ใส่วงเล็บปิดให้กับแต่ละประเด็นทั้งเล็กและใหญ่ ไล่ย้อนกลับไปให้เรียบร้อย หมดจด และครบถ้วน ตั้งแต่การปิดวงเล็บเล็ก ( ) ) แล้วก็ปิดวงเล็บปีกกา ( } ) ท้ายที่สุด การปิดวงเล็บใหญ่สุด ( ] ) ก็คือตอนจบบทความนั่นเอง
3. ดังนั้น บทความของผมแทบทุกชิ้น จึงมีรูปแบบการเขียนที่ค่อนข้างจะคงที่ คือ ย่อหน้าแรกสุดจะสัมพันธ์กับย่อหน้าสุดท้าย ย่อหน้าที่สองจะสัมพันธ์กับย่อหน้ารองสุดท้าย ... เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
ดังแสดงตามภาพนี้ [...{...(...)...}...]
จุดประสงค์ของพิธีกรรมก็คือการเป็นสะพานข้าม เพื่อ "การเปลี่ยนสภาพ" จากการเป็นสิ่งหนึ่ง ข้ามผ่านไปเป็นอีกสิ่งหนึ่ง นักเขียนและฆาตกรต่อเนื่องจะใช้การเขียนและการฆ่า เพื่อเป็นพิธีกรรมในการเปลี่ยนตัวเองไปสู่การเป็นสิ่งใหม่ เปรียบเหมือนดักแด้ผีเสื้อกลางคืนที่อยู่ในปากเหยื่อ ในหนังเรื่อง The Silence of the Lambs
ก่อนเขียนกับเมื่อเขียนเสร็จ ก่อนฆ่ากับเมื่อฆ่าเสร็จ พวกเราต่างก็ได้เปลี่ยนสภาพไป
ดร.ฮันนิบาล เลคเตอร์ ฆ่าคนเพื่อกินเนื้อคน เขาต้องการเปลี่ยนสภาพไปเป็นนักบริโภคขั้นสูงสุด สังเกตดูให้ดีจะพบว่า ดร.เลคเตอร์หมกมุ่นอยู่กับเรื่องรสนิยมและการบริโภค ฟังดนตรีคลาสสิค ทำอาหารเก่ง เลือกไวน์อย่างพิถีพิถัน วิจารณ์เสื้อผ้าหน้าผมของ แคล์ริซ สตาร์ลิ่ง และวิจารณ์กลิ่นโคโลญจน์ของ วิลล์ เกรแฮม ใน Red Dragon
ในขณะที่ บัฟฟาโล่ บิลล์ ใน The Silence of the Lambs ฆ่าผู้หญิงแล้วถลกหนังพวกเธอมาตัดเย็บเป็นชุดเสื้อผ้า เพราะเขาต้องการจะเปลี่ยนตัวเองไปเป็นผู้หญิง ฟรานซิส โดลาร์ไฮด์ ใน Red Dragon ฆ่าล้างครอบครัวของเหยื่อ เพราะเขาต้องการไปเกิดใหม่เป็นมังกรไฟ
เด็กซ์เตอร์ มอร์แกน ในทีวีซีรีย์เรื่อง Dexter เป็นฆาตกรต่อเนื่องที่ฆ่าฆาตกรต่อเนื่องด้วยกันเอง เพราะเขาต้องการเปลี่ยนสภาพตัวเอง จากการเป็นเจ้าหน้าที่ตัวเล็กๆ ทำงานพิสูจน์รอยเลือดในสถานที่เกิดเหตุ ไปเป็นสถาบันยุติธรรมทั้งระบบ คือทั้งหาหลักฐาน จับกุม ตัดสิน และประหารชีวิต ซึ่งก็คือ Vigilante หรือศาลเตี้ยนั่นเอง
แล้วพวกนักเขียนล่ะ! เขาต้องการเปลี่ยนสภาพไปเป็นอะไร?
ผมคิดว่านักเขียนเขียนหนังสือ เพื่อจะเปลี่ยนสภาพของตนเองไปเป็นนักคิด เราสถิตความคิด เพื่อที่เราจะได้ข้ามผ่านความคิดนั้น แล้วไปคิดเรื่องอื่นต่อไป
องค์ประกอบสำคัญที่สุดของพิธีกรรม คือวัตถุที่ถูกใช้เป็นสิ่งสังเวย ซึ่งจะถูกทำให้สถิต หยุดนิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น แท้จริงแล้วทั้งการเขียนและการฆ่า ก็คือการทำให้สิ่งหนึ่งต้องสละพลังในการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้อีกสิ่งหนึ่งได้รับพลังในการเปลี่ยนแปลงนั้นไป นี่คือเหตุผลว่าทำไมฆาตกรต่อเนื่องจึงต้องฆ่าเหยื่อ มันก็คือการทำให้เหยื่อไม่เปลี่ยนแปลงไป เขาจึงสามารถเป็นฝ่ายที่เปลี่ยนไปอย่างที่ต้องการ
การเขียนก็เป็นเช่นเดียวกับการฆ่า การเขียนคือการสถิตความคิดเรื่อยเปื่อยที่ยังผิด ยังพลาด ยังไม่ครบถ้วน ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งกำลังไหลเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ในหัวทุกขณะจิต นักเขียนทนความไม่สมบูรณ์ของมันไม่ได้ เราจึงลงมือสถิตความคิด เขียนมันออกมาเป็นตัวหนังสือ ทำให้ความคิดนั้นหยุดนิ่ง เรารู้ดีว่ามันยังไม่ถูกต้องที่สุด ครบถ้วนที่สุด สมบูรณ์ที่สุด เราจึงเดินหน้าเขียนมันต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ
Souvenir หรือของที่ระลึก คือองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่ง มันเป็นวัตถุพยานที่เราใช้เตือนความจำว่าได้เคยผ่านพิธีกรรมนั้นมาแล้ว ฆาตกรต่อเนื่องเมื่อลงมือฆ่าเสร็จแล้ว จึงมักจะขโมยสิ่งของบางอย่างของเหยื่อไปด้วย หรือเก็บวัตถุบางอย่างไปจากสถานที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นเขาจะนำมันกลับมาลูบคลำชื่นชมอย่างหมกมุ่น ราวกับว่ามันเป็นถ้วยรางวัลแห่งความสำเร็จ
สำหรับนักเขียน Souvenir หรือของที่ระลึก ก็คือหนังสือพิมพ์ นิตยสาร พอคเกตบุคส์ หรือหน้าจอเว็บบล็อก สเตตัสเฟซบุค ฯลฯ ที่ลงตีพิมพ์ผลงานเขียนของตนเอง เราจะหมกมุ่น วนเวียน ชื่นชม ลูบคลำ เปิดอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับว่ามันเป็นถ้วยรางวัลแห่งความสำเร็จเช่นกัน
ในที่นี้ ผู้เขียนและผู้อ่าน จึงมีความสัมพันธ์กันอยู่ในสถานะของฆาตกรและผู้สมรู้ร่วมคิด นักเขียนเปรียบเหมือนฆาตกรต่อเนื่องที่กำลังแสดงการฆ่าอย่างอวดโอ่และภาคภูมิใจ ในขณะที่ ผู้อ่านเปรียบเหมือนผู้สมรู้ร่วมคิด ถ้ำมองแอบดูการฆ่านั้นอยู่ด้วยความสนุก ตื่นเต้น
เมื่อมีการพบศพของเหยื่อและแจ้งตำรวจ ตำรวจก็จะเข้ามาตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ฆาตกรต่อเนื่องมักจะไปยืนปะปนอยู่ในฝูงชนที่มายืนมุง เพื่อแอบดูสีหน้าท่าทางของตำรวจที่มีต่อผลงานฆ่าของตนเอง นักเขียนก็ทำเช่นเดียวกันนี้ เรามักจะไปเดินในงานสัปดาห์หนังสือ หรือไปดักซุ่มอยู่ในร้านหนังสือ เพื่อรอดูว่าหนังสือของเราที่วางขายอยู่บนเช้วฟ์ จะมีใครหยิบขึ้นมาอ่านบ้าง
นอกจากนี้ ฆาตกรต่อเนื่องจะตัดหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวกับคดีของตนเองเก็บเอาไว้ นักเขียนก็จะตัดหน้าบทความวิจารณ์หนังสือของตนเองเก็บไว้เช่นกัน
จุดจบของฆาตกรต่อเนื่องจะมาถึง เมื่อเขาอวดโอ่และภาคภูมิใจกับการฆ่ามากเกินไป จนกระทั่งหลงลืมกฎและขั้นตอนปฏิบัติตามพิธีกรรมที่ยึดถือมาตั้งแต่ต้น เมื่อถึงจุดนั้น การฆ่าจึงไม่ใช่เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่พิธีกรรมส่วนตัว เพื่อการเปลี่ยนสภาพอีกต่อไป แต่การฆ่าได้กลายเป็นความบ้าคลั่งที่หยุดยั้งใจไม่ได้ จนทำให้เกิดช่องโหว่และความผิดพลาดมากมาย
จุดจบของนักเขียนก็ไม่แตกต่างกัน เมื่อการเขียนไม่ใช่การสถิตความคิด เพื่อจะได้ข้ามผ่านไปสู่การคิดเรื่องอื่นๆ ต่อไป แต่กลับกลายเป็นการเขียนเพื่ออวดโอ่ แสดงความภาคภูมิใจ
ในขณะที่ฆาตกรต่อเนื่องจะต้องหนีความผิดจากการฆ่าคน นักเขียนเราจะต้องหนีจากความคิดที่เราได้สถิตเอาไว้ ถ้ามันไม่ใช่ความคิดที่บริสุทธิ์อย่างแท้จริง มันจะค่อยๆ เปิดโปงความไม่จริงแท้ของนักเขียนคนนั้นออกมาในงานเขียนของเขา เปรียบเหมือนกับหลักฐานและช่องโหว่ต่างๆ ที่ฆาตกรต่อเนื่องทิ้งเอาไว้ในที่เกิดเหตุ
เพราะว่าสำหรับการฆ่า ความยากไม่ได้อยู่ตอนที่ลงมือแทงมีดลงไปในหัวใจ แต่อยู่ที่การวางแผนทำลายหลักฐานทั้งหมดไม่ให้เชื่อมโยงมาถึงตัวเอง สำหรับการเขียน ความยากก็ไม่ได้อยู่ตอนที่ลงมือเขียนหรือกดแป้นพิมพ์ดีด แต่อยู่ที่ตอนวางพล็อตเรื่อง ว่าจะวางอย่างไรให้สะท้อนความคิดของผู้เขียนได้อย่างชัดเจนที่สุด และในเวลาเดียวกัน ก็ต้องกลบเกลื่อนความจริง เรื่องจริง เหตุการณ์จริง ตัวบุคคลจริง และความรู้สึกจริง ให้อยู่ในรูปของเรื่องแต่งอย่างแยบยลและชาญฉลาดที่สุดอีกด้วย
ในเรื่อง Red Dragon ดร.เลคเตอร์ เอ่ยถาม วิลล์ เกรแฮม เจ้าหน้าที่เอฟบีไอที่จับตัวเขาได้สำเร็จเป็นคนแรก ว่า "คุณจับผมได้ เพราะว่าคุณฉลาดกว่าผมใช่ไหม?"
วิลล์ตอบกลับว่า "ผมไม่ได้ฉลาดกว่าคุณหรอก เพียงแต่คุณน่ะ มีจุดอ่อนอยู่"
ดร.เลคเตอร์ถามว่า "จุดอ่อนของผมคืออะไร?"
วิลล์ตอบกลับไปว่า "คุณเป็นบ้า!"
เมื่อถึงจุดนั้น ผู้อ่านที่ชาญฉลาดจะเปลี่ยนสภาพจากผู้ถ้ำมองอย่างชื่นชม มาเป็นเอฟบีไอที่คอยไล่กวดตามหลังเรา ผู้อ่านที่ชาญฉลาดจะมองเห็นจุดอ่อน ช่องโหว่ และหลักฐานสำคัญ ที่จะใช้มัดตัวเรา ถ้าสิ่งที่เราเขียนออกมานั้นไม่ใช่การสถิตความคิดที่แท้จริง
...
หมายเหตุ
- เนื้อหาบางส่วนนำมาจากโครงการสถิตความคิดในสเตตัสเฟซบุคของผม เมื่อวันที่ 19 - 20 กันยายน 2552
- แรงบันดาลใจมาจากการอ่านสเตตัสในเฟซบุคของพี่ต้น อนุสรณ์ ติปยานนท์
- ข้อมูลอ้างอิงส่วนใหญ่ นำมาจากหนังเรื่อง The Silence of the Lambs, Red Dragon และทีวีซีรีย์เรื่อง Dexter
1 comment:
นึกถึงเรื่องคินดะอิจิ กับคดีฆาตกรรมปริศนาฉบับการ์ตูนครับ ฆาตกรต่อเนื่องที่น่ากลัวที่สุดในเรื่องคือนักมายากลที่เชื่อว่ามันคืองานศิลปะที่ต้องทำให้สมบูรณ์แบบ
Post a Comment