ควรดูหนังเรื่องนี้ก่อนมาอ่านนะคร้าบ
...
12. My space - เรียนขับรถครั้งที่ 3
สก็อตต์มีอารมณ์รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ภาพ เสียง และบรรยากาศในการเรียนขับรถ จะชวนอึดอัด น่าหวาดกลัว คนดูจะรู้สึกวิตกกังวลแทนป๊อปปี้มากขึ้นเรื่อยๆ
สก็อตต์โกรธและด่าทอป๊อปปี้แรงๆ เขากล่าวหาว่าเธอขับรถแบบไม่มีสมาธิ เพราะป๊อปปี้จะหัวเราะและมีความสุขไปกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านหน้ารถไป เช่นหนุ่มหล่อ กระรอกน่ารัก คนใส่เฝือกตลกๆ ฯลฯ แต่ตัวสก็อตต์เองก็ไม่แตกต่างกัน เพราะเขาก็ไม่มีสมาธิกับการขับรถ เขาด่าทอทุกอย่างที่ผ่านหน้ารถไปเช่นกัน ทั้งคนต่างชาติ คนกลุ่มน้อย คนขับรถไม่มารยาท ฯลฯ
สก็อตต์สอนขับรถไป ก็พูดด่าทอทุกอย่างรอบตัวไป สภาพเศรษฐกิจ การเมือง สังคม นโยบายรัฐบาลอังกฤษ สภาพสังคมแบบพหุนิยม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ชนกลุ่มน้อยในประเทศ ความฝันแบบอเมริกัน รสนิยมทางเพศแบบรักร่วมเพศ ฯลฯ เขาเกลียดทุกอย่างรอบตัว และไม่มีความสุขกับโลกนี้อย่างสิ้นเชิง
ป๊อปปี้นั่งฟังสก็อตต์ด่าโลกไป เธอก็หัวเราะไป ป๊อปปี้และสก็อตต์นั้นทั้งเหมือนกันและแตกต่างกัน ทั้งสองเหมือนกันตรงที่เป็นคนมองโลกแคบๆ ทั้งสองแตกต่างกัน ตรงที่ป๊อปปี้มองโลกเฉพาะในแง่ดี ส่วนสก็อตต์มองโลกในแง่ร้าย
สก็อตต์ด่ามาเรื่อย จนถึงเรื่องระบบการศึกษา หลักสูตรการศึกษา เขากล่าวว่าการศึกษาในปัจจุบัน มุ่งสอนให้เด็กใช้สมองซีกซ้ายเท่านั้น คือใช้แต่เหตุผล จดจำข้อมูล และการยอมรับตามความคิดและคำสอนของครู เด็กจึงไม่ได้ใช้สมองซีกขวาที่เกี่ยวกับอารมณ์และจินตนาการ
โดยที่เขาไม่รู้ตัวเลย ว่าตัวเองก็เป็นไปตามสิ่งที่ตนเองวิพากษ์วิจารณ์นั่นแหละ อาการไม่มีความสุขในชีวิต มองโลกในแง่ร้าย เกิดจากการที่สก็อตต์คือคนที่ใช้แต่สมองซีกซ้ายเพียงซีกเดียว เขาจึงขาดอีคิว ไม่สามารถแสดงอารมณ์และความรู้สึกอย่างเหมาะสม ไม่มีมนุษย์สัมพันธ์ ขาดการเชื่อมโยงกับมนุษย์คนอื่น ไร้จินตนาการ และมองโลกแบบแบนๆ ไร้มิติ มองเห็นแต่เรื่องร้ายๆ แง่ร้ายๆ
กรอบกระจกรถที่สก็อตต์เฝ้ามอง และคำว่า "เอน รา ฮ่า" ที่สก็อตต์ท่องตลอดเวลาที่ขับรถ เป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นตรรกะแบบแข็งๆ และชุดเหตุผลแบบแคบๆ ของตัวเอง ในการเฝ้ามองและวิพากษ์วิจารณ์ทุกอย่างรอบตัวแบบเป็นตุเป็นตะ เป็นวรรคเป็นเวร
13. My space - คนจรจัด
ผมเริ่มจับสังเกตวิธีการดำเนินเรื่องของหนังเรื่องนี้ได้แล้ว หนังเรื่องนี้จริงๆ แล้วมันไม่มีอะไรมากเลย มันแค่เป็นการนำตัวละครนางเอกของเรื่อง ที่มีลักษณะนิสัยแบบมองโลกในแง่ดีอย่างสุดโต่ง ให้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์ซึ่งเป็น My space ของผู้คนที่มีลักษณะแตกต่างกันไปเรื่อยๆ นั่นเอง
เริ่มจากร้านหนังสือ วงเพื่อนสนิท ในห้องเรียนกับเด็กๆ น่ารัก หมอผิวดำตัวใหญ่ ครูสอนฟลามินโก้ ครูสอนขับรถอารมณ์ร้าย ฯลฯ
ในฉากนี้ ป๊อปปี้อยู่ดีไม่ว่าดี สงสัยจะว่างมาก ไม่มีอะไรทำ จู่ๆ เธอก็เดินเข้าไปหาคนจรจัดที่กำลังพูดบ่นงึมงำไม่เป็นภาษาคน
คนจรจัดในฉากนี้ก็เปรียบเหมือนหมอผิวดำในฉากต้นเรื่อง คนดูจะมีอคติและมายาคติเกี่ยวกับคนจรจัดอยู่แล้ว ว่าน่ากลัว เป็นอันตราย ไม่ควรเข้าไปใกล้เพราะเขาอาจจะทำร้ายเราได้ แต่สำหรับป๊อปปี้ นางเอกของเรื่องนี้ เธอมองโลกในแง่ดี และไม่มีอคติใดๆ กับใคร ไม่มีมายาคติฝังหัวร้ายๆ มาจากไหน เธอจึงไม่คิดเลยว่าจะมีใครมาทำร้ายเธอ
เธอคุยกับคนจรจัด รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง เขาพูดจาไม่เป็นภาษามนุษย์ ป๊อปปี้พยายามยื่นเงินให้คนจรจัด แต่เขายอมไม่รับเงิน และสุดท้ายคนจรจัดก็เดินจากไป เขาไม่ได้ทำร้ายเธอ และเธอก็ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเขาเลย เธอเดินจากตรงนั้นมาด้วยความปลอดภัย แต่เธอก็งงๆ กับตัวเองว่าทำแบบนั้นไปทำไม
ฉากนี้ทำให้ผมนึกถึงบทความเก่าๆ ชิ้นหนึ่งของผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่า "ธดา" และถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในอินเทอร์เน็ตเมื่อเกือบสิบปีก่อน เขาเขียนถึงนิตยสารที่กำลังได้รับความนิยมในยุคนั้น คืออะเดย์และซัมเมอร์ ว่าเป็นนิตยสารที่ขายความรู้สึกมองโลกในแง่ดีแบบ Naive เพราะนิตยสารเหล่านี้มักจะนำเสนอประเด็นทางสังคมต่างๆ อย่างไร้เดียงสา เบาโหวง กลวงเปล่า ไร้สาระ
เช่นนำเสนอภาพคนแก่ที่ยากไร้ ในแง่ความสวยงาม ความรู้สึกสะเทือนใจ และสุนทรียะของภาพถ่าย เหมือนกับมุมมองของเด็กไร้เดียงสา ที่เห็นแต่แง่มุมดีๆ สวยงามของโลก แต่ไม่ได้นำเสนอเรื่องราวเบื้องลึก ไม่มีศักยภาพที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาให้กับคนแก่คนนั้น หรือปัญหาคนสูงอายุในสังคม
การมองโลกในแง่ดีนั้นในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องดี คือมันทำให้เรามีความสุขกับทุกสิ่งทุกอย่างที่พบเจอในชีวิต แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันก็ทำให้เราละทิ้งและล่องลอยอยู่เหนือปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นรอบๆ ตัว
เหมือนการล่องลอยอยู่ในอากาศตอนที่เล่นแทรมโบลีน ...
... แต่ในที่สุดแล้ว เราก็ยังต้องตกลงมาสู่ระดับพื้นอยู่ดี ตามกฎเกณฑ์ความจริงของโลก
14. My space - เรียนขับรถครั้งที่ 4
สถานการณ์การเรียนขับรถเลวร้ายลงเรื่อยๆ สก็อตต์อารมณ์รุนแรงขึ้น สวนทางกับป๊อปปี้ที่ทำตัวสนุกสนานเฮฮามากขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงขั้นปล่อยพวงพาลัยระหว่างขับรถ ทำให้สก็อตต์โกรธจนคลั่ง เขาจอดรถและลงมาไล่ให้เธอออกจากรถไป ขู่ว่าจะไม่สอนเธออีกแล้ว
เมื่อดูมาจนถึงตรงนี้ ผมคิดว่าป๊อปปี้รู้ตัวเองดี ว่าการกระทำทั้งหมดของเธอทำให้สก็อตต์โกรธ และโกรธมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย แต่เธอกลับไม่ลดละความคึกคะนองและเฮฮาลงแม้แต่น้อย มีแต่จะทำตัวยั่วยุมากขึ้นไปอีก
ผมคิดว่าลึกๆ แล้ว ป๊อปปี้เป็นพวก Bully เพราะเธอรู้ว่าคนอื่นไม่ชอบอะไร แต่เธอก็จะยิ่งทำสิ่งนั้นกับเขา
โดยพื้นฐานของอารมณ์แล้ว เธอเป็นคนดี อารมณ์ดี มองโลกในแง่ดี แต่ในระดับสัญชาตญาณ เธอเป็น Bully ที่ชอบข่มเหงรังแก ทำร้ายความรู้สึกคนอื่น คุกคามคนรอบข้างเธอโดยไม่เจตนา
บางคนอาจจะคิดว่าเพราะเธอจิตใจดีงามเกินไป หวังดีกับคนอื่น หวังว่าจะทำให้เขายิ้มมีความสุข แต่จริงๆ แล้วผมว่าไม่หรอก เธอรู้ แต่เธอก็ยังแกล้ง เธอรังแกคนอื่นด้วยการมองโลกในแง่ดีของเธอเอง
15. My space - ไปเยี่ยมพี่สาว
ป๊อปปี้ไปเยี่ยมพี่สาว ซึ่งแต่งงานไปแล้ว เธอกำลังท้อง มีบ้านหลังใหญ่ อยู่กับสามีที่ดูดี บ้านมีสนามหลังบ้านไว้ทำบาร์บีคิว ดูเป็นครอบครัวแบบในอุดมคติ คือที่มีความสุขและความมั่นคง
พี่สาวถามป๊อปปี้ว่าเธอวางแผนเกี่ยวกับอนาคตของตัวเองไว้อย่างไร คิดจะแต่งงานเมื่อไร ทำประกันไว้หรือเปล่า วางแผนเก็บสะสมเงินไว้หรือยัง แก่ไปแล้วจะได้ไม่ลำบาก
ป๊อปปี้ตอบว่าเธอไม่ได้คิดอะไรไว้เลย
พี่สาวเป็นห่วงเธอมาก เอ่ยปากถามว่าชีวิตแบบป๊อปปี้ในตอนนี้ เป็นชีวิตที่มีความสุขจริงๆ เหรอ?
ป๊อปปี้บอกว่าก็มีความสุขดีนี่นา
พี่สาวโกรธมาก เมื่อเห็นน้องสาวเป็นพวกไม่ใส่ใจกับอนาคตของตัวเองเลย คิดแต่จะมีความสุขไปวันๆ
ฉากนี้แสดงให้เห็นว่า ในมุมมองแบบผู้ใหญ่ คนแบบป๊อปปี้นี่ถือว่า Naive และ Immature อย่างมาก ทั้งที่อายุ 30 ปีเข้าไปแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจคือ คนมองโลกในแง่ดีและมีความสุขกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิต จะมีอนาคตอย่างไร?
Happy Go Lucky จริงหรือเปล่า?
16. ความรัก
เมื่อได้ไปสำรวจชีวิตรักและครอบครัวของพี่สาวแล้ว คราวนี้หนังจะเผยให้เห็นชีวิตรักของป๊อปปี้บ้าง เธอปิ๊งกับหนุ่มนักสังคมสงเคราะห์ที่มาช่วยเหลือเด็กที่ชอบรังแกเพื่อน เขาชอบเธอเพราะเธอมีท่าทางสนุกสนานร่าเริง และดูเป็นคนมองโลกในแง่ดี
ความรักของป๊อปปี้ก็มีลักษณะแบบคนหนุ่มสาวชาวตะวันตกทั่วไป ไม่ได้ถึงกับเป็นพวกวันไนท์แสตนด์ และก็ไม่ได้ถึงกับหัวโบราณคร่ำครึ พวกเขารู้จักกันในระหว่างการทำงาน หลังจากนั้นก็นัดออกเดท และมีเซ็กส์กัน ตื่นเช้ามาทั้งสองรู้สึกผูกพันและมีความโรแมนติกต่อกัน
ในฉากนี้มีจุดที่น่าสนใจ คือตอนที่ป๊อปปี้เอ่ยถามแฟนหนุ่มของเธอ ว่าชีวิตของเขามีความสุขดีหรือเปล่า? ชายหนุ่มทำหน้างงๆ และก็ไม่ได้ตอบกลับมา เขาบอกแค่ว่า คำถามนี้ยากจัง!
17. My space - เรียนขับรถครั้งสุดท้าย
ฉากไคลแมกซ์และเป็นฉากสุดท้ายของหนังเรื่องนี้ คือการที่สก็อตต์ลงมือกระทำรุนแรงกับป๊อปปี้
ฉากนี้เริ่มต้นที่สก็อตต์เห็นว่าป๊อปปี้มีแฟนแล้ว เขาแสดงท่าทีหึงหวงและอึดอัด เผยให้คนดูรู้ว่าที่แท้จริงแล้ว สก็อตต์ตกหลุมรักป๊อปปี้อยู่
ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างสก็อตต์และป๊อปปี้ตั้งแต่ต้นเรื่อง เป็นไปในลักษณะของผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ ผู้แกล้งกับผู้ถูกแกล้ง เป็นคล้ายๆ กับซาดิสม์และมาโซคิสม์
โดยป๊อปปี้เป็นฝ่ายกระทำ เธอกลั่นแกล้งรังแกสก็อตต์สารพัด ปั่นหัวเขา ทำให้เขาโกรธ หงุดหงิด รู้ว่าเขาไม่ชอบอะไร เธอก็จะทำอย่างนั้นตลอดเวลา โดยกลบเกลื่อนด้วยเสียงหัวเราะและอารมณ์สนุกสนานรื่นเริง
ในขณะที่สก็อตต์เป็นฝ่ายถูกกระทำ เขาตกเป็นเบื้องล่างของป๊อปปี้ ความรักของเขาค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเพราะเขาเป็นพวกมาโซคิสม์ รู้สึกพึงพอใจเมื่อถูกรังแก เขาโกรธเธอ เกลียดเธอ แต่ก็หลงรักเธอ และไม่สามารถตัดใจเลิกสอนขับรถให้กับเธอ
หลังจากลงมือกระทำรุนแรงกับป๊อปปี้ สก็อตต์รู้สึกผิดอย่างรุนแรง เขาพยายามขอโทษและขอคืนดีกับป๊อปปี้ เขายังอยากจะสอนขับรถให้เธอต่อไป แต่เธอปฏิเสธ ในที่สุด สก็อตต์ก็ขับรถจากไปพร้อมกับหัวใจที่แตกสลาย
ความสัมพันธ์ระหว่างสก็อตต์และป๊อปปี้ เหมือนการจับคู่กันของสัตว์ โดยฝ่ายหนึ่งใช้กำลังเข้าข่มอีกฝ่ายให้ยอม และนี่ก็คือคำตอบว่าทำไมป๊อปปี้จึงเป็นคนแบบนี้ นิสัยแบบนี้ มองโลกในแง่ดี หัวเราะตลอดเวลา มีความสุขกับทุกอย่าง และพยายามยัดเยียดสิ่งนี้ให้กับผู้คนรอบข้างตัวเธอทุกคน ทุกเวลา จนกลายเป็นการ Bully
18. ชีวิตแบบนี้มีความสุขไหม?
หลังจากโดนสก็อตต์เล่นงานมา ป๊อปปี้นั่งคิดใคร่ครวญชีวิตของตนเอง เธอสงสัยว่าทำไมคนดีๆ มองโลกในแง่ดี และพยายามทำให้คนอื่นมีความสุข จึงต้องโดนคนอื่นทำร้ายกลับมาเป็นการตอบแทน
แบบนี้มันแปลว่า Happy Go Lucky จริงหรือ?
ป๊อปปี้ไปพายเรือเล่นกับเพื่อนรูมเมท เพื่อนบอกว่าป๊อปปี้เป็นคนดีเกินไป เธอควรจะเลิกทำตัวเป็นคนดีแบบนี้ เพื่อนของเธอพูดสรุปว่าการโตเป็นผู้ใหญ่นั้นยากจริงๆ
ประโยคคำพูดสุดท้ายในหนัง เกิดขึ้นเมื่อป๊อปปี้กับเพื่อนพายเรือไปเรื่อยๆ มีโทรศัพท์เข้ามา เธอรับสายและปรากฏว่าเป็นแฟนหนุ่มของเธอโทรมา พวกเขาคุยเจ๊าะแจ๊ะ หัวเราะร่าเริงกันได้เหมือนเดิม
คนดูบางคนตีความว่า หนังเรื่องนี้โปรการมองโลกในแง่ดีของป๊อปปี้ และต้องการจะชี้ให้เห็นว่าสังคมปัจจุบันนั้นเลวร้ายเกินไป จนคนดีๆ อยู่ไม่ได้ และการทำดีกลับกลายเป็นการร้ายในสายตาของคนส่วนใหญ่ในสังคม
สำหรับผม ผมดูแล้วกลับตีความในทางตรงข้าม ว่าหนังเรื่องนี้วิพากษ์วิจารณ์การมองโลกในแง่ดีแบบของป๊อปปี้ และชี้ให้เห็นว่าการมองโลกในแง่ดีอย่างสุดโต่งนั้น คือสิ่งที่ Naive , Immature และกลายเป็นการ Bully คนอื่นได้
การมองโลกในแง่ดีนั้นสามารถทำสิ่งที่โหดร้ายกับคนอื่นได้ ไม่ต่างไปจากการมองโลกในแง่ร้าย
...
3 comments:
ขออนุญาตเห็นต่าง จริงๆ ในหนังมันจะมีฉากสอนหนังสือตอนต้นเรื่อง ซึ่งอธิบายการอพยพย้ายถิ่นของนก เธอพยายามสอนให้เด็กคล้อยตามความเชื่อดังกล่าว หรือป๊อปปี้จะเชื่อในแนวคิดปล่อยทุกอย่างตามแต่ธรรมชาติจะนำพา
อันที่จริงแล้ว คนอย่างป๊อปปี้ในชีวิตจริงคงไม่มีใครชอบหรอกครับ(ฉากเปิดเรื่องผมนึกถึงการเปิดเรื่องของหนังการ์ตูน) เธอเป็นเหมือนสัญลักษณ์ด้านที่สุดขั้วของโลกทุกวันนี้ที่ยึดถือเหตุผลเป็นที่ตั้งมากกว่า และปล่อยให้เราคิดเองว่าเราจะอยู่สายกลาง หรือยึดมั่นถือมั่นกับแนวคิดแบบไหน
ฉากจบบนเรือ ดูแล้วนึกถึงหนังของ ไมค์ ลีห์ เรื่อง Secrets and Lies ที่สุดท้ายความจริงปรากฎ(แต่มันก็เห็นๆ กันอยู่ว่าเป็นความจริงที่ไม่จริง) แต่ตัวละครทุกคนก็นั่งอยู่หลังบ้านราวกับว่าทุกอย่างจบลงอย่างสวยงาม ปล่อยให้เราคิดเองชีวิตของผู้คน หรือสังคมแบบนี้จะดำเนินไปในทิศทางใด
เป็นไปได้เปล่าครับ ว่าเรื่องนกอพยพที่เธอสอนในชั้นเรียนตอนต้นเรื่อง อาจจะสื่อถึงสภาพสังคมในอังกฤษที่มีพวกชาวต่างชาติอพยพเข้ามาจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับป๊อปปี้มองว่ามันน่ารักดี เป็นเรื่องธรรมดา ธรรมชาติ ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาสังคมเหมือนกับที่สก็อตต์มอง
ฉากสอนเด็กทำหน้ากากนกในต้นเรื่อง ผมว่าเธอเป็นพวกชอบ Chaos คือสอนเด็กให้สนุกสนานและปลดปล่อยเต็มที่ ซึ่งมันก็เป็นวิธีการที่เหมาะกับเด็ก แต่เมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราไม่สามารถจะทำตัว Chaos แบบเด็กๆ ในห้องเรียนอีกแล้ว คนแบบป๊อปปี้จึงเหมาะที่จะเป็นครูสอนเด็กเล็กๆ
อะไรทำนองนี้
อีกฉากที่น่าสังเกตคือเพื่อนครูคนหนึ่ง หยิบหน้ากากนกมาดู แล้วบอกว่าสอนเด็กทำหน้ากากแบบนี้จะอันตรายรึเปล่า เดี๋ยวมันอาจจะทำให้เด็กขาดอากาศหายใจ ป๊อปปี้ก็หัวเราะๆ ไม่ซีเรียส ใส่ใจเรื่องความปลอดภัย
คิดมากไปไม๊
จริงๆ เราจะตีความยังไงก็เป็นสิทธิ์ของคนดูครับ ตามสะดวก
ผมคิดว่าหนังมันก็เปิดพื้นที่เอาไว้อย่างนั้นเหมือนกัน คือคุณไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับพฤติกรรมแบบตัวละครนี้ (เท่าที่ผมสังเกต ไม่ชอบ ก็รำคาญ ป๊อปปี้ ส่วนหนังของ ไมค์ ลีห์ ก็เหมือนกันคือถ้าไม่ชอบก็เพราะมันไร้พล็อตมาตรฐานจนบางคนจับใจความไม่ได้ แต่คนที่ชอบก็ชอบเลยเหมือนกัน)
แต่โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยเชื่อว่าโลกของผู้ใหญ่จะดำรงอยู่ได้ด้วยหลักเหตุและผลเพียงอย่างเดียวอยู่แล้ว
เหมือนการเปรียบเทียบพฤติกรรมของเธอว่า Bully ซึ่งเรามักพบในเด็ก แต่มันก็เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และหาทางอยู่ร่วมกับมันอยู่ดี
คืออันที่จริงผมมีญาติ หรือผู้ใหญ่อายุมากที่รู้จักหลายคน ในวัยนั้นเราหาเหตุผลไปอธิบายแกไม่ได้แล้ว แม้จะพยายามยังไงก็เปลี่ยนแกไม่ได้ แต่นั่นแหละเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับแกต่อไป
Post a Comment